ระหว่างทางกลับบ้าน: ความลื่นไหลของพื้นที่บ้านกับสายธารแห่งชีวิต

กฤษณะ โรจนรัตน์
มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

 

          บ้าน เป็นพื้นที่ที่มีความหมายทั้งมิติทางกายภาพและมิติทางสังคม บ้านมักเป็นพื้นที่อันดับต้น ๆ ในชีวิตที่เรานึกถึงเมื่อเกิดปัญหาไม่ว่าดีหรืร้าย บ้านจึงมีความหมายมากกว่าที่อยู่อาศัย บ้านของบางคนมีความหมายแฝงถึงคุณค่าทางจิตใจ กวีนิพนธ์เรื่อง ระหว่างทางกลับบ้าน ของ อังคาร จันทาทิพย์ ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2560 และได้รับรางวัลซีไรต์ประจำปี 2562 ได้นำเสนอความหลากหลายทางความหมายของ "พื้นที่บ้าน" เหล่านั้น พร้อมกับนิยามความหมายของ "ผู้อาศัยในบ้าน" ให้มีความความหมายกว้างออกไปผ่านการรังสรรค์ด้วยภาษาอันเรียบง่าย แต่แยบคาย ซ่อนความหมายที่ลึกซึ้งและกินใจ ที่สำคัญ กวีได้นำเรื่องใกล้ตัวอย่างเช่น "บ้าน" มานำเสนอความหลากหลายของสายธารชีวิต ตั้งแต่ระดับครอบครัว ชุมชนสังคม และประเทศชาติ ทั้งยังเป็นกลวิธีในการวิพากษ์ปัญหาทางสังคม รวมถึงจิตใจของมนุษย์ได้อย่างลุ่มลึก ผู้เขียนเชื่ออย่างยิ่งว่าหากผู้ใดได้อ่านกวีนิพนธ์เล่มนี้จนถึงบทสุดท้ายย่อมท้าทายความคิดของผู้อ่านในการทบทวนความหมายของคำว่า "บ้าน" ได้อย่างแน่นอน

          ด้วยเหตุที่บทกวีนี้เล่นกับความหมายของคำว่าบ้านอย่างหลากหลาย ตลอดจนผู้อาศัยอันมากหน้าหลายตาในบ้านแต่ละหลัง ผู้เขียนจึงจะใช้แนวคิดเรื่อง "พื้นที่" (space) ตามวัฒนธรรมศึกษา (Cultural studies) มาประยุกต์ใช้วิจารณ์กวีนิพนธ์เรื่องนี้ แนวคิดนี้มองว่าพื้นที่ไม่ได้จำกัดเพียงลักษณะทางกายภาพหากมีความหมายซึ่งก่อตัวและประกอบขึ้นด้วยความสัมพันธ์ของผู้คน โดยเฉพาะความสัมพันธ์เชิงอำนาจ (power) ตลอดจนอุดมการณ์ (ideology) ที่เข้ามากำกับและควบคุมพื้นที่นั้น ๆ โดยผู้เขียนจะใช้แนวคิดเรื่องพื้นที่มามองปฏิสัมพันธ์ของคนในสังคมที่อยู่ในพื้นที่นั้น ๆ เพื่อแสดงให้เห็นว่า "บ้าน" ใน ระหว่างทางกลับบ้านประกอบสร้างความหมายของคำว่าบ้านไว้อย่างหลากหลาย และกระตุ้นให้ฉุกคิดทั้งความหมายของคำนี้และผู้อาศัยในบ้าน ดังต่อไปนี้

 

1. "กลับบ้านเรา" พื้นที่บ้านกับการตอบสนองความต้องการทางจิตใจของคนตัวเล็ก ๆ

          อังคารได้ประกอบสร้างความหมายของพื้นที่บ้านในระหว่างทางกลับบ้าน โดยนำ "พื้นที่ทางกายภาพ" ทับซ้อนกับ "พื้นที่ทางจิตใจ" เพื่อนำเสนอสายธารแห่งชีวิตที่แตกต่างกันของแต่ละกลุ่มคนทำให้พื้นที่บ้านไม่ใช่เพียงพื้นที่ทางกายภาพที่หยุดนิ่ง แต่มีจุดร่วมเดียวกันคือ "ที่พึ่งพิงแห่งชีวิต ความอยู่รอด และการเริ่มต้นใหม่" ที่สำคัญบทกวีจำนวนมากต่างเน้นย้ำถึง "บ้านคนตัวเล็ก ๆ"

          อังคารสร้างความหมายของบ้าน คือ การเริ่มต้นใหม่ ด้วยการกลับบ้านของอดีตนักโทษ ดังในเรื่องนอกกำแพงเรือนจำ กล่าวถึง ชายคนหนึ่งต้องโทษคดีความขัดแย้งทางการเมืองและพ้นโทษในวัยหกสิบปีเขานั้นมุ่งตรงกลับบ้าน เมื่อเขา "พันเรือนจำ" ชายผู้นี้ได้ "ถือกำเนิด เกิดอีกครั้ง" (น.56) เป็นการ "เริ่มต้นวัยทารก หกสิบกว่า" "เริ่มตั้งไข่อีกครั้ง หวังอีกครา" (น.56) ลักษณะการใช้ความขัดแย้งระหว่างวัยทารกกับวัยหกสิบ เป็นการแสดงความขัดแย้งที่เน้นย้ำว่าบ้านคือการเริ่มต้นใหม่ได้ชัดเจน ในตอนท้ายกวีได้ใช้คำถามเชิงวาทศิลป์เพื่อยั่วล้อให้ผู้อ่านเกิดการคิดว่า "ชีวิตก่อกำเนิดจากฟากฝั่งใด ครรภ์แห่งทุกข์หรือทัณฑ์ ครรภ์แห่งรัก" (น.58) แม้ไม่มีคำตอบ แต่การกระทำของชายวัยหกสิบได้ตอบคำถามอย่างชัดเจนในประโยคที่ว่า "เอื้อมมือผลักบานประตู แม่อยู่ไหน" (น.58)

          อังคารยังชี้ให้เห็นว่า บ้านไม่ว่าใหญ่หรือเล็ก แต่ก็ต่างหมายถึงที่พึ่งพิงของชีวิตทั้งหลาย เช่นในเรื่องบ้านในห้องเช่า ลูกไม้เก่าของอิ่มเอม อังคารได้ใช้ห้องเช่ามาเป็นบ้านของตัวละคร ซึ่งยังมีนัยถึงที่พึ่งพิงและที่รองรับความพลิกผันของชีวิต ไม่ว่าจะ "เด็กแว้น มาขับวิน โหดหินชีวิต" หรือ "สก๊อยสาวที่เคยเห็นกลายเป็นแม่" (น.63) ทำให้ "เด็กแว้น" และ "สก๊อย" ต้องพยายามดิ้นรนเพื่อเลี้ยงดูลูกของตน จากในอดีต "สถานพินิจ เคยออกเข้า ราวกับบ้าน" (น.63) มาวันนี้กลับ "ห่วงถุงแกง ถุงข้าวไป ไม่ถึงห้อง" (น.63) ช่วยกัน"ประคับประคอง ถึงวันคลอด กอดลูกชาย" (น.63) จากพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งหมดสิ่งที่น่าสนใจ คือ กวีใช้ถุงแกงและถุงข้าว เป็นอุปลักษณ์แทนความรัก ความผูกพันที่วัยรุ่นทั้งสองต้องคอยสร้างให้เกิดขึ้น ทำให้ห้องเช่าดังกล่าว "กลายเป็นบ้านไร้ม่านควัน..." (น.64) กวีใช้ ม่านควัน เป็นอุปลักษณ์

แทนชีวิตในบ้านที่ ตั้งอยู่บนความเสี่ยง แต่ปัจจุบันบ้านแปรเปลี่ยนเป็นที่พึ่งพิง รวมถึงจุดคลี่คลายความพลิกผันของชีวิตจาก "ไฟที่เดือด" ได้ "มอดดับลงง่ายดาย" (น.64) กล่าวได้ว่าอังคารได้ใช้ลีลาภาษาของตนประกอบสร้างความหมายของพื้นที่บ้านให้ทับช้อนกับพื้นที่ทงจิตใจ คำที่เรียงต่อกันมิได้มีบทบาทเพียงแค้ร้อยเรียงสร้างความไพเราะ สละสลวยเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการนำเสนอ "ความหลากหลาย" ของ "บ้าน" ในมิติทางจิตใจอย่างเด่นชัด

 

2. "บ้านที่ไม่มีบ้าน" พื้นที่บ้านของคนไร้บ้านและไร้เสียง

          อังคารยังได้นำเสนอบ้านในมิติที่กว้างออกไป เพื่อนำเสนอเสียงของกลุ่มคนตัวเล็ก ๆ ในสังคมอันกว้างใหญ่ เช่นใน เรื่องเล่าของคนเคยมาอันดามัน กล่าวถึงกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล (มอแกน,อูรักลาโว้ย) ที่ชีวิตผูกพันกับท้องทะเล อังคารได้เปลี่ยนพื้นที่ทะเลที่มิใช่เพียงห้วงน้ำเค็มที่เวิ้งว้างกว้างใหญ่ แต่กลายเป็นพื้นที่บ้านของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ พื้นที่ทะเลกับพื้นที่บ้านคือพื้นที่เดียวกัน

          เมื่อเป็นเช่นนี้ หากท้องทะเลถูกทำลายแสดงว่าบ้านย่อมถูกทำลายตามไปด้วย โดยอังคารได้ชี้ให้เห็นการรุกล้ำของระบอบทุนนิยมที่เข้ามาบุกรุกถึงบ้านของชาวเล ที่ว่า "มุ่งสุทิศ ยุคของการท่องเที่ยว" (น.115) พื้นที่ทะเลถูกครอบด้วยพื้นที่ที่มีอำนาจมากกว่าคือ โรงแรม โดยกวีได้บรรยายว่า "เคลื่อนเข้าคลุม หลุมศพสุดท้าย ทรายทุกผืน" (น.115) กวีใช้อติพจน์เพื่อแสดงให้เห็นว่า พื้นที่ทางทุนนิยมได้เข้าทำลายทรายทุกผืนเพื่อชี้ให้เห็นปัญหาอันหนักหน่วงที่บ้านและที่ทำกินของชาวเลได้ถูกไปทำลายไปสิ้น และยังเป็นการทำลาย "เรือระกำ เรือปลาจั๊ก" (น.115) ที่เป็นสัญลักษณ์รากเหง้าแห่งวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ดังกล่าว ส่งผลให้"มอแกลนคนสุดท้าย ไร้ที่ยืน" (น.115) พร้อมกันนั้น กวียังใช้สัทพจน์เลียนเสียงร้องไห้ของคนกลุ่มนี้ เพื่อเน้นย้ำให้เห็นว่า เสียง "ครางครืน ครวญคร่ำ เสียงร่ำไห้" (น.114) ของชาวเลไม่ได้รับการเหลียวแลเป็นเสียงแห่งความทุกข์ทรมาน เป็นเสียงที่ "ค่อยค่อยโผย โหยแผ่ว แว่วไกล" (น. 114)

          บ้านที่ถูกรุกรานไม่ต่างจากคนอีกกลุ่มที่ต้องตามหาบ้านใหม่ในท้องทะเล บท กวี บ้านหลังสุดท้ายสุดปลายแผ่นดิน กล่าวถึง ชาวโรฮิงญาอพยพหนีภัยจากยะไข่ กำลังลอยเรือกลางทะเลไม่รู้จุดหมายปลายทาง อังคารได้ใช้พื้นที่ "ชายฝั่ง" แฝงนัยถึงสายธารชีวิตของชาวโรฮิงญา โดย "ชายฝั่ง" ไม่ใช่เพียงแถบแผ่นดินนับจากแนวชายทะเล แต่มีมิติทางสังคมเป็นที่พึ่งพิง และความอยู่รอด ในทางตรงข้าม บทกวีสร้างให้ "กลางทะเล" นั้นเต็มไปด้วย"คลื่นเขาสูง ทะเลโถมแรงสมทบ" และอาจ "ถูกกลืนกลบ หวังรอด ล้วนกอดกุม" (น.93) บุคคลวัตดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงการหนีเพื่อเอาตัวมาพึ่งพิงพื้นที่ชายฝั่ง ชายฝั่งจึงเป็นพื้นที่แห่งการเยียวยา ดังที่บทกวีชี้ว่า "หากไม่ฝังชีวิตดับกับแผ่นดิน" ก็จะ "ไม่สิ้นสุดดิ้นรน คนร่อนเร่" (น.93)

          นอกจากทะเลและชายฝั่งแล้ว ป่าก็ยังเป็นบ้านได้เช่นกัน การออกมาปกป้องป่าก็เพื่อปกป้องบ้านของตน หากแต่ในบทกวี ถูกบังคับให้สูญหายจากบ้านที่เขาพยายามปกป้อง กล่าวถึงบิลลี่ พอละจีรักจงเจริญ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนที่ถูกบังคับให้สูญหาย โดยอังคารได้นำพื้นที่ "ป่า" มาทับซ้อนกับพื้นที่ "บ้าน" ภายในพื้นที่ดังกล่าวเกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับป่า ในลักษณะ "สัมพันธ์เยี่ยงฉันท์มิตร" (น. 119) เมื่อพื้นที่ทั้งสองทับช้อนกัน บ้านและปา จึงเป็นพื้นที่เดียวกัน หาก "ป่า น้ำอยู่ วิถีชีวิตอยู่"(น.119) แสดงให้เห็นว่าความผูกพันระหว่างคนกับป่ามิใช่เพียงผิวเผิน แต่เป็นความสัมพันธ์ระดับรากเหง้า แผ่กิ่งก้านสาขาแห่งวิถีชีวิต ดังนั้น เมื่อปาและบ้านคือหนึ่งเดียวกัน เมื่อมีคนพยายามมายึดป่าก็เปรียบดั่งการพยายามทำลายวิถีชีวิตของคนในบ้าน คนในบ้านจึงต้องออกมาปกป้อง แต่แล้วบทกวีชี้ให้เห็นว่าป่าก็แพ้แก่เมืองโดยการทำบังคับให้สูญหาย และ "พรากถิ่นฐาน คนไม่มีที่จะไป" (น.119) ในจุดนี้ กวีได้ใช้อติพจน์ในการเน้นย้ำความทุกข์ทรมานของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ว่า "หลั่งน้ำตาจนไม่มีที่จะไหล" (น.119) กล่าวได้ว่า อังคารแสดงให้เห็นว่า พื้นที่บ้านไม่ได้สร้างด้วยอิฐหรือปูน แต่คือสร้างด้วยความผูกพันกับสถานที่นั้น แต่แล้วเมื่ออำนาจของพื้นที่ภายนอกเข้ามาก็ทำให้คนในบ้านต่างต้องเป็นคนไร้บ้าน และทำให้ไร้เสียงไปในที่สุด

 

3. "บ้าน - เมือง" พื้นที่บ้านกับสิ่งที่หล่นหายระหว่างการพัฒนา

          กวีนิพนธ์ ระหว่างทางกลับบ้าน ได้เสนอประเด็น บ้านและเมืองเพื่อนำเสนอความหมายทางสังคม โดยหยิบยกลักษณะย่อยของแต่ละพื้นที่เพื่อนำเสนอพฤติกรรมของมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย เช่น ในเรื่อง รั้วบ้าน กวีได้แสดงความเปลี่ยนแปลงของเวลาผ่านสิ่งที่เปลี่ยนไปบนรั้วบ้าน ในอดีตพื้นที่รอบบ้านเคยมี "ดอกแก้วหอมข้ามกำแพงกั้น" (น.55 ในลักษณะ "กิ่งก่ายกอดสอดก้านกันมานาน" (น.55) การใช้ "รั้ว" จากธรรมชาติ ลักษณะดังกล่าวแฝงนัยถึงรากเห้จ้าของคนไทยที่ผูกพันกับธรรมชาติ อีกนัยคือการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน รวมถึงมีความใกล้ชิดสนิทสนม เช่นเดียวกับตัวบทที่ว่า "หอมข้าวหุง ฟุ้งกลิ่นแกงแบ่งเจือจาน" (น.55) อังคารได้ใช้กลิ่นหอมของข้าวแกงที่ฟุ้งไปทั่วเป็นอุปลักษณ์แทนความใกล้ชิดของผู้คน

          จากนั้นบทกวีได้ชี้ให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของเวลาผ่านรั้วที่เปลี่ยนแปลง โดยแสดงให้เห็นว่าพื้นที่รอบบ้านกลายเป็นพื้นที่ส่วนตัว (private area) มากขึ้น มีการ "เสริมรั้วกั้น เมื่อกำแพงไม่แกร่งพอ เติมต่อเพื่อบ้านพ้น คนปลอดภัย" (น.54) จากความใกล้ชิดสนิทสนมในอดีต พื้นที่บ้านได้แปรเปลี่ยนเป็นพื้นที่ส่วนตัว เป็นพื้นที่ที่ไม่สามารถรุกล้ำเข้ามาได้ ซึ่งหากพิจารณาในบริบทของการปะทะกันระหว่าง บ้านกับ เมือง พื้นที่รอบบ้าน (รั้วบ้าน) ในปัจจุบันมีความแข็งแกร่งและมั่นคง แฝงนัยถึงระบบทุนนิยมที่มีอำนาจส่งผลให้ลักษณะนิสัยของคนในพื้นที่นั้น ๆ เปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของเวลาโดยมีแนวคิดเรื่องพื้นที่เป็นองค์ประกอบในการสร้างความหมายทางสังคม กล่าวได้ว่า ลีลาภาษาในตัวบทกวีนิพนธ์นี้ชี้ให้เห็นคู่เปรียบเทียบระหว่างอดีตกับปัจจุบัน โดยใช้องค์ประกอบของพื้นที่บ้านมาสัมพันธ์กับเวลา ว่ายิ่งเวลาผ่านไปมากเท่าใด ความเป็นเมืองได้พัฒนามากขึ้น บ้านของแต่ละคนก็ต่างโดดเดี่ยวมากขึ้นเท่านั้น

 

4. "บ้านแตกสาแหรกขาด" พื้นที่บ้านกับไฟสงครามและความขัดแย้ง

          ความหมายของบ้านใน ระหว่างทางกลับบ้าน ก้าวพ้นจากพื้นที่แห่งความรัก ความอบอุ่น ไปทับซ้อนกับพื้นที่สงคราม ส่งผลให้พื้นที่บ้านมีบทบาทที่เปลี่ยนแปลงไป ดังเช่นเรื่อง บ้านของฟาติเมาะห์ ในเดือนรอมฏอน เรื่องนี้กล่าวถึงสงครามและการก่อการ้าย โดยพื้นที่บ้านเคยเป็นพื้นที่ของ "ความรัก ความอบอุ่นที่ว่า "วังเวงบ้านเอ๋ยเคยอบอุ่น" (น.96) สิ่งของภายในพื้นที่บ้านเป็นภาพแทนของความปกติสุข ที่ว่า "พรมละหมาด และนั่น อัลกุรอาน" (น.96) แต่ภาพแทนเหล่านี้กลับ "ไม่ถูกปู และท่องอ่านมานานนัก" (น.96) สะท้อนให้เห็นว่าความปกติสุขไม่ได้เกิดขึ้นในพื้นที่บ้านมานาน ส่งผลให้คนในบ้านต้องมีปฏิสัมพันธ์กับสงคราม เมื่อคนในบ้านมีปฏิสัมพันธ์กับสงครามทำให้พื้นที่บ้านยึดโยงกับพื้นที่สงครามตามไปด้วย

          จากพื้นที่บ้านที่แฝงนัยถึงความรัก ความอบอุ่น ได้แปรเปลี่ยนเป็นพื้นที่แห่งความมืดมน ความหวังและการเฝ้ารอ ที่ว่า "ในสงครามความหวังยังเวียนวน เฝ้าคอยใครบางคนจะกลับมา" (น.97 ซึ่งพื้นที่บ้านที่ทับช้อนกับพื้นที่สงครามแสดงให้เห็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่เหนือกว่าของแต่ละพื้นที่ กล่าวคือพื้นที่สงครามมีอำนาจเหนือกว่าพื้นที่บ้าน ทำให้พื้นที่สงครามสามารถแปรเปลี่ยนสถานะของพื้นที่บ้านจากความอบอุ่น ความรัก และความปลอดภัยให้กลายเป็นความมืดมน ความหวัง และการเฝ้ารอ

          ลักษณะดังกล่าวยังพบในเรื่อง ห้องที่ถูกปิดตาย พื้นที่ "สมรภูมิรบ" สัมพันธ์กับอำนาจของมนุษย์เนื่องจาก "สงครามเริ่มต้นในหัวใจมนุษย์" (น.102) มนุษย์เป็นผู้ถือครองอำนาจ มนุษย์ "จะยับยั้งดวงใจหยุด หรือจุดไฟ!..."(น.104) กล่าวได้ว่า อังคารได้จบด้วยคำถามเพื่อกระตุ้นให้ฉุกคิดว่า พื้นที่ดังกล่าวจะเรียกว่าบ้านได้อีกต่อไปหรือไม่ ถ้าไฟสงครามเข้ามาแทนคำว่าบ้าน สรุปได้ว่า เมื่อ "พื้นที่สงคราม" ทับซ้อนกับ "พื้นที่บ้าน" บ้านจึงสัมพันธ์กับอำนาจและความขัดแย้ง เรื่องของสงครามกลายเป็นเรื่องของคนในบ้าน ทำให้บ้านจากที่เป็นพื้นที่ของความอบอุ่นและความปลอดภัยแปรเปลี่ยนเป็นพื้นที่ของความขัดแย้ง ไม่ปลอดภัย บ้านในบทกวีชุดนี้จึงกลับมาทำให้เราทบทวนของการดำรงอยู่ในบ้านนั่นเอง

 

บทสรุป

          กวีนิพนธ์เรื่อง ระหว่างทางกลับบ้าน ของอังคาร จันทาทิพย์ เล่นกับ "ความลื่นไหลของพื้นที่บ้าน" ที่กวีนิพนธ์บทนี้ได้รวบรวมและนำเสนอแง่มุมที่แยบคายเพื่อนำเสนอมโนทัศน์ที่เกี่ยวกับบ้านที่ไม่จำกัดเพียงพื้นที่ทางกายภาพ แต่ได้นำเสนอพื้นที่บ้านในเชิงนามธรรม ไม่ว่าที่ใดก็สามารถเป็นบ้านได้ ขึ้นอยู่กับการให้ความหมายและคุณค่าของผู้คน หรืออีกนัยหนึ่งอังคารได้ซี้ให้เห็นว่าบ้านเป็นได้ทุกที่ อยู่ที่การประกอบสร้างและผูกโยงเรื่องราวและความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกกับพื้นที่นั้น " โดยบทกวีในหนังสือเล่มนี้อาจเรียกได้ว่า กวีได้เริ่มต้นจากบ้านในความหมายแรกสุดคือ พื้นที่สนองความต้องการทางจิตใจ ต่อมาได้ขยับขยายไปสู่พื้นที่ที่ใหญ่ขึ้น เช่น พื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ พื้นที่ของคนไรบ้าน พื้นที่เมือง ตลอดจนพื้นที่รัฐ อีกประการหนึ่ง กวีนิพนธ์เล่มนี้ได้หยิบยกชีวิตอัน "หลากหลายของคนตัวเล็ก ๆ" อันหมายถึง คนชายขอบ คนที่ถูกหลงลืม มาเป็นตัวละครเอกในการดำเนินเรื่องของบทกวีที่ไม่ใช่เพียงตัวประกอบในบ้าน

          ท้ายที่สุด ระหว่างทางกลับบ้าน อาจนับได้ว่านำเสนอตัวละครคนเล็ก ๆ ในบ้านหลายหลังเหล่านี้เพื่อส่งเสียงเรียกร้องให้ผู้อ่านทบทวนความหมายของบ้านที่ตัวเองอยู่ว่า แท้จริงแล้วไม่ได้มีเพียงแต่พวกเรา แต่ยังมีพวกเขาเหล่านั้นอยู่ด้วย บทกวีนี้จึงไม่เพียงแต่ช่วยกระตุ้นให้เราเห็นความหมายอันหลากหลายของบ้านผ่านคนตัวเล็ก ๆ แล้วยังทำให้เราฉุกคิดถึงคนที่อยู่ร่วมบ้านเดียวกับเรา ที่ไม่เพียงแต่รัฐชาติเดียวกัน แต่อยู่ในโลกเดียวกัน การสลายความหมายของพื้นที่บ้านของอังคารทำให้ผู้อ่านสามารถก่อร่างจินตภาพของบ้านขึ้นใหม่ ก้าวข้ามพรมแดนของรัฐชาติเพื่อไปสู่การอยู่ร่วมบ้านเดียวกันของมวลมนุษยชาติก็คงไม่ผิดนัก

 

รายการอ้างอิง

อังคาร จันทาทิพย์. (2560). ระหว่างทางกลับบ้าน (พิมพ์ครั้งที่ 4). ผจญภัย.

ศรัณภัทร์ บุญฮก. (2562),. เมื่อบ้านทับช้อนกับบ้านเมือง: ลักษณะและความสำคัญของพื้นที่บ้านในบท

          ละครพูดเรื่อง หัวใจนักรบ. รายงานการประชุมวิชาการ เนื่องในโอกาส 40 ปี สาขาวิชาศิลปศาสตร์

          มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2562, (น.172-181). นนทบุรี: สาขาวิชาศิลปศาสตรมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

 

************************************************

ซื้อหนังสือ "ระหว่างทางกลับบ้าน" ได้ที่

ร้านลำพูนบรรณาคาร

ร้านหนังสือเล็กๆ สงขลา

ร้าน happening Shop

 

 

Visitors: 72,052