ความฝัน ความโง่เขลา: กลลวงทางเลือกของชีวิต สู่เข็มทิศในโลกที่ดูชาญฉลาด

 

ความฝัน ความโง่เขลา: กลลวงทางเลือกของชีวิต สู่เข็มทิศในโลกที่ดูชาญฉลาด

กัญชลิกา วงษ์วิลาศ
มหาวิทยาลัยราชภัฎหมู่บ้านจอมบึง

            “การประกวดเรื่องสั้นรางวัลกนกพงศ์ สงสมพันธุ์” ครั้งที่ ๗ ประจำปี ๒๕๖๔ จากจุดเริ่มต้นแห่งแรงศรัทธา ในวงการวรรณกรรมอันกล้าแกร่ง ได้ปลุกเร้าคุณค่าของเส้นทางวรรณกรรมจากนักเขียนรุ่นใหม่ ‘รางวัลกนกพงศ์ สงสมพันธุ์’ เกิดขึ้นเพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ อุดมคติต่อวรรณกรรมของกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ผู้ที่ได้รับขนานนามว่า ‘นักเขียนหนุ่มตลอดกาล’ ซึ่งรางวัลกนกพงศ์ สงสมพันธ์ เปรียบดั่งเวทีของจุดเริ่มต้นการสร้างสรรค์วรรณกรรมยุคใหม่ ที่ได้รับแรงบันดาลใจ ซึ่งเราจะเห็นได้อย่างชัดเจนเช่นกัน ‘การประกวดเรื่องสั้นรางวัลกนกพงศ์ สงสมพันธุ์’ ได้เผยแพร่ผลงานที่ผ่านการคัดเลือกร่วมกับนิตยสารราหูอมจันทร์ จากการรวบรวมเรื่องสั้นที่ผ่านการคัดเลือก ได้สะท้อนมุมมองของสังคมจนกลายเป็นวรรณกรรม เรื่อง “ความฝัน โง่เขลา ในโลกอันชาญฉลาด” การเริ่มต้นที่กำลังล้อเลียนมนุษย์และโลกอันชาญฉลาด บนความฝันและความหวัง ได้ถูกหลอมรวมผ่านสังคม หากเส้นทางที่เราเลือกนั้นปรากฏอยู่บนเส้นขนาน และความฝันที่อยู่ท่ามกลางข้อตกลงอย่างสันติ เราจะสามารถเดินไปข้างหน้าได้อย่างมีจุดหมาย แต่ทว่าเส้นขนานที่เราเลือกคือความโง่เขลานั้น กลับถูกความโลภครอบงำจิตสำนึก ความหายนะอาจเป็นสิ่งที่รออยู่เบื้องหน้า ความหม่นมัวและพิกลพิการทั้งด้านจิตใจและมายาที่ย้อนแย้งสับสัน จนตกอยู่ในสภาพ “กลับไม่ได้ ไปไม่ถึง”

            ใน “ความฝัน โง่เขลา ในโลกอันชาญฉลาด” ที่ล้อเลียนโลกอันชาญฉลาดอย่างน่าขัน น่าชัง และน่าเจ็บปวด จากเรื่องสั้นที่ชนะการประกวดทั้งหมด ๙ เรื่อง ได้แก่ ฉลามเสือ (โดย พึงเนตร อติแพทย์), ใครรู้จักหล่อนบ้าง (โดย กว่าชื่น บางคมบาง), ศพกิตติมศักดิ์ (โดย ปาริชาติ คุ้มรักษา), เพลงสรรเสริญจากไส้เดือนดิน (โดย พัชรพร ศุภผล), ลิงภูเขา (โดย วิภาส ศรีทอง), นกกระยางโง่ ๆ (โดย จเด็จ กำจรเดช), ทองดำโดดแห่งเทือกเขาน้ำตา (โดย ชัย ชัยมี), จังหวะคืบคลานของสัตว์เลือดอุ่น (โดย บัญชา อ่อนดี) และบ้านคนป่วย (โดย พิณพิพัฒน ศรีทวี) ในประเด็นที่รวมเรื่องสั้นเล่มนี้ได้นำเสนอไว้อย่างโดดเด่น และสอดคล้องกับชื่อหนังสืออย่างชัดเจน เพราะผู้อ่านจะเห็นได้ทั้งเส้นขนานระหว่างความฝันกับการสร้างข้อตกลงอย่างสันติ เส้นขนานของทางเดินแห่งความโง่เขลา และมายาของโลกที่ดูชาญฉลาด

            ‘ความฝัน’ บนเส้นขนานแห่งความสุข

            เรื่องสั้นที่ถูกนำเสนอ บนเส้นทางแห่งความฝัน ผ่านมุมมองการนำเสนอ ‘ลิงภูเขา’ โดย วิภาส ศรีทอง เดิมทีชนเผ่าลิงภูเขา ได้อาศัยอยู่บนภูเขาในป่าลึก แต่ด้วยการพัฒนาของโลกได้กลืนกินผืนป่า จนทำให้ชนเผ่าลิงภูเขาต้องอพยพย้ายถิ่นฐานเข้ามายังในเมือง เหลือเพียงหนึ่งครอบครัวที่ยังยึดมั่นในวิถีชีวิตเดิมของตน พ่อผู้มีความฝันรักชาติกำเนิดไม่ยอมเปลี่ยนผันตามโลกที่ผันเปลี่ยน ดังประโยคที่ว่า “พ่อกระเสือกกระสนที่จะย้ายถิ่นฐานลึกเข้าไปในป่าอีกคำรบ ไม่เคยเหน็ดหน่ายกับการถอยร่น” (หน้า ๗๖)

            นอกจากนี้ยังมีเรื่องสั้นที่สะท้อนความฝันของเธอ หรือบ้างก็เรียกเขา ผ่านเรื่องสั้น ‘เพลงสรรเสริญจากไส้เดือนดิน’ โดย พัชรพร ศุภผล เรื่องราวของเจนดา แต่นามที่ผู้คนต่างเรียก ‘เขาหรือเธอ’ นั้นเป็นสิ่งที่เจนดาไม่สามารถตัดสินใจได้ เจนดาเป็นผู้พิเศษที่มี ‘ไอนี่’ กับ ‘ไอนั่น’ ประทับติดหว่างขา เขาเกลียดการถูกยัดเยียดในสิ่งที่สังคมต่างพยายามให้เขาเป็น เขาเพียงแค่ฝันอยากที่จะเป็นเจนดาเพียงเท่านั้น ดังประโยคที่ว่า “ผู้คนถกเถียงเรื่องนี้กันสามปีเศษ เจนดาก็เริ่มรู้ความพวกเขาจึงปล่อยให้เจนดาเลือกมันด้วยตัวเองในวันใดวันหนึ่ง แต่เวลาล่วงมาสิบห้าปีแล้ว ก็ไม่มีวี่แววว่าเจนดาจะเป็นเขาหรือเธอ” (หน้า ๗๐)

            จากเรื่องสั้นทั้งสองต่างสะท้อนมุมมองของมนุษย์ ที่อาจมีความฝัน คอยล่อเลี้ยงประคับประคองชีวิต ให้สามารถอยู่บนโลกใบนี้อย่างมีสุข แต่ทว่าความฝันนั้นไม่เป็นเพียงส่วนประกอบเดียวของชีวิต เส้นทางไม่โรยด้วยกลีบกุหลาบฉันใด ความหวังที่อยากจะมีชีวิตย่อมไม่เป็นดั่งปรารถนาฉันนั้น สิ่งที่แสดงถึงความฝันเหล่านั้นไม่อาจดำรงอยู่ได้หากปราศจากความเชื่อมั่น ศรัทธาและความกล้า กล้าที่จะตัดสินใจในสิ่งที่ถูกต้อง แม้สิ่งรอบกายจะประเดประดังสิ่งยั่วยุให้เราเขวเอนตาม ภายใต้โลกที่วิวัฒนาการไม่หยุดสิ้น ในการเกิดบางสิ่ง กลับต้องสูญสิ้นหลายสิ่ง มีเพียงความฝันเท่านั้น เปรียบกับสายธารล่อเลี้ยงจิตใจให้หนักแน่นในความหวังอันน้อยนิด ดังประโยคที่ว่า

            “ฉันไม่กล้าขวาง เพราะมีสาเหตุอย่างอื่นที่ฝังลึกในตัวพ่อ พ่อไม่ได้ผูกพันแนบสนิทกับหมู่บ้าน ทั้งรังเกียจความงมงายของพวกเราด้วยซ้ำ มันเป็นความแปลกแยกอันลึกซึ้ง ยากอธิบาย มันหยั่งลึกไปถึงกระดูกดำของพ่อ การเสาะแสวงชีวิตโดดเดี่ยวเปลี่ยวร้างเพื่อไม่ให้น้ำเลี้ยงในตัวแห้งขอด” (หน้า ๘๓)

             การยึดมั่นในชาติกำเนิดนั้นเป็นสิ่งที่ควรภาคภูมิใจ และร่างกายที่ผิดแผกมาตั้งแต่กำเนิดไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ฉะนั้นความหวังแห่งการมีชีวิตอยู่ คงริบรี่ยากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทร แต่กลับมีสิ่งที่สามารถเยียวยาบาดแผลที่หยั่งลึกลงไปในจิตใจของมนุษย์ นั่นคือ(ยอมรับ)การเป็นมนุษย์ ซึ่งมันน่าขันยิ่งที่สังคมต่างติดเครื่องหมายให้กับผู้อื่นเป็นตัวประหลาด แต่แท้ที่สุดเขาคือมนุษย์เช่นเดียวกับเรา ภายใต้เส้นขนานย่อมสร้างเส้นทางคู่ตรงข้ามเสมอ หากสังคมไม่ตีตราเครื่องหมายกำกับชีวิต ปล่อยให้อิสระแห่งความฝัน ตัวตนของเราได้ปรากฏ โลกที่ดูชาญฉลาดใบนี้ก็คงขับเคลื่อนไปด้วยห้วงแห่งความฝัน และความหวังที่เป็นจริงได้ มิใช่อยู่ในโลกเสมือนจริงเพียงเท่านั้น ดังประโยคที่ว่า

            “ ถ้าเขาเป็นหญิงล่ะ หรือ ถ้าแท้จริงเขาเป็นผู้ชายล่ะ ผู้คนถกเถียงเรื่องนี้กันสามปีเศษ พวกเขาจึงตกลงปล่อยให้เจนดาเลือกมันด้วยตัวเองในวันใดวันหนึ่ง ความครึ่งกลางไม่เป็นอะไรนั่นน่ารังเกียจ ความเป็นทั้งสองอย่างก็ยิ่งน่ารังเกียจ ที่สุดวันหนึ่งเจนดาก็โพล่งไปว่า เรื่องของกู ร่างกายกู, ผู้คนบอกว่าเจนดาสมควรตาย แม่ของเกริกบอกว่า ลูกฉันเป็นคนดี ในห้องบอกว่า เจนดานั้นวิปริต แต่ไม่มีคำไหนพูดถึงสิ่งที่เขาถูกกระทำเลย (หน้า ๗๒-๗๔)

            จากประเด็นเนื้อหาที่ยกตัวอย่างสะท้อน ‘ความฝัน’ ที่ปรากฏอยู่บนเส้นขนานแห่งความสุข เป็นบทวรรณกรรม ที่ฉายภาพจากตัวละครสาดแสงไปยังสังคมอันชาญฉลาดอย่างแท้จริง สังคมที่ต่างตีตรา     และคุณค่าแก่มนุษย์ ที่ต้องเลือกความฝันหรือชีวิตให้เป็นไปตามบริบทของสังคมเป็นผู้กำหนด ทั้งที่ความเป็นจริง ผู้ใช้ชีวิตนั่นคือมนุษย์ผู้นั้นมิใช่สังคมที่ใครต่างกำหนด หากผู้อ่านได้มองเห็นถึงประเด็นนี้ เราสามารถเลือกเส้นขนานที่ปรากฏบนความฝันของผู้คนบนโลกใบนี้ และไม่ตัดสินคุณค่า หรือบีบบังคับให้เขาหรือเธอ เป็นในสิ่งที่สังคมต้องการ

            ‘ความโง่เขลา’ หลงมัวเมาในมายาคติ

            เรื่องสั้นที่ถูกนำเสนอ ความโง่เขลา ที่คอยครอบงำจิตใจได้ถูกสะท้อนผ่าน ‘นกกระยางโง่ ๆ’ โดย จเด็ด กำจรเดช เรื่องราวของท้อปชายหนุ่มวิศวะอนาคตไกล ที่ถูกจับพลัดจับผลูต้องกลับมาดูแลสวนทุเรียนที่ต่างจังหวัด พร้อมการเป็นเกษตรกรมือใหม่ ที่ศึกษาวิธีผ่านความสำเร็จของเพื่อนในโลกออนไลน์ จนท้ายที่สุดเขาก็พบกับความล้มเหลว แต่กลับประสบความสำเร็จในโลก(เสมือน)จริง ดังประโยคที่ว่า “ท้อปขายมันทั้งบ้านทั้งสวน กระดูกพ่อในโกฏิโชคดีเก็บไว้ที่วัด ถ้าอยู่บนบ้านต้องถูกขายไปด้วยแน่ ท้อปผูกเปลและตั้งกล้องถ่ายรูปตัวเองนอนบนเปลโพสต์ทุกวัน มุมเดิม แตกต่างแค่เวลา” (หน้า ๑๐๔)

            นอกจากนี้ความโง่เขลาที่ถูกความโลภครอบงำจิตใจได้ถูกสะท้อนผ่าน ‘ใครรู้จักหล่อนบ้าง’ โดย กว่าชื่น บางคมบาง เรื่องราวของชายหนุ่มนักดนตรี ที่เริ่มต้นสร้างครอบครัวกับแฟนสาวพึ่งท้องได้สี่เดือน เพียงแค่ค่ำคืนเดียวที่หญิงสาวนิรนามปรากฏ ชายหนุ่มนักดนตรีต่างมัวเมาในกิเลสตันหาของตน จนได้พบกับจุดจบสุดแสนอนาถ ดังประโยคที่ว่า “คร้านจะทำท่าปฏิเสธแต่ไม่มีท่าทียอมรับ ไม่ทันไรก็มีผู้ชายเดินมาที่โต๊ะ-นักดนตรีที่แฟนท้องสี่เดือนคนนั้น มันกลับมาจริง ๆ มันบัดซบอย่างที่หล่อนว่า ไม่ทันคาด ‘ปัง’ เสียงปืนดังขึ้นหนึ่งนัด ร่างหนึ่งทรุดลง ราวกับยมทูตจับมือ”(หน้า ๔๒-๔๖)

            จากเรื่องสั้นทั้งสองต่างได้กล่าวถึงความโง่เขลา และถ้าหากเราจะตัดสินความโง่เขลาของผู้ใด โดยไร้สาเหตุ คงเป็นมนุษย์ที่ผิดแผกไปจากอารยธรรมแห่งโลกใบนี้ ทุกการกระทำที่แสดงผ่านละครชีวิต ล้วนแล้วแต่สะท้อนต้นสายปลายเหตุแห่งการตัดสินใจ ดีชั่วนั้นผู้ใดเป็นคนพิพากษา หากมิใช่เพียงสังคมหรือ ที่สร้างบรรทัดฐานขีดเส้นตายว่าผิดหรือถูก แต่ทว่าทุกเส้นขนานย่อมมีผลกระทบของการกระทำที่ต่างกันไป ในปัจจุบันสังคมร่วมสมัยที่มีชีวิตยึดโยงกับวิถีของโลก(เสมือนจริง)ในยุคสื่อสังคมออนไลน์ กลับตัดขาดจากรากเหง้าและรากฐานแห่งการเติบโตไปสิ้น การตัดสินใจเพียงแค่มองผ่านโลก(เสมือนจริง) กลับถูกตีแผ่หยิบยกเชิดชูจากสังคมในโลก(เสมือนจริง) กลับกันชีวิตในโลกความเป็นจริงกลับล้มเหลว ผิดพลาด ล้วนแต่มิเคยปรากฏในโลก(เสมือน)จริงแม้แต่น้อย ดังประโยคที่ว่า

            “สารทุกเรียนฟุ้งเป็นหมอกในแสงยามเช้า ท้อปถ่ายรูปแล้วโพสต์เฟซบุ๊ก มีคนมากดหัวใจหัวใจสี่ร้อยกว่า ตัดภาพมาสู่ของจริง ท้อปบอกขายที่ดินทั้งสามสิบไร่, ท้อปไล่ดูเพจพระสังข์ทองคะนองยาของเพื่อนในโซเชียลแล้วก็ไล่กดไลก์รัว ๆ ช่างดีเหลือแสน แค่ขุดบ่อไว้ปลาก็แถกมาอยู่เองไม่ต้องซื้อพันธุ์ นั้นแหละทำให้บ่อของเขายังว่างเปล่า” (หน้า ๑๐๐-๑๑๖)

            หากความโง่เขลาในโลก(เสมือน)จริงมิได้สวยหรู การตัดสินใจก็คงจะกลายเป็นเพื่อนพ้อง เทียบเคียงเส้นขนานเดียวกัน ความยาวของสายนทีไม่มีสิ้นสุดความโลภของมนุษย์ก็มิสุดสิ้น เมื่อเรามีบางสิ่ง แต่กลับโหยหาอีกหลายสิ่งไม่รู้จบ ความหายนะก็อาจรอเราอยู่ปลายทางก็เป็นได้ อีกทั้งสถาบันครอบครัวคือพื้นฐานแห่งดอกผลที่รอมันผลิดอกงอกงาม แต่หากฐานที่แข็งแกร่งนั้นสั่นคลอน รากฐานของครอบครัวคงแหลกสลายสิ้น ดังประโยคที่ว่า

            ‘ชอบนักดนตรีนั่น?’ ‘มันไม่ได้เรื่อง แหย กลัวเมีย ท่าทางชีวิตจะบัดซบ’ ไม่มีคำต่อความ จริงอย่างที่หล่อนว่า ชีวิตมันบัดซบแฟนท้องทั้ง ๆ ที่ไม่มีหลักชีวิตอะไร, ไม่ทันไรก็มีผู้ชายเดินมาที่โต๊ะ-นักดนตรีที่แฟนท้องสี่เดือนคนนั้น มันกลับมาจริง ๆ มันบัดซบจริง ๆ อย่างหล่อนว่า รุ่งขึ้น หนังสือพิมพ์หัวสีที่ขายดีที่สุดในประเทศพาดหัวรองด้านล่าง ‘พิษหึง สาวท้องสี่เดือนยิงทะลุอกซ้ายผัวนักดนตรีดับ’ ในเนื้อข่าวไม่ระบุชื่อจริงของหญิงสาวท้องสี่เดือนหล่อนอายุยังไม่ถึง”(หน้า ๔๒-๔๖)

            จากประเด็นเนื้อหาที่สะท้อนความ ‘ความโง่เขลา’ มัวเมาในมายาคติ ในโลกที่ดูชาญฉลาด หากมนุษย์เลือกเส้นทางผิดแผกไปจากศีลธรรม ผลกำไรนั้นก็ย่อมนำสู่หายนะแห่งชีวิตมาให้ แม้ปัญหานั้นดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ แต่ผลทางความรู้สึกกลับกระทบอย่างลึกซึ้งถึงรากลึกของจิตใจ กาลเวลาที่ผันเปลี่ยน มนุษย์กลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความฝัน แต่ความโง่เขลาในการดำเนินชีวิตกลับเปลี่ยนวิถีที่ควรปฏิบัติ ให้สนองเพียงความต้องการและสร้างความสุขในโลกเสมือนจริงของตน บนโลกที่ดูชาญฉลาดใบนี้ยังมีบทเรียน ผู้คน สังคมมากมายให้เราได้เรียนรู้ และแก้ไข หากเรานิ่งเฉยต่อการแก้ไข รู้จักผิดชอบชั่วดีแต่ไม่เลือกปฏิบัติในสิ่งที่ควร ความโง่เขลาก็สามารถชนะได้ จนในที่สุดสิ่งนั้นจะครอบงำเราภายใต้โลกที่ดูชาญฉลาดใบนี้

          พิกลพิการมายาคติ ใน‘โลกที่ดูชาญฉลาด’

            เรื่องสั้นที่นำเสนอโลกที่ดูชาญฉลาด สะท้อนในมุมมองของสังคม ‘ศพกิตติมศักดิ์’ โดย ปาริชาติ คุ้มรักษา เรื่องราวของสถานที่ใช้ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในสังคมไทยนั่นคือ วัด และผู้อุปถัมภ์ที่คอยบริจาคเงินเพื่อบำรุงศาสนา แต่กลับกลายเป็นความเลื่อมล้ำของชนชั้น จนไม่สามารถยึดเหนี่ยวจิตใจได้อีกต่อไป ดังประโยคที่ว่า วัดควรเป็นที่พึ่งของชุมชนมิใช่หรือ.. และหากเจ้าอาวาสไม่ใช่ผู้นำที่แท้จริงของวัดแล้ว คนในชุมชนจะต้องนั่งหลับตาข้างหนึ่งหรืออย่างไร?”(หน้า ๕๑)

            นอกจากนั้นยังสะท้อนความชาญฉลาดของโลกผ่านเรื่องสั้น ‘ทองดำโดดแห่งเมือกเขาน้ำตา’ โดย ชัย มีชัย เรื่องราวการค้นหาสมบัติของผู้คลั่งการสืบทอดอำนาจ การต่อสู้ระหว่างสติปัญญาและกลโกงของผู้มีอำนาจ แต่ท้ายที่สุดกลับต้องพ่ายแพ้ให้แก่สติปัญญา ดังประโยคที่ว่า “และแล้ว ที่สุดฝนแรกก็ถล่มเทือกเขาแห่งน้ำตาในราวเที่ยงคืนเศษล่วงคืนสังหารเจ็ดศพไปไม่ถึงชั่วโมง วาตภัยใหญ่ในรอบปีในคืนฟ้าคลั่งไกลปืนเที่ยงไร้ขื่อแปกฎหมาย (หน้า ๑๕๒)

            จากเรื่องสั้นทั้งสองต่างได้นำเสนอความฉลาดแห่งเล่ห์กลบนโลกใบนี้ ถ้าหากเส้นขนานนั้นล่อเลี้ยงด้วยสารธารแห่งความฝัน และกล่อมเกลาบทเรียนแห่งชีวิตด้วยความโง่เขลา แต่ท้ายที่สุดโลกอันชาญฉลาดนั้นย่อมมีจุดสูงสุดของพีระมิดแห่งความเหลื่อมล้ำ อำนาจมากล้นที่ซ่อนเร้นภายใต้หน้ากากศีลธรรมของสังคม ความเลื่อมล้ำของชั้นชนในสังคมปัจจุบันล้วนปรากฏให้เห็นอยู่มาก แต่กลับเด่นชัดยิ่งขึ้น เมื่อถูกสะท้อนผ่านสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ จากศาสนาที่เคยยึดมั่นด้วยศรัทธา ถูกสะท้อนผ่านความต้องการของมนุษย์อย่างไม่มีที่สิ้นสุด กลับกลายเป็นหนี้บุญคุณ ในราคาที่ผู้รับต้องจ่าย ก่อเกิดเป็นระบบอุปถัมภ์ที่ถูกครอบงำด้วยอำนาจแห่งเงิน ผลกระทบไม่ตกที่ผู้นั้นฉันใด การเห็นใจต่อเพื่อนมนุษย์ย่อมสูญสลายฉันนั้น ดังประโยคที่ว่า

            เขาช่วยเรา...ถึงเวลาเราก็ตอบแทนเขาบ้างจะเป็นไรไป, นี่แหละ! คิดยังงี้แหละ มันคือระบบอุปถัมภ์ชัด ๆ เลยนะอา, คืนนั้นคนที่บ้านอยู่รอบวัดต้องนอนปิดหน้าต่างทุกบานที่ทนอึดอัดอยู่ไม่ไหวก็ลุกไปทุบประตูบ้านญาติ บ้านเพื่อนที่อยู่อีกฝากฝั่งคลอง ส่วนพระเณรไม่เดือดร้อนเพราะกุฏิติดแอร์(หน้า ๕๙-๖๓) 

            เมื่อพีระมิดความเหลื่อมล้ำของชนชั้นไม่มีจุดสิ้นสุด จากการสืบทอดอำนาจของรุ่นสู่รุ่น จึงถูกส่งผ่านการสั่งสมประสบการณ์ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่หลอมรวมมนุษย์บางกลุ่ม ถูกอำนาจกลืนกินจนไร้ความเป็นมนุษย์ ความพิกลพิการของโลกที่ดูชาญฉลาด ในทุกการกระหายอำนาจไม่รู้จบ ได้พลิกผันจากผู้ที่รักษาความถูกต้อง กลับเป็นผู้กระทำผิดเสียเอง ดังประโยคที่ว่า

            “เขาหันไปมองบุตรชายที่เพิ่งติดยศหมาด ๆ เพราะบารมีพ่อค้ำหัวอยู่ หลุดคดียิงคนตาย ฉุดผู้หญิง ตบกะเทย ประสบการณ์โชกโชนไปด้วยเรื่องคาว ๆ เลว ๆ แบบที่มักถูกค่อนเอาให้จี๊ดว่าได้เลือดพ่อมาเต็ม ๆ มึงรู้ไหม พ่อกูเป็นใคร!(หน้า๑๔๙)

            จากประเด็นเนื้อหาที่สะท้อนความ พิกลพิการมายาคติ ใน‘โลกที่ดูชาญฉลาด’ โลกที่กำลังล้อเลียนมนุษย์ด้วยความพิกลพิการผิดแผกจากสิ่งที่ควรจะเป็น จากความลุ่มหลงในอำนาจ อำนาจเงินที่แฝงความเหลื่อมล้ำ หากความฝันถูกหลอมรวมด้วยข้อตกลงร่วมกันของสังคม เราผู้นั้นย่อมสามารถเดินทางบนเส้นขนานได้อย่างสันติ แต่หากความโง่เขลา ครอบงำจิตใจและแฝงความพิกลพิการด้วยมายาคติ ก็ย่อมสามารถทำให้มนุษย์พบกับจุดจบที่นำไปสู่หายนะได้เฉกเช่นเดียวกัน

            บทสรุปจากวรรณกรรม “ความฝัน โง่เขลา ในโลกอันชาญฉลาด” แม้เป็นการนำเรื่องสั้นจากนักเขียนรุ่นใหม่ ที่มีการสร้างสรรค์วรรณกรรมเพื่อตอกย้ำ และสะท้อนมุมมองของสังคมในโลกปัจจุบันได้อย่างดียิ่ง แต่หากว่าวรรณกรรมมิเพียงแต่ประเทืองอารมณ์และจิตนาการเท่านั้น ผู้แต่งได้บอกเล่าเรื่องราวผ่านการเยาะหยัน แฝงการเสียดสี และบทสรุปที่ผู้อ่านได้เกิดการครุ่นคิดและตีความอย่างอิสระ การนำเสนอถึงปัญหาของสังคมล้วนสะท้อนให้ผู้อ่านฉุกคิด ไตร่ตรองถึงความผิดแผกพิกลพิกาลของสังคมที่ทวีคูณเด่นชัดขึ้นในทุกวินาที อีกทั้งวรรณกรรมเล่มนี้ถือเป็นบทเรียนที่สะท้อนภาพผลกระทบได้อย่างเด่นชัด ไม่เพียงแต่ตอกย้ำจิตใต้สำนึกในการกระทำที่ไม่ถูกศีลธรรม แต่ยังต้องมองลึกถึงรากฐานจิตใจความเป็นมนุษย์เฉกเช่นเดียวกัน ทว่าที่ผ่านมาโลกที่ดูชาญฉลาดไม่เคยถอยหลัง การเลือกเส้นขนานที่เอื้อเฟื้อต่อเพื่อนมนุษย์ย่อมก้าวหน้าไปตามกาลเวลา และวรรณกรรมที่สร้างสรรค์จะไม่สูญสิ้นถึงคุณค่าที่แท้จริง...

 

เอกสารอ้างอิง

จเด็จ กำจรเดช พร้อมคณะ. (๒๕๖๔). ความฝัน โง่เขลา ในโลกอันชาญฉลาด. สมุทรสงคราม:สำนักพิมพ์นาคร.

 

 

Visitors: 72,251