เมื่อทุกคนต่างมีบ้านที่เป็นมากกว่าบ้าน และมีอะไรเกิดขึ้นในระหว่างทางกลับบ้าน

บทวิจารณ์: ระหว่างทางกลับบ้าน อังคาร จันทาทิพย์

ธณภัทร เหล่าสุวรรณ์
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

            หากกล่าวถึงแวดวงนักเขียนกวีซีไรต์ ชื่อของกวีนาม อังคาร จันทาทิพย์ คงเป็นลำดับต้น ๆ ที่หลายคนนึกถึง เพราะเป็นกวีคนแรกที่ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียนถึงสองสมัย โดยมี “หัวใจห้องที่ห้า” เป็นผลงานประเดิมตำแหน่งซีไรต์ชิ้นแรก ต่อด้วยผลงานชิ้นสำคัญคือ “ระหว่างทางกลับบ้าน” ซึ่งนับเป็นผลงานที่สร้างปรากฏการณ์ให้ ‘อังคาร จันทาทิพย์’ ขึ้นแท่นดับเบิลกวีซีไรต์คนแรกในประวัติศาสตร์ ในปี พ.ศ.2562 นับเป็นหมุดหมายสำคัญที่สะท้อนการทำหน้าที่ของกวีนิพนธ์

            ผลงานกวีนิพนธ์รวมเล่มกวีซีไรต์  “ระหว่างทางกลับบ้าน” ของ อังคาร  จันทาทิพย์ ผู้เขียนได้เรียบเรียงเรื่องราวภายใต้การขยายความคำว่า ‘บ้าน’ ในมิติที่กว้างขวางและหลากหลายมากยิ่งขึ้น ถ่ายทอดผ่านรูปแบบบทกวีฉันทลักษณ์ จำนวน 45 สำนวน มีลีลาการประพันธ์เฉพาะตัวที่ถือเป็นลายเซ็นของกวีนิพนธ์ร่วมสมัย เลือกสรรใช้ถ้อยคำและลงจังหวะอย่างลงตัว สื่อสารความคิดที่ชัดเจน สามารถลำดับเรื่องด้วยการไต่ระดับความรู้สึกให้สอดคล้องกับการเข้าถึงอารมณ์ของผู้อ่าน ถ่ายทอดเรื่องราวผ่านการเดินทางกลับบ้านซึ่งถือเป็นห้วงความคิดที่ผู้เขียนนำเสนอเรื่องราวของสิ่งที่เห็นระหว่างทางกลับบ้านของบ้านหลายหลัง ตั้งแต่บ้านหลังเล็กที่เล่าปัญหาระดับย่อย ไปจนถึงบ้านหลังใหญ่ที่นำเสนอประเด็นปัญหาระดับประเทศตลอดจนระดับนานาชาติ ผูกโยงความเป็นชนบทถ่ายทอดออกมาผ่านดวงตาของคนต่างจังหวัด เน้นย้ำให้ตระหนักถึงความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว นำเสนอประเด็นที่มีความเข้มข้นผสมผสานกับการวิพากษ์วิจารณ์และตีแผ่สังคม ชวนให้ผู้อ่านขบคิด

            อาจกล่าวได้ว่าผู้เขียนกำลังจูงมือให้เราเห็นบางสิ่งบางอย่างที่เรากำลังมองข้ามมาโดยตลอด จึงมีนัยสำคัญบางอย่างที่กระทบใจผู้อ่านเพราะเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว โดยเฉพาะ ‘บ้าน’ และ ‘การเดินทางกลับบ้าน’ ที่ถูกตีความต่างไปจากเดิม ดำเนินเรื่องคล้ายสารคดีที่ซ้อนซับหลายเรื่องราว ประเด็นสำคัญถูกกระจัดกระจายอยู่ในเรื่องต่าง ๆ โดยแบ่งเป็นประเด็นนำได้ ดังนี้

 

          เมื่อบ้านเป็นมากกว่าบ้าน

          ผู้เขียนมิได้ตีความคำว่า ‘บ้าน’ ตามลักษณะทางกายภาพอย่างสถานที่พักอาศัยอันประกอบด้วยบุคคลในครอบครัวเพียงเท่านั้น แต่มีการใส่ลูกเล่นทางอารมณ์ที่ผูกโยงคำว่า ‘บ้าน’ กับการเป็นศูนย์รวมจิตวิญญาณของคนในบ้าน ทั้งการเชื่อมต่อกระบวนความคิดที่บ้านเป็นเสมือนสมุดบันทึกเรื่องราวและความทรงจำอันทรงคุณค่า โดยให้ความสำคัญกับคนในบ้านเป็นเสมือนองค์ประกอบต่าง ๆ ที่คอยพยุงตัวบ้านไว้ แต่เมื่อสิ่งใดก็ตามขาดหายไป นิยามของบ้านก็ถูกลดทอนตามสภาวะความรู้สึกที่มีการเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้ตัวบ้านเกิดความสั่นคลอน เช่น

            “ต่อข่าวคราวความตายใครคนหนึ่ง          สิ้นพ่อถึงวาระแม่ เศร้าแผ่ม่าน

            หมอกเยียบเย็นชีวิต จิตวิญญาณ              ช่างเหมือนบ้านร้างคนอยู่ คนดูแล” (หน้า 145)

            จากบทกวีข้างต้น ผู้เขียนเชื่อมโยงบ้านกับการจากไปของพ่อแม่ ชี้ให้เห็นความสำคัญของบ้านในฐานะแหล่งกำเนิดความสัมพันธ์ นั่นคือสถานที่บรรจุความรักและความผูกพันของคนในครอบครัว เมื่อมีใครก็ตามคนล้มหายตายไปก็จะส่งผลต่อคุณค่าทางความรู้สึก หาก “บ้านไม่คนอยู่” จิตวิญญาณของความเป็นบ้านก็จะค่อย ๆ สูญหายและเปลี่ยนแปลงต่างไปจากเดิม เช่น

           “เกิดที่อื่น ตายลงตรงบ้านนี้                       อาจลูกหลานเกิดที่นี่ ตายที่อื่น...

           แต่ละวัน คืบคลาน ผ่านอีกคืน                    ปลุกเขาตื่นจากความตายภายในตน

           ด้วยความตาย บ้านกลับมามีชีวิต                ใกล้วันทำบุญอุทิศส่วนกุศล

           อีกคราว เสียงเรียกลูกกลับทุกคน               และอีกหนหวั่นสะทกอกสะท้าน

           ภาพบางอย่างกระจ่างยิ่ง เขานิ่งยืน             ความตายคืนชีวิตมาสู่บ้าน

           ใจเอ๋ยใจ ไหวหวั่นเหลือ เมื่อเสร็จงาน         เอ๋ยเรือนชานใครจะอยู่ ใครดูแล” (หน้า 147)

            จากบทกวีข้างต้น จะเห็นถึงสภาวะการเปลี่ยนแปลงของบ้าน หลังจากเสร็จสิ้นงานศพของแม่ ทั้งนี้ยังมีการนำเสนอสภาพบริบทในต่างจังหวัดที่คนรุ่นใหม่ต่างเข้าไปตั้งหลักปักฐานชีวิตในเมือง จนแทบไม่มีเวลากลับบ้าน ทำให้ความเป็นชนบทถูกกลืนกินไปตามยุคสมัย เมื่อคนต่างจังหวัดเริ่มหันหน้าเข้าสู่ความเจริญ งานศพของพ่อแม่ญาติพี่น้องจึงกลายเป็นเสมือนเสียงเรียกให้ลูกหลานกลับมารวมตัวอีกครั้ง แต่จิตวิญญาณความเป็นบ้านเริ่มขาดหายไป เพราะขาดผู้เฒ่าผู้แก่ที่คอยพยุงโครงสร้างทางจิตวิญญาณเหล่านั้น

            ทั้งนี้สภาพแวดล้อมชนบทยังถูกนำเสนอในบทกวีหลายชิ้น แต่บทกวีส่วนใหญ่ผู้เขียนจะมุ่งเน้นให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของวิถีชนบท สะท้อนเรื่องราวผ่านดวงตาของคนต่างจังหวัด เริ่มตั้งแต่ความเชื่อเกี่ยวกับความเป็นมาในการตั้งรกราก จากบทกวี “เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จสุวรรณภูมิ...” หรือความรักและความผูกพันที่ส่งผลต่อคุณค่าและความสำคัญของบ้าน จากบทกวี “บ้านที่พ่อสร้าง บทกวีที่พ่อเขียน” และ “แม่ไม่อยู่บ้าน” (กองคาราวานกำลังเดินทางสู่เส้นขอบฟ้า) ที่กล่าวถึงการเดินหน้าสู่ความของคนรุ่นหลัง ไปจนถึงการบอกลาบ้านเกิดเมืองนอนเพื่อเข้าไปทำงานในเมือง เช่น

            ‘ด่วน บ.ข.ส.’ สวนทิศ คิดถึงทุ่ง             ขณะมุ่งเข้าเมือง ทางเบื้องหน้า

            พึ่งข้าวกล่องสะดวกซื้อติดมือมา            คิดถึงแลงวานแกงปลาว้าเหว่ใจ

            จะนอก หรือในอก รินตกหล่น                 ขบกรามทน ห้ามไม่ไหล มันยิ่งไหล

            แต่ละคำ ไม่อยากนึก สะอึกใน     ชัดและพร่าดวงหน้าใครหลายหลายคน!...(หน้า 35)

            จากบทกวีข้างต้น ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการจากบ้าน การเดินทางในครั้งนี้มิได้เป็นเพียงการเคลื่อนย้ายที่อยู่อาศัยเท่านั้น แต่เป็นการบอกลาสถานที่อันเปรียบเสมือนศูนย์รวมจิตวิญญาณทางความรู้สึก ทั้งบุคคลที่มีความสำคัญในชีวิต ความทรงจำในท้องไร่ท้องนา รวมถึงอาหารการกินที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับบริบทของเมือง ผู้คนจึงโหยหาวิถีดั้งเดิม ตั้งตารอโอกาสที่จะได้กลับคืนสู่ถิ่นฐานที่ตนจากมา โดยเฉพาะช่วงเทศกาลที่มีความสำคัญต่อคนต่างจังหวัดที่จะได้เดินทางกลับบ้าน ฉะนั้นการไม่ได้กลับบ้านในช่วงเทศกาลจึงถือเป็นความทุกข์ของคนคิดถึงบ้าน เช่น        

            “ไม่ร้างก็แต่ถนนมุ่งกลับบ้าน...                เทศกาลของคุณกรุ่นความเศร้า

            ทางบางสายคล้ายร่างเพียงบางเงา           ขาดเพียงเขา และอาจขาดเพียงคุณ” (หน้า 76)

            ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า ‘บ้าน’ ถูกเติมเต็มความหมายให้เกิดความสำคัญทางจิตวิญญาณ บ้านจึงเป็นมากกว่าบ้านในการตีความที่ลุ่มลึกขึ้นไป องค์ประกอบของบ้านจึงไม่จำกัดเพียงกายภาพทางด้านพื้นที่ แต่มีการนำเสนอมิติทางรูปธรรมและนามธรรมที่สัมพันธ์กับความรู้สึก จึงทำให้ ‘บ้าน’ เกิดความยิ่งใหญ่มากขึ้น

 

            มีอะไรเกิดขึ้นในบ้านแต่ละหลัง

            ผู้เขียนได้นำเสนอภาพตามบริบทของบ้านแต่ละหลัง ที่ล้วนมีเรื่องราวแตกต่างกันออกไป อิงตามสภาพบริบทที่ขึ้นอยู่กับเรื่องราวในบ้านหลังนั้น ๆ เริ่มตั้งแต่บ้านในเชิงนามธรรม จากบทกวี “บ้านหนังสือ” ที่เป็นจุดเริ่มต้นในการเปิดหน้าต่างความรู้สู่โลกกว้าง ไปจนถึงบ้านจำลอง จากบทกวี “บ้านของเรา (อยู่ในสังคมออนไลน์)” ผู้เขียนตีแผ่สังคมในยุคโลกาภิวัตน์ที่ผู้คนให้ความสำคัญกับการติดต่อสื่อสารในโลกโซเชียลจนจำลองเป็นบ้านหลังหนึ่ง ทั้งนี้ผู้เขียนยังหยิบยกภาษาที่ผู้คนใช้สื่อสารในโลกโซเชียลที่สวนทางกับการใช้จริงในประจำวัน เช่น

            “แม่ก็ เง้อออออ อย่างงี้ ทุกทีแหละ           แบร่ แบร่ แบะ เด็กบ๊อง ไอ้น้องรั่ว

            แอ๊บขรึม คริ คริ อิ อิ กัว                           เนียนแบบมั่ว เก๋า กร่าง ข้าง ข้าง กรู กรู” (หน้า 53)

            ขณะเดียวกันผู้เขียนก็ได้ตีความ ‘บ้าน’ ที่มีลักษณะความพิเศษที่สอดคล้องกับลักษณะเฉพาะของผู้อยู่อาศัย ทำให้บ้านแต่ละหลังมีเรื่องราวและที่มาอันความแตกต่างกันออกไป อย่างไรก็ดี แม้บ้านแต่ละหลังจะไม่เหมือนกันทั้งหมด แต่บ้านทุกหลังก็ล้วนแล้วมีความสำคัญต่อสมาชิกในบ้าน เพราะมีชีวิตจิตวิญญาณซุกซ่อนอยู่ในนั้น เช่น

            “ไม่มีบ้าน อยู่นานคล้ายกลายเป็นบ้าน     เป็นวันวาน ครรภ์แห่งทุกข์ ถูกคุมขัง

            พ้นเรือนจำ ถือกำเนิด เกิดอีกครั้ง            เหมือนตกฟากจากฝั่งพลาดพลั้งมา” (หน้า 54)

            จากบทกวีข้างต้น กล่าวถึงบ้านใน “กำแพงเรือนจำ” ที่ถือเป็นบ้านหลังหนึ่งของผู้ถูกคุมขัง แต่เป็นบ้านที่อัดแน่นไปด้วยความทุกข์ เมื่อคนในบ้านสามารถออกมาจากบ้านหลังนี้ได้ก็ถือเป็นการได้เกิดใหม่อีกครั้ง ทั้งนี้บ้านในกำแพงเรือนจำอาจเป็นสถานที่ที่ผู้อาศัยไม่พึงปรารถนาและไม่โหยหาเมื่อจากลาบ้าน แต่ยังมีบ้านอีกหลายหลังที่ปะติดปะต่อเรื่องราวจนกลายเป็นสถานที่อันเติมเต็มไปด้วยความสุข เหมือนกับบทกวี “บ้านในห้องเช่า ลูกไม้เก่าของอิ่มเอม” ที่เล่าเรื่องราวของเด็กแว้นที่เดิมทีเคยอยู่บ้านอีกหลัง นั่นคือ “สถานพินิจ เคยออก เข้า ราวกับบ้าน” (หน้า 63) แต่เมื่อกลับตัวกลับใจได้ก็มาตั้งรกรากที่บ้านหลังใหม่ในห้องเช่า พร้อมกับสก๊อยสาวที่ผันตัวเปลี่ยนบทบาทมาเป็นแม่ เช่น

            “ยกมือป้องปาป๊ะ หลับตาปี๋                     อิ่มเอมยิ้มยวนยี แม่นี้พ่าย

            ไฟที่เดือด มอดดับลงง่ายดาย                  ห้องเช่ากลายเป็นบ้านไร้ม่านควัน” (หน้า 64)

            จากบทกวีข้างต้น ชี้ให้เห็นการยกระดับคุณค่าจากห้องเช่าให้กลายเป็นบ้าน เพราะมีองค์ประกอบที่ครบถ้วน โดยองค์ประกอบที่เข้ามาเปลี่ยนสถานะห้องเช้าให้กลายเป็นบ้าน นั่นก็คือ สมาชิกในครอบครัว ที่เข้ามาเติมเต็มจิตวิญญาณของบ้านให้สมบูรณ์ ต่างจากบทกวี “แสง-เงาเหนือหลังคาบ้านพักคนชรา” (หน้า 68) ที่คุณค่าของบ้านลดน้อยถอยลง แม้จะมีองค์ประกอบที่สมบูรณ์ก็ตาม เช่น

            “แม่จะกลัวอะไร อยู่ไกลลูก                      คำที่ผูกหัวใจใกล้หินผา

            เยียบเย็นยิ่ง นิ่งฟัง หลายครั้งครา            คนดูแลคนแก่ชรา ข่มตาลง...” (หน้า 70)

            จากบทกวีข้างต้น แม้สมาชิกในครอบครัวจะมีครบถ้วนสมบูรณ์ เนื่องด้วยแม่และลูกยังติดต่อสื่อสารและแสดงความหวังดีต่อกันอยู่ แต่สภาวะทางความรู้สึกของคำว่า ‘บ้าน’ ถูกลดทอนคุณค่าอย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้คุณค่าของบ้านต้องสอดคล้องกับจิตวิญญาณทางการกระทำและความรู้สึก ที่ต้องขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์อันดีของสมาชิกในครอบครัวด้วย จึงจะสามารถยกระดับ ‘บ้าน’ ให้มีความสมบูรณ์

            นอกเหนือจากนี้ ผู้เขียนยังนำเสนอเรื่องราวในบ้านหลังใหญ่ ที่อัดแน่นไปด้วยปัญหาในบ้านหลังนั้น ๆ ทั้งปัญหาความขัดแย้งทางความคิดและอุดมการณ์ ตั้งแต่ระดับย่อยไปจนถึงระดับประเทศชาติ เช่น บทกวี “บ้านของของคนอื่น” ที่กล่าวถึงความไม่ลงรอยทางอุดมการณ์ของสองพี่น้อง หรือ การตีแผ่เรื่องราวของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง จากบทกวี “บ้านผีปอบ” ตีแผ่ความเชื่อที่ยังคงหลงเหลือยู่ในสังคมไทย ส่งผลให้หญิงกลางคนและลูกสาวต้องเผชิญกับชะตากรรมจากการถูกกล่าวหาว่าเป็นปอบ รวมถึงการบอกเล่าเรื่องราวของปัญหาในระดับนานาชาติที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ทั่วมุมโลก ชี้ให้เห็นว่าบ้านแต่ละหลังกำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์อะไรบ้าง เช่น การเดินทางหาบ้านหลังใหม่ของชาวโรฮีงญา จากบทกวี “บ้านหลังสุดท้าย สุดปลายแผ่นดิน” (ครุ่นคำนึงผู้อพยพชาวโรฮิงญา) เล่าเรื่องราวการอพยพหนีจากบ้านของชาวโรฮีงญา ที่ต้องล่องเรือลี้ภัยกลางทะเลหาหนทางไปสู่บ้านหลังใหม่ในประเทศที่สามอย่างไร้จุดหมายปลายทาง หรือ บ้านที่โครงสร้างของบ้านผุพังทลาย เพราะความขัดแย้งของคนในบ้าน จากบทกวี “บ้านเรือนชาวซีเรีย” (แขนขาทั้งสองของประวัติศาสตร์) เล่าเรื่องราวของอารยธรรมเก่าแก่ที่ล่มสลายของ ประเทศซีเรีย ผู้คนต้องเผชิญกับสภาวะสงคราม กระจัดกระจายเพื่อหนีเอาชีวิตรอด หรือ เรื่องราวของนักอนุรักษ์ หัวหน้าครอบครัวผู้ไม่มีโอกาสได้อยู่บ้าน จากบทกวี “ถูกบังคับให้สูญหายจากบ้านที่เขาพยายามปกป้อง”

            จากการหยิบเรื่องราวของบ้านแต่ละหลังมานำเสนอ ทำให้ผู้อ่านตระหนักว่าขณะนี้เพื่อนมนุษย์ที่อาศัยอยู่ในบ้านแต่ละหลังกำลังเผชิญอะไรอยู่ เพราะมีบ้านหลายหลังในทั่วมุมโลกที่กำลังประสบพบเจอวิกฤตการณ์จนทำให้คนในบ้านต้องอพยพเพื่อหาหนทางเอาตัวชีวิตรอด เหมือนกับบทกวี “บ้านซึ่งความเศร้าเข้ายึดครอง” ที่ชี้ให้เห็นว่าต้นเหตุของความเศร้าบางอย่างล้วนมาจากคนในบ้านด้วยกันเอง เช่น

            “จะกล่าวอ้าง คั่งแค้นโกรธ โทษใครได้      รับเสียเถิด หากไม่ใช่เธอก็ฉัน

            ละเลงมือ ระเริงเลือด ดุเดือดนั้น               เราออกแบบ เราเลือกสรร สร้างกันเอง” (หน้า 90)

            จากบทกวีข้างต้น แสดงให้เห็นว่าเราทุกคนล้วนสามารถเลือกสรรทิศทางของความเป็นไปในบ้านได้ หากเราอยากมีบ้านรูปแบบใด ย่อมขึ้นอยู่กับการออกแบบ เพราะบ้านทุกหลังล้วนแล้วเป็น “บ้านที่สร้างไม่เคยเสร็จ” ดังนั้น ถึงแม้บ้านของแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน แต่ทุกอย่างย่อมขึ้นอยู่ที่เราว่าจะสร้างบ้านออกมาในรูปแบบใด

 

          มีอะไรเกิดขึ้นในระหว่างทางกลับบ้าน

            ‘ระหว่างทางกลับบ้าน’ นับเป็นการเดินทางที่เต็มไปด้วยความรู้สึกอันหลากหลาย ระหว่างทางล้วนแอบแฝงเรื่องราวที่ยากจะต้านรับมาเป็นบทพิสูจน์ ทั้งการต้องใช้อยู่ร่วมกับความเศร้าและการสูญเสีย หรือแม้กระทั่งการเผชิญหน้ากับความจริงที่เกิดขึ้น ซึ่งถือเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนพยายามวิ่งหนีมาโดยตลอด แต่ผู้เขียนมีการปรับสภาวะสมดุลทางอารมณ์ แล้วเผชิญกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าอย่างสง่างาม เพราะ “ระหว่างทาง” ผู้เขียนได้เรียนรู้สิ่งสำคัญมากมายในชีวิต ดังบทกวีที่ว่า

            “แค่รู้จักการล้มและก้มหน้า                     แล้วลุกขึ้นมองฟ้า กล้าใฝ่ฝัน

            กล้าจะรัก หวังและกล้า จะฝ่าฟัน            สิ่งเหล่านั้นยิ่งปรากฏความงดงาม” (หน้า 151)

            แม้ผู้เขียนจะยอมรับและยอมล้ม ก้มหน้าให้กับปัญหาที่กำลังเผชิญ แต่การล้มในครั้งนี้ เป็นการเรียนรู้เพื่อลุกขึ้นมาใหม่พร้อมด้วยหัวใจที่เข้มแข็งขึ้นกว่าเดิม จนทำให้ผู้เขียนเดินทางกลับถึงบ้านโดยสวัสดิภาพ แม้การกลับบ้านในแต่ละครั้งจะมีเรื่องราวสิ่งที่รออยู่ตรงหน้าให้เผชิญ แต่ผู้เขียนก็สามารถก้าวข้ามผ่านมาได้ แม้บ้านในตอนนี้จะไม่เหมือนเดิม เพราะมีองค์ประกอบบางอย่างขาดหายไป แต่บ้านก็ยังเป็นบ้านเหมือนเดิม ดังบทกวีสำนวนสุดท้ายที่ว่า

            “ที่ให้เกิด ที่ให้ไกล ที่ให้กลับ                     ที่ไม่นับเล็กหรือใหญ่ ที่ให้อยู่

            ที่ชีวิต จิตวิญญาณ อวลซ่านอณู              ที่สุขทุกข์ ทุกฤดู อยู่ในนั้น...” (หน้า 152)

 

            ระหว่างทางกลับบ้าน นับเป็นบันทึกการเดินทางที่เต็มไปด้วยการเรียนรู้ ในแง่มุมทางด้านภาษาผู้เขียนได้ใช้กลวิธีเฉพาะตัวที่สามารถดึงอารมณ์และไต่ระดับความรู้สึกของผู้อ่านได้อย่างอยู่หมัด ในแง่มุมทางด้านการนำเสนอเนื้อหาถือเป็นการจูงมือให้ผู้อ่านเห็นมุมมองใหม่ ๆ เปิดดวงตาของผู้อ่านให้มองโลกกว้างขวางมากยิ่งขึ้น มีหลายองค์ประกอบที่เด่นชัดถือเป็นลายเซ็นของนักเขียนนาม ‘อังคาร จันทาทิพย์’ กวีซีไรต์สองสมัยคนแรกในประวัติศาสตร์แห่งประเทศไทย ผู้สามารถขยายความคำว่า “บ้าน” และ “การเดินทางกลับบ้าน” ในมิติของกวีนิพนธ์ จึงอาจกล่าวได้ว่า “ระหว่างทางกลับบ้าน” ถือเป็นปรากฏการณ์ของกวีซีไรต์โดยแท้จริง

 

อ้างอิง

อังคาร จันทาทิพย์. (2563). ระหว่างทางกลับบ้าน. (พิมพ์ครั้งที่ 4). กรุงเทพฯ : ผจญภัยสำนักพิมพ์.

 

Visitors: 72,349