ตะวันในวันรุ่งขึ้น : เรื่องราวในสังคมที่โสมมแต่เปี่ยมหวัง

กัญฐณีญมาศ จันทร์ภักดี
มหาวิทยาลัยบูรพา

 

          “ฉันอยากเห็นประเทศที่ทุกคนมีชีวิตที่ดีกว่านี้ ดีอย่างที่มันควรจะเป็น ไม่ใช่ดีแบบที่ทุกคนหลอกตัวเองว่ามันดีแล้ว” (รทิมา, 2563: 59)

          นี่เป็นประโยคหนึ่งภายในเล่มที่ไม่เพียงแต่สะกิดไปยังหัวจิตหัวใจของข้าพเจ้า แต่มันกำลังเขย่า เขย่าไปทั่วทั้งจิตวิญญาณให้ลุกโหมด้วยความคิดเช่นเดียวกันนี้ เพราะข้าพเจ้าเองก็เป็นคนหนึ่งที่อยากเห็นประเทศนี้ในแบบที่ทุกคนได้มีชีวิตที่ดีอย่างที่ควรจะเป็นเหมือนกัน

          ตะวันในวันรุ่งขึ้น (The Tomorrow Sun) เป็นนวนิยายแนวดิสโทเปียที่เขียนโดยรทิมา นักเขียนอิสระที่ยังมีผลงานไม่มากนักแต่มักได้รับกระแสตอบรับเชิงบวกอยู่บ่อยครั้งในโลกทวิตเตอร์ นี่เป็นผลงานแนวดิสโทเปียเล่มแรกของรทิมาที่ตีพิมพ์ขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2563 ภายในเรื่องได้บอกเล่าถึงเรื่องราวเกี่ยวกับผู้คนที่อาศัยอยู่ในประเทศหนึ่งซึ่งแบ่งแยกอาณาเขตออกเป็น 3 ชั้น อันประกอบไปด้วย

          ชั้นบน สถานที่ที่ผู้คนกินหรูอยู่สบาย จะทำอะไรก็สามารถทำได้ตามใจชอบ ทุกสิ่งทุกอย่างบนชั้นนี้รุ่มรวยไปด้วยสิ่งเจริญหูเจริญตาทั้งสิ้น

          ชั้นกลาง สถานที่ที่ผู้คนกินอยู่กันแบบสามวันดีสี่วันไข้ บางวันก็มีชีวิตที่แสนสบายกายสบายใจ ขณะที่บางวันก็มีชีวิตแบบขัดสนตามแต่คนชั้นบนจะเมตตา ผู้คนในชั้นกลางทุกคนจำเป็นต้องสวมปลอกคอสีขาวอยู่ตลอดเวลา ปลอกคอนี้จะคอยจำกัดถ้อยคำที่ห้ามพูดเอาไว้ หากคนในชั้นนี้เอ่ยคำต้องห้ามนั้นเมื่อไรสัญญาณเตือนก็จะร้องลั่นและถูกส่งตัวลงไปอยู่ชั้นล่างทันที

          ชั้นล่าง สถานที่ที่ผู้คนต้องตะเกียกตะกายและดิ้นรนที่จะมีชีวิตรอด ทุกคนถูกแบ่งแยกให้อาศัยอยู่เป็นเขต แต่ละเขตต้องทำงานตามคำสั่งต่าง ๆ ของเจ้าหน้าที่ มันเป็นงานที่ไม่มีวันสิ้นสุด มันเป็นงานที่ไม่ได้รับสิ่งตอบแทน มันเป็นงานที่ต้องทำเพื่อแลกกับการมีชีวิต ไม่เพียงเท่านั้น ทุกคนในชั้นนี้ยังต้องสักเลขประจำตัวไว้บริเวณท้องแขนและสวมปลอกคอสีดำที่เป็นเสมือนเครื่องชี้เป็นชี้ตายด้วย ปลอกคอสีดำนี้ไม่ใช่ปลอกคอที่จำกัดถ้อยคำต้องห้ามบางคำเหมือนปลอกคอสีขาว แต่มันจำกัดถ้อยคำทุกคำ ซึ่งนั่นแปลว่าคนในชั้นล่างไม่ได้รับอนุญาตให้ปริปากพูดแม้แต่คำเดียว เพราะหากพูดอะไรออกมาเมื่อไร มันจะไม่มีสัญญาณเตือนเหมือนเช่นปลอกคอสีขาว แต่มันจะช่วงชิงลมหายใจของผู้สวมภายในเสี้ยววินาที

          หากให้กล่าวกันตามตรง คนที่ชื่นชอบเรื่องราวสุขนิยมแบบข้าพเจ้าไม่ใช่คนประเภทที่อ่านนวนิยายแนวดิสโทเปียมากนัก เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่านวนิยายแนวนี้มักไม่ใช่แนวที่จับจิตจับใจของพวกสุขนิยมสักเท่าไร อีกทั้งนวนิยายแนวดิสโทเปียที่เป็นผลงานของนักเขียนไทยก็มีอยู่น้อย แต่นวนิยายเรื่องนี้กลับเป็นนวนิยายแนวดิสโทเปียเรื่องหนึ่งที่นำเสนอออกมาด้วยฉากและองค์ประกอบที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งอาณาเขตออกเป็นชั้น ๆ ไปจนถึงการที่ผู้คนต้องคอยสวมปลอกคออยู่ตลอดเวลา มันเป็นการนำเสนอสัญลักษณ์อย่างตรงไปตรงมาทว่าไม่ได้น่าเบื่อ นั่นจึงทำให้ข้าพเจ้าตัดสินใจอ่านต่อไปเรื่อย ๆ อย่างไม่มีทีท่าว่าจะวางได้ลง และด้วยเหตุผลที่ว่าตะวันในวันรุ่งขึ้นเป็นนวนิยายแนวดิสโทเปียที่ถ่ายทอดผ่านฝีมือการรังสรรค์ของนักเขียนไทย ผนวกกับช่วง “พูดคุยนักเขียน” ในส่วนท้ายเล่มที่ผู้เขียนพูดถึงประเด็นปัญหาสังคมในไทยเป็นประเด็นหลักก็ทำให้เข้าใจได้ไม่ยากว่านวนิยายเล่มนี้กำลังบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศของเราอยู่ ซึ่งในมุมมองของข้าพเจ้า การบอกเล่าของนวนิยายเล่มนี้ไม่ใช่การบอกเล่าแบบกล่าวกระซิบ แต่มันเป็นการบอกเล่าแบบกู่ตะโกน (และด้วยความเคารพ มันกู่ตะโกนด้วยความโกรธแค้นอย่างสาหัสเลยทีเดียว) และเพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงได้เห็นถึงความรู้สึกของผู้เขียนที่อัดแน่นอยู่เต็มไปหมดในทุกอณูของตัวอักษร

          ในเรื่องตะวันในวันรุ่งขึ้นนี้ รทิมานำเสนอเรื่องราวผ่านตัวละครหลักทั้งสี่ ได้แก่ ตะวัน ชิน ดรีม และกรณ์ มันเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มคนที่จะเรียกว่าแปลกก็ไม่ใช่ แต่จะให้เรียกว่าปกติก็ไม่เชิง ที่บอกว่า “แปลกก็ไม่ใช่” ก็เพราะว่านอกจากพวกเขาแล้ว ยังมีคนอื่น ๆ อีกหลายต่อหลายคนในสังคมที่รู้สึกเคียดแค้นกลุ่มคนชั้นบนที่ช่วงชิงเอาทุกสิ่งทุกอย่างไปจากชั้นอื่น ๆ ทว่าที่บอกว่า “ปกติก็ไม่เชิง” ก็เพราะว่านอกจากพวกเขาแล้วก็ไม่มีใครเลยที่กล้าออกมาต่อต้านกลุ่มคนชั้นบนอย่างจริงจัง เพราะแม้ว่าคนอื่น ๆ เหล่านั้นจะเคียดแค้นกลุ่มคนชั้นบนมากเพียงใด แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าความรู้สึกรักตัวกลัวตายนั้นมีมากกว่าหลายเท่า เพราะอย่างที่รู้ ๆ กันอยู่ว่าทั้งความเจริญและอำนาจทุกอย่างถูกรวบรวมไว้ที่ชั้นบนแค่เพียงชั้นเดียว กลุ่มคนชั้นกลางและชั้นล่างจึงถูกหล่อหลอมให้หวาดกลัวในอำนาจเหล่านั้นและเลือกที่จะรักษาชีวิตของตนเองไว้ก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งมันไม่เพียงแต่เป็นสิ่งที่หล่อหลอมให้ผู้คนหวาดกลัวเท่านั้น แต่มันยังเป็นสิ่งที่หล่อหลอมให้ผู้คนรู้สึกสิ้นหวัง หมดไฟ และล้มเลิกที่จะคิดถึงใคร ๆ นอกจากคิดถึงตัวเองด้วย มันเป็นสังคมที่หล่อหลอมให้เราเห็นแก่ตัว

          และแน่นอน สี่ตัวละครหลักของเรื่องนี้แตกต่างออกไปกับกลุ่มคนอื่น ๆ เหล่านั้น ข้าพเจ้าคิดว่าผู้เขียนพยายามเสนอให้เห็นถึงความแตกต่างอันเป็นเอกลักษณ์นี้ตั้งแต่การตั้งชื่อตัวละครไปจนถึงการนำเสนอลักษณะนิสัยของตัวละครแล้ว นั่นก็เพราะว่า “ตะวัน” เป็นคนที่สดใสราวกับดวงอาทิตย์ไม่มีผิด เขากล้าได้กล้าเสียและพกความหวังติดตัวอยู่เสมอ ส่วน “ชิน” ที่แม้จะชื่อชิน แต่เขากลับไม่เคยรู้สึกชินชาต่อความ
อยุติธรรมเลย เขาเป็นด้านตรงข้ามของชื่อตัวเอง เขาโกรธเกรี้ยว เขาคุกรุ่น เขาไม่เคยชินกับมัน และเขาก็ไม่คิดที่จะทำตัวให้ชินไปกับมันเด็ดขาดด้วย ขณะที่ “ดรีม” ก็เป็นเด็กสาวที่ช่างฝันสมชื่อ เธอร่าเริง เธอแข็งแกร่ง เธอมีความสนุกสนานอยู่ในแววตา และเธอก็มีความฝันมากมายอยู่ในหัวใจของเธอ และที่ขาดไปไม่ได้ “กรณ์” เขาอายุมากกว่าใครในทั้งสี่คน เป็นเสมือนญาติผู้ใหญ่ใจดีที่เด็ก ๆ ให้ความเคารพนับถือ เขาคอยช่วยเหลือและสนับสนุนเด็ก ๆ ทั้งสามอยู่เบื้องหลัง ซึ่งก็เหมาะสมกับชื่อ กรณ์ (ผู้ช่วย) ไม่มีผิดเพี้ยน โดยสี่ตัวละครหลักนี้ไม่ใช่คนชั้นบน ไม่ใช่คนชั้นกลาง และยังไม่ใช่แม้กระทั่งคนชั้นล่าง พวกเขาเรียกตัวเองว่า “ผี” ซึ่งเป็นชื่อเรียกของกลุ่มคนที่รอดพ้นจากสายตาของเหล่าเจ้าหน้าที่ไปได้และใช้ชีวิตกันอย่างอิสระเพราะไม่มีปลอกคอคอยจำกัดถ้อยคำอยู่ แต่ก็มีข้อเสียคือต้องอยู่อย่างหลบ ๆ ซ่อน ๆ ไม่ให้เจ้าหน้าที่พบเห็น ฉะนั้นพวกผีจึงมีรหัสลับสำหรับทักทายกันว่า “ไร้ชีวิตแต่มีชีวิต” (รทิมา, 2563: 48) และเพราะความไร้ชีวิตแต่มีชีวิตนี้เองที่ทำให้พวกเขาใช้ชีวิตได้อย่างเสรีกว่าพวกที่สวมปลอกคอเป็นไหน ๆ เพราะมันทำให้พวกเขาสามารถพูดในทุก ๆ สิ่งที่อยากจะพูดออกมาได้

          และเมื่อข้าพเจ้าลองทำความเข้าใจดูแล้ว ข้าพเจ้าคิดว่าผู้เขียนกำลังพยายามสะท้อนให้เราเห็นภาพของคนในสังคมไทยผ่านกลุ่มคนที่ถูกแบ่งออกตามชั้นต่าง ๆ ภายในเรื่องอยู่ ซึ่งมันก็ค่อนข้างชัดเจนมากว่ากลุ่มคนชั้นบนนั้นเป็นภาพสะท้อนของเหล่านายทุน เหล่าข้าราชการชั้นสูง และเหล่าชนชั้นปกครองผู้กุมอำนาจภายในประเทศไว้ ส่วนกลุ่มคนชั้นกลางก็เป็นเสมือนภาพสะท้อนของชาวบ้านตาสีตาสาหรือประชาชนที่หาเช้ากินค่ำในฐานะชนชั้นกลางทั่วไป เมื่อมองในเชิงอำนาจแล้ว แน่นอนทีเดียวว่ากลุ่มคนชั้นบนย่อมมีอำนาจมากกว่า ซึ่งผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำอันเกิดมาจากอำนาจนี้ ดังข้อความว่า “ฉันเคยทำงานเป็นหมอหลวง ขึ้นไปใช้ชีวิตอยู่ที่ชั้นบนนานหลายปี คุณรู้ไหม มันต่างกันราวกับสวรรค์และขุมนรก พวกคนด้านบนมันทุจริตกอบโกยเงินไปใช้ มีชีวิตดี ๆ ที่ลงตัวโดยไม่สนใจว่าชีวิตพวกเราหรือคนที่อยู่ล่างเราไปอีกจะเป็นยังไง พวกมันไม่สน ต่อให้คุณจะรักมันมากแค่ไหนก็เป็นได้แค่เครื่องมือที่จะทำให้มันยังรักษาอำนาจไว้ได้” (รทิมา, 2563: 108) ข้อความนี้ทำให้เห็นว่าชั้นบน ชั้นกลาง และชั้นล่างมีความแตกต่างกันมาก การมีอำนาจมากเกินไปโดยไม่มีใครคอยตรวจสอบย่อมทำให้ผู้ปกครองอำนาจนั้นหลงระเริงและใช้อำนาจในทางที่ผิดได้ ขณะที่คนกลุ่มอื่น ๆ ก็ถูกหล่อหลอมให้เกรงกลัวในอำนาจเหล่านั้นจนหลงลืมไปว่าตนเองก็มีอำนาจและมีสิทธิ์มีเสียงอยู่ในมือของตนเช่นเดียวกัน การครองอำนาจของคนชั้นบนจึงเป็นการครองอำนาจแบบ “ทำให้กลัว” และทำให้คนในชั้นอื่น ๆ ไม่ได้รับรู้เลยว่าพวกเขาสามารถทำอะไรได้บ้าง เพราะพวกเขารู้เพียงแค่ว่าต้องทำอะไรบ้างก็เท่านั้น ซึ่งมันก็เป็นเช่นเดียวกันในสังคมที่เรากำลังอาศัยอยู่นี้เอง ในทางกลับกัน กลุ่มคนชั้นล่างกลับทำให้ข้าพเจ้าเห็นภาพสะท้อนของผู้คนได้หลากหลายรูปแบบต่างจากชั้นบนและชั้นกลางที่มีภาพสะท้อนของผู้คนที่เด่นชัด แต่แน่นอนว่าสถานที่ที่เรียกว่าชั้นล่างนั้น ข้าพเจ้าคิดว่ามันเป็นสิ่งอื่นใดไปไม่ได้เลยนอกจากสถานที่ที่เราเรียกมันว่า “คุก”

          คุกคือชั้นล่างไม่ผิดแน่ เป็นความคิดแรกของข้าพเจ้าที่ผุดขึ้นมา เพราะมันทั้งมืดหม่น อับชื้น หดหู่ และยังส่งกลิ่นอายของความรู้สึกสิ้นหวังออกมาได้เด่นชัดที่สุดด้วย การที่ผู้คนในชั้นล่างต้องสวมปลอกคอสีดำ ต้องสักเลขประจำตัวไว้บริเวณท้องแขน ไม่สามารถพูดหรือทำในสิ่งที่ต้องการได้ ซ้ำยังต้องมีเจ้าหน้าที่มาคอยกำกับในทุก ๆ การกระทำของพวกเขานั้นยิ่งทำให้เห็นภาพของคุกได้ชัดเจนมาก ทว่าแม้ข้าพเจ้าจะมองเห็นแล้วว่าชั้นล่างคือคุกอย่างแน่แท้ แต่ข้าพเจ้ากลับมองเห็นคนที่อยู่ในนั้นหลากหลายรูปแบบเหลือเกิน เพราะภายในเรื่อง มีตอนหนึ่งที่ตะวันถามชินว่า

          “ชินรู้ไหมว่าคนแบบไหนถึงจะถูกส่งลงไปที่นั่น...ใช่พวกคนไม่ดีหรือเปล่า”
“ไม่ ไม่เสมอไป มีคนหลายแบบเหลือเกินที่ถูกส่งไปที่นั่น คนดี ๆ ก็มีเยอะแยะ”
(รทิมา, 2563: 43) คำตอบของชินไม่เพียงแต่ตอบคำถามของตะวันเท่านั้น แต่มันยังชี้ให้ข้าพเจ้าได้เห็นด้วยว่าผู้เขียนกำลังพยายามสะท้อนสิ่งใดผ่านกลุ่มคนชั้นล่างอยู่ ซึ่งข้าพเจ้าก็ได้เห็นถึงภาพสะท้อนของกลุ่มผู้ต้องขังทั้งหลายที่ต้องอาศัยอยู่ภายในห้องสี่เหลี่ยมเหล่านั้น มีคนหลายแบบเหลือเกินที่ถูกส่งไปที่นั่น จริงอย่างที่ชินพูด ในคุกไม่ได้มีแต่คนไม่ดีเสมอไป คนดี ๆ ก็มีเยอะแยะ ก็จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่เรากำลังอาศัยอยู่นี้เอง จะเห็นได้ว่ามีหลายคดีเหลือเกินที่คนที่ได้รับโทษไม่ใช่คนผิด มันมีทั้งคนที่ตกเป็นเหยื่อและมีทั้งคนที่ตกเป็นแพะ ขณะที่คนที่กระทำผิดจริงไม่ได้รับการลงโทษทางกฎหมายตามที่สมควรได้รับแต่กลับมีการผ่อนผันหรือลดโทษให้เพียงเพราะคนเหล่านั้นมีอำนาจมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นอำนาจทางการเงินหรืออำนาจทางสังคมก็ตาม และด้วยเหตุนี้เองคุกจึงเต็มไปด้วยคนหลายแบบ เพราะเมื่อใดที่กระบวนการยุติธรรมเลือกที่จะหันหลังให้ความยุติธรรม เมื่อนั้นคุกก็ไม่ได้มีไว้ขังเพียงแค่คนที่กระทำผิดเสมอไป ฉะนั้นไม่ว่าจะ “คุก” หรือ “ชั้นล่าง” ก็ล้วนแต่เป็นสถานที่แห่งเดียวกันไม่มีผิดเพี้ยน

          นอกเหนือจากนี้แล้ว ข้าพเจ้ามองว่าอีกสิ่งหนึ่งที่สะท้อนออกมาอย่างเด่นชัดเลยก็คือ “ปลอกคอ” ซึ่งในทัศนะของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าคิดว่ามันออกจะชัดเจนทีเดียวว่าปลอกคอเป็นสัญลักษณ์ของเครื่องมือในการจำกัดเสรีภาพ ก่อนอื่นข้าพเจ้าต้องขออธิบายเพิ่มเติมเสียหน่อยว่าเครื่องมือในการจำกัดเสรีภาพตามความคิดของข้าพเจ้านั้นสามารถเป็นได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความคิด ความเชื่อ หรือความหวาดกลัวของผู้คนในสังคมที่ล้วนแต่ถูกหล่อหลอมมาให้รู้สึกว่านี่คือสิ่งต้องห้าม เราตั้งคำถามไม่ได้ เราพูดถึงมันไม่ได้ ไปจนถึงตัวบทกฎหมายที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อจำกัดเสรีภาพทางความคิดของเราอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งมันก็มีอยู่ในสังคมเราทั้งหมดที่กล่าวมานั่นแหละ เพียงแต่มันไม่ได้ถูกออกแบบมาในรูปแบบของปลอกคอให้เราสวมก็เท่านั้น แต่ถึงอย่างนั้นเราเองก็รู้แน่แก่ใจกันใช่ไหมว่าเราทุกคนต่างก็สวมปลอกคอล่องหนกันอยู่ เพราะในประเทศนี้มีหลายสิ่งหลายอย่างเหลือเกินที่จำกัดเสรีภาพทางความคิดของเราและมีหลายเรื่องราวเหลือเกินที่ห้ามไม่ให้เราตั้งคำถามใด ๆ เกี่ยวกับสิ่งเหล่านั้น และนั่นล่ะคือปลอกคอ ไม่ว่าจะสีขาวหรือสีดำ แต่มันล่องหนอยู่รอบลำคอของเราไม่ต่างจากที่คนชั้นกลางและชั้นล่างสวมอย่างแน่นอน และจากที่ได้กล่าวไปนี้เอง ข้าพเจ้าจึงคิดว่านี่แหละคือเหตุผลที่ผู้เขียนนำเสนอให้เห็นว่าตัวละครหลักทั้งสี่ไม่ใช่คนในชั้นไหน ๆ เลย เพราะพวกเขาต่างออกไป ผู้เขียนจึงนำเสนอให้พวกเขาเป็นผี เป็นภาพสะท้อนของกลุ่มคนที่ไม่ยินยอมต่อกฎเกณฑ์อันไร้ซึ่งความยุติธรรมเหล่านั้น เป็นภาพสะท้อนของกลุ่มคนที่เลือกเส้นทางชีวิตของตัวเองตามแบบแผนของตัวเองอย่างแท้จริง พวกเขาเลือกที่จะพูดในสิ่งที่อยากพูด เลือกที่จะตั้งคำถามในสิ่งที่อยากถาม ตราบใดที่พวกเขารู้แจ้งในสิทธิและเสรีภาพของตน ทำไมพวกเขาจะต้องพินอบพิเทาให้กับอำนาจอันไม่ชอบธรรมของปลอกคอนั้นด้วย ซึ่งในสังคมของเราก็มีใครหลาย ๆ คนที่เลือกจะเป็นผีเช่นเดียวกับตัวละครหลักทั้งสี่เช่นกัน

          จากทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมา ข้าพเจ้ามองว่า “ผี” คือตัวแทนของความหวัง การที่ผู้เขียนนำเสนอตัวละครหลักในรูปแบบผีจึงเป็นเหมือนการเสนอแนวคิดให้ผู้อ่านได้รับรู้อย่างกลาย ๆ ว่าการมีคนแบบนี้อยู่ในสังคมเป็นเรื่องที่ดี เพราะในสังคมที่ผู้มีอำนาจต่างก็กอบโกยอำนาจและเต็มไปด้วยปัญหาความเหลื่อมล้ำเช่นนี้ สังคมเราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีคนริเริ่มตั้งคำถามถึงสิ่งต่าง ๆ ที่ไม่ชอบธรรม โดยที่คนเหล่านั้นจะต้องตระหนักรู้ในสิทธิของตัวเองเสียก่อนว่าตนสามารถทำอะไรหลาย ๆ อย่างได้มากกว่าที่คิด เมื่อไรที่ตระหนัก ผู้คนก็จะไม่ตกอยู่ใต้อำนาจของความกลัว และการตั้งคำถามของผู้คนก็จะทำให้สังคมมีรูปแบบความคิดที่หลากหลายมากขึ้น และเมื่อใดที่สังคมที่เราอยู่เริ่มมี “ผี” มากขึ้น เมื่อนั้นสังคมที่โสมมนี้ก็จะส่องประกายด้วยความหวังได้อย่างแน่นอน และในตอนนั้นเอง ข้อความจากประโยคที่ว่า “ฉันอยากเห็นประเทศที่ทุกคนมีชีวิตที่ดีกว่านี้ ดีอย่างที่มันควรจะเป็น ไม่ใช่ดีแบบที่ทุกคนหลอกตัวเองว่ามันดีแล้ว” (รทิมา, 2563: 59) ก็คงจะฟังดูไม่เกินจริงอีกต่อไป

 

 

 

Visitors: 72,092