รถไฟเที่ยวสุดท้ายจากพญาตองซู:

จิตใต้สำนึก จิ๊กซอว์ความทรงจำอันขมขื่น

กับการหวนคืนสู่อิสรภาพ

ฉัตรชัย สิทธิจรรยากุล
มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา 

 

            หากพูดถึงสงคราม คงไม่มีใครมองเห็นเป็นว่าเรื่องที่ดี เพราะเป็นเรื่องราวของความสูญเสียไม่ว่าฝ่ายใด จากความโหดร้าย ความขมขื่น และเสียงร่ำไห้ โดยใน “รถไฟเที่ยวสุดท้ายจากพญาตองซู” นับเป็นนวนิยายเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจซึ่งได้ถ่ายทอดเรื่องราวบาดแผลของสงครามมหาเอเชียบูรพาไว้อย่างลึกซึ้ง

            “รถไฟเที่ยวสุดท้ายฯ” เป็นนวนิยายเรื่องใหม่เอี่ยม เพิ่งคลอดออกจากสำนักพิมพ์บ้านแม่น้ำครั้งแรก ในช่วงเดือนมิถุนายน 2564 ผลงานการเขียนของสุมาตร ภูลายยาว แม้เป็นนวนิยายเรื่องใหม่ แต่นับว่าไฟแรงน่าจับตามองอย่างยิ่ง เพราะนวนิยายเล่มนี้ผ่านเข้ารอบ Long list รางวัลซีไรต์ประจำปี 2564 และล่าสุดได้รับรางวัลนวนิยายดีเด่นของ สพฐ. ปี 2565 ด้วย

            เนื้อเรื่องของนวนิยายเล่มนี้พูดถึงเหตุการณ์การสร้างทางรถไฟสายมรณะจากประเทศไทยไปพม่าของฝ่ายทหารญี่ปุ่น เรื่องราวต่าง ๆ ถูกถ่ายทอดผ่านตัวละครคนไทย “ผม” และโทชิ นักสารคดีชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาประเทศไทยเพื่อสำรวจร่องรอยประวัติศาสตร์ และเศษซากของสงคราม หนึ่งในภารกิจที่สำคัญของโทชิคือความต้องการที่จะนำกระดูกของทหารญี่ปุ่นตามพื้นที่ที่มีการสู้รบกันทั้งในประเทศไทยและในพม่ากลับบ้านเกิด โดย “ผม” และโทชิ ออกเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ เพื่อสำรวจหาข้อมูลของทหารญี่ปุ่นจากชาวบ้านหรือคนในพื้นที่ ที่เขาเหล่านั้นประสบพบเจอมากับตัวเองหรือเรื่องเล่าที่เล่าต่อ ๆ กันมา ซึ่งแต่ละจุดที่ไปก็จะมีข้อมูล ที่หลากหลายผนวกกับความฝันซ้อนขึ้นมารวมกับเรื่องจริง เสมือนเป็นการปะติดปะต่อจิ๊กซอว์ของเหตุการณ์ในเวลานั้นจนทำให้เกิดเรื่องราวที่จะนำตัวละครทั้งสองไปสู่ข้อมูลภาพจิ๊กซอว์ตัวต่อไป

            นวนิยายเรื่องนี้ไม่ได้กล่าวถึงมหาสงครามเอเชียบูรพาอย่างตรงไปตรงมา แต่ได้ใช้การประสบพบเจอของตัวละครเอกทั้งสองดึงความทรงจำอันโหดร้ายของสงครามในอดีตกลับมา และหากผู้ใดได้อ่านนวนิยายเล่มนี้จนถึงบรรทัดสุดท้ายแล้ว แน่นอนว่าย่อมได้กลิ่นอายของความหดหู่ที่เกิดขึ้นจากสงคราม โดยในบทวิจารณ์นี้จะนำเสนอให้เห็นถึงกลวิธีที่โดดเด่นของเรื่องนี้ที่นำเสนอความรุนแรงของสงครามเหล่านั้น ผ่านการใช้ความทรงจำที่ไม่ปะติดปะต่อ ตำนาน การนำเสนอปมในจิตใจของผู้คน ผ่านการเล่าเรื่องสรรพนามบุรุษที่ 1     ที่ตอกย้ำความรุนแรงของสงครามต่อทุกฝ่าย ทั้งในขณะที่เกิดและหลังจากสงครามจบลงไปแล้ว ไม่ว่าผู้แพ้หรือผู้ชนะ ทุกฝ่ายต่างมีความทรงจำที่โหดร้ายตามติดหลอกหลอนไปอย่างยากจะลบเลือน

 

ความทรงจำผ่านการเล่าเรื่องแบบบุรุษสรรพนามที่ 1

            “รถไฟเที่ยวสุดท้ายฯ” เน้นถ่ายทอดเรื่องราวสภาวะจิตใจของผู้ที่รอดชีวิตจากสงคราม โดยให้ตัวละครหลัก “ผม” และโทชิ เป็นผู้ดำเนินเรื่องไปสถานที่ต่าง ๆ และสัมภาษณ์ผู้คนที่รอดพ้นผ่านความโหดร้ายมาได้ พร้อมกันนั้นยังใช้การทับซ้อนกันกับความฝันที่เป็นตัวเล่าเรื่องราว โดยเฉพาะเฉลยศึกฝรั่ง และทหารญี่ปุ่น  ซึ่งถือว่าเป็นผู้ที่ได้รับอิสรภาพจากสงคราม แต่ย่อมต้องแลกกับสภาวะจิตใจที่ย่ำแย่เนื่องจากต้องสูญเสียคนที่รัก สูญเสียครอบครัว บ้านเกิดเมืองนอนโดนพังพินาศด้วยระเบิดปรมาณูจากฝ่ายสัมพันธมิตร เสมือนสลักระเบิดที่โดนปลดเปลื้องอิสรภาพจากสงครามที่ต้องแลกกับฝันร้ายที่ต้องเจอจนชั่วชีวิตที่เหลืออยู่ ดังที่ “ทันทีที่ระเบิดปรมาณูสองลูกถูกทิ้งลงนางาซากิและฮิโรชิมา ทั้งสองเมืองย่อยยับ หากเปรียบเป็นเรือก็จวนเจียนอับปางกลางมหาสมุทรที่เต็มไปด้วยคลื่นลมแรงและพายุใหญ่ เสียงร่ำไห้ เสียงตะโกนไถ่ถามหาญาติพี่น้องของผู้รอดชีวิตระงมไปทั่ว ไม่ต่างจากเสียงระเบิดปรมาณูทั้งสองลูก ระเบิดนั้นไม่ได้ถูกทิ้งลงบนแผ่นดินเพียงอย่างเดียว แต่มันยังถูกทิ้งลงบนหัวใจของผู้คนด้วย” (น.21)  

          เห็นได้ว่า ความโหดร้ายของสงครามไม่ได้คร่าชีวิตของผู้ทำสงครามเท่านั้น แต่หากเป็นการพลัดพรากกลืนกินจิตใจของพวกเขาเหล่านั้นให้ดำดิ่งสุดก้นบึ้งของความเจ็บปวด “สงครามผ่านมาหลายสิบปี แต่สำหรับผู้อยู่ร่วมในเหตุการณ์และรอดชีวิต หลายคนไม่อาจลบเลือนความทรงจำออกไปได้ หลายคนเงียบงำและ   ปลีกเร้น โดยเฉพาะทหารหนุ่มที่รอดชีวิตจากสงครามและกลายเป็นคนพิการ หรือกระทั่งเด็กหลายคนที่นางาซากิและฮิโรชิมา ความทรงจำนั้นโหดร้ายต่อพวกเขา เมื่อพบว่าพ่อ แม่ และญาติพี่น้องจากไปกับเสียงระเบิดและเปลวเพลิง” (น.22) ปมในใจของผู้รอดชีวิตที่ได้รับอิสรภาพจากสงคราม แรงขับเคลื่อนในใจเขาเหล่านั้นส่งผลให้เกิดพฤติกรรมในรูปแบบต่าง ๆ ออกมา ในแง่ของการรู้สึกตัว ควบคุมสิ่งนั้นได้ และที่ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ “...เพื่อนทหารของผมหลายคนโชคร้ายกว่า บางคนกลับมาถึงแล้วกลายเป็นคนสติวิปลาส บางคนป่วยเป็นโรคซึมเศร้า สำหรับผมแล้วนับว่าโชคดีกว่าคนอื่น ๆ อยู่ในเรือนจำมีหลายครั้งเหมือนกันที่ผมอยากจบชีวิตตัวเอง ...” (น.184) พวกเขาเหล่านี้จึงเรียกว่าถูกพันธนาการของอดีตที่โหดร้ายจองจำกัดกินพวกเขา

 

จิ๊กซอว์ความทรงจำอันขมขื่นในมุมมองของการวิเคราะห์เชิงจิตวิทยา

          ผู้เขียนถ่ายทอดสภาวะจิตใจต่าง ๆ ของตัวละครออกมาผ่านพฤติกรรมของตัวละครนั้น ๆ การสร้างปมปัญหาภายในจิตใจเป็นการทำให้เห็นถึงความเป็นมา เหตุการณ์ เรื่องราว ที่กระทบส่งผลโดยตรงกับตัวละครก่อนจะนำมาซึ่งพฤติกรรมที่แสดงออก ดังเช่น “ตาปรือ” ตัวละครที่ถูกสร้างขึ้นมาให้เป็นคนบ้าใบ้ “ตาปรือเป็นชายไร้อายุ ศีรษะล้าน พูดจาอ้อแอ้ไม่รู้เรื่อง ตาปรือชอบไปวัด และเมื่อมีงานรื่นเริงเราจะพบเขา คำว่า ‘ตาปรือ’ ในความหมายของชาวบ้านพื้นถิ่นไม่ได้ใช้เรียกคนอายุมาก แต่ที่เรียกตาปรือเพราะมีความหมายว่า ‘คนบ้า’” (น.47-48)

            หากนำทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของซิกมุนด์ ฟรอยด์ มาวิเคราะห์ทำให้เห็นว่าสิ่งที่ตาปรือแสดงออกมาเป็นโครงสร้างทางจิตใจระดับ id ซึ่งถือเป็นสิ่งที่อยู่ลึกสุดของจิตสำนึก การแสดงออกทางพฤติกรรมของตาปรือจึงไม่ได้เป็นไปตามค่านิยมหรือการนึกถึงค่านิยมของสังคม ตาปรือคือผู้ที่ได้รับอิสรภาพจากสงครามจากหลาย ๆ คน ผลพวงทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับตาปรือนับว่าเป็นผลกระทบมาจากภาวะสงคราม ที่สร้างความโหดร้ายอย่างรุนแรงแก่ตาปรือ เนื่องจากในวัยเด็กของเขามีเรื่องราวที่ส่งผลให้เขาเกิดปมปัญหาภายในใจ“...เด็กชายยืนตัวสั่นร้องไห้หวาดสะทก ส่งเสียงอ้อแอ้คล้ายคนเมา มีเลือดออกที่ปาก เอาแต่ชี้มือไปยังปากถ้ำ ชาวบ้านจำนวนหนึ่งช่วยกันหาไม้มางัดก้อนหิน เพื่อจะเปิดปากถ้ำ แต่ก็สูญเปล่า ถ้ำบนภูเขาถูกปิดตายลงพร้อมกับการหายไปของพ่อและลิ้นบางส่วนของตาปรือ นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้ตาปรือไม่สามารถพูดสื่อสารกับใครได้อีกเลย” (น.51)

          จิตใต้สำนึกอันโหดร้ายนี้จึงเป็นแรงจูงใจทำให้ตาปรือแสดงพฤติกรรมออกมาอย่างคนบ้า เสมือนดังบทประพันธ์จากเรื่อง “อิศรญาณภาษิต” ว่า “บ้างโลดเล่นเต้นรำทำเป็นเจ้าเป็นไรเขาไม่จับผิดคิดดูขัน” ตาปรือไม่ได้แกล้งบ้าเพื่อปกปิดบางอย่าง แต่ตาปรือบ้าเพราะผลพวงจากความโหดร้ายของสงคราม เพื่อหลีกหนีจากโลกความเป็นจริงอันแสนโหดร้ายที่ประสบพบเจอ

 

ตำนานกับการถ่ายทอดความเจ็บปวดจากสงคราม

            นวนิยายเรื่องนี้ยังได้สอดแทรกตำนานเรื่องเล่าของประเทศญี่ปุ่น “เด็กหญิงซาดาโกะ ซาซากิ” สัญลักษณ์แห่งสันติภาพ เด็กหญิงผู้ต่อสู้กับโรคร้าย(ลูคีเมีย) ผลจากภัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ตำนานคำอธิษฐานด้วยการพับนกกระเรียนกระดาษ 1,000 ตัว โดยในเรื่องผู้เขียนได้สร้างตัวละครที่ชื่อ “ซาดาโกะ” เด็กหญิงผู้ป่วยด้วยโรคลูคีเมีย แม่ของเธอเป็นคนตั้งชื่อนี้ให้ “แม่ชื่นชอบในความกล้าหาญของเด็กหญิงผู้เพียรพยายามพับนกกระดาษคนนั้น จึงตั้งชื่อเธอว่า ‘ซาดาโกะ’ หลังเด็กหญิงอายุได้สิบขวบแม่จากไป ก่อนแม่จะจากไปไม่ถึงอาทิตย์ แม่สอนซาดาโกะพับนกกระดาษ พร้อมเล่าตำนานเกี่ยวกับมันให้ฟัง...” (น.35) เด็กหญิงสูญเสียแม่ของตนด้วยโรคร้ายเดียวกับที่เธอกำลังเผชิญ เธอมีความมุ่งหวังที่จะไม่ลงเอยชีวิตเหมือนกับแม่ของเธอ “ฉันจะตายเหมือนแม่หรือเปล่า” (น.41) คนเราเมื่อพบเจอกับความโหดร้ายมา  ย่อมหาวิถีทางในการหลีกเลี่ยงและหลุดพ้น เฉกเช่นซาดาโกะที่เชื่อว่าหากพับนกกระดาษครบ 1,000 ตัว จะเกิดปาฏิหาริย์กับตัวเอง และสามารถขอพรสิ่งใดก็ได้ “มีคนเคยบอกว่าถ้าเราพับนกกระดาษครบพันตัว เราสามารถอธิษฐานขอพรได้ แม่ของฉันเคยเล่าให้ฟัง” (น.40)

          หากวิเคราะห์ด้วยทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์ทำให้เห็นถึงจิตใต้สำนึกที่อยู่ลึกสุดของจิตใจซาดาโกะที่มีปมกับการสูญเสียแม่ จึงผลักดันสัญชาตญาณการมีชีวิต ทำให้ ‘ซาดาโกะ’ เด็กหญิงผู้มีความหวังจะหลุดพ้นจากพันธนาการโรคร้ายแสดงพฤติกรรมออกมา โรคร้ายที่เป็นผลพวงมาจากสงคราม โรคร้ายที่เธอได้รับสืบทอดมาจากผู้เป็นแม่ สงครามไม่เคยปราณีใคร แม้กระทั่งเด็กหญิงผู้บริสุทธิ์ อย่างซาดาโกะ “เมื่อกองทัพอเมริกาใช้เครื่องบินบรรทุกระเบิดปรมาณูมาทิ้งลงที่  ฮิโรชิมา ระเบิดได้คร่าชีวิตคนไปจำนวนไม่น้อย ส่วนคนที่ยังอยู่จำนวนไม่น้อยเช่นกัน ซึ่งภายหลังเหตุการณ์ผ่านไปสิบปี บางคนเริ่มป่วยด้วยโรคลูคีเมีย ในจำนวนนั้นมีแม่ของเธอด้วย แม่แต่งงานกับพ่อของเธอตอนอายุยี่สิบห้า หลังการแต่งงานไม่ถึงสองปี แม่ของเธอก็ป่วยจนกระทั่งคลอดเธอ อาการจึงเริ่มหนักขึ้น จนกระทั่งเธอเสียชีวิต เธอก็เช่นกันซาดาโกะ ตอนอยู่ในท้องแม่ เธอได้ซึมซับโรคร้ายของแม่เอาไว้ในเลือดเนื้อของเธอผู้เขียนสะท้อนให้เห็นถึงความโหดร้ายของสงคราม พิษของสงครามที่คร่าชีวิตคนไปจำนวนมาก ผู้ที่ได้รับอิสรภาพจากสงครามต้องแลกด้วยความตาย หรือ ส่วนคนที่ยังมีชีวิตอยู่ก็ต้องแลกกับการต่อสู้กับความทรงจำที่แสนจะโหดร้าย ปมในใจที่แสนขมขื่น    หลอกหลอนตามติดตัวไปจนวันตาย

            เรื่องราวความหดหู่เศร้าใจ ของ ‘ซาดาโกะ’ ในเรื่อง และ ‘ซาดาโกะ’ ตำนานเรื่องเล่าของญี่ปุ่น ที่ถูกนำมาเป็นแม่แบบของซาดาโกะ ในเรื่อง เธอคือคนที่กล้าหาญ เธอได้รับอิสรภาพจากสงครามที่มาในรูปแบบโรคร้าย และความทรงจำที่ขมขื่นเหล่านั้นแล้ว เธอชนะสิ่งเหล่านี้ด้วยความตายของเธอ นกกระดาษที่เธอพับได้พาเธอไปสู่อิสรภาพ นั้นแล้ว “อาทิตย์อุทัยแล้ว หน้าห้อง พยาบาลเคาะประตูเรียกซ้ำ ๆ แต่ไม่มีเสียงตอบรับ พยาบาลจึงตัดสินใจผลักประตูเข้าไป เมื่อประตูเปิดออกเธอต้องตกตะลึง เพราะภาพที่เห็นเบื้องหน้าเป็นภาพของเด็กผู้หญิงนอนยิ้มอยู่ท่ามกลางนกกระดาษ ก่อนถลาเข้าไปหาร่างที่นอนแน่นิ่งแล้วจับข้อมือ เธอพบว่าชีพจรของคนไข้หยุดเต้น...ซาดาโกะไม่มีลมหายใจแล้ว...” (น.45)

          นอกจากนี้ ผู้เขียนยังได้แทรกสัญลักษณ์ไว้อย่างตั้งใจ ดังที่ “ในวันเดินทางกลับ เหนือแผ่นดินอาทิตย์อุทัยในภวังค์ ผมเห็นนกกระดาษจำนวนมากมายบินเรียงรายไปสู่ก้อนเมฆสีขาว บนก้อนเมฆผมเห็นเด็กหญิงซาดาโกะกำลังกระโดดโลดเต้น สักพักเธอก็กระโดดขึ้นไปบนหลังนกกระดาษตัวหนึ่งก่อนพากันโบกบินหายลับไปในมวลเมฆรูปดอกเห็ด” (น.261) จากตัวบทข้างต้น ผู้เขียนเลือกใช้อนุสรณ์สันติภาพเยาวชน แทรกเข้ามาในเรื่องเพื่อแสดงให้เห็นถึงสัญลักษณ์ที่แสดงถึงสันติภาพ และความหวังของคนญี่ปุ่นที่ได้รับผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่ 2 นกกระดาษบินหายไปในเมฆรูปดอกเห็ดเสมือนอิสรภาพของพวกเขาที่ได้รับหลังจากปรมาณูดิ่งลงแผ่นดินอาทิตย์อุทัย การปลดเปลื้องอิสรภาพจากสงครามที่แลกกับทรงจำที่โหดร้ายตามติดชีวิตของคนญี่ปุ่นให้จำไปจนชั่วลูกชั่วหลาน

 

รถไฟเที่ยวสุดท้ายจากพญาตองซู: ครบเครื่อง ครบรส

            “รถไฟเที่ยวสุดท้ายจากพญาตองซู” ได้ใช้กลวิธีการเล่าเรื่องแบบสรรพนามบุรุษที่ 1 โดยมี “ผม”       ตัวละครชาวไทย และ “โทชิ” นักสารคดีชาวญี่ปุ่น ทั้งสองเสมือนเป็นผู้ดำเนินเรื่องทั้งหมดพาผู้อ่านไปเจอเรื่องราว และเหตุการณ์ต่าง ๆ จากการที่ทั้งสองไปสัมภาษณ์ชาวบ้านหรือบุคคลที่คาดว่ามีข้อมูลอย่างที่ทั้งสองต้องการ เสมือนเป็นบทความสารคดี การดำเนินเรื่อง และเหตุการณ์ต่าง ๆ นอกจากการสัมภาษณ์ผู้คน ผู้เขียนยังได้เพิ่มมิติการเล่าเรื่องให้มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้นด้วยการใช้มิติทับซ้อนหรือภาวะการฝันของตัวละคร    การนำมิติทับซ้อนขึ้นมาเพิ่มความเข้มข้นของเนื้อเรื่องทำให้เพิ่มความน่าสนใจในการอ่านเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นเนื้อเรื่องที่ผู้เขียนจงใจใส่เพิ่มเข้ามาทับซ้อนกับเหตุการณ์ปัจจุบันในเรื่อง เป็นการปะติดปะต่อเรื่องราวระหว่างความจริงและความไม่จริงได้อย่างลงตัว เสมือนพาผู้อ่านไปไขปริศนาบางอย่างจากเรื่องไปในตัว   ถือเป็นนวนิยายไทยอีกเรื่องที่ควรค่าแก่การอ่าน และน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

          นอกจากนี้ การอ่านเชิงวิเคราะห์ยังช่วยเผยให้เข้าใจถึงพฤติกรรมของตัวละครที่ถูกสร้างออกมาโลดแล่นในเนื้อเรื่องได้อย่างลึกซึ้ง “รถไฟเที่ยวสุดท้ายจากพญาตองซู” ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าเบื้องลึกของจิตใจของผู้ที่ได้รับอิสรภาพจากสงคราม และยังรอดชีวิตอยู่นั้น ส่วนเสี้ยวจิ๊กซอว์ความทรงจำของพวกเขาเหล่านั้นเต็มไปด้วยความขุ่นมัว มีปมปัญหาในใจ ทั้งที่ถูกถ่ายทอดออกมาจากเรื่องเล่า ภาพนิมิตกึ่งฝัน ทุกตัวละครล้วนมีชีวิตไปพร้อมกับความเจ็บปวดในใจกับเรื่องราวที่โหดร้ายในอดีตอันแสนสาหัส แม้บางคนได้รับอิสรภาพจากสงครามแล้ว แต่พวกเขายังต้องการอิสรภาพจากความเจ็บปวดในใจ หลายคนจึงเลือกที่จะปลดปล่อยตัวเองด้วยการเดินทางสู่อิสรภาพที่แท้จริงของเขา ด้วยการปลิดชีพตัวเอง แต่อีกหลายคนเลือกที่จะต่อสู้กับพันธนาการความโหดร้ายของอดีตด้วยการมีชีวิตอยู่ พวกเขาต่างก็มีวิธีการที่จะจัดการกับความรู้สึกนึกนั้นแตกต่างกันไป และบทสรุปของนวนิยายเรื่องนี้ได้ตอกย้ำให้เห็นว่า สงครามไม่ได้สร้างความยิ่งใหญ่ให้ผู้ใด แท้จริงแล้วเราต่างตกเป็นเหยื่อของสงคราม” (น.260-261)

 

 

แหล่งอ้างอิง

สุมาตร ภูลายยาว.(2564). รถไฟเที่ยวสุดท้ายจากพญาตองซู. พิมพ์ครั้งที่ 2. กาญจนบุรี: สำนักพิมพ์บ้านแม่น้ำ

Visitors: 72,116