โปรดรับรู้ เข้าใจ และเคียงข้างตลอด “การเดินทางของผีเสื้อหลากสี”

ดนุพล พุ่มสลิด
มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม

 

          “Becoming a butterfly การเดินทางของผีเสื้อหลากสี” ประพันธ์โดย เมริษา ยอดมณฆป เป็นนวนิยายที่ได้แรงบันดาลใจมาจากประสบการณ์ตรงในการทำงานเป็นนักจิตวิทยาฝึกหัดที่ถ่ายทอดเรื่องราวผ่านตัวละครลิซ่าทำงานเป็นนักจิตวิทยาฝึกหัด อยู่ที่โรงพยาบาลบาร์เน็ตแห่งกรุงลอนดอน เป็นเวลา 6 เดือน ในแผนกเด็ก วัยรุ่น และครอบครัว ภายใต้การดูแลของคุณหมอสตีฟซึ่งเป็นพี่เลี้ยง การดำเนินของเรื่องนำเสนอผ่านปัญหาทางจิตเวชของเหล่า “ผีเสื้อ” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเด็กชายและเด็กหญิงที่แตกต่างกันทั้ง 12 เคส คือ เด็กชายมังกร เด็กหญิงไร้เสียง เด็กชายโทรโข่ง เด็กหญิงบนหอคอย เด็กชายต่างดาว เด็กหญิงล่องหน เด็กชายหัวรถจักร เด็กชายอัศวิน เด็กหญิงสองบ้าน เด็กชายสมองทึบ เด็กชายผีเสื้อ และเด็กหญิงไม่เป็นไร โดยนำเสนอแนวทางการรักษา ความซับซ้อนทางอารมณ์ของโรคแต่ละประเภทที่แตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อมที่พวกเขาเติบโตมา นวนิยายเล่มนี้นอกจากจะสร้างคุณค่าให้กับผู้อ่านในด้านของการเข้าใจผู้อื่น อันเป็นปัจจัยสำคัญในการอยู่ร่วมกันในสังคมแล้ว ยังมีการดำเนินเรื่องที่สนุกสนาน อ่านง่าย และเข้าถึงผู้อ่านได้ทุกช่วงวัย จึงทำให้นวนิยายเรื่องนี้ได้รับรางวัลวรรณกรรมเยาวชนชนะเลิศรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ครั้งที่ 18 ประจำปี 2564

          การเดินทางของผีเสื้อหลากสี จะพาผู้อ่านไปรู้จักกับสาเหตุของโรคทางจิตเวช ทั้งจากกรรมพันธุ์และสภาพแวดล้อม ผ่านกลวิธีการประพันธ์ที่น่าสนใจและน่าเชื่อถือเพราะผู้แต่งได้นำเรื่องราวที่มาจากชีวิตจริงของเธอขณะที่ไปเรียนต่อปริญญาโทด้าน Early Intervention in phychosis หรือการป้องกันแทรกแซงก่อนเกิดจิตเวช ที่ King’s College London (KCL) ประเทศอังกฤษมาประกอบสร้าง ทำให้ผู้อ่านได้เรียนรู้แนวทางการรับมือกับอาการผิดปกติต่าง ๆ ทั้งการสังเกตอาการ การตั้งสมมติฐานสาเหตุของโรคเบื้องต้น รวมถึงแนวทางการบำบัดบัดรักษาด้วยวิธีการต่าง ๆ ทั้งการรับประทานยาควบคู่กับการบำบัด การพูดคุย (Talk Therapy)  การเล่นบำบัด (Play Therapy) อรรถบำบัด (Speed Therapy) ฯลฯ ผ่านเรื่องราวของ   ตัวละครซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการวางแผนครอบครัวหรือการรับมือกับโรคทางจิตเวชที่อาจจะเกิดขึ้นในสภาวะที่สังคมเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วเช่นทุกวันนี้

 

ครอบครัวกับการฟูมฟัก “ผีเสื้อ”สู่สังคม

          วัยเด็กเป็นวัยแห่งการพัฒนาทางด้านร่างกายและจิตใจ สถาบันครอบครัวจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อการพัฒนาทางด้านร่างกายและจิตใจของเด็ก เพราะเด็กจะอยู่ใกล้ชิดกับสถาบันครอบครัวมากที่สุด เปรียบได้กับหนอนผีเสื้อที่ใช้ชีวิตอยู่ในดักแด้ สิ่งที่เด็กได้รับจึงถูกปลูกฝังจากครอบครัวเป็นส่วนใหญ่ทั้งด้านดีและไม่ดี หากครอบครัวใดใช้ความรุนแรง จะทำให้เด็กในวัยนี้นำไปเป็นแบบอย่าง และหากอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เลวร้ายก็อาจจนำไปสู่การป่วยเป็นโรคทางจิตเวชได้ ในทางตรงข้ามครอบครัวที่อบอุ่น มีผู้นำครอบครัวคอยเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับสมาชิกในครอบครัวย่อมเป็นผลดีกับตัวเด็กที่จะซึมซับสิ่งดี ๆ ไปใช้ นวนิยายเล่มนี้นำเสนอเรื่องราวของผู้ป่วยโรคทางจิตเวชอันมีสาเหตุมาจากคนในครอบครัวคือ ตอนเด็กชายมังกรที่มีปัญหาสองบุคลิก มีแนวโน้มทำร้ายผู้อื่น เพราะเคยถูกพ่อทำร้ายร่างกายอย่างรุนแรง เด็กหญิงสองบ้าน ที่ตกอยู่ในสถานการณ์ที่พ่อแม่ทะเลาะกันและกำลังจะหย่าขาดจากกัน แต่เด็กตัดสินใจไม่ได้ว่าจะต้องไปอยู่กับใคร ทำให้อยู่ในภาวะสับสนและโทษตัวเองเด็กหญิงไม่เป็นไร ที่กำลังย่างเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ที่ต้องมารับรู้ความลับของพ่อที่เอาเงินกองกลางของบ้านไปเล่นสล็อตและแม่ที่เป็นชู้กับเจ้านายที่ทำงาน เธอมีที่พึ่งเดียวคือคุณยายที่พร้อมรับฟังทุกปัญหาของเธอแต่วันหนึ่งคุณยายประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตกะทันหัน ปัญหาต่าง ๆ ที่รุมเร้ามาในช่วงเวลาเดียวกันทำให้เด็กหญิงตัดสินใจกระโดดน้ำฆ่าตัวตายเพื่อทิ้งความเจ็บปวดนี้เด็กชายอัศวินที่พ่อดื่มสุราและมักจะทำร้ายร่างกายแม่ วันหนึ่งเด็กชายอัศวินทนเห็นแม่ถูกทุบตีไม่ไหวจึงเข้าไปปกป้อง พ่อที่ขาดสติจึงทำร้ายเด็กชายจนหมดสติและเด็กชายผีเสื้อที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศและต้องปกปิดตัวตนจากสังคมเพราะไม่ต้องการให้พ่อรู้ จึงขาดความมั่นใจในตัวเอง ไม่ชอบพูดกับใคร ไม่ชอบเข้าสังคม

          เรื่องราวเหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาอันเกิดจากคนในครอบครัวทั้งสิ้น โดยเฉพาะพ่อหรือแม่ซึ่งใกล้ชิดกับลูกมากที่สุด บางครั้งการกระทำ การตัดสินใจของผู้ใหญ่ที่ขาดการไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนและไม่พิจารณาถึงผลที่จะตามมาโดยเฉพาะผลที่เกิดกับลูก ย่อมเป็นแผลในใจที่เกิดขึ้นกับตัวเด็กไปตลอดกาล แผลทางกายเมื่อเกิดขึ้นผู้ใหญ่อาจจะมองเห็นได้ชัดเจนและรีบพาไปรักษาได้ทันเวลา เพื่อไม่ให้ลุกลามหรือเรื้อรัง แต่แผลทางใจเป็นแผลที่มองไม่เห็นชัดเจน โดยเฉพาะเด็กหรือเยาวชนที่มักเก็บภาวะทางใจนี้ไว้เพียงคนเดียว เพราะไม่รู้ว่าจะจัดการอย่างไร บางกรณีไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตนเองกำลังเผชิญอยู่กับอะไรภายในจิตใจ จากภาวะทางจิตใจนี้สะท้อนออกมาในรูปแบบข้อมูลทางสถิติจากปลายปีที่ผ่านมามีการรายงานจากกรมสุขภาพจิตได้ประเมินสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นไทยกว่า 1.8 แสนราย ผ่านแอปพลิเคชัน Mental Health check-in พบว่าวัยรุ่นมีภาวะความเครียดร้อยละ 28 % ภาวะเสี่ยงซึมเศร้าร้อยละ 32 %และเสี่ยงฆ่าตัวตายร้อยละ 32 %  ฉะนั้นการที่สถาบันครอบครัวหนึ่งจะเลี้ยงลูกให้มีคุณภาพและเติบโตในสังคมได้อย่างมีความสุขได้นั้น จะต้องสร้างพื้นฐานทางด้านจิตใจและการกระทำให้มีความเข้มแข็ง ผู้วิจารณ์มองว่า หากมีจิตใจที่เข้มแข็งแล้ว ไม่ว่าโลกภายนอกจะโหดร้ายสักเพียงใด เด็กจะสามารถรับมือ และฟันฝ่าปัญหาและอุปสรรคในชีวิตต่อไปได้

 

วาทกรรม “คนบ้า” : การปิดกั้นผู้ป่วยกับจิตแพทย์

          ความตึงเครียดจากสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินชีวิตประจำวันของคนในปัจจุบัน เป็นเสมือนบททดสอบให้มนุษย์ทุกคนต้องเอาตัวรอดเพื่อให้ชีวิตได้ขับเคลื่อนไปข้างหน้า ใครแข็งแกร่ง ปรับตัวเก่งก็จะเป็นผู้อยู่รอด ส่วนผู้ที่อ่อนแอก็อาจจะถูกคัดออก หนทางหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้ที่มีความอ่อนแอทางจิตใจกลับมาเข้มแข็งและใช้ชีวิตต่อไปได้ นั่นคือ การยอมรับความผิดปกติของตนเองและรีบไปปรึกษาแพทย์ แต่ด้วยความเข้าใจผิดอันเนื่องมาจากค่านิยมของสังคมไทยที่มองว่าคนที่ไปโรงพยาบาลจิตเวชคือคนบ้า ดังข้อความที่ว่า “อาจจะเป็นเพราะความกลัวผิด ๆ ที่ทำให้มองว่าคนที่แตกต่างจากตัวเองแปลว่า ไม่ดี มันไม่ใช่แค่เรื่องเพศหรอกลิซ่า ยังมีอีกหลายอย่างเลยละ อย่างคนไข้จิตเวชที่คนเหมารวมว่าทุกคนต้องเป็นบ้า เป็นอันตรายต่อสังคม ทั้งที่จริง ๆ แล้วไม่ได้เป็นแบบนั้นสักหน่อย คนในสังคมไม่น้อยก็ทำร้ายคนไข้จิตเวช” (เมริษา ยอดมณฑป, 2565: 41) หากมองในมุมผู้ที่เป็นโรคทางจิตเวชแต่ไม่กล้าไปรักษาอาจเป็นเพราะกลัวถูกสังคมปิดกั้นทางโอกาส หรือมองว่าเป็นคนบ้าแล้วไม่สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ ดังข้อความที่ว่า “วันนี้นายอยู่ให้ห่างจากลูกเลยนะเจ้าสมองทึบ อย่าสะเออะมาแตะลูกเชียว ไม่งั้นฉันจะอัดนายให้คว่ำแทนอีกทีมแน่นอน” (เมริษา ยอดมณฑป, 2565: 150) หรือกลัวทำให้คนในครอบครัวไม่สบายใจผิดหวังที่เขาเป็นแบบนั้น แล้วไม่สามารถดูแลตัวเองได้ โดยเฉพาะเกิดขึ้นกับเด็กแล้วผู้ป่วยกังวลว่าผู้ปกครองจะเป็นห่วง ดังข้อความที่ว่า “ผมขอโทษครับแม่ ผมแค่กลัวว่าสิ่งที่ผมเป็นจะทำให้พ่อแม่เสียใจ” (เมริษา ยอดมณฑป, 2565: 154) และยังมีอีกหลาย ๆ เหตุผลที่เป็นสาเหตุทำให้ผู้ป่วยไม่กล้าที่จะบอกคนรอบข้างว่าตนเป็นโรคทางจิตเวช

          และในมุมมองของคนทั่วไป บางคนอาจมองว่าผู้ป่วยทางจิตเวชชอบสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น แม้ความเมตาธรรมเพียงน้อยนิดก็ไม่ผ่อนปรนให้กับผู้ป่วยที่บางครั้งอาจเผลอแสดงอาการตามโรคที่เขาเป็น ดังข้อความที่ว่า “นี่เธอมาขอโทษแม่ฉันเดี๋ยวนี้เลยนะ ชายวัยกลางคนตะคอกใส่หน้าเด็กชาย     อ็อตโต้ ในขณะที่ยายของเขาเข้ามาขวางระหว่างกลาง”  (เมริษา ยอดมณฑป, 2565: 38) เป็นตอนที่เด็กชายอ็อตโต้เกิดอาการ Tics แล้วเผลอพูดคำสบถออกมา แล้วชายวัยกลางคนไม่พอใจที่ด่าแม่ของตน แม้คุณหมอสตีฟจะเข้ามาบอกแล้วว่าเด็กชายอ็อตโต้เป็นผู้ป่วย แต่ชายวัยกลางคนก็ยังโกรธแถมยังพูดทำร้ายจิตใจทั้งเด็กอ็อตโต้และผู้เป็นยายอีกว่า “งั้นก็ได้ ถ้าเป็นโรคแบบนี้ก็ควรติดป้ายบอกไว้หน่อยสิ คนเขาจะได้รู้ไม่ใช่ปล่อยให้เด็กด่ากราดคนทั่วไปแบบนี้” (เมริษา ยอดมณฑป, 2565: 39) สถานการณ์เหล่านี้คงจะบอกได้ดีว่าทำไมผู้ป่วยถึงไม่อยากบอกให้ทั่วไปทราบว่าเขาป่วย การเกิดโรคทางจิตใจก็แย่อยู่แล้วซ้ำยังต้องมาถูกตอกย้ำจากบุคคลภายนอกจึงเป็นสิ่งที่สร้างความเจ็บปวดอยู่ไม่น้อย

          จากเหตุผลดังกล่าว ผู้วิจารณ์มองว่าสังคมควรเปิดใจและทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคทางจิตเวชในมุมมองที่ถูกต้อง เพราะโรคดังกล่าวไม่ใช่สิ่งน่ากลัวหรือไกลตัว แต่ทว่าสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน และหนทางออกที่ดีที่สุดสำหรับการรักษาโรคทางจิตเวชคือการไปพบจิตแพทย์ เพื่อประเมินอาการและ            หาหนทางรักษาต่อไป แต่หากสังคมยังคงตกอยู่ภายใต้วาทกรรม “คนบ้า” คือผู้ไปพบจิตแพทย์ คือคนบ้า คนวิกลจริต ในอนาคตอาจมีอัตราการฆ่าตัวตายที่สูงขึ้นเพราะผู้ป่วยไม่กล้าไปพบแพทย์เนื่องจากกลัวถูกการปฏิเสธจากสังคม แต่ในความจริงแล้วคนที่ไปพบจิตแพทย์ไม่ใช่คนบ้าแต่อย่างใด ดังนั้นหากรักตนเอง  ก็ควรรักษาให้ถูกต้อง ถูกวิธี และบอกถึงปัญหาที่เกิดขึ้นภายในจิตใจจริง ๆ คนรอบข้างเองโดยเฉพาะพ่อแม่ก็ควรหมั่นสังเกตอาการบุตรหลาน และมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกับโรคทางจิตเวชเพื่อป้องกันและรับมือได้ทันกับโรคทางจิตเวชที่เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย

 

เคียงข้างตลอดทางเดินของ “ผีเสื้อ”

          อาการของผู้ป่วยทางจิตเวชล้วนมีความแตกต่างกันตามสถานการณ์ สิ่งแวดล้อมที่กระตุ้นให้เกิดอาการ สิ่งสำคัญของนักจิตวิทยาคือการรับฟังและอยู่เคียงข้างพวกเขา ดังข้อความที่ว่า “ไม่เป็นไรนะ ฉันอยู่ตรงนี้ ร้องให้เต็มที่เลย ลิซ่าบีบปลายเท้าของเด็กชายไว้แน่นเพื่อให้เขารับรู้ว่าเธออยู่ตรงนี้เพื่อเขา” (เมริษา ยอดมณฑป, 2565: 41) จากข้อความดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความอบอุ่น ความปลอดภัย ที่ลิซ่าทำให้คนไข้ของเธอสบายใจมากขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าการเป็นนักจิตวิทยาจะต้องเป็นบุคคลที่รักในอาชีพนี้จริง ๆ เพราะการทำงานเกี่ยวกับจิตเวช นักจิตวิทยาจะต้องมีใจที่เปิดกว้าง พร้อมรับฟัง สามารถจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้ หากเปรียบเทียบจิตใจของลิซ่าก็เปรียบได้กับภาชนะอันกว้างใหญ่ เพียงพอที่จะรับฟังปัญหาเหล่านั้นอย่างเต็มใจ อยู่เคียงข้าง และไม่ตัดสิน การที่คนไข้ได้ระบายความอัดอั้นตันใจ หรือยอมที่จะแลกเปลี่ยนพูดคุย หรือที่เรียกการพูดคุยบำบัด (Talk Therapy) ซึ่งผู้วิจารณ์สังเกตเห็นว่าลิซ่าจะใช้การพูดคุยบำบัดเป็นหลักกับทุกเคส ในการรักษาผู้ป่วยของเธอ ชีวิตจริงก็เช่นกัน มนุษย์ทุกคนย่อมผิดหวัง เสียใจหรืออยากระบายโดยการร้องไห้ออกมา นอกจากนี้จิตแพทย์จะต้องพยายามเข้าไปในโลกคู่ขนานของพวกเขาให้ได้ก่อน จากนั้นจึงค่อย ๆ พาเขาออกมาจากกำแพงทางจิตใจนั้นสู่โลกแห่งความจริง แล้วจึงหาวิธีการรักษาด้วยวิธีต่าง ๆ ต่อไป ดังข้อความที่ว่า “ไม่เป็นไรนั่นเป็นเรื่องปกติมากเลย เด็กที่มีภาวะออทิสซึม ถ้าเธอสามารถทำให้ให้เขาเชื่อใจ และพูดภาษาเดียวกับเขาได้ เธอจะสามารถเข้าไปอยู่ในโลกของเขาได้ หลังจากนั้นเธอค่อยแนะนำโลกภายนอกให้เขารู้จักได้” (เมริษา ยอดมณฑป, 2565: 62) แต่อย่างไรก็ตามการเข้าไปในโลกคู่ขนานของคนไข้เหล่านี้ย่อมต้องใช้เวลาเพื่อให้ผู้ป่วยได้ปรับตัวและเปิดใจที่จะรักษา ดังข้อความที่ว่า “เธอทำได้ดีมากเลยลิซ่า ไม่ต้องรีบนะ เดี๋ยวเธอจะค่อย ๆ เปิดออกมาเอง” (เมริษา ยอดมณฑป, 2565: 208)  ด่านแรกของการเปิดใจผู้ป่วยจึงเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดก่อนรักษาในขั้นตอนต่อไป ซึ่งเป็นแนวทางการบำบัดรักษาโดยมีวิธีการหลัก ๆ ดังนี้ เช่น การพูดคุยบำบัด (Talk Therapy)  การเล่นบำบัด (Play Therapy) อรรถบำบัด (Speed Therapy) การปรึกษาทางจิตวิทยา ( Counselling) ฯลฯ จากตัวบทอธิบายว่าผู้ป่วยทางจิตก็ไม่ต่างอะไรกับคนกึ่งหลับกึ่งตื่นบางครั้งมีสติเตือนตัวเองได้บางครั้งก็ไม่มีสติ เช่น เด็กชายต่างดาว ที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคออทิสติกที่มีความสามารถสูง เด็กกลุ่มนี้จะซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกตนเอง คิดอะไรก็พูด รู้สึกอย่างไรก็บอก ดังข้อความ “ถ้าเรามองข้ามการกระทำอันแปลกประหลาดทั้งหลายของเด็กกลุ่มนี้ เราจะพบว่าพวกเขาไม่ได้ซับซ้อนอย่างที่คิด ในความจริงเด็กกลุ่มนี้มีความซื่อตรงต่อความรู้สึก พวกเขาจริงใจต่อตนเองและผู้อื่น…การสอนที่ดีที่สุดคือ การลงไปเล่นและคุยกับเขา ทำให้เขาดูและเรียนรู้จากเขาทีละนิด ๆ” (เมริษา ยอดมณฑป, 2565: 69)  ซึ่งเป็นคำพูดที่บ่งบอกถึงความเข้าใจและการยอมรับ และพร้อมจะเคียงข้างเพื่อให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ

          “Becoming a butterfly การเดินทางของผีเสื้อหลากสี” ได้นำเสนอเรื่องราวของตัวละครเยาวชน   ที่มีปัญหาทางจิตเวชในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งที่มาจากความผิดปกติทางร่างกาย อย่างเด็กชายโทรโข่ง เด็กชายต่างดาว เด็กชายสมองทึบ และความผิดปกติทางจิตใจอันเนื่องมาจากสภาพแวดล้อม ครอบครัว สังคมอย่างเด็กชายมังกร เด็กหญิงไร้เสียง เด็กหญิงบนหอคอย เด็กหญิงล่องหน เด็กชายหัวรถจักร เด็กชายอัศวิน เด็กหญิงสองบ้าน และเด็กชายผีเสื้อ นับเป็นการใช้วรรณกรรมในการทำความเข้าใจมนุษย์ในมิติต่าง ๆ เรื่องนี้จึงเป็นนวนิยายที่สร้างความตระหนักว่า ครอบครัวเป็นสถาบันสำคัญในการผลิตเยาวชนคนหนึ่งให้เติบโตอยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณภาพ มีความเข้มแข็งทั้งร่างกายและจิตใจ หากเด็กได้รับการอบรมเลี้ยงดูจากครอบครัวมาเป็นอย่างดี ได้ความรักความอบอุ่นและดูแลเอาใจใส่อยู่เสมอ เด็กคนนั้นก็ย่อมมีภูมิคุ้มกันที่ดี พร้อมที่จะเผชิญกับความโหดร้ายของโลกภายนอก และสิ่งสำคัญที่สุดคือ การสอนให้เด็กรักและ     เห็นคุณค่าในตัวเอง โดยตระหนักว่าทุกสถานการณ์ที่เข้ามาเป็นบททดสอบชีวิตที่สามารถทำให้มนุษย์เติบโตได้ ขณะเดียวกันก็สามารถทำลายมนุษย์ได้เช่นกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องใกล้ตัวที่ต้องรับมือและปรับตัวให้ได้ ดังนั้นไม่ควรดูถูกหรือเห็นคนป่วยจิตเวชเป็นตัวตลก ตัวปัญหา แต่ควรเปิดใจรับรู้ ทำความเข้าใจ และอยู่เคียงข้างพวกเขาไม่ว่าจะเป็นในฐานะเพื่อน พ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือครูบาอาจารย์ก็ตาม

 

บรรณานุกรม

เมริษา ยอดมณฑป. 2563. Becoming a butterfly การเดินทางของผีเสื้อหลากสี. กรุงเทพฯ: Xiamen Golden Seal Printing Co., Ltd.

hfocus team.2564.ประเมินสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นไทยกว่า 1.8 แสนราย พบเครียดสูง เสี่ยงซึมเศร้า ติดจอติดเกมออนไลน์มากขึ้น!!. (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก : https://www.hfocus.org/content/ 2021/10/23307. วันที่เข้าถึง 25 กุมภาพันธ์ 2565

 

Visitors: 72,365