ส่องสังคมจากมุมมองและความคิดของนักเขียน 9 คน
ส่องสังคมจากมุมมองและความคิดของนักเขียน 9 คน
ผ่านเรื่องสั้น 9 เรื่องใน “ความฝันโง่เขลา ในโลกอันชาญฉลาด”
เอกพจน์ อี้มัย
มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี
ท่ามกลางการแปรเปลี่ยนของสังคมที่รุดหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง ความเจริญต่าง ๆ อันเกิดจากการสร้างสรรค์จากน้ำมือมนุษย์ต่างทยอยเข้ามาตอบสนองความต้องการของมนุษย์เองอย่างไม่รู้จบ แต่ภายใต้การก้าวเดินของสังคม กลับมีความมืดมนซุกซ่อนอยู่มากมายอย่างไม่น่าเชื่อ แม้กระทั่งในตัวมนุษย์ และดูเหมือนว่า มนุษย์ก็ดำเนินชีวิตไปกับความเป็นไปเหล่านั้นอย่างไม่รู้สึกตัว หรือมองไม่เห็น หรือแม้แต่แสร้งทำเป็นมองไม่เห็น
ใน “ความฝันโง่เขลา ในโลกอันชาญฉลาด” รวมเรื่องสั้นรางวัลกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ครั้งที่ 7 ประจำปี 2564 อันเป็นผลงานของนักเขียนรุ่นใหม่ 9 คน กำลังสะกิดเราให้รู้สึกและเห็นปัญหาที่กำลังปกคลุมชีวิตอยู่รอบ ๆ ตัว ด้วยการบอกเล่าจากมุมมองและความคิดของพวกเขาในฐานะมนุษย์ผู้หนึ่งที่ดำรงชีวิตอยู่ในสังคมเช่นเดียวกับเรา ผ่านโลกศิลปะแห่งเรื่องสั้น 9 เรื่อง จนกระทบอารมณ์ให้เราได้ครุ่นคิดและตั้งคำถามต่าง ๆ มากมาย
หากจะกล่าวว่า สังคมถูกขับเคลื่อนมาจนถึงทุกวันนี้ได้ล้วนเกิดจากพลังทางสติปัญญาและความสามารถของมนุษย์ก็คงไม่ผิด และนี่ก็อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มนุษย์ผยองตนว่าเป็น “สัตว์ประเสริฐ” มีสิทธิ์กำหนดความเป็นไปของสังคมรอบตัว จนกอบโกยทรัพยากรสร้างความเจริญให้กับเผ่าพันธุ์ของตนได้มากกว่าสัตว์ชนิดอื่น ซึ่ง บัญชา อ่อนดี ผู้เขียนเรื่องสั้น “จังหวะคืบคลานของสัตว์เลือดอุ่น” ได้บอกเราผ่านงานเขียนของเขาว่า จังหวะการคืบคลานของสัตว์เลือดอุ่นอย่างมนุษย์ เพื่อสร้างความเจริญให้กับตนต่างเบียดเบียนสัตว์ร่วมโลกอย่างมหาศาล และมนุษย์ยังหลงลืมสำนึกบุญคุณของพวกเขาที่แบ่งปันแหล่งอาศัยให้เป็นพื้นที่ทำกินจนหมดสิ้น ซ้ำร้ายยังหันกลับมาทำลาย ด้วยเห็นพวกเขาเป็นศัตรูและเครื่องมือสร้างความภาคภูมิใจในความเป็นสัตว์ประเสริฐของตน และดูเหมือนผลแห่งการกระทำของมนุษย์กำลังย้อนคืนกลับมา เพราะบัญชายังบอกเราอีกว่า ทุกวันนี้มนุษย์ต่างหันกลับมามองกันเองเป็นศัตรูด้วยแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ อันเป็นทุนสร้างสรรค์ความเจริญเริ่มร่อยหรอ ดังนั้น ความแก่งแย่งและกีดกันจึงเข้ามาแทนที่ จนส่งผลให้มนุษย์เห็นแม้แต่มนุษย์ที่หนีอพยพความอดยากและความเลวร้ายเป็น “พวกผู้ก่อการร้าย” (น. 161) ได้อย่างไร้มนุษยธรรม
ความแก่งแย่งย่อมดำเนินไปสู่ความขัดแย้งและแบ่งแยก กลุ่มมนุษย์ที่ฉกฉวยผลประโยชน์สร้างความเจริญได้มากกว่ากลับเหยียดหยามรากเหง้าและมองมนุษย์อีกกลุ่มที่ทำไม่ได้แบบตนอย่างด้อยคุณค่าหรือมองเป็นสัตว์อย่าง “ลิงภูเขา” ดังที่วิภาส ศรีทอง เล่าไว้ในเรื่องสั้นชื่อดังกล่าว แต่ภาพชะตากรรมของมนุษย์กลุ่มนี้ในเรื่องที่ถูกกระทำย่ำยีอย่างไร้มนุษยธรรมทั้งร่างกายและจิตใจ ยังไม่น่าสะเทือนใจมากไปกว่าภาพของตาเฒ่าแห่งลิงภูเขาที่ร่ายยาวหน้ากองไฟถึงรากเหง้าของตนเองด้วยถ้อยคำที่ “เหยียดหยามอย่างถึงพริกถึงขิง” (น. 82) อีกทั้งมนุษย์ร่วมรากเหง้าเดียวกับตาเฒ่าก็กลับ “ไม่มีใครปริปากแย้งเลยสักนิด ต่างนั่งยิ้มงุ่นง่านยอมรับในสิ่งที่ได้ยินทุกประการ” (น. 82) นี่จึงเป็นประเด็นปัญหาที่วิภาสอาจต้องการบอกเราว่า การยอมจำนนและยอมรับว่ารากเหง้าของตนเป็นสิ่งที่สมควรโดนเหยียดหยามอาจเป็นจุดอ่อนที่ทำให้การต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเท่าเทียมในมนุษย์ไม่มีวันชนะก็ได้
ความน่าใจหายของประเด็นความเท่าเทียมในมนุษย์ของสังคมทุกวันนี้คือ แม้กระทั่งศาสนาอันเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้คน กลับกลายเป็นแหล่งรองรับอภิสิทธิ์ชน อันเป็นผลพวงมาจากระบบอุปถัมภ์ ดังเช่นวัดเทียนในเรื่องสั้น “ศพกิตติมศักดิ์” ที่ไม่เคยอนุญาตให้จัดงานเผาศพในวัดนี้มาก่อน เนื่องจากมีเขตติดกับชุมชน แต่กลับอนุญาตให้คุณหญิงอาภานำศพน้องชายเข้ามาเผาที่วัดได้ด้วยเหตุผลว่า “คุณหญิงเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงช่วยหาทุนให้วัดมาตลอด” (น. 59) เรื่องสั้นนี้จึงเป็นสารที่ ปาริชาติ คุ้มรักษา สะท้อนให้เราเห็นว่า ศาสนากำลังกลายเป็นแหล่งรวมระบบอุปถัมภ์ที่ทำให้คนเกิดความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึง และคนที่ยึดเหนี่ยวศาสนาก็ถูกระบบนี้ครอบงำเสียจนไม่รู้ตัว ดังเช่นเจ้าอาวาสวัด หรือแม้แต่ชาวบ้านที่ในท้ายสุดก็เห็นด้วยกับทางวัดให้นำศพกิตติมศักดิ์เข้ามาเผาได้ด้วยเหตุผลเดียวกัน และยอมทนดมกลิ่นควันไฟจากการเผาศพนั้นที่ลอยฟุ้งกระจายไปทั่วชุมชน
เรื่องเพศก็กลายเป็นมายาคติหนึ่งที่สร้างความไม่เท่าเทียมในมนุษย์ ทุกวันนี้มนุษย์ต่างเรียกร้องความเท่าเทียมระหว่างชายหญิง แต่หลงลืมว่าโลกใบนี้ไม่ได้มีเพียงสองเพศเท่านั้น แม้แต่มนุษย์ที่เรียกตนว่าเป็นผู้นับถือศาสนาเองก็เป็นเช่นนั้น ซ้ำร้ายยังใช้บรรทัดฐานทางศีลธรรมเข้ามาตัดสินมนุษย์ที่เป็นชายหญิงปกติว่าเป็น “ตัวบุญ” (น. 70) ส่วนมนุษย์ที่มีความหลากหลายทางเพศว่า “เป็นคนบาป พระเจ้าจึงลงโทษให้เกิดมาเป็นเช่นนี้” (น. 70) นี่จึงเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์เกิดความเหลื่อมล้ำและขัดแย้งกัน ดังเช่น “เจนดา” ในเรื่องสั้น “เพลงสรรเสริญจากไส้เดือนดิน” ของพัชรพร ศุภผล ที่ต้องกลายเป็นตัวบาปและถูกเรียกเป็นสัตว์สองเพศว่า “ไอ้ลูกไส้เดือน” “อีไส้เดือน” “ไส้เดือน” (น. 69) และยังต้องประสบกับการถูกทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจจากตัวบุญเช่น “ไอ้เกริก” อย่างขมขื่น เรื่องสั้นนี้จึงเป็นอุทาหรณ์ของความเหลื่อมล้ำในมนุษย์ อันเป็นผลมาจากมายาคติเรื่องเพศที่เกี่ยวพันกับศาสนา และยังเป็นคำถามที่ท้าท้ายให้เราคิดว่า ความเท่าเทียมของมนุษย์ควรใช้เพศ ศาสนา หรือความเป็นมนุษย์ตัดสิน
แม้แต่ชายหญิงที่ถูกฉาบด้วยมายาว่าเป็นเพศปกติในสังคมก็ยังคงมีปัญหาที่น่าหดหู่ใจ เช่น “ชายหนุ่มนักดนตรี” ในสถานบันเทิงอโคจรในเรื่องสั้น “ใครรู้จักหล่อนบ้าง” ที่มีแฟนสาวท้องสี่เดือนแต่กลับนอกใจด้วยการมานั่งนัวเนียกับหญิงสาวปริศนา เพียงเพราะเธอยื่นนามบัตรที่แฝงผลประโยชน์บางอย่าง ซึ่งในนั้นระบุแค่ “ชื่อนิตยสารชื่อดัง” และ “ตำแหน่งของหล่อน [ที่] เป็นผู้ช่วยบรรณาธิการ” (น. 41) ไว้เท่านั้น พฤติกรรมนี้ของตัวละครเป็นเรื่องที่น่าตั้งคำถามว่า หรือนี่จะเป็นภาพสะท้อนความสัมพันธ์ในเชิงรักใคร่ของชายหญิงสมัยนี้ที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องฉาบฉวยและเป็นผลประโยชน์เฉพาะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากกว่าการสร้างความสัมพันธ์ที่มีคุณค่าลึกซึ้งทางจิตใจระหว่างคนสองคน กว่าชื่น บางคมบาง ผู้เขียนเรื่องนี้ยังทำให้ผู้อ่านสะเทือนใจอีกว่า แม้กระทั่งผู้คนรอบข้างที่รู้จักชายหนุ่มนักดนตรีเป็นอย่างดี เช่น พี่ต้นที่เป็นเจ้าของสถานบันเทิงหรือตัวละครที่เล่าเรื่องนี้เองก็ยังเฉยเมยต่อการกระทำอันเลวร้ายของเขาอย่างหน้าตาเฉย จนกระทั่งเรื่องราวนำไปสู่โศกนาฏกรรม ดังที่ข่าวหนังสือพิมพ์ในเรื่องเขียนว่า “พิษหึง สาวท้องสี่เดือนยิงทะลุอกซ้ายผัวนักดนตรีดับ” (น. 46) นี่จึงเป็นอีกประเด็นจากเรื่องนี้ที่น่าใคร่ครวญว่า มนุษย์ยุคนี้ต่างมองการทำชั่วของมนุษย์ด้วยกันเป็นเรื่องปกติไปแล้วหรืออย่างไร
ปัญหาความรักใคร่ของมนุษย์ที่ขาดการยับยั้งตัณหาในจิตใจตนเองยังคงมีให้เห็น แม้กระทั่งชายผู้มีครอบครัวมั่นคงแล้วอย่าง “พ่อ” ในเรื่องสั้น “ฉลามเสือ” (เรื่องสั้นรางวัลรองชนะเลิศ) ที่เป็นทั้งสามีและพ่อที่แสนดี กลับกลายเป็นปีศาจที่ทำร้ายทุกคนในครอบครัวได้ เพียงเพราะ “พ่อมีเมียน้อย” (น. 28) เรื่องสั้นนี้อาจนำเสนอเรื่องธรรมดาก็จริง แต่การที่พึงเนตร อติแพทย์ ผู้เขียนได้ขยายภาพความเจ็บปวดรวดร้าวทางจิตใจของคนในครอบครัวที่ถูกกระทำอย่างสาหัส ได้สร้างความสะเทือนใจให้เราได้เห็นและรู้สึกถึงความเจ็บปวดนั้นร่วมกับตัวละครด้วย โดยเฉพาะ “ชมพู” ลูกสาวคนเดียวของเขาที่เห็นพ่อทำร้ายแม่มาตลอด จนในที่สุดเธอก็ “ค่อย ๆ กลายร่างจากลูกสาวที่น่ารัก” เป็นคนก้าวร้าวดุจ “ฉลามเสือ โดยที่พ่อ ไม่ทันได้สังเกตเห็น” (น. 29) จนนำเธอไปสู่ความเกลียดชังผู้เป็นพ่อที่ทำได้แม้กระทั่ง “...อธิษฐานทุกวัน ให้พ่อตาย ๆ ไปซะ” (น. 27) อย่างไรก็ตาม พึงเนตรได้แสดงความเห็นไว้ว่า “การให้อภัย” คือวิธีการสมานแผลในใจที่เกิดจากรอยบาดแห่งความขัดแย้งภายในครอบครัวได้ แต่ชะตากรรมของครอบครัวในเรื่องสั้นนี้ทำให้เราคิดต่อไปว่า มันจะดีกว่าหรือไม่ ถ้ามนุษย์ใช้ชีวิตอย่างมีสติและยับยั้งความชั่วร้ายในจิตใจตนได้ มนุษย์ก็คงไม่ต้องสร้างบาดแผลในใจระหว่างกัน และอภัยให้กันอย่างหวานอมขมกลืนดังเช่นชมพูที่กระทำต่อร่างอันไร้วิญญาณของพ่อในตอนจบของเรื่อง
ปัญหาความรวดร้าวในครอบครัวของมนุษย์ในยุคปัจจุบัน คงไม่ได้มีเพียงชนชั้นกลางดังเรื่องสั้นที่แล้วได้สะท้อนไว้ แม้แต่ครอบครัวในชนบทก็ยังมีให้เห็นดังเรื่องสั้น “บ้านคนป่วย” (เรื่องสั้นรางวัลรองชนะเลิศ) ของพิณพิพัฒน ศรีทวี ที่สร้างความสะเทือนใจให้เรารู้สึกผ่านภาพของสมาชิกครอบครัว แต่ละคนในเรื่องที่มีแต่ความเกลียดชังระหว่างกันฝังลึกอยู่ในจิตใจและทับถมจนหาต้นตอหรือเหตุผลของความเกลียดชังไม่ได้ เช่นตัวละคร “ผม” ที่สาปแช่งให้ทุกคนในครอบครัวตาย แม้แต่แม่ของตนก็ไม่เว้น หรือ “ยาย” ของผมที่เกลียดชังแม้กระทั่งตนเอง จนถึงขั้น “...ไล่วิญญาณตัวเอง” และ “พูดทั้งวันว่าไป ๆ ไปจากบ้านนี้เสียทีเถอะกู” (น. 189) เพราะฉะนั้นภาพ “แม่” ของผมที่ “จู่ ๆ แม่ก็กลายเป็นน้ำ ร่างกายของแม่ แตกกระจายจนผมเปียกปอนไปทั้งตัว” และ “ผมกะพริบตาอีกทีแม่ก็กลับมาเป็นแม่เช่นเดิม” (น. 191) อาจสื่อถึงจิตใจของคนในครอบครัวนี้ที่แตกสลายซ้ำแล้วซ้ำเล่า อันเนื่องมาจากการประสบกับความเกลียดชังที่วนเวียนอยู่รอบ ๆ ตลอดเวลา เรื่องสั้นนี้จึงแสดงให้เห็นมุมมองของผู้เขียนที่มีต่อภาพ บ้านชนบทในยุคปัจจุบันที่ไม่ใช่สถานที่ที่มีแต่คนดำเนินวิถีชีวิตเรียบง่ายและสงบสุขดังที่สังคมมักสร้าง วาทกรรมและภาพมายาขึ้นมา แต่มันเป็นสถานที่ที่มีคนป่วยไข้ทางจิตใจและขัดแย้งกันเฉกเช่นครอบครัวชนชั้นกลางในเมืองใหญ่
ความขัดแย้งของมนุษย์ไม่ได้เกิดขึ้นระหว่างมนุษย์กับมนุษย์เท่านั้น เพราะในยุคสมัยนี้ที่เทคโนโลยีก้าวหน้า จนสามารถแบ่งโลกออกได้เป็น 2 ใบ คือ โลกแห่งความจริงและโลกเสมือน ดูเหมือนจะทำให้มนุษย์เกิดโมหะ จนสับสนและขัดแย้งในวิถีชีวิตของตนเอง ดังเช่น “ท้อป” ในเรื่องสั้น “นกกระยางโง่ ๆ” (เรื่องสั้นรางวัลยอดเยี่ยม) ที่ “บอกขายบ้านขายที่ดินทั้งหมด ขายรถยนต์ไปด้วย ... แล้วหนีไปสร้างกระท่อมตากอากาศอยู่ปลายนา” (น. 100) สร้างภาพเป็นเกษตรกรดำรงชีวิตอย่างเรียบง่าย จนผู้คนบนโลกโซเชียลชื่นชมและติดตามมากมาย แต่เบื้องหลังภาพอันเป็นชีวิตจริงกลับล้มเหลวทุกด้าน นี่จึงเป็นภาพสะท้อนของปัญหาในมนุษย์ยุคปัจจุบันที่จเด็จ กำจรเดช กำลังชี้ให้เห็นว่า ผู้คนต่างหลงมุ่งสร้างภาพชีวิตของตนให้ประสบความสำเร็จอย่างสวยหรูในโลกเสมือน จนสับสนและขัดแย้งกับชีวิตในโลกความจริง
จะเห็นได้ว่า มุมมองของนักเขียน 8 คน ที่สะท้อนผ่านเรื่องสั้น 8 เรื่อง พวกเขาล้วนมองว่า สังคมมีปัญหา แต่เป็นปัญหาที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งถ้าจะคิดตั้งคำถามต่อว่า อะไรคือสิ่งที่ทำให้เกิดปัญหาเหล่านั้น ประเด็นนี้ผู้วิจารณ์มองว่า เรื่องสั้นที่ 9 อันเป็นเรื่องสุดท้ายที่จะกล่าวถึงในบทวิจารณ์นี้อาจมีประเด็นที่สามารถเชื่อมโยงไปสู่คำตอบให้เราได้เห็นต้นตอของการเกิดปัญหาสังคมที่แท้จริงก็ได้
เรื่องสั้นนั้นคือ “ทองดำโดดแห่งเทือกเขาน้ำตา” ของชัย ชัยมี ที่แสดงถึงจิตใจด้านมืดของมนุษย์ โดยเฉพาะระหว่างมนุษย์ในคราบ “นายพันโทกองปราบ” ที่ดำรงชีวิตอยู่ในเมืองใหญ่ กับ “นายผู้ชาย” ที่อยู่ท่ามกลางสังคมที่มีสภาพตรงข้ามกับนายพันโทกองปราบอย่างสิ้นเชิง แต่ทั้งคู่ต่างมีจิตใจชั่วร้ายต้องการครอบครองทองคำที่อยู่บนเทือกเขาน้ำตาเหมือนกัน ซึ่งความชั่วร้ายในจิตใจนั้น สามารถทำให้นายพันโทกองปราบกลายเป็น “มหาโจรร้ายในคราบนายตำรวจยศสูงส่งหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบในคราบโจรมหาวายร้าย” (น. 147) ที่สามารถทำร้ายผู้อื่นได้อย่างไร้ความเป็นมนุษย์ หรือแม้แต่นายผู้ชายที่สามารถฆ่าเมียยิปซีของตนได้อย่างเลือดเย็น เพียงเพราะ “นางพร่ำขอร้องและวิงวอนให้ นายผู้ชายนำสมบัติเหล่านั้น [ทองคำ] กลับไปคืนเจ้าของเดิม” (น. 158) ภาพมนุษย์ส่วนหนึ่งในงานเขียนของชัย ชัยมี ทำให้เราเห็นว่า มนุษย์ไม่ว่าจะดำรงชีวิตในสังคมที่ต่ำช้าหรือสูงส่งต่างยังคงปล่อยให้จิตใจของตนอบอวลไปด้วยโลภะ โทสะ และโมหะเหมือนกัน จนสามารถก่อปัญหาเลวร้ายต่าง ๆ ขึ้นมาได้ ประเด็นนี้สามารถนำเราไปสู่การพิจารณาเชื่อมโยงถึงความเป็นไปในสังคมของเราได้ว่า การขาดความยับยั้งหรือหลีกเลี่ยงที่จะขจัดความชั่วร้ายในจิตใจของมนุษย์เองอาจเป็นต้นตอสำคัญของการเกิดปัญหาต่าง ๆ ที่กำลังคุกรุ่นหรือปะทุขึ้นมาแล้วในสังคมที่เราต่างเผชิญกันอยู่
ประเด็นดังกล่าวอาจเป็นความจริงที่เราต้องยอมรับ เพราะสัตว์ประเสริฐที่เรียกตนว่า “มนุษย์” ต่างใช้สติปัญญาและความสามารถพัฒนาเพียงสังคม แต่หลงลืมนำมาใช้พัฒนาจิตใจของตนเอง ดังนั้น ภายในใจของมนุษย์จึงมีแต่โลภะ โทสะ และโมหะ จนนำไปสู่การกระทำแห่งการแก่งแย่ง แบ่งแยก ทำร้าย เกลียดชัง และหลงผิดระหว่างกันหรือแม้กระทั่งตัวเองดังที่เรื่องสั้นแต่ละเรื่องในเล่มนี้ได้แสดงไว้เป็นหลักฐานให้เราได้เห็นและรู้สึก
ผู้วิจารณ์มีความเชื่อมั่นว่า ผู้เขียนทั้ง 9 คนไม่ได้หวังให้ความเลวร้ายที่พวกเขาบอกเล่าไว้ในโลกศิลปะดำเนินต่อไปหรือเกิดซ้ำขึ้นใหม่ในโลกแห่งความเป็นจริง เพียงแต่พวกเขาอาจหวังให้เราเห็นปัญหาที่กำลังเผชิญ อันเกิดจากมนุษย์อย่างเราเอง ผ่านเรื่องเล่าของพวกเขา และกระตุ้นจิตสำนึกให้ได้ฉุกคิดที่จะขจัดความเลวร้ายเหล่านั้นและร่วมกันกอบกู้สังคมขึ้นใหม่ก่อนสายเกินไป นี่จึงเป็น “คุณค่าทางปัญญา” ของงานเขียน 9 เรื่องที่ผู้เขียน 9 คน ฝากเป็นความหวังให้กับเราไว้ อย่างไรก็ตาม ความหวังของพวกเขาจะเป็นเพียงความฝันอันโง่เขลาที่ไม่มีวันเกิดขึ้นได้จริง หรือเฉลียวฉลาดมากพอที่จะเกิดขึ้นจริงได้ในโลกที่กำลังระส่ำระส่าย ซึ่งเราต่างป้ายมายาใส่ว่า เป็นโลกอันชาญฉลาด ผู้วิจารณ์ก็คงตอบได้เพียงว่า ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ ความคิด และจินตนาการของผู้อ่านเองจะสามารถสัมผัสกับเรื่องเล่าของพวกเขา จนเกิด “คุณค่าทางอารมณ์” ได้เห็นประเด็นในแต่ละเรื่องและนำมาครุ่นคิดพิจารณาถึงมากน้อยเพียงใด
อ้างอิง
จเด็จ กำจรเดช, พึงเนตร อติแพทย์, พิณพิพัฒน ศรีทวี. (2564). ความฝันโง่เขลา ในโลกอันชาญฉลาด. กองทุนกนกพงศ์ สงสมพันธุ์.