“ฝันใด” ใน “ฝันจะฝากดอกไม้ไว้ใกล้หมอน”

วรโชติ  ต๊ะนา
มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์

 

            “ฝันจะฝากดอกไม้ไว้ใกล้หมอน” รวมบทกวีนิพนธ์ของ “พิบูลศักดิ์  ละครพล” ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ปี 2560 พิมพ์ครั้งแรกเมื่อตุลาคม 2564 จากสำนักพิมพ์สู่ฝัน รวบรวมเอาบทกวีทั้งหมด 55 บท ไว้ในหนังสือเล่มบาง ๆ ถนัดมือ ประกอบกับมีภาพสีน้ำ ส่วนมากจะเป็นภาพดอกไม้คั่นระหว่างบทกวีด้วย จึงทำให้ดึงดูดความสนใจของผู้อ่านไปพร้อม ๆ กับบทกวีที่มีความหวาน ละมุน ซ่อนอยู่ในตัวอักษร สมกับที่พิบูลศักดิ์ ได้รับฉายาไว้ว่า “เจ้าชายโรแมนติก” ราชันย์แห่งสำนวนภาษาอันอ่อนหวานละมุนละไม ที่ยังคงครองบัลลังค์ใจของผู้อ่านมาจนกระทั่งทุกวันนี้ (ฝันจะฝากดอกไม้ไว้ใกล้หมอน, 2564 : 130)

            รวมบทกวีนิพนธ์เล่มนี้ ถือว่านำเสนอเรื่องราวผ่านศิลปะการประพันธ์อย่างมีสุนทรียภาพ ความจริง ความงามของชีวิตถูกกลั่นกรองออกมาเป็นถ้อยวลีตามขนบของธรรมชาติ กล่าวคือ วัตถุดิบที่นำมาใช้ในการแต่งบทกวีมักจะเป็นสายน้ำ สายลม เมฆหมอก ดอกไม้ ลื่นไหลไปตามวัฏจักรของธรรมชาติ โดยใช้ภาพพจน์หลายแบบ ทั้งอุปมา อุปลักษณ์ บุคลวัต สัญลักษณ์ รวมถึงใช้ภาษาเชิงอุปลักษณ์ นำมาซึ่งแก่นแท้ของรวมบทกวีเล่มนี้ คือ มนุษย์มิอาจฝืนธรรมชาติได้ ดังนั้นชีวิตจะเป็นสุขก็ต่อเมื่อเรียนรู้และยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ลุ่มหลงในกิเลสต่าง ๆ อันเป็นหลักในพุทธปรัชญาของพระพุทธศาสนานั่นเอง สะท้อนให้เห็นว่า กวีนิพนธ์เล่มเสนอมโนทัศน์ที่ว่าธรรมะคือธรรมชาติ

            สิ่งที่น่าสนใจและตอกย้ำความเป็นธรรมชาติในรวมเล่มกวีนิพนธ์นี้ คือ ลักษณะการจัดวางบทกวี โดยบทกวีแต่ละบทจะมีการร้อยสัมผัสกันไปเรื่อย ๆ ทั้ง 55 บท แสดงให้เห็นถึงสภาวะของธรรมชาติที่มีความลื่นไหล ต่อเนื่อง และวนหมุนเวียนกลับมาที่จุดเริ่มต้นอีกครั้ง กล่าวคือ บทกวีบทสุดท้ายจากวรรคส่งที่ว่า “จังหวะใจ ตื่นรู้รอ งามพอดี” (งามพอดี, น.125) กลับมาร้อยสัมผัสกับวรรครับของบทแรกที่ว่า “ให้ชุ่มฉ่ำสดใสในเนื้อสี” (ปณิธาน, น.17) นับได้ว่าเป็นความสามารถของกวีที่สามารถนำเสนอเพื่อเน้นย้ำสารัตถะของรวมกวีนิพนธ์เล่มนี้ให้แจ่มชัดยิ่งขึ้น กล่าวคือ เป็นวงวัฏจักรของธรรมชาติ หากจะยกตัวอย่างให้เห็นได้ชัดเจน คือ วัฏจักรของน้ำ วัฏจักรของสัตว์ต่าง ๆ ที่เวียนหมุนกันตามระยะเวลาของมัน จึงอาจกล่าวได้ว่า บทกวีคือธรรมชาติอย่างหนึ่งนั่นเอง

            รวมถึงลักษณะการประพันธ์ที่มีทั้งรูปแบบ กลอนสุภาพ กลอนหก และกาพย์ยานี ซึ่งบางบทกวีเสียงวรรณยุกต์ท้ายวรรคไม่ได้เป็นไปตามหลักนิยมทุกประการ กล่าวคือ วรรคส่งของแต่ละบทคำสุดท้ายต้องลงด้วยเสียงสามัญหรือเสียงตรี แต่กวีเลือกใช้เสียงจัตวาบ้าง ใช้เสียงโทบ้าง เช่น “หากใจรู้ดอมดอกไม้แรสายรุ้ง ชีพแสนยุ่งคงน่ารักยิ่งนักหนอ ไม่ร้องขอไม่ร้อนโลภโลกพร้อมให้”(โลกหมุนรอบดวงใจเรา, น.42) หรือบางวรรคมีจังหวะกระท่อนกระแท่น บางวรรคมีลีลาเหมือนร้อยแก้ว บางววรคเปี่ยมไปด้วยวรรณศิลป์อย่างแน่นขนัด ความโดดเด่นที่แฝงอยู่นี้เชื่อได้ว่า “กวีจงใจ” เพื่อชี้ให้เห็นถึงลักษณะของธรรมชาติที่ไม่อาจสมบูรณ์ไปเสียทุกด้าน อาจมีแหว่งวิ่นไปบ้างตามวิถีซึ่งไม่ได้ต่างไปจากบทกวีแต่ละบทที่มีวิถีของตนเอง แต่ก็สัมพันธ์กันไปต่อ ๆ ไป ทั้งในแง่ของฉันทลักษณ์ ถ้อยคำ และความหมาย เฉกเช่นธรรมชาติที่ต่างพึ่งพาอาศัยกันอยู่อย่างนั้น

            อนึ่ง หากพิจารณาชื่อของรวมบทกวีนิพนธ์ “ฝันจะฝากดอกไม้ไว้ใกล้หมอน” น่าสังเกตว่า “ฝันใด” ที่จะสามารถฝาก “ดอกไม้” ไว้ใกล้หมอนได้ ซึ่งคำว่า “ดอกไม้” ในที่นี้เป็นการใช้ภาษาเชิงอุปลักษณ์ที่ว่า
ความดีงาม คือ ดอกไม้ โดยที่แบบเปรียบคือ ดอกไม้ ถ่ายโอนคุณลักษณะของความหอม ความงดงาม ไปยังสิ่งที่ถูกเปรียบคือ ความดีงาม ดังนั้นจึงสะท้อนให้เห็นถึงมโนทัศน์ของกวีที่ว่า ความดีงามเป็นเหมือนดอกไม้ที่คอยส่งกลิ่นหอม และสิ่งที่นำมาซึ่งความดีงามนั้นคือความฝัน อย่างไรก็ดี ลักษณะความฝันดังกล่าวอาจตรงข้ามกับความเป็นจริง - สะท้อนความจริงบางประการอยู่ก็ได้ ซึ่งสามารถนำเสนอเป็นประเด็นได้ดังนี้

 

ฝันบอกเหตุแห่งฝัน : สภาพก่อนฝัน

            หากถามถึงต้นเหตุแห่งความฝันคงหนีไม่พ้นการเล่าเรื่องถึงข้อเท็จจริง สภาพความเป็นไปของสังคมที่ไม่สมบูรณ์ ดังจะเห็นได้จากบทกวี “รักต่างหากที่ร่ำไห้” ดังนี้

                        บนทางด่วนอันป่วนปั่นของยุคสมัย          มีสิ่งใดบ้างที่เราต้องก้าวข้าม

                        ท่ามกลางความเย็นชาของโมงยาม          เราไม่เคยไล่ตามสิ่งใดทัน

                        หมอกควันมุงเมืองหมองหม่น                  ผู้คนฟุบหลับแล้วลืมฝัน

                        หรือเขาอาจตั้งใจไม่จำมัน                       เช่นกันกับภาพเก่าของเยาว์วัย

                        …………………………………….         ……………………………….

                        ในสายลมฉันได้กลิ่นความเกลียดชัง         ณ ที่ตั้งคุกความรักที่หลบหนี

                        ในนามแห่งชีวิตสิทธิ์เสรี                          มอบตัวเสียดี-ดีเถอะความรัก

                                                                                    (รักต่างหากที่ร่ำไห้, น.52-53)

            บทกวีดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงสภาพ “ความเป็นเมือง” ไว้ได้อย่างดี กล่าวคือ กวีใช้ “ทางด่วน” เป็นสัญญะของความเจริญ แต่แฝงไปด้วยความไม่สวยงามซึ่งพิจารณาจากคำว่า “ป่วนปั่น” ที่สื่อให้เห็นถึงความวุ่นวายของสังคม คำว่า “เย็นชาของโมงยาม” อาจหมายถึงเวลาที่เดินทางไปอย่างไม่หวนกลับมาหรือหากมองอีกมุมหนึ่งอาจหมายถึงผู้คนตกอยู่ในสภาวะที่เวลาสามารถตัดสินค่าความเป็นคนของมนุษย์ และอีกคำที่น่าสนใจคือ “หมอกควัน-หมองหม่น” ที่สามารถตีความได้หลากหลายความหมาย อาจจะหมายถึงหมอกที่ปกคลุมจริง ๆ หรือพฤติกรรมของผู้คนที่ไม่อาจหยั่งถึงจิตใจได้ กล่าวคือ ภายนอกแสร้งแสดงความรัก-มิตรภาพ แต่ภายในแฝงไปด้วยความเกลียดชัง แล้วไปสอดรับ “ในสายลมฉันได้กลิ่นความเกลียดชัง” โดยสายลมนั้นคือสิ่งที่เรามองไม่เห็น ความเกลียดชังนั้นก็เช่นกันเราไม่อาจรับรู้เห็นจริงได้ด้วยตา แต่เป็นเพียงความรู้สึกเท่านั้น สารัตถะของบทกวีนี้คือ “ความรักที่หายไป” กล่าวคือ ผู้คนในสังคมไม่มีสัมพันธภาพระหว่างกันและกัน นับวันยิ่งจะเหินห่างออกไปเรื่อย ๆ จึงกลายเป็นบทสรุปที่ว่า มอบตัวเสียดี-ดีเถอะความรัก

            หากมองในแง่ของวัฒนธรรมศึกษายังเผยให้เห็นอุดมการณ์ของทุนนิยมที่กุมขังความเป็นคนของคนในสังคมเอาไว้ มีการแข่งขันอย่างเสรีจากกลุ่มนายทุน ลุ่มหลงอยู่กับตัวเลขจนทำให้ลืมคิดไปว่าเราต่างเป็นมนุษย์เช่นเดียวกันไม่ได้เป็นผู้มีคุณสมบัติเครื่องจักรแต่อย่างใด รวมไปถึงเรื่องเวลาที่บีบบังคับให้คนวุ่นอยู่กับงานดิ้นรนเพื่อหาเลี้ยงปากท้องอยู่ตลอดเวลา จะเห็นได้จาก “เราไม่เคยไล่ตามสิ่งใดทัน” นั่นคือคนไม่อาจไล่ตามทุนนิยมได้ทันและมีนัยสื่อถึงการเป็นทาสของทุนนิยมต่อไปเรื่อย ๆ นั่นเอง อีกทั้งทำให้ผู้คนลืมนึกถึงความรักอันเป็นคุณลักษณะของความเป็นมนุษย์ และนี่คือความเป็นจริงของสังคมปัจจุบันซึ่งยิ่ง
ตอกย้ำถึงสภาพของยุคสมัยที่ปั่นป่วนซึ่งในโลกความเป็นจริงมิอาจหลีกหนีได้

            นอกจากนี้กวียังนำเสนอภาพของสงครามอันเป็นนาฏกกรมที่อยู่คู่กับสังคมมาหลายยุคสมัย แต่ก็ไม่อาจนำมาซึ่งสันติภาพได้ สงครามที่ผ่านมาต่างถูกจารึกในหน้าหนังสือประวัติศาสตร์และกวีได้นำมาถ่ายทอดอีกหนึ่งมุมมองที่น่าสนใจในบทกวี “ประวัติศาสตร์นิทาน” ดังนี้

                        รุ่งเรืองเฟื่องฟูแล้วล่มสลาย                      กอบกู้กลับกลายยิ่งใหญ่อีกหน

                        สงครามอำนาจหมุนเวียนเปลี่ยนวน         ผู้ชนะคือคนตกแต่งตำนาน

                        เชิญฉลองบทโศลกโลกชีวิต                     ถูกเป็นผิด ดำเป็นขาว บอกเล่าขาน

                        แพ้พ่ายชัยชนะประวัติศาสตร์นิทาน          ต้นเรื่องร้าวรานอวสานรื่นรมย์

                                                                                    (ประวัติศาสตร์นิทาน, น.74)

            บทกวีดังกล่าวปฏิเสธไม่ได้ว่าแสดงภาวะสงครามให้กลายเป็นวัฏจักรที่เริ่มต้นจากความรุ่งเรืองแล้วเหลิงหลงในอำนาจจึงนำไปสู่สงคราม ฝ่ายใดชนะก็เป็นฝ่ายเขียนประวัติศาสตร์และสรรหา
ความชอบธรรมให้แก่ตนเอง หากพิจารณาถึงสงครามอาจไม่ใช่สงครามระหว่างอาณาจักร อาจหมายรวมถึงความคิด อุดมการณ์ของคนในสังคม หรือกระทั่งสงครามในตนเองด้วย ถึงแม้ว่าในประวัติศาสตร์นิทานจะ “ต้นเรื่องร้าวรานอวสานรื่นรมย์” แต่ความเป็นจริงที่ไม่ได้จารึกลงในหน้าประวัติศาสตร์ก็คือ
“ต้นเรื่องร้าวรานอวสานก็ร้าวราน” เช่นกัน

            สภาพความเป็นจริงสองประเด็นหลัก ๆ ที่ถูกนำมาเสนอในรวมกวีนิพนธ์เล่มนี้ถือได้ว่าเป็นต้นเหตุแห่งความฝันที่สมเหตุสมผล เพราะทุนนิยม-อำนาจนิยมเป็นอุดมการณ์ที่ยังไหลเวียนอยู่ในสังคมไทยปัจจุบันและขณะเดียวกันก็กำลังแผ่รากหยั่งลงไปยังโครงสร้างทางสังคม สิ่งเหล่านี้ทำให้ ผู้คนฟุบหลับแล้วลืมฝัน หรือเขาอาจตั้งใจไม่จำมัน อยู่ก็ได้ อาจกล่าวได้ว่าสภาพสังคมดังกล่าวบีบบังคับให้เราไม่มีความฝัน  เพราะถ้ามัวแต่วาดภาพฝัน ภาพจริงที่จะปรากฏก็เป็นไปได้ยากเช่นกัน แต่อย่างไรเสียเราก็อย่าหลงลืมไปว่า ความฝันคือคุณสมบัติหนึ่งของความเป็นมนุษย์

 

จุดหมายปลายฝัน : ความคิดที่ใฝ่ปรารถนา

                        ฉันจะทิ้งโลกเก่าเน่าทฤษฎี                      ระบายสีโลกใหม่อย่างใจฝัน

                        เป็นโลกแห่งสันติชั่วนิรันดร์                      เฉิดฉัน สงบงาม สีน้ำใจ

                                                                                                            (ปณิธาน, น.17)

            จากบทกวีปณิธานข้างต้นคงจะเห็นถึงความแน่วแน่ที่กวี “จะฝากฝัน” ไว้ในห้องหัวใจของผู้อ่านหลาย ๆ คน บทกวีนี้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่ามนุษย์เราสามารถฝันได้อย่างเสรี เพื่อให้เกิดโลกแห่งสันติที่งดงามและเงียบสงบ

ดังนั้นภายในรวมกวีนิพนธ์เล่มนี้จึงเต็มไปด้วยหนทางที่จะนำไปสู่สันติ แต่ก็ไม่ได้แสดงถึงแนวทางที่แปลกใหม่อะไรนัก กวีเผยให้เห็นถึงการดำรงอยู่ภายใต้หลักศีลธรรมขั้นพื้นฐาน ซึ่งบทกวีทั้งเล่มสามารถยกตัวอย่างการนำเสนอแนวคิดเส้นทางไปสู่สันติสุขได้ในบทกวี “ทุ่งสังหาร” ดังนี้

                        จับมือกันไว้เถิดนะมวลมนุษย์                              จิตพิสุทธิ์เสรีฝันอันแน่วแน่

                        ชีพหนึ่งนี้แม้นิดน้อยคอยดูแล                              เผื่อแผ่ปันน้ำใจมิตรไมตรี

                        เก็บปลอกกระสุนมาสร้างสรรค์เป็นเสาบ้าน          ทุ่งสังหารปลูกดอกไม้สดใสสี

                        เมตตาธรรมค้ำจุนคุณความดี                               เพื่อโลกมีสันติสุขทุกแดนดิน

                                                                                                            (ทุ่งสังหาร, น.35)

            จะเห็นได้ว่าสันติสุขจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเรารู้จักรักใคร่สามัคคี มีจิตใจอันบริสุทธิ์และแน่ววแน่ รู้จักการแบ่งปัน การนำอดีตมาเป็นบทเรียนให้กับปัจจุบัน เปี่ยมไปด้วยเมตตา คุณธรรมต่าง ๆ ซึ่งเป็นวาทกรรมที่เราต่างคุ้นเคยอยู่แล้ว อาจจะย้อนแย้งกับปณิธานที่ว่า “ฉันจะทิ้งโลกเก่าเน่าทฤษฎี ระบายสีโลกใหม่อย่างใจฝัน” ไปเล็กน้อย ทว่าโลกใหม่คือสันติสุข สังคมเราใช้วาทกรรมเหล่านี้มาระบายสีหลายทศวรรษแล้ว แต่ก็ยังไม่พบโลกใหม่อย่างที่กวีได้วาดหวังไว้

            อย่างไรก็ตามก็ไม่เกินจริงที่ว่าพื้นฐานทางด้านสุนทรียศาสตร์ไม่ว่าจะเป็นความจริง ความงาม และความดีก็ต้องดำรงอยู่คู่กับมนุษย์ทุกคนอย่างที่กวีได้พร่ำบอกไว้ในหนังสือรวมกวีนิพนธ์เล่มนี้ เพราะว่าพื้นฐานเหล่านี้จะทำให้เรามองเห็นสภาพของมนุษย์ เข้าใจมนุษย์ จึงจะนำพาโลกไปสู่สันติสุขได้ ดังนั้นจุดหมายปลายฝันคือสันติสุขที่งดงาม ด้วยความคิดที่ใฝ่ปรารถนาในหลักเมตตาธรรมค้ำจุนโลก

                       

แฝงไว้ใต้ปีกฝัน : โหยหามายาใด

            จากที่ได้กล่าวไปก่อนหน้า จะเห็นได้ว่าสถานที่หรือฉากหลังของรวมกวีนิพนธ์เล่มนี้ต่างเป็นธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ เป็นพื้นที่ที่ทำให้ผู้คนมีความสุขและเป็นที่ปลอดภัยสำหรับมนุษย์ ซึ่งตัวบทเผยให้เห็นว่ามีการโหยหาอดีตซึ่งเป็นชนบทอันเป็นความสัมพันธ์คู่ตรงข้ามกับเมือง กล่าวคือ วิถีชนบทจะเต็มไปด้วยความรู้สึกเรียบง่าย เหมาะแก่การใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ซึ่งต่างจากเมืองที่มีความวุ่นวาย เต็มไปด้วยกรอบกฎมากมาย ที่จะตรึงชีวิตให้จ่อมจมอยู่กับความทุกข์

            การโหยหายอดีตนี้ นับว่าเป็นอารมณ์สากลของมนุษย์ซึ่งอาจเกิดกับใครก็ได้ และอารมณ์โหยหาอดีตจะแสดงให้เห็นทั้งเชิงบวกและลบ แต่ส่วนใหญ่จะแสดงออกเป็นเชิงบวกมากกว่า (ธัญญา 
สังขพันธานนท์, 2558 : 78) ดังจะเห็นได้จากบทกวี “ท้องทุ่งถิ่นวิถี” ที่สามารถบรรยายถึงความงดงามในอดีตไว้อย่างแจ่มชัด

 

            ฉันหลงรักทุ่งถิ่นไอดินหอม                      ขุนเขาอ้อมโอบหุบถวิลหา

            น้ำหลากปลาล่องลงท่องนา                     ตูบน้อยมุงหลังคาใบตองตึง

            ปลายฝนต้นหนาวข้าวเริ่มท้อง                 เมฆขาวฟ่องฟ้าเขียวใสให้คิดถึง

            หอมขาวแก่กรุ่นกลบฟ้ายังตราตรึง           ข้าวใหม่นึ่ง น้ำพริกฮ้าปลาหมอมัน

            เสาะว่าหากินไปไม่ขัดสน                        ยากดีมีจนก็พอสุขสันต์

            ข้าวเหลือเกลือแพงรู้แบ่งปัน                     ใครอยากขึ้นสวรรค์หมั่นทำบุญ

            ฉันหลงรักวัวควายที่ในคอก                     รักบ้านนอกคอกตื้อสะดือจุ่น

            รักวิถีแลกเปลี่ยนเอื้อเกื้อการุณย์              รักอ้อมแขนอันแสนอุ่นทุ่งรวงทอง

                                                                                                            (ท้องทุ่งถิ่นวิถี, น.44-45)

            จะเห็นได้ว่าอดีตที่กวีโหยหาเต็มไปด้วยอุดมคติแห่งการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เปี่ยมไปด้วยมิตรไมตรี และ
ความรัก ท่ามกลางบรรยากาศท้องทุ่งที่แสนสุขสันต์ สะท้อนภาพความสมบูรณ์แบบอุดมไปด้วยธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์เพียงด้านเดียว เป็นพื้นที่ที่สามารถรับรู้ถึงความรักและความฝันที่งดงามได้

            ในความเป็นจริงสภาพของธรรมชาติยังมีความโหดร้ายหรือยังมีถิ่นที่ทุรกันดารอยู่ ในหนังสือรวมกวีนิพนธ์เล่มนี้เอนเอียงไปทางความนิยมชมชอบชนบทอย่างมาก เพราะเป็นธรรมชาติที่สามารถโอบอุ้ม
ค้ำจุน วิถีชีวิตของผู้คนให้หยั่งยืนได้ และอยู่ภายใต้มายาคติของชนชั้นกระฎุมพีที่มองว่าธรรมชาติเป็นทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การพักผ่อนหย่อนใจ และเป็นสถานที่หลีกหนีจากความเป็นจริงได้ อีกทั้งความเป็นชนบทนี้ยังถูกจัดให้เป็นความสัมพันธ์คู่ตรงข้ามกับความเป็นเมืองซึ่งไม่ได้เป็นมุมมองใหม่แต่อย่างใด เพราะถูกผลิตซ้ำอยู่เสมอในผลงานของนักเขียนร่วมสมัย (ธัญญา  สังขพันธานนท์, 2558 : 89) กลไกการทำงานของความสัมพันธ์คู่ตรงข้ามยิ่งทำให้ผู้รับสารตัดสินว่าชนบทและธรรมชาติเป็นสิ่งที่ดีงามมากขึ้น จึงน่าสนใจต่อว่า เมื่อผู้คนอยากหลีกหนีเมืองไปหาธรรมชาติมากขึ้นจะกลายเป็นการคุกคามธรรมชาติหรือไม่

 

            อนึ่งกวีเลือกใช้คำว่า “ฝัน” เพราะสื่อถึงความไม่จริงอยู่ สามารถลดทอนความเข้มข้นของเนื้อหาที่ใช้นำเสนอความจริงของสังคม มิเช่นนั้นเนื้อหาภายในเรื่องอาจจะกลายเป็นเพียง “ฝันเฟื่อง” ไปโดยปริยายก็ได้ ถือว่ากวีเลือกใช้คำได้เหมาะสมแล้ว “ฝันจะฝากดอกไม้ไว้ใกล้หมอน” จึงเป็นหนังสือที่นำเสนอภาพในอุดมคติบนพื้นฐานของความจริงในสังคมที่เข้มข้น อาจกล่าวได้ว่า “ฝัน คือ ความฝันถึงสันติภาพ” และ “ดอกไม้ คือ สิ่งที่ดีงามตั้งอยู่บนหลักของสุนทรีย์” นั่นเอง

            ฝันในที่นี้อาจจะตอกย้ำอุดมการณ์ของทุนนิยม อำนาจนิยม และประดิษฐ์สร้างความเป็นชนบทให้งดงามเกินสภาพจริง แต่ก็ยังมีอีกฝันหนึ่งที่สามารถเหนี่ยวนำค่านิยม ชุดความคิดให้ผู้รับสารเข้าใจสภาพความเป็นมนุษย์อันเป็นพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันในสังคม

            สุดท้ายนี้ เราเห็นการผลิตซ้ำ ภาพฝันเหล่านี้มาซ้ำแล้วซ้ำเล่า แล้วเมื่อใดหนอภาพฝันเหล่านั้นจะกลายเป็นภาพจริง

 

เอกสารอ้างอิง

ธัญญา  สังขพันธานนท์. (2558). มาตุคามสำนึกและการโหยหาอดีตในกวีนิพนธ์ของเรวัตร์  พันธุ์พิพัฒน์.วารสารมนุษยศาสตร์, 22(2), 64-91.           

พิบูลศักดิ์  ละครพล. (2564). ฝันจะฝากดอกไม้ไว้ใกล้หมอน. พะเยา : สำนักพิมพ์สู่ฝัน.

 

 

Visitors: 72,272