ภูเขาน้ำตา: อ่านความหมาย
การใช้อุปลักษณ์และกระแสสำนึกผิดของตัวละคร
ชาคริต แก้วทันคำ
“เขาได้วิงวอนขออภัยในความผิดหลายสิบปีตั้งแต่อายุยี่สิบหก อีกทั้งเร่งรีบทำความดีจนได้ฉายาคนบ้าแห่งหมู่บ้าน พระผู้เป็นเจ้าได้อภัยโทษเรื่องผิดศีลธรรมให้แล้ว แต่ทำไมน้ำตาก็หลั่งไหลไม่ยอมหยุดสักที” (น.199)
“ภูเขาน้ำตา” ของอนุสรณ์ มาราสา นวนิยายเข้ารอบสุดท้ายรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน หรือซีไรต์ ปี 2564 นำเสนอเรื่องราวความรัก ความสัมพันธ์และการใช้ชีวิตคู่ของกอหนีและเอส รอฮานีในห้วง 3 ปีแรก และเหตุการณ์ 30 ปีต่อมา ที่มีประเด็นปัญหาความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ มนุษย์กับจิตใจ มนุษย์กับความเชื่อทางศาสนา โดยเฉพาะประเด็นสำนึกผิด โลกนี้-โลกหน้า มนุษย์กับสังคมในระบบทุนนิยมที่กลายกลืน เป็นกรงขังชีวิต ทั้งในระดับปัจเจกชนและการเริ่มต้นสร้างครอบครัว จนนำไปสู่ความทุกข์ ความเจ็บปวด ความหวาดระแวง ความชิงชัง การต่อสู้ดิ้นรน สำนึกผิดและความหวัง
อนุสรณ์ใช้กลวิธีเล่าย้อนอดีตสลับปัจจุบัน จึงทำให้ผู้อ่านเห็นภาพชีวิต การเติบโตและพัฒนาการของตัวละครที่ส่งผลต่อพฤติกรรม ความคิด และความซับซ้อนในจิตใจ มีการใช้อุปลักษณ์น่าตีความ ซึ่งอธิบายความคิด ความเชื่อในโลกมุสลิม
“ภูเขา-น้ำตา”: ว่าด้วยชื่อเรื่องและความหมาย
นวนิยายเรื่องนี้ ประกอบด้วยคำ 2 คำที่ตรงข้ามกัน คือคำว่า “ภูเขา” หมายถึงความหนักแน่น แข็งแกร่ง ยิ่งใหญ่ ในที่นี้อาจถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของเพศชายตามลักษณะของมัน เพราะมนุษย์เพศชายมีอัตตาในฐานะผู้นำ ไม่ยอมรับฟังใคร และทางจิตวิเคราะห์ยังหมายถึง อวัยวะเพศ อีกด้วย
นอกจากนี้ ภูเขาอาจหมายถึง ความรักของคู่รักที่ก่อตัวขึ้น คู่รักจึงต้องทดสอบความหนักแน่น ป่ายปีน หรือประคับประคองชีวิตคู่เพื่อไปสู่ความสุขจนถึงบั้นปลาย
ส่วนคำว่า “น้ำตา” ของเหลวที่หลั่งออกมาจากร่างกาย เมื่อเกิดความรู้สึกปีติยินดี และโศกเศร้า แต่หากพิจารณาความแข็งแกร่งของภูเขาแล้ว น้ำตาจึงถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของความโศกเศร้า ผิดหวัง และอ่อนแอของตัวละครกอหนีในเรื่อง เช่น “ไม่นานนัก ทั้งสองเดินไปยังบริเวณที่มีต้นเฟื่องฟ้าตลอดทาง สถานที่ชายหญิงคู่นั้นนัดหมายเจอกัน มันเป็นที่น้ำตาหยดแรกได้เกิดขึ้น จากนั้นทับถมเป็นเนินสูง กลายเป็นภูหินประหลาด มองจากตีนเขาจะมองเห็นแท่งสีขาว ทุกครั้งที่มานอนร้องไห้สะอื้น น้ำตาจะเพิ่มขนาดแท่งนั้นไม่รู้จบ” (น.195)
ดังนั้น การหลั่งน้ำตาของภูเขา หรือเพศชาย ในที่นี้หมายถึง ตัวละครกอหนี จึงสื่อถึงความอ่อนแอที่ถูกปลดปล่อยออกมา เมื่อบาปที่กอหนีทำมีขนาดใหญ่เท่าภูเขา ภูเขาจึงต้องสารภาพผิดนั้น การสารภาพผิดในเบื้องต้นคือ การหลั่งน้ำตา เมื่อกอหนีทำผิด ยอมรับ ก็ต้องทำเตาบะฮ์ตามหลักศาสนาต่อไป หมายความว่า นอกจากกอหนีจะสารภาพผิดต่อพระเจ้าแล้ว แต่จงถามตัวเองว่าจะไม่กลับไปกระทำผิดศีลธรรมซ้ำอีก เช่น “โอ พระผู้เป็นเจ้า แล้วนี่ข้าน้อยต้องกลั่นน้ำตาอีกกี่หยด เพื่อชดใช้บาดแผล บาปเล็ก บาปใหญ่ให้งดงามดังเดิม ข้าน้อยต้องใช้น้ำตาปริมาณมากเท่าใด น้ำเสียงร่ำไห้ดังขนาดไหน พระผู้เป็นเจ้าจะพึงพอใจ” (น.200) ซึ่งประเด็นเรื่องบาปบุญ และการสำนึกผิด จะได้อธิบายในหัวข้อต่อไป
พัฒนาการของตัวละครกอหนีกับเอส รอฮานี: อดีต ปัจจุบันและโลกหน้า
เนื่องจากนวนิยายเรื่องนี้ใช้กลวิธีเล่าย้อน สลับอดีตกับปัจจุบัน จึงทำให้เห็นภาพชีวิตและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครอบครัวของตัวละคร ตั้งแต่เริ่มต้น จนถึงบั้นปลายคล้ายเส้นทางเดินของมนุษย์ โดยจะแยกเป็นสามช่วง ดังนี้
เอส รอฮานี อายุ 16 ปี/กอหนี อายุ 23 ปี คือช่วงเวลาที่ทั้งคู่พบรักและแต่งงานกัน
เอส รอฮานี อายุ 19 ปี/กอหนี อายุ 26 ปี คือช่วงเวลาสามปีหลังจากทั้งคู่แต่งงาน ที่ความหวานชื่นกลายเป็นขื่นขม เปรียบว่าตัวละครกอหนีได้ตายจาก ส่วนเอส รอฮานีกลายเป็นคนใหม่
เอส รอฮานี อายุ 45 ปี/กอหนี อายุ 50 ปี คือระยะเวลา 30 ปี ที่ทั้งคู่ทนอยู่ด้วยกันเพื่อลูก และฝ่าเสียงหัวเราะเยาะ คำติฉินนินทาของญาติพี่น้อง และการจ้องจับผิดของคนในหมู่บ้าน
ตัวละครกอหนี นอกจากจะเป็นคนเห็นแก่ตัวและชอบเอาชนะ เขารักเอส รอฮานีจริงหรือไม่ เพราะหลังจากเขาทุ่มเทตามจีบ ขโมยต้นกุหลาบของนางไอ่หยุ่นมาให้จนได้แต่งงานกัน หลังจากนั้นเขาก็หันมาทำบุญ สร้างความดี เอาจริงกับความเชื่อเรื่องโลกหน้า แน่นอนว่า เมื่อกอหนีประสบปัญหาในชีวิต เขาต้องหันหน้าพึ่งศาสนา เพราะกอหนีเป็นมุสลิม ผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหานานา เขาจึงต้องหาทางออกชีวิตด้วยศาสนาจากศรัทธาที่มีต่อพระเจ้า และการทำผิดของกอหนีซึ่งเป็นบาปใหญ่ในใจของเขา คือการไปมีสัมพันธ์ชู้สาวกับพี่แมว หรือประพฤติสำส่อนนั่นเอง
ดังนั้น การเข้าถึงศาสนาหรือใช้ศาสนาเป็นที่ยึดเหนี่ยวชีวิต นอกจากจะหวังว่าความผิดทั้งปวงที่ได้ก่อจะทุเลาเบาลง เขาจึงมุ่งไปสู่โลกหน้า โดยไม่สนโลกปัจจุบันนัก เพราะอดีตนั้นตามหลอกหลอน กอหนีจึงเป็นตัวละครที่ถูกทดสอบและลงโทษให้ทุกข์ตรมขมขื่น ชิงชัง หวาดระแวง คิดเองเออเอง จนเห็นภาพลวงตาของบรรดาอิบลิส ไชตอน ทั้งยามหลับยามตื่น หรือนี่จะเป็นเนื้อแท้ของจิตใจผู้แพ้ในนวนิยายเรื่องนี้
ส่วนเอส รอฮานี “เธอเป็นนักธุรกิจที่ไม่เคยมีข่าวเรื่องคนต่างเพศ ภาพของเธอเป็นผู้หญิงเก่งผู้มุ่งมั่น เคร่งครัดศีลธรรม ผู้สร้างตัวจากเลขศูนย์ เพียงสิบปีกว่าก็มีเงินซื้อที่ดินและปลูกสร้างอาคารไม่ต้องพึ่งพาสินเชื่อธนาคาร ไม่ขายสมบัติที่พ่อแม่มอบให้อย่างหลายคนทำ มันย่อมไม่คุ้มค่ากันเลยที่จะนำชีวิตไปเริ่มต้นกับอดีตรักวัยเรียนคนนั้น” (น.162-163)
ข้อความข้างต้น อนุสรณ์สร้างตัวละครหญิงมุสลิมสมัยใหม่ ผู้ไม่ได้อยู่บ้านเลี้ยงลูก แต่เธอออกไปทำงานนอกบ้าน มีตำแหน่งหน้าที่การงานก้าวหน้ามั่นคง นับเป็นภาพลักษณ์ที่สามารถใช้โต้กลับระบบชายเป็นใหญ่ได้ เพราะเธอประสบความสำเร็จ มีเงินและปลูกสร้างบ้านโดยไม่ต้องพึ่งสินเชื่อธนาคาร
นอกจากนี้ เธอยังเป็นผู้หญิงที่เคร่งครัดในศีลธรรม ไม่ได้นอกใจกอหนีไปคบหากับอัมรินทร์ เพื่อนสมัยเรียนอย่างที่เขาหวาดระแวง
ในขณะที่เอส รอฮานีสร้างตัวเองจากเลขศูนย์จนสามารถพึ่งพาตัวเองได้แล้ว ต่างจากกอหนีที่มีหนี้สินเพิ่ม เพื่อนบ้านเกลียดชัง สุดท้ายการงานที่ทำก็ถูกเพื่อนร่วมงานเลื่อยขาเก้าอี้ ทางชีวิตของตัวละครทั้งสองจึงสวนทางกัน เพราะเอส รอฮานีโลดแล่นก้าวหน้า กอหนีกลับตกต่ำ ทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองหลังแต่งงานผ่านไปสามปีมีแต่ความทุกข์ เป็นสามสิบปีต่อมาที่สร้างบาดแผลและปมในหัวใจ
อย่างไรก็ตาม นอกจากบุคลิกสาวงามแห่งคลองช้างของเอส รอฮานี ซึ่งเป็นภาพลักษณ์ภายนอกแล้ว ในฐานะภรรยา เธอยังเป็นผู้ช่วยเหลือสามีเรื่องงานบุญด้วย แม้เอส รอฮานีไม่ได้ห่วงเรื่องโลกหน้าเท่ากับกอหนี เพราะเธอไม่ลืมอดีตที่ถูกกระทำจากแนวคิดชายเป็นใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ความรุนแรงในครอบครัว การไร้เหตุผลเรื่องศีลธรรม ความเชื่อเรื่องพรหมจารี การเห็นผู้หญิงเป็นสัตว์ สิ่งของหรือกรรมสิทธิ์ แต่เอส รอฮานีกลับสนใจอนาคตของตัวเอง และต้องก้าวให้พ้นจากอดีต ไม่ยอมหมกมุ่นเรื่องโลกหน้ามากเกินไปเหมือนกอหนี
ข้อสังเกตคือ ตกลงศาสนาแบ่งชายหญิงมุสลิมเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ไว้อย่างชัดเจนใช่หรือไม่ มันเลยทำให้ชีวิตของแต่ละฝ่ายมีจุดหมายและจุดจบต่างกัน เพราะนวนิยายเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า ในขณะที่กอหนีดันทุรังทุกเรื่อง เอส รอฮานีกลับเป็นฝ่ายช่วยเหลือประคับประคอง กลายเป็นว่า ศาสนาหรือความเชื่อถูกนำมาใช้เป็นข้ออ้าง เป็นหลักยึดถือที่ครอบงำชีวิตและสังคมมากเกินไปจนไม่ได้สัดส่วน กอหนีจึงเป็นคนไม่สนโลกปัจจุบันอย่างที่กล่าวไปแล้ว เขาจึงเป็นตัวตลกและคนบ้าในสายตาของคนในหมู่บ้าน และยังกลายเป็นคนอื่น แปลกแยกกับภรรยาและลูกสาว
นอกจากนี้ เอส รอฮานียังเป็นคนสวยที่อ่อนโยน ภาพลักษณ์ความงามภายนอกเปรียบได้กับดอกกุหลาบของนางไอ่หยุ่น แต่มีจิตใจภายในเข้มแข็งเหมือนหนาม เธอจึงเป็นหนามแหลมมากกว่าดอกกุหลาบ เพราะใช้ชีวิตได้สอดรับกับหลักศาสนา นำความเชื่อมาขบคิดและปรับเปลี่ยนชีวิตตนเองจนก้าวพ้นจากอดีตและความทุกข์ กลายเป็นผู้ชนะในนวนิยายเรื่องนี้
อิบลิสคือใคร?: การใช้อุปลักษณ์งูทั้งสามตัว
อิบลิส คือ ญินชนิดหนึ่งที่หลอกหลอนลูกหลานของอาดัม ในนวนิยายเรื่องนี้ อนุสรณ์นำงู แมงป่อง สุนัขมาใช้เป็นอุปลักษณ์เปรียบกับนิสัยของมนุษย์ เช่น “กอหนีเห็นคนสวมหน้ากากปีศาจเต็มไปหมด มองไปทางไหนก็เห็นแต่งู แมงป่อง สุนัข จำแลงตนร่วมงานน่าขนลุก ให้ตายเถิด มันเป็นภาพหลอกตาหรือความจริง พวกเขาเดินกันขวักไขว่ มองไม่ออกใครเป็นใคร คนไหนมนุษย์ คนไหนอิบลิสกันแน่” (น.58)
ซึ่งในหัวข้อนี้จะขออธิบายเฉพาะงูทั้งสามตัวที่ปรากฏในนวนิยาย ดังนี้
งูตัวแรก “ขณะสนทนาหัวเราะสนุกสนาน ทั้งอมรินทร์และภรรยาแซวเล่นกันประสาเพื่อนรักวัยเรียน เขาเห็นงูเห่าตัวหนึ่งเลื้อยมานอนขดใต้โต๊ะที่นั่งคุยกันอยู่ เป็นตัวเดียวกับที่ขึ้นบ้านอาทิตย์ก่อนหรือเปล่า ใครจะไปจดจำหน้าตาสัตว์จำพวกนี้ได้ล่ะ
รวดเร็วเท่าความคิด กอหนีก้มมองใต้โต๊ะกะทันหัน มองไม่เห็นงูสักตัวเดียว แต่เห็นมือของอมรินทร์กำลังดึงออกจากชุดยูบะผ้าบางแนบเนื้อนั้นอย่างรวดเร็ว เจ้างูผีคงดิ้นขลุกขลักในเทือกโคลนอยู่นานแล้ว เนื้อผ้าบางร่นถึงหัวเข่า อวดท่อนขาขาวกลมกลึง เมื่อมันหดหัวออก ขาทั้งสองก็หนีบคืน เธอใช้มือรวบปลายผ้าเข้าสู่ที่เดิมอย่างตกใจ” (น.132-133)
ข้อความจากสองย่อหน้าข้างต้น อนุสรณ์สร้างให้กอหนีเห็นภาพอิบลิสแปลงร่างเป็นงูเห่าเลื้อยเข้ามาในสนาม และขดตัวอยู่ใต้โต๊ะที่เขา เอส รอฮานี อัมรินทร์และภรรยานั่งคุยกัน ซึ่งเป็นฉากการกลับมาของคนรักเก่าของเอส รอฮานี และการที่กอหนีเห็นงูเห่าและก้มมองใต้โต๊ะแล้วคิดว่าอัมรินทร์กำลังล้วงมือไปที่ท่อนขาของเอส รอฮานี งูจึงแทนปมภายในใจทั้งจากการเห็นมันปรากฏตัว นอกจากมาหลอกหลอนแล้ว มันยังสั่นคลอนความเป็นชายของกอหนีอีกด้วย งูตัวนี้จึงมีพิษร้ายสร้างความหวาดระแวงแคลงใจ หึงหวงให้กอหนีคิดแต่สิ่งไม่ดีงาม ทั้งที่จริงแล้วอาจไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่มันคือภาพลวงของอิบลิส
งูตัวที่สอง “นั่นไงล่ะ งูบองหลาตัวใหญ่ชูคอแผ่แม่เบี้ยเหนือจอมปลวกข้างบ้าน ขนดหางยาวเฟื้อยล้อมงานมงคลอยู่ในความควบคุม ดวงตาสีเลือดกวาดมองผู้คนในบรรยากาศเงียบเหงาเหมือนบ้านคนตาย มันพึงพอใจกับผลงานยุยงให้มนุษย์มาร่วมงานด้วยใบหน้าเฉยเมย ไม่ยินดียินร้ายกับคู่บ่าวสาว ต่างคนต่างนั่งทานเงียบๆ แล้วแยกย้ายกลับบ้าน” (น.58)
ข้อความข้างต้น เป็นงูบองหลาหรือจงอางที่กอหนีเห็นในงานมงคลของตนกับเอส รอฮานี งูแสดงอาการทั้ง “ชูคอแผ่แม่เบี้ย” “หางยาวล้อมงานให้อยู่ในความควบคุม” “ดวงตากวาดมองคนในงาน” เป็นการใช้อุปลักษณ์เปรียบการกระทำของงูไม่ต่างจากคนที่จับจ้อง จับผิดงานมงคลระหว่างกอหนีกับเอส รอฮานีนั่นเอง งูตัวนี้จึงมีพิษร้ายจากการจ้องมองของเพื่อนบ้าน ที่มีใบหน้าเฉยเมย ไม่ยินดียินร้ายกับคู่บ่าวสาว ซึ่งล้วนเกิดจากการแปลงร่างของอิบลิสเพื่อมายุยง
งูตัวที่สาม “กอหนีมองย้อนอดีต นี่กระมังที่นายชาตรีเคยบอกไว้ นายทุนคืองูตัวใหญ่กินโลก กลืนคน มันนอนขดตัวขู่ฟ่อกับคนไม่มีทางสู้ งูตัวใหญ่ที่ชาตรีว่ามันเกิดขึ้นตามธรรมชาติ หรือมนุษย์สร้างขึ้นมากันแน่ แต่ความรู้สึกตอนหมดท่า ไม่มีดอกเบี้ยจ่ายให้ตามกำหนด นายทุนก็เอาดอกทบต้นชวนรู้สึกเหมือนงูกัด ทั้งๆ ที่พูดจาดีขอผ่อนปรน งูตัวนั้นก็ทำท่าจะกลืนกิน ขู่ฟ่อว่าจะฟ้องศาลหักเงินเดือนให้เจ็บใจ” (น.71)
ข้อความข้างต้น อนุสรณ์ใช้อุปลักษณ์งูใหญ่ เปรียบเป็นนายทุนในระบบทุนนิยม ที่ทั้งขู่และพร้อมจะกลืนกินมนุษย์ที่ตกเป็นทาสวัตถุนิยม บริโภคนิยม (แม้กระทั่งองค์กรที่กอหนีทำงานก็ถูกยุบ ควบรวมกิจการในภายหลัง) งูตัวนี้จึงมีพิษร้ายที่มนุษย์ทุกคนต้องเผชิญ โดยเฉพาะกอหนีที่ได้รับผลกระทบตั้งแต่เริ่มต้นสร้างครอบครัว มันไม่เอื้อให้คู่รักมีชีวิตเดินไปตามระบบเศรษฐกิจที่ยื้อแย่งแข่งขันสูง
ในขณะที่งูทั้งสาม ไม่ว่าจะงูเห่า งูบองหลาหรือจงอาง และงูใหญ่ทุนนิยม ที่เป็นได้ทั้งอิบลิสแปลงร่างหลอกหลอน จับจ้อง ซุบซิบ ขู่ฟ่อ กลืนกิน ล้วนเป็นงูที่มนุษย์สร้างขึ้นในโลกนี้ ขณะที่ความเชื่อของมุสลิมยังมีงูอีกตัวที่รออยู่ในโลกหน้าเช่นกัน
สุดท้าย มนุษย์ทุกคนล้วนเป็นอิบลิสแปลงกายมา และพร้อมที่จะจำแลงร่างเพื่อหลอกตนและคนอื่น เพราะในสังคมมีทั้งคนดี คนเลว คนน่าสงสาร คนโหดเหี้ยม เหมือนคู่แฝดของดี-ชั่ว ขาว-ดำ มันจึงคอยตามหลอกหลอนความคิด จิตใจ ซึ่งล้วนเกิดจากความขลาดกลัว ความเชื่อของมนุษย์ รวมถึงจิตสำนึกที่สะท้อนออกมาในรูปของความฝันจากจิตไร้สำนึกได้อีกด้วย
โลกนี้-โลกหน้ากับกระแสสำนึกผิดของตัวละคร
เมื่อตัวละครมุสลิมอย่างกอหนีประสบปัญหาชีวิต เขาต้องหาทางออกโดยการพึ่งศาสนาหรือศรัทธาต่อพระเจ้า เพราะมุสลิมใช้ศาสนานำหน้า แต่ตัวละครกอหนี ซึ่งชื่อก็บอกว่า “หนี” แต่เขาจะหนีพ้นไปจากความผิดบาปที่เคยกระทำเพียงครั้งเดียวในอดีตได้หรือไม่ ทั้งๆ ที่สำนึกผิดต่อพระเจ้าแล้ว เมื่อวิธีคิดแบบมุสลิมคล้ายมีบททดสอบหนึ่งให้มนุษย์ได้พิสูจน์ตนเอง เช่นเดียวกับการมีสัมพันธ์เชิงชู้สาวกับพี่แมว ซึ่งเป็นการกระทำบาปใหญ่ จนกลายเป็นปมในใจที่ทำให้เขาต้องกลับไปเป็นคนบริสุทธิ์อีกครั้ง ทางออกคือการสำนึกผิด ยอมจำนนต่อการกำหนดของพระเจ้า เท่ากับว่าพระเจ้าได้ลงโทษกอหนีในโลกนี้แล้ว
ขณะที่กอหนีพยายามสำนึกผิดต่อบาปใหญ่โดยไม่กลับไปทำมันอีก และพระเจ้าได้อภัยโทษแล้ว แต่เขากลับหลงลืมบาปเล็กที่ได้กระทำ นั่นคือการขโมยต้นกุหลาบของนางไอ่หยุ่น ทำให้เขาหลั่งน้ำตาไม่หยุด เพราะ “ตามกฎ ผู้ใดลักขโมยครั้งแรกให้ตัดมือขวา หากยังขืนดื้อดึงอีกให้ตัดมือซ้าย นั่นมือข้างหักกิ่งกุหลาบเมื่อหลายปีก่อนนี่นา” (น.200)
ดังนั้น กอหนีต้องชดใช้ราคาดอกกุหลาบด้วยน้ำตา เป็นภูเขาที่ต้องหลั่งน้ำตาให้เท่ากับความโศกเศร้าที่นางไอ่หยุ่นได้รับ เพราะเธอตั้งใจปลูกกุหลาบต้นนี้เพื่อมอบให้สามีในวันครบรอบแต่งงาน
นอกจากนี้ อนุสรณ์ยังเปรียบบาปเล็กนี้ผ่านสัมพันธบท “เรื่องนบีอาดัมขโมยผลไม้ในสววรรค์” ทำให้อาดัมต้องชดใช้บาปกรรม ไม่ต่างจากชะตาชีวิตของกอหนีที่หลงลืมบาปเพียงเล็กน้อย บาปจากความรักอันบริสุทธิ์ ทั้งของนางไอ่หยุ่นที่มีต่อสามี และเอส รอฮานีที่มีต่อเขา ซึ่งมันประเมินค่าไม่ได้เลย
“ภูเขาน้ำตา” ของอนุสรณ์ มาราสา นอกจากจะนำเสนอปัญหาชีวิตรักในครอบครัวตัวละครกอหนีกับเอส รอฮานีแล้ว ยังสอดแทรกประเด็นศาสนาไว้ด้วย
สรุปได้ว่า นวนิยายเล่มนี้มีความเป็นวรรณกรรมที่อธิบายโลกและความสัมพันธ์แบบมุสลิม ที่น่าอ่านและชวนตีความยิ่ง
บรรณานุกรม
อนุสรณ์ มาราสา. (2564). ภูเขาน้ำตา. พิมพ์ครั้งที่ 2. สตูล: บลูเบิร์ด.
*****************************************
ซื้อหนังสือ "ภูเขาน้ำตา" ได้ที่