คนธรรพ์: รวมเรื่องสั้นที่ก้าว (ไม่) พ้นความคิดแบบคู่ตรงข้าม

กรกฎา บุญวิชัย


บทนำ

            คนธรรพ์ เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นจำนวน 9 เรื่องที่ได้รับรางวัลกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ครั้งที่ 6 ประจำปี 2562 โดยเรื่องสั้น “คนธรรพ์แห่งภูบรรทัด” ของกำพล นิรวรรณ ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม วิธีการประกวดเรื่องสั้นในโครงการดังกล่าวค่อนข้างน่าสนใจคือ เรื่องสั้นเมื่อผ่านการพิจารณารอบแรกจะได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสาร “ราหูอมจันทร์” ก่อน เมื่อครบวาระ 2 ปี ทางกองทุนกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ จะสรรหาคณะกรรมการอิสระเพื่อตัดสินรางวัล (กองทุนกนกพงศ์ สงสมพันธุ์, 2562: 5) หากพิจารณาอย่างถี่ถ้วนจะพบว่าการประเมินค่าของวรรณกรรมในโครงการดังกล่าวนี้ใช้ “เวลา” เป็นเครื่องพิสูจน์ กล่าวคือวรรณกรรมที่เป็น “อมตะ” ต้องมีคุณสมบัติที่อยู่เหนือกรอบของเวลา มิใช่มีคุณค่าเพียงแค่ “ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง” เท่านั้น

            สำหรับผู้วิจารณ์ ความน่าสนใจและความท้าทายในการอ่านหนังสือรวมเรื่องสั้นเรื่อง “คนธรรพ์” มีอยู่ 2 ประการคือ ประการแรกผู้ประพันธ์เรื่องสั้น 1 คนต่อ 1 เรื่อง และประการต่อมาคือ ในการส่งเรื่องสั้นเข้าประกวดไม่มีการจำกัดประเด็นหลักหรือขอบเขตที่ชัดเจน ดังนั้นทั้งลักษณะของเรื่องสั้น และประเด็นที่นำเสนอจึงมีความแตกต่างและหลากหลาก นับเป็นความท้าทายที่น่าสนใจต่อการวิจารณ์เป็นอย่างยิ่ง

            อนึ่ง ท่ามกลางความแตกต่างหลาหลายเหล่านี้ หากพิจารณาถึง “โครงสร้างเบื้องลึก” (deep structure) ในเรื่องสั้นแต่ละเรื่อง จะพบว่ามีลักษณะความคิดที่ปรากฏซ้ำ ๆ อยู่เสมอ ความคิดเหล่านั้นอาจเป็น “สาร” (message) ที่ผู้ประพันธ์เรื่องสั้นต้องการส่งถึงผู้อ่าน ดังนั้นหากผู้วิจารณ์สามารถถอดรหัส (decode) สารเหล่านั้นได้ ก็อาจจะทำให้ผู้อ่านรู้สารที่ผู้แต่งพยายามจะบอกว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไรได้

          คนธรรพ์: บานแพนก

            เรื่องสั้นทั้ง 9 เรื่องมีประเด็นที่น่าสนใจร่วมกันอยู่ประการหนึ่งคือ ตัวละครหญิง ที่มีส่วนสำคัญต่อการดำเนินเรื่อง ผู้วิจารณ์จำแนกตัวละครหญิงออกเป็น 4 ประเภทคือ  (1) ตัวละครหญิงในฐานะเมียและแม่ (2) ตัวละครหญิงที่มีสถานะไม่ใช่ “มนุษย์” (3) ตัวละครหญิงกับธรรมชาติ และ(4) ตัวละครหญิงในฐานะผู้สอน

            1. ตัวละครหญิงในฐานะเมียและแม่ เป็นลักษณะของตัวละครหญิงที่ปรากฏมาก จำนวน 3 เรื่อง โดยตัวละครหญิงในลักษณะดังกล่าวนี้มักจะ “ถูก” เล่าในมุมมองที่ไม่มีความสุข ป้าอุไรในเรื่องความทรงจำที่ไม่อาจเล่าด้วยตัวเอง ของจารุพัฒน์ เพชราเวช เป็นตัวละครที่ต้องแต่งงานกับชายต่างชาติด้วยความจำยอม ทำให้ชีวิตของเธอต้องพบกับความทุกข์และอยู่อย่างโหยหาความรัก ในช่วงเวลาที่เธอกำลังจะมีความสุข เธอกลับถูกพันธนาการกับสถานะใหม่นั้นคือความเป็นแม่

            เธอในเรื่องพิซซ่า ของ แพรพลอย วนัช เป็นตัวละครเมียและแม่ที่ต้องทำงานบ้าน และแก้ปัญหาทุกอย่างในบ้านด้วยตนเอง แม้กระทั่งเธอรับผิดชอบเรื่องต่าง ๆ ภายในบ้านอย่างหนักอึ้งก็ตาม แต่แพน-สามี-ก็ปฏิบัติกับเธออย่างเสมือนไม่มีตัวตน

            สาวนุ่มในเรื่องอารัมภบทหมายเลข 0 ของ โสพล โสภณอักษรเนียม เป็นตัวละครเมียน้อยที่ต้องอยู่ใต้อาณัติสามีและเมียหลวง แม้ในเรื่องเมียหลวงจะปฏิบัติต่อสาวนุ่มและลูกของเธอเป็นอย่างดีก็ตาม แต่ความรู้สึกของเธอและลูกก็ต้องเกรงใจต่อเมียหลวงและลูกของเมียหลวง ส่วนลูกของสาวนุ่มก็ต้องอยู่อย่างเจียมเนื้อเจียมตัว แม้กระทั่งมรดกของพ่อก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะได้รับส่วนแบ่ง

            2. ตัวละครหญิงที่มีสถานะไม่ใช่ “มนุษย์” เป็นลักษณะของตัวละครหญิงที่ปรากฏมากอีกกลุ่มหนึ่ง ปรากฏ 3 เรื่อง โดยตัวละครหญิงในลักษณะดังกล่าวนี้มักจะ “ถูก” เล่าในลักษณะที่ไม่ใช่ “คน” เด็กหญิงในเรื่องเจ้าถิ่น ของ ปาริชาติ คุ้มรักษา ถูกลุงของตนเองฆ่าฝังดินเพียงเพื่อหวังสมบัติ ในลักษณะเดียวกับสุนัขที่ถูกฆ่าแล้วนำไปฝังดินเพียงเพราะผลประโยชน์เช่นกัน

            อีเปื่อยในเรื่องชั้นต่ำ ของทรงวุฒิ อินเรือง เป็นตัวละครคนรับใช้ต่างด้าวที่มาทำงานในบ้านของสารวัตร อีเปื่อยถูกใช้งานอย่างหนักเมื่อเทียบกับค่าแรง อีกทั้งยังได้รับการปฏิบัติจากครอบครัวของสารวัตรประหนึ่งไม่ใช่คน เช่น การที่คุณนายสารวัตรตั้งชื่อให้อีเปื่อยเสมือนเป็นสัตว์เลี้ยงของเธอ ชื่อของสุนัขของลูกสาวสารวัตรถูกตั้งชื่อว่าอีเปื่อย อีเปื่อยต้องรอกินอาหารที่เหลือจากครอบครัวสารวัตร และที่สำคัญที่สุดอีเปื่อยกลายเป็นที่ระบายอารมณ์ทางเพศให้กับสารวัตร ดังความคิดของสารวัตรที่ว่า “อีเปื่อย อีสารเลวชั้นต่ำ แต่รสสวาทของมันก็ถึงใจได้ที่ ไม่ต้องอ่อนโยนใด ๆ อยากทำอะไรก็ได้ทั้งนั้น เขาเป็นเจ้าของชีวิตมัน” (น. 130)

            ระนาดในเรื่องปลาสนาการ เป็นตัวละครหญิงพิการที่อาศัยอยู่ในชุมชนชาวมุสลิม ถูกดูถูกดูแคลน ถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวซวย ถูกลวนลามทั้งทางวาจาและการกระทำ ที่สำคัญที่สุดคือการถูกฆ่าอย่างทารุณโดยการจับแขวนคอและจัดฉากว่าเป็นการฆ่าตัวตายด้วยผูกคอตาย

            3. ตัวละครหญิงกับธรรมชาติ เป็นลักษณะที่ปรากฏรองลงมา จำนวน 2 เรื่อง ได้แก่ เรื่องความมีชีวิตของ ศิริ มะลิแย้ม บีเป็นตัวละครหญิงอีกตัวหนึ่งที่ถูกเล่าเปรียบเทียบกับต้นแคคตัสที่พร้อมจะเจริญงอกงาม หากได้รับความเอาใจใส่และดูแลอย่างถูกวิธี

ส่วนเรื่องคนธรรพ์แห่งภูบรรทัด ตัวละครในลักษณะนี้แม้จะไม่ได้เป็นตัวละครจริง ๆ แต่ผู้เล่าเรื่องแทนสรรพนามและให้ภาพธรรมชาติเป็นผู้หญิง เช่น และแล้วน้ำตกที่ซ่อนตัวอยู่ในอ้อมกอดของขุนเขาก็เผยโฉม เธอพุ่งกระโจนออกมาจากยอดผาฝั่งหนึ่งด้วยความร้อนเล่า (น. 17) ในขณะที่ธรรมชาติที่แทนด้วยผู้หญิงถูกทำให้อยู่กับที่ แล้วรอคอยให้วัฒนธรรมที่แทนด้วยผู้ชายเข้ามาหาประโยชน์และย่ำยี

            4. ตัวละครหญิงในฐานะผู้สอน เป็นลักษณะของตัวละครหญิงที่ปรากฏน้อยที่สุด จำนวน 1 เรื่อง ตัวละครหญิงเหล่านี้จะให้บทเรียนที่ยิ่งใหญ่แก่ตัวละครชาย ภมรรัตน์ในเรื่องวันสิ้น ของ คเชนทร์ อัศวมณีกุล เป็นตัวละครหญิงที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้สารเคมีจำพวกยาฆ่าแมลง และยาฆ่าหญ้าแก่ลุงพงศ์ตัวละครเอกที่เฝ้ารอวันที่ลูกและหลานกลับมาเยี่ยมในช่วงปีใหม่ แต่ด้วยสารพิษจากสารเคมีที่ลุงพงศ์ใช้ในการทำการเกษตรทำให้ลุงพงศ์อาจไม่ได้อยู่ถึงวันที่ลูกกับหลานกลับมาเยี่ยม

            จะเห็นว่าตัวละครหญิงในเรื่องสั้น “คนธรรพ์” ส่วนใหญ่มักตกอยู่ในสภาวะจำยอมใต้อาณัติของผู้ชาย โดยเฉพาะสถานะ “เมีย” และ “แม่” ที่เป็นเสมือนบ่วงพันธนาการมิให้ผู้หญิงสามารถต่อกรกับอำนาจชายเป็นใหญ่ (patriarchy) ได้ ในขณะเดียวกันตัวละครผู้หญิงที่เก่ง มีความรู้ และสามารถทำงานนอกบ้านได้อย่างผู้ชายมีปรากฏเพียงเรื่องเดียวเท่านั้น ดังนั้นจากการพิจารณาตัวละครหญิงในรวมเรื่องสั้น “คนธรรพ์” ทำให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันระหว่างเพศชายกับเพศหญิง

            คนธรรพ์: ความคิดแบบคู่ตรงข้าม

            อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า ความท้าทายในการวิจารณ์หนังสือรวมเรื่องสั้น “คนธรรพ์” คือการพยายามหาลักษณะร่วมของเรื่องสั้นแต่ละเรื่อง ซึ่งจากการวิเคราะห์ผู้วิจารณ์พบว่า “วิธีคิด” ของผู้ประพันธ์แต่ละเรื่องตั้งอยู่บนพื้นฐานความคิดเดียวกัน นั้นคือ ความคิดแบบคู่ตรงข้าม (binary opposition) โดยมีความคิดคู่ตรงกันข้ามอยู่ 2 คู่ ได้แก่ ความเป็นเมืองกับความเป็นท้องถิ่น และความเป็นผู้หญิงกับความเป็นผู้ชาย

            1. ความเป็นเมืองกับความเป็นท้องถิ่น

            ความคิดคู่ตรงกันข้ามความเป็นเมืองกับความเป็นท้องถิ่น เป็นความคิดที่ปรากฏมากที่สุดถึง 6 เรื่อง โดยแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะคือ ความเป็นท้องถิ่นพ่ายให้กับความเป็นเมือง กับความเป็นท้องถิ่นโต้กลับความเป็นเมือง

                        1.1 ความเป็นท้องถิ่นพ่ายให้กับความเป็นเมือง ปรากฏถึง 4 เรื่อง ในเรื่องคนธรรพ์แห่งภูบรรทัด ผืนป่าและธรรมชาติของภูเขาบรรทัดอันมีคนธรรพ์เป็นเทวดารักษาอยู่ ท้ายที่สุดต้องพ่ายให้กับนายทุนที่เข้ามาประกอบธุรกิจสวนยางพารา ในเรื่องเจ้าถิ่น ชาวบ้านผู้เป็นเจ้าของที่ดินที่ได้รับเป็นมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษต้องพ่ายให้กับนายทุนที่เข้ามาประกอบธุรกิจรีสอร์ต ในเรื่องชั้นต่ำ แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยถูกเอารัดเอาเปรียบจากเจ้านายคนไทย และในเรื่องวันสิ้น การทำกสิกรรมแบบดั้งเดิมต้องพ่ายให้กับการประกอบธุรกิจเคมีภัณฑ์

                        1.2 ความเป็นท้องถิ่นโต้กลับความเป็นเมือง ปรากฏ 2 เรื่อง ในเรื่องความทรงจำที่ไม่อาจเล่าด้วยตนเอง ป้าอุไรหญิงไทยที่แต่งงานกับลุงเซนิตชายชาวสวิตเซอร์แลนด์ด้วยความไม่เต็มใจนัก ได้ลอบเป็นชู้กับลุงปานชายชาวไทยรักแรกของป้าอุไร หากพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ความสัมพันธ์ดังกล่าวนี้อาจตีความได้ว่า ลุงเซนิตผู้เป็นตัวแทนของประเทศที่พัฒนาแล้วถูกป้าอุไรผู้เป็นตัวแทนของประเทศที่ยังไม่พัฒนาสวมเขา จึงอาจมองได้ว่าเป็นลักษณะของการเล่าเรื่องแบบโต้กลับ ที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีสถานะด้อยกว่าได้มีทางออกให้กับความกดดันนั้น แม้ในท้ายที่สุดป้าอุไรหญิงขบถจากประเทศที่ยังไม่พัฒนาก็ถูกลงโทษด้วยการทำให้เป็นโรคอัลไซเมอร์ก็ตาม

                        ในเรื่องปลาสนาการ ครอบครัวของระนาดซึ่งเป็นชาวพุทธที่อาศัยในชุมชนมุสลิม ถูกชาวบ้านในชุมชนย่ำยีทั้งทางพฤติกรรม และวาจา หากพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ความสัมพันธ์ดังกล่าวนี้อาจตีความได้ว่า ครอบครัวของระนาดเป็นตัวแทนของคนที่นับถือพุทธศาสนาในประเทศไทยอันเป็นกลุ่มประชากรหลักของไทยถูกชาวบ้านในชุมชนมุสลิมอันเป็นตัวแทนของคนที่นับถือศาสนาอิสลามในประเทศไทยอันเป็นคนกลุ่มน้อยในสังคมไทยย่ำยี ลักษณะดังกล่าวนี้อาจมองได้ว่าเป็นลักษณะของการเล่าเรื่องแบบโต้กลับ ที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีสถานะด้อยกว่าได้มีทางออกให้กับความกดดันนั้นเช่นกัน

            จะเห็นว่าความคิดคู่ตรงกันข้ามความเป็นเมืองกับความเป็นท้องถิ่นที่ผู้วิจารณ์กล่าวถึงมีลักษณะเป็นภาพแทนของคู่ความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกันเท่านั้น มิใช่เป็นลักษณะของเมือง (city) ที่ต่อสู้กับท้องถิ่น (local) ในทางกายภาพ ทั้งนี้จะเห็นว่าความคิดแบบคู่ตรงข้ามในลักษณะนี้มีทั้งที่กลุ่มความสัมพันธ์ที่เหนือกว่าเป็นฝ่ายชนะ และความสัมพันธ์ที่ผู้ที่ด้อยกว่าเป็นฝ่ายชนะ เหล่านี้ส่วนหนึ่งเกิดจาก “มุมมอง” ของผู้เล่าว่า “อยู่ฝ่ายใด”

            2. ความเป็นผู้หญิงกับความเป็นผู้ชาย

            ความคิดคู่ตรงกันข้ามความเป็นผู้หญิงกับความเป็นผู้ชาย มีลักษณะเป็นความคิดของคู่ความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างผู้หญิงกับผู้ชาย ในเรื่องพิซซ่า ให้ภาพผู้หญิงในฐานะเมียและแม่ที่มีลักษณะอารมณ์พลุ่งพล่าน ผู้หญิงจึงอยู่ในฝ่ายของอารมณ์ ส่วนภาพผู้ชายในฐานะสามีและพ่อมีลักษณะสุขุม นิ่ง และเงียบ (จนเมียรู้สึกว่าเย็นชา) แต่เมื่อเมีย (ผู้หญิง) มีปัญหาก็สามารถแก้ไขให้ได้ ผู้ชายจึงอยู่ในฝ่ายของเหตุผล

            ส่วนเรื่องความมีชีวิต แม้จะไม่มีคู่ตรงข้ามชายหญิงอย่างชัดเจน แต่ปรากฏเป็นคู่ตรงข้ามระหว่างหญิงไม่ดี-แฟนเก่าที่แอบมีชู้กับเพื่อนร่วมงาน กับหญิงดี-ที่คอยช่วยเหลือ เอาใจใส่ และยินดีกับความสำเร็จของผู้ชาย ซึ่งการจำแนกคู่ตรงข้ามหญิงดีกับหญิงไม่ดีในเรื่องนี้ก็เกิดจากการ “เล่า” ในมุมมองของผู้ชาย

            จะเห็นว่าความคิดคู่ตรงกันข้ามความเป็นผู้หญิงกับความเป็นผู้ชายเกิดขึ้นจากค่านิยมอำนาจชายเป็นใหญ่ (patriarchy) ทั้งสิ้น ซึ่งมักมองว่าผู้หญิงมีสถานะที่ด้อยกว่าผู้ชาย สอดคล้องกับผลการวิเคราะห์ตัวละครหญิงในข้างต้นด้วย

            อนึ่ง แม้ในเรื่องอารัมภบทหมายเลข 0 จะมิได้มีคู่ตรงกันข้ามอย่างชัดเจนเหมือนกับเรื่องสั้นทั้ง 8 เรื่องที่กล่าวไปแล้วข้างต้น แต่หากพิจารณาอย่างถี่ถ้วนจะพบว่า อารัมภบทหมายเลข 0 ปรากฏร่องรอยความคิดคู่ตรงข้าม โดยการเล่าเรื่องเปรียบเทียบการกระทำและการตัดสินใจของตัวละครหลายตัวระหว่างในช่วงที่มีอำนาจและไม่มีอำนาจ เหล่านี้อาจเป็นร่องรอยของความคิดแบบคู่ตรงกันข้ามด้วยเช่นกัน

 

บทสรุป

            จะเห็นว่า “วิธีคิด” ในการประพันธ์เรื่องสั้นแต่ละเรื่องที่รวบรวมไว้ในหนังสือรวมเรื่องสั้น “คนธรรพ์” ล้วนมีวิธีคิดเดียวกันคือ ความคิดแบบคู่ตรงข้าม (binary opposition) ข้อค้นพบดังกล่าวนี้หากพิจารณาร่วมกับทฤษฎีโครงสร้างตำนานของ โคลด เลวี่-สเตราส์ (Claude Levi-Strauss) นักโครงสร้างนิยมสำนักฝรั่งเศสจะพบว่า สอดคล้องกับข้อเสนอของเลวี่-สเตราส์ที่ว่า ระบบความคิดแบบคู่ตรงกันข้ามเป็นระบบความคิดที่มีโครงสร้างเดียวกันที่เป็น “สากล” ของมนุษยชาติ ไม่ว่าจะอยู่ในกาละและเทศะใด (ศิราพร ณ ถลาง, 2563: 282) เหล่านี้ผู้วิจารณ์ต้องการชี้ให้เห็นว่า แม้ผู้ประพันธ์เรื่องสั้นแต่ละเรื่องจะมีการวางแผนและจุดประสงค์ในการนำเสนอ “สารสาระ” ผ่านเรื่องสั้นแต่ละเรื่องที่ต่างกัน แต่ด้วยความเป็น “มนุษย์” ของผู้ประพันธ์ จึงทำให้มี “โครงสร้างความคิดสากล” เบื้องหลังเป็นตัวขับเคลื่อนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

            ยิ่งไปกว่านั้น เลวี่-สเตราส์ยังสนใจต่อไปว่า สิ่งที่ปรากฏซ้ำ ๆ ในตำนานอาจเป็น “สาร” ที่บรรพชนต้องการสื่อสารกับผู้คนในยุคหลัง ดังนั้นหากพิจารณาอย่างถี่ถ้วนจะพบว่า สิ่งที่ปรากฏซ้ำ ๆ ในหนังสือรวมเรื่องสั้น “คนธรรพ์” คือ คู่ความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกันอาจเป็นไปได้ว่า สังคมไทยในยุค พ.ศ. 2560-2562 เป็นช่วงที่เกิดปัญหาความไม่เท่าเทียมกันในสังคม จึงทำให้นักเขียนกลุ่มหนึ่งออกมา “ส่งสาร” เกี่ยวกับความไม่เท่าเทียมเหล่านี้ถึงคนในสังคม

            จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นว่า แม้ “คนธรรพ์” จะเป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นจากหลากหลายผู้ประพันธ์ และแต่งขึ้นโดยมีสารสาระและจุดมุ่งหมายที่แตกต่างกัน แต่ภายใต้ความแตกต่างหลากหลายเหล่านี้ก็ตั้งอยู่บนพื้นฐานความคิดเดียวกันนั้นคือ การต่อสู้กับความไม่เท่าเทียมกันในสังคม นั้นเอง

 

เอกสารอ้างอิง

กองทุนกนกพงศ์ สงสมพันธุ์. (บรรณาธิการ). (2562). คนธรรพ์. ปทุมธานี: กองทุนกนกพงศ์ สงสมพันธุ์.

ศิราพร ณ ถลาง. (2563). ทฤษฎีคติชนวิทยา: วิธีวิทยาในการวิเคราะห์ตำนาน-นิทานพื้นบ้าน. (พิมพ์
            ครั้งที่ 4). กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

 

 **************************************

ซื้อหนังสือ "คนธรรพ์" ได้ที่

ร้านสวนเงินมีมา

 

 

Visitors: 85,168