ใคร่ครวญ “เวลา” ที่ได้รับการบันทึกจาก
“ทางแยกเวลาในหน้าต่าง/ต่างหน้าในเวลาแยกทาง”
กิตติ มีชัยเขตต์
เมื่อกล่าวถึงการอ่านบทกวีก็มักเป็นที่เข้าใจกันว่ากวีนั้นต้องสำแดงพลังความรู้สึกให้ผู้อ่านได้รับความสะเทือนใจหรือขนลุกจากความซาบซ่านของรสกวี ไม่ว่าบทกวีนั้นจะเขียนงานประเภทมีสัมผัสหรือไม่มีสัมผัสก็ตาม แต่บทกวีร่วมสมัยของไทยก็ไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป อย่างบทกวีที่ได้นำมาใคร่ครวญ “ทางแยกเวลาในหน้าต่าง/ต่างหน้าในเวลาแยกทาง” ของ อุเทน มหามิตร เป็นบทกวีไร้สัมผัส และมีกลวิธีการเขียนให้อ่านจากหน้าไปหลังและอ่านจากหลังไปหน้าในบทนั้น ๆ หรือจะอ่านตรงไหนอย่างไรก็น่าจะได้เพราะตัวบทดูจะเปิดให้ผู้อ่านได้เล่นไปกับการอ่าน ในช่วงแรกของการอ่านยังต่อไม่ติดวางหยิบหยิบวางหลายเวลา กลั้นใจอ่านอีกคราแม้คำแปร่งและรสขมฝาดที่ภาพความทรงจำยามพรากจากรักจะตระหนักได้ถึงความเศร้าเจ็บปวดที่ไม่คลายน้ำตาให้ผู้อ่านแต่ชวนมุ่นสมอง ถึงแม้ความรู้สึกจะไม่จับใจผู้อ่านแต่แสงอักษรสว่างตาให้ตรึงติด ยิ่งได้ขบได้คิด สมองถูกชวนให้แงะคำ แงะไปสองสามบทน้ำตาลตกเติมน้ำตาล ปวดกบาลบ้างครั้งก็ยังแงะถ้อยความอย่างบากบั่นเพราะหมายหาสิ่งหลบเร้นใต้ หรือระหว่างบรรทัด พิจารณาอักษรดังเล่นไขว้อักษรซ่อนความหมายให้ตีความตัวบทกวี อ่านเดินหน้าอ่านถอยหลังเหมือนถอยรถเข้าออกแต่ไม่ไปไหนสักที เสมือนเป็นภาพรวมของบทกวีที่อยู่บนทางแยก/แยกทางที่พยายามกดข่มเจ้าความทรงจำที่ผุดขึ้นมา พยายามเคลื่อนไปข้างหน้าแต่ก็ต้องถอยหลัง การทำอะไรไม่ได้คล้ายการชักกะเยอไปมาของจิตใจมนุษย์ จะพบได้บ่อยขึ้นในงานวรรณกรรมร่วมสมัยและถ้ายกอาการชักกะเยอทางใจของมนุษย์ก็มักมีความสัมพันธ์กับสิ่งที่ไม่มีชีวิตแต่มีอยู่ที่เรียกว่า “เวลา” อย่างงานวรรณกรรมละครเรื่อง “คอยโกโดต์” ของ แซมมวล เบ็คเก็ต ที่เวลาเป็นแกนหลักของเรื่อง เมื่อย้อนกลับมาใคร่ครวญพินิจบทกวีของ อุเทน มหามิตร ได้สักระยะก็เพลินไปกับการมองเวลาที่ผุดขึ้นในแต่ละบทกวี ว่าบทนี้อยู่ในเวลาใด ค่ำ คืน เช้า สาย หรือฤดู เป็นต้น แล้วจึงค่อยหาว่ามีสิ่งใดกระทบอะไรแล้วอะไรเกิดขึ้นบ้าง จะมีเพียงบท “แมลงแปลงจินตภาพ” ที่ไม่ได้ระบุเวลาให้เห็นจะพบแค่ “ซากสลายรอรา” ที่การ “รอ” ได้แสดง “ช่วงเวลา” ถึงตรงนี้เหมือนพบช่องทางของตัวบทที่ปะทะรังสรรค์กับเวลา ถึงแม้จะเข้าใจว่าศิลปินก็ใช้ “เวลา” แสดงภาพพจน์ในการสร้างสรรค์บทกวีก็ตาม และกลวิธีการเขียนที่ผู้อ่านสามารถอ่านไปข้างหน้าอ่านถอยกลับได้ ทำให้ “เวลา” ได้รับการสั่นไหวกระพริบพรายดังแสง-เงา ที่จะปล่อยผ่านเลยไปได้ การปรากฏของ “เวลา” ที่เกิดขึ้นในบทกวีมีหลายหลากมิติน่าหยิบจับมาลองส่องดูและใช้เป็นทิศทางมองบทกวีเพื่อจะมีแนวทางประสานทางแยกหรืออาจจะเจอแต่แยกก็โปรดพิจารณา
อย่างไรก็ตาม ก่อนจะไปถึงตัวบทกวี มาทำความเข้าใจ “เวลา” ที่เป็นทิศทางของจุดเริ่มต้นในการจัดวางบทบาทของการใคร่ครวญบทกวี กรอบแนวคิดเรื่อง “เวลา” มีหลายหลากทั้งยังไม่มีที่สิ้นสุดในทางปรัชญาว่า “เวลา” นั้นเดินเป็นเส้นตรงอย่างเวลาตามมุมมองของพระเจ้า หรือเวลาที่เดินเป็นวงกลมอย่างเวลาที่เดินเวียนว่ายตายเกิด หรือเวลาก้าวกระโดดไปมาและหยุดได้ หรือเวลาสัมบูรณ์หรือสัมพัทธ์ หรือเวลาในโลกทุนนิยม และอีกมากมายซึ่งยังต้องถกเถียงกันต่อไปได้ แต่ในที่นี้วางกรอบแนวคิดของ “เวลา” ให้ร่วมสมัยกับบทกวี โดยใคร่ครวญบทกวีจากสี่แยกทางเวลา ดังนี้ แยก “ช่วงเวลา” เวลากลายเป็นจิตใจภายในของมนุษย์ ที่ภาพความทรงจำ ความหวังและความต้องการกระโดดไปมาและไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์ แยก “หยุดเวลา” เวลากลายเป็นผู้ถูกกระทำได้ ที่ยินยอมสรรพสิ่งทั้งหลาย แยก “หลุมเวลา” เวลากลายเป็นส่วนหนึ่งที่ไหลลื่นไปกับสรรพสิ่งทั้งหลาย และแยก “เวลามีชีวิต” เวลากลายเป็นผู้ดำรงอยู่และกระทำ ดังนั้น บทกวีมี “เวลา” ให้พินิจ
“ช่วงเวลา” เป็นเวลาเกิดขึ้นภายในจิตใจของมนุษย์ทุกคนและจะเกิดขึ้นเหมือนภาพในความทรงจำอาจจะไม่สมบูรณ์เหมือนจริงแต่เค้าโครงพอเห็นเป็นลาง ๆ ไม่มีการลำดับเวลาชัดเจนลงไปได้ จึงเป็นพื้นที่ระหว่างภายในตัวของมันเอง ทำให้ความทรงจำกระโดดไปมาและประกอบสร้างมันขึ้นมาได้ ความทรงจำใน “ช่วงเวลา” ไม่ได้อยู่ในอดีต เพราะเมื่อมันถูกสร้างขึ้นก็จะส่งผลเป็นปัจจุบันและอนาคตและในความทรงจำที่เกิดขึ้นอย่างหลากหลายย่อมเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีความปรารถนาและความคาดหวัง แสดงว่าความปรารถนาและความคาดหวังไม่ได้อยู่ในอนาคตแต่ยังอยู่ในอดีตด้วย จากการเลื่อนไปมาของ “ช่วงเวลา” ได้แสดงผลเป็นภาพรวมทั้งหมดของบทกวีที่อักษรได้ดำเนินไป ทุกบทของกวีอาศัย “ช่วงเวลา” ดำเนินความเป็นไปอยู่ในขณะปัจจุบันที่อดีตและอนาคตได้ดำรงอยู่และฉายขึ้นมาพร้อมหน้ากัน ความทรงจำอันเจ็บปวด ปรารถนาและคาดหวังให้จิตใจผ่านไปได้ “เปลี่ยนรอยต่อไปเป็นความปรารถนา” จาก บท “ไม้ดอกเด็ดดาวต่างลม” และภาพรวมของบทกวีทั้งเล่มโน้มน้าวหา “ช่วงเวลา” ของความทรงจำที่เกิดขึ้นขณะหนึ่งของจิตใจที่หว่านไปกับบริบทรอบตัวที่ อดีต ปัจจุบัน และอนาคตไม่สำคัญอีกต่อไป ถ้าชวนตั้งคำถามว่าเวลาที่มนุษย์มีในความทรงจำประกอบสร้างนี้แสดงว่ามนุษย์มีเวลาเป็นของตนเองใช่ไหม
“หยุดเวลา” เวลาจะถูกหยุดให้เคลื่อนไหวเมื่อกระทบต่อสิ่งเร้าที่ทำให้ความทรงจำโผล่ขึ้นมา ดังเป็นวัตถุพยานในที่เกิดเหตุถูกหยิบขึ้นมาทวงถามความทรงจำ เวลาถึงหยุดลงเพื่อให้มนุษย์ประกอบสร้างความทรงจำต่อวัตถุพยาน ดังที่ตัวบทกวี ”ทางแยกเวลาในหน้าต่าง” มีวัตถุแวดล้อมมากมายตั้งแต่ ห้อง หน้าต่าง นาฬิกา กล้อง ภาพพิมพ์และอื่น ๆ แม้ประโยคย่อย ในบท “เมฆมวลบาง” อาทิ “สิ้นสุดวัน ใกล้ชิดความเงียบไหว ขณะบางใจเตือนใจให้คอยรอ สิ้นสุดคืน ใกล้ชิดความเหนือจริง ขณะบางใยเยื่อเลือนใจในรอยจาง” หรือ บท “กล้องจำความ” ที่ว่า “กล้องจำความเป็นภาพหยุดเวลา” วัตถุที่ว่ามาและอีกหลายสิ่งในตัวบทกวีที่ไม่ได้ใส่มาแสดงให้เห็นว่า “เวลา” ถูก “หยุด”ได้ หรือ “หยุดเวลาได้” เป็นต้น จากวัตถุพยานแห่งความทรงจำที่มนุษย์จะดำดิ่งไปกลับความทรงจำได้อย่างยาวนาน ส่วนความรู้สึกจะสุขเศร้าจะเป็นที่พอใจหรือไม่ ขึ้นกับวัตถุนั้นบรรจุด้วยความทรงจำแบบใดไว้ แต่ในตัวบทกวีนี้แสดงความทรงจำที่รู้สึกได้ถึงความมุ่นหม่นฝาดขมปร่า จากบทกวีก็ชวนให้เกิดคำถามว่าถ้าเวลาถูกหยุดได้จากวัตถุแห่งความทรงจำของมนุษย์แสดงว่ามนุษย์เปลี่ยนแปลงสิ่งใดต่อวัตถุพยานก็ได้ใช่หรือไม่
เมื่อบทกวีที่แปลกแปร่ง “เวลา” ก็แปลกตาม เมื่อบทกวีให้อ่านไปหน้าและถอยหลัง “เวลา” ก็เดินไปหน้าและเดินถอยหลังแต่ไม่ถอยเป็นเส้นตรง แต่เป็นหลุมหรือโพรงที่การเดินหน้าถอยหลังเหมือนการหายใจสูดเข้าและปล่อยออก เวลาจึงเป็น “หลุมเวลา” ที่ดูดเอาสิ่งต่าง ๆ เข้ามาพบเจอและบรรจบพบเจอ ทำให้เวลาเป็นส่วนหนึ่งกับทุกสรรพสิ่ง เวลาเป็นทั้งผู้มีส่วนรวมและแตกหัก ทำให้เวลามีความหลากหลายและไม่แน่นอนทั้งทำให้เวลาเป็นทางเปิดกว้างและไม่มีคำตอบตายตัว บทกวีในบท “กาลอวกาศ” แสดงให้เห็นว่าเวลากับพื้นที่พยายามมีส่วนร่วมหรือเป็นหนึ่งเดียวกัน หรือในบท “วันต่างชนิดยา” ก็เห็นเวลาดูดทุกสิ่งให้มาบรรจบพบกัน และในบทอื่น ๆ เวลาเข้ามามีส่วนรวมและพร้อมแตกหักด้วย บทกวีแสดง ให้เห็นว่า “หลุมเวลา” ได้พาคนเคยรักให้แยกทางกันไป บทกวีได้แสดงเวลาเป็นส่วนหนึ่งของการการแตกหักและวัตถุพยานแห่งความทรงจำต่าง ๆ เป็นส่วนหนึ่งของการมีส่วนร่วม เมื่อ “หลุมเวลา” ดูดหรือพาให้มาบรรจบคำถามท้ายย่อหน้านี้จึงไม่มี เพราะเปรียบว่า “หลุมเวลา” ได้พาคู่รักมาบรรจบจะลงเอยได้ดังใจหรือไม่นั้นก็ไม่สามารถรู้ได้ เพียงแค่สะกิดได้ว่าเวลาไม่ได้เป็นตัวกำหนดแต่เป็นผู้ร่วมแสดงเท่านั้น และเวลาไม่ได้ลอยตัวเพราะไม่ว่าผลจะเป็นเช่นไรเวลาก็มีส่วนร่วมไปด้วย ดังนั้น มนุษย์ เวลา และสรรพสิ่งต่าง ๆ ล้วนเป็นองค์รวมที่มีผลต่อกัน ดังธรรมชาติที่บทกวี บท “รอยย่ำรุ่งย่ำเท้ากีบ” กล่าวว่า “หญ้าทุ่งห้อมห่มกลองเสียงแมลงมหัศจรรย์ บึงกระเพื่อมเกลี่ยคล้ายนิเวศข่ายเสียงผสาน” เวลาของธรรมชาติจึงไม่ได้อยู่บนฐานคิดแบบเวลาทุนนิยมที่วัด ความก้าวหน้า และการพัฒนาจากการใช้เวลาเป็นตัวกำหนด
เมื่อลองใคร่ครวญบท “ฝนสายจาง” ที่กล่าวว่า “เวลาขีดรอยต่างหล่นร่วงหยดแยกวันและคืน” จะเห็นว่า “เวลา” ได้มีชีวิตเข้ามา “กระทำ” แสดงว่าเวลาจากนามธรรมกลายเป็นรูปธรรมที่เป็นผู้กระทำและสำแดงตัวตนได้ อย่างเช่น บท “ใกล้ใจไกลแสง” ว่า “อดีตเส้นรอบทางเดินแสง แทรกหมุนบัลเล่ต์อวกาศ ปัจจุบันเจียระไนในขณะหนึ่ง” หรือ “นาฬิกาหลุมพรางเวลา กลายกลับคืน วนอ่อนใจ” และ บท “แสงปรุ” ว่า “สายโด่งดุ้งสะพรึบสะดิ้งดีดที่ได้สุกเช้า แดดรุนคลื่นเสียงครวญครั่นตัวมัน” เป็นต้น “เจ้าเวลา” ได้แสดงอำนาจที่ก่อให้เกิดความรู้สึกหม่นมัว หม่นหมองบนรอยเศร้า และรอยหวังจากสรรพสิ่ง การกลายเป็นสิ่งมีชีวิตและแสดงให้เห็นการดำรงอยู่ของเวลายิ่งทำให้มนุษย์ที่เข้าใจว่าตนเป็นผู้สร้างและควบคุมหลายสิ่งได้นั้น มิได้เป็นเช่นนั้นอีกต่อไป เพราะอดีตที่มีเล่ห์ร้ายของเวลามากำกับถึงจะเก็บเงียบก็พร้อมจะแง้มออกมาทุกขณะปัจจุบันและเมื่อปรากฏตัวก็พร้อมแสดงความคาดหวังของอนาคตได้เช่นกัน อำนาจของเวลาซึ่งเป็นผู้กระทำมักจบลงเป็น “สูญ” ตามความเข้าใจของมนุษย์แต่ในทางกลับกัน “เวลา” เมื่อกลายเป็นสิ่งมีชีวิตก็ย่อมกระทำอย่างต่อเนื่องอย่างบท “ใจสนิทแสงอุ้มโอบ” ว่า “เช้าทุกเช้าเป็นจุดเปลี่ยนคืนอีกคืน วันอีกวันย่อชื่อเรียกสัปดาห์ย้อนหลัง คนสองคนยิ้มแสยะผ่านเวลาไร้ซึ่งเวลา ซ้ำแต่งเติมเวลาผิดและแบ่งถูกเวลาต่าง” การกระทำของเวลาแสดงคำถามปลายเปิดมากขึ้นว่ามนุษย์ควรจัดวางตนเองต่อสรรพสิ่งที่มองไม่เห็นอย่างไร
จากทางสี่แยกของ “เวลา” ที่นำมาพินิจบทกวี “ทางแยกเวลาในหน้าต่าง/ต่างหน้าในเวลาแยกทาง” ของ อุเทน มหามิตร เป็นร่องรอยของการลื่นไหลของสรรพสิ่งทั้งที่เห็นได้ด้วยตาเปล่าและเห็นไม่ได้ด้วยตาเปล่าแต่อยู่ภายในจิตใจ และกลวิธีการเขียนก็แสดงให้เห็นว่า “เวลา” ในบทกวีมีอิทธิพลต่อสิ่งมีชีวิต ภาพที่ฉายออกมามีแสงและความมืดหรือเงาเข้ามาอำนวยให้กับ “เวลา” ดังนั้น บทกวีร่วมสมัยไม่ใช่แค่ให้ภาษาพาออกรสชาติเปล่งความรู้สึกซาบซ่านสะเทือนใจเพียงเท่านั้น แต่ยังต้องชวนให้ขบคิดต่อความหมายหรือจะกล่าวว่า “อ่านออกรสชาติก็เพลินอ่านให้สมองทำงานก็สนุกได้” อย่างไรก็ตาม ผู้อ่านน่าจะสนุกยิ่งขึ้นเมื่อการอ่านเป็นการหาจุดร่วมในตัวบทกับสิ่งที่ผู้อ่านต้องการพิจารณาและพลังของวรรณกรรมมีสิ่งเหล่านี้เสมอ