ใต้แว่นตาของคำลวง ๘ เรื่องสั้นบนเกาะกระต่าย

ใต้แว่นตาของคำลวง ๘ เรื่องสั้นบนเกาะกระต่าย 

 นิธิ นิธิวีรกุล

            เราอ่านหนังสือไปทำไม?

            คำถามกว้างไป

            เราอ่านวรรณกรรมไปทำไม?

            คำถามต้องจำเพาะเจาะจงลงอีก

            เราอ่านวรรณกรรมไทยไปทำไม?

            ถึงจุดนี้ คำตอบอาจมีหลากหลาย และมากมายในการหานิยามว่าวรรณกรรมไทยแบบใดที่เรา ๆ อ่าน ซึ่งถ้าจะให้จำเพาะเจาะจงลงไปอีก วรรณกรรมไทยแนวซีเรียสทั้งในเชิงประเด็น กลวิธีการนำเสนอ (ซึ่งผู้เขียนอาจไม่ได้ตั้งใจหรือเจตนาให้เป็นเช่นนั้น) ตลอดจนเรื่องราวที่อาจไม่ได้สะท้อนทิศทางของตลาดคนอ่านที่เปลี่ยนไป กระทั่งบางเล่มอาจพูดได้ว่าเป็นการยืนหยัดในเส้นทางนี้ต่อไปด้วยซ้ำ

            ท่ามกลางกระแสการเมืองที่ร้อนแรงหลายปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดระหว่างมวลชนกลุ่มพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตยกับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติมาจนกระทั่งปัจจุบันที่ปริมณฑลทางการเมืองได้เปลี่ยนแปลงขอบฟ้าไปแล้ว

            วรรณกรรมแนวซีเรียสหลายต่อหลายเล่มได้ถูกผลิตออกมาทั้งในรูปแบบนิยาย เรื่องสั้น บทกวี ที่ล้วนแต่มีแง่มุมสะท้อนปรากฏการณ์ทางการเมือง ตลอดจนสังคมที่เกิดขึ้น ซึ่งนักเขียนมีหน้า-ที่ในอีกแง่อาจจะเรียกว่าเป็นพันธกิจ-ในการมองให้เห็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วนำเสนอออกมาในเชิงศิลปะเรื่องแต่ง ทั้งเพื่อให้คนอ่านได้รู้สึกถึงการมีอยู่ของเรื่องราวเหล่านั้นแล้วรู้สึกสะเทือนใจ กระทั่งโกรธเกรี้ยว ไปจนถึงทั้งเพื่อให้คนอ่านได้ตั้งคำถาม

            จำนวนนับของวรรณกรรมแนวซีเรียสเหล่านี้มีมากมาย แต่มีอยู่เล่มหนึ่งที่ปรากฏโฉมขึ้นมาอย่างเงียบเชียบ และแทบไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง เนื่องด้วยผู้เขียนจัดการพิมพ์หนังสือเล่มนี้ด้วยเงินทุนของตนเอง และพิมพ์ในจำนวนจำกัดแก่ผู้ที่สนใจ หนังสือเล่มนี้ คือ รวมเรื่องสั้น 8 เรื่องจากนักเขียนเจ้าของรางวัลกนกพงศ์ สงสมพันธ์ ครั้งที่ 3 ที่ชื่อ อรรถพงษ์ ศักดิ์สงวนมนูญ จากเรื่อง “แมวพม่า” ซึ่งเป็นเรื่องราวซ่อนนัยยะที่มีเนื้อหาเกี่ยวโยงกับชนชั้น แรงงาน และอคติต่อชาติพันธุ์ ขณะที่เรื่องสั้นอื่น ๆ ในรวมเรื่องสั้น “เกาะกระต่ายกับเรื่องสั้นอื่น” ล้วนเป็นเรื่องราวที่เต็มไปด้วยการตั้งคำถามที่บางเรื่องยากยิ่งต่อการตีความ บางเรื่องแม้อาจเข้าใจประเด็นที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอ แต่เมื่ออาจจบกลับต้องมานั่งทบทวนว่าที่อ่านไปนั้น เข้าใจถูกแล้วจริง ๆ ล่ะหรือ?

            และคำถามต่อประเด็นในเรื่องสั้นทั้ง 8 นี้เองที่เป็นเหมือนลักษณะที่โดดเด่นที่สุดของรวมเรื่องสั้นทั้ง 8 เรื่องนี้ เนื่องจากเรื่องสั้นแต่ละเรื่องล้วนให้ความรู้สึกที่หนักอึ้ง แปลกประหลาด และแหลมคมด้วยประเด็นทางการเมือง สังคม กระทั่งบีบคั้นอารมณ์ หากยังมีความรู้สึกเห็นใจในชะตากรรมของเพื่อนมนุษย์หลงเหลืออยู่บ้าง

            ไม่ว่าจะเป็น “แมวพม่า” ที่ได้รับรางวัลกนกพงศ์เป็นเครื่องการันตีความยอดเยี่ยมของชิ้นงานที่บอกเล่าเรื่องราวของแมวที่ถูกเลี้ยงโดยเด็กหญิงชาวพม่าผู้หนึ่ง ก่อนเด็กหญิงจะหายตัวไป และแมวก็เริ่มส่งเสียงรบกวนคนในชุมชนนั้น ซึ่งไม่อาจปฏิเสธนัยยะของเสียงแมวที่ถูกเลี้ยงดูโดยเด็กหญิงพม่าได้เลยว่าผู้เขียนต้องการให้แมวเป็นสัญลักษณ์แทนการส่งเสียงของแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่ทั้งอาจต้องถูกลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ให้ฐานะเท่าเทียมสัตว์ก่อน หรือต้องดังจนรบกวนการดำรงชีวิตเท่านั้น เราถึงจะได้ยิน และยอมรับฟัง

            “...ภาพที่เห็นทำให้ใคร ๆ ต่างคาดเดาถึงการงานอันหนักหนาในบ้านซึ่งเธอจะต้องรับผิดชอบ แต่ก็ไม่มีใครแก้ตัวแทนเธอ ป่วยการที่จะพูดถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน เด็กสาวเป็นเพียงแรงงานต่างด้าวราคาถูก...” [บางส่วนจากเรื่องสั้น “แมวพม่า”]

            ใช่แต่เพียงจะจับประเด็นทางสังคมมาถ่ายทอดผ่านเรื่องสั้นได้อย่างแหลมคมเท่านั้น แม้แต่ประเด็นที่ชี้ชวนให้ตั้งคำถามถึงภาวะของความเชื่อต่าง ๆ ที่สังคมถูกหล่อหลอมให้เชื่อกันว่า อรรถพงษ์ก็ยังนำมาเสนอได้อย่างชวนคิด ในเรื่องสั้น “ใต้แว่นตา” ว่ามีอะไรอยู่ใต้นั้น “...ผมได้ยินเสียงบางคนบอกว่ามันแทรกมาจากอากาศ เสียงคนด้านหลังแว่วออกมาอีกว่ามันคือเรื่องมหัศจรรย์ พวกเขาต่างเชื่อว่ามันคือเรื่องลี้ลับเหนือกาลเวลา นักแสดงผู้ยืนนิ่งอยู่ตรงหน้าต้องมีมนต์พิเศษ...” [บางส่วนจากเรื่องสั้น “ใต้แว่นตา”]

            แม้ชื่อเรื่อง “ใต้แว่นตา” จะไม่ได้ชี้ชวนตั้งคำถาม แต่เมื่ออ่านจนจบคำถามย่อมตามมาหากการอ่านนั้นใคร่ครวญ ทบทวนให้มากพอถึงปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งอาจจะยาวนานและถอยกลับไปไกลกว่าปีที่รวมเรื่องสั้นเล่มนี้ได้รับการตีพิมพ์ออกในปีเดือนสิงหาคม 2561 ด้วยซ้ำ ซึ่งคำถามเชิงปลายเปิดและยากต่อการตีความเช่นนี้ เป็นลักษณะที่โดดเด่นในชิ้นงานของรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ดังที่ได้กล่าว ถึงกระนั้น เรื่องสั้นบางเรื่อง อาจไม่ได้ยากนักในการตีความเมื่อเทียบกับมาตรฐานความยากจาก “ใต้แว่นตา” อย่างเรื่อง “งูตัวอื่น” ซึ่งเป็นเรื่องราวที่เริ่มต้นจากสุนัขของคนงานหญิงวัยกลางคนผู้หนึ่ง จากสภาพศพของสุนัขชวนให้เข้าใจว่าน่าจะถูกวางยาตาย ขณะที่บทบรรยายล้วนสะท้อนให้เห็นปัญหาระหว่างชนชั้นที่ร้าวลึก ซึ่งเกิดจากการมองเห็นคนไม่เท่ากันของคนที่รวยกว่า

            “...นางสะอื้นไห้นั่งลงเหม่อซึม แล้วบอกกับเขาว่าคนที่ฆ่ามันจะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจากไอ้สัตว์นั่น ไอ้พวกคนรวยแต่ใจดำ...” [บางส่วนจากเรื่องสั้น “งูตัวอื่น”]

            ถึงกระนั้นด้วยชั้นเชิงของผู้เขียน อรรถพงษ์พยายามไม่ชี้นำตัวบทมากเกินความจำเป็น แต่กลับขับเน้นประเด็นไปที่การตั้งคำถามในเชิงความเห็นใจเพราะหวังดี บางครั้ง บทสรุปอาจลงท้ายด้วยความเลวร้าย หากความหวังดีนั้นเริ่มต้นด้วยคำลวงเหมือนในตอนท้ายเรื่องของ “งูตัวอื่น” เมื่อชายหนุ่มต้องการจะตัดปัญหาที่หญิงวัยกลางคนรบเร้าให้เขาหางูที่เข้ามาในบ้านของเธอให้เจอ แต่เขากลับตัดปัญหาด้วยการโกหกเธอไปว่างูตัวนั้นออกไปจากบ้านแล้ว ไม่สนเสียงโวยวายของหญิงวัยกลางคนที่ใคร ๆ ในชุมชนต่างไม่ชอบเธอเหมือนกับที่ไม่ชอบหมาของเธอ งูตัวนั้นที่ยังคงซ่อนตัวจึงเลื้อยออกมาแล้วฉกเธอจนถึงแก่ความตายในที่สุด

            และหากตัวบทในวรรณกรรมส่งสะท้อนความคิดอ่านของผู้เขียน ซึ่งล้วนเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าคำถามที่ปรากฏในรวมเรื่องสั้น “เกาะกระตาย กับเรื่องสั้นอื่น” ต้องการตั้งคำถามต่อผู้อ่านในช่วงเวลาที่หนังสือทั้งสองเล่มได้ปรากฏว่าเรากำลังอยู่ในสังคมแบบไหน?

            เราต่างหลงเชื่อในคำลวงชนิดใดจนพาสังคมให้ติดอยู่ไม่อาจก้าวข้ามไปไหนได้ กระทั่งถอยหลังลงคลองก็ไม่อาจเกินจริงที่จะกล่าว

            “...มีรอยแหว่งบนใบไม้ แมลงสักชนิดอาจมากัดกินมัน คุณคิดว่าร่องรอยพวกนั้นอาจจะปรากฏขึ้นตั้งนานแล้ว เพียงคุณเพิ่งจะสังเกตเห็นมันเท่านั้น...” [บางส่วนจากเรื่องสั้น “ไม่เห็นแมลงมีเพียงรอยแหว่งบนใบไม้”]

            ถ้าคำลวงด้วยความหวังดีที่ซุกซ่อนบางสิ่งไว้ภายใต้แว่นตาเพื่อที่สุดแล้ว จะได้ไม่ต้องมองเห็นความทุกข์ยาก และมองไม่เห็นคนเป็นคน คือ ประเด็นที่ปรากฏใน “งูตัวอื่น” “ใต้แว่นตา” และ “แมวพม่า” แล้ว ตัวบทบางส่วนจากเรื่องสั้น “ไม่เห็นแมลงมีเพียงรอยแหว่งบนใบไม้” ที่บอกเล่าเรื่องราวของชายหนุ่ม ลูกเจ้าของกิจการร้านรองเท้าที่กำลังจะใกล้ปิดกิจการรอมร่อก็ตั้งคำถามต่อ “รอยร้าว” ของสังคม ผ่านความสัมพันธ์ของพ่อแม่ชายหนุ่มที่ไม่ได้รักกัน แต่แต่งงานกันด้วยการคลุมถุงชนทำให้พ่อแม่ของชายหนุ่มเริ่มต้นความสัมพันธ์ที่นำมาสู่รอยร้าวในคำว่าครอบครัวที่แม้จะไม่ได้เลิกราหย่าร้าง แต่รอยร้าวนั้นก็ไม่อาจทำให้คนทั้งคู่รักกันได้เหมือนสังคมไทยที่ดำเนินมาตั้งแต่ปัญหาความขัดแย้งสีเสื้อรวบจนปัจจุบันก็อาจจะไม่ผิดนักที่จะกล่าว

            คำถามคือ ในฐานะ “ลูก” เราใส่ใจมันมากพอที่จะประสานรอยร้าวไหม?

            หรือเพียงรอให้ถึงวันแตกสลาย

            เหมือนเช่นในเรื่องสั้น “เกาะกระต่าย” ที่บอกเล่าเรื่องราวของ “อิน” หญิงสาวที่เลี้ยงกระต่ายไว้ เติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่พ่อทิ้งเธอไปตั้งแต่เด็กเพื่อมีครอบครัวใหม่ ก่อนจะกลับมาเพื่อไปอยู่กับครอบครัววใหม่อย่างพ่อที่ทิ้งขว้างลูก ปล่อยให้ลูกเผชิญชะตากรรมอย่างโหดร้าย เปลี่ยนเด็กสาวที่เคยสดใสครั้งหนึ่งให้กลายเป็นหญิงสาวกร้านโลกทำทุกอย่างเพื่อเอาตัวรอด กระทั่งไม่ใยดีต่อกระต่ายที่ตัวเองเคยเอามาเลี้ยงไว้ตัวหนึ่งเพียงเพราะพบว่ากระต่ายนั้นกินอุจจาระของตัวเอง

            อินจึงทิ้งกระต่าย เหมือนพ่อที่ทิ้งเธอ

            เรื่องราวใน “เกาะกระต่าย” เป็นเรื่องราวที่อ่านแล้วทั้งสะเทือนใจและสะอิดสะเอียนเมื่อพบว่าในโลกของผู้ชายที่อินเติบโตมาทั้งจาก “พ่อ” และ “อา” นั้นไม่เพียงไม่ปกป้อง ยังเอาเปรียบเธอในฐานะ “ลูก” และ “เด็ก” คนหนึ่งเพียงไร

            เรื่องราวใน “เกากระต่าย” ถูกเล่าผ่านสายตาของ “คุณ” ซึ่งจากตัวบทแสดงให้รู้ว่า “คุณ” เป็นญาติกับ “อิน” และรับรู้เรื่องราวของ “อิน” ไม่ต่างจากคนแปลกหน้า ทั้ง ๆ ที่เป็นคนในครอบครัวเดียวกัน เรื่องราวของ “อิน” ที่ผู้อ่านได้รับรู้จึงถูกเล่าผ่านสายตาที่ไม่ต่างจากคนที่กำลังรับรู้เรื่องราวอันรันทดของใครสักคนที่ไม่รู้จักบนหน้าจอทีวี

            เว้นแต่เพียงคุณจะใส่ใจมากพอ สนใจมากพอที่จะรู้ว่า “เกาะกระต่าย” แท้จริงแล้วคือ “กรง” ที่ขังเราทุกคนไว้ดังเช่นที่อรรถพงษ์บรรยายไว้ว่า

“...ลึกลงไปจากกรงที่ขังมันเอาไว้ พวกมันช่วยกันขุดโพรงเพื่อความอยู่รอด พยายามหลบหนีออกจากกรงที่เป็นเสมือนโลกใบเล็กของพวกมัน กระต่ายหลายตัวในโพรงมืดทึบซึ่งกำลังหวาดกลัวเมื่อพบว่าพวกมันไม่มีทางออก...”

            และด้วยการรู้นั่นเอง คุณอาจได้รู้ต่อมาว่าแท้แล้วในโพรงกระต่ายที่พวกเราอาศัยอยู่ร่วมกันภายใต้วลีของคำว่า “เมืองเทพสร้าง” นี้คือ “สวรรค์ล่ม” กับเรื่องราวของหนุ่มคนงานวัยสี่สิบปีที่ปรารถนาอยากจะซื้อบริการจากหญิงสาวสวยสักคนนั้นยากเย็น จนเมื่อบังเอิญ “โชคดี” ไปเจอกระเป๋าที่ภายในมีเงินนับล้าน ก่อนจะพบว่าเงินในกระเป๋าที่พบเป็นเงินจากการค้ายาที่ลากเอาทั้งตำรวจตามมาทวงเงินที่หนุ่มคนงานยักยอกไว้จำนวนหลักพันบาท กับหญิงขายบริการที่ตนเองได้แต่ฝัน จนเมื่อเรื่องราวจบลง เราอาจต้องมาตั้งคำถามว่าเรื่องราวทั้งหมดนั้นเป็นภาพฝันเหมือนลอยอยู่ในสรวงสวรรค์ของคนยากไร้ที่บังเอิญ “โชคร้าย” คนหนึ่งเท่านั้น หรือเป็นเพียงตลกร้ายเรื่องหนึ่ง

            ซึ่งด้วยกลวิธีนำเสนอ ประเด็นที่ผู้เขียนต้องการสื่อสาร ต้องยอมรับว่าสามเรื่องท้ายในรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ ไม่ว่าจะเป็น “สวรรค์ล่ม” หรือเรื่อง “กลายเป็นแมวบาดเจ็บ” ที่อรรถพงษ์เปิดเรื่องด้วยการเล่าถึงหญิงนางหนึ่งที่มาเล่าถึงแม่ซึ่งกำลังถูกพาไปส่งโรงพยาบาลหลังถูกงูกัด ซึ่งแม่ของหญิงนางนี้อาจทำให้เราเชื่อมโยงว่าเป็นตัวละครเดียวกันในเรื่อง “งูตัวอื่น” ให้เจ้าหนี้ ซึ่งเป็นตัวละครหลักให้อนุโลมเงินที่หญิงนางหนึ่งได้กู้ไปซื้อตู้เย็น ซึ่ง “เธอ” ก็ยินยอม แม้จะตั้งข้อสงสัยว่าหญิงนางนี้ไม่เคยเล่าถึงแม่มาก่อนหน้านี้ ก่อนเรื่องจะพาให้เราไปรู้จักเรื่องราวของ “หญิงร่างท้วม” สติไม่ดีที่เลี้ยงแมวไว้หลายตัวแล้วหนึ่งในนั้นหลุดออกมาลอบเข้าบ้าน “เธอ” ขโมยอาหารกิน ซึ่งทำให้ “เธอ” อยู่ในอารมณ์โมโหไปทั้งวัน และแม้ว่าถึงตอนท้ายสุดจะพยายามใจดียื่นอาหารให้แมวเสมือนเป็นการไถ่โทษที่ได้ปาข้าวของใส่มันไปก่อนหน้านี้ แต่แมวตัวนั้นได้หวาดกลัวไปแล้ว แมวจึงไม่ยอมรับ และพาตัวออกไปจากบ้านด้วยร่างกายที่บาดเจ็บ

            และในเรื่องสุดท้าย “วันนี้ฝนไม่ตก” ซึ่งเล่าเรื่องราวของลูกชายคนกลางของเจ้าของกิจการแห่งนึ่ง ซึ่งอยากจะปลูกต้นไม้บนที่ดินของ “ป๊า” ที่น้ำประปายังเข้าไม่ถึง และทุก ๆ วันเขาจะต้องนำถังสองร้อยลิตรเติมน้ำให้เต็มเพื่อขับรถไปยังที่ดิน “ป๊า” เพื่อรดน้ำให้ต้นไม้ โดยไม่ใยดีต่อคำพูดค่อนขอดของคนรอบตัว และรวมถึง “ป๊า” ที่บอกกับเขาว่าอีกเดี๋ยวฝนก็จะตกลงมา ยังจะไปรดน้ำ ใครเห็นก็ว่าบ้า ถึงจะอย่างนั้น เมื่อรอแล้วฝนกลับไม่ตกลงมา ลูกชายคนกลางจึงทำเหมือนที่เคยทำมา คือ เติมน้ำใส่ถังแล้วขับรถไปรดน้ำต้นไม้

            เรื่องราวในส่วนท้ายทั้งสามเรื่องนี้ หากเทียบกับเรื่องสั้นทั้งห้าเรื่องก่อนหน้า โดยเฉพาะกับเรื่องที่นำมาตั้งเป็นชื่อเรื่องสั้นอย่าง “เกาะกระต่าย” ล้วนมีเนื้อหาที่ “อ่อน” ในด้านของการบีบเค้นอารมณ์ ตลอดจนประเด็นที่หนักหน่วงในการนำเสนอ ถึงอย่างนั้น จุดสังเกตร่วมกันของเรื่องสั้นแต่ละเรื่องที่ทำให้ลักษณะที่เป็นจุดเด่นในงานของอรรถพงษ์กลับกลายเป็น “จุดร่วม” ที่แข็งแรงของรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ คือ ทุกเรื่องมักจะสอดแทรกประเด็นของคนที่ไม่มีปากมีเสียงในสังคม คนที่มีครอบครัวไม่สมบูรณ์ อาจจะยกเว้นแค่เพียง “ใต้แว่นตา” ที่ผู้เขียนเลือกจะนำเสนอในลักษณะกึ่งแฟนตาซีเพื่อให้เข้ากับเนื้อหาของเรื่อง แต่นอกนั้น อรรถพงษ์เลือกที่นำเสนอเรื่องสั้นในฐานะภาพบรรยายแทนสังคมที่แตกร้าว ครอบครัวที่ล้วนมีปัญหาซึ่งเกิดจากระบบชายเป็นใหญ่ หรือการเอารัดเอาเปรียบที่คนมีอำนาจทั้งในเชิงโครงสร้าง และเศรษฐกิจกระทำต่อคนตัวเล็กตัวน้อยเป็นหลัก โดยมีภาพเปรียบทั้งในรูปลักษณ์ของแมว กระต่าย ต้นไม้ งูแว่นตา เรื่องสั้นแต่ละเรื่องหากเปิดไปพิจารณาวัน เดือน ปีที่เรื่องสั้นถูกเขียนขึ้นออกมาแล้วได้รับการเผยแพร่ก่อนจะนำมารวมเป็นชุดเดียวในรวมเรื่องสั้น “เกาะกระต่าย” อาจทำให้เข้าใจได้ถึงเงื่อนไขของพัฒนาการตัวผู้เขียน กระทั่งเมื่อพิจารณาต่อบริบทในห้วงปีนั้น ๆ ของสังคมก็อาจทำความเข้าใจได้ว่าทำไมอรรถพงษ์ถึงเลือกที่จะนำเสนอประเด็นที่ว่านั้น กระนั้น สิ่งที่เราอาจจะต้องยอมรับในเงื่อนไขของรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ประการหนึ่ง คือ การที่ผู้เขียนเลือกจะพิมพ์ด้วยเงินทุนของตัวเอง รวมเรื่องสั้นในเล่มนี้จึงมีทั้งความหลากหลายในเชิงเนื้อหา กลวิธีการเล่า กระทั่งความเป็นส่วนตัวในฐานะผู้สร้างสรรค์งาน ซึ่งเป็นเรื่องที่พบได้ทั่วไปในงานวรรณกรรมทุกประเภท

            สิ่งเดียวที่น่าเสียดาย คือ รวมเรื่องสั้น “เกาะกระต่าย กับเรื่องสั้นอื่น” เล่มนี้ถูกพิมพ์ด้วยระบบที่จำกัด ทำให้เนื้อสารที่ผู้เขียนอยากบอก-แม้จะเป็นเรื่องที่พบได้ทั่วไปก็ตามที-ถูกเล่าสู่แค่เพียงในแวดวงที่จำกัดสำหรับผู้ที่สนใจในวรรณกรรมแนวซีเรียส และคุ้นเคยกับเรื่องเล่าในเชิงเรื่องสั้นเท่านั้น ทั้ง ๆ ที่ศิลปะการเล่าเรื่อง แม้จะเป็นเรื่องเล่าที่บอกถึงความทุกข์ยาก บอกถึงความแตกร้าวที่ไล่เรียงตั้งแต่ระดับครอบครัวไปจนถึงประเทศชาติจะเป็นเรื่องที่ “ขม” ซึ่งวรรณกรรมควรจะเป็นพื้นที่ในการให้คนอ่านได้ผ่อนคลายจากอะไรก็ตามที่ได้พบเจอมาในแต่ละวัน แต่บางครั้ง การมีอยู่ของวรรณกรรมแนวซีเรียส เช่น รวมเรื่องสั้น “เกาะกระต่าย กับเรื่องสั้นอื่น” เล่มนี้ ไม่ใช่เพื่อผ่อนคลาย คุณอาจไม่จำเป็นต้องหยิบขึ้นมาอ่าน หากรู้สึกเหนื่อยหนักจากหน้าที่การงานในแต่ละวัน คุณอาจไม่จำเป็นต้องมองเห็นในทุก ๆ วันของชีวิต แต่ความทุกข์ยาก คนยากคนจน การเอารัดเอาเปรียบทางสังคม ที่ขยายตัวต่อเนื่องมาลอดหลายปี และไม่สามารถแยกออกระหว่างการเมืองนอกบ้านกับการเมืองภายในบ้านได้อีกต่อไป ถึงอย่างไร คุณก็จะต้องมองเห็นในสักวันหนึ่ง

            เมื่อวันนั้นมาถึง นั่นคือคำตอบของวรรณกรรมในแนวซีเรียส นั่นคือคำตอบของรวมเรื่องสั้น “เกาะกระต่าย กับเรื่องสั้นอื่น” ที่อรรถพงษ์ ศักดิ์สงวนมนูญได้ทิ้งไว้

            เป็นหน้าที่ของผู้คนในสังคมแวดวงวรรณกรรมที่ยังมีใจแก่สังคม มองเห็นคนเป็นคน มองเห็นเท่ากับคน ไม่ใช่สิ่งอื่นที่ด้อยกว่าสัตว์ ที่จะทำสิ่งนี้ให้ปรากฏ เพื่อยืนยันการมีอยู่ของความทุกข์ยากที่ไม่ได้หนีหายไปไหน ต่อให้คุณถอดแว่นตาเพื่อที่จะได้ไม่ต้องมองเห็น ต่อให้คุณเปลี่ยนสีแว่นตาเพื่อที่จะมองแต่สิ่งรื่นรมย์

พวกเราก็จะยังคงอยู่.

 

   

ใต้แว่นตาของคำลวง ๘ เรื่องสั้นบนเกาะกระต่าย
ใต้แว่นตาของคำลวง ๘ เรื่องสั้นบนเกาะกระต่าย

ใต้แว่นตาของคำลวง ๘ เรื่องสั้นบนเกาะกระต่าย
ใต้แว่นตาของคำลวง ๘ เรื่องสั้นบนเกาะกระต่าย

Visitors: 72,332