มีแต่ก้อนหินเท่านั้นแหละที่เป็นของจริง

มีแต่ก้อนหินเท่านั้นแหละที่เป็นของจริง...

 ชุติเดช เมธีชุติกุล

เกริ่นนำ: อนุสาวรีย์ของวิภาส ศรีทอง

            นวนิยายเรื่อง “อนุสาวรีย์” โดย วิภาส ศรีทอง[1] ได้บรรยายสภาพตัวตนของมนุษย์ที่มีความขัดแย้งและย้อนแย้งกันอย่างมาก ออกมาชำแหละและเปิดเผยให้ได้เห็น ทุก ๆ ความรู้สึกที่ไม่คงที่และไม่มั่นคงภายในจิตใตอันแสนเปราะบางผ่านตัวละครอย่างวรพลกับกมลหรือนายโย่งผู้มาใหม่ และนายผีคู่สนทนากับวรพล รวมถึงพิชญ์ เดชา ตัวตลก และสมาชิกเหล่าคอมมูนในสถานที่ที่ถูกเรียกว่า “คอมมูน” หรือ “สถาบัน” โดยวิภาส นำเสนอภาพของสภาพแวดล้อมภายในสถาบันที่ทุกตัวละครได้ใช้ชีวิตอยู่นี้ส่งผลต่อความรู้สึกนึกคิด ความคิด และการรับรู้ของพวกเขาอย่างไร จิตใจที่เคยมั่นคงแข็งแกร่ง ค่อย ๆ ถูกทำให้แหลกสลายไปที่ละนิดที่ละนิด จนทรุดฮวบลงเป็นเพียงปราสาททรายริมหาดเพียงแค่คลื่นมากระทบเล็กน้อยก็พังทลายลงในฉับพลันทันใด และในกรณีของนวนิยายเรื่อง “อนุสาวรีย์” สภาพแวดล้อมนั้นคือ “พื้นที่” (space) และ “สถานที่” (place) ในอาณาเขตของสถาบันที่ชาวคอมมูนได้ใช้ชีวิตอยู่ได้ทำให้จิตใจของพวกเขาเปลี่ยนไป แล้ววิภาสทำให้เราเห็นการเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร นี้สิ่งที่บทความชิ้นนี้จะคลี่ออกมาให้เห็น

 

“...สิ่งที่อุบัติขึ้นได้พลิกชะตากรรมส่วนบุคคลให้รวมศูนย์เป็นหนึ่งเดียว...

            นวนิยายเล่มนี้เล่าถึงชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนใน “คอมมูน” หรือ “สถาบัน” เป็นเสมือนสถานที่ส่งคนมาปรับทัศนคติบางอย่าง ซึ่งตัวนวนิยายไม่ได้บอกแน่ชัดทำไมคนหลาย ๆ คนถึงถูกส่งเข้ามาที่นี้ จะมีแค่กรณีกมลเท่านั้นที่ถูกพูดถึงเพราะไปวิจารณ์การทำงานของคณะผู้ปกครอง จึงถูกส่งตัวเข้ามา อีกทั้งดูเหมือนว่าสิ่งที่เรียกว่า “สถาบันพิเศษ” จากที่รองหัวหน้าฯ ได้กล่าวกับกมลว่า “นายต้องพยายามเข้าใจ ฝ่ายเราประกบตัวนายได้เสมอ มีสถาบันพิเศษอยู่ทุกที่” (น. 86) คือกลไกของฝ่ายปกครองที่คอยสอดส่องผู้เห็นต่างหรือวิจารณ์ฝ่ายปกครอง แล้วส่งคนเหล่านั้นมาปรับทัศนคติหรือจำขังไว้ที่ “สถาบัน” ในแง่นี้ “สถาบัน” ซึ่งเป็นที่อยู่ชาวคอมมูนทั้งหลายดูเหมือนว่าจะเป็นเสมือนคุก แต่ไม่ใช่ที่กักขังคนที่ทำผิดกฎหมายอย่างเดียว แต่ที่กักขังคนที่เห็นต่าง กับฝ่ายปกครอง กักขังความคิดที่เห็นต่างไม่ให้เผยแพร่ไปสู่ประชาชนคนอื่นที่อาจมาสั่นคลอนรากฐานของฝ่ายปกครองได้

            ในเกือบครึ่งแรกของนวนิยายชีวิตของผู้คนในคอมมูนดูจะเป็นปกติดี จนกระทั้งการมาถึงของโครงการสร้างอนุสาวรีย์ที่มีชื่อว่า “ดุษณีภาพ” (น.72) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในส่วนครึ่งเรื่องหลังที่จะนำไปสู่จุดสำคัญเรื่อง โดยการมาถึงของโครงการสร้างอนุสาวรีย์นี้ผู้คนในคอมมูนต่างรู้สึก “...สดใหม่และเปี่ยมด้วยคำมั่นสัญญา พวกเขารู้สุกเสมือนว่าสิ่งที่เก็บกักอยู่ภายในตัวได้ถูกปลดปล่อยให้เป็นอิสระ ต่างเปล่งเสียงออกมาด้วยใบหน้าที่เจิดจ้า...” (น.73) เพราะ “...สิ่งที่อุบัติขึ้นได้พลิกชะตากรรมส่วนบุคคลให้รวมศูนย์เป็นหนึ่งเดียว...” (น.75) เป็นชีวิตที่เปลี่ยนไปอย่างมาก “...ชีวิตดูพลิกเปลี่ยนไปจากเดิม สมาชิกที่มีส่วนร่วมล้วนเห็นภาพตัวเองเข้ารับบทบาทพิเศษและสำคัญ ยิ่งทุ่มกำลังลงไปยิ่งเสมือนได้บอกกล่าวไปถึงอำนาจที่กดพวกเขา พลังศรัทธาเติบโตขึ้นทีละน้อย ความเหนื่อยยากของพวกเขาเป็นไปเพื่อการแสดงออกถึงความหมายพิเศษ มีคุณค่ารางวัลในตัวของมันเอง” (น.90)

            กระนั้นดูเหมือนว่าโครงการสร้างอนุสาวรีย์ในช่วงเริ่มแรกนั้น ฝ่ายปกครองของ “สถาบัน” ดูจะไม่จริงจังกับเรื่องนี้สักเท่าไร แต่พอเห็นปฏิกิริยาชาวคอมมูน พวกเขาจึงเริ่มแสงหาวิธีการที่จะตอบสนองความต้องการ จน ณ จุดหนึ่งก็หาวิธีที่จะใช้ประโยชน์กับเหตุการณ์นี้ได้ “หลังการอนุมัติโครงการสร้างอนุสาวรีย์ ดูเผิน ๆ เหมือนเป็นการประนีประนอมของทางสถาบันพิเศษ หากในความเป็นจริง ฝ่ายบริหารกลับถือโอกาสนี้เพิ่มความเข้มงวดของกฎระเบียบในจุดอื่น กระชับอำนาจอย่างเงียบเชียบและเด็ดขาดปรับเงื่อนไขหลายประการ อาทิ ยกเลิกกิจกรรมช่วยพวกเขาผ่อนคลาย นั่นคือตลาดแบกะดินที่เคยจัดให้มีขึ้นอาทิตย์เว้นอาทิตย์...” (น.77-78) ในแง่นี้ดูเหมือนว่าฝ่ายปกครองได้ใช้อนุสาวรีย์ สำหรับการสร้างพื้นที่ หรือ การสร้างสถานที่บางอย่างขึ้นมา เพื่อให้ดูเหมือนว่าฝ่ายปกครองมีความใส่ใจต่อชาวคอมมูน แต่ที่ไหนได้กลับเป็นเครื่องมือที่แนบเนียนที่ฝ่ายปกครองนำมาใช้รวมศูนย์อำนาจให้กับตนเสียมากกว่า

            เมื่อเป็นเช่นนี้โครงการสร้างอนุสาวรีย์ดุษณีภาพจึงเริ่มขึ้น สถาบันได้ปรับกิจกรรมและงานต่าง ๆ ของคนในคอมมูนให้ไปช่วยกันสร้างอนุสาวรีย์ และก็สามารถสร้างอนุสาวรีย์แล้วเสร็จได้ตามที่หวัง ระหว่างที่ทำใกล้จะเสร็จและจะถึงวันเปิดอนุสาวรีย์ ตัวตลกได้เกิดนึกสนุกค่อย ๆ กระโดดจากที่ต่าง ๆ ขึ้นไปเหยียบย่ำอนุสาวรีย์ดุษณีภาพนี้ จนไปถึงยอดของอนุสาวรีย์ หลังจากนั้นตัวตลกก็ได้กล่าวคำหยามเหยียดต่ออนุสาวรีย์ว่า “เร็วเข้าสิโว้ย! อนุสาวรีย์มันถูกสร้างด้วยบาป มันสร้างมาจากความรู้สึกผิดบาปของพวกแกไม่ใช่หรือ ฮ่า ฮ่า ฮ่า ก้อนอิฐ ก้อนหิน แห่งคอนกรีตหนักอึ้ง นั่มมันกองบาปหนักหนาของพวกแกทั้งนั้น” (น. 123)

            ไม่นานหลังจากนั้นฝูงชนที่มามุ่งดูก็ทนเห็นพฤติกรรมของตัวตลกไม่ไหวต่างระดมปาก้อนหินมากมายใส่ตัวตลกที่อยู่บนยอดอนุสาวรีย์จนในท้ายที่สุด ตัวตลกก็ไม่ได้สามารถผยุงตัวเองเอาไว้ “...จนร่างนั้นกระตุกและผงะลอย ซวนเซพลัดตกลงมาแดงฉานบนพื้น” (น. 128) หลังจากนั้นฝ่ายปกครองของสถาบันจึงได้รีบมาดำเนินการจัดการเรื่องราวต่าง ๆ ให้แล้วเสร็จ เพื่อเคลียร์พื้นที่และสร้างอนุสาวรีย์ต่อให้เรียบร้อยเพื่อจัดเตรียมพิธีเปิดอนุสาวรีย์ที่ผู้อำนวยการสถาบันและเจ้าหน้าที่ระดับสูงนอกสถาบันจะมาร่วมงานด้วย จนแล้วเสร็จและในวันงานผู้อำนวยการสถาบันได้กล่าวสุนทรพจน์เปิดอนุสาวรีย์ แล้วจบด้วยการร้องเพลง “ดุษณีภาพ” ร่วมกับชาวคอมมูน “...ทุกคนยังแผดเสียง เสียงตะเบ็งของคนข้าง ๆ กลายเป็นเสียงร้องของเขา เสียงของเขาผันเป็นเสียงลั่นร้องของชายอีกตน ชั่ววูบทุกคนผสานเป็นเรือนร่างหนึ่งเดียว ความรู้สึกใหม่ ๆ คุกรุ่นในตัววรพล เขาได้ยืนยันตัวเองและสูญเสียตัวตนไปพร้อมกัน และสิ่งนี้ได้ปลดปล่อยตัวเขาไปในเวลาเดียวกัน” (น. 135-136)

            สำหรับเหตุการณ์ที่ตัวตลกถูกฝูงชนปาก้อนหินตกลงมาตายนั้น ดูเหมือนจะกลายเป็นตราบาปสำหรับพวกเขาอย่างมาก แต่กระนั้นชาวคอมมูนก็ไม่อยากยอมรับการกระทำที่พวกเขาได้ทำลงไป เพราะเปรียบเสมือนบาดแผลที่บาดลึกลงไปในความทรงจำของชาวคอมมูน ทุกครั้งที่นึกถึงความเจ็บปวดนี้ มันจะลุกคืบเข้ามากัดกินจิตใจของพวกเขาอยู่เสมอ ๆ ดังนั้นทางออกที่ดีที่สุดของพวกเขาจึงเปรียบเสมือน “การลืม” แต่มิอาจลืมเลือนไปได้ เพราะอย่างไรเสียพวกเขาก็ต้องได้เห็นอนุสาวรีย์นี้หลังสร้างเสร็จอยู่ทุก ๆ วัน พวกเขาจึงปรับความทรงจำนี้เสียใหม่ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นอุบัติเหตุอันน่าสลด ตามที่วรพลได้กล่าวไว้

“...แต่ก็หนีไม่พ้นถูกกดดันด้วยภาพเลวร้ายของเหตุการณ์ที่ผ่านพ้น ความรุนแรงอันน่าสะพรึงที่ระเบิดออกมา ไม่มีใครปริปากเอ่ยถึง ด้วยความเข้าใจกันและกันโดยนัยว่าจะไม่เปล่งสุ้มเสียงเพื่อปลุกให้มันฟุ้งขึ้นมา ไม่มีใครประสงค์เฉียดกรายไปใกล้ความทรงจำอันน่าอดสูดังกล่าว ต่างสำเหนียกว่ามันคืออุบัติเหตุอันชวนสลดสังเวชซึ่งไม่มีผู้ใดอยากให้มันเกิด และการที่ฝ่ายปกครองไม่มีดำริที่จะสอบสวนเรื่องที่เกิดขึ้นได้หล่อเลี้ยงความเชื่อนั้น มันเป็นสิ่งยืนยันจากภายนอกที่ช่วยให้พวกเขาบรรเทาความรู้สึกผิดบาป...” (น. 130)

 

“...ผนังซีดอันว่างเปล่าคอยดูดซับสิ่งที่มันล้อมปิด...: พื้นที่ในสถาบันของชาวคอมมูน

            เมื่อกล่าวถึงพื้นที่ในทางสถาปัตยกรรมนั้น[2] พื้นที่ไม่ได้มีความหมายในเชิงความว่างเปล่าเท่านั้น แต่ยังรวมถึง การกำจัดขอบเขต และการมีตำแหน่งที่ที่แน่นอน นั่นคือสถาปัตยกรรมในฐานะผู้สร้างพื้นที่ให้กับผู้คนสำหรับการกระทำต่าง ๆ การดำเนินชีวิต การจัดพิธีกรรม การมีพื้นที่สำหรับพักอาศัย เป็นต้น  นอกจากนี้พื้นที่ยังส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนอารมณ์ การรับรู้ การสร้างความสัมพันธ์ แบ่งแยกกิจกรรมต่าง ๆ และเชื้อเชิญให้เกิดพฤติกรรมต่าง ๆ อีกทั้งพื้นที่ยังช่วยกระตุ้น คุ้มครอง และกำหนดความแตกต่าง เพื่อเผยให้เห็นหรือเอื้อให้สามารถแสดงออกถึงตัวตนของเราได้ นอกจากนี้พื้นที่ยังอาจมีฐานะเป็นสิ่งประดิษฐ์ทางวัฒนธรรมที่บรรจุความหมาย (coded space) ต่าง ๆ เอาไว้ ซึ่งการจัดการพื้นที่เหล่านี้จะสะท้อนให้ถึงวิธีคิดในการจัดการพื้นที่นั้น ๆ

            ประเด็นนี้สอดรับไปกับความรู้สึกของกมลในฉากหนึ่งของนวนิยายที่บรรยายความรู้สึกของกมลไว้ว่า …มันผสมเป็นความรู้สึกแห่งความกลัวและความสงสารตัวเอง สิ่งที่ประสบพบเห็นวันละเล็กวันละน้อยนับตั้งแต่ถูกส่งมาที่นี้ มันกำลังสานต่อกันเป็นภาพใหญ่ดูน่าพรั่นพรึงขึ้นทุกที เขาเหลียวหันมองรอบตัว ผนังซีดอันว่างเปล่าคอยดูดซับสิ่งที่มันล้อมปิด มันดูดกลืนความหวัง ความกลัว และความเบื่อหน่าย ฉาบสิ่งเหล่านี้ลงบนผิวผนังทุกด้าน เขาเปล่งเสียงครางเบา ๆ เหมือนคนเจ็บซึ่งกระตุ้นความสงสารตัวเองยิ่งไปกว่าเดิม” (น. 116-117) พื้นที่นั้นเต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกที่ถูกแฝงฝังเอาไว้ การจ้องมองหรืออยู่ในพื้นที่หนึ่งนาน ๆ ส่งผลต่อจิตใจของคน ๆ นั้นอย่างมาก จนบางทีรู้สึกสับสนมึนงงต่อความคิดและความรู้สึกนึกคิดของตน ตามที่ชาวคอมมูนเริ่มเกิดความรู้สึกย้อนแย้งกับตัวมากขึ้น ๆ เมื่ออนุสาวรีย์เริ่มใกล้จะสร้างเสร็จ ซึ่งวรพลจับความรู้สึกพวกนั้นได้

            “...ที่สำคัญมีความจริงอันหนึ่งที่ค่อยถ่วงใจพวกเขาอยู่ นั่นคือหลังจากงานสร้างเสร็จเรียบร้อย เวทีนี้ย่อมปิดฉากลง สมาชิกคอมมูนต้องกลับไปเผชิญชีวิตประจำวันอันจำเจว่างเปล่าเช่นเดิม ข้อเท็จจริงนี้เริ่มย้อนมาหลอกหลอนพวกเขาไม่เว้นวาย ขณะงานคืบหน้าไปอย่างต่อเนื่อง ชาวคอมมูนบังเกิดความปรารถนาขึ้นมาฉับพลัน อยากเห็นมันพังทลายป่นปี้ไปต่อหน้า เพื่อจะได้กลับไปยังจุดเริ่มต้น พวกเขาจึงวาดภาพรอยร้าวที่กร่อนเซาะตัวฐาน จินตนาการเห็นภาพโครงสร้างที่ทรุดฮวบลง ความเป็นไปได้ที่จำเป็นต้องรื้องานก่อสร้างใหม่หมด ความคิดเยี่ยงนี้แวบเข้ามาในใจของสมาชิกคอมมูนอยู่เป็นครั้งคราว” (น. 119)

            นอกจากนี้ในอีกทางหนึ่งพื้นที่มีผลต่อการเชื่อมโยงตัวตนและโลก มีผลต่อกระบวนการดำรงอยู่ของปัจเจกบุคคล โดยที่ตัวพื้นที่กำลังแสดงตัว (play) เปิดเผยตัวเอง (disclosure) และสร้างบทสนทนา (dialogue) กับผู้คนผ่านการใช้พื้นที่ การอยู่อาศัย นอกจากนี้พื้นที่ยังเป็นตัวประสานเชื่อมต่อความทรงจำบางอย่างที่ได้เชื่อมตัวเขาเข้ากับประวัติศาสตร์ที่ดำรงอยู่ผ่านพื้นที่ต่าง ๆ อีกทั้งยังทำให้ผู้ที่มาสัมผัสมาเห็นเชื่อมตัวตนของเรากับตัวตนในอดีต พื้นที่ในเชิงกายภาพนั้น สามารถเปิดโอกาสให้เกิดการเชื่อมต่อระหว่างปัจเจกและโลก ช่วยปลุกเร้าประสบการณ์ และเอื้อให้เกิดการรับรู้บริบทของสถานที่นั้นโดยผ่านความทรงจำ มิติทางกายภาพนั้นถูกเปลี่ยนผ่านมาเป็นมิติทางนามธรรมส่งผลให้เกิดการเคลื่อนไหวทางความรู้สึก ความรู้สึกดังกล่าวเป็นผลมาจากการตระหนักรู้ถึงตัวตนของปัจเจกที่ดึงเอาประสบการณ์และความทรงจำเดิม เพื่อใช้ในการพิจารณาและเข้าไปมีส่วนร่วมกับประสบการณ์ใหม่ภายในพื้นที่นั้น เป็นการทำความเข้าใจความเป็นไปได้ของการดำรงอยู่ ณ ปัจจุบันให้มาเป็นส่วนหนึ่งของความเข้าใจที่มีมาก่อนในอดีต

            ในแง่นี้พื้นที่จึงส่งผลต่อการถักทอสายใยความสัมพันธ์ทางสังคม และพฤติกรรมบางอย่างของบุคคล พื้นที่จึงมีศักยภาพพอที่จะกลายได้เป็นเครื่องมือของรัฐในฐานะภาคปฏิบัติการของวาทกรรมความมั่นคงของรัฐ เพราะการดำรงอยู่ของพื้นที่บางพื้นที่ เช่น อนุสาวรีย์ในฐานะวัตถุแห่งความทรงจำทางประวัติศาสตร์ของผู้คน ขนาด ลวดลาย การถูกให้ค่าให้ความหมายโดยรัฐ หรือตำแหน่งแห่งที่ที่สิ่งนี้ดำรงอยู่ สิ่งเหล่านี้เอื้อให้พื้นที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงของรัฐอย่างมาก ระบอบการปกครองส่วนใหญ่ โดยเฉพาะระบอบที่เกิดขึ้นใหม่ ต้องการสร้างความผูกพันทางกายภาพและอารมณ์ให้เกิดขึ้นกับสถานที่ที่ตนปกครอง วิธีที่ได้ผลวิธีหนึ่งก็คือ การสร้างตึก อาคาร และอนุสาวรีย์ สถาปัตยกรรมเป็นรูปแบบทางศิลปะแขนงเดียวที่สามารถแสดงออกไม่เพียงแก่โลก แต่กับคนที่อาศัยอยู่ในที่นั้นด้วย มันสามารถบังคับผู้คนให้เคลื่อนไหวไปในทางที่กำหนดไว้  ให้มองบางสิ่งโดยเฉพาะ ให้ปฏิบัติหรือดำเนินชีวิตในแนวทางหนึ่งได้ พื้นที่มีผลไม่เพียงสภาพแวดล้อมทางกายภาพเท่านั้น แต่กับสภาพแวดล้อมทางจิตใจด้วย การสร้างความรู้สึกนึกคิดใหม่ให้กับประชาชน รวมทั้งแนวคิดเกี่ยวกับรัฐหรืออาณาจักรใหม่

            ซึ่งดูเหมือนว่าในนวนิยายเรื่องอนุสาวรีย์นี้ ฝ่ายปกครองของสถาบันก็รู้เรื่องการใช้พื้นที่ดี “แต่พลังที่สั่งสมขึ้นมานี้ก็ยังปราศจากเป้าหมาย พวกเขาไม่อาจระดมความคิดจนสำเหนียกได้ว่าอะไรคือสิ่งที่ควรค่าแก่การต่อสู้เพื่อให้ได้มา ขณะที่ฝ่ายปกครองวางสายตาแน่วแน่จับทุกความเคลื่อนไหว ไม่ปล่อยให้เกิดเอกภาพทางความคิดเป็นหนึ่งเดียว...” (น.90) นอกจากนี้ตามที่นายผีได้วิเคราะห์ถึงปรากฎการณ์เรื่องความตื่นตัวของชาวคอมมูนเกี่ยวกับการสร้างอนุสาวรีย์ให้กับวรพลไว้อย่างน่าสนใจ และนั้นก็เชื่อมโยงกับการที่สถาบันใช้พื้นที่ไม่ใช่เพียงแค่ตัวอนุสาวรีย์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงพื้นที่ของตัวสถาบันเองที่เหล่าชาวคอมมูนได้อยู่อาศัยก็เป็นเครื่องมืออีกทางหนึ่งในการควบคุมชาวคอมมูนของสถาบัน

            “ข้อหนึ่ง พวกเราขาดจุดเปรียบเทียบ การถูกจำกัดการรับรู้ ทำให้เราไม่เห็นอะไรที่ไกลไปกว่าขอบกำแพง หรืออย่างดีก็แค่ขอบฟ้าภายในอาณาเขตของสถาบันฯ

            “ข้อถัดมาอันเป็นผลสืบเนื่องจากข้อแรก นั่นคือ พอขาดจุดเปรียบเทียบทุกคนก็เลยเห็นมันเป็นสิ่งสำคัญ เห็นแง่มุมที่น่าเลื่อมใสและเปี่ยมความหมาย ชูมันขึ้นมาจากความไม่มีอะไร” (น. 104)

           

“...ไม่มีอะไรจริงเลยสักกระเบียด...: ทิ้งท้ายจากรองหัวหน้าฯ

            ทั้งหมดนี้จะเห็นแล้วว่า “อนุสาวรีย์” ของวิภาส ศรีทอง เป็นนวนิยายที่ช่วยทำให้เห็นว่าพื้นที่และสถานที่นั้นสำคัญ (“space/place matters”) แต่หลายคนกลับละเลยไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้นัก ทั้ง ๆ ที่พื้นที่และสถานที่นั้นมีศักยภาพอย่างมากที่จะส่งผลกระทบต่อมนุษย์ไปถึงระดับก้นบึ้งของหัวใจก็ว่าได้ แต่เพราะคนส่วนใหญ่มักเข้าใจความสัมพันธ์ของปลาตัวเล็กและปลาตัวใหญ่ ในแบบที่รองหัวหน้าฯ ของสถาบันที่พูดถึงเรื่องนี้กับวรพล

            “พวกมันชอบกินกันเอง ปลาตัวใหญ่กินปลาตัวเล็ก ตัวเล็กก็กินตัวที่เล็กกว่า ไม่ต่างจากคนเราเลย... แต่มันเป็นกฎธรรมชาติ ทำอะไรไม่ได้ก็ต้องดิ้นรนเพื่อชีวิตมันเอง เหมือนคนเรา แกถูกกินได้ทุกเมื่อถ้าไม่ระวัง... ปลาพวกนี้มันอยู่มานาน โดยคิดว่ามันมีอิสระเต็มที่และเห็นอะไรทุกอย่าง ทั้งที่ต้นไม้ สาหร่ายในตู้ ทำจากพลาสกิก ปะการังก็เทียม ไม่มีอะไรจริงเลยสักกระเบียด มีแต่ก้อนหินเท่านั้นแหละที่เป็นของจริง…” (น. 44-45)

 

-------------------------------------------------

[1] วิภาส ศรีทอง. (2561). อนุสาวรีย์ (The Monument). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สมมติ.

[2] ประเด็นเรื่องพื้นที่ในทางสถาปัตยกรรมผู้เขียนสรุปความมาจาก ต้นข้าว ปาณินท์. (2552). คนและความคิดทางสถาปัตยกรรม. กรุงเทพฯ: สมมติ; สันต์ สุวัจฉราภินันท์ (2555). ย้อนสำรวจ “ปรากฏการณ์ศาสตร์ในสถาปัตยกรรม” ทบทวนความเข้าใจในประเด็น “รากเหง้า-อัตลักษณ์” และ “หน่วยวิจัย” เชิงปรากฏการณ์. หน้าจั่ว ว่าด้วยประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม และสถาปัตยกรรมไทย, 9, 265 – 282; สันต์ สุวัจฉราภินันท์. (2554). จากญาณวิทยาสู่กระบวนการวิจัย: ศึกษาปรากฏการณ์วิทยาในสถาปัตยกรรม. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.); อภิญญา เฟื่องฟูสกุล (2543). “พื้นที่” ในทฤษฎีสังคมศาสตร์”. วารสารสังคมศาสตร์  คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 12(2), 65-111.

Visitors: 72,284