ไข่ย้อย ดากานดา

ภาคภูมิ จอมแก้ว 

วิจารณ์บทที่ 1 : อารัมภบทด้วยความคิดถึง (ในฐานะนักอ่าน)

“แกมาทำอะไรในตอนนี้”

ประโยคคำถามคลาสสิกใต้ต้นชงโคสีม่วงหน้าตึกวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่กลายมาเป็นจุดจบของความรักที่แสนเศร้าของเพื่อนคนหนึ่งมีต่อหญิงสาวเพื่อนสนิทอันเป็นที่รัก ในภาพยนตร์เรื่อง “เพื่อนสนิท” ซึ่งได้รับความนิยมอย่างถล่มทลายในปี 2548 รวมไปถึงบทเพลง “โปรดเถิดดวงใจ” หนึ่งในเพลงประกอบภาพยนตร์ที่ยังคงตราตรึงอยู่ในใจและความทรงจำของคนดูในวัย 35-50 ปี ณ ปัจจุบัน จนในที่สุด การเดินทางของไข่ย้อย ดากานดา ก็ได้หวนกลับมาสร้างความทรงจำอีกครั้งในนิยายที่มีชื่อเรื่องเดียวกันกับตัวเอกทั้งสองคน ซึ่งออกตีพิมพ์ในเดือนมีนาคม ปี 2560 กระตุ้นให้ผู้อ่านอย่างเราๆ ได้กระหายใคร่รู้ถึงความเป็นไปหลังจากนั้นของคนทั้งสองว่าจะออกมาเป็นเช่นใด  

หนังสือนิยาย “ไข่ย้อย ดากานดา” เป็นภาคต่อของนิยาย “กล่องไปรษณีย์สีแดง” ของอภิชาติ เพชรลีลา ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2543 โดยผู้เขียนได้รวบเวลาของนิยายทั้งสองเรื่องมาเป็นห้วงเวลา ณ ปัจจุบัน โดยเพิ่มเสน่ห์ให้กับนิยายเรื่องนี้ให้มีอรรถรสมากขึ้น ด้วยการเพิ่มตัวละครเดียวกับที่เคยสร้างในภาพยนตร์เข้ามาด้วย ทำให้ผู้อ่านสามารถเชื่อมโยงเนื้อเรื่องเข้าด้วยกันได้อย่างกลมกลืน ซึ่งต้องยกความดีความชอบให้กับผู้เขียน ที่เข้าใจคนที่เคยดูภาพยนตร์และยังพอที่จะจดจำตัวละครได้ และเป็นการขยายฐานผู้อ่านให้กับนิยายที่เป็นภาคต่อเล่มนี้ได้อย่างมีชั้นเชิง

ในนิยายภาคต่อเล่มนี้ ได้บอกเล่าการเดินทางของคนทั้งสองในอีก 9 ปีต่อมา หลังจากที่ดากานดาได้เอ่ยประโยคคำถามที่เป็นเสมือนประโยคคำตอบในความรู้สึกที่ไม่สามารถไปต่อในความสัมพันธ์ของเขาและเธอ ณ เวลานั้น ทำให้ความรู้สึกของคนทั้งสองเหมือนตกอยู่ในเขาวงกตที่ไม่สามารถหาทางออกให้กับตัวเองได้ ถึงแม้หญิงสาวที่ดูเหมือนจะเข้มแข็งกว่าและพร้อมเดินหน้าในการใช้ชีวิตตามความฝันของตัวเองได้มากกว่าชายหนุ่ม ในการไปเรียนต่อทางด้านศิลปะที่ต่างประเทศ จนได้พบรักกับหนุ่มคนใหม่ที่มีดีกรีเพียบพร้อมไปด้วยความรู้ความสามารถและความจริงใจที่มีต่อเธอ จนน่าจะเป็นการเริ่มต้นความรักครั้งใหม่และมีชีวิตที่สวยงาม หากแต่เธอก็ยังคงเลือกที่จะเก็บเอาความรู้สึกที่มีต่อชายที่เคยเป็นดั่งเพื่อนสนิทสมัยเรียนไว้ในส่วนที่ลึกที่สุดของหัวใจ หลังจากที่ได้อ่านสมุดบันทึกและสมุดสเก็ตช์ภาพ ที่ส่งให้เธอทางไปรษณีย์ ที่เขียนความในใจทุกอย่างถึงหญิงสาวที่ตัวเองรักอย่างหมดหัวใจ

ในขณะที่ไข่ย้อย ชายหนุ่มที่ถูกตีตราไว้ในสถานะเพื่อนสนิท กลับดำดิ่งและจมอยู่กับความหลังมากยิ่งกว่า ราวกับนาฬิกาที่เดินอยู่กับที่ไม่เคยไปไหน ถึงแม้จะได้สัมผัสความรู้สึกดีๆ ที่นุ้ย นางพยาบาลสาวที่ตัวเองได้พบเจอโดยบังเอิญจากอุบัติเหตุที่เกาะพะงัน จนเกิดเป็นความรู้สึกดีๆ และความผูกพันที่มีต่อกัน แต่ก็มิอาจ จะพัฒนาไปได้มากกว่านั้น ซ้ำร้าย ยังทำให้เธอจมดิ่งลงไปในหลุมดำของความรู้สึกที่ดูจะรุนแรงยิ่งกว่า โดยที่ชายหนุ่มไม่รู้ตัวว่าได้ทำร้ายความรู้สึกของใครคนนึงไปเสียแล้ว สิ่งที่ยืนยันการกระทำได้อย่างดี คือการทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างที่เมืองไทยหลังการเสียชีวิตของแม่ และตัดสินใจไปใช้ชีวิตเอาดาบหน้าที่ต่างประเทศ ซึ่งเป็นสถานที่เดียวกับที่ดากานดา หญิงสาวที่เคยเป็นที่รักและยังคงเป็นอยู่เฉกเช่นนั้น เพื่อหวังจะได้พบเจอเธออีกครั้ง โดยหารู้ไม่ว่าเรื่องราวหลังจากนั้น จะนำมาสู่เหตุการณ์ต่างๆ มากมายที่เป็นจุดพลิกผันและนำมาสู่บทสรุปของความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น       

 

วิจารณ์บทที่ 2 : มุมมองที่มีต่อการดำเนินเรื่องของผู้เขียน

ผู้เขียนเลือกที่จะบอกเล่าเนื้อเรื่องในหนังสือนิยาย “ไข่ย้อย ดากานดา” ในมุมมองบุคคลที่หนึ่ง ผ่านการบอกเล่าของตัวละครแต่ละคน โดยแยกออกเป็นตอน ทำให้ผู้อ่านสามารถทำความเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของแต่ละคน ผ่านเหตุการณ์ต่างๆ ได้อย่างไหลลื่นและชวนติดตาม

จุดที่ผู้อ่านรู้สึกชื่นชมในตัวผู้เขียนคือการใส่รายละเอียดที่บ่งบอกว่าผู้เขียนมีความรู้และทำการบ้านมาอย่างดี ในการอธิบายถึงองค์ประกอบในการเดินเรื่องของตัวละคร ตัวอย่างเช่น  การเดินทางไปเรียนต่อและใช้ชีวิตที่ต่างประเทศของไข่ย้อยและดากานดาเกี่ยวกับเรื่องของศิลปะที่เมืองปราก สาธารณรัฐเช็ก    ซึ่งผู้เขียนสามารถอธิบายรายละเอียดของงานศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นภาพวาดต่างๆ ตลอดจนถึงศิลปินที่มีชื่อเสียงทางด้านงานศิลปะระดับโลก จนทำให้ผู้อ่านรู้สึกเชื่อในสิ่งที่กำลังอ่าน

ต่อมาคือสไตล์การเขียนในเชิงพรรณนาเปรียบเทียบที่มีความลื่นไหล ทำให้ไม่รู้สึกขัดเขิน อาทิ ประโยคที่เขียนว่า “การติดอยู่ในเนเวอร์แลนด์ ดินแดนซึ่งเวลาไม่เคยเดินหน้าไม่เคยถอยหลัง นาฬิกาไม่ได้ตาย แต่เข็มวันเวลากระดิกซ้ำๆ หยุดอยู่กับห้วงวัยเยาว์” เป็นต้น นั่นทำให้ผู้อ่านเข้าใจและตีความถึงความรู้สึกของตัวละครได้อย่างชัดเจน เป็นเสมือนลายเซ็นต์ของตัวผู้เขียนที่มีสไตล์ในการเขียนที่ใส่ความรู้สึกลงไปได้อย่างกลมกล่อม   

อีกหนึ่งจุดเด่นของนิยายเล่มนี้ คือการเก็บรายละเอียดของตัวละครต่างๆ จากทั้งในหนังสือนิยายภาคแรกและในภาพยนตร์มาได้ค่อนข้างครบ ทุกตัวละครที่มีความสำคัญและบทบาทในภาคแรก ได้รับการบอกเล่าในนิยายภาคต่อ ทำให้เรายังสามารถหวนระลึกถึงความเป็นมา และเชื่อมโยงกับตัวละครหยักอย่างไข่ย้อยและดากานดาได้อย่างลงตัว ไม่เว้นแม้แต่ตัวละครใหม่ที่ใส่เข้ามาและมีอิทธิพลกับตัวเรื่อง ก็สามารถเชื่อมโยงกับตัวละครที่มีดั้งเดิมได้อย่างที่ผู้อ่านไม่รู้สึกเคอะเขิน

ในขณะเดียวกัน ก็มีบางประเด็นที่ผู้อ่านรู้สึกได้ว่า นี่อาจเป็นทั้งข้อดีและข้อเสียในตัวเอง นั่นคือการใส่คำพูดภาษาเหนือลงไปในบทสนทนา ซึ่งโดยส่วนตัวแล้ว ผู้อ่านไม่รู้สึกขัดเขินมากเท่าใดนัก นั่นเพราะเป็นเสน่ห์ของตัวละครที่ใช้ชีวิตอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นหลัก ทำให้รู้สึกและสัมผัสได้ถึงกลิ่นอายของความเป็นคนเหนือ ที่มีความเนิบช้าแต่ละมุน ทั้งในเรื่องของความคิดและการกระทำ แต่นั่นก็อาจทำให้ คนที่ไม่ได้อินกับเสน่ห์และเข้าถึงบรรยากาศของความเป็นชาวเหนือ อาจต้องใช้เวลาในการอ่านบางบรรทัดบางประโยคด้วยความไม่แน่ใจ ว่าตัวละครกำลังพูดหรือต้องการสื่อไปถึงเรื่องอะไร อาจเพราะด้วยไม่เข้าใจความหมายของภาษาเหนือ จนทำให้ต้องใช้เวลาในการตีความตามตัวอักษรอยู่บ้าง แต่ก็หาใช่จุดด้อยของหนังสือนิยายเรื่องนี้จนไปกลบจุดเด่นของการดำเนินเรื่องแต่อย่างใด


วิจารณ์บทที่ 3
: วิพากษ์ตัวละคร

ในนิยายภาคต่อเล่มนี้ ดำเนินเรื่องหลักผ่าน 3 ตัวละครที่มีความสำคัญต่อเรื่องที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นดากานดา ที่ดูเหมือนว่า ชีวิตน่าจะเดินหน้าและเริ่มต้นความรักครั้งใหม่ได้แล้วเสียที หากแต่ความรู้สึกส่วนลึกภายในใจ กลับหล่นหายไปในห้วงกาลเวลาแห่งอดีตที่มีใครอีกคนอยู่ในนั้น กลายเป็นว่า การอยู่กับปัจจุบันเป็นความสุขที่ไม่อาจเติมเต็มหัวใจได้เสียที แต่อย่างน้อย ตัวเธอเองก็ยังดูที่จะมีความพยายามมากกว่า จากการบอกไข่ย้อยว่า เราต่างมีเส้นทางชีวิตเป็นของตัวเองและขอให้ลืมเธอเสีย ซึ่งนั่นดูเหมือนจะเป็นทางออกที่น่าจะดีที่สุดสำหรับคนสองคน ทั้งที่รู้อยู่แก่ใจว่าตนเองยังไม่เคยลืมผู้ชายคนนี้ลงได้

กลับกัน คนที่ติดอยู่ในอดีตยาวนานที่สุดจนไม่อาจที่จะถอนตัว กลายเป็นตัวของไข่ย้อยที่ยังคงลืมรักครั้งแรกไม่ได้ และเลือกที่จะใช้ความรู้สึกในการทำตามหัวใจตัวเอง แต่เมื่อได้ตัดสินใจทำลงไปแล้ว ด้วยการออกเดินทางไปใช้ชีวิตที่เมืองปรากเพื่อหวังจะได้พบเจอเธออีกครั้ง แต่กลับกลายเป็นว่า ตัวเองเลือกที่จะปล่อยให้เวลาผ่านไปเนิ่นนานและให้โชคชะตาฟ้าลิขิต นำพาให้คนทั้งสองได้มาเจอกันห่างๆ ด้วยความบังเอิญแทน นั่นทำให้ผู้อ่านอย่างเราๆ เกิดความสงสัยว่า แท้ที่จริงแล้ว การใช้ความรู้สึกของตัวเองในการทำตามหัวใจล้วนๆ เป็นสิ่งที่ถูกต้องจริงๆ หรือเปล่า เพราะสิ่งที่ไข่ย้อยทำลงไป ไม่ว่าจะเป็นการเดินออกไปจากคนทีเคยมีความผูกพันและมีช่วงเวลาดีๆ ในความทรงจำอย่างนุ้ย พยาบาลสาวที่ได้พบกันโดยบังเอิญจากอุบัติเหตุที่เกาะพะงันจนเกิดเป็นความผูกพันไปโดยไม่บอกกล่าวถึงเหตุผล และไม่รู้ตัวว่าตนเองได้ทำร้ายจิตใจของนุ้ยมากเพียงใด จนส่งผลให้เธอเกิดอาการทางร่างกายและจิตใจ ไปจนถึงการเลือกที่จะทำสิ่งที่ไม่ควรทำในการเข้าไปหาดากานดาจากการไปเที่ยวด้วยกันในทริปเมืองปายด้วยความคิดเพียงว่า อยากพิสูจน์ความรู้สึกที่ดากานดามีต่อตัวเองเท่านั้น แต่กลับกลายเป็นเกิดเรื่องราวมากมายตามมาหลังจากนั้น

กลายเป็นว่าทั้งตัวของดากานดา ไข่ย้อย และนุ้ย ล้วนติดอยู่ในเนเวอร์แลนด์ ดินแดนที่ไม่มีทั้งปัจจุบันและอนาคต หากแต่มีเพียงอดีตที่ไม่อาจเดินต่อไปข้างหน้า จนกว่าจะมีใครสักคน เลือกที่จะปลดปล่อยพันธนาการของความรู้สึกนั้นออกมา เพื่อยอมรับในความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ซึ่งในชีวิตจริงของคนอย่างเราๆ คงมีอีกหลายความสัมพันธ์ที่เป็นเฉกเช่นในนิยายเล่มนี้ แต่คงมีไม่บ่อยนักที่ผลลัพธ์สุดท้าย ณ ปลายทาง จะมีบทสรุปและตอนจบที่งดงามเสมอไป  

ส่วนคนที่ผู้อ่านรู้สึกเห็นใจและเข้าใจมากที่สุดในเรื่องนี้คือต้องชนะ ชายหนุ่มซึ่งเป็นศิลปินรับเชิญและเป็นวิทยากรพิเศษที่มาบรรยายที่เมืองปราก และได้พบกับดากานดาจนเกิดเป็นความรักที่มีให้เธออย่างเต็มหัวใจจนถึงขั้นขอเธอแต่งงาน หลังจากชีวิตครอบครัวก่อนหน้านี้กับลุยซี่ สาวชาวตะวันตกและเป็นนักกฏหมายไฟแรงที่กำลังเจริญก้าวหน้าด้านอาชีพการงาน แต่ไม่สู้จะประสบความสำเร็จเท่าใดนักในเรื่องของครอบครัวจนถึงขั้นอยู่ในระหว่างการเจรจาที่จะยุติความสัมพันธ์ทางกฏหมาย แต่อย่างน้อย ทั้งคู่ก็มีลูกสาวด้วยกันหนึ่งคน คือไอลิ ซึ่งกลายมาเป็นตัวละครที่มีบทบาทอย่างมากในการดำเนินเรื่องจนถึงจุดไคลแม็กซ์ในช่วงท้าย สิ่งที่ทำให้ตัวละครอย่างต้องชนะได้รับความสงสารและน่าเห็นใจมากที่สุดในสายตาของผู้อ่าน คือการยอมรับความเป็นจริงว่าตัวเองไม่อาจครอบครองหัวใจหญิงสาวที่เป็นรักครั้งใหม่ได้ และเลือกที่จะดูแลหัวใจอีกหนึ่งดวงที่ตัวเองรักเช่นกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม ในฐานะคนหนึ่งผู้ชายที่มีความรับผิดชอบต่อความรู้สึกของตัวเอง และทำให้รู้สึกได้ว่า ผู้ชายคนนี้เป็นคนที่รักใครสักคนด้วยความรักอย่างแท้จริง และพร้อมที่จะมองความรักด้วยความเข้าใจ แม้ว่าในท้ายที่สุด ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจะออกมาในรูปแบบใดก็ตาม ทำให้โลกใบนี้ยังคงความสวยงามที่เกิดขึ้นจากความรักอย่างไม่มีเงื่อนไข

ในขณะที่ส่วนอื่นๆ ของนิยาย ยังได้บอกเล่าความเป็นไปของตัวละครอื่นๆ ที่มีความเกี่ยวพันกับตัวละครหลักทั้งสามได้อย่างครบถ้วนและลงตัวในระดับที่ไม่มากไป และไม่น้อยไป  ซึ่งต้องยกความดีความชอบให้กับผู้เขียนที่ถ่ายทอดรายละเอียดออกมาได้อย่างลงตัว


วิจารณ์บทที่ 4 : บทสรุป

บทสรุปของนิยายภาคต่อ “ไข่ย้อย ดานกานดา” เล่มนี้ เรียกได้ว่าเป็นการเติมเต็มและตอบคำถามที่ค้างคาใจใครหลายคน ที่ติดค้างอยู่ในใจถึงบทสรุปเรื่องราวระหว่างเขาและเธอ ซึ่งผู้อ่านขออนุญาตที่จะไม่เปิดเผยตอนจบของนิยาย เพื่อให้คนที่ยังรอการติดตามหรือยังไม่ได้สัมผัสนิยายเล่มนี้ ได้หยิบจับขึ้นมาอ่านสักครั้ง ในขณะเดียวกัน สำหรับใครที่ยังไม่เคยอ่านหรือสัมผัสนิยายของอภิชาติ เพชรลีลา ก็อยากเชิญชวนให้ลองอ่านสักครั้ง โดยแนะนำจากการอ่านนิยายเล่มแรก “กล่องไปรษณีย์สีแดง” หรือจะเริ่มต้นด้วยการไปหาภาพยนตร์เรื่อง “เพื่อนสนิท” มารับชม ก็ถือเป็นการปูพื้นเรื่องราว ก่อนที่จะได้อ่านนิยายเล่มนี้ได้เป็นอย่างดี

ถึงกระนั้น ผู้อ่านก็ยังแอบหวังอยู่ในใจว่า นิยายที่เป็นภาคต่อเล่มนี้จะได้ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ภาคต่อที่เป็นเสมือนหนึ่งในความทรงจำของใครหลายคนในอดีตที่ยังคงติดอยู่ในเนเวอร์แลนด์ ดินแดนที่เวลาไม่เคยเดินหรือหรือถอยหลัง

จะได้ไม่ต้องพูดขึ้นมาว่า “แกมาทำอะไรในตอนนี้”

 

Visitors: 72,053