วิทยาศาสตร์หรือนาคบันดาล ใน “พนมนาคา”

ลักขณา ชาปู่

 

            “พงศกร” เป็นนามปากกาของ นายแพทย์พงศกร จินดาวัฒนะ นักเขียนที่มีผลงานเผยแพร่สู่สาธารณะมาอย่างต่อเนื่อง ดูเหมือนว่าอาชีพประจำกับงานเขียนประเภทนวนิยายจะมีความตรงข้ามกัน แต่ “พงศกร” สามารถผสานระหว่างโลกแห่งวิทยาศาสตร์และจินตนาการเข้ากันได้อย่างลงตัว และกลมกล่อมด้วยข้อมูลด้านประวัติศาสตร์ ตำนาน ความเชื่อ ผ่านวรรณกรรมหลายเรื่อง นวนิยายที่ตีพิมพ์เล่มเกือบล่าสุดเป็นผลงานที่สะท้อนถึงความลงตัวดังกล่าว คือ “พนมนาคา” ที่นำวิทยาศาสตร์ทางด้านการแพทย์มาร้อยเรียงร่วมกับความศรัทธาต่อพญานาคได้อย่างน่าสนใจ

             “พนมนาคา” เป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ระหว่างชายแดนไทยกัมพูชาชื่อของหมู่บ้านมีที่มาจากชื่อภูเขา พนมนาคา เป็นภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้วบนยอดเขามีปราสาทเรียกว่านาคเทวาลัย และมีนาคทวาราคือปากทางเข้าออกของเมืองใต้บาดาล  หมู่บ้านแห่งนี้มีเด็กป่วยเป็นโรคประหลาดด้วยอาการทางผิวหนังคือมีผื่นขึ้นลักษณะคล้ายเกล็ดงู ในรายที่ป่วยหนักมากเด็กจะไม่สามารถเดินได้แต่จะเคลื่อนที่ด้วยอาการคล้ายงู เลื้อย และบางรายก็เสียชีวิตไปตั้งแต่อายุยังน้อย ชาวบ้านที่พนมนาคาเชื่อว่าเป็นคำสาปของพญานาค และรอวันที่พญานาคจะถอนคำสาป  ทีมแพทย์ของ ดร.เบเนดิกต์ ต้องการเข้าไปเก็บข้อมูลและศึกษาอาการของโรคเพื่อหาวิธีรักษา ซึ่ง “เอเชีย” เป็นหญิงสาวที่มีความสามารถตรงตามความต้องการของทีมเก็บข้อมูล และตรงตามความต้องการของเจ้าชายอนันตชัย ด้วยเหตุผลและโชคชะตาเธอจึงได้ร่วมเดินทางไปพนมนาคาเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวทั้งหมดแก่ผู้อ่าน

 

เอเชีย หญิงสาวผู้ผสานสองโลก

            “เอเชีย” เมื่อแรกอ่านผู้วิจารณ์ไม่มีความรู้สึกร่วมกับการตั้งชื่อตัวละครเอก เพราะไม่สื่อถึงความเป็นไทยหรือกัมพูชาอย่างเด่นชัด แต่เมื่ออ่านเรื่องจบจึงพบว่าการตั้งชื่อตัวละครตัวนี้มีความหมายครอบคลุมอย่างยิ่ง ประการแรก  เอเชียเป็นลูกคนไทยแต่เกิดและเติบโตที่อเมริกา เธอทำงานที่The MET (The Metropolitan Museumof Art)เป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะที่ตั้งอยู่ในเซ็นทรัลพาร์ก ของมหานครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกาในแผนก lllustrate เกี่ยวกับการวาดภาพและจัดแต่ง Display ให้กับนิทรรศการต่าง ๆ ความชำนาญพิเศษของเธอคือ medical illustrate คือการวาดภาพประกอบทางการแพทย์ที่ต้องใช้ความอดทน และต้องมีความรู้วิชากายวิภาคเป็นอย่างดี  ประการที่สอง ความเชื่อเรื่องพญานาคปรากฏอยู่ในทวีปเอเชียไม่ว่าจะเป็น ลาว กัมพูชา ไทย ดังนี้แล้วชื่อของเธอจึงถูกตั้งขึ้นอย่างแยบคาย เอเชียต้องใช้ความรู้ด้านศิลปะและกายวิภาคมาช่วยเหลือทีมในการวาดภาพเด็กป่วยที่หมู่บ้านพนมนาคา ตั้งแต่ก้าวแรกบนแผ่นดินกัมพูชา เธอได้สัมผัสเกี่ยวกับพญานาคผ่านความรู้สึกถูกจ้องมองจากรูปปั้นที่สนามบิน จากนั้นมีเหตุการณ์ให้เธอได้ประสบสิ่งประหลาดเกี่ยวกับพญานาคขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงแม่ชีลึกลับที่ห้ามไม่ให้เธอเดินทางไปยังพนมนาคา แต่ คำทำนายทำนองนั้นไม่ได้ผล สำหรับหญิงสาวที่เกิดและเติบโตมากับวิทยาการอันทันสมัยแล้วนั้น ทุกสิ่งจะต้องสามารถอธิบายได้ด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ คำทายทักของแม่ชีอาจจะสร้างความประหวั่นขึ้นในใจของเธอได้ก็จริง หากทว่าไม่มีน้ำหนักมากพอจะทำให้เอเชียล้มเลิกภารกิจสำคัญในครั้งนี้ (พงศกร, 2563 หน้า 28) ขณะเดียวกัน เอเชียก็ได้พบปะพูดคุยและเห็นพญานาคตัวจริง รวมถึงได้ย้อนไปเห็นภาพในอดีตของตัวเองที่ทำให้เธอเป็นผู้ถูกคัดเลือกเพื่อเข้าพิธีนาคพลี นับว่าเอเชียเป็นตัวละครที่ผสานโลกทั้งสองไว้ในตัว ได้แก่โลกตะวันตกกับตะวันออก และโลกแห่งเหตุผลด้วยวิทยาการทางการแพทย์กับศรัทธาความเชื่อในพญานาค

 

การโต้แย้งระหว่างวิทยาศาสตร์และอำนาจของพญานาค ไม่เห็นไม่ได้แปลว่าไม่มี

            ผู้เขียน ค่อยๆ  ปูทางแห่งความเชื่อเกี่ยวกับพญานาคตั้งแต่เริ่มต้น ผ่านเหตุการณ์ที่ไม่สามารถหาคำตอบได้ เช่น ฟ้าร้องที่ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นสัญญาณตอบรับจากพญานาครับรู้ถึงการสื่อสารจากมนุษย์ คลื่นน้ำขนาดใหญ่และฟองอากาศที่ผุดขึ้นเป็นสัญญาณว่าพญานาคปรากฏตัว นอกจากนี้ยังมีความฝันเกี่ยวกับพญานาค  หรือมิติด้านเวลา เมื่อใดก็ตามที่ตัวละครเข้าไปยังพื้นที่เหนือธรรมชาติเครื่องมือสื่อสารหรือนาฬิกาจะไม่ทำงาน หรือกองทัพงูที่พากันเลื้อยออกมาขวางทางเชื่อว่าเป็นลางบอกเหตุร้าย หรือถ่ายภาพพญานาคไม่ติด เป็นต้น ทั้งหมดนี้เป็นการนำเสนอความเชื่อเกี่ยวกับนาคในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ชาวพนมนาคาไม่เคยมีใครเห็นพญานาคตัวจริง แต่เกือบทุกคนเชื่อว่าพญานาคมีอยู่จริง เรื่องเล่าที่บอกต่อกันมาถึงตระกูลเจ้าชายอนันตชัยเป็นสายสกุลที่ดูแลทางเข้าออกเมืองบาดาลอยู่บนเขาในพื้นที่ส่วนบุคคลของเจ้าชาย พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่เปิดอย่างสาธารณะทำให้ความรู้เกี่ยวกับพญานาคของชาวบ้านยังคลุมเครือ ยอดเขาพนมนาคาคือแดนลึกลับ เป็นพื้นที่ต้องห้ามชาวบ้านจะมีโอกาสได้ขึ้นไปบนนั้นปีละหนึ่งหน ในช่วงพิธีบูชาพญานาคเท่านั้น (พงศกร, 2563 หน้า 271)  “ถามจริง ๆ เถิดครับ” พุ่มข้าวบิณฑ์อดรนทนไม่ได้ “พวกคุณเคยเห็นพญานาคจริง ๆ หรือ” “ไม่เคย” ซก วรรณ และครูจันดีส่ายหน้าพร้อมกัน “คุณเคยเห็นคลื่นวิทยุไหมคะมิสเตอร์” ครูจันดีย้อนถาม และคำถามของหญิงสาวทำให้ทั้งเอเชียและพุ่มข้าวบิณฑ์ถึงกับอึ้งไป “คุณไม่เคยเห็นใช่ไหมคะ...” ครูจันดียิ้ม “แต่คุณก็รู้ว่ามันมี...พญานาคก็เช่นกัน พวกเราไม่เคยเห็นแต่พวกเรารู้ว่ามี” (พงศกร, 2563 หน้า 424) การตอบกลับของครูจันดีด้วยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ทำให้เห็นว่าคนในพื้นที่เองก็มีวิจารณญาณในความเชื่อของเขาแบบที่คนนอกพื้นที่มี ตัวละครในเรื่องที่ได้มีปฏิสัมพันธ์และรู้ว่าสิ่งนั้นคือพญานาคได้แก่ เอเชีย พุ่มข้าวบิณฑ์ และเด็กหญิง ซก นารี การได้เผชิญหน้ากับพญานาคพร้อมกันเป็นสิ่งยืนยันว่าพญานาคมีอยู่จริง นอกนั้นคือบุคคลที่ได้เห็นพญานาคก่อนเสียชีวิตชาวพนมนาคาแม้ไม่มีใครเคยเห็นพญานาคแต่พวกเขาเชื่ออย่างสนิทใจว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านเป็นคำสาปของพญานาค

            มีหลายครั้งที่ตัวละครพยายามหาเหตุผลมาอธิบายสิ่งแปลกประหลาดที่เกิดขึ้น เช่น เมื่อเอเชีย พุ่มข้าวบิณฑ์และสิทธา ขึ้นไปถึงยอดเขาพนมนาคา นาฬิกาและโทรศัพท์มือถือไม่สามารถใช้งานได้ และกลับมาใช้งานได้เมื่อออกมาจากยอดเขา ซึ่งเอเชียพยายามอธิบายว่าอาจเกิดจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เพราะบริเวณที่อยู่เป็นภูเขาไฟเก่า อาจมีแหล่งพลังงานที่รบกวนโทรศัพท์มือถือได้ ในตอนที่คณะเดินทางจะไปพนมนาคาและพบกองทัพงูจำนวนมหาศาลเลื้อยขวางถนน ดร.เพียร์สันบอกว่าตนเคยเจอเหตุการณ์แบบนี้และชาวบ้านเชื่อว่าเป็นลางร้ายจากนั้นไม่นานก็เกิดเหตุร้ายจริง ๆ แต่มีผู้โต้แย้งว่า การที่งูเลื้อยออกมาเป็นจำนวนมากนั้นน่าจะเป็นการอพยพหนีอะไรบางอย่าง เช่นน้ำป่า หรือแผ่นดินไหวเป็นต้น เมื่อมองกลับมาในสังคมเราพบว่ามีหลายครั้งที่วิทยาศาสตร์สามารถพิสูจน์สิ่งที่เหนือธรรมชาติได้ นับว่าเป็นประโยชน์ต่อการช่วยผู้คนไม่ให้หลงเชื่อในสิ่งลวงตาที่คนบางคนอาศัยความศรัทธาสร้างประโยชน์แก่ตนเอง หรือในบางกรณีที่ยังคงมีการพิสูจน์และกล่าวถึงตลอดในช่วงออกพรรษาคือลูกไฟที่เกิดขึ้นกลางแม่น้ำโขงในจังหวัดหนองคาย หรือจริง ๆ แล้วเราควรจะต้องทำตัวแบบสิทธา “หนูไม่เห็นอยากรู้เลย อะไรจะเกิดก็ให้เกิดไปเถิดจ้ะตราบใดที่เรื่องเหล่านั้นไม่มาวุ่นวายกับชีวิตของเรา”... “ถ้าทุกคนคิดแบบสิทธาได้นี่ก็สบายใจดีนะ”...คนเรานั้นบางทีก็คิดมากเกินไป การปล่อยวางยอมปล่อยให้เรื่องบางเรื่องผ่านไป อาจจะทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้นสบายใจขึ้น “ที่จริงเราไม่จำเป็นต้องหาคำตอบให้กับทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นหรอก แค่ทำใจยอมรับมันก็พอ” (พงศกร, 2563 หน้า 266-267)

 

หมู่บ้านต้องคำสาป? กับอำนาจลึกลับ

            เมื่อครั้งเกิดสงครามกลางเมืองที่กัมพูชาทำให้กองกำลังเขมรแดงบางส่วนเลือกพื้นที่พนมนาคาเป็นฐานที่ตั้ง การขาดปัจจัยในการดำเนินงานทำให้ พาน วิชัย พากองกำลังเขมรแดงขึ้นไปขโมยสมบัติจากนาคเทวาลัยไปขาย ในครั้งนั้นกองกำลังได้ฆ่าคนของเจ้าชายอนันตชัยไปหลายคน การพรากชีวิตบุคคลอันเป็นที่รักของพญานาคจึงทำให้พญานาคโกรธแค้นและฆ่าคนที่ขึ้นไปครั้งนั้นเป็นจำนวนมากและกล่าวคำพึมพำที่เชื่อว่าเป็นการสาปแช่งคนในหมู่บ้านนี้ พาน วิชัย คือคนเดียวที่รอดชีวิตมาอย่างเสียสติ เขาได้แต่พูดถึงพญานาค และคำสาปทำให้ชาวบ้านตีความหมายตามความเข้าใจของตนเอง หลังจากนั้นไม่นานเมื่อมีเด็กเกิดขึ้นในหมู่บ้านก็ป่วยด้วยโรคประหลาดโดยไม่มีสาเหตุ

            เกณฑ์ในการสาปแช่ง ดูจะเป็นสิ่งที่เอเชียต้องการหาคำตอบว่าพญานาคเลือกอย่างไร เด็กที่เกิดหลังพ.ศ.2551 จึงมีอาการป่วยมากน้อยไม่เท่ากัน ชาวบ้านมองว่า กฏแห่งกรรม คือ สิ่งที่กำหนดความรุนแรงของโรค  “แล้วแต่บุญแต่กรรมละมัง” ซก วรรณ สรุปตามความเข้าใจ “คนไหนยังพอมีบุญก็อาการน้อยหน่อย คนไหนมีกรรมก็อาการมากกว่าคนอื่น” (พงศกร, 2563 หน้า 418) ในกรณีนี้ผู้เขียนทำให้เห็นว่าชาวบ้านเป็นกลุ่มคนที่ปล่อยวางได้เร็วกว่าโดยอาศัยการยอมรับความจริงตามแนวทางพระพุทธศาสนา ในขณะที่ทีมของ ดร.เบเนดิกต์ ผู้มีความเจริญทางวิทยาการกลับไม่ยอมรับในข้อผิดพลาดของตนถึงขั้นตามเอาชีวิตเด็กผู้ไม่รู้เรื่องเพื่อที่จะทำให้ความผิดพลาดของตนในอดีตดับไปพร้อมกับชีวิตของเด็กงู ในขณะที่ผลการศึกษาของ ดร.เอลเลน เกี่ยวกับตัวอย่างของเลือดเด็ก เริ่มมีเค้าที่มาว่าเด็กที่มีพ่อแม่เป็นชาวพนมนาคาทั้งคู่ จะมีอาการของโรครุนแรง ส่วนเด็กที่มีอาการผื่นขึ้นภายหลังจากการเกิดมาหลายปี มักมีพ่อ หรือแม่ เป็นชาวพนมนาคาแต่งงานกับคนหมู่บ้านอื่น แต่อย่างไรก็ตามชาวพนมนาคาไม่ได้หวังพึ่งทีมแพทย์จากตะวันตกในการรักษาโรคของเด็กเหล่านี้เพราะเชื่อว่าเมื่อถึงวันที่ทำพิธีนาคพลี พญานาคจะถอนคำสาปและเด็ก ๆ จะหายป่วย เมื่อเอเชียและพุ่มข้าวบิณฑ์พบเอกสารทางการแพทย์ที่เป็นตัวบ่งชี้ว่าการได้รับวัคซีนของเยาวชนในพนมนาคามีผลกระทบต่อพันธุกรรม จากการทดลองวัคซีนกับเยาวชนสิบกว่าปีก่อน มาแสดงผลกระทบต่อเยาวชนรุ่นปัจจุบัน สิ่งนี้จึงเป็นเครื่องยืนยันว่าเด็กในหมู่บ้านไม่ได้ป่วยเพราะ คำสาปของพญานาค แต่ป่วยจากการได้รับพันธุกรรมผ่านพ่อแม่ที่ถูกกระทำให้เป็นสัตว์ทดลอง ซึ่ง อาทิตย์ ศรีจันทร์ นำเสนอมุมมองด้านนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า

            นอกจากนี้คณะของดอกเตอร์เบเนดิกต์ยังใช้ความเชื่อเรื่องพญานาคมาเป็นข้ออ้างในการจัดการอีกด้วย ดังที่ดอกเตอร์เอลเลนกล่าวว่า “เราแกล้งทำเป็นเชื่อว่ามีพญานาคจริง ๆ และพญานาคนั่นแหละทำให้เกิดเหตุร้าย ในเมื่อหมอฝรั่งเองก็ยังเชื่อ...ชาวบ้านจะไม่เชื่อได้อย่างไร...เมื่อมีเด็กงูคนแรกเกิดขึ้นในหมู่บ้าน...ทุกคนเชื่อว่านี่ก็คือผลของคำสาป...ไม่มีใครรู้เลยว่าที่จริงแล้วนี่คือผลของการทดลอง” (หน้า 526) สิ่งที่ดอกเตอร์เอลเลนพูด คือการโยนความผิดให้กับคำสาปของพญานาคที่ไม่มีอยู่จริงเพื่อให้มนุษย์มีความขัดแย้งกับความเชื่อของตนเอง ในขณะที่ความผิดพลาดของวิทยาศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่ที่มาพร้อมกับโลกตะวันตกนั้นแทบจะไม่ต้องรับผลการกระทำอะไรเลย พนมนาคาในฐานะภาพแทนของตะวันออกจึงเป็น “เหยื่อ” ของโลกตะวันตกอยู่เสมอมา และเป็นเหยื่อของโลกสมัยใหม่ที่ผลิตทั้งแนวคิดเรื่องอาณานิคมการแพทย์สมัยใหม่ที่ลดทอนมนุษย์ให้กลายเป็นเพียงแค่สัตว์ทดลองเท่านั้น

            จากประเด็นดังกล่าวทำให้เห็นว่าอำนาจลึกลับที่สาปแช่งชาวบ้านนั้นมีที่มาอย่างไร เป็นอำนาจลึกลับที่ประชาชนเข้าไม่ถึงทั้งด้านความรู้และอำนาจต่อรอง วัคซีนที่นำมาทดลองนั้นไม่มีประเทศไหนยอมให้ทดลองกับลูกหลานของเขา แต่ที่พนมนาคามีอำนาจลึกลับของผู้นำหมู่บ้านยอมให้การทดลองเกิดขึ้น แลกกับผลประโยชน์บางอย่าง อาคารที่ทำการหมู่บ้านหลังใหญ่ สถานีอนามัยมีอาคารหลังใหม่พร้อมอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัยสร้างขึ้นจากองค์กรสันนิบาตไร้พรมแดนบริจาคให้ “...จะว่าไปแล้วการยอมเสี่ยงในครั้งนั้นทำให้หมู่บ้านชนบทชายแดนของเราเจริญอย่างก้าวกระโดด ไม่นับว่า พานวิชัยได้เงินในทางลับอีกไม่น้อย พวกเรารู้ แต่น้ำก็ท่วมปากพูดอะไรไม่ได้ เพราะวัคซีนก็ได้ฉีดให้กับเด็ก ๆ ไปเรียบร้อยแล้ว เคราะห์ดีที่เด็กทุกคนปลอดภัย ไม่มีอันตรายอะไรรุนแรง” (พงศกร, 2563 หน้า 491) ข้อความนี้ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่าชาวบ้านตกเป็น “เหยื่อ” และถูกกระทำจากทั้งอำนาจของผู้นำภายใน และผู้นำภายนอก อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ตามมีหลายครั้งในเรื่องที่พญานาคใช้อำนาจที่มีอยู่จริงเพื่อขัดขวาง ช่วยเหลือ หรือปกป้องคนที่ตนเองรัก แต่อำนาจที่ใช้นั้นดูจะไม่ร้ายแรงเท่ากับ “อำนาจ” ของมนุษย์ด้วยกันที่กระทำต่อผู้ด้อยกว่า

 

คลี่แต่ไม่คลาย

            อาการป่วยของเด็กงูดีขึ้นเมื่อวันที่ทำพิธีนาคพลีผ่านไป เด็ก ๆ ได้กลับมาบ้านพวกเขาจำไม่ได้เลยว่าเกิดอะไรขึ้นกับตัวเอง จำไม่ได้ว่าก่อนหน้านี้ไปอยู่ที่ไหนมาและกลับมาได้อย่างไร ผู้ปกครองของเด็กงูสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงของลูก ผื่นผิวหนังที่หนาคล้ายเกล็ดงูเริ่มลอกและร่อนออก กลายเป็นผิวหนังปกติ อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงเริ่มดีขึ้นได้เองอย่างน่าอัศจรรย์ เด็ก ๆ กลับมาเดินได้พูดได้อีกครั้ง แม้จะไม่เหมือนกับเด็กปกติแต่ก็ดีกว่าเก่ามาก (พงศกร,2563 หน้า 588)  ภายหลังจากรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขได้รับรู้ถึงข้อผิดพลาดในการใช้วัคซีนกับคนรุ่นพ่อแม่ที่ส่งผลถึงรุ่นลูก ได้ส่งทีมแพทย์เข้าไปที่พนมนาคาเพื่อประเมินสภาพร่างกายของเด็กและอาจมีการทำกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่องจะช่วยให้เด็กได้กลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติ จากเรื่องที่กล่าวมาเห็นได้ชัดเจนว่าเด็กทั้งหมดอาการดีขึ้นก่อนกระทรวงสาธารณสุขส่งคนเข้าไปดูแล เพราะ “ดีขึ้นได้เองอย่างน่าอัศจรรย์” นั่นเป็นไปได้อย่างยิ่งว่าเกิดจากการบันดาลของพญานาค เพราะในตอนที่เจ้าชายอนันตชัยต้องการให้เอเชียไปประกอบพิธีนาคพลีที่เทวาลัยด้วยเงื่อนไขว่าจะช่วยให้เด็กงูหายป่วย แต่พุ่มข้าวบิณฑ์แย้งว่า พญานาคจะช่วยเด็กได้อย่างไรในเมื่อเด็กไม่ได้ป่วยเพราะคำสาปของพญานาค “เราทำได้มากกว่าพวกเจ้าเห็นมากนัก” เจ้าชายหัวเราะในลำคอ (พงศกร,2563 หน้า 548)  ผู้เขียนคลี่ปมแห่งเหตุการเกิดโรคระบาดแต่ก็ไม่คลายปมในการบันดาลของพญานาค ทำให้นวนิยายเรื่องนี้ร้อยรัดระหว่างศรัทธาและวิทยาศาสตร์ไว้อย่างลงตัว

 

ถ้าวิทยาศาสตร์เป็นผู้นำในการดำรงชีวิต ศรัทธาและความเชื่อก็คงจะเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ

          วิทยาศาสตร์ไม่ใช่ผู้ร้ายตราบใดที่ใช้เพื่อช่วยเหลือมวลมนุษย์ความศรัทธาและความเชื่อก็เช่นเดียวกัน ขณะที่โลกนี้มีการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ขึ้นมาเพื่อตอบสนองความสะดวกสบาย  รักษาโรคร้าย เพื่อยืดชีวิตมนุษย์ หรือคงความสวยงามแก่เรือนร่าง แต่ภายในจิตใจลึก ๆ ของหลายคนกลับโหยหาที่พึ่งเป็นพลังเสริมให้มีกำลังใจในการดำเนินชีวิต เปลี่ยนชื่อเพื่อเสริมดวง หมายเลขโทรศัพท์มงคล สีเสื้อมงคลประจำวันเกิด สายมู เกิดขึ้นมากมายโดยเฉพาะกับวัยรุ่นหนุ่มสาว ปัจจัยใดที่ทำให้ความเชื่อเหล่านี้ทวีขึ้น  ความเชื่อเรื่องพญานาคเป็นเพียงสิ่งหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นสังคมในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงในประเด็นของความเชื่อที่เปี่ยมด้วยศรัทธานับว่าเป็นหนึ่งแรงหนุนในการโน้มนำพฤติกรรมและจิตใจของคนให้คิดปฏิบัติดีตามแนวทางของพญานาคได้แก่การรักษาศีล บำเพ็ญภาวนา ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ความเชื่อลักษณะนี้จึงเป็นพลังเสริมภายในของมนุษย์ ภายใต้พลวัตทางสังคมโลกในปัจจุบัน

 

ตั้งใจ?

            พงศกร วางแนวทางในการเขียนนวนิยายเรื่องนี้ตั้งแต่เขียนเรื่อง กี่เพ้า เมื่อ พ.ศ.2554 เป็นความบังเอิญหรือความตั้งใจไม่อาจคาดเดาทั้ง plot ของเรื่องและช่วงเวลาในการตีพิมพ์ “พนมนาคา” ประจวบเหมาะกับสถานการณ์โลกในขณะนี้ เนื้อเรื่องชวนให้คิดถึงสถานการณ์โรคระบาดใหม่ที่ประชาชนส่วนใหญ่ได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรค วัคซีนที่ถูกผลิตขึ้นมาอย่างปัจุบันทันด่วนเพื่อระงับ หรือพยายามผ่อนหนักให้เป็นเบาแก่ประชาชนในวันนี้จะให้ผลในภายภาคหน้าเป็นอย่างไรไม่อาจคาดเดา จะประสบความสำเร็จกลายเป็นวัคซีนที่เราฉีดป้องกันโรคตั้งแต่เด็กเช่นวัคซีนป้องกันวัณโรค คอตีบ ไอกรน ฯลฯ ก็เป็นได้ หรือเรากำลังเป็นเยาวชนในหมู่บ้านพนมนาคา  พนมนาคาเริ่มเผยแพร่ในรูปแบบ e-book ก่อน เมื่อปัจจัยทุกอย่างพร้อมจึงมีการตีพิมพ์เป็นรูปเล่มเผยแพร่ในปี พ.ศ.2563 แม้กระทั่งการเผยแพร่นวนิยายเล่มนี้ยังถึงพร้อมด้วยความบริบูรณ์ของเวลาหรือมีสิ่งใดบันดาลให้นวนิยายชวนคิดเรื่องนี้เผยแพร่ออกมาในช่วงเวลาที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

 

อ้างอิง

พงศกร [นามแฝง]. (2563). พนมนาคา. นนทบุรี: กรู้ฟ พับลิชชิ่ง.

อาทิตย์ ศรีจันทร์ (2564). ประวัติศาสตร์ อาณานิคม และพญานาคในพนมนาคา

สืบค้น 26 กุมภาพันธ์ 2654, จาก https://www.the101.world/phanomnaka-pongsakorn/

 

 

Visitors: 72,319