๑ องศาที่สูญหายและการประกอบสร้างขึ้นใหม่ผ่าน...ดวงตากวี
๑ องศาที่สูญหายและการประกอบสร้างขึ้นใหม่ผ่าน... ดวงตากวี
กิตติศักดิ์ คงคา
หนังสือกวีนิพนธ์ “ดวงตากวี” ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ๒๕๖๔ นับเป็นผลงานลำดับที่ ๓ จากปลายปากกาของ “รินศรัทธา กาญจนวตี” หรือ “หทัยรัตน์ จตุรวัฒนา” ก่อนหน้านี้ผู้เขียนเคยมีวรรณกรรมรวมเล่มมาก่อนแล้วครั้งแรกในปี ๒๕๕๗ ในผลงาน “รินศรัทธา” และอีกครั้งในปี ๒๕๖๒ ในผลงาน “ทุกขณะกระจ่างชัดสัมผัสใจ”
ผู้วิจารณ์หยิบดวงตากวีขึ้นมาเรียนรู้ ศึกษา และวิจารณ์ เพราะผู้เขียนเป็นกวีผู้พิการทางสายตา หาได้ยากยิ่งในประเทศไทยที่จะมีนักเขียนซึ่งมองไม่เห็นและยังสามารถถ่ายทอดตัวอักษรมาได้คมชัด ต่อเนื่อง และร่วมสมัย ผลงานของ รินศรัทธา กาญจนวตี จึงเปรียบเสมือนประตูที่พาให้นักอ่านได้ไปทำความรู้จักกับโลกที่มืดมนไปด้วยภาพ แต่สว่างไปด้วยความรู้สึก พาให้นักอ่านได้ไปค้นพบการมองโลกโดยไม่ใช้ดวงตาที่ซ้อนทับอยู่อีกชั้นภายใต้บทร้อยกรอง
กวีนิพนธ์ทุกชิ้นของผู้เขียนแสดงภาพความเชื่อมโยงระหว่างตัวตนของตัวเอง และโลกรายรอบไว้อย่างแจ่มชัด หากเปรียบเทียบเหมือนร้อยแก้ว นักเขียนที่ผลิตงานออกมาส่วนใหญ่มักใช้กลวิธีการเล่าเรื่องแบบเรื่องสั้น เรื่องเล่าที่แต่งขึ้นเพื่อบอกเล่าแก่นบางอย่างแทรกไปในตัวอักษร แต่ผลงานของ รินศรัทธา กาญจนวตี เปรียบเสมือนความเรียงมากกว่า เพราะเนื้อหาจะมุ่งเน้นสู่การสำรวจภายใน และยิ่งอ่านก็ยิ่งรู้สึกว่าถ้อยคำเหล่านั้นเรียบเรียงมาจากการเปิดเปลือยมุมมองต่อโลกจากตัวผู้เขียนเอง
ดวงตากวีเป็นหนังสือรวมบทกวีจำนวน ๖๔ สำนวน แบ่งออกเป็น ๓ ส่วน ได้แก่ (๑) โลกภายใน : มองลึก เข้าไป ในใจนั้น จำนวน ๒๓ สำนวน (๒) โลกภายนอก : มองออกไป ในความจริง ในความฝัน จำนวน ๒๐ สำนวน และ (๓) โลกของเรา : เธอบอกฉัน ฉันบอกเธอ จำนวน ๒๐ สำนวน เนื้อหาจะแบ่งออกเป็นการสำรวจโลกภายใน โลกภายนอก และสื่อสารระหว่างตัวตนกับผู้อื่น โดยครอบเอาไว้ด้วยบทกวีชื่อดวงตากวีอีก ๑ สำนวนในตอนต้นที่เหมือนเป็นการเชื่อมโยงหนังสือทั้งเล่มเข้าไว้ด้วยกัน
ถึงแม้ว่าตัวผู้เขียนจะแบ่งเนื้อหาในเล่มเป็น ๓ ส่วน แต่ในความจริงแล้ว เส้นแบ่งของการสำรวจและสื่อสารกับโลกพร่าเลือนมากกว่าที่ผู้เขียนขีดแบ่งไว้ เพราะแต่ละบทกวีแต่ละสำนวนล้วนผสมผสานเอาการโอบรับโลกจากภายนอก เข้ามาตกตะกอนภายในจิตใจ และสื่อสารกลับออกไปอีกครั้ง นักเขียนฉายภาพให้ผู้อ่านเห็นกระบวนการคิดนี้จนจับภาพได้เป็นกระบวนทัศน์ที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวผู้เขียนเอง
มอง... โลกภายนอก : มองออกไป ในความจริง ในความฝัน
นักเขียนบอกเล่าการสำรวจโลกภายนอกของตนเอง ผ่านกระบวนการและตัวกลางที่หลากหลาย ได้แก่ ผู้คน ธรรมชาติ เหตุการณ์ และประสบการณ์ของตนเอง เนื้อหาตรงส่วนนี้ขับเน้นให้ผลงานชิ้นนี้มีความแปลกใหม่กว่าผลงานชิ้นก่อนที่ผ่านมา เพราะเปิดการบอกเล่าการเรียนรู้จากโลกภายนอกมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และเมื่อสะท้อนกลับมาสู่การเรียนรู้ภายในซึ่งเป็นจุดเด่นของนักเขียน ทั้งสองส่วนต่างก็สอดรับและทำให้ผลงานมีน้ำหนักจนน่าสนใจ
มองโลกภายนอก... ผ่านผู้คน อย่าง จิตร ภูมิศักดิ์
ปากกาอยู่ในมือเขาถือมั่น เพื่อกรองกลั่นรู้สึกลึกหลากหลาย
“คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย” “ดาวยังพรายศรัทธาเย้ยฟ้าดิน”
(วันนักเขียน... กับการสังหารนักเขียนผู้หนึ่ง หน้า ๗๙)
มองโลกภายนอก... ผ่านธรรมชาติ เรื่องความรักต่อท้องทะเล
เพราะรักน้ำ รักฟ้า รักปลาปู จึงเฝ้าดูไกลไกล ไม่แตะต้อง
รักเพียงมีเพื่อมอบใช่ครอบครอง สมฐานะลูกของท้องทะเล
(ลูกของท้องทะเล หน้า ๘๗)
มองโลกภายนอกผ่าน... ผ่านเหตุการณ์ สงครามกลางเมืองในซีเรีย
เขาจะไม่เห็นภาพการสู้รบ เขาจะไม่เห็นศพเกลื่อนสนาม
ด้วยเขากลายเป็นกระดูกนิรนาม อยู่ในความสันตินิจนิรันดร์
(แผ่นดินที่ไร้สงคราม หน้า ๙๗)
มองโลกภายนอกผ่าน... ประสบการณ์ของตนเอง เกี่ยวกับโรคระบาด
เราจึงต้องใช้ใจอ่านไวรัส ถอดรหัสชีวิตพินิจค่า
ดำรงอยู่ด้วยหลัก รัก เมตตา และแตะต้องโลกหล้าด้วยเคารพ
(บทเรียนจากไวรัส หน้า ๑๐๙)
มอง... โลกภายใน : มองลึก เข้าไป ในใจนั้น
ถึงแม้ว่าบทกวีชุดโลกภายในจะถูกจัดเรียงไว้ขึ้นเป็นอันดับแรก หากแต่ผู้วิจารณ์ค้นพบว่าสิ่งที่นักเขียนบอกเล่าเกี่ยวกับโลกภายในล้วนมาจากการตกตะกอนจากโลกภายนอกเป็นส่วนใหญ่ หรือกระทั่งคำสร้อยของชื่อชุดรวมบทกวีก็ยังมีลักษณะการเรียงแบบ โลกภายนอก โลกภายใน และโลกของเรา ตามลำดับ เพราะคำขยายในแต่ละชุดสามารถจัดเรียกกันเป็นกลอนแปดวรรครับ วรรครอง และวรรคส่งได้อย่างพอดี
ตัวบทกวีจะไม่ได้พยายามสรุปสิ่งที่ตกตะกอนได้ออกมาโจ่งแจ้ง แต่ผู้เขียนก็ได้ทิ้งร่องรอยไว้อย่างกระจัดกระจายตามสำนวนที่หลากหลายของการรวมเล่มกวีนิพนธ์ ผู้วิจารณ์เห็นภาพสิ่งที่นักเขียนเรียนรู้ได้อย่างแจ่มชัดผ่านถ้อยคำที่สรุปรวม ๓ ข้อหลัก ได้แก่ (๑) การให้ความสำคัญกับเวลาปัจจุบัน (๒) การรู้จักให้อภัยตนเอง และ (๓) การมองให้เห็นความงามในทุกห้วงของชีวิต ซึ่งถือเป็นตัวกลางที่ชัดเจนระหว่างการเปลี่ยนผ่านจากโลกภายนอกสู่โลกของเราของผู้เขียน
มองโลกภายในด้วย... การให้ความสำคัญกับเวลาปัจจุบัน
ปรากฏเป็นบทกวีเป็นสีขาว ลมหายใจลึกยาวละเอียดยิ่ง
อดีต อนาคต ถูกปลดทิ้ง แน่วและนิ่งในสัมผัสปัจจุบัน
(ดวงตากวี หน้า ๑๙)
มองโลกภายในด้วย... การรู้จักให้อภัยตนเอง
ถึงเวลายอมรับกับทุกสิ่ง เลิกมองข้ามความจริงหยุดวิ่งหนี
สมานรอยความฝันของวันนี้ ด้วยวิธีให้อภัยหัวใจตน
(รอยบาดแผล หน้า ๕๙)
มองโลกภายในด้วย... การมองให้เห็นความงามในทุกห้วงของชีวิต
โลกความสุขซ่อนในโลกใบใหญ่ บางครั้งเหมือนอยู่ไกลสุดขอบหล้า
บางคราวกลับใกล้ชิดแค่ปิดตา เพียงหัวใจไร้เดียงสา เสาะหา พบ
(หัวใจ วัยเยาว์ และเราทุกคน หน้า ๓๕)
มอง...โลกของเรา : เธอบอกฉัน ฉันบอกเธอ
ดวงตากวีบอกเล่ากระบวนทัศน์ในการเรียนรู้โลกของผู้เขียนได้เป็นอย่างดี ผู้เขียนจะเรียนรู้จากโลกภายนอก ตกตะกอนที่โลกภายใน ก่อนจะสื่อสารออกมาด้วยถ้อยคำให้โลกของเราได้เรียนรู้ เรียกได้ว่าแทบจะทุกสำนวนเลยก็ว่าได้ที่ผู้วิจารณ์เห็นกระบวนแบบเดิมจนเข้าใจ โดยสารที่สื่อออกมาชัดเจนจะเห็นได้ ๔ ข้อหลัก คือ (๑) การรู้จักรักผู้คนและธรรมชาติ (๒) การเข้าใจสัจธรรมและการเปลี่ยนแปลงของชีวิต (๓) การรู้จักพอและทำหน้าที่ของตนให้ดี และ (๔) การเห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์ของเพื่อนร่วมโลก
มองโลกของเราและ... รู้จักรักผู้คนและธรรมชาติ
อาจจะเป็นอ้อมแขนจากแดนสรวง หลั่งฝนร่วงลงกอดเรียวยอดหญ้า
และอาจเป็นความลับดินกับฟ้า บอกมนุษย์ให้รู้ค่าถ้าเข้าใจ
(ฝน หน้า ๑๓๑)
มองโลกของเราและ... เข้าใจสัจธรรมและการเปลี่ยนแปลงของชีวิต
ถอดรหัสสัจธรรมด้วยคำถาม ต้องตีความข้อสอบแล้วตอบใหม่
จนกว่าจะมองเห็นความเป็นไป ที่ซ่อนในนิยามความเป็นจริง
(บางมุมที่ไม่เคยมองเห็น หน้า ๑๓๙)
มองโลกของเราและ... รู้จักพอต่อชีวิตและทำหน้าที่ของตนให้ดี
ผู้อยู่เหนือเกียรติยศย่อมงดงาม ผู้มองข้ามเครื่องร้อยรัดมิขัดสน
ผู้มิอยู่ด้วยความอยากมิยากจน ผู้ก้าวพ้นชัยชนะจะไม่แพ้
(กระดานดาว หน้า ๑๓๖)
มองโลกของเราและ... เห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์ของเพื่อนร่วมโลก
จงศรัทธาในวิถีแห่งศรีศักดิ์ มโนธรรมจงเป็นหลักแห่งศักดิ์ศรี
โดยความจริง ความงาม ความเสรี ล้วนหน้าที่ในนามความเป็นคน
(ในฐานะล้วนหน้าที่ หน้า ๑๕๑)
มอง... หนังสือดวงตากวีผ่านดวงตานักวิจารณ์
ดวงตากวี ถือเป็นหนังสือที่บอกการเติบโตของ รินศรัทธา กาญจนวตี ได้อย่างแจ่มชัดจากผลงานชิ้นก่อนหน้าอย่าง ทุกขณะกระจ่างชัดสัมผัสใจ ผ่านสำนวนกวีนิพนธ์ที่หลากหลาย บอกถึงประสบการณ์ของผู้เขียนที่ได้เรียนรู้เรื่องราวและเรื่องเล่ามากมายเพื่อนำมาสื่อสารกับจิตวิญญาณภายใน และเสนอมุมมองออกมาอย่างหลากหลาย โดยเฉพาะแง่มุมของการเข้าใจถึงสัจธรรมการเปลี่ยนแปลงของชีวิต การยอมรับตนเองและอยู่กับปัจจุบัน รวมไปถึงการเรียนรู้จะรักและเข้าใจผู้อื่น
บทกวีจากวรรณกรรมชิ้นนี้เต็มไปด้วยสารัตถภาพที่ยอดเยี่ยม ผู้เขียนมีการเลือกถ้อยคำที่เต็มไปด้วยภาษากวี ใช้คำน้อยแต่ให้ความมาก ในแต่ละถ้อยพยางค์ส่งผลต่อความรู้สึกของผู้อ่าน อาทิ
ถ่องแท้ แน่แน่วในแนวตน ถั่งท้น ด้วยแรงกำแหงหาญ
ทุ่มเท ชีวิตจิตวิญญาณ ขณะเธอสร้างงานงานสร้างเธอ
(กรงเกียรติยศ หน้า ๑๕๓)
ดวงตากวียังคงมีความเป็นเอกภาพที่โดดเด่น ถึงแม้ว่ากวีนิพนธ์จะมีลักษณะเป็นการรวบรวมถ้อยสำนวนถึง ๖๔ เรื่องราวมาโยงเกี่ยวเข้าด้วยกัน แต่ผู้เขียนก็ครอบทุกอย่างไว้ด้วยคำว่าดวงตากวี สื่อความหมายเป็นเนื้อเดียวว่า ความสวยงามของชีวิต ไม่อาจเห็นได้ด้วยดวงตา แต่รับรู้ได้ด้วยการสัมผัสประสบการณ์ เรียนรู้ และยอมรับต่อชีวิต อย่างที่ผู้เขียนได้ให้ถ้อยคำไว้อย่างโดดเด่น อาทิ
คือความรัก คือความหมายสายสีรุ้ง เป็นความมุ่งหมายมาดอันปรารถนา
แม้มิเห็นเธอได้ด้วยสายตา แต่ทุกภาพกลับเจิดจ้ากลางหัวใจ
(ภาพสีรุ้ง หน้า ๔๕)
ในแง่ของสัมพันธภาพของเรื่อง ผู้วิจารณ์มองว่าทำได้เกือบจะสมบูรณ์ หากยังรู้สึกว่าการเรียบเรียงสำนวนจาก โลกภายนอก โลกภายใน และโลกของเรา น่าจะทำให้สอดคล้องต่อกระบวนทัศน์ที่ตัวผู้เขียนสื่อสารออกมาได้มากกว่า นอกจากนี้ยังมีบางสำนวนอย่าง เพียงใจรัก น้ำค้าง ภาพเลือนในห้วงสำนึก และ แก้วรัก ที่เกี่ยวข้องกับความรักเป็นพิเศษ ถึงแม้ว่าจะเข้ากับภาพใหญ่ของการสื่อสารกับโลกภายในตนเอง แต่ในเชิงการเรียงร้อยต่อเรื่องก็ทำให้การไหลลื่นของบทกวีสะดุดไปพอสมควร สังเกตว่านักเขียนยังมีสำนวนอื่นที่เกี่ยวโยงกับความรักในเล่มด้วย แต่เมื่อโยงเรื่องกลับไปสู่แก่นเรื่องที่ใกล้เคียงกับสำนวนอื่น ภาพรวมของการอ่านก็ดูสัมพันธ์ไปในทางเดียวกัน
มอง... รินศรัทธา กาญจนวตี ผ่านการสบตากับดวงตากวี
ถึงแม้ว่าผู้เขียนจะกล่าวไว้ว่า... ฉันเชื่อว่ามนุษย์มีความไม่สมบูรณ์อยู่ในตนทุกคนไป สำหรับ ๓๖๐ องศาของชีวิต ฉันสูญเสียการมองเห็นจึงหายไป ๑ องศา แต่ฉันยังเหลือศักยภาพของชีวิตอีก ๓๕๙ องศา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “องศาของหัวใจ” (เสมือนคำนำ หน้า ๙) แต่ รินศรัทธา กาญจนวตี ก็พิสูจน์ให้เห็นชัดว่าดวงตากวีได้ทดแทน ๑ องศาที่หายไปได้อย่างสมบูรณ์แบบ ถ้อยคำที่บอกถึงการเข้าใจของชีวิตสะท้อนให้เห็นว่าผู้เขียนไม่ได้มองเห็นภาพของโลกพร่าเลือนไป
ผู้วิจารณ์หยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาเขียนถึงด้วยหัวใจที่สูบฉีดไปด้วยความรู้สึกบางอย่าง เพียงเปิดหน้าแรก ยังไม่ถึงแม้สำนวนแรก มีตัวอักษร “ร” ตัวหนึ่งเขียนไว้อย่างตั้งใจแต่เมื่อเห็นก็ทราบได้ทันทีว่าผู้เขียนใช้ความพยายามแค่ไหนในการจะเซ็นชื่อของตัวเองออกมาเป็นตัวอักษร ๑ ตัว ร.เรือตัวดังกล่าวบอกเรื่องราวที่อยู่ซ้อนภายใต้งานเขียนของ รินศรัทธา กาญจนวตี เป็นอย่างดี ถึงแม้ว่างานส่วนใหญ่จะอุดมไปด้วยการมองเห็นที่สว่างสดใส แต่ผู้วิจารณ์ก็เชื่อว่านั่นไม่ใช่ผลิตผลที่ได้มาโดยง่าย
ดวงตากวี จึงนับได้ว่าเป็นวรรณกรรมที่ซ้อนทับกันหลายชั้น ตั้งแต่สารชั้นแรกที่ผู้เขียนส่งผ่านตัวอักษรมาในบทกลอน สารชั้นที่สองคือความหมายโดยนัยที่แฝงอยู่ให้ตีความได้มากมายในแต่ละสำนวน และสารชั้นสุดท้าย นั่นคือการพยายามทำความเข้าอกเข้าใจผู้เขียนถึงมุมมองที่อาจจะไม่ได้เล่าอย่างแจ่มชัดนัก ในระดับนี้หนังสือเล่มนี้เป็นตัวแทนที่ชัดเจนถึงการเชื่อมโยงระหว่างโลกของผู้พิการทางสายตาต่อโลกภายนอก กระบวนการศึกษาชีวิต และรักษาตัวเองให้ยังเชื่อมต่อไว้กับโลก
ผู้วิจารณ์อ่านหนังสือเล่มนี้จบด้วยการโอบรับศรัทธาที่ รินศรัทธา กาญจนวตี พยายามจะรินให้ผ่านหยาดหยดของถ้อยคำ ผู้เขียนพิสูจน์ให้เห็นชัดว่า ๑ องศาที่หายไปไม่เคยเป็นอุปสรรคต่อการเขียนและการเข้าใจโลก ยิ่งไปกว่านั้น ผู้วิจารณ์ยังเชื่อมั่นอีกว่าตัวของผู้เขียนได้ประกอบสร้างอีก ๑ องศาขึ้นมาใหม่จนวงกลมแห่งชีวิตกลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง มองเห็นโลกโดยไม่ผ่านสิ่งที่เรียกว่าดวงตา แต่กลับใช้กระบวนทัศน์ของถ้อยคำที่เรียกว่า... ดวงตากวี
บทกวีคือดวงตาข้าพเจ้า เส้น แสง เงา โค้ง ขอบ ประกอบสร้าง
ภาพ เสียง คำ ทุกบทกำหนดวาง ลึก ไกล กว้าง เกินกว่าสายตามอง
(บทกวีคือ... ข้าพเจ้า หน้า ๒๒)