อยู่แชร์เฮาส์กับเหล่านักเขียน: ลมหายใจของภูติผีในกระแสสังคม

สุชานาถ บูรณสันติกูล

            อยู่แชร์เฮาส์กับเหล่านักเขียน เป็นผลงานของ Moonscape ตีพิมพ์ครั้งแรกปี 2562 โดยนักเขียนเป็นผู้พิมพ์ด้วยตนเองและวางจำหน่ายผ่านร้านหนังสืออิสระ มียอดผู้เข้าชมในเว็บไซต์ readawrite มากกว่าสองแสนครั้ง เนื้อหาของหนังสือเป็นแนวชีวิตประจำวัน (Slice of Life) ที่พาผู้อ่านไปรู้จักเหล่าคนทำงานเกี่ยวกับสื่อสิ่งพิมพ์ ผู้เป็นเหมือนภูติผีซึ่งอาศัยอยู่ในแชร์เฮาส์ทำเลทองแต่กลับเปิดให้เหล่าศิลปินเช่าในราคาถูก เป็นวรรณกรรมร่วมสมัยที่สะท้อนแนวคิดของกระแสสังคมปัจจุบัน และแม้ว่าบรรดาตัวละครหลักต่างพ้นช่วงวัยรุ่นมานานแล้ว ทว่าหนังสือเล่มนี้ก็จัดได้ว่าเป็นแนว Coming of Age ที่แสดงให้เห็นการเติบโตของตัวละครได้เป็นอย่างดี ถึงจะเป็นการเล่าชีวิตประจำวันอย่างตรงไปตรงมาแต่ก็มีความน่าสนใจและมีความนัยให้ครุ่นคิดตาม

 

            ภูติผีที่สูญเสียตัวตนหรือไร้ตัวตนในสังคม

            ตัวละครในเรื่องผู้มีนิสัยชื่นชอบการเข้าสังคมอย่างอารีย์และดิเรกได้บรรยายแชร์เฮาส์ตัวเองว่าเหมือน ‘บ้านผีสิง’ อยู่หลายครั้ง เช่น ดิเรกกล่าวว่า “เหมือนบ้านผีสิงเลยใช่ไหม แชร์เฮาส์ของพวกเรา ไม่ว่าพวกเขาจะออกไปตอนไหน ก็ไม่อาจทันสังเกตได้เลย ไม่ว่าจะมีคนอยู่หรือไม่ ก็รู้สึกเหมือนอยู่คนเดียวเสมอ” (หน้า 46)  และบางตัวละครที่มีนิสัยเก็บตัวก็มองตัวเองเป็นผี อย่างครามที่บรรยายตัวเองว่า ‘ผมใช้ชีวิตบนโลกนี้อย่างเงียบเชียบเหมือนภูติผีตนหนึ่ง’ (หน้า 153) ใจความร่วมของ ‘ผี’ ในคำบรรยายเหล่านั้นคือการไม่มีปฏิสัมพันธ์กับคนในสังคม การไม่เป็นที่สังเกตเห็น และเสมือนว่าไม่มีตัวตนอยู่ ซึ่งคำจำกัดความเหล่านี้ก็ตรงกับเหล่าตัวละคร ไม่เพียงลักษณะนิสัย แต่รวมทั้งสภาวะสูญเสียความเป็นตัวเอง และตรงกับสภาวะหรือคุณลักษณะบางอย่างในตัวละครซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมมักไม่ให้ความสนใจทั้งที่ควรตระหนักถึงความแตกต่างหลากหลายเช่นนั้น

            1) สภาวะสูญเสียตัวตน

            ชีวิตของแต่ละคนล้วนได้รับผลกระทบจากกระแสสังคมอยู่เสมอจนอาจสูญเสียความเป็นตัวเอง ทั้งเพื่อความอยู่รอดหรือเพื่อให้ได้รับการยอมรับ เช่นเดียวกับตัวละครในเรื่องนี้ ย่านางเป็นนักเขียนนิยายชายรักชายที่ประสบความสำเร็จ ผลิตผลงานออกมาอย่างต่อเนื่องและน่าจะมีผลงานมากที่สุดในบรรดานักเขียนในแชร์เฮาส์แห่งนี้ ถึงอย่างนั้นย่านางกลับใช้ชีวิตบั่นทอนสุขภาพตัวเองเพราะอยากตายเร็ว ๆ โดยไม่ต้องลงมือ เธอรู้สึกว่าทุกอย่างไร้ความหมาย ย่านางบอกอารีย์ด้วยสีหน้าหดหู่ว่า “แนวไหนดังฉันก็เขียน” “เกาะกระแสไปเรื่อยเหมือนคนพายเรือจ้างคนหนึ่ง” (หน้า 58) จึงสามารถตีความได้ว่าแท้จริงแล้วย่านางไม่ได้อยากเขียนนิยายตามกระแส แต่จำเป็นต้องทำเพื่อความอยู่รอดจนสูญเสียความเป็นตัวเองไป

            ขณะที่ครามเป็นนักเขียนผีหรือนักเขียนที่ออกผลงานภายใต้ชื่อของคนอื่น แม้จะมีผลงานจำนวนมาก แต่ชื่อของเขาก็ไม่ได้ปรากฏบนหนังสือเล่มไหน ครามไม่ได้ชอบลูกค้าของตัวเองเสมอไป ทว่าก็จำเป็นต้องทำเพื่อความอยู่รอด

            การสูญเสียตัวตนอีกรูปแบบหนึ่งที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้คือการเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ตรงตามความคาดหวังของสังคมเพื่อให้ได้รับความรัก อย่างตะวันที่เคยอ้วนแต่เคยมีความมั่นใจในการแต่งคอสเพลย์ได้เปลี่ยนไปเป็นคนผอม แต่งหน้าอยู่เสมอ แต่งตัวเก่ง ทว่าก็ยังกังวลอยู่ตลอดว่าตนไม่สวยเพราะคนรักนอกใจ ยอมอยู่ในความสัมพันธ์ที่ไม่ดีต่อตนเองเพราะต้องการที่พึ่งพิงทางอารมณ์ จนท้ายที่สุดก็ไม่สามารถรับสภาวะนั้นต่อไปได้

            2) สภาวะหรือคุณลักษณะที่ถูกมองข้าม

            เหตุการณ์ที่ถูกเล่าในแชร์เฮาส์ส่วนมากมักเป็นช่วงเวลาตอนเย็นหรือตอนดึก ๆ ย่านางและตุลใช้ชีวิตอยู่ในแชร์เฮาส์แทบตลอดเวลา ใช้ชีวิตสวนทางกับคนในสังคม ตื่นตอนกลางคืน นอนตอนกลางวัน ด้วยเหตุนี้ตัวตนของพวกเขาจึงขาดปฏิสัมพันธ์กับคนในสังคม ไม่เป็นที่สังเกตเห็นและถูกมองข้ามจนเหมือนภูติผี

            นอกจากนี้ยังมีสภาวะทางจิตใจของเหล่าตัวละครที่แม้แต่เจ้าตัวก็มองข้ามไปทั้งที่ควรจัดการอย่างจริงจังก่อนจะเกิดเหตุการณ์ร้ายแรง เช่น ย่านางมีสภาวะที่ตรงกับอาการ Passive death wish ซึ่งหมายถึงความปรารถนาที่จะตายไปเฉย ๆ ขณะนอนหลับ หรือถูกฆ่าด้วยอุบัติเหตุ เป็นความปรารถนาใด ๆ ที่ไม่ต้องการมีชีวิตอยู่ มักเกิดจากการไม่พึงพอใจตัวเองหรือไม่พอใจในคุณภาพชีวิต (Ayalon & Shiovitz-Ezra, 2011; Skegg, 2005) แม้เธอไม่ได้ลงมือปลิดชีวิตตัวเองอย่างจริงจัง แต่ก็ไม่ใช่สภาวะที่ควรปล่อยไว้ ขณะที่ตะวันมีลักษณะที่ใกล้เคียงกับ Dependent personality disorder โดยมักจะมีคนรักอยู่เสมอ แม้ว่าจะโดนคนรักควบคุม ทำร้ายร่างกาย หรือนอกใจ มีความหวาดกลัวว่าความสัมพันธ์จะจบลง อ่อนไหวต่อคำวิจารณ์ และไม่มีความมั่นใจในตัวเอง (Cleveland Clinic medical professional, 2020) ซึ่งไม่ใช่สภาวะที่ควรมองข้ามเช่นกัน แต่เพราะไม่ได้มีอาการร้ายแรงที่เห็นได้ชัดอย่างคนพยายามปลิดชีวิตตัวเอง คนในสังคมจึงอาจไม่ใส่ใจหรือไม่ทันตระหนักถึงสภาวะเหล่านี้ เช่นเดียวกับการมีคนรักที่มีนิสัยชอบควบคุม แม้จะยังไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้นแต่การมองข้ามและทนอยู่ในความสัมพันธ์แบบนั้นก็จะบั่นทอนตนเอง อาจนำไปสู่การโดนทำร้ายร่างกายเพราะความหึงหวงหรือความไม่พอใจในท้ายที่สุด

            และหากอ่านผลงานของ Moonscape เรื่อง ‘ปลูกดอกไม้ในดวงใจ’ ที่เป็นเหมือนภาคต่อของเล่มนี้แต่เนื้อเรื่องเจาะจงไปที่ความสัมพันธ์และชีวิตของอารีย์กับย่านาง ก็จะพบการเล่าถึงเหล่าตัวละครชายขอบที่เป็น asexual (ผู้ไม่มีแรงดึงดูดทางเพศ หรือไม่ฝักใฝ่ความสัมพันธ์ทางเพศ) , LGBTQ, และ Asperger syndrome (ความบกพร่องทางพัฒนาการ อยู่ในกลุ่มอาการเดียวกับออทิสติก)

            ด้วยเหตุนี้ การใช้คำว่า ‘ผี’ ในการบรรยายเหล่าตัวละครในเรื่องอยู่บ่อยครั้งจึงอาจสื่อถึงสภาวะการสูญเสียตัวตนและการมีคุณลักษณะที่ถูกมองข้าม ชวนให้ผู้อ่านได้ตระหนักถึงสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามเหล่านี้

            แม้เหล่าตัวละครจะเป็นเหมือนภูติผีที่สูญเสียตัวตน หรือถูกคนในสังคมมองข้าม แต่ถึงอย่างไรคนทุกคนก็จำเป็นต้องดำรงอยู่ในสังคม และต่างได้รับผลจากกระแสสังคมทางใดทางหนึ่ง

 

สังคมไม่เคยเงียบ

            ความคิดของคนในสังคมส่งผลกระทบกับชีวิตของแต่ละคนเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเหล่านักเขียนที่การวัดค่าความสำเร็จขึ้นอยู่กับกระแสตอบรับของสังคม หนังสือเล่มนี้ก็ได้บอกเล่าอิทธิพลที่บรรดาศิลปินในแชร์เฮาส์ได้รับจากสังคม ทั้งในแง่ดีและแง่ร้าย

            ย่านางจำเป็นต้องเขียนนิยายตามกระแสที่เป็นที่นิยมและสามารถขายได้ ตะวันที่ทำเพจรูปวาดเล่าเรื่องความสัมพันธ์ของตนกับคนรักได้รับคำวิจารณ์ล้ำเส้นถึงเรื่องส่วนตัวอย่างตอนที่เธอได้จบความสัมพันธ์กับคนรักแล้วเลิกโพสต์รูปคู่ แต่โพสต์รูปวาดตนเองเต็มไปด้วยรอยช้ำ ก็ถูกคนวิจารณ์ว่าทำไปเพื่อเรียกร้องความสนใจหรือเพื่อรั้งคนรักเก่าไว้ อารีย์ที่เคยทำเพจและตีพิมพ์หนังสือรวมคำคมสร้างแรงบันดาลใจ ได้รับคำวิจารณ์ว่าเป็นพวกโลกสวยที่ไม่เคยต้องดิ้นรนกับชีวิต และเมื่อเธอเข้าไปตอบโต้กับคนในอินเตอร์เน็ตก็ทำให้สำนักพิมพ์ไม่สบายใจ จนท้ายที่สุดเธอก็ไม่มีผลงานเล่มถัดไปและปิดเพจไป

            ขณะที่ตุลเขียนแนวไลท์โนเวลแฟนตาซีย้อนยุค ได้รับความนิยมจนได้แปลเป็นภาษาต่างประเทศ ดิเรกทำ vlog และเขียนหนังสือท่องเที่ยว ซึ่งเป็นแนวที่ได้รับความนิยม ทำให้พวกเขาได้รับผลตอบรับในเชิงบวกจากสังคม แต่ขณะเดียวกันก็มีการแข่งขันสูง จึงจำเป็นจะต้องหาจุดขาย ตามที่ดิเรกได้กล่าวว่า “เราต้องเป็นตัวของตัวเองครับ มั่นใจว่าเราหน้าตาดี มั่นใจว่าเราตลก มั่นใจว่าชีวิตเราน่าสนใจ แล้วก็ต้องหมั่นตามเทรนด์ใหม่ ๆ ” (หน้า 138) “ส่วนตัวผมคิดว่าเรื่องเล่าทุกเรื่องในโลกใบนี้ มีคนเล่าไปหมดแล้วทั้งนั้นแหละครับ ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมหรือการค้นหาประสบการณ์ในต่างแดน ทุกอย่างมีคนทำไปก่อนคุณทั้งนั้น เพียงแต่เรื่องราวพิเศษเหล่านั้นมันยังไม่ได้ถูกเล่าโดยเรา” (หน้า 139)

            ส่วนการเวกซึ่งอยู่ในวัยชราเคยเขียนนิยายรักชวนฝันและเริ่มเขียนเรื่องราวที่มีประเด็นสังคม การเมือง ประวัติศาสตร์เมื่อตนอายุมากขึ้น เธอยึดมั่นการเขียนที่เป็นตัวของตัวเองโดยไม่ต้องตามกระแสเพื่อที่จะไม่สูญเสียความเป็นตัวเองไป แม้นักเขียนรุ่นเดียวกันจะทยอยเลิกเขียนเพราะไม่ตามกระแสจนไม่อาจประสบความสำเร็จก็ตาม

            การเล่าให้เห็นถึงอิทธิพลและการรับมือต่อกระแสสังคมของแต่ละตัวละครเหล่านี้ ชวนให้ผู้อ่านได้คิดว่าจะหาจุดร่วมระหว่างการรักษาความเป็นตัวเองกับการอยู่รอดในสังคมอย่างไร และอาชีพที่นำเสนอความคิดอย่างนักเขียนจะเปลี่ยนกระแสสังคมได้หรือไม่

 

            ความภูมิใจ ความล้มเหลวกับการเริ่มต้นใหม่ และความรักในงานของตน บนเส้นทางการเติบโต

          ภายใต้การบอกเล่าชีวิตประจำวันของแต่ละคนยังมีสัญลักษณ์ที่ปรากฏโดยเป็นสิ่งที่ดูสามัญอย่าง ดอกไม้ ไฟ และพระจันทร์ ซึ่งถูกกล่าวถึงหลายครั้งและปรากฏในฉากสำคัญ ชวนให้คิดว่าอาจมีความหมายซ่อนอยู่

            1) ดอกไม้และความภาคภูมิใจ

            ดอกไม้ถูกบรรยายหลายครั้งเนื่องจากการเวกผู้เป็นเจ้าของแชร์เฮาส์หวงแหนบรรดาต้นไม้ของตัวเอง ขณะที่ย่านางมักจะแอบไปสูบบุหรี่แล้วพ่นควันใส่ดอกไม้ของการเวกเสมอ นอกจากนี้ดอกไม้ยังปรากฏอยู่ในชื่อหนังสือ ‘ปลูกดอกไม้ในดวงใจ’ ที่อารีย์เป็นผู้เขียน

            เมื่อลองพิจารณาจากเส้นทางนักเขียนของการเวก ย่านาง และอารีย์ เปรียบเทียบกับวิธีที่แต่ละคนปฏิบัติกับดอกไม้แล้วก็พบว่าดอกไม้อาจสื่อถึงความภาคภูมิใจ การเวกที่ยึดมั่นในการเขียนตามแบบฉบับของตนเองโดยไม่ตามกระแสมีความหวงแหนดอกไม้ สื่อความนัยว่ามีความภาคภูมิใจในตนเองสูง ขณะที่ย่านางผู้ประสบความสำเร็จในการเขียนนิยายชายรักชายตามกระแส มักพ่นควันบุหรี่ใส่ดอกไม้ การที่ดอกไม้แปดเปื้อนด้วยควันอาจสื่อถึงความภาคภูมิใจในฐานะนักเขียนที่เจือปนด้วยความหดหู่จากการสูญเสียความเป็นตัวเองในการเขียน ส่วนอารีย์ได้เปรียบเทียบผลงานของตัวเองเป็นดอกไม้ไฟ สื่อความนัยว่าเธอเคยภาคภูมิใจกับผลงานตัวเอง แต่เมื่อถูกวิจารณ์อย่างหนัก ความภาคภูมิใจนั้นจึงอยู่เพียงชั่ววูบ กลายเป็นบาดแผลที่ยังไม่อาจก้าวข้าม จึงยังไม่อาจเขียนงานชิ้นใหม่ได้

            ช่วงท้ายเรื่อง ย่านางได้มอบต้นอ่อนกุหลาบหินแก่การเวกเพื่อไถ่โทษที่ชอบพ่นควันบุหรี่ใส่ดอกไม้ แม้กุหลาบหินจะยังเป็นเพียงต้นอ่อนที่ยังไม่ผลิดอก แต่ก็เป็นสัญญาณว่าย่านางอาจจะภาคภูมิใจในตัวเองได้อย่างแท้จริงในอนาคต ซึ่งสอดคล้องกับความคิดที่จะเริ่มเปลี่ยนแปลงตัวเองของเธอ

            2) เปลวไฟ การมอดไหม้และการเริ่มต้นใหม่

            เปลวไฟ มักปรากฏในเรื่องเมื่อเหล่าตัวละครพูดถึงบาดแผลของตัวเอง อย่างอารีย์เปรียบเทียบผลงานของตนเป็นดอกไม้ไฟ แม้ไม่ใช่การเผาดอกไม้จริง ๆ แต่ดอกไม้ไฟก็มีภาพของการมอดไหม้บนฟ้าแล้วจางหายไป ย่านางเคยเผาผลงานในอดีตของตัวเอง อารีย์ที่ได้ฟังเรื่องเล่านั้นจึงชวนให้ตะวันเผาข้าวของต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับบรรดาคนรักเก่า โดยจัดเป็นคล้ายงานเฉลิมฉลอง มีเครื่องดื่ม เปิดเพลง จับมือกันเต้นรอบกองไฟ และเหตุการณ์นี้ก็ปรากฏในคำพูดสำคัญซึ่งเป็นคำพูดสุดท้ายของการเวกที่เอ่ยกับบรรดาคนในแชร์เฮาส์ เมื่อพิจารณาถึงแต่ละฉากแล้ว เปลวไฟที่ปรากฏในเรื่องอาจหมายถึงการสิ้นสุดและการเริ่มต้นใหม่

            ย่านางเผาผลงานแนวแฟนตาซีในอดีตของตนเอง ซึ่งแนวแฟนตาซีก็เคยเป็นแนวที่ได้รับความนิยม ทว่าเมื่อกระแสซาลง ย่านางก็มองผลงานของตัวเองเป็นความล้มเหลว เธอจึงเผามันไปและเริ่มต้นเขียนแนวชายรักชายจนประสบความสำเร็จอีกครั้ง นอกจากการเริ่มใหม่ของตัวย่านางเอง เปลวไฟที่ปรากฏในเหตุการณ์นี้อาจสื่อถึงการสิ้นสุดของกระแสสังคมในยุคหนึ่งก่อนกระแสใหม่จะเกิดขึ้น เมื่อย่านางไม่อาจผลิตผลงานที่นำกระแสสังคมหรือรักษากระแสนั้นไว้ได้ เธอจึงมองผลงานตัวเองเป็นความล้มเหลวทั้งที่ในยุคสมัยหนึ่งเคยเป็นความสำเร็จ

            ขณะที่ตะวันเผาบรรดาข้าวของที่เกี่ยวข้องกับคนรักเก่าเพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองให้รักตัวเอง แต่ถึงอย่างนั้นตะวันก็ไม่เผาหนังสือตัวเองที่เขียนถึงคนรักเก่า อาจสื่อถึงว่าแม้ตะวันจะทิ้งอดีตของตัวเอง ทว่าเธอจะไม่ทิ้งการเป็นศิลปินและไม่เลิกพยายามทุ่มเทเพื่ออาชีพที่ตนรัก

            การเวกบอกคนในแชร์เฮาส์เป็นคำพูดสุดท้ายว่า “ยามที่โลกมืดมนไร้หนทาง อย่าได้ลืมว่าเราเคยก่อกองไฟที่ยิ่งใหญ่ในสวนหลังบ้าน อย่าได้ลืมเท้าเปื้อนโคลน กระโปรงปลิวลมและแขนขาที่เริงระบำให้แก่ชีวิต” (หน้า 180) เมื่อพิจารณาว่าไฟเป็นสัญลักษณ์ของการสิ้นสุดและเริ่มต้นใหม่ คำพูดนี้ก็อาจสื่อถึงว่าจงอย่าสิ้นหวัง ให้จดจำช่วงเวลาที่เคยล้มเหลวแล้วเริ่มต้นใหม่โดยมีเพื่อน ๆ อยู่เคียงข้าง เพราะถึงอย่างไรความล้มเหลวและการเริ่มต้นใหม่จะเกิดขึ้นในชีวิตอยู่เสมอ เช่นเดียวกับกระแสสังคมที่อาจหักล้างแนวความคิดเดิมจนเกิดกระแสสังคมใหม่อยู่เรื่อย ๆ ทำให้อาจสูญเสียความภาคภูมิใจของตัวเองที่เกิดขึ้นภายใต้การใช้ชีวิตในกระแสสังคมเก่า ทว่าไม่ว่าอย่างไรทุกคนก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับโลกที่เปลี่ยนไปให้ได้

            3) พระจันทร์และความรักในงาน

            หากพูดถึงฉากที่ปรากฏในเรื่อง นอกจากแชร์เฮาส์แล้ว อีกสถานที่ที่เป็นเหมือนด้านตรงข้ามของแชร์เฮาส์คือร้านหนังสือพระจันทร์ตกน้ำที่อารีย์ทำงานอยู่ซึ่งมักจะถูกบอกเล่าในช่วงพระอาทิตย์ยังไม่ตกดิน ตรงข้ามกับแชร์เฮาส์ที่มักจะถูกเล่าเรื่องช่วงกลางคืน แต่ทั้งสองสถานที่ล้วนมีจุดร่วมคือแปลกแยกจากสังคมทุนนิยม แชร์เฮาส์ซึ่งตั้งอยู่ในทำเลทองกลับเปิดให้เหล่านักเขียนและศิลปินเช่าในราคาถูก ส่วนร้านหนังสือพระจันทร์ตกน้ำก็ตั้งอยู่ห่างไกลจากตัวเมือง เจ้าของร้านไม่แสวงหากำไร ตั้งเก้าอี้หวายเรียงในร้าน ขายกาแฟ ให้ลูกค้าสามารถมาจิบกาแฟพลางอ่านหนังสือในร้านฟรี ๆ เพราะอยากให้คนอ่านหนังสือเยอะ ๆ และรักหนังสือเช่นเดียวกับเจ้าของร้าน

            หนังสือที่อารีย์นำไปวิจารณ์ลงเพจร้านหนังสือเป็นเล่มแรกคือเรื่องดวงใจในดวงจันทร์ โดยเธอกล่าวถึงว่า ‘นี่คือเรื่องราวของพระจันทร์ที่ร่วงหล่นจากท้องฟ้า เด็กชายที่เก็บรักษามันไว้ และโลกที่อยู่ต่อไปโดยไร้แสงจันทร์ หนังสือเล่มนี้ทำให้ฉันนึกถึงวัยเด็กที่โดดเดี่ยว...’ (หน้า 103) เมื่อพิจารณาชีวิตนักเขียนของอารีย์ที่ผลงานชิ้นแรกถูกวิจารณ์อย่างหนักเปรียบเทียบกับคำบรรยายนี้ จึงสามารถตีความได้ว่าพระจันทร์อาจเป็นสัญลักษณ์ของความรักในงาน โดยสื่อถึงอารีย์ที่ไม่อาจทำสิ่งที่ตนรักอย่างการเขียนเปรียบเหมือนโลกที่ขาดแสงจันทร์ และเธอก็รู้สึกโดดเดี่ยวจากการได้รับคำวิจารณ์อย่างรุนแรงในทวิตเตอร์เช่นเดียวกับฉากที่อารีย์เปิดใจพูดถึงบาดแผลของตนเองกับย่านางเป็นครั้งแรก เธอก็ยังกอดเข่ามองพระจันทร์ซึ่งหมายความว่าไม่อาจตัดใจจากความรักในการเขียน

            นอกจากนี้การเวกยังได้นำหินนำโชคไปอาบแสงจันทร์ในคืนพระจันทร์เต็มดวงตอนท้ายเรื่อง และมอบหินเหล่านั้นให้บรรดาสมาชิกแชร์เฮาส์เป็นเครื่องรางไล่ฝันร้ายอันเป็นของขวัญชิ้นสุดท้ายที่การเวกมอบให้ก่อนจากไป หากมองว่าพระจันทร์สื่อถึงความรักในการเขียนแล้ว ฉากสำคัญฉากนี้อาจสื่อถึงความตั้งใจของการเวกที่ต้องการส่งต่อความรักในการเขียนให้บรรดาศิลปินรุ่นใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับการเปิดแชร์เฮาส์แห่งนี้ให้เหล่านักเขียนเช่าในราคาถูก ขณะที่เจ้าของร้านที่ตั้งชื่อร้านว่าพระจันทร์ตกน้ำ ชื่อนั้นก็คงสื่อถึงความต้องการส่งต่อความรักในหนังสือและการเขียนเช่นเดียวกัน

            ผู้เขียนได้บรรยายถึงกลางวันและกลางคืน รวมถึงข้างขึ้นข้างแรมอยู่หลายครั้ง แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนผ่านของพระจันทร์ ตั้งแต่คืนเดือนมืดจนถึงวันพระจันทร์เต็มดวง และในบทที่29 พระจันทร์ตกน้ำ ก็เล่าถึงการเปิดนิทรรศการภาพวาดสีน้ำมันของตะวัน การเวกได้ปรากฏตัวขึ้นมาพบกับเจ้าของร้านหนังสือโดยไม่มีใครเห็น ทั้งคู่นั่งอยู่บริเวณด้านหลังของโคมไฟพระจันทร์ ผู้เขียนบรรยายฉากนี้ว่า ‘นักเขียนหนุ่มสาวไม่มีใครสังเกตพวกเขาอีกต่อไป ราวกับว่าทุกสิ่งทุกอย่างได้อยู่ในที่ทางอันถูกต้องดีงามของมันแล้ว’ (หน้า 204) เมื่อพิจารณาการเปลี่ยนผ่านของพระจันทร์ที่บรรยายถึงตลอดเล่ม ฉากนี้ก็อาจสื่อถึงว่ายุคสมัยของการเวกกับเจ้าของร้านหนังสือได้สิ้นสุดแล้ว ทั้งคู่สนับสนุนเหล่านักเขียนหนุ่มสาว ส่งต่อความรักในการเขียนและกำลังใจ เฝ้ามองยุคสมัยใหม่ของคนเหล่านั้นจากด้านหลังของพระจันทร์ฟากที่ไม่มีใครมองเห็น

            สัญลักษณ์ทั้งสามซึ่งหมายถึงความภาคภูมิใจ ความล้มเหลวกับการเริ่มต้นใหม่ และความรักในงาน ล้วนเป็นสิ่งที่ปรากฏในเส้นทางการเติบโตของเหล่าตัวละครและชีวิตคนทุกคน และทั้งสามสิ่งนี้ของเหล่าตัวละครก็ล้วนได้รับอิทธิพลจากสังคมทั้งสิ้น

 

แชร์เฮาส์ เพื่อนร่วมเส้นทางความฝันที่ไม่คงอยู่ตลอดไป

            อยู่แชร์เฮาส์กับเหล่านักเขียน เป็นเหมือนเพื่อนที่ร่วมแลกเปลี่ยนเรื่องราวชีวิตประจำวันของกันและกัน โดยไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องราวที่มีจุด climax แต่เป็นชีวิตของคนทั่ว ๆ ไปที่บอกเล่าเหตุการณ์สนุก ๆ ระหว่างเพื่อน หรือเรื่องความสัมพันธ์ รวมทั้งเรื่องปัญหาและความรักในการทำงาน โดยเรื่องราวเกือบทั้งเรื่องถูกบอกเล่าด้วยมุมมองบุคคลที่ 1 เสมือนการเล่าเรื่องให้เพื่อนสนิทฟัง เปิดเรื่องโดยอารีย์เล่าคล้ายกำลังคุยกับนักอ่านว่า “ฉันมีเรื่องที่อยากเล่า ไม่ทราบว่าจะช่วยรับฟังได้ไหมคะ” (หน้า 3) ก่อนจะเฉลยช่วงท้ายเรื่องว่าทั้งหมดนั้นเธอกำลังเล่าให้ครามฟัง ส่วนเรื่องเล่าจากมุมของดิเรกเห็นได้ชัดว่าเป็นการเล่าให้ตุลฟัง ทว่าในช่วงท้ายเรื่องซึ่งเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงของแต่ละคน ผู้เขียนกลับสลับมาใช้มุมมองบุรุษที่ 3 ให้ความรู้สึกเหมือนเฝ้ามองตัวละครจากที่ไกล ๆ ต่างจากเดิมที่ได้ฟังเรื่องราวจากความคิดหรือคำบอกเล่าของตัวละครโดยตรง ราวกับจะสื่อว่าการสนทนากันอย่างใกล้ชิดไม่อาจเป็นไปได้ตลอดไป สักวันหนึ่งทุกคนก็ต้องแยกย้ายจากกัน

            สอดคล้องกับคำพูดของการเวกที่บอกว่า ‘แชร์เฮาส์หลังนี้คงไม่ได้อยู่ค้ำฟ้า สักวันเราต่างต้องแยกย้ายไปตามทางของตัวเอง บางคนอาจเลิกเป็นนักเขียน บางคนอาจกลับมาเขียน บางคนเกิดมามีชะตากรรมต้องเขียนและเขียนตลอดไป’ (หน้าที่ 180) แล้วการเวกก็จากแชร์เฮาส์ไปโดยมีครามย้ายเข้ามาอาศัยแทน เหมือนชีวิตของแต่ละคนที่มีการจากลาและพบพานใหม่ ๆ เสมอ และเช่นเดียวกับหนังสือเล่มนี้ที่ต้องจบลง แต่เมื่อไหร่ที่ผู้อ่านต้องการกำลังใจเหมือนได้พูดคุุยกับเพื่อนเก่า ก็สามารถย้อนกลับมาอ่านเพื่อพักใจแล้วกลับไปพยายามกับชีวิตตัวเองอีกครั้ง

            นอกจากเป็นการให้กำลังใจผู้ที่มีความฝัน โดยเฉพาะเหล่านักเขียนและศิลปินแล้ว หนังสือเล่มนี้ยังชวนให้ผู้อ่านได้มองตัวละครที่มีนิสัยและทัศนคติต่างกัน รวมทั้งตัวละครแบบที่มักไม่เป็นที่สังเกตในสังคม แล้วหาคำตอบให้กับชีวิตตนเองว่าจะเติบโตขึ้นอย่างไร ไม่ว่าแบบไหนล้วนไม่มีคำตอบที่ถูกต้องที่สุด และการบอกเล่าผลกระทบที่แต่ละตัวละครได้รับจากกระแสสังคมนี้ก็ชวนให้คิดว่าเราที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมชอบสังคมแบบนี้ไหม แล้วจะสร้างสังคมที่เปิดพื้นที่ให้คนซึ่งมีความแตกต่างหลากหลายได้เติบโตโดยไม่สูญเสียตัวเองมากเกินไปอย่างไร

 

อ้างอิง

Ayalon, L., & Shiovitz-Ezra, S. (2011). The relationship between loneliness and passive death wishes in the second half of life. International Psychogeriatrics, 23(10), 1677–1685. https://doi.org/10. 1017/S1041610211001384

Cleveland Clinic medical professional. (2020).  Dependent personality disorder.  Retrieved February 14, 2002, from https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/9783-dependent-personality-disorder

 

**********************************************************

 

 

 

 

 

Visitors: 82,076