ว่าด้วยผู้เล่าเรื่องและวิธีการเล่าเรื่องใน “โชติชีวิตบรรลัยของ แพทริก ชั่ยฯ”

อาทิตย์ ศรีจันทร์

 

เริ่มต้นจากจุดจบก่อน...

           “การมีชีวิตในโลกยุคปัจจุบันนี้ อาจไม่เป็นประโยชน์พอให้จดจำ ไม่เป็นภาระทางความทรงจำของใครมานัก นึกคิดอยู่คนเดียวเช่นนี้แม้นใครไม่อาวรณ์ด้วยแต่ผมกลับอาวรณ์ตัวเอง มันปลงยากเหลือเกินกับความทรงจำต่างๆ ที่ผมเคยคิด รู้สึก และการกระทำที่ผ่านมา ผมตัดสินใจติดต่อคุณ มีเรื่องอยากเล่าให้คุณฟัง อาจเป็นเหมือนปากคำสุดท้ายของชายรูปหล่อพ่อรวยคนหนึ่ง ซึ่งผมเชื่อว่าสักวันคุณจะเขียนมันออกมา...ผมเชื่อว่ามันจังไรมากพอจะดึงดูความสนใจของคุณ ก็ชีวิตคนหนึ่งน่ะนะ มีเกิดมีตาย มีทั้งโชติช่วงและชาติชั่ว มีด้านที่ควรเปิดเผยมากกว่าด้านที่อยากป่าวประกาศเปิดเผย ผมรู้ว่าคุณจะทำยังไงเพื่อให้คนขี้เหร่คนหนึ่งหล่อได้” (หน้า 260-261)

           ข้อความตัวอย่างจากด้านบนนี้เป็นส่วนสุดท้ายของนวนิยายเรื่อง “โชติชีวิตบรรลัยของ แพทริก ชั่ยฯ” ผลงานเล่มล่าสุดของ อุทิศ เหมะมูล ที่เล่าเรื่องของตัวละครตัวหนึ่งคือ พัฒนพงศ์ ชัยวัฒนาการกิจ หรือ “อาแป๊ะ” ในเวลาที่พ่อของเขาเรียกขาน หรือ “อาเพ็ก” ในเวลาที่คุยกับแม่ของเขา หรือ เพื่อนๆ และอดีตคนรักของเขาจะเรียกขานด้วยนามที่แตกต่างกัน เช่น “นะ”, “จืด”, “เพ้ง”, “พัฒนพงศ์”, “อาชัย” ส่วนชื่อ “แพทริก” และ “แพท” นั้นเป็นชื่อหลังจากที่เขาไปเรียนในต่างประเทศและมันได้กลายเป็น “ตัวตน” ของเขาไปจนตลอดเรื่อง

           “โชติชีวิตบรรลัยของ แพทริก ชั่ยฯ” เล่าเรื่องของตัวละครหลักเพียงตัวเดียวที่ผูกโยงกับชีวิตของตัวละครอีกหลายตัวผ่านราคะและกิจกรรมกามกรีฑาของตัวแพทริกเอง ความสัมพันธ์ของแพทริกกับตัวละครอื่นๆ นั้นถ้าไม่เป็นเรื่องเซ็กส์อันเร่าร้อน หื่นกระหายอย่างบ้าคลั่งแล้ว ก็เป็นความสัมพันธ์ที่เกี่ยวเนื่องกับกามารมณ์ในหลากหลายรูปแบบ เช่นตัวละครที่เป็นทั้งเพื่อนเที่ยว ทั้งเพื่อนเมาและพากันไปแสวงหาความใคร่อย่างโลดโผน เพื่อนที่ฟูมฟักรสนิยมให้กับชีวิตของเขา หรือแม้กระทั่งพ่อ ที่สอนเรื่องเซ็กส์ให้เขาอย่างตรงไปตรงมา

           ประเด็นที่น่าสนใจที่ผมอยากจะเริ่มจากจุดจบก็คือ ในขณะที่เรากำลังอ่านชีวิตทางกามารมณ์อันโลดโผนโจนทะยานของแพทริกนั้น เราจะได้ยิน “เสียง” ของแพทริกเป็นผู้เล่าอยู่ตลอดเวลา จนเราเข้าใจได้ว่าแพทริกคือผู้เล่าเรื่องนี้ทั้งหมด คือผู้เล่าเรื่องที่เป็นตัวละครหลักในเรื่องด้วยและเป็นการเล่าจากอดีตจนถึงปัจจุบัน  แพทริกในฐานะผู้เล่าเรื่องจึงเป็นผู้ที่รู้เหตุการณ์ทั้งหมดและล่วงรู้เข้าไปถึงความคิดและจิตใจของตัวละครหลายๆ ตัวอีกด้วย ความละเอียดลออในการเล่าเรื่องของแพทริกนั้นทำให้เราติดตามเรื่องราวของเขาไปจนจบเรื่องด้วยความอยากรู้อยากเห็นว่าจุดสิ้นสุดของความบ้าคลั่งนี้จะลงเอยอย่างไร

           ในตอนท้ายของเรื่อง แพทริกบอกเลิกกับมิซาโกะหญิงสาวชาวญี่ปุ่นหนึ่งในสามคนที่แพทริก “คบซ้อน” อยู่ในช่วงเวลาเดียวกันก่อนหน้านี้ ในขณะที่อ่านเราจะ “รู้สึกเหมือนว่า” กำลังนั่งฟังแพทริกเล่าเรื่องของตัวเองอยู่แต่แล้วในขณะที่เรื่องกำลังดำเนินไปว่าแพทริกค้นเจออะไรในบ้านหลังที่เขาซื้อให้มิซาโกะนั้น

           ผมค้นเจอข้าวของต่างๆ มากมายของมิซาโกะในห้องนอน...หนึ่งในนั้นคือ หนังสือ เกียวโตซ่อนกลิ่น ของคุณ เธอชอบงานคุณมากนะรู้มั้ย ผมระลึกย้อนวันว่าครั้งหนึ่งเราเคยคุยกัน ช่วงเวลาดีๆ ของเรา มีคุณอยู่ในบทสนทนานั้นด้วย เธอบอกว่าเธอชอบวิธีที่คุณเล่าเรื่อง ผมบอกว่า ถ้าเธอได้อ่านนิยายเรื่องอื่นๆ ของคุณ ซึ่งผมเคยอ่านแล้ว เธอจะชอบงานคุณยิ่งกว่านี้อีก (หน้า 232)

           จากข้อความดังกล่าวชี้ให้เราเห็นว่าแพทริกกำลังสื่อสารกับใครอีกคนหนึ่งหลังจากที่ดูเหมือนว่าเรากำลังฟังแพทริกเล่าเรื่องอยู่คนเดียวทั้งหมด และใครคนนั้นที่แพทริกกำลังสื่อสารด้วยก็คือ อุทิศ เหมะมูล ผู้เขียนเรื่องเกียวโตซ่อนกลิ่นนั่นเอง เมื่อย้อนกลับไปดูข้อความในย่อหน้าแรกเราก็จะเห็นได้อย่างชัดเจนขึ้นอีกว่าแพทริกกำลังเล่าเรื่องของเขาให้อุทิศฟังและอุทิศ (ในฐานะคนเขียนและผู้เล่าเรื่อง (!?)) ก็มาเล่าให้เราฟังอีกทอดหนึ่ง

 

ใครเล่าและใครฟัง?

           คำถามสำคัญในประเด็นทีว่าด้วยผู้เล่าเรื่องก็คือ แท้จริงแล้ว ใครกำลังเล่าเรื่องราวชีวิตอันโชติช่วงบรรลัยของแพทริกให้เราฟัง?

           โดยทั่วไป นักเขียนกับผู้เล่าเรื่องคือสิ่งที่แยกออกจากกันเสมอในวรรณกรรม ผู้เขียน/นักเขียนนั้นสร้างผู้เล่าเรื่องที่อยู่ในเรื่องขึ้นมาตัวหนึ่งเพื่อทำหน้าที่ในการเล่าเรื่องให้กับผู้อ่านฟัง ผู้เล่าเรื่องเองก็มีหลากหลายประเภท มีทั้งผู้เล่าเรื่องที่เป็นตัวละครในเรื่อง ผู้เล่าเรื่องที่ไม่ปรากฏตัวแต่มีเสียงเล่าอยู่ตลอดเวลา ผู้เล่าเรื่องที่ทำหน้าที่เหมือนประพันธกร ฯลฯ บทบาทของผู้เล่าเรื่องเหล่านี้คือการกำกับความรับรู้ของผู้อ่าน คอยบอกรายละเอียด ให้ข้อมูลที่จำเป็นต่อตัวเรื่อง ช่วยทำทำให้เราเข้าใจลักษณะนิสัยของตัวละครบางตัวได้เป็นอย่างดี

           ในวรรณกรรมหลายๆ เรื่องผู้เขียนพยายามซ่อนบทบาทของผู้เล่าเรื่องในบางครั้งอาจเป็นไปด้วยจุดประสงค์ที่ว่าเพื่อให้เรื่องเล่าที่กำลังดำเนินอยู่นั้นมีความเป็น “ธรรมชาติ” มากที่สุด ทำให้ผู้อ่านรู้สึกว่ากำลังเข้าใกล้เรื่องเล่าเหล่านั้นด้วยตัวเอง สามารถสัมผัสประสบการณ์แบบเดียวกับละครได้โดยไม่ผ่านผู้เล่าเรื่อง ยิ่งไปกว่านั้นในบางครั้งการจำกัดบทบาทของผู้เล่าเรื่องยังทำให้เรื่องเล่ามีความไหลลื่นโดยไม่ถูกขัดจังหวะจากผู้เล่าเรื่องที่อยู่ในเรื่องอีกด้วย เพราะผู้เล่าเรื่องบางประเภทจะแสดงความคิดเห็นของตนลงไปในเรื่องที่กำลังเล่าหรือปรากฏตัวเป็นระยะๆ เพื่อแสดงให้ผู้อ่านเห็นว่ากำลังฟังเรื่องราวที่มีผู้เล่าอยู่

           ในเรื่อง “โชติชีวิตบรรลัยของ แพทริก ชั่ยฯ” นั้นสิ่งที่อุทิศ (ในฐานะนักเขียน/ผู้เขียนที่อยู่นอกเรื่อง) ทำก็คือ การแสร้งให้ชีวิตกับแพทริกในฐานะผู้เล่าเรื่องของตัวเอง แพทริกดูเหมือนว่าจะเป็นผู้ที่มีอำนาจในการเล่าเรื่องของตัวเองตั้งแต่ต้นเรื่อง และผู้อ่านก็เชื่อเช่นนั้นมาตลอด จนกระทั่งมาเฉลยท้ายเรื่องว่าแท้จริงแล้ว ยังมีผู้เล่าเรื่องที่ “แท้จริง” อยู่อีกคนหนึ่งซึ่งก็ปรากฏตัวอยู่ในเรื่องด้วย นั่นคือ อุทิศ เหมะมูล (ในฐานะผู้เล่าเรื่องที่อยู่ในเรื่อง)

           ดังนั้นสิ่งที่น่าสนใจก็คือ อุทิศ เหมะมูลในฐานะผู้เล่าเรื่องที่อยู่ในเรื่องนั้นกำลัง “ปล่อย” ให้บทบาทของแพทริกในฐานะผู้เล่าเรื่องดำเนินไปอย่างไหลลื่นและเป็นธรรมชาติมากที่สุด แพททริกในฐานะผู้เล่าเรื่องจึงแสดงการกระทำ (action) ของผู้เล่าเรื่องอยู่เกือบทั้งเรื่อง ในขณะที่อุทิศ เหมะมูลนั้นแสดงการกระทำในฐานะดู “ผู้ฟังเรื่องเล่า” เท่านั้น แต่ผู้ฟังเรื่องเล่าอย่างอุทิศนี้เองเป็นสิ่งที่ชวนให้เราคิดต่อไปในฐานะคนอ่านว่า การฟังของอุทิศในเรื่องนี้มีบทบาทเป็นผู้รับ (passive) หรือผู้กระทำ (active) เพราะเราแทบไม่เห็นการกระทำของอุทิศในฐานะผู้เล่าเรื่องเลย หน้าที่ของอุทิศดูเหมือนจะเป็นเป็นแค่เครื่องบันทึกเสียงของแพทริกที่บันทึกเรื่องเล่าของแพทริกเอาไว้แล้วมาเปิดให้ผู้อ่านฟังเท่านั้น

 

เรื่องเล่าและผู้เล่าเรื่องที่ซับซ้อน

           ผมคิดว่าวิธีการเล่าเรื่องในนวนิยาย “โชติชีวิตบรรลัยของ แพทริก ชั่ยฯ” น่าจะมีความซับซ้อนได้มากกว่านั้น หากเรากลับไปพิจารณาข้อความที่ผมได้ยกมาไว้ในย่อหน้าแรกอีกครั้ง เราจะเห็นประโยคที่ว่า “ผมเชื่อว่าสักวันคุณจะเขียนมันออกมา” และ “ผมรู้ว่าคุณจะทำยังไงเพื่อให้คนขี้เหร่คนหนึ่งหล่อได้” และในชื่อตอนสุดท้ายนี้เองก็มีชื่อว่า “คนขี้เหร่เกิด” ข้อความเหล่านี้ชวนให้เราคิดต่อได้ว่า แท้จริงแล้ว แพทริกได้เล่าเรื่องให้อุทิศฟังแล้ว และอุทิศ (ในฐานะผู้เล่าเรื่อง)ก็ทำเหมือนกับยกเรื่องเล่าทั้งก้อนของแพทริกเอามากองไว้ให้ผู้อ่านฟังและทำให้ดูเป็นธรรมชาติมากที่สุดโดยแสดงให้เห็นว่าอุทิศ (ในฐานะผู้เล่าเรื่อง) ไม่ได้ “ทำอะไร” กับเรื่องเล่าของแพทริกทั้งหมดเลย แต่ให้เรื่องเล่าของแพทริกไหลเวียนเข้ามาผ่านตัวของเขาเท่านั้น

           อย่างไรก็ตาม ข้อความที่ว่า “ผมรู้ว่าคุณจะทำยังไงเพื่อให้คนขี้เหร่คนหนึ่งหล่อได้” ย่อมแสดงให้เห็นว่า ด้วยฝีมือของอุทิศในฐานะนักเขียนจะเป็นสิ่งที่ช่วยขัดเกลาเรื่องเล่าของแพทริกให้ออกมาดูดีได้ ดังนั้น เรื่องเล่าทั้งหมดที่ผู้อ่านได้อ่านตั้งแต่ต้นนั้นล้วนแต่ผ่านการตกแต่ง ตัดต่อ แต่งเติม จากอุทิศในฐานะผู้เล่าเรื่องทั้งสิ้น เพียงแต่เราไม่เห็นว่าผู้เล่าเรื่องอย่างอุทิศ (ในฐานะผู้เล่าเรื่องที่อยู่ในเรื่อง) นั้นมีวิธีการเล่าอย่างไร

           ผมคิดว่าวิธีการเล่าเรื่องเช่นนี้น่าสนใจ เพราะการซ่อนตัวของผู้เล่าเรื่องนั้นโดยทั่วไปมักจะนำเสนอออกมาเป็นเสียง แต่ก็เป็นเสียงเล่าที่ไม่ได้ชี้นำคนอ่านมากนัก เป็นการเล่าว่าเกิดอะไรขึ้นที่ไหน เมื่อไร มีใครบ้าง และการกระทำของตัวละครคืออะไร กล่าวคือเล่าไปตามเรื่อง แม้กระนั้นเราก็ยังสามารถรู้สึกได้ว่ามีใครสักคนกำลังเล่าเรื่องให้เราฟ้งอยู่ วิธีการเช่นนี้อาจเป็นสิ่งที่ทำให้เรื่องเล่าดูเป็นธรรมชาติมากที่สุด ราวกับเรื่องเล่าที่เกิดขึ้นในวรรณกรรมนั้นปรากฏตัวขึ้นมาเองต่อหน้าผู้อ่าน แต่ใน “โชติชีวิตบรรลัยของ แพทริก ชั่ยฯ” สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ผู้เล่าเรื่องนี้ (ที่อยู่ในตัวเรื่อง) ที่แท้จริงได้สร้างผู้เล่าเรื่องหลอกๆ ขึ้นมาและเป็นตัวละครสำคัญของเรื่องด้วย และดูเหมือนว่าเขาได้ปล่อยให้ผู้เล่าเรื่องหลอกๆ ได้แสดงบทบาทของตนอย่างเต็มที่ต่อผู้อ่าน แต่ภายใต้บทบาทเหล่านั้นกลับเป็นสิ่งที่ถูกกำกับและควบคุมจากผู้เล่าเรื่องตัวจริงซึ่งจะมาปรากฏตัวท้ายเรื่องนั่นเอง

           ดูเหมือนว่าหน้าที่อย่างหนึ่งของอุทิศในฐานะผู้เล่าเรื่องที่อยู่ในเรื่องนั้นมีลักษณะที่คล้ายคลึงกับบทบาทของบรรณาธิการ ดังจะเห็นได้จากข้อความที่ว่า “ก็ชีวิตคนหนึ่งน่ะนะ มีเกิดมีตาย มีทั้งโชติช่วงและชาติชั่ว มีด้านที่ควรเปิดเผยมากกว่าด้านที่อยากป่าวประกาศเปิดเผย” สิ่งที่อุทิศในฐานะผู้เล่าเรื่องทำนั้นดูเหมือนจะเป็นการสกัดว่าอะไรคือสิ่งที่เปิดเผยได้และอะไรที่อาจไม่น่าเปิดเผยนักแต่ถ้าอยากป่าวประกาศก็จะมีวิธีการเฉพาะที่ทำให้สิ่งที่กำลังเล่ามีความเหมาะสม ไม่ขาว ไม่ดำ จนเกินไป และที่สำคัญยังกลายเป็นสิ่งที่ทำให้ “คนขี้เหร่คนหนึ่งหล่อได้”

 

ผู้เล่าเรื่องของวรรณกรรมและนักประวัติศาสตร์

           ประเด็นที่ผมสนใจประการต่อมาก็คือ บทบาทของผู้เล่าเรื่องที่สามารถรังสรรค์ความเป็นความตาย ความดีความงาม ให้กับตัวละครได้โลดแล่นอยู่ในโลกของวรรณกรรมได้ รวมถึงเหตุการณ์และการกระทำของตัวละครที่ทำให้เรื่องเล่าแต่ละเรื่องมีความสมบูรณ์ในตัวเอง และที่สำคัญผู้เล่าเรื่องทำให้เรื่องเล่าแต่ละเรื่องมีความเป็นธรรมชาติชวนให้ผู้อ่านติดตามเรื่องราวไปจนจบเรื่องได้

           หากพิจารณาใน “โชติชีวิตบรรลัยของ แพทริก ชั่ยฯ” เราจะเห็นบทบาทที่สำคัญอย่างหนึ่งของผู้เล่าเรื่องก็คือ การทำให้ชีวิตอันผาดโผนทางกามารมณ์ของแพทริกนั้นดูเป็นสิ่งที่มีที่มาที่ไป ความทะยานอยากลิ้มลองในรสราคะ ความปรารถนาที่เติมไม่เต็ม/ไม่เคยเต็มและไม่มีวันจะเต็มของแพทริก ไม่ได้ถูกนำเสนอออกมาอย่างแบนราบ บุคลิกลักษณะของแพทริกคือสิ่งที่ดึงดูดผู้อ่านให้ติดตามตั้งแต่ต้นจนจบ และหากพิจารณาด้วยว่า เรื่องราวของแพทริกทั้งเล่มนี้เกิดขึ้นจากการที่แพทริกเล่าเรื่องให้ผู้เล่าเรื่องฟังแล้วผู้เล่าเรื่องก็เอามา “เขียน” ต่ออีกทอดหนึ่ง เราจะเห็นได้อีกว่า อำนาจของผู้เล่าเรื่องในจักรวาลของเรื่องเล่านั้นเป็นสิ่งที่ใหญ่โตโอฬารและมีอิทธิพลต่อทั้งเรื่องเล่าและคนอ่านมาก

           ในการทำงานเล่าเรื่อง แน่นอนว่าผู้เล่าเรื่องไม่ได้นำเอาเรื่อง “ทั้งหมด” มาเล่าอย่างตรงไปตรงมาแม้ว่าตัวเรื่องจะพยายามชี้ให้เราเห็นเช่นนั้นก็ตาม ในแง่นี้ผู้เล่าเรื่องกับนักประวัติศาสตร์มีวิธีการทำงานที่คล้ายคลึงกันก็คือ การคัดเลือกเหตุการณ์ที่เป็นเหตุเป็นผมซึ่งกันและกันมาร้อยเรียงต่อกันโดยมีโครงเรื่องที่ต้องการจะเล่าเป็นแก่นกลางคอยเชื่อมโยงเหตุการณ์ต่างๆ เอาไว้ แต่นักประวัติศาสตร์นั้นเปิดเผยตัวตนอย่างตรงไปตรงมาในงานว่าพวกเขากำลังเล่าอะไรและเล่าอย่างไร ต่างจากผู้เล่าเรื่องใน “โชติชีวิตบรรลัยของ แพทริก ชั่ยฯ” ที่ปกปิดตัวเองมาตลอดเรื่องและปล่อยให้ “คนอื่น”​ทำหน้าที่แทนตัวเอง

           เราอาจเข้าใจได้ว่านักประวัติศาสตร์กำลังทำงานวิชาการ ดังนั้นความโปร่งใส่และตรวจสอบได้เป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลและข้อสรุปที่ถูกต้องหรือใกล้เคียงกับความเป็นจริง...หรือสอดรับกับสมมติฐานที่นักประวัติศาสตร์มีอยู่แล้วในใจของตนเอง ในขณะที่งานวรรณกรรม การตรวจสอบข้อเท็จจริงอาจเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นเท่าไรนักโดยเฉพาะในประเด็นของความจริงของเรื่องเล่า ก็ในเมื่อมันคือวรรณกรรม มันคือเรื่องแต่ง ความเป็นจริงอาจไม่อยู่ในสมการของจักรวาลนี้...

 

บทบาทและอำนาจของผู้เล่าเรื่องในวรรณกรรม...และสังคมไทย

           สิ่งที่ผู้เล่าเรื่องในนวนิยาย “โชติชีวิตบรรลัยของ แพทริก ชั่ยฯ” ชวนให้ผมคิดต่อไปก็คือ บทบาทและอิทธิพลของผู้เล่าเรื่องนั้นถ้าหากไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในวรรณกรรมและไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในการวิเคราะห์วรรณกรรมเสียแล้ว เราจะเห็นอะไรได้อีกบ้าง ในนวนิยาย “โชติชีวิตบรรลัยของ แพทริก ชั่ยฯ” ผู้เล่าเรื่องตัวจริงหลบซ่อนตัวจนท้ายเล่มผู้อ่านจึงได้ทราบว่าแท้จริงแล้วเรื่องราวทั้งหมดมันคือการบงการของผู้เล่าเรื่องที่มีอำนาจในการกำกับเรื่องเล่า...

           แม้ว่า “โชติชีวิตบรรลัยของ แพทริก ชั่ยฯ” จะเป็นนิยายที่เล่าเรื่องเพลย์บอยบ้านรวย ชีวิตมีแต่เรื่องกามารมณ์จนพาให้โชติช่วงและบรรลัย แต่นอกเหนือไปจากนั้นมันคือการเล่าถึงสภาพสังคม เหตุบ้านการเมืองของไทยในรอบ 5 ทศวรรษ ตั้งแต่ยุค 70 จนถึงปัจจุบัน ปัจจุบันที่ประชาชนในสังคมยังคงต้องต่อสู้ดิ้นรนทั้งปากท้องและการเมือง วิธีการเล่าเรื่องของนวนิยายเรื่องนี้ ชวนให้ผมคิดว่า ถ้าผู้เล่าเรื่องมีอำนาจล้นในการเสกสรรปั้นแต่งเรื่องเล่าต่างๆ ขึ้นมาได้ ทำให้คนบ้ากาม เสพติดการเซ็กส์ และเสพยาอย่างเมามันอย่าแพทริกดูเป็น “มนุษย์ที่มีมิติ” ขึ้นมาได้โดยที่ตัวเองก็ไม่ต้องเปิดเผยตัวตนอะไรทั้งสิ้น แล้วเรื่องเล่าในสังคมไทยล่ะ มันไหลมาจากไหนบ้าง ใครคือผู้เล่าเรื่องที่แท้จริง ใครมีอำนาจในการกำกับเรื่องเล่าชุดต่างๆ ที่ไหลเวียนอยู่ในสังคมไทย คนดีๆ ชั่วที่ถูกเล่าทั้งมีมิติและไม่มีมิตินั้น พวกเขาสร้างคนเหล่านี้ขึ้นมาบนพื้นฐานของเรื่องเล่าแบบไหนกันบ้าง

           เป็นเรื่องที่ผมคิดไม่ตกจริงๆ ครับ...

 

 ****************************************

ซื้อหนังสือ “โชติชีวิตบรรลัยของ แพทริก ชั่ยฯ” ได้ที่

ร้านสวนเงินมีมา

ร้านหนังสือเล็กๆ สงขลา

 

 

Visitors: 72,239