“รยางค์และเงื้อมเงา การต่อกรและโต้กลับจากโลกมืด”

พชร เพียงพล

          มีหลายเหตุผลที่คนส่วนใหญ่มองข้ามผลงานของวิภาส ศรีทอง แม้ว่าเขาจะขึ้นทำเนียบเป็นหนึ่งในนักเขียนซีไรต์แล้วก็ตาม “คนแคระ” เป็นนวนิยายรางวัลและสร้างชื่อที่สุด แต่คล้ายว่าต้นธารความเป็นนักเขียนของวิภาสจะก่อเกิดและมีพัฒนาการมาจากงานเขียนประเภทเรื่องสั้น รยางค์และเงื้อมเงา ถือเป็นรวมเรื่องสั้นลำดับที่สามหลังห่างหายไปกว่าทศวรรษนับถัดจาก แมวเก้าชีวิต (2545) และ เวลาล่วงผ่านอุโมงค์ (2551)

          “ความสิ้นหวังเป็นพลังที่ทรงอำนาจเหลือเกิน”(น.77)  ถ้อยคำบางส่วนจากเรื่องสั้น ลิงภูเขา เก็บงำสารบางอย่างเอาไว้อย่างมีนัยยะ เมื่ออ่านจากตัวบท ความสิ้นหวังในที่นี้ เป็นผลพวงมาจากการถูกกดขี่เป็นเวลานานจนกลายเป็นความชินชาที่ทำให้ผู้ถูกกดขี่เชื่องกับการกดตัวเองให้ต่ำลง และเริ่มหันมากดขี่กันเองมากขึ้น แต่ในทางกลับกัน เหมือนวิภาสกำลังกระตุ้นเตือนว่า แท้จริงความสิ้นหวังไม่ได้เป็นเพียง “เครื่องมือ” ของชนชั้นปกครองถ่ายเดียว แต่พลานุภาพจากความเดือดดาลที่แฝงเร้น ยังสามารถเปลี่ยนเป็น “อาวุธ” ของผู้ถูกกดขี่ได้อีกด้วย

         รูปประโยคและข้อความซ่อนนัยคล้ายคลึงกันนี้ มีปรากฏอยู่ในหลายเรื่องสั้นตลอดทั้งเล่ม คล้ายกับวิภาสนำเอาถ้อยคำระหว่างบรรทัดขึ้นมาทาบทับลงไปบนบรรทัดอีกคำรบ ทำให้ตลอดการอ่าน (ในแง่หนึ่งการอ่านก็เปรียบเสมือนการเขียนขึ้นใหม่เช่นกัน) ผู้อ่านมีอำนาจในการตีความตัวบทได้อย่างอิสระตามแต่ปัจเจกบุคคล ซึ่งสอดคล้องกับรูปแบบการนำเสนอเนื้อหาในเล่มที่ปราศจากการชี้นำของผู้เขียนด้วย คำนำ หรือ คำตาม ใดๆ

 

สถานการณ์สนเท่ห์

            รยางค์และเงื้อมเงา ประกอบด้วยเรื่องสั้นสิบเรื่อง ที่มองผิวเผินเหมือนขาดความเป็นเอกภาพ ไม่มีการปะติดปะต่อหรือยึดโยงเข้าหากัน อีกทั้งทุกเรื่องยังไม่มีตอนจบที่สมบูรณ์แบบ แต่หากพิจารณาโดยอ่านเรียงเรื่องตามลำดับจะพบว่า แต่ละเรื่องสั้นถูกจัดวางอย่างจงใจ เพื่อใช้เป็นภาพแทนพัฒนาการช่วงชีวิตของสามัญชน นับตั้งแต่การเกิดในเรื่องสั้น “ตัวประกอบ” ผ่านเข้าวัยเยาว์ใน “เด็กระเบิด” เติบโตเป็นผู้ใหญ่ วัยทำงานอย่าง “วันหนึ่งของเธอ” , “ลิงภูเขา” , “สามสหาย” , “สุนทรีมืด” , “ตำนานซิซีฟุส : ภาคถัดมา” ร่วงโรยสู่วัยชรา “ความปรารถนา” , “ศูนย์อัสดง” และเผชิญหน้ากับช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตใน “จาริกไปในความเงียบงัน” ลำนำชีวิตที่ประกอบขึ้นอย่างผิดแปลกนี้ มิได้มุ่งถ่ายทอดชีวประวัติของตัวละครหรือใครในสังคมใดสังคมหนึ่งเป็นหลัก หากแต่กำลังสะท้อนสภาวะหลากหลายและเลื่อนไหลของผู้คนร่วมสมัยที่ดำรงอยู่ท่ามกลางพันธนาการจากระบอบเก่าและการครอบงำแบบใหม่อันยากจะหลุดพ้น

            นอกจากการสร้างลำนำชีวิตแล้ว ความละเมียดของภาษา รวมถึงกลวิธีที่วิภาสใช้ในการดำเนินเรื่องยังเป็นอีกส่วนสำคัญในการสร้างบรรยากาศและสามารถคงอารมณ์หม่นเศร้าให้ครอบคลุมบนระนาบเดียวกันตลอดทั้งเล่ม ความเรียบเรื่อยไม่หวือหวานี้ ด้านหนึ่งขับเน้นให้รายละเอียดเล็กน้อยในเรื่องเล่าเด่นชัดขึ้น ส่วนอีกด้านกลับสร้างให้เกิดลักษณะร่วมบางอย่างที่น่าสนใจ

            หากสังเกตบทบรรยายฉากและพฤติกรรมของตัวละครในเรื่อง “วันหนึ่งของเธอ” ซึ่งเล่าเรื่องราวผ่านซอมบี้สาวขณะเดินทอดเที่ยวไปตามเมืองร้าง ท่ามกลางกิจวัตรซ้ำซากของเหล่าซอมบี้ จนเธอได้พบกับซอมบี้หนุ่มและติดตามเขาไปยังที่พักด้วยความบังเอิญ เนื้อเรื่องถูกเล่าเป็นเส้นตรงอย่างเรียบง่ายตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่มีปูมหลังหรือปมของตัวละครให้รับรู้ เพียงเผยเรื่องราวที่ปรากฏ “ซึ่งหน้า” เท่านั้น ไม่ต่างจากการบันทึกอนุทินทั่วไป แต่วิธีนี้กลับทำให้รายละเอียดในเรื่องมีความโดดเด่นขึ้นมา

            “เธอเหลือบเห็นซอมบี้สาวใบหน้าซีกหนึ่งเต็มไปด้วยแผลพุพองยืนง่วนอยู่หลังเคาน์เตอร์แคชเชียร์ นิ้วคอยจิ้มอยู่บนเครื่องคิดเงินไม่ขยับไปไหน เหมือนติดกับดักและถูกพันธนาการด้วยวงจรความนึกคิดติดๆดับๆ ย้ำคิดย้ำทำซ้ำวนไม่หยุด”(น.58)

            จากบทบรรยายจะเห็นว่าซอมบี้ในเรื่องเป็นภาพแทนของสภาวะกึ่งเป็นกึ่งตาย หรือ ร่างที่มีชีวิตแต่ไร้ซึ่งจิตวิญญาณ เป็นอุปมาของชนชั้นแรงงานในโลกทุนนิยมที่ถูกกดทับกดขี่และกลืนกินอยู่ตลอดเวลา ความเปรียบนี้ยังเสียดล้อระบอบทุนนิยมที่หยั่งรากลึกถึงระดับจิตวิญญาณจนยากจะขจัดทิ้ง ดังข้อความที่ว่า “ดูเหมือนต่างกำลังแช่ตัวเองอยู่ในสภาพที่คุ้นเคย ทำในสิ่งที่เคยทำเพื่อจะได้กลับคืนสู่ฟันเฟืองที่ตนเคยมีส่วนร่วมมาก่อนหน้า”(น.58) แม้สภาพร่างกายแปรเปลี่ยนเป็นซอมบี้แล้ว ก็ใช่ว่าจะได้พบกับอิสรภาพ เพราะท้ายที่สุดแทนที่จะหลุดพ้นกลับกลายเป็นยิ่งโหยหา

             เช่นเดียวกับในเรื่อง “ตำนานซิซีฟุส : ภาคถัดมา” ซึ่งดัดแปลงมาจากเรื่องของราชาคนบาปในตำนานกรีก ที่ถูกเทพเจ้าลงทัณฑ์ให้กลิ้งหินขึ้นสู่ยอดเขา แล้วก้อนหินก็จะกลิ้งตกลงมาทุกครั้งเมื่อขึ้นไปถึง วนเวียนเช่นนี้ไม่รู้จบ วิภาสจึงสร้างสถานการณ์ใหม่ให้ก้อนหินหยุดนิ่งอยู่บนยอดเขาไม่ขยับเขยื้อนไปไหน ถือเป็นอันสิ้นสุดการลงทัณฑ์ แต่ซิซีฟุสกลับไม่อาจหวนคืนสู่อิสรภาพอย่างที่ควรจะเป็น “หลายศตวรรษผ่านพ้น ซิซีฟุสเลิกหวังจะได้รับการปลดปล่อย เขาเริ่มลืมตัวเอง ความทรงจำช่วงแรกจางลง เหลือเพียงสภาพคลุมเครือของห้วงคิด มันค่อยๆ ถูกแทนที่ด้วยภาพทั้งหลายที่อุบัติซ้ำไม่รู้จบ” (น.139) ดังนั้นจากพฤติกรรมของเหล่าซอมบี้และถ้อยพรรณนาของซิซีฟุส แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลจากการถูกบงการและครอบงำเป็นเวลานานจนสามารถเปลี่ยนแปลงความคิด ความเชื่อ และตัวตนเดิมไปอย่างถอนรากถอนโคน จึงไม่น่าแปลกใจ เมื่อวิภาสตอกย้ำความซ้ำซากนี้ด้วยการตั้งชื่อเรื่องสั้นอย่างแสบสันว่า “วันหนึ่งของเธอ” เพื่อจุดชนวนให้เห็นว่า “วันหนึ่ง” ที่ปรากฏนั้น มีความหมายไม่ต่างอะไรกับชีวิตใน “ทุกๆวันของเธอ”

            อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจในเรื่อง “วันหนึ่งของเธอ” คือ “การจับจ้อง” จากเรื่องจะเห็นว่าตัวละครซอมบี้สาวสามารถสะกดรอยตามซอมบี้อีกตัวเข้าไปได้ถึงห้องพัก คล้ายสื่อนัยถึงการเข้าค้นตัวตนภายในของอีกคนที่ซ่อนอยู่ภายใต้รูปลักษณ์ภายนอก ทั้งยังนำไปสู่ประเด็นลัทธิบริโภคนิยมที่ถูกพรางไว้อย่างแนบเนียน “เมื่อย่างลึกเข้าไป ภายในเต็มไปด้วยข้าวของสัพเพเหระทั้งหลายที่เจ้าของสถานที่รวบรวมไว้”(น.65) รูปแบบพฤติกรรมการสะกดรอยและจับจ้องของตัวละครนี้ ยังปรากฏขึ้นในอีกหลายเรื่องสั้น อาทิ “ลิงภูเขา” ในฉากที่ลิงสาวคอยเฝ้ามองและสะกดรอยตามลิงหนุ่มไม่ห่าง “ฉันยิ้มทัก แทนที่จะตอบรับไมตรี เขาทำหน้าสยดสยอง ก่อนจะเปลี่ยนเป็นฉุนเฉียว เร่งฝีเท้าตีจาก ครั้นพอเหลียวมาเห็นฉันยังสืบเท้าอยู่ข้างหลัง เขาก็ถลันลับไปตรงมุมอาคาร ฉันไม่เห็นเขาอีกแม้พยายามมองหา”(น.76)

            หรือในเรื่อง “จาริกไปในความเงียบงัน” ที่แวดล้อมด้วยการจับจ้องหลายรูปแบบ ทั้งจากที่ชัยกิจลอบสังเกตพฤติกรรมของชายจรจัด “มีบางอย่างผิดปกติแน่นอน เขาเดาความคิดของชายผู้นี้ได้และนั่นทำให้เขาไม่กล้าจินตนาการต่อ ได้แต่จับตามองเรือนร่างที่เคลื่อนช้าลงคล้ายจะดูลาดเลา ก่อนย่างเท้าทีละก้าวลงสู่บึง”(น.191) หรือเมื่อชัยกิจติดกล้องวงจรปิดเพื่อดูตัวเอง “เพื่อให้ครบถ้วนสมบูรณ์ คงต้องติดกล้องเพิ่มอีกจุดตรงที่เรานั่งกันอยู่ด้วย เอาไว้ย้อนกลับมาดูตัวเองขณะจ้องภาพหน้าจอ”(น.214) หรือแม้กระทั่งการตกเป็นผู้ถูกจับจ้องเสียเอง “ทั้งที่ในช่วงแรกผมแค่ประหลาดใจ ไม่ได้คิดล่วงหน้าว่าความสนใจของพวกมันจะรวมศูนย์อยู่ที่ตัวผม จนเมื่อผมเห็นการรวมกลุ่มของโดรนหลายสถานที่ในลักษณะเหมือนติดตาม ทั้งยังดูเชื่อมโยงถึงกันอย่างแฝงเร้น นอกอาคารที่ทำงาน ทางเข้าออกหน้าตึกคอนโดฯ ที่ผมพำนัก”(น.202)

            หากเทียบเคียงข้อความข้างต้น จะเห็นชัดถึงลักษณะร่วมในพฤติกรรมของตัวละคร ที่หมกมุ่นอยู่กับการสะกดรอยและการจับจ้องด้วยแรงจูงใจบางอย่าง ก่อให้เกิดสถานการณ์ที่ทั้งชวนให้อยากติดตามและสร้างความไม่น่าไว้วางใจในเวลาเดียวกัน จนทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างตัวละครในท้ายที่สุด เหตุที่กล่าวเช่นนี้ เนื่องจากนัยยะของการจับจ้อง แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ที่ผู้จ้องมองมักเชื่อว่าตนมีอำนาจเหนือกว่าสิ่งที่กำลังถูกจับจ้องเสมอ

            ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อพื้นที่ทางอำนาจถูกรบกวนมากเกินไป ย่อมเกิดการใช้ความรุนแรง เพื่อควบคุมหรือกีดกันผู้ด้อยกว่าเหมือนอย่างในเรื่อง “ศูนย์อัสดง” ที่เจริญถูกย้ายไปอยู่ตึกไข่หลังทำสิ่งไม่สมควรต่อหน้าคณะเยี่ยมชม ซึ่งตึกไข่เป็นภาพแทนพื้นที่สำหรับคนที่ถูกกำจัดออกจากสังคม ถูกลดทอนคุณค่าให้กลายเป็นเพียงตัวอ่อนหมดสภาพ โดยใช้เกณฑ์การประเมินด้วยสายตาของผู้ปกครองศูนย์ฯ จึงอาจกล่าวได้ว่า การจับจ้องเป็นวิธีสำคัญที่ใช้ในการปกป้องพื้นที่ทางอำนาจ ทั้งยังช่วยรักษาเสถียรภาพของระบบให้มีความมั่นคงมากขึ้นอีกด้วย    

 

หดความเป็นชาย ขยายความเป็นหญิง

            ประเด็นความเป็นหญิงเป็นชายใน รยางค์และเงื้อมเงา นับว่ามีความโดดเด่นและท้าทายเป็นอย่างมาก นั่นเพราะวิภาสจัดวางตัวละครหญิงให้อยู่ในตำแหน่งที่สามารถแสดงศักยภาพได้อย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันก็กระชับพื้นที่ของเพศชายให้หดแคบลง จนทำให้ผู้อ่านรู้สึกว่าผู้หญิงกับผู้ชายไม่อยู่ในสถานะคู่ตรงข้ามกันอีกต่อไป

            ในเรื่องสั้น “ตัวประกอบ” จะเห็นว่าบทบาทหน้าที่ในสถาบันครอบครัวถูกสลับขั้วกันอย่างน่าขบขันและมีนัยยะ เมื่อ กมล สามีกลายมาเป็นผู้รับผิดชอบงานในบ้านทั้งหมด ขณะที่ วิยะดา ภรรยาเป็นคนออกไปทำงานนอกบ้านแทน “กมลนั่งรอที่โต๊ะอาหาร ปกติช่วงเวลานี้วิยะดาจะกลับมาถึงบ้านแล้ว เขาพยายามไม่หงุดหงิด คิดเสียว่าทั้งสองต่างมีชีวิตของตัวเองอย่างมีอิสระต่อกัน”(น.23) ดังนั้น อำนาจในฐานะหัวหน้าครอบครัวจึงถูกย้ายจากชายสู่หญิงโดยปริยาย ไม่เพียงเท่านั้น วิภาสยังยัดเยียด “ความเป็นเมียและแม่” ให้กับกมลอย่างสมบูรณ์ ด้วยการให้เขาสำรอกชิ้นส่วนต่างๆออกมา จนสามารถประกอบสร้างสิ่งมีชีวิตขึ้นได้ การสำรอกออกจึงถูกใช้เป็นสัญญะแทนการคลอดลูก ปากของผู้ชายจึงกลายเป็นช่องคลอดของผู้หญิง “เขาไม่อยากนึกถึงส่วนผสมอันน่าขนลุกของมัน สิ่งแปลกปลอมที่เขาไม่ต้องการ สิ่งมีชีวิตที่เสมือนมีที่มาจากครรภ์เน่าผุของเขา”(น.39) แม้ว่ากมลจะอยู่ในสถานะผู้ให้กำเนิด แต่เขาก็ยังตั้งแง่รังเกียจสิ่งมีชีวิตที่เกิดมา หาได้มีจิตวิญญาณของความเป็นแม่ไม่ อีกทั้งภายหลังการสำรอก ยังทำให้กมลเข้าสู่สภาวะอ่อนแอทั้งร่างกายและจิตใจแบบถาวร มีสภาพไม่ต่างจากทารกแบเบาะและเปราะบาง “กระนั้นความคำนึงของเขากลับมาหาวิยะดาเสมอ ซมซานมาหาเธอเหมือนเด็กป่วยที่ต้องพึ่งมารดา เธออาทรเขา เฝ้าปรนนิบัติดูแล ใช้น้ำเสียงอ่อนโยนต่างไปจากเมื่อก่อน เธอกลายเป็นจุดศูนย์กลางของทุกชีวิตในบ้านหลังนี้”(น.38-39)

            การเสนอภาพความอ่อนแอของตัวละครชายยังสอดแทรกในอีกหลายเรื่อง เช่น “วันหนึ่งของเธอ” ในฉากที่ซอมบี้หนุ่มสังเกตเห็นซอมบี้สาวภายในที่พักของตน “เขาเริ่มตัวสั่นระทก คล้ายเพิ่งรู้ตัวถึงภัย แสดงอาการสับสนและตกใจกลัว คุดคู้เข่าพับ เก็บแขนขาไม่ให้ร่างกายถูกสัมผัส กลอกตาส่ายไปมาอย่างกังขาว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นรอบๆ”(น.66-67) หรือ ฉากการปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างลิงหนุ่มกับลิงสาว ใน “ลิงภูเขา” หลังลิงสาวตอบโต้กลับด้วยการระเบิดเสียงหัวเราะออกมาอย่างบ้าคลั่ง “เขาเขวี้ยงกิ่งไม้ทิ้ง ถอยไปสองสามก้าวและยืนชะงักกระหืดกระหอบ ใบหน้าบิดไปจนดูน่าเกลียด เขาหลุดเสียงสะอึกออกจากลำคอสองสามครั้ง ไหล่ลู่ ศีรษะตก ร่ำไห้ออกมาโดยไร้เสียง”(น.87) พฤติกรรมดังกล่าวสะท้อนให้เห็นความเป็นหญิงที่เร้นซ่อนอยู่ในเพศชาย เป็นการลดทอนภาพลักษณ์และสร้างความน่าอับอายอย่างยิ่ง ไม่ว่าการกระทำนั้นจะเกิดขึ้นในพื้นที่ส่วนตัวหรือในพื้นที่สาธารณะก็ตาม

            “ความปรารถนา” เป็นอีกเรื่องสั้นที่ยืนยันความเป็นหญิงที่ดำรงอยู่ท่ามกลางสังคมปิตาธิปไตย ซึ่งกระแสสำนึกของตัวละครหญิงในเรื่องพยายามตั้งคำถามและนิยามความรู้สึกที่ไร้ชื่อเรียกอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่วัยแรกรุ่นจนร่วงโรย นั่นเพราะเธอต่อต้านและไม่ยอมรับภาษาที่ถูกกำหนดโดยเพศชาย “ณ ห้องแห่งนั้น ฉันปล่อยให้ตนเองได้รับสิ่งที่ต้องการ สิ่งที่ฉันไม่อาจใช้คำพูดใดๆ เป็นตัวแทนหรือนิยามเรียกมันได้ ตราบกระทั่งบัดนี้”(น.152)

            ในทางทฤษฎีการกำหนดความหมายทางวัฒนธรรมจากสังคมชายเป็นใหญ่ ทำให้เพศหญิงถูกเชื่อมโยงกับขั้วต่างที่ด้อยกว่า มีลักษณะเช่นเดียวกับ ธรรมชาติ กลางคืน ความมืด ขณะที่เพศชายมีลักษณะตรงกันข้าม เช่น วัฒนธรรม กลางวัน แสงสว่าง แต่การไม่ยอมรับการถูกจัดวางตามความปรารถนาของเพศชายดังตัวละครหญิงทั้งหลายที่กล่าวมา ไม่เพียงเป็นการต่อกรเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมหรือเพื่อให้หลุดพ้นจากขั้วที่ด้อยกว่าเท่านั้น แต่ยังสามารถโต้กลับโดยการทำให้ความเท่าเทียมที่ว่ากลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาในสังคม อันนำไปสู่การสิ้นสลายของเส้นแบ่งขั้วตรงข้ามอย่างแท้จริง

 

ขบถ(ไม่)ทดลอง

            สิ่งหนึ่งที่รวมเรื่องสั้นชุดนี้เน้นย้ำและสื่อสารอย่างตรงไปตรงมามากที่สุดคือการตั้งคำถามกับตัวตนของผู้คนในโลกยุคดิจิตอลที่สามารถแยกย่อย ผลิตซ้ำและทำลายทิ้งได้อย่างง่ายดาย การมีอยู่ ไหลเวียนหรือการสูญหายของตัวตนที่ถูกแปรสภาพเป็นข้อมูลนั้น สั่นคลอนถึงความเป็นมนุษย์และตัวตนของมนุษย์ที่กำลังถูกแบ่งออกเป็นส่วนเสี้ยวนับอนันต์ตลอดเวลา

            ประเด็นตัวตนปรากฏชัดในเรื่อง “สามสหาย” ที่กล่าวถึงการจำแนกตัวตนในหลายมิติหลากระดับ ซึ่งสามารถแบ่งตัวตนตามกาลเวลาได้สามแบบคือ อดีต อดีตที่ยังดำเนินมาถึงปัจจุบัน และปัจจุบัน โดยให้ 1.กะลาง สัตว์เลี้ยงเก่าแก่ประจำบ้าน มีนิสัยชอบรักษาสมดุล เป็นภาพแทนตัวตนในอดีต ซึ่งผู้เล่าสะท้อนตัวตนผ่านการหวนคิดถึงสัตว์เลี้ยง(ตามความคิดที่ว่าสัตว์เลี้ยงเป็นเช่นไรเจ้าของก็เป็นเช่นนั้น)ซึ่งผูกติดกับบ้านเก่าอันหมายถึงสังคมเก่านั่นเอง ต่อมาคือ 2.คา ตัวตนที่เกิดจากการถ่ายเทข้อมูลลงไปในเครือข่ายฯ สามารถปรับแต่งภาพลักษณ์ของตัวตนใหม่ได้ตามต้องการ “ฉันไม่รู้สึกถึงการเพิ่มพูนในตัว ตรงกันข้าม กลับสัมผัสเพียงการแตกกระเจิงและตัวตนที่ทอนจาง ยิ่งพยายามทำให้เสมือนจริง ยิ่งจริงน้อยลง”(น.96) จนในที่สุดคาแยกตัวออกมาเป็นเอกเทศเหนือการควบคุม แต่ยังรับรู้ได้ถึงการมีอยู่เพียงไม่อาจเข้าถึงเท่านั้น เหล่านี้จึงเป็นผลจากตัวตนที่ถูกสร้างขึ้นในอดีตแต่ยังคงดำรงอยู่เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน สุดท้าย 3.เขา เป็นภาพแทนของตัวตนในปัจจุบัน เป็นตัวตนที่ซ่อนอยู่อีกด้านของจิตใจ “เพราะเมื่อความคิดหนึ่งเกิดกับเขา มันก็จะเป็นความคิดของฉันด้วยเช่นกัน”(น.100) เขาจึงผูกติดกับตัวตนที่แท้จริงตลอดเวลาและหลบเร้นอยู่ในเงามืดตลอดกาล การซ้อนทับทั้งสามแบบจึงทำให้เห็นถึงพัฒนาการในการสร้างตัวตนที่แตกต่างกันไป

            ทำนองเดียวกับการก้าวข้ามตัวตนใน “เด็กระเบิด” เมื่อเด็กๆเริ่มเติบโต หรือเฉียดใกล้กับความตายทั้งที่ยังรู้สึกว่าเป็นเรื่องไกลตัว ความเจ็บปวด ความหวาดกลัวจากเหตุการณ์ร้ายย่อมส่งผลให้มุมมองและกรอบความคิดความเชื่อเดิมถูกทลายลง นำไปสู่การสร้างตัวตนใหม่และค่อยๆสูญเสียตัวตนเดิมไปอย่างไม่อาจหวนคืน “หากเด็กก้าวสู่วัยผู้ใหญ่ ถึงตอนนั้นตัวตนของเด็กยังจะเป็นตัวตนดั้งเดิมเช่นในเวลานี้ไหมหนอ”(น.52) จึงกล่าวได้ว่า เวลาและเหตุการณ์เป็นปัจจัยสำคัญในการประกอบสร้างและรื้อทิ้งตัวตน

              แต่อาจไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไปเพราะในเรื่อง “สุนทรีมืด” ขจรต่อต้านระบบที่พยายามกลืนกินและเปลี่ยนแปลงตัวตนของเขา ด้วยการบ่ายหน้าออกจากการครอบงำของสังคมใหญ่ แง่หนึ่งอาจมองว่าเขาพ่ายแพ้ แต่ในทางกลับกัน อาจเป็นขจรต่างหากที่ปฏิเสธสังคมตามเจตจำนงเสรีเพื่อยืนยันการมีอยู่ของตัวเอง เช่นเดียวกับ ชัยกิจใน “จาริกไปในความเงียบงัน” ที่เลือกลบตัวเองออกจากเครือข่ายอย่างถาวร “ข้อมูลอันเป็นเสมือนรูปรอยตัวเขา ทั้งหมดล้วนถูกลบอย่างถาวรจากเครือข่ายตามคำยืนยันของแต่ละเว็บไซต์ แล้วตอนนี้เขาก็ได้ครอบครองกล่องดำของตนตามประสงค์”(น.209) ทั้งขจรและชัยกิจ จึงไม่ต่างจากขบถที่เคารพตัวตนของตัวเองมากกว่าจะยอมก้มหัวให้กับระบบที่พวกเขาเห็นว่ามันบิดเบี้ยวและสมควรได้รับการเปลี่ยนแปลงเพื่อไปสู่สังคมที่ดีกว่า

            สุดท้ายแล้ว การทดลองสร้างขบถของวิภาสจะนำพาผู้อ่านเคลื่อนไปในทิศทางใด เราจะหวนกลับมาทบทวนและตรวจสอบระบบต่างๆที่กำลังเข้าพันธนาการเราหรือไม่ คำตอบทั้งหมดประจักษ์แก่ใจของผู้อ่านอยู่แล้ว ทว่าการไม่มีรางวัลตีตราบนหน้าปก อาจทำให้หนังสือรวมเรื่องสั้นเล่มนี้สาบสูญและไม่ถูกอ่านซ้ำอีก ถึงอย่างนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าการรุดหน้าของรยางค์และเงื้อมเงาเอื้อมไม่ถึงรางวัลซีไรต์ แต่อาจเป็นรางวัลซีไรต์ต่างหากที่เอื้อมไปไม่ถึงแม้แต่รยางค์เดียว

 

บรรณานุกรม

วิภาส ศรีทอง. (2563). รยางค์และเงื้อมเงา. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สมมติ.

สุรเดช โชติอุดมพันธ์. (3560). ทฤษฎีวรรณกรรมคดีวิจารณ์ตะวันตกในคริสต์ศตวรรษที่ 20. พิมพ์ครั้งที่๒. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

 

**************************************************

ซื้อหนังสือ "รยางค์และเงื้อมเงา" ได้ที่

ร้านสวนเงินมีมา

ร้านหนังสือเล็กๆ สงขลา

ร้าน happening Shop

 

 

Visitors: 85,168