“พายุ พระอาทิตย์ อิทธิฤทธิ์ แฮปปี้”

ความงมงายบนพื้นที่แฟนตาซี เงือก นางฟ้า แฟรี่ ปราบผีเผด็จการ

                                                                                  พัชรพร ศุภผล

            “พายุ พระอาทิตย์ อิทธิฤทธิ์ แฮปปี้”  ผลงานรวมเรื่องสั้นของ “ปัฐน์” พิมพ์ออกจำหน่ายครั้งแรกเมื่อ ปี 2564 ประกอบไปด้วยเรื่องสั้นแฟนตาซี (fantasy) จำนวน 17 เรื่อง ผู้เขียนนำตัวละครเหนือมนุษย์ แฟรี่ นางฟ้า เงือก ผี มาร่ายรำท่ามกลางปัญหาสังคมไทยอย่างแยบยล ตั้งแต่เรื่องเพศไปจนถึงการเมือง ด้วยภาษาแห่งยุคสมัยในขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็น “สู้เขาสิวะอีหญิง”  “เบียว”  ตลอดจนการใช้ภาษาที่เต็มไปด้วยน้ำเสียง เสียดสี ประชดประชัน ซึ่งสำนักพิมพ์ได้เขียนคำนำถึงงานชิ้นนี้ว่า “ นี่คือการดันหลังแรง ๆ ด้วยจริตเพื่อนสาวแบบสับ ๆ” (หน้า 9)  ผู้เขียนยังรุ่มรวยไปด้วยบทสนทนาที่มักอ้างถึง (allegory) สื่อต่าง ๆ ที่คุ้นเคยในความทรงจำผู้อ่าน เช่น การ์ตูนอนิเมะ ภาพยนตร์ เพลง เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ทำให้ “พายุ พระอาทิตย์ อิทธิฤทธิ์ แฮปปี้” เป็นอีกหนึ่งงานวรรณกรรมสมัยใหม่ ที่ใช้จินตนาการเหนือจริงบันทึกความจริงของประเทศอย่างแสบสันต์

 

แฟนตาซี (Fantasy) พื้นที่แห่งความหวังและการหลบหนี  

            ความน่าสนใจของวรรณกรรมเรื่องนี้ คือ การสร้างความอัศจรรย์ เหนือจริงให้เกิดขึ้นท่ามกลางบริบทความเป็นไทย การปะทะระหว่างตัวละครตามขนบเทพนิยายของตะวันตกกับพื้นที่ความไทยนั้น สร้างความรู้สึกประหลาดให้ผู้อ่าน เช่น บทสนทนาระหว่างแฟรี่กับนางเงือกที่เกาะล้าน จากเรื่อง “บิน”

            “มึงไปสืบให้หน่อยดิว่าเขาชอบกูปะ กูไม่อยากไปสารภาพรักแล้วต้องกลายเป็นฟองสบู่”

          “โอเค ได้ กูชอบภารกิจปลอมตัวเป็นสายสืบ”

          “ตกลงง่ายจัง อยากได้อะไรตอบแทนปะ”

          “คืนนี้กูอยากกินส้มตำ มึงตำให้กูได้ไหมละ”  (หน้า31)

             การมีอยู่ของตัวละครอย่างแฟรี่ และนางเงือก ที่เป็นตัวละครแฟนตาซีจากโลกตะวันตก  (อ้างอิงจากบทสนทนาของนางเงือกที่ยกเค้าโครงมาจากนิทานเรื่อง “เจ้าหญิงเงือกน้อย” ของคริสเตียน แอนเดอร์สัน ที่ตัวละครเงือกน้อยต้องกลายเป็นฟองสบู่หากเจ้าชายปฏิเสธความรัก จึงนับว่าเป็นเงือกตามคติตะวันตก)   มาอยู่ในพื้นที่ความเป็นไทยผ่าน “ส้มตำ” และ “เกาะล้าน” ชวนให้พิจารณาว่า ผู้เขียนสร้างโลกแฟนตาซีในมิติความเป็นไทยนี้ไว้เพื่อสิ่งใด เพื่อให้ทราบจุดมุ่งหมายดังกล่าว ผู้วิเคราะห์จึงขอยกองค์ประกอบของความแฟนตาซี (Element Of fantasy)  ของโทลคีน (Tolkien : 57-68) มาวิเคราะห์ประกอบ

            โทลคีนได้กำหนดองค์ประกอบของความแฟนตาซีว่ามีอยู่ด้วยกัน 3 องค์ประกอบ คือ การฟื้นฟู (Recovery) การหลบหนี (Escape) แต่และการปลอบประโลม ( Consolation) สรุปได้ ดังนี้

            การฟื้นฟู (Recovery)  คือ คุณลักษณะของความแฟนตาซีที่นำเราออกจากสิ่งที่เราคุ้นเคยอยู่แล้วไปสู่มุมมองใหม่  โทลคีนกล่าวว่ามันคือการ “มองเห็นใหม่ที่ชัดเจนอีกครั้ง (a re-gaining of a clear view) ”  ความแฟนตาซีจึงเผยให้เห็นความซับซ้อนของสิ่งต่าง ๆ ทางกายภาพและจิตวิญญาณด้วย

            ในเรื่อง  “แฟรี่ แฟรี่ แฟรี่”  ผู้เขียนสร้างให้แฟรี่มีหน้าที่ปกปักษ์รักษาธาตุต่าง ๆ บนโลก  สิ่งนี้ทำให้ผู้อ่านมองธรรมชาติในสายตาใหม่ ในฐานะสิ่งมีชีวิตและจิตวิญญาณ การเสียสละชีวิตของเหล่าแฟรี่ในเรื่องเพื่อปิดหลุมดำที่ทำลายโลก ได้เชื่อมโยงให้ผู้อ่านตระหนักถึงการรักษาธรรมชาติ นอกจากนี้ผู้เขียนยังพยายามทำให้ผู้อ่านได้สัมผัสถึงความหมายที่แท้จริงของธรรมชาติก่อนมนุษย์จะเข้าไปปรุงแต่งให้มันกลายเป็นวัตถุ เพื่อสร้างความหมายของการมีชีวิตและดำรงอยู่ในโลกให้เกิดขึ้น เช่น ในเรื่องนิมิต ผู้เขียนนำผู้อ่านสัมผัสถึงความหมายและการดำรงอยู่ที่แท้จริงของธรรมชาติ ผ่านประโยคที่ว่า “ปล่อยให้ลมเป็นลม ปล่อยให้น้ำเป็นน้ำ ปล่อยไฟให่เป็นไฟ ... ปล่อยตัวเองให้เป็นตัวเอง”  (หน้า 119)

            การหลบหนี (Escape)  ความแฟนตาซีช่วยพามนุษย์หลีกหนีจากคุกแห่งชีวิตประจำวัน เข้าสู่โลกแห่งจินตนาการ  ความแฟนตาซีช่วยหลีกหนีจากสิ่งเลวร้ายในโลกความจริง  เช่น ความหิวโหย ความยากจน ความเจ็บปวด ความเศร้าโศก ความอยุติธรรม และการหลบหนีที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือ การหลบหนีจากความตาย ด้วยการมีชีวิตอมตะในโลกแฟนตาซี  แฟนตาซีทำให้มนุษย์สามารถหลีกหนีจากขอบเขตของเวลาและพื้นที่

            ภายในเรื่องนี้เต็มไปด้วยตัวละครหลากหลายเพศสถานะทั้งระบุได้และไม่ได้ เช่น นางเงือกเลสเบี้ยน หุ่นยนต์เควียร์ หรือ “ อีหญิง” จากเรื่อง “ระบำ” ที่ใช้ดาบวงพระจันทร์ตัดคอ ตัวละครชายแท้ที่ไล่ล่าเธอหลังจากหนีไปจากฟลอร์เต้นรำขาดกระเด็นท่ามกลางการส่งเสียงเชียร์ของเหล่าแฟรี่ ตัวละครเหล่านี้ล้วนประสบชัยชนะจากเพศชายที่กดทับพวกเขาอยู่ หรือตัวละครเพศหลากหลายอื่น ๆ มีชีวิตรักและสุขสมหวัง พื้นที่เหล่านี้จึงเป็นพื้นที่หลีกหนีจากสังคมไทยที่มีความกดทับทางเพศ และการสมรสระหว่างเพศเดียวกันยังผลักดันไม่สำเร็จ

            การปลอบประโลม ( Consolation)  โทลคีนอธิบายว่าเรื่องราวแฟนตาซีทั้งหมดซึ่งถือว่าสมบูรณ์นั้นต้องมี"Eucatastrophe" หรือ "ภัยพิบัติที่ดี" คือ จุดจบของเรื่องที่ไม่ว่าเหตุการณ์จะเลวร้ายเพียงใด การผจญภัยที่มหัศจรรย์หรือน่ากลัวเพียงใด แต่จุดจบของเรื่องมักจะถูกคลี่คลายได้อย่างมหัศจรรย์ หรือมีจุดหักเหของเหตุการณ์ที่ทำให้ตัวเอกไม่พบกับชะตากรรมที่เลวร้าย

            ภายในเรื่องสั้นจำนวน 17 เรื่อง ล้วนจบด้วยการเอาชนะสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้สำเร็จ ความสุขสมหวัง หรือหากมีการตายก็เป็นการตายที่อิ่มเอม บรรลุเป้าหมาย เช่นจากเรื่อง สาวน้อยเวทมนตร์ ตัวละครสาวน้อย         เวทมนตร์ยอมสละชีพเพื่อต่อสู้กับปีศาจที่กลืนกินดวงตะวัน แต่นั่นทำให้สาวน้อยเวทมนตร์คนอื่น ๆ ยังคงสู้ต่อไป คุณสมบัติเหล่านี้นอกจากเป็นไปเพื่อเยียวยาจิตใจแล้วยังทำให้ผู้อ่านได้มีความหวังที่จะชนะทุกสิ่งในตอนท้าย แม้จะมีการสูญเสียของตัวละครเกิดขึ้นก็ตาม

            “พายุ พระอาทิตย์ อิทธิฤทธิ์ แฮปปี้”  จึงเป็นวรรณกรรมแฟนตาซีที่พาผู้อ่านหลีกเร้นจากการกดทับในสังคมสู่พื้นที่เสรีภาพทางความคิดในโลกเหนือจริง ที่ไม่ได้มีเป้าหมายเพียงแค่ให้ผู้อ่านใช้หลบซ่อนความเจ็บปวดเพียงอย่างเดียว  (Escape) แต่เพื่อปลอบประโลม เยียวยา ( Consolation) และกลับเข้ามาสู่โลกความเป็นจริงด้วยความหวังใหม่ (Recovery) องค์ประกอบสำคัญเหล่านี้สร้างความสงบและปลุกใจให้กับผู้อ่าน ดังประโยคหนึ่งจากเรื่อง “ไล่ผี” ว่า

            “ความสงบและความสุขเป็นเครื่องต่อต้านความสิ้นหวัง ความโกรธและความเดือดดาลก็เช่นกัน” (หน้า 92)

 

ความงมงายบนพื้นที่แฟนตาซี

            พฤติกรรมเชิงไสยเวท (SuperstitionHabit) หรือ ความงมงาย  อ้างอิงจากนิยามของ  บรูซ ฮู้ด (Bruce Hood) หมายถึง พฤติกรรมที่เชื่อในเรื่องเหนือธรรมชาติ เช่น การโรยเกลือเพื่อไล่ผี แมวดำจะนำโชคร้ายมาให้ เป็นต้น ความงมงายเป็นวิวัฒนาการของสมองมนุษย์ที่พยายามมองหาความเป็นเหตุเป็นผลให้กับสิ่งต่าง ๆ เพื่อพยายามอธิบายการมีชีวิตและการอยู่ในโลก ความพยายามนั้นทำให้มนุษย์เชื่อมโยงเอาเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกันมาเป็นเหตุและผลกัน เช่น เชื่อว่าแมวสามารถทำให้ฝนตกได้ ความงมงายได้รวมถึงพฤติกรรมไร้เหตุผล      อื่น ๆ อีกด้วย  เช่น ผู้หญิงตั้งครรภ์ที่เชื่อว่าการกินกล้วยจะทำให้คลอดบุตรง่ายขึ้น

             ใน “พายุ พระอาทิตย์ อิทธิฤทธิ์ แฮปปี้” แม้จะเป็นโลกแฟนตาซีที่ยอมรับว่าการมีอยู่ของพลังเหนือธรรมชาติ (Supernatural) เป็นเรื่องปกติ แต่พบว่าตัวละครอมนุษย์ในเรื่องกลับมีพฤติกรรมงมงาย กระทำสิ่งที่หาเหตุผลไม่ได้ ท่ามกลางโลกที่มีนางฟ้า แฟรี่ เวทมนตร์ ความอมตะและการเกิดใหม่ ความงมงายอย่างการเชื่อเรื่องดวง หรือสีมงคล เป็นความขัดแย้งที่ชวนให้วิเคราะห์ว่า การทำงานของความงมงายบนพื้นที่แฟนตาซีมีไปเพื่อสิ่งใด โดยใช้กระบวนการศึกษาความเชื่อทางไสยศาสตร์ของนักมานุษวิทยามาศึกษา

            Melford E.Spiro (1966) ได้ศึกษาความเชื่อไสยศาสตร์ โดยใช้กระบวนทัศน์โครงสร้างนิยม (Structuralist Approach) มาศึกษา  Melford ชี้ให้เห็นว่าความเชื่อทางไสยศาสตร์ ดำรงอยู่ใน  3 ระดับ ได้แก่ ความคิด การกระทำ และการแสดงออก

            ระดับความคิด เป็นการใช้ไสยศาสตร์เพื่อสร้างความหมายของการมีชีวิตและการอยู่ในโลก เช่นในเรื่องกุหลาบ มีการกล่าวถึงเหล่าสัมภเวสีที่มาเฝ้าดูกิจกรรมทางเพศของตัวละครเหนือมนุษย์ที่ไม่ชอบแวมไพร์(ในที่นี้คือไม่อยากคบหาด้วย) เชื่อเรื่องดวงดาว เครื่องรางเสริมเสน่ห์และสีมงคล เธอบอกให้พวกมันปล่อยวางและไปเกิดใหม่ “คนก็ส่วนคน ผีก็ส่วนผี อดีตก็ส่วนอดีต อย่ามาปะปนกัน” (หน้า18)

            ระดับการกระทำ  เป็นการใช้ไสยศาสตร์เพื่อตอบสนองปัจจัยพื้นฐานของมนุษย์ ได้แก่ เรื่องปากท้องและการทำมาหากิน เช่นปรากฎใน เรื่องวิกขัมภะ หุ่นยนต์เควียร์ที่มีสายตาสังเคราะห์พิเศษ ถือถาดผลไม้สวดมนต์ไหว้เทพใจกลางเมืองเพื่อขอให้ “ฉันอยากรวย ฉันอยากโชคดี ฉันอยากรวย ฉันอยากได้และฉันก็จะได้มันมา” (หน้า 39)

             ระดับการแสดงออก เป็นการใช้ไสยศาสตร์เพื่อระบายความทุกข์ ความกลัว และความกังวลต่อความไม่แน่นอนในชีวิต เช่นปรากฏในเรื่อง “เค้กนางฟ้า” ตัวเอกเชื่อว่าตัวเองหน้าตาอัปลักษณ์เพราะทำบุญมาน้อย จึงพยายามตามหาเค้กนางฟ้าที่กอนแล้วจะเปลี่ยนชีวิตให้สวยขึ้น หรือในเรื่อง “ระบำ”   ที่อีหญิงเลือกใช้ “เซนส์”  นำทางหนีการไล่ล่าของชายแท้

            จากการศึกษาความงมงายผ่านกระบวนทัศน์ดังกล่าว อาจกล่าวได้ว่าความงมงายทำให้ตัวละครสามารถจัดระเบียบตัวเองให้ดำรงอยู่ในโลกได้ และใช้ควบคุมสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ในชีวิต อย่างความรักและความเป็นความตาย จึงอาจกล่าวได้ว่า

            “พายุ พระอาทิตย์ อิทธิฤทธิ์ แฮปปี้”   เป็นโลกแฟนตาซีที่ตัวละครต่างดำเนินชีวิตท่ามกลางความไม่แน่นอน ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ สัตว์ หรืออมนุษย์ ก็มีโอกาสที่จะถูกทำให้สูญหาย ถูกฆ่า ผิดหวังหรือสมหวังก็ได้  “ความงมงาย” ในโลกเหนือธรรมชาตินี้ จึงไม่ได้เป็นเพียงความไร้สาระ แต่พิจารณาในกระบวนทัศน์โครงสร้างนิยมแล้ว ความงมงาย เป็นเครื่องมือสำคัญที่ตัวละครเหล่านี้ใช้เพื่อรับมือกับสิ่งที่พลังวิเศษไม่สามารถควบคุมได้ นั้นคือ “ความไม่แน่นอน” ของชีวิต เช่น สาวน้อยเวทมนตร์ที่สามารถร่ายมนตร์หยุดเวลาและเสกปืนกลยี่สิบสองกระบอกขึ้นไปท้องฟ้าเพื่อต่อสู้กับปีศาจสุนัขสามหัว แต่ก็ต้องพึ่งการสวดภาวนาในใจให้ตัวเองและคนรักรอด เพราะต้องรับมือกับความเป็นความตายที่ไม่อาจคาดเดาหลังการต่อสู้ได้

            “เธอหยุดเวลาเพื่อนั่งร้องไห้และภาวนา เธอภาวนาถึงตัวเอง ถึงทุกคน ถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่เธอรักและยังรู้สึก” (หน้า 66)

            การสวดภาวนาอาจเป็นเรื่องไร้สาระ แต่นั่นอาจเป็นกลไกเดียวที่ทำให้เธอรับมือกับความไม่แน่นอนที่กำลังจะเกิดขึ้น 

          อีกประเด็นที่น่าสนใจในเรื่องสั้นเรื่องนี้ คือ การที่ผู้เขียนเลือกใช้พิธีกรรมทางไสยศาสตร์ เป็นภาพแทนการต่อต้านอำนาจเผด็จการ เมื่อพิจารณาจากการศึกษาของคมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง (2560) ว่า แต่เดิมไทยและอุษาคเนย์นั้นนับถือผีมาอย่างยาวนาน ไทยมีพิธีกรรมท้องถิ่นที่ผูกพันกับผี เช่น การเลี้ยงผี การรับขวัญ ต่อเมื่อการเข้ามาของศาสนาพราหมณ์และพุทธจากอินเดียจะเข้ามามีอิทธิพล ชนชั้นสูงเห็นว่าสามารถรับเอาคำสอนและประเพณีปฏิบัติไปใช้ประโยชน์ต่อนโยบายทางการเมืองการปกครองได้ ก็สามารถกล่าวได้ว่า เพราะรัฐไม่สามารถจัดระเบียบความเชื่อเหล่านี้ให้ขึ้นตรงต่ออำนาจรัฐในฐานะศาสนาได้ ไม่มีองค์กรส่วนกลางดูแล การเชื่อถือในเรื่องผีและจิตวิญญาณเหนือธรรมชาติของชาวบ้านจึงกลายเป็นชายขอบของความเชื่อ ไร้สาระ และงมงายไปโดยปริยาย ทั้งๆที่สิทธิเสรีภาพในความเชื่อ และการนับถือศาสนาควรเป็นเสรีภาพที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริงโดยปราศจากอคติเบียดบัง รัฐยังทำให้ศาสนาสามารถควบคุมประชาชนผ่านการตัดสินว่าอะไรคือสิ่งที่ “ขัดต่อศีลธรรมอันดี”ในประเทศที่บอกว่าตนเองเป็นประชาธิปไตย อาชีพบางอาชีพ เพศวิถี หรือกิจกรรมบางกิจกรรม สินค้าบางอย่าง แม้ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนหรือละเมิดสิทธิมนุษยชน นั้นถูกกำหนดให้ผิดกฎหมายและไม่สามารถยอมรับได้  เพราะ “ขัดต่อศีลธรรมอันดี”

            ความงมงายและศาสนาจึงเป็นเรื่องของการช่วงชิงพื้นที่ที่ชนชั้นนำพยายามยัดเยียดศาสนาเข้าไปเพื่อปกครองและจัดระเบียบชนชั้นล่าง เรื่องสั้นเรื่องนี้จึงเป็นการโต้กลับของประชาชนที่จะใช้ไสยศาสตร์และความงมงายช่วงชิงพื้นที่ความเชื่อของตัวเองคืนกลับมา และลดทอนอำนาจความศักดิ์สิทธิ์ที่ส่วนกลางกำหนดเช่น      ในเรื่อง “ไล่ผี” ผู้เขียนเล่าถึงพิธีกรรมไล่ผีร้ายออกจากประเทศ ด้วยการเชิญโสเภณีชายกับพระมาร่วมทำพิธี ซึ่งจะจัดขึ้นที่อนุสาวรีย์ใจกลางเมือง ความสำคัญของพิธีกรรมนี้คือ “หากพิธีไล่ผีนี้สำเร็จ เขาจะได้ทุกอย่างที่ต้องการ ตั้งแต่การทำให้อาชีพของเขาถูกกฎหมาย เงินจำนวนหนึ่งล้านบาท ประกันสังคมที่ครอบคลุมการรักษาพยาบาลทุกอย่าง ประกันชีวิตและวัคซีนรุ่นใหม่ล่าสุด”  (หน้า 87) จะเห็นได้ว่ามีการเลือกใช้ตัวละครโสเภณีชายอาชีพที่ถูกกำหนดให้ผิดศีลธรรมมาเป็นตัวละครหลักในการทำพิธีกรรมทางไสยศาสตร์ที่ขัดต่อหลักศาสนา มาขับไล่ผีของประเทศ ผีที่บริหารประเทศให้ตกต่ำ ไร้ซึ่งรัฐสวัสดิการ โกงกินบ้านเมืองและสังหารประชาชนอย่างโหดเหี้ยม สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจริงบนประเทศที่บรรจุศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติในทุกตำราเรียน  การที่ผู้เขียนสร้างโลกแฟนตาซีที่เต็มไปด้วยความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์เพื่อต่อสู้กับการเมืองในสังคมไทย นัยหนึ่งจึงเป็นการขบถต่อศาสนาหลักของชาติในฐานะเครื่องมือสถาปนาอำนาจให้ชนชั้นนำ ด้วยการใช้ความเชื่อที่ถูกส่วนกลางกำหนดว่าชายขอบ อย่างการทรงเจ้าเข้าผี ปลดแอกการยึดกุมวัฒนธรรมและศาสนาจากชนชั้นนำ

            และเพราะในโลกปัจจุบันของผู้อ่านนั้นย่อมดำรงอยู่ท่ามกลางเหตุผลและความเป็นจริง มนุษย์พัฒนาโลกปัจจุบันออกห่างจากวิญญาณนิยมขึ้นเรื่อย ๆ ท่ามกลางศาสนา วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี แต่ทว่าความไม่แน่นอนก็ยังคงดำรงอยู่เช่นเดิม เราต่างรู้สึกว่าเราดำรงอยู่ในประเทศที่อาจถูกกลั่นแกล้งจากกฎหมาย สิ่งที่คิดว่าถูกอาจไม่ถูกยอมรับจากสังคม ชีวิตก็ยังคงเปราะบางท่ามกลางความเสี่ยงบนสังคมที่ไม่มีรัฐสวัสดิการ ความยุติธรรมไม่ได้ยุติธรรมเสมอไป และความเป็นความตายของผู้คนในบางประเทศนั้น เกิดขึ้นง่ายดายเพียงพริบตาเดียวไม่ต่างจากโลกแฟนตาซี และเราก็ไม่มีทางรู้เลยว่าการต่อสู้กับอำนาจบางอย่างจะสามารถจบที่รุ่นเราได้จริงหรือไม่ หรืออาจกล่าวได้ว่าแท้จริงแล้วเรากำลังดำรงอยู่บนประเทศแฟนตาซีอยู่ก็ได้ เช่นตอนหนึ่งจากเรื่อง “ไล่ผี” ว่า

            “เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว ทุกคนได้ฉีดวัคซีน ประเทศเริ่มกลับมาเจริญขึ้น ถึงแม้จะยังมีผีที่คอยโกงกินอยู่บ้าง แต่เมื่อขจัดผีตัวใหญ่ได้ พวกผีตัวเล็กตัวน้อยก็ไม่น่ากลัวเท่าไหร่ คงยังต้องใช้เวลาสู้กันต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะขัดพวกมันได้หมด อย่างน้อยตอนนี้ความหวังของผู้คนก็เบ่งบานขึ้นแล้ว” (หน้า 92)

             “ความงมงาย” จึงเป็นเครื่องมือหล่อเลี้ยงความหวังที่ทุกคนยังคงต้องการไม่ว่าจะบินได้หรือบินไม่ได้ ด้วยเสื้อสีมงคลหรือการสาปส่งบนหมุดคณะราษฏร์ก็ตาม

 

อ้างอิง

คมกฤช. อุ่ยเต็กเค่ง. (2560). ภารตะ-สยาม ผี พราหมณ์ พุทธ. กรุงเทพฯ : มติชน

ปัณฐ์.  (2564). พายุ พระอาทิตย์ อิทธิฤทธิ์ แฮปปี้. กรุงเทพฯ : ภาพพิมพ์.

Bird-David,N. (1999). Animism Revisited: Personhood, Environment, and Relational Epistemology. Current Antropology, 40 (S1), S67-S91

Bruce Hood.  (2010).  The Science of Superstition: How the Developing Brain Creates Supernatural Beliefs.Harper Collins

Spiro ,Melford E.  (1996).   Religion Problem of Definition and Explanation. In Banton, Michael (ed.).

Anthropological Approaches to the study of religion. London : Tavistock. 85-126.

Tolkien, J. R. R.  [1964]. Tree and Leaf. New York: HarperCollins. Revised from 1947 printing.

 

Visitors: 72,516