ปะติดปะต่อเศษกระจกความทรงจำ

ปะติดปะต่อเศษกระจกความทรงจำ

อมรศักดิ์  ศรีสุขกลาง

            ประวัติศาสตร์นั้น โดยนัยหนึ่งก็เรียกได้ว่าเป็นความทรงจำของโลกใบนี้ ผู้คนเกิดขึ้นแล้วก็ตายไป ทิ้งร่อยรอยและเรื่องราวเอาไว้ในความทรงจำของโลก เมื่อมีคนเห็นประโยชน์หรือรำลึกถึงมันขึ้นมาครั้งหนึ่ง ความทรงจำเหล่านั้นจะถูกปะติดปะต่อขึ้นมาจากเสี้ยวส่วนต่างๆ ที่กระจัดกระจาย เพื่อก่อรูปร่างเป็นเรื่องเล่า ด้วยวัตถุประสงค์ต่างๆ นานา แน่นอนว่าเป็นไปไม่ได้ที่กระจกซึ่งแตกกระจัดกระจายไปนั้นจะต่อกันเข้าโดยสนิทแนบเนียน เศษกระจกความทรงจำหรือส่วนเสี้ยวต่างๆ เหล่านั้นล้วนมาจากตรงนั้นทีตรงนี้ที ต่างที่ ต่างเวลา บางส่วนก็ถูกทำให้เป็นช่องว่างหรือรอยต่อ สุดท้ายกระจกบานใหม่มิได้เป็นรูปทรงตามที่มันเคยเป็น มิได้เป็นความจริงอย่างที่มันเคยเป็น แต่เป็นเรื่องเล่า เป็นตำนาน เป็นนิทานปรัมปรา

            กระจกนี้ไม่ใช่กระจกบานเดิม แต่ปฏิเสธได้หรือว่ามันคือไม่ใช่กระจก นิทาน ตำนาน เรื่องเล่า ที่ดูๆ แล้วก็อาจไม่ใช่ความจริง แต่ปฏิเสธได้หรือว่ามันไม่ได้เก็บเศษความจริงมาปะติดปะต่อ เช่นเดียวกัน ประวัติศาสตร์ของมวลมนุษย์ศาสตร์ก็ถูกสร้างมาด้วยลักษณะอย่างนี้

            ในทางเดียวกันนวนิยายเรื่องหนึ่งก็ดำเนินมาด้วยลักษณะเช่นนี้  ความทรงจำของละครผู้หลงลืมที่ถูกเล่าผ่านตัวผู้เล่าเรื่องคนหนึ่งก็ดำเนินมาด้วยวิธีการอย่างนี้  ประกอบร่างสร้างกระจกขึ้นมาบานหนึ่ง กลายเป็นหมู่บ้านฝนแสนห่า กลายเป็นตำนานคนเฆี่ยนเสือ กลายเป็นตำนานเพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด

ครั้นแล้ว หากเดฟั่นได้มองตนเองผ่านกระจกความทรงจำที่ตัวละครผู้เล่าเรื่องประกอบขึ้น เขาอาจจะจำไม่ได้แม้กระทั่งตัวเอง

            บทพูดซ้ำๆ ในนวนิยายเรื่อง เดฟั่น ของ ศิริวร  แก้วกาญจน์ ตั้งแต่เปิดเรื่องจึงเป็นคำว่า “เดฟั่นจำไม่ได้...” และเข้าก็จำไม่ได้ไปจนบทสุดท้ายของนวนิยายเรื่องนี้

            เดฟั่น เป็นชื่อ นวนิยาย และชื่อของตัวละคร แต่เดฟั่นกลับกลายเป็นตัวละครตุ๊กตาที่ตั้งขึ้นมาตัวหนึ่ง  จากนั้นก็มีตัวละครผู้เล่า ที่คอยประติดประต่อประวัติหรือความทรงจำให้กับเดฟั่น และในความทรงจำชิ้นนั้น จึงประกอบไปด้วยตัวละครอีกมากมาย กลวิธีเช่นนี้ของศิริวร แก้วกาญจน์ ทำให้เรื่องราวของ
นวนิยายเรื่องนี้ชวนติดตามอย่างยิ่ง  เมื่ออ่านไปแล้วเราจะเฝ้าคอยและตั้งตาดูว่าเดฟั่นจะมีชีวิตอยู่อย่างไรและเติบโตไปอย่างไร  ทว่าระหว่างทางกว่าจะได้พบว่าเดฟั่นมีส่วนร่วมในความทรงจำ (หรือประวัติศาสตร์) นี้ ก็ล่วงพ้นไปแล้วสามชั่วอายุคน ตัวละครผู้เล่าที่เราไม่รู้ว่าเป็นใคร และไม่ใช่ตัวผู้เขียนดูมีความลึกลับน่าติดตาม แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่ปรากฎตัว คงความคลุมเครือระหว่างความเป็นตัวละครและความเป็นผู้เขียนไว้ได้ตลอดจนจบเรื่อง

            ในช่วงเวลาต่างๆ ตั้งแต่รุ่นทวด ปู่ มาถึงพ่อ-แม่ ตัวละครผู้เล่าไม่เคยละเลยที่จะเอ่ยชื่อ เดฟั่น ออกมาเลย นั่นทำให้เดฟั่นเป็นเหมือนกาวที่เชื่อมกระจกความทรงจำ ให้ตัวละครผู้เล่า(ที่ไม่ทราบว่าเป็นใคร) ค่อยๆ ปะติดปะต่อเรื่องราวให้กับเขาอย่างสนุกสนาน สุขสันต์ และเศร้าโศก

            เดฟั่นจำไม่ได้ และไม่รู้ว่าตัวเองรู้สึกอย่างไร แต่เรื่องเล่าของตระกูลคนเฆี่ยนเสือกลับมีความรู้สึกอยู่เต็มไปหมด

            ความทรงจำของเดฟั่นที่ถูกปะติดปะต่อขึ้นมานี้เหมือนนำเศษกระจกกระจัดกระจายมาประกอบเป็นกระจก แล้วบอกกับเดฟั่นผู้สูญเสียความทรงจำว่า จงดูตัวเองในกระจกบานนี้เสียสิ นี่คือบรรพบุรุษของแก คือประวัติศาสตร์ คือความทรงจำของแก  ผู้เล่ารู้ คนอ่านรู้ แต่แน่นอนว่า เดฟั่นจำไม่ได้

            สังคมไทยกำลังดำเนินไปวิธีการเช่นนี้อยู่ใช่หรือไม่ ในฐานะอนุชนผู้เติบโตขึ้นมา พวกเราจดจำบรรพชนของเราได้มากน้อยขนาดไหน  เท่าที่จำได้และเท่าที่มีอยู่ มันถูกปะติดปะต่อมาโดยใคร? และปะติดปะต่อมาอย่างไร พวกเราต่างรับรู้ว่าเรื่องเป็นแบบนี้ เงาบิดเบี้ยว และภาพซ้อนในกระจกลายพร้อย ช่องว่าง ความแหว่งเว้า เรารู้ เราเห็น ว่าประวัติศาสตร์คือกระจกบานนี้ คือความจริงตรงหน้านี้ (ที่มาจากความจริงซึ่งกระจัดกระจายถูกประกอบขึ้นมาใหม่) แต่ผลสุดท้าย เมื่อนึกทบทวนให้ดีๆ แล้ว เรากลายเป็นเดฟั่นคนหนึ่ง เรามองมันด้วยความรู้ว่ามีอยู่ เห็นอยู่ แต่เราจำไม่ได้จริงๆ

            ภาพ หรือทัศนียภาพ หรือฉากของนวนิยายเรื่องนี้ดูเหมือนผู้เขียนจงใจให้เป็นเรื่องเล่าของบรรพชนชายแดนใต้ธรรมดาๆ กลุ่มหนึ่ง  ทว่าเรื่องราวการโยกย้ายถิ่นฐาน การเดินทางระหว่างพรมแดนประเทศ ตำนานเรื่องเล่า เหตุการณ์สำคัญของรัฐชาติและสภาพสังคม ไปจนถึงวัฒนธรรมความเชื่อในนวนิยายเรื่องนี้ได้แสดงให้เห็นถึงการเคลื่อนไหวของสายเลือดหรือชาติพันธุ์ในภูมิภาคแถบนี้  ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นวิถีชีวิตของคาบสมุทรมลายู ที่ประกอบด้วยความเลื่อนไหลของเชื้อชาติหรือสายเลือด อันเป็นลักษณะของประชาชนในแถบอุษาคเนย์ทั้งหมดก็ว่าได้ นั่นคือ ไม่มีไทยแท้ จีนแท้ มลายูแท้ ทุกคนล้วนเป็นเลือดผสม เช่นเดียวกับบรรชนของเดฟั่น 

          "เดฟั่นจำไม่ได้ ปู่ทวดของเขาขี่เฆี่ยนเสือโคร่งตัวเท่าวัวถึกหนีพวกอังกฤษมาจากไทรบุรี" (หน้า 15)

            "เมื่อหมู่บ้านเริ่มเป็นหมู่บ้าน ปีถัดมาปู่ทวดก็ล่องเรือลงไปยังทะเลสาบ  ผ่านเกาะแก่งมุ่งไปทางทะเลใหญ่ ขึ้นฝั่งเมืองสงขลา  กลับมาพร้อมสาวชาวจีนฮกเกี้ยนคนหนึ่ง

          นั่นคือย่าทวดของเดฟั่น" (หน้า 42)

            หรืออย่างพ่อกับแม่ของเดฟั่น

            "คราวหนึ่ง คนทั้งสองข้ามทะเลสาบไปขโมยวัวของชาวนาจากลุ่มน้ำปากพนัง  กระทั่งเพื่อนเกลอไปตกหลุมรักสาวสวยคนเดียวกัน

          เธอเป็นลูกสาวชาวนาจากบ้านเขาพระบาท"(หน้า 160)

หญิงสาวจากบ้านเขาพระบาทก็แต่งงานกับชายหนุ่มจากหมู่บ้านฝนแสนห่าแล้วให้กำเนิดเดฟั่น 

            นอกจากนี้  ตลอดการดำเนินเรื่องของนวนิยายเรื่องเดฟั่นเต็มไปด้วยบันทึกเหตุการณ์สำคัญของประเทศในช่วงเวลาต่างๆ ที่สอดคล้องกัน ข้อที่ควรสังเกตคือ เหตุการณ์เหล่านี้ถูกเติมลงเป็นส่วน  ทีละเล็กทีละน้อยเป็นชิ้นๆ  ไม่ได้บอกเล่ารายละเอียดที่เป็นฉากเหตุการณ์ แต่ระบุถึงในความสำคัญของเหตุการณ์ลงไปแบบกระชับ กระนั้นมันก็กลายเป็นฉากหนึ่งหรือทัศนียภาพหนึ่งในนวนิยายไปจริงๆ แม้จะเป็นภาพในมุมมองสายตาเหยี่ยวแบบกว้างๆ ก็ตาม และกลวิธีเช่นนี้ ยิ่งทำให้ความเป็นเศษกระจกปะติดปะต่อของเรื่องเล่าชัดเจนยิ่งขึ้น

            "ด้วยเหตุนี้ ชื่อหมู่บ้านคนเฆี่ยนเสือจึงค่อยๆ เลือนหายกลายเป็นหมู่บ้านฝนแสนห่า

          แต่ที่สุด ชายคนหนึ่งชื่อคาร์ล มาร์กซ์ ก็จุดกระแสคิดบางอย่างขึ้นในยุโรป ก่อนลุกลามไปยังโซเวียต ข้ามพรมแดนไปจีน แผ่ลามลงมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ยึดครองอินโดจีน  ข้ามทะลจีนใต้มาขึ้นฝั่งคาบสมุทรมลายู... ฯลฯ  ...กระทั่งสั่นไหวรัฐบาลกลางในกรุงเทพฯ" (หน้า 51)

หรือ

            "ในที่สุด อเมริกาก็ส่งกองทัพเข้ามา ไทยคือฐานที่มันของนักรบตาน้ำขาวเหล่านั้น

          ภูพานพล่านไปด้วยนักปฏิวัติ

          ภูบรรทัดกลายเป็นสมรภูมิความขัดแย้ง

          หมู่บ้านฝนแสนห่า กลายเป็นหมู่บ้านกระสุนแสนห่า" (หน้า 52)

            ไม่เพียงฉากและสถานการณ์ที่เก็บเอาวิถีชีวิตและเหตุการณ์สำคัญของโลกและสังคมมาใส่ไว้
นวนิยาย  ผู้เขียนยังใช้กลวิธีประกอบร่างสร้างเรื่องเล่าได้อย่างน่าสนใจ ด้วยการใช้สัญญะในนวนิยาย  สัญลักษณ์เหล่านี้ต่างชี้ชวนให้ขบคิด

            เสือ คือสัญญะที่สำคัญของเรื่องนี้ เพราะเสือเป็นหนึ่งในตัวละครหลักของเรื่องเล่าดังที่บอกว่าเป็นเรื่องเล่าของตระกูลคนเฆี่ยนเสือจากไทรบุรี เสือนี้ปรากฏในฐานะพาหนะของปู่ทวด  เป็นผู้เลือกดินแดนที่กลุ่มคนอพยพมาจากไทรบุรีใช้วางรากฐานหมู่บ้านฝนแสนห่า เป็นเงื่อนไขในการเลือกคู่ครองและเป็นปมขัดแย้ง

            ด้วยรูปลักษณ์และความเข้าใจของคนทั่วไป เสือ เป็นภาพแทนของความน่าเกรงขาม เป็นเจ้าป่า และเป็นความยิ่งใหญ่ แต่ในนวนิยาย เสือกลับเป็นเพียงพาหนะตัวหนึ่ง เหมือนเป็นวัวหรือม้า ขับเน้นให้คน หรือคนขี่เสือเป็นตัวละครที่โดดเด่นขึ้นมา ดูน่าเกรงขามและน่าศรัทธา เนื่องจากชัยชนะที่คนมีเหนือเสือ ภาพเช่นนี้ ในทางอีโคคริสติก หรือวรรณกรรมสิ่งแวดล้อม(บ้างเรียกว่าทฤษฎีวรรณคดีสีเขียว) ตีความว่า เสือเป็นภาพแทนของป่า ในฐานะเจ้าป่า ตลอดจนเป็นตัวแทนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ภาพปู่ทวดขี่เสือจากไทรบุรีมาครอบครองหมู่บ้านฝนแสนห่า ก็เป็นภาพแทนการเข้ามาปักหลักดำรงชีวิตเพื่อใช้ทรัพยากร ในตอนแรกๆ มนุษย์มีความผูกพันกับธรรมชาติ ใช้ทรัพยากรด้วยการเลี้ยงไว้และปล่อยไปตามธรรมชาติเพื่อให้ป่าและทรัพยากรฟื้นฟู แต่คนในรุ่นถัดไปใช้ธรรมชาติเป็นเครื่องต่อรอง เป็นเครื่องมือในการครอบครองดังเช่นที่อันดากับสมิงใช้การจับเสือเป็นการตัดสินเพื่อให้ได้มาลีมาเป็นคู่ครอง  กระนั้นก็ตาม ด้วยสัญญลักษณ์นี้ ผู้แต่งแสดงให้เห็นว่า ผู้ที่ "จับเสือ" ด้วยความโลภและใช้กำลังเข้ารุกไล่จะพบจุดจบคือความพ่ายแพ้ดังเช่นสมิงได้พบ แต่หาก "จับเสือ" ด้วยวิธีประนีประนอม (หรือไสยศาสตร์) ตามแบบบรรพชนอย่างที่อันดาใช้วิชาของปู่ทวดที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษก็จะสามารถอยู่ร่วมกับเสือได้ และเขาจะได้รับชัยชนะ

          "ใครจับเสือมือเปล่าลงมาจากป่าภูบรรทัดได้ คนนั้นคือเจ้าบ่าว " (หน้า 160)

          "เดฟั่นจำเรื่องเล่าเหล่านั้นไม่ได้  สามวันผ่านไป ไอ้เกลอสมิงของพ่อก็กระเซอะกระเซิงกลับลงมาจากภูเขา  เลือดโชกไปทั้งร่าง  เขาถูกเสือโคร่งตะปบหน้าขณะดึงกริชออกจากฝัก

          เขาละเมิดกติกาเกมการต่อสู้ด้วยมือเปล่า

          อันดาจับเสือตัวนั้นเฆี่ยนด้วยหวาย ก่อนมัดมันไว้กับไม้ต้นหนึ่ง" (หน้า 163)

          "คนเฒ่าคนแก่บางคนพูดว่า  ร่างสีทองแดงของพ่อเปล่งประกายอยู่บนหลังเสือโคร่ง เหมือนภาพสะท้อนของปู่ทวดที่เฆี่ยนขี่เจ้าเสือข้ามช่องเขามาจากไทรบุรี" ( หน้า 165)

            สัญลักษณ์ทำนองนี้ยังปรากฏอีกครั้งในลักษณะของ จระเข้ ที่ปรากฏขึ้นในบทที่ 38 จระเข้นั้นนับได้ว่าเป็นเจ้าแห่งแม่น้ำ พวกมันยินยอมเป็นมิตรกับอันดาเพราะเขาไม่ได้ฆ่ามันและยังช่วยเหลือพวกมันจากภัยอันตรายอีกด้วย เสมือนว่าหากเราเป็นมิตรกับธรรมชาติแล้วธรรมชาติก็จะคอยเกื้อกูลเรา

            วิถีชีวิตแบบมนุษย์พึงพาธรรมชาติ และธรรมชาติเกื้อกูลมนุษย์นี้ ก็คือแนวทางที่บรรพบุรุษของมนุษย์เราประพฤติปฏิบัติกันมาตั้งแต่อดีต เป็นอีกส่วนเสี้ยวความทรงจำของโลกและประวัติศาสตร์ ที่เป็นเสมือนคำสอนหรือบทเรียนให้แก่อนุชนคนรุ่นหลัง ว่า จงพึ่งพาธรรมชาติแต่อย่างรุกรานธรรมชาติ

            มองพ้นไปจากสัญญะเชิงนิเวศวรรณกรรม ยังพบสัญญะอีกอย่างหนึ่งในนวนิยายเรื่องนี้ กล่าวคือ ไก่ชน ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงประจำถิ่นและได้รับความนิยมอย่างมาก สอดรับไปฉากพื้นที่บริเวณจังหวัดภาคใต้ที่ขึ้นชื่อเรื่องการเลี้ยงไก่ชน แม้มองเผินๆ จะเห็นว่า ภาพไก่ชนถูกวาดขึ้นเพื่อให้ฉากท้องถิ่นชนบทภาคใต้มีความสมจริงมากยิ่งขึ้น แต่ผู้เล่าก็ได้บอกว่า ไก่ชนในบ้านของเดฟั่นไม่เคยถูกอุ้มเข้าบ่อน เช่นนั้นแล้ว ไก่ชนที่ไม่ได้ถูกเลี้ยงไว้เพื่อชนก็เป็นภาพแทนของผู้คนในหมู่บ้านฝนแสนห่าที่แม้จะเป็นนักสู้ แต่ก็ไม่ได้ดำรงอยู่เพื่อต่อสู้ฟาดฟัน แต่ใช้ชีวิตอยู่เพื่อสืบทอดวิถีแห่งบรรพบุรุษ สืบทอดสายเลือดและวัฒนธรรม นี่ก็ยังสอดคล้องไปกับที่ เดฟั่นใช้ชีวิตและมีสัมพันสวาทกับสุคนธาในกรงขนาดใหญ่  เมื่อมองภาพนี้ให้ดีก็จะเห็นว่า เดฟั่นและตัวละครอื่นๆ ก็คล้ายถูกทำให้เป็นไก่ชนตัวหนึ่ง ไก่ชนที่ไม่ใช่ไก่ แต่เป็นนกนักสู้ ดังเช่นที่ตัวละครได้กล่าวเอาไว้

            "เดฟั่นเดินข้ามถนนมาหยุดหน้าชายร่างยักษ์ "ชื่ออะไรน่ะ?"

          เจ้าของเรือนร่างสูงใหญ่เงยหน้าขึ้น ยิ้มให้เดฟั่น "เรียกฉันว่ายักษ์ก็พอ"

          "ผมหมายถึงไก่ชน" ชายร่างยักษ์หัวเราะ "มันเป็นนกนักสู้" (หน้า 71)

            มันคือไก่ชนที่มีประวัติศาสตร์แตกกระจัดกระจายแล้วถูกนำมาประกอบรวมเข้ากันใหม่ในความทรงจำของไก่ชนรุ่นลูกหลานอย่าง เดฟั่น นั่นเอง

            เศษกระจกประวัติศาสตร์หรือความทรงจำของเดฟั่น ถูกปะติดปะต่อด้วยเรื่องราวที่น่าสนใจ นั่นคือแนวเรื่องแบบลูกทุ่งที่มีการชิงรักหักสวาท บู๊ล้างผลาญและตำนานลูกผู้ชาย ในขณะเดียวกันก็สอดแทรกสภาพสังคมและพัฒนาการของชุมชนพื้นถิ่นเอาไว้ด้วย จากนั้นก็เพิ่มน้ำหนักของเรื่องเล่าด้วยเกล็ดเล็กน้อยที่เป็นประวัติศาสตร์ของรัฐชาติและเหตุการณ์สำคัญทางการเมือง ปะติดปะต่อกันเข้าจนเป็นแผ่นกระจกประวัติศาสตร์ผืนหนึ่ง พร้อมสัญญะที่ชี้ชวนให้ใคร่ครวญอยู่ในเนื้อหา ทำให้เดฟั่น ถูกเล่าถึงอย่างมีสีสันและทำให้เราได้ขบคิดไปด้วยอย่างเพลิดเพลิน

            ครั้นแล้ว  เราเอากระจกที่ปะติดปะต่อสำเร็จยกขึ้นตั้ง ให้เดฟั่นส่องมองดูตัวเอง เช่นเดียวกัน พวกเราก็มองตัวเองผ่านภาพประวัติศาสตร์ปะติดปะต่อของบรรพบุรุษของเราที่ส่งทอดมาให้ แน่นอน ภาพนั้นไม่แจ่มชัดกระจ่างใส มีภาพเราตรงเศษส่วนนั้นบ้าง ตรงโน้นบ้าง ชัดบ้าง เบลอบ้าง  เรามองภาพกระจกประวัติศาสตร์ปะติดปะต่อของเราเช่นไร  เหมือนเดฟั่นหรือไม่?

              เหมือนที่ผู้เล่าพบว่า

            "... เดฟั่นลองลอยผ่านร่างผมไป

          ล่องลอย

          จ้องมองไปข้างหน้าด้วยดวงตาของเสือตัวหนึ่ง

          ล่องลอยและจมหายกลืนกลายไปในหลุมโพรงมืดดำกลางผืนป่าลึกลับภายในตัวเอง..." (หน้า 279)

 

อ้างอิง

ศิริวร  แก้วกาญจน์. เดฟั่น : เรื่องเล่าของตระกูลคนเฆี่ยนเสือจากไทรบุรี.ผจญภัยสำนักพิมพ์: กรุงเทพมหานคร. 2564

 

 

 

 

 

 

 

 

Visitors: 72,354