แม่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเพศ

ณัฏฐ์ณวีร์ มาตย์ภูธร

โรงเรียนแก่นนครวิทยาลัย

 

 

          หนังสือนวนิยายสัญญารักในสายหมอก Love of Transgender Mom เป็นผลงานของเอิงเอย (2564) หนังสือนวนิยายเล่มนี้เป็นหนังสือที่มีจุดน่าสนใจเกี่ยวกับแนวคิดของเรื่องหลายอย่าง ในช่วงแรกของการดำเนินเรื่องมีแนวคิดที่เห็นได้ชัดเลยคือ การสะท้อนปัญหาเรื่องค่านิยมความเป็นลูกผู้ชาย ในสังคมไทยมักจะคาดหวังให้ผู้ชายมีความอดทน แข็งแกร่ง เย็นชา ไม่ร้องไห้ และไม่แสดงความรู้สึกอ่อนไหวออกมา ซึ่งเป็นค่านิยมที่เป็นการตีกรอบลักษณะนิสัยของคนคนหนึ่ง ทำให้คนคนนั้นไม่เป็นตัวของตัวเอง และไม่อาจใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้เพราะสิ่งที่สังคมคาดหวังให้เขาเป็น มันไม่ใช่สิ่งที่เขาแสดงออกมาอย่างจริงใจและมีความสุขกับสิ่งนั้น อีกทั้งนวนิยายเรื่องนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นแม่ของผู้หญิงคนหนึ่งที่แม้จะเป็นผู้หญิงข้ามเพศแต่ก็ทำหน้าที่คุณแม่ได้ดีโดยไม่ขาดตกบกพร่อง แสดงให้เห็นว่าเพศไม่ได้เป็นอุปสรรคในการเป็นแม่ ไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่แค่ผู้ที่เกิดมาเป็นเพศหญิงอย่างเดียว เนื่องจากความเป็นแม่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน เป็นการกระทำที่ออกมาจากจิตใจภายในของคนเป็นแม่ และเป็นสิ่งที่ไม่ต้องมีใครมาบอก ไม่ต้องมีใครมาสอน คนเป็นแม่ก็เข้าใจและเรียนรู้ที่จะเป็นแม่ในแบบที่ตัวเองอยากเป็นได้ นอกจากนี้ผู้เขียนของหนังสือนวนิยายเรื่องนี้ยังเสนอแนวคิดเกี่ยวกับความรักไม่จำกัดเพศอีกด้วย แม้ว่าจะมีหลายคนในสังคมที่เปิดใจกว้าง เคารพและยอมรับในสิ่งที่ผู้อื่นเป็นได้ แต่ก็ยังมีอีกหลายคนมากมายในสังคมเราที่มีอาการเกลียดหรือกลัวผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือที่เรียกกันว่า Homophobia ซึ่งเป็นความเกลียดหรือความกลัวที่ไร้เหตุผล เพราะความรักไม่ได้เจาะจงว่าใครควรรักใคร ความรักนั้นเป็นอิสระ ไม่ได้จำกัดความว่าเป็นเรื่องของเพศไหน และผู้เขียนสะท้อนแนวความคิดนี้ออกมาได้เป็นอย่างดี

          โครงเรื่องของหนังสือนวนิยายนำเสนอเรื่องราวความรักของคนสองคนที่อยากสร้างครอบครัวด้วยกัน ซึ่งก็คือลำธารและธาราที่รู้จักกันมาตั้งแต่เมื่อยังเล็ก เพราะพ่อแม่ของทั้งลำธารและธารารู้จักกันและเป็นเพื่อนสนิทกันมาตั้งแต่สมัยอนุบาล และพ่อแม่ของทั้งสองได้ให้คำมั่นสัญญาว่าเมื่อทั้งสองคนโตขึ้นก็จะให้แต่งงานกัน เมื่อลำธารโตขึ้นก็ตัดสินใจไปเรียนหมอที่สหรัฐอเมริกา ส่วนธาราก็ทำงานเป็นดีไซเนอร์ รอลำธารกลับมาแต่งงานกับตน เมื่อลำธารเรียนจบและกลับมาไทย ครอบครัวทั้งสองฝั่งก็พบว่าลำธารคนนี้ไม่ใช่ลำธารคนเดิมที่พวกเขาเคยรู้จัก เพราะลำธารได้ตัดสินใจทำการผ่าตัดแปลงเพศ ทำให้งานแต่งที่กำลังจะเกิดขึ้นก็ล่ม และในช่วงแรกลำธารก็ยังไม่ได้รับการยอมรับทั้งจากฝั่งครอบครัวของตนเองและฝั่งครอบครัวธารา แต่เมื่อลำธารใช้หัวใจอันบริสุทธิ์และความเป็นตัวของตัวเองฝ่าฟันอุปสรรคมา ทำให้ความฝันของเธอที่อยากจะสร้างครอบครัวและเป็นคุณแม่จึงเป็นจริงได้

          จากเนื้อหาของนวนิยายเรื่องนี้ ผู้เขียนได้สะท้อนให้ผู้อ่านได้เห็นถึงเรื่องราวค่านิยมความเป็นลูกผู้ชาย โดยผู้เขียนได้ถ่ายทอดเรื่องราวผ่านตัวละครเอก ซึ่งก็คือลำธารที่เติบโตในบ้านที่คุณพ่อเป็นนายทหารใหญ่ และมักจะคาดหวังให้ลำธารอดทน เข้มแข็ง เป็นลูกผู้ชายอยู่เสมอ แต่ในท้ายที่สุดลำธารก็ค้นพบว่าอยากเป็นเหมือนคุณแม่ของลำธาร จึงไม่ต้องการหลอกตัวเองอีกต่อไป และตัดสินใจผ่าตัดแปลงเพศที่สหรัฐอเมริกา เมื่อพ่อลำธารรู้เรื่องนี้จึงโกรธมากและไล่ลำธารออกจากบ้านและตัดความสัมพันธ์พ่อลูกกัน ซึ่งเห็นได้จากตัวอย่างตอนที่ลำธารพยายามอธิบายให้คุณพ่อฟัง

ผมอยากเป็นแบบนี้ ตั้งแต่จำความได้ว่าต้องเป็นลูกของผู้ชายที่มีแต่ความแข็งกระด้าง เย็นชา ยึดมั่นถือมั่นในความสำเร็จของตัวเอง และคอยบงการให้ทุกคนรอบตัวทำแต่สิ่งที่ตัวเองต้องการไงครับ”

และตอนที่ลำธารพยายามอธิบายให้ธาราฟัง

พี่ขอโทษ พี่ก็เพิ่งรู้ตัวเองตอนไปเรียนอเมริกา พี่เหงา พี่คิดถึงบ้าน คิดถึงคุณแม่ คิดถึงธารา แต่ทุกครั้งที่พี่กลับบ้าน คุณพ่อจะย้ำกับพี่เสมอลูกผู้ชายต้องอดทน และแล้ววันหนึ่งพี่ก็ค้นพบว่าพี่ไม่ต้องการเป็นผู้ชายแบบที่คุณพ่อต้องการ พี่อยากเป็นเหมือนคุณแม่ เสรีภาพที่อเมริกาทำให้พี่ได้ค้นพบว่าที่ผ่านมาพี่ไม่ได้มีความเป็นผู้ชายที่แท้จริงอยู่เลย มันเป็นสิ่งที่พี่ดำเนินไปตามกรอบกฎเกณฑ์ที่คุณพ่อตั้งไว้ ว่าพี่ต้องเป็น พี่ไม่ได้ตั้งใจหลอกธาราหรือหลอกใคร ๆ และที่สำคัญเมื่อพี่รู้ตัวแล้วพี่ไม่อยากหลอกตัวเอง ธารเข้าใจพี่ใช่ไหม”

จากเหตุการณ์ในตอนนี้ก็แสดงให้เห็นว่า ในสังคมไทยให้ความสำคัญกับความเป็นลูกผู้ชายเป็นอย่างมาก ซึ่งสิ่งที่พ่อลำธารทำอยู่ถือได้ว่าเป็นวัฒนธรรมความเป็นลูกผู้ชายที่เป็นพิษ หรือที่เรียกกันว่า Toxic Masculinity และสิ่งนี้ก็ได้ทำร้ายคนในสังคมมามากมายแล้ว หนึ่งในนั้นที่เป็นเหยื่อก็คือลำธารด้วยเช่นกัน ดังนั้นการไม่ตีกรอบว่าเพศใดเป็นเพศที่อ่อนแอ เพศใดเป็นเพศที่แข็งแรงอดทน เพศนี้ควรเป็นแบบนั้น หรือเพศนั้นควรเป็นแบบนี้ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เนื่องจากการตีกรอบทางเพศนั้นเป็นการสร้างภาพจำให้กับคนคนนั้นและเป็นการบีบคั้นให้เขาใช้ชีวิตและแสดงออกมาตามที่สังคมต้องการ ฉะนั้นการคบคุมพฤติกรรมของมนุษย์โดยอิงจากเพศสภาพและเพศวิถีนั้นควรหมดไป ควรหันมาเริ่มปลูกฝังการเปิดใจให้กว้างและยอมรับในตัวตนที่ผู้อื่นเป็น

          นอกจากนี้ในนวนิยายเรื่องนี้ยังปรากฏแนวความคิดสำคัญ คือ แม่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเพศสภาพและเพศวิถีใด แม้ว่าจะมีผู้หญิงหลายคนที่ใฝ่ฝันอยากจะเป็นคุณแม่ ซึ่งลำธารก็เป็นหนึ่งในผู้หญิงเหล่านั้นด้วยเช่นกัน แต่เธอไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ เพราะเธอไม่มีมดลูก แต่ในท้ายที่สุดลำธารก็ได้เป็นคุณแม่ดังที่เธอต้องการ โดยการที่ธารายอมเป็นแม่อุ้มบุญให้กับลำธาร เมื่อลูกชายลืมตาดูโลก ลำธารก็เลี้ยงดูธัน ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของเธออย่างดี เมื่อลูกชายของเธอโตขึ้นและค้นพบในสิ่งที่ตัวเองชอบ ลำธารสนับสนุนในสิ่งที่ลูกชายของเธอเป็นย่างดี แม้ในตอนแรกเธอจะคัดค้านและพยายามโน้มน้าวลูกชายว่าเธอเลือกในสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูก แต่ในท้ายที่สุดเมื่อธาราเตือนลำธาร เธอฉุกคิดได้ว่าเธอจะต้องยอมรับลูกและสนับสนุนในสิ่งที่เขาชอบ เพราะอาชีพที่ลูกเลือกจะเป็นสิ่งที่จะอยู่กับเขาไปตลอด เธอจึงขอโทษลูกของเธอเมื่อเธอลืมคิดถึงใจของลูก การไม่มีทิฏฐิเป็นหนึ่งในคุณสมบัติของแม่ที่ดี และลำธารก็มีคุณสมบัตินั้นอย่างเห็นได้ชัด เพราะเธอกล้าที่จะขอโทษลูกของเธอเมื่อเธอทำพลาด เห็นได้จากตอนตัวอย่างดังต่อไปนี้

ธันแม่ขอโทษ แม่คงรักลูกมากเกินไป จนลืมความต้องการของลูก แม่น่าจะมีความสุขมากกว่าถ้าเห็นลูกมีความสุขกับสิ่งที่ลูกเลือกเอง”

          นอกจากนี้ลำธารยังได้แสดงถึงความรักลูกที่เด่นชัดที่สุดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ชีวิตของเธอ เธอก็ให้ลูกได้ เพราะลูกของเธอมีโรคประจำตัวเกี่ยวกับหัวใจ เมื่อลำธารประสบอุบัติเหตุและใกล้จะสิ้นใจ เธอก็ตัดสินใจบริจาคหัวใจให้กับลูกชายของเธอที่กำลังจะเข้าผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจในทันทีโดยไม่ลังเลแม้แต่นิด ฉะนั้นนี่จึงพิสูจน์ได้ว่า คนเป็นแม่นั้นไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นเพศหญิงที่ให้กำเนิดลูกเท่านั้น แต่จิตวิญญาณของคนเป็นแม่ต่างหากที่สำคัญกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นแม่ที่เป็นเพศหญิงหรือเพศหญิงที่ข้ามเพศ หากเพียงมีใจที่เป็นแม่ ทุกคนต่างก็เป็นแม่ได้ทั้งสิ้น

          ปมปัญหาที่สอดแทรกแนวคิดไว้ด้วย คือ ปมปัญหาเรื่องความรักระหว่างธาราและลำธาร ซึ่งสอดแทรกแนวคิดเรื่องความรักเป็นสิ่งที่ไม่เจาะจงเพศและการยอมรับในสิ่งที่คนอื่นเป็น ธารารักและต้องการที่จะแต่งงานกับลำธารที่เป็นผู้ชาย เมื่อเธอรู้ว่าลำธารไม่ใช่ลำธารที่เธอเคยรู้จัก เธอก็ตัดความสัมพันธ์กับลำธาร แต่ลำธารนั้นอยากมีลูกและสร้างครอบครัวกับธารา ลำธารจึงใช้ใจของเธอเข้าสู้และเป็นตัวของตัวเอง เธอขอธาราให้เป็นแม่อุ้มบุญและพยายามอธิบายด้วยความสัตย์จริงเกี่ยวกับตัวตนของเธอ เพราะเธอรู้อยู่เต็มอกว่าแม้ธาราจะบอกปัดปฏิเสธเธอทุกครั้งและตัดความสัมพันธ์เธอไป แต่ยังไงธาราก็ยังรักลำธารอยู่และธาราจะรักเธอในสิ่งที่เป็นได้ ในท้ายที่สุดธาราก็ยอมเป็นแม่อุ้มบุญให้กับลำธารและยอมรับในสิ่งที่ลำธารเป็น ยอมรับว่านี่คือลำธารที่เธอรัก ไม่ว่าจะเป็นลำธารไหน เพศสภาพอะไร หรือเพศวิถีใด เธอก็รักลำธารเพราะนิสัยและจิตใจ นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งตัวละครที่สะท้อนเรื่องการยอมรับในสิ่งที่คนอื่นเป็นด้วยเช่นกัน นั่นคือ คุณแม่ของลำธาร เห็นได้จากตัวอย่างตอนที่คุณแม่ลำธารพยายามจะโน้มน้าวคุณพ่อของลำธาร

คุณจะทำแบบนี้ไม่ได้นะคะ ไม่ว่าลูกจะเป็นอะไร ลำธารก็เป็นลูกของเรา”

ดังนั้นจากปมปัญหานี้จึงให้ข้อคิดที่ชัดเจนว่า คนในสังคมควรที่จะเลิกเหยียด เลิกมีอคติว่าเพศใดควรจะรักกับเพศใด และควรที่จะเปิดใจให้กว้าง ให้ความเคารพ ยอมรับว่าในสังคมของเรามีหลากหลายเพศ และจะต้องปฏิบัติกับพวกเขาเฉกเช่นเพื่อนมนุษย์ปุถุชนคนทั่วไป แม้ว่าจะมีคนที่ไม่สนับสนุนชุดความคิดนี้อยู่บ้าง แต่ในขณะเดียวกันสังคมก็เปิดกว้างกับเรื่องความหลากหลายทางเพศมากขึ้น เห็นได้จากการที่ผู้คนให้การสนับสนุนและผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียมเป็นอย่างมาก ซึ่งถือเป็นนิมิตหมายอันดีว่าสังคมเรากำลังพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นนั่นเอง

          ตอนจบของนวนิยายเรื่องนี้อาจมองว่าจบได้ทั้งแบบโศกนาฏกรรมและสุขนาฏกรรม ในมุมของโศกนาฏกรรม ตัวละครเอกอย่างลำธารได้ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์เสียชีวิต และได้บริจาคหัวใจของตนให้กับลูกชายที่รอผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ ส่วนในมุมของสุขนาฏกรรม ธันซึ่งเป็นลูกชายของทั้งธันและธาราก็ได้ผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจใหม่ และได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขต่อไปจนเติบใหญ่

          นวนิยายเรื่องสัญญารักในสายหมอกเป็นนวนิยายที่สะท้อนปัญหาเรื่องค่านิยมและจุดประกายสนับสนุนเรื่องความหลากหลายทางเพศและการยอมรับในตัวตนที่แท้จริงของผู้อื่น และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือผู้เขียนเสนอแนวคิดให้กับสังคมที่ว่า “แม่ไม่ได้จำกัดเพศ” โดยผู้เขียนได้นำเสนอผ่านชีวิตตัวละครเอกได้อย่างสมบูรณ์และชัดเจน เห็นได้ว่าคนเป็นแม่นั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับเพศสรีระที่แสดงออกให้เห็นว่าเป็น “เพศหญิง” เท่านั้น แต่ในความเป็นจริงไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ ฐานะ ตระกูล รวมถึงเพศด้วยเช่นกัน มนุษย์เลือกสิ่งเหล่านั้นตอนเกิดไม่ได้ แม้ว่าวิวัฒนาการทางการแพทย์ในปัจจุบันจะก้าวหน้าไปมากจนพ่อแม่สามารถเลือกได้ว่าจะอยากให้ลูกของตนเกิดมามีเพศใด ก็ไม่มีผู้ใดรู้ได้ว่าเด็กที่เพิ่งลืมตาบนโลกใบนี้จะโตขึ้นมามีเพศสภาพและเพศวิถีแบบใดนอกจากตัวของเด็กเอง ดังนั้นเพศสภาพและเพศวิถีไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญเมื่อใครสักคนอยากจะสร้างครอบครัวและมีลูก แต่จิตใจที่เปี่ยมรัก ความเอาใจใส่ ทัศนคติที่ดี วิธีการที่ดีในการดูแลเลี้ยงดูต่างหากที่เป็นปัจจัยที่สำคัญกว่ายิ่ง

 

Visitors: 72,522