ประเทศในเขาวงกตและบริบทอื่นๆ: วันเวลาไม่เคยรอใคร

ประเทศในเขาวงกตและบริบทอื่นๆ: วันเวลาไม่เคยรอใคร

 นางสาวจิดาภา มั่นศรีจันทร์

โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย

 

 

            “ประเทศในเขาวงกตและบริบทอื่น ๆ ” (The Countries in the Labyrinth and Other Contexts) ผลงานกวีนิพนธ์เล่มล่าสุดของ ศิริวร แก้วกาญจน์ เจ้าของผลงานชนะเลิศรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (Southeast Asian Writers Award) หรือรางวัลซีไรต์ (S.E.A. Write) ประเภท "นวนิยาย" ประจำปี 2564 ซึ่งในเล่มได้เพิ่ม "ภาคพิเศษ l ประวัติศาสตร์กำลังเดินทาง" เข้ามาในส่วนสุดท้ายที่ปรับปรุงใหม่จากเล่มรวมบทกวีไร้ซึ่งการบังคับฉันทลักษณ์ "ประเทศในเขาวงกต" ซึ่งเป็นบทกวีอันงดงาม หนักแน่น และทรงพลัง ไม่ต่างกับบทกวีเคร่งครัดฉันทลักษณ์ที่มีการบังคับคณะและสัมผัส เป็นพื้นฐานของการประพันธ์ อันถูกปลูกฝังให้สืบสานภูมิปัญญาด้านการใช้ภาษาไทยอย่างสร้างสรรค์ โดยกวีนิพนธ์ที่ปรากฏอยู่ในเล่มเป็นบทกวีว่าด้วยสังคม การเมือง เหตุการณ์ความรุนแรง ปัญหาความขัดแย้งทางความคิด ความเชื่อ ปัญหาเหลื่อมล้ำ และอีกมากมาย จนกลายเป็นบทกวีไร้ฉันทลักษณ์จำนวน 30 ชิ้น เพื่อบอกเล่าปรากฏการณ์ในเขาวงกตและบริบทอื่น ๆ ที่กว้างไกลออกไป ไกลออกจากบันทึกประวัติศาสตร์และการเมืองที่เราคุ้นเคย หากลองพินิจดูจะเห็นได้ว่าเนื้อหาทั้งหมดล้วนแล้วแต่เกิดจากเหตุการณ์หรือเรื่องราวในอดีตที่ถูกบันทึกไว้เป็นหลักฐานของความทรงจำและช่วงเวลา ทั้งเรื่องที่ถูกตีพิมพ์ด้วยความลวงและเรื่องที่ถูกบิดเบือนความจริงที่ไปไกลเกินกว่าจะแก้ไข “ประเทศในเขาวงกตและบริบทอื่น ๆ ” เป็นหนึ่งในวรรณกรรมบันเทิงคดีอันทรงคุณค่าที่ไม่ได้ปรากฏเพียงแค่ความงดงามทางวรรณศิลป์ แต่ยังเป็นวรรณกรรมสารคดีที่มอบความจริงของประวัติศาสตร์และการเมืองในอดีตเสมือนจดหมายเหตุที่คอยบันทึกเรื่องราวและเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจริงตามช่วงเวลานั้น เปรียบได้กับการทัศนศึกษาเรียนรู้นอกห้องเรียน เพื่อเก็บสะสมประสบการณ์และความรู้ใหม่ ๆ ให้แก่ผู้อ่าน ผิดกับการนั่งศึกษาเรียนรู้ในห้องเรียนวิชาประวัติศาสตร์ที่คอยจำจดตามเนื้อหาสาระที่ถูกบิดเบือนจากกระทรวงศึกษาธิการที่กำลังบิดบัง

 

ประวัติศาสตร์และการเมืองคือสิ่งใด เหตุใดเราถึงต้องรู้จักและสืบเสาะหา?

            "ประวัติศาสตร์" เป็นคำที่มีความหมายหลากหลาย แต่ความหมายที่สำคัญและกันใช้โดยทั่วไป คือ เรื่องราวหรือเหตุการณ์ในอดีตตั้งแต่มีมนุษย์เกิดขึ้นมาในโลกจนถึงวินาทีที่พึ่งผ่านมา และเรื่องราวของบางเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีตที่เรารู้หรือเข้าใจ 

            “การเมือง” (politic) มาจากคำภาษากรีก “polis” แปลว่า “รัฐ” หรือ “ชุมชนทางการเมือง” มีนักวิชาการหลายท่านให้ความหมายไว้หลากหลาย เพราะทัศนะและความเข้าใจของนักวิชาการแต่ละคนมีความแตกต่างกัน

            เพลโต (Plato) นักปราชญ์ชาวกรีกได้ให้ความหมายของการเมืองว่า “เป็นกิจกรรมที่แสวงหาความยุติธรรม” และมีการเรียกการศึกษาปรัชญาการเมืองด้วยระเบียบวิธีทางประวัติศาสตร์ว่า "ประวัติศาสตร์ความคิดทางการเมือง" ซึ่งสตีฟ แทนซีย์ (Stephen D. Tansey) ได้อธิบายไว้ใน หนังสือความเข้าใจมโนทัศน์ “การเมือง” เบื้องต้น (Politics: The Basic) ว่า ประวัติศาสตร์ความคิดทางการเมืองจะเป็นการศึกษาพัฒนาการของความคิดทางการเมือง โดยคำนึงถึงบริบททางกาลเทศะว่ามีผลต่อทฤษฎี หรือหลักปรัชญาอย่างไร และประวัติศาสตร์ความคิดทางการเมืองเป็นส่วนสำคัญที่จะใช้สร้างทฤษฎีการเมือง 

            หนึ่งเหตุการณ์ทางการเมือง หนึ่งการเปลี่ยนแปลง หนึ่งผู้ชนะ หนึ่งผู้แพ้ คงห้ามปรามได้ยากสำหรับกลุ่มบุคคลที่มีความขัดแย้งทางความคิด เฉกเช่นเดียวกับการขุดค้นความจริงทางประวัติศาสตร์ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต หนึ่งกลุ่มบุคคลจึงจำเป็นจะต้องก้าวออกมา เพื่อแสดงให้เห็นว่าตัวเขานั้นต้องการความจริงที่ถูกต้อง แต่เหตุใดอำนาจของอีกกลุ่มถึงยิ่งใหญ่จนบดบังความคิดนั้นเหลือเกิน

 

คลื่นทำท่าทีปลอบประโลมชายหาด แท้จริงแล้วอยากได้ความรัก ปลอบประโลมความอ้างว้างของมหาสมุทร ที่สาดซัดอยู่ในตัวเอง

          “ภาคแรก l ต่อที่ทางโลกกว้างไกล” ล้วนเต็มไปด้วยอารมณ์และอุดมการณ์ที่หลากหลาย ทั้งความสูญเสีย อารมณ์อาวรณ์จากเหตุการณ์ความรุนแรง ความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือจะเป็นการเรียนรู้ที่จะควรเปิดอกเปิดใจเพื่อรับความรู้จากศาสตร์วิชาใหม่ ๆ จากบทกวี “เบื้องหลังของพวกเด็กเด็ก” ได้กล่าวว่า “สิ่งที่อยู่เบื้องหลังของเด็กเด็กคือความฝันดวงเล็กเล็กผ่องผุด” (หน้า 52) “สิ่งที่อยู่เบื้องหลังของเด็กเด็กคือความหวังดวงเล็กเล็กถูกดับหวัง” (หน้า 53)  และ “สิ่งซึ่งซ้อนซ่อนเร้นในความเป็นเด็กคือผู้ใหญ่ตัวเล็ก ไม่ขลาดเขลา” (หน้า 52) หากคำกล่าวของผู้ใหญ่ที่บอกไว้ว่า เด็กคืออนาคตของชาติ การยืนหยัดเพื่อสิทธิที่ควรจะได้รับของเด็กคนหนึ่งก็สามารถทำให้ผู้ใหญ่หลายคนก้าวข้ามความขลาดออกมา รวมเป็นหนึ่งขุมพลังใหญ่ไปต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพที่ควรได้รับจากประเทศประชาธิปไตย แม้แต่บทกวี “ตุ๊กตา” ที่ได้กล่าวว่า “ตุ๊กเอ๋ยตุ๊กตากาลี ดื่มเลือดปัตตานีไม่รู้พอ!” (หน้า 31) สะท้อนให้เห็นถึงภาพความรุนแรงและความสูญเสียของพี่น้องชาวปัตตานีที่ลาจากเราไปเนื่องจากปัญหาความรุนแรงทางสังคม และกาลี มาจากพระแม่กาลีผู้กำเนิดมาเพื่อกำจัดคนชั่ว มีอำนาจฤทธิ์ในการปราบปรามสิ่งชั่วร้ายทั้งปวง มีเทวานุภาพอันแรงกล้า สร้างความวิบัติแก่เหล่าอสูรอย่างรุนแรง และยังมีพลังอำนาจในการขจัดคุณไสย ลบล้างคุณไสยด้านมืด พระแม่กาลีจึงเปรียบเสมือนเครื่องเตือนใจว่าคนที่ทำชั่ว หรือคนที่มีกรรมชั่วจะต้องได้รับผลของกรรมนั้น ซึ่งเป็นเหมือนผู้พิพากษากรรมของมนุษย์ ดังนั้นตุ๊กตากาลีในบทกวีนี้ก็เปรียบได้เหมือนการกระทำที่พรากชีวิตของชาวปัตตานีไปจากอ้อมอกของครอบครัวและความสงบที่ควรจะเป็น

 

ข้าคือวรรณกรรม ถ้อยคำคือเรือ ประวัติศาสตร์และการเมืองคือเครื่องมือ

            “ภาคสอง l ในบ่วงแร้วและแนวรบ” ไม่ว่าจะเป็นใคร ทุกคนล้วนเคยผิดพลาด อดีตที่เจ็บปวด ปัจจุบันกำลังดำเนิน และอนาคตที่จะสดใส การเรียนรู้จากข้อผิดพลาดในอดีตไม่ใช่เรื่องที่ไม่ดี การเคารพและบูชาความเชื่อก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิด จากบทกวี “ทบทวน (1)” ก็สามารถแปลความ ตีความและขยายความได้อย่างหลากหลาย ทั้งหมายถึงความผิดพลาดของตนเองในอดีตและความลวงที่ถูกบอกกล่าวกันต่อมา เพียงเพราะความรุนแรงของการกระทำในหน้าประวัติศาสตร์

                                    ทบทวน ไถ่ถามความผิดพลาด

                              ของประวัติศาสตร์แต่ละหน้า

                              เลือดและน้ำตา

                              วิเคราะห์ดินฟ้า ปรากฏการณ์ (หน้า 61)

 

ควรอยู่กับปัจจุบันก็จริง หากไม่เข้าใจอดีต เราก็จะสูญเสียอนาคต

            “ภาคสาม l ขอบฟ้าอนาคต” บทกวีในภาคนี้ถูกแต่งแต้มไปด้วยหลากเหตุการณ์สำคัญทางการเมือง เช่น เหตุการณ์ความรุนแรงแห่งเดือนพฤษภาคมอย่าง ‘พฤษภาทมิฬ’ และ ‘พฤษภาอำมหิต’ จากบทกวี “เรายังอยู่ในนั้น” หรือเหตุการณ์ความสูญเสียแห่งเดือนตุลาคมอย่าง ‘เหตุการณ์  6 ตุลา การสังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์’ และ ‘เหตุการณ์ 14 ตุลา มหาวิปโยค’ จากบทกวี “หลังโครงครอบขอบฟ้าอาณานิคม (2)” และ ‘เหตุการณ์การชุมนุมต่อต้านเผด็จการของกลุ่มคนเสื้อแดง’ จากบทกวี “ความฝันบนถนนราชดำเนิน” แม้ในภาคนี้จะถูกประพันธ์เกี่ยวกับเหตุการณ์ทางการเมืองเสียส่วนใหญ่ แต่ยังคงมีบทกวีที่กล่าวถึงเรื่องราวดี ๆ ในช่วงเวลาอันเลวร้ายอย่างบทกวี “ระหว่างการระบาด”

                                    ดูสิ, ปัจจุบันอันหวั่นหวาด

                              คลื่นลมของอำนาจเกรี้ยวกราดเกรี้ยวกรีด

                              ดูสิ, ปัจจุบันสะบั้นขาด

                              ความมืดบอดก็ระบาด ความเกรี้ยวกราดก็กร้าวกรีด

                              หากฉันเอาแต่เพ้อ เธอเอาแต่คลั่ง

                              เราก็จะกลบฝังทั้งอนาคต ปัจจุบัน และอดีต (หน้า 135)

            ภาษาวรรณศิลป์อันโดดเด่นสามารถดึงภาพและอารมณ์ออกมาจากบทกวี “เรื่องเล่า 3 ห้วงสมัย” ได้อย่างยอดเยี่ยม สะท้อนถึงสถานการณ์ความรุนแรงอันน่ากลัวและน่าสลด กลุ่มบุคคลซึ่งอำนาจบาตรใหญ่อาจยืนมองภาพเหตุการณ์เหล่านั้นด้วยสายตาที่หลากอารมณ์ ผิดกับประชาชนที่ต้องต่อสู้กับเหตุการณ์เบื้องหน้าตนด้วยอารมณ์ที่แสนสะเทือนจิตใจ 

 

ชาวประมงคือกวี ผู้ค้นหาฝูงปลาใต้มหาสมุทร กวีคือชาวประมง ผู้เสาะค้นฝูงความคิดในเวิ้งความมืดไร้ขอบเขต

            “ภาคพิเศษ l ประวัติศาสตร์กำลังเดินทาง” ร้อยเรียงเหตุการณ์และเรื่องราวของบุคคลสำคัญทั้งภายในเขาวงกตอย่างประเทศไทยและภายนอกอย่างต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภูเขาน้ำแข็งของกรีนแลนด์กำลังละลาย ไฟป่าอินโดนีเซีย จิตร ภูมิศักดิ์ หรือโรเบิร์ต ฟรอสต์ก็ตาม ทั้งหมดที่กล่าวถึงล้วนเป็นสิ่งสำคัญของประวัติศาสตร์โลกที่ตอนนี้เป็นเพียงอดีต เพื่อให้ปัจจุบันได้เรียนรู้ และนำไปพัฒนาอนาคต

 

            แม้ว่าเนื้อหาทั้งหมดภายในเล่มเป็นบทกวีว่าด้วยปัญหาทางสังคมเป็นส่วนใหญ่ แต่ส่วนน้อยก็ยังคงมีความงดงามจากการกระทำเพื่อกันและกันของมนุษย์ปรากฏอยู่ สะท้อนให้เห็นถึงความดีงามภายในความขัดแย้งอันวุ่นวายที่แม้จะไม่ลงรอยกัน สุดท้ายมนุษย์ก็ยังคงต้องปรับตัวเข้าหากันเพื่อสังคมที่น่าอยู่ ถึงแม้ว่าเหตุการณ์ในหน้าประวัติศาสตร์จะโหดร้ายมากเพียงใด ปัจจุบันคงทำได้เพียงทบทวน เรียนรู้ความผิดพลาดเพื่อปรับแก้ความขัดแย้งในสังคม เพื่อให้อนาคตได้แปรเปลี่ยนไป

 

 

อ้างอิง:

ทวีชัย แสงนุศร. (2560).  วิเคราะห์การเมืองจากประวัติศาสตร์ในมุมมองรัฐศาสตร์ Analyze Politics From History
            
In Political Science Perspective. สืบค้นเมื่อ 16 พฤษภาคม 2566, จาก
            https://so06.tci-thaijo.org/index.php/jomld/article/download/240263/163719/823879 

ศิริวร แก้วกาญจน์. (2565). ประเทศในเขาวงกตและบริบทอื่นๆ. กรุงเทพฯ: ผจญภัยสำนักพิมพ์ 

Sayasone KEOMONTY. (2560).  การเมือง ( politice ) หมายถึง ?. สืบค้นเมื่อ 16 พฤษภาคม 2566,

            จาก https://www.gotoknow.org/posts/629585 

 

Visitors: 81,109