2023A004

หนึ่งนับวันนิรันดร : เมื่อรักและโรคาต้านทานเวลา

 นิชาภา ปิณฑะสิริ

โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์

 

 

            เมื่อ เพียงขวัญ สุริยะสว่าง หญิงสาวผู้เป็นบุตรีของเอกอัครราชทูต ได้พบกับพ่อบ้านคนใหม่ “คุณตราวุธ” เหตุการณ์แปลกประหลาดก็ได้เกิดขึ้น เพียงขวัญได้ข้ามเวลาไปใช้ชีวิตในช่วงวัยที่แตกต่างกันของ “ชุดา เถียงละออ” ความอัดอั้นและเสียงเรียกร้องอิสรภาพจากภายในของเธอทวีกำลังขึ้นเมื่อเธอได้ใกล้ชิดกับตราวุธผู้มาพร้อมกับปริศนาทั้งหมด แต่ยังคงปิดบังตัวตนของตนเอง เพียงขวัญจึงเริ่มผจญภัยเพื่อค้นหาความจริง แต่สิ่งที่เธอพบนั้นเหนือความคาดหมาย เพราะแท้จริงแล้ว เธอคือ “ชุดา เถียงละออ” ในวัย 81 ปี ซึ่งกำลังป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อม

            “หนึ่งนับวันนิรันดร” ของ กิตติศักด์ คงคา ได้นำเสนอชีวิตของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อม รวมถึงชีวิตของผู้ดูแลผู้ป่วย ทั้งในแง่มุมของผลกระทบจากอาการของโรค ความทุกข์ และพลังของความรัก แม้ท่ามกลางความทุกข์ โดยมีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

 

  1. ในกรงขังซึ่งเวลาเดินเป็นงูกินหาง

            ใน “กรงขังอันมีนามว่าชีวิต” (น.13) ของ ชุดา เถียงละออ ที่ซึ่งเวลาเดินเป็นวนเวียนดั่ง “งูกินหาง”   กิตติศักดิ์ คงคา ได้นำเสนอโรคอัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อมผ่านการผจญภัยข้ามเวลาของ “เพียงขวัญ สุริยะสว่าง” ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อ “คุณตราวุธ” พ่อบ้านหนุ่มผู้สำเร็จการศึกษาระดับดุษฎีบัณฑิตจาก สหราชอาณาจักร ในสาขาวิชาฟิสิกส์ ด้านเวลา มารับหน้าที่แทนผู้เป็นบิดา ซึ่งสะท้อนผลกระทบของโรคที่มีต่อผู้ป่วยและผู้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดได้เป็นอย่างดี

            ในช่วงชีวิตที่โรคอัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อมกุมความทรงจำของเธอไว้ราวกับเป็นความลับแม้แต่กับเจ้าของความทรงจำนั้น โดยไม่รู้ตัว ชุดาสวมบทบาทเป็นเพียงขวัญ สุริยะสว่าง นางเอกในบทละครที่เธอ      เขียนไว้เมื่อครั้งยังเป็นนักเรียน และนับวันที่หนึ่งหลายต่อหลายครั้งในการใช้ชีวิตภายใต้หลังคาเดียวกันกับตราวุธผู้เป็นสามีในบทบาทพ่อบ้าน สำหรับเพียงขวัญแล้ว โรคภูมิแพ้ของเธอเป็น “กรงขังอีกประเภทหนึ่ง”     (น.34) เนื่องจากโรคประจำตัวนั้นปิดกั้นเธอจากการได้ติดตามคุณพ่อซึ่งเป็นเอกอัครราชทูตไปยังต่างแดน และจำกัดชีวิตของเธอให้ดำเนินไปในรูปแบบเดียวทุกวัน คล้ายกันกับกรณีของชุดา เพียงแต่โรคอัลไซเมอร์ไม่ได้กักขังเพียงตัวของเธอเอง แต่ยังกักขังตราวุธไว้ด้วย เนื่องจากตราวุธต้องพยายามสร้างความคุ้นเคยกับชุดา หรือ “เพียงขวัญ” นับครั้งไม่ถ้วน เขาไม่สามารถหนีไปจากวังวนของการมีสุขเปี่ยมล้นเมื่อชุดาจำเขาได้แล้วเผชิญความชอกช้ำอีกครั้งเมื่อเธอลืมเขา

 

  1. เมื่ออดีตของตนเองกลายเป็นปริศนา

            เมื่อเพียงขวัญขยับร่างกายไม่ได้แล้วพบว่าตนเองตื่นขึ้นมาอยู่ในร่างของบุคคลอื่น เพียงขวัญเข้าใจว่าตนได้หลุดลอยไปสู่จักรวาลและข้ามเวลาไปในอดีตของเด็กหญิงปริศนา การข้ามเวลาของเธอเกิดขึ้นในยามนิทราของ “วันแรก” ที่เธอได้พบกับตราวุธผู้เป็นปริศนาสำหรับเธอไม่แพ้เด็กหญิงผู้เป็นเจ้าของชีวิตที่เธอได้ย้อนรอย นอกจากนี้ยังมีสิ่งของที่เธอไม่ทราบที่มาเพิ่มขึ้นในบ้าน ทำให้เธอเกิดความสงสัยว่าเขาเกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์แปลกประหลาดนี้

            ในความเป็นจริง ด้วยผลข้างเคียงจากยาสำหรับโรคอัลไซเมอร์ (Donepezil) ตามที่ได้เปิดเผยในช่วงท้ายของเรื่อง  ทำให้เพียงขวัญมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงและไม่สามารถขยับตัวได้ สำหรับการที่เธอเชื่อว่าตนเองได้ข้ามเวลานั้น เหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันเกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวันของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมซึ่งมักมีอาการสับสนระหว่างความฝันและความเป็นจริง ในกรณีของ “เพียงขวัญ” หรือ ชุดา ผู้เขียนได้สอดแทรกอาการของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ซึ่งมีโรคสมองเสื่อมร่วมไว้อย่างแนบเนียน โดยให้ชุดาคิดว่าตนเองเป็นตัวละครที่ตนเคยเขียนขึ้นมา หรือ “เพียงขวัญ” เห็นได้จากคำบรรยายของผู้เขียนเองซึ่งเล่าว่าเธอเป็น “ลูกสาวคนเดียวแห่งตระกูล” (น.14) ทั้งที่ชุดามีพี่สาวสองคนด้วยกัน เพียงขวัญยังเชื่อมโยงทฤษฎีเกี่ยวกับเวลาที่ได้ฟังจากตราวุธเข้ากับความฝันของตนเอง  นำไปสู่การเชื่อว่าตนเองได้ข้ามเวลา เนื่องจากเธอได้ลืมว่าเหตุการณ์ในฝันนั้นครั้งหนึ่งเคยเกิดขึ้นจริง และคิดว่าตราวุธย้อนเวลามาจากอนาคต นอกจากนี้ยังให้เธอสังเกตได้ถึงสิ่งของที่มิได้เพิ่มขึ้นมาดังที่เธอคิด หากแต่กำลังหายไปจากความทรงจำของเธอตามที่ตราวุธได้เฉลยตอนท้ายเรื่อง เช่น ดอกกุหลาบประดิษฐ์ซึ่ง “เจ้าของห้องมั่นใจอย่างยิ่งว่าตนไม่เคยเห็นหรือรู้จักกุหลาบดอกนี้มาก่อนในชีวิต” (น.30) ทำให้เธอต้องสำรวจความเรียบร้อยของประตูห้องนอนซึ่งลั่นกลอนไว้ เป็นการย้ำเตือนถึงอันตรายจากอาการของโรคทั้งสองที่มีต่อสุขภาพจิตผู้ป่วย แม้ว่าจากเรื่องจะมีช่วงเวลาที่ ชุดา หรือ เพียงขวัญ เลือกที่จะค้นหาความจริงที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ต่าง ๆ และเปิดใจกับตราวุธ แต่เหตุการณ์ทั้งหมดก็ได้สร้างความเครียด หงุดหงิด และหวาดระแวงแก่เพียงขวัญ เช่นเดียวกับที่ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อมต้องเผชิญ ซึ่งภาวะเหล่านั้นสามารถนำไปสู่พฤติกรรมการแยกตัวจากสังคมในที่พักอาศัย และโรคซึมเศร้าในที่สุด

 

  1. เพียงขวัญในโลกนวนิยาย

            ขณะที่เพียงขวัญได้สำรวจแขนงความรู้เกี่ยวกับเวลาผ่านการถ่ายทอดของตราวุธ กิตติศักดิ์ คงคา ได้ดำเนินเรื่องโดยมีฉากที่แตกต่างกันกว่า 20 ฉาก หากสังเกตจากชื่อตอนแต่ละตอนของหนึ่งนับวันนิรันดรซึ่งตั้งขึ้นตามนวนิยายเรื่องเอกของไทย จะพบว่าฉากในแต่ละตอนแปรสภาพไปตามฉากในนวนิยายเหล่านั้นด้วยเช่นกัน อาทิ เมื่อตราวุธได้ยินเสียงคล้ายผู้บุกรุกกำลังลอบเข้าบ้านในตอนที่มีชื่อว่า “ข้าวนอกนา” ดังนวนิยายของหม่อมหลวงศรีฟ้า มหาวรรณ ทั้งคู่อยู่ในบ้านหลังหนึ่ง หลังคาทำด้วยสังกะสี มีห้องแคบผนังบาง เพดานรั่ว ซึ่งแตกต่างจากบ้านสุริยะสว่าง “เรือนหลังงามที่ตั้งอยู่ริมขอบโค้งน้ำเจ้าพระยา” (น.13) ตอนต้นเรื่องโดยสิ้นเชิง แต่เมื่อตราวุธออกไปสืบดูที่มาของเสียงโดยมีเพียงขวัญตามติดไปด้วย ซึ่งอยู่ในตอนถัดไป ชื่อว่า “ฟ้าจรดทราย” ดังไพรัชนิยายเรื่องเอกของ รำไพพรรณ สุวรรณสาร เพียงขวัญและตราวุธกลับอยู่ในทะเลทราย เพียงขวัญรู้สึกได้ถึงเม็ดทรายซึ่งมากับกระแสลม อีกทั้งตราวุธยังใส่ชุดคามิสดังเครื่องแต่งกายของชาติอิสลามทางด้านตะวันตกของทวีปเอเชีย

            เนื่องจากผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมมักมีอาการประสาทหลอน ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกประสาทสัมผัส ไม่ว่าจะเป็นการมองเห็น การได้ยิน การสัมผัส การได้กลิ่น และการรับรส จึงสามารถอนุมานได้ว่า การที่เพียงขวัญมองเห็นสภาพแวดล้อมรอบตัวเป็นฉากในหนังสือที่เธออ่าน เป็นผลมาจากการมีนิสัยรักการอ่านที่ทำให้ “หน้ากระดาษมากมายซึมซับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของตัวตนจนไม่อาจแยก” ประกอบกับอาการประสาทหลอน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งครั้งที่ผู้เขียนได้แทรกอาการของโรคสมองเสื่อมไว้อย่างแนบเนียน ในขณะที่เผยให้ผู้อ่านได้ซึมซับบรรยากาศในนวนิยายเรื่องเอกของไทยที่มาปรากฏในเรื่องด้วย

 

  1. แววตาของตราวุธ

            แววตาของตราวุธเป็นภาพแทนความรู้สึกของผู้ใกล้ชิดผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์และสมองเสื่อม การที่ผู้เขียนใช้การอุปลักษณ์ เปรียบแววตาของเขา “เป็นความลับ เป็นหุบเหวแห่งห้วงน้ำลึกสุดหยั่ง” (น. 15) และบรรยายว่าดวงตาของเขา “เต็มไปด้วยความรวดร้าวเจ็บลึก” (น. 20) นอกจากจะเป็นการให้ข้อมูลถึงชีวิตของเขาร่วมกับ  ชุดาแล้ว ความทุกข์ไร้เสียงของตราวุธยังแสดงให้เห็นถึงสภาวะที่คนใกล้ชิดผู้ป่วยต้องเผชิญ ทั้งการต้องมองดูคนที่รักค่อย ๆ สูญเสียตัวตนไปทีละน้อยและลืมคนใกล้ชิดนั้นไป เกิดเป็นความรู้สึกราวกับว่าตนเองได้สูญเสียผู้ป่วยไปแล้ว ดังจะสังเกตได้จากตอนที่เพียงขวัญเห็นน้ำตาของตราวุธ ซึ่งเธอคิดว่ามาจากการต้องรับหน้าที่พ่อบ้านทั้งที่สำเร็จการศึกษาระดับดุษฎีบัณฑิต แต่แท้ที่จริงแล้วมาจากการที่เธอลืมเขาไปอีกครั้ง นอกจากนี้การพยาบาลผู้ป่วยซึ่งช่วยเหลือตนเองได้น้อยลง มีพฤติกรรมเปลี่ยนไปและมีอาการสับสน หวาดระแวง อาจ ทำให้บุคคลใกล้ชิดนั้นรู้สึกเครียด มีอารมณ์ฉุนเฉียวได้ง่าย เป็นผลในทางลบต่อสภาพจิตใจของผู้มีความสัมพันธ์สนิทสนมกับผู้ป่วย        

 

  1. ชีวิตจริงในบทละคร

            ผู้เขียนได้นำเสนอตราวุธให้ดำเนินชีวิตราวกับกำลังเล่นบทบาทสมมติโดยที่กำลังพยาบาลผู้ป่วย ในเวลาเดียวกัน เพียงขวัญได้ซักถามตราวุธถึงทฤษฎีเวลาตั้งแต่ใน “วันแรก” ที่ทั้งสองได้พบกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความหมายของเวลา จุดกำเนิดของเวลา หรือการเคลื่อนที่ของเวลา ส่วนตราวุธเองก็ตอบคำถามได้อย่างเชี่ยวชาญ ดับกระหายความใคร่รู้ของเพียงขวัญได้เป็นอย่างดี ซึ่งหากผู้อ่านได้อ่านหนึ่งนับวันนิรันดรจนจบแล้วคงจับสังเกตได้ไม่ยาก ว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ตราวุธตอบคำถามเหล่านี้ ดังที่ผู้เขียนได้กล่าวไว้ในตอนต้นเรื่องว่า “เช้าวันที่หนึ่งอีกวันหนึ่ง เป็นดั่งทุกหนในทุกคราวครั้ง” (น. 13) นอกจากนี้ ในตอนที่เพียงขวัญเอ่ยถามตราวุธว่าโลกอนาคตเป็นเช่นไร ด้วยเข้าใจว่าเขามาจากกาลข้างหน้า ตราวุธไม่ได้ปฏิเสธแนวคิดของเพียงขวัญ หากแต่ยอมโอนอ่อนไปตามที่เธอเชื่อและตอบคำถามของเธอ แล้วจึงแก้ไขความเข้าใจของเธอในภายหลังว่าเขาไม่ได้มาจากอนาคต ส่วนคำอธิบายโลกอนาคตของเขานั้นหมายความถึงที่อังกฤษซึ่งก้าวหน้าไปกว่าที่ไทย แสดงให้เห็นถึงลักษณะการดูแลผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์และสมองเสื่อมซึ่งต้องความเข้าใจเพื่อให้สามารถประคับประคองอาการของผู้ป่วยได้ และเพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพความเป็นอยู่ที่ดี

            จะเห็นได้ว่า ตราวุธปฏิบัติหน้าที่ผู้ดูแลผู้ป่วยได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ตั้งแต่การกระตุ้นให้ชุดาได้ใช้ความคิดผ่านการสนทนาเรื่องเวลาซึ่งเธอเคยสนใจเพื่อประคองอาการของโรค การไม่ขัดต่อข้อสันนิษฐานของเพียงขวัญ และยอมสวมบทบาทเป็นพ่อบ้านเพื่อให้ดูแลเธอได้เป็นอย่างดีในขณะที่เธอจำเขาไม่ได้ แม้ว่าการทำเช่นนั้นจะหมายถึงการปฏิบัติต่อชุดาผู้เป็นภรรยาราวกับเธอคือบุคคลที่เขาต้องไว้ระยะห่าง มิใช่คนที่มีความสัมพันธ์แบบคู่สมรส ทำให้ตัวละครของตราวุธเป็นตัวอย่างของผู้ดูแลที่ดีและสามีที่ได้ปฏิบัติตนตามคำสาบานที่เขามีให้เธอในพิธีแต่งงานว่า “จะถือซื่อสัตย์ต่อคุณ ทั้งในยามสุขและยามทุกข์ ทั้งในเวลาป่วยไข้และเวลาสบาย” (น.224)

 

บทสรุป

            แม้เรื่องราวความรักของ “ตราวุธ” และ “ชุดา เถียงละออ” หรือ “เพียงขวัญ” จะไม่ได้จบลงอย่างสวยงาม หากแต่ “จบ” ที่การ “เริ่มต้น” นับหนึ่งใหม่ราวกับเวลาไม่เคยมีผลต่อโลกของทั้งสอง หนึ่งนับวันนิรันดร เป็นมากกว่าเรื่องราวของความรัก แต่เป็นนวนิยายที่ฉายแสงให้กับชีวิตร่วมกับโรคอัลไซเมอร์และสมองเสื่อมในครอบครัวอื่น ๆ และสร้างความตระหนักรู้ถึงโรคทั้งสองได้เป็นอย่างดี

 

Visitors: 72,510