เมษาลาตะวัน : รอยร้าวจากผู้ใหญ่สู่บาดแผลในวัยเยาว์

 อารีนุช อุดมผล

 

 

 

            “ครอบครัว” ถือเป็นสถาบันแห่งแรกและสถาบันหลักของเราทุกคน ซึ่งหากเปรียบชีวิตเป็นการเดินทาง ครอบครัวก็คงเปรียบเสมือนบ้าน ถึงแม้ว่าตลอดการเดินทางจะมีพายุหนักหนาสาหัสมากเพียงใด เราต่างก็มีบ้านให้กลับไปได้เสมอ บ้านที่เป็นที่พักพิง บ้านที่คอยมอบความรักความอบอุ่น หรือบ้านที่จะคอยกล่าวว่าไม่เป็นไร ในวันที่เราเดินทางต่อไปไม่ไหว ครอบครัวจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยเช่นนี้ หากเราเป็น “คนใน” ครอบครัว

            “คนนอก – นี่แหละป้ายที่แปะอยู่บนตัวเรา ไม่ว่าที่ไหน เมื่อไร ไม่เป็นส่วนหนึ่งของอะไรทั้งนั้น” ปรากฏเป็นคำโปรยปกหลังของวรรณกรรมไทยร่วมสมัยเรื่อง “เมษาลาตะวัน” ผลงานของ September’s blue พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2565 โดยสำนักพิมพ์ P.S. เรื่องราวกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างเด็กชายสามคน เมษา ตะวัน และไนท์ ผู้ถูกนิยามและนิยามตนเองว่าเป็นคนนอก ไม่เป็นส่วนหนึ่งของที่ไหน ๆ ไม่ว่าจะเป็นเมืองเล็ก ๆ ที่อาศัยอยู่ หรือแม้แต่ครอบครัว แต่ก็ยังคงหวังที่จะมีที่ใดสักที่เป็นของตนเองและเป็นคนสำคัญของใครสักคน สมาคมบุคคลภายในห้ามเข้าจึงถูกก่อตั้งขึ้น เพื่อปลอบประโลมกันและกัน และเป็นบ้านให้ต่างได้กลับไป

 

เมษา: ไอแดดในหน้าร้อน ผู้ถูกหลงลืม

            เมษา เด็กชายวัยสิบห้า ผู้เงียบขรึม ถือว่าเป็นตัวละครแรกที่ผู้อ่านจะได้ทำความรู้จักและเดินทางไปพร้อมกับเขา ตั้งแต่เหตุการณ์ที่พ่อของเมษาออกจากบ้านไปไม่หวนกลับมาในบทแรก  ไปจนถึงการเหินห่างออกไปของแม่ บทบาทของเมษาในฐานะคนในครอบครัวจึงจางหายลงไป และยิ่งจางหายมากยิ่งขึ้นเมื่อแม่ตัดสินใจแต่งงานใหม่พร้อมพาคนรักและลูกติดเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ของครอบครัว  ครอบครัวที่เขาไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งกลับถูกแทนที่ด้วยใครอีกคน สิ่งที่เมษาประสบคือความโดดเดี่ยวและความเหงา(Loneliness)ท่ามกลางผู้คนมากมาย

            หากพูดถึงความเหงา (Loneliness) นักจิตวิทยา Robert Weiss ได้กล่าวว่าความเหงาสามารถแบ่งออกเป็นสองประเภท ตามทฤษฎีทางจิตวิทยาเกี่ยวกับความเหงา

  1. ความเหงาจากสังคม (Social Loneliness)

            ความเหงาที่เกิดจากการขาดเครือข่ายทางสังคมหรือการขาดกิจกรรมทางสังคม ความเหงาประเภทนี้สามารถแก้ไขได้โดยการเพิ่มเครือข่ายทางสังคมและกิจกรรมทางสังคม

  1. ความเหงาทางอารมณ์ (Emotional Loneliness)

            ความเหงาที่เกิดจากการขาดความสัมพันธ์กับบุคคลใกล้ชิด โดยการเพิ่มปริมาณของความสัมพันธ์ทางสังคม ไม่สามารถช่วยให้ความเหงาประเภทนี้ลดลงได้

            ความเหงาของเมษาจึงเข้าข่ายความเหงาทางอารมณ์ที่แม้จะมีผู้คนรายล้อมอยู่รอบตัว ก็ไม่สามารถรู้สึกเติมเต็มหรือเป็นส่วนหนึ่งของสังคมได้ เนื่องจาก ”ความใกล้ชิด” จากความต้องการเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวได้ขาดหายไป ความเหงาที่ปริมาณคนจำนวนมากจึงไม่อาจบรรเทาความรู้สึกนี้ลงไปได้ เพราะบางทีเราอาจไม่ได้ต้องการคนจำนวนมาก แต่เป็นใครสักคนที่เป็นผู้ช่วยสนับสนุนทางอารมณ์ (Emotional Support) ผู้รับฟังเรื่องราวและปลอบประโลมในวันที่ไปต่อไม่ไหว ซึ่งหากแม่ของเมษาหันกลับมามองลูกชายเพียงสักนิด รับฟังเรื่องราวจากเขาอีกสักหน่อย กำแพงแห่งความเหงาคงทลายลงไม่มากก็น้อย

 

ตะวัน: เบี้องหลังแสงสว่างของดวงตะวัน

            ตะวันเด็กชายข้างบ้าน ลูกครึ่งฝรั่งเศส ผู้สว่างสดใสเช่นเดียวกับชื่อ ทว่าภายในใจกลับอ้างว้างไม่ต่างกัน ภายใต้รอยยิ้มของตะวัน กลับเต็มไปด้วยปัญหาครอบครัว จากพ่อที่แต่งงานใหม่ตั้งแต่เขายังไม่ถึงขวบ  และจากแม่คนหนึ่งที่ด่าทอ ไปจนถึงทำร้ายร่างกายเขาไม่ต่างจากสัตว์ แม้ผู้เป็นพ่อจะพบรักครั้งใหม่ แต่ท้ายที่สุดแล้วก็ไม่ได้จบเพียงครั้งเดียว เขายังคงมีปัญหากับคนรักครั้งแล้วครั้งเล่า ทะเลาะ เลิกรา และแต่งงานใหม่ จนถึงครั้งที่7นี้เอง ที่นำพาตะวันแวะเวียนมาอาศัย ณ บ้านข้าง ๆ ของเมษา

            ความรุนแรงในครอบครัวยังคงเป็นปัญหาในปัจจุบัน แม้ว่าเวลาจะผ่านไปนานเพียงใดก็ตาม ในที่นี้เองตะวันก็เป็นภาพสะท้อนของปัญหาดังกล่าว ที่มีที่มาจากความเชื่อ ทัศนคติ อารมณ์ในตัวบุคคล  รวมไปถึงความไม่เข้มแข็งทางกฎหมายที่การทะเลาะวิวาทในครอบครัวไม่สามารถเอาผิดทางกฎหมายได้ เนื่องจากแนวคิดที่ว่าเรื่องครอบครัวเป็นเรื่องส่วนตัว และการสั่งสอนลูกด้วยการตีหรือการลงไม้ลงมือเป็นวิธีที่ถูกต้องยิ่งส่งผลให้การใช้ความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องปกติ แต่หากอ้างอิงจากงานวิจัยมากกว่า 69 ชิ้นทั่วโลก จะพบว่าการลงโทษเด็กด้วยวิธีทางกายภาพ เช่น การตี ส่งผลเสียต่อพัฒนาการของเด็กและความเป็นอยู่ดี โดยเป็นการสร้างความรู้สึกไม่ไว้วางใจหรือไม่ปลอดภัยขึ้น รวมไปถึงเป็นฉนวนของการสืบทอดความรุนแรงในรุ่นต่อๆไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุดอีกด้วย แม้ว่าตะวันจะไม่ได้แสดงออกถึงการใช้ความรุนแรง

            แม้ประตูระหว่างเขาและครอบครัวก็ถูกปิดกั้นอย่างสมบูรณ์  ไม่มีการพูดคุย ไม่มีไถ่ถาม ไม่มีความไว้วางใจระหว่างกันอีกต่อไป  ตัวตนของตะวันในฐานะคนในครอบครัวจึงจางหายลงไปไม่ต่างจากเมษา

            หากความรุนแรงในครอบครัวเป็นเหตุอันร้ายแรงแล้ว การเพิกเฉยต่อความรุนแรงกลับเป็นเหตุอันร้ายแรงยิ่งกว่า เมื่อผู้เป็นพ่อเลือกที่จะนิ่งเฉยต่อสิ่งที่ลูกชายประสบ ไม่มีการปกป้องหรือกล่าวถึงใด ๆ ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อและลูกจึงดำเนินไปท่ามกลางความเงียบงัน ไม่มีการพูดคุยซักถามด้วยความจริงใจ มีเพียงการตัดสินจากสิ่งที่ตนได้พบหรือได้ยินอย่างผิวเผิน คล้ายกับว่าแม้ผู้เป็นพ่อจะมีความรัก แต่ความรักนั้นกลับไม่เคยส่งมาถึงผู้เป็นลูกชายแม้แต่น้อย ตามที่เมษาได้กล่าวไว้

            “ไม่ต้องห่วงครับ เราสามคนจะไม่เป็นอะไร ต่อให้จับไข้ เราคงนอนซมกันไม่กี่วัน หาหยูกยากินกันเองตามอัตภาพ เรามีบ้าน แต่ในบ้านไม่มีใครใส่ใจพอจะพาเราไปหาหมอ พ่อตะวันรัก – รักใครก็ไม่รู้” (หน้า83)

 

ไนท์:เสียงกรีดร้องในยามค่ำคืน ที่ไม่มีใครได้ยิน

            ไนท์เด็กชายผู้แข็งกร้าวและโตเกินวัยตามสภาพแวดล้อมที่จากมา

          “ต้นข้าว รู้จักบ้านไนท์มั้ย”

          “ก็ร้านนั้นน่ะ น้องไนท์คาราโอเกะไง ที่อยู่ซอยข้างตลาด เมษาไม่รู้หรอ” (หน้า48)

            จากข้อความข้างต้นที่ได้กล่าวถึงร้านคาราโอเกะที่เป็น”บ้าน”ของไนท์ บ้านที่เขาถูกกระทำจากลูกค้าผู้มีอิทธิพล และถูกเมินเฉยจากคนในครอบครัว สารพัดสัมผัสที่เด็กชายไม่เคยยินยอม บ้างก็จับแก้ม บ้างก็โอบไหล่ บ้างก็โอบกอด ล้วนแต่เกิดขึ้นในสถานที่ที่เรียกว่าบ้าน บ้านที่ไม่เคยเป็นพื้นที่ปลอดภัย ส่งผลให้เขาเลือกที่จะหนี หนีที่จะไม่กลับมาที่นี่อีกต่อไป หนีที่กล่าวถึงความรวดร้าวที่เกิดขึ้นในจิตใจ ปกปิดเหมือนทุกอย่างไม่เคยเกิดขึ้น แต่ไม่ว่าจะหนีไปไกลเพียงใดบาดแผลที่เกิดขึ้นก็ยังคงอยู่

          “น้ำเสียงนั้นเรียบเฉย ทว่าผมจับความรวดร้าวในนั้นได้ ราวกับใครสักคนที่อยู่ตัวคนเดียวบนโลกกำลังตะโกนสุดเสียงทั้งที่รู้ว่าไม่มีใครได้ยิน - เมษา”  (หน้า58)

          เด็กผู้ชายยังคงเป็นเหยื่อล่วงละเมิดทางเพศที่ถูกมองข้าม เนื่องจากสังคมส่วนใหญ่มักจะคิดว่าเหยื่อหรือผู้ถูกล่วงละเมิดมักจะเป็นเพศหญิง ด้วยโครงสร้างสังคมและมุมมองทางเพศที่ฝังรากลึกมายาวนาน แต่จากผลการวิจัยเรื่อง “การกระทำความรุนแรงต่อเด็ก” โดยสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาสและผู้สูงอายุ (สท.) พบว่าเด็กผู้ชายถูกล่วงละเมิดทางเพศมากกว่าเด็กผู้หญิง 3-5 เท่า สันนิษฐานได้ว่าอาจเป็นเพราะความรู้สึกใกล้ชิดระหว่างผู้ชายด้วยกันจะกลับกลายเป็นการล่วงละเมิดทางเพศได้ยาก อีกทั้งหากเด็กผู้ชายถูกล่วงละเมิดทางเพศก็จะสังเกตอาการได้ยากกว่าเด็กหญิงจากทั้งทางอารมณ์ที่มักจะเก็บเงียบ ซึม ไม่บอกใคร และจากการถูกละเมิดทางเพศแบบสัมผัสไม่ใช่สอดใส่ จึงมีบาดแผลภายนอกไม่มากนัก แต่ไม่ว่าความรุนแรงดังกล่าวจะเกิดขึ้นกับใคร ผู้เป็นเหยื่อล้วนแต่เจ็บปวดด้วยกันทั้งสิ้น แต่ที่สำคัญที่สุดคือทัศนคติเรื่องเพศในสังคม ที่ยังคงมองว่าเพศชายจะต้องเข้มแข็ง ห้ามแสดงถึงความอ่อนแอ ส่งผลให้เหยื่อเลือกที่จะปกปิดหรือหากจะกล่าวออกไป เสียงก็อาจไม่ดังมากพอ

            แม้แต่น้าเหมย น้าของไนท์เองก็ยังคงกล่าวว่า”แกจะเดือดร้อนอะไรวะ ผู้ชายเหมือนกัน มีอะไรสึกหรอหรือไง” (หน้า60)

          แสดงให้เห็นถึงปัญหาดังกล่าว ที่ยังคงถูกละเลยแม้ว่าจะเป็นคนในครอบครัว

 

แด่วัยเยาว์ที่เจ็บปวด ท้ายที่สุดเราต่างค้นพบ”บ้าน”ของตนเอง

            ท้ายที่สุดแล้วเมษาลาตะวัน ก็เป็นภาพสะท้อนของบาดแผลจากครอบครัวที่ผิดพลาด เป็นตัวแทนของการถูกละเลยและทอดทิ้ง ผ่านเรื่องราวของเด็กชายทั้งสามต่างก็เป็นเพียงผู้เยาว์ที่แบกรับปัญหาอันหนักอึ้งเกินกว่าอายุของตนเอง แม้บาดแผลจากผู้ใหญ่ยังคงฝังรากลึกจนไม่อาจลืมเลือน แต่ในวันใดวันหนึ่งเด็กชายเหล่านี้หรือแม้แต่ตัวเราเอง ก็จะค้นพบพื้นที่ปลอดภัยของตนเอง พื้นที่ที่เราจะสามารถเรียกว่าบ้านได้เต็มปาก แม้จะไม่ใช่ครอบครัวผู้ให้กำเนิดหรือสถานที่ แต่เป็นเพียงใครสักคนที่พลิกโลกอันอับเฉาไร้หนทางเดินต่อไปให้กลับมาส่องสว่างอีกครั้ง

 

อ้างอิง

Naphatsawan Sitthitham. (2021). ทั้งที่มีคนอยู่รอบตัวแต่ทำไมถึงยังเหงา? ความรู้สึกเปราะบางในใจที่  ไม่ถูกเติมเต็ม.
          [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : https://missiontothemoon.co/psychology-lonely/.
          (วันที่สืบค้นข้อมูล : 13 มิถุนายน 2023).

สุกัญญา สดศรี. (2013). ปัญหาการใช้ความรุนแรงของครอบครัวในสังคมไทย. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : 
           https://so03.tci-thaijo.org/index.php/journal-peace/article/download/116657/94918/3270
009.
          (วันที่สืบค้นข้อมูล : 13 มิถุนายน 2023).

The MATTER. (2021). หยุดลงโทษด้วยความรุนแรง งานวิจัยทั่วโลกเห็นพ้อง การตีลูกไม่ได้ช่วยให้เด็กเป็นคนดีขึ้น
          แถมส่งผลลบต่อพฤติกรรมและพัฒนาการ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : 
          https://thematter.co/brief/147569/147569. (วันที่สืบค้นข้อมูล : 13 มิถุนายน 2023).

AMARIN Baby Kids. (2019).ตีลูก ความเชื่อผิดๆ ของพ่อแม่คนไทยกับการลงโทษลูก. [ออนไลน์].
          เข้าถึงได้จาก https://www.amarinbabyandkids.com/pre-school/parents-punish-children-by-hit/:.
          (วันที่สืบค้นข้อมูล : 13 มิถุนายน 2023).

isranews. (2019). “เด็กผู้ชาย” เหยื่อล่วงละเมิดทางเพศที่มักถูกสังคมมองข้าม. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก:
          https://www.isranews.org/article/isranews-scoop/98125-isranews-185.html. 
          (วันที่สืบค้นข้อมูล : 13 มิถุนายน 2023).

วิจิตร แผ่นทอง. (2022). “ฤาผู้ชายร้องให้ไม่เป็น”เหยื่อผู้ชายกับความรุนแรงและการล่วงละเมิดในครอบครัว.
          [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: https://www.isranews.org/article/isranews-scoop/98125-isranews-185.html.
          (วันที่สืบค้นข้อมูล : 13 มิถุนายน 2023).

 

Visitors: 72,512