2023A008

สัตว์ขนเหลือง : แด่เหล่าสัตว์ผู้ยึดมั่นในอุปาทาน 4

กณิศ เรืองขำ

 

  

          นาทีนี้ผมกำลังครุ่นคิดเกี่ยวกับชื่อเรื่องของหนังสือ “สัตว์ขนเหลือง” คำของ อุเทน พรมแดง ที่โชว์หราอยู่บนหน้าปกตรึงให้รู้สึกชะงักไปชั่วครู่ นิ่งงัน และคำเหล่านั้นก็วิ่งวนอยู่ในหัวสมอง รวมไปถึงหน้าปกหนังสือของเล่มนี้ที่มีรูปพระสงฆ์นั่งขัดสมาธิพนมมือต่อหน้าหัวกะโหลกพร้อมกับปริปากเหมือนกำลังท่องบทสวดด้วยภาษาที่ยากจะเข้าใจ ก็ชวนกระตุ้นให้เกิดคำถามผุดพล่านขึ้นมาในใจว่า หนังสือเล่มนี้กำลังบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาหรือไม่

          แน่นอนว่าเราไม่ควรตัดสินใจคุณค่าของหนังสือเพียงแค่การดูหน้าปกและชื่อเรื่องของหนังสือเท่านั้น จนกระทั่งเมื่อหยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอ่านจนจบ กล่าวได้ทันทีเลยว่าหนังสือเล่มนี้ช่วยปกป้องพระพุทธศาสนา และสะท้อนเรื่องราวความจริงในวงการพระพุทธศาสนาของสังคมไทยได้อย่างแสบสันมากทีเดียว

          “สัตว์ขนเหลือง” เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นจำนวน 10 เรื่องของ อุเทน พรมแดง นักเขียนมากฝีมือที่เคยได้รับรางวัลวรรณกรรมระดับชาติมาแล้วมากกว่า 30 รางวัล อีกทั้งหนังสือเล่มนี้ยังเป็นหนังสือเล่มแรกและเพียงเล่มเดียวเท่านั้นที่มีสารัตถะว่าด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับการมุ่งเน้นการวิพากษ์วิจารณ์พระภิกษุสงฆ์ในสังคมปัจจุบันโดยตรง และตั้งคำถามไปถึงความเชื่อเรื่องนอกศาสนาซึ่งในแวดวงวรรณกรรมไทยยังไม่เคยปรากฏหนังสือที่มีเนื้อหาเช่นนี้มาก่อน

          เรื่องสั้นของ อุเทน พรมแดง ใช้กลวิธีเล่าเรื่องที่ไม่ซับซ้อน อ่านสนุก สามารถอ่านต่อเนื่องจนจบเล่มและทิ้งปมไว้เพื่อท้าทายถามตัวเองในข้อกังขาบนศรัทธาผ้าเหลือง นอกจากนี้ในเรื่องราวเล่านั้นเป็นดั่งกระจกสะท้อนที่ทำให้เห็นภาพและเข้าใจในพระสงฆ์ประเภท “สัตว์ขนเหลือง” ที่มีจิตใจต่ำช้า ไม่สนใจในหลักธรรมและหลงยึดถือในกิเลสตัณหาหรือสัญชาตญาณใฝ่ต่ำซึ่งเป็นไปตามหลักอุปาทาน 4 (ความยึดมั่น) ดังนี้

 

สัตว์ขนเหลืองประเภทที่ 1 ผู้ยึดมั่นในกามุปาทาน

            ในเรื่องราวของ “สัตว์ขนเหลือง” สิ่งที่เรามักเห็นเสมอในทุกการกระทำของตัวละครนั่นคือการยึดมั่นในกามุปาทาน หรือการยึดติดในกามซึ่งหมายถึง รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสกาย รวมไปถึงความต้องการทางเพศ กิเลสภายในใจ ความอยากได้ ความอยากมี และอยากมีไว้เพื่อครอบครองซึ่งเป็นแรงผลักดันและมีอำนาจมหาศาลที่กระตุ้นให้เกิดกระทำอันผิดศีลธรรม หรือฝักใฝ่ในกามคุณจนหลงลืมในพระธรรมวินัย

            ในเรื่องสั้น “ดอกไม้ในอนธการ” ที่เล่าเรื่องราวของหลวงตาเจ้าอาวาสที่สงบนิ่งอยู่ในโลกแห่งธรรมตั้งแต่บรรพชาเป็นสาเณร แต่หลวงตามักจะฝันเห็นดอกไม้เป็นประจำซึ่งดอกไม้เป็นสัญลักษณ์หมายถึง              อวัยวะเพศหญิง จนกระทั่งภาพของดอกไม้และความต้องการทางเพศทำให้ท่านละทิ้งหนทางที่มุ่งหน้าสู่พระนิพพาน ท่านจึงแอบไปพบโสเภณีเพื่อขอดูดอกไม้และหันเข้าสู่โลกกิเลสและกามคุณอย่างแท้จริง

            “หญิงสาวผุดลุกขึ้นยืน ค่อยปลดผ้าถุงสีหม่นออกจากร่างช้าๆ ในกระท่อมมีเพียงตะเกียงดวงเดียวจุดสว่าง แสงสีเหลืองนวลอาบผิวเนื้อขาวผ่องไล่ตั้งแต่โคนขาไปยังปลายเท้าตามการเคลื่อนตัวของเนื้อผ้า ผ้าถุงตัวนั้นกองอยู่ที่พื้นแล้ว ข้างในไม่มีอาภรณ์ชิ้นใดหลงเหลืออยู่อีก นางค่อยๆ ย่อตัวลงนั่ง ตั้งขาชันขึ้น แยกขาทั้งสองข้างออกจากกันอย่างกระมิดกระเมี้ยน ภิกษุชราลนลานคว้าตะเกียงขยับเข้าใกล้ ก้มหน้าพิศดูสิ่งแปลกประหลาดลึกลับซึ่งไม่เคยเห็นมาก่อนในชีวิต” (หน้า 51)

            อีกทั้งในเรื่องสั้น “ในห้วงพุทธชยันตี” เป็นอีกหนึ่งเรื่องสั้นที่ตอกย้ำประเด็นนี้อย่างชัดเจนโดยได้มัดรวมพระสงฆ์ที่ยึดมั่นในกามคุณทุกรูปแบบไว้ในเรื่องเดียวกัน โดยเล่าผ่านมุมของท่านเจ้าอาวาสที่ค่อยตำหนิพระลูกวัดอยู่เป็นประจำ เช่น การดื่มสุรา การค้ายาบ้า การเล่นพนันฟุตบอล การเที่ยวกลางคืน การคบชู้ และการเสพเมถุน(การร่วมประเวณี)ทั้งระหว่างเพศชายด้วยกันและสีกา

            “ผีแม่งเล่นกูเสียแล้ว ขนาดบวชเป็นพระยังโดนผีเล่นคาผ้าเหลือง พระหนุ่มพูดพร้อมกับหัวขื่นๆ ไม่ต้องส่งสัยเลยว่าพระบวชใหม่รูปนี้เล่นพนันฟุตบอล” (หน้า165)

            “พระภิกษุเหล่านี้ตั้งวงสุราอยู่หน้ากุฏิภายในวัดอย่างมีความสุข ไม่เพียงพระลูกวัดของท่านเท่านั้น เจ้าอาวาสยังเห็นพระจากวัดละแวกใกล้เคียงอีกสองรูปร่วมดื่มร่ำอยู่ด้วย” (หน้า170)

            “แล้วทำไมทำอะไรประเจิดประเจ้อนัก เรื่องเมถุนน่ะผมคงห้ามท่านได้ยาก แต่อยากขอร้องว่าควรไปหาสถานที่ให้เหมาะสมหน่อย จะเปิดโรงแรมก็ได้ หรือร้ายที่สุดก็ไปเสพเมถุนกันบนกุฏิเลยยังจะดีเสียกว่า” (หน้า177)

            นี่คือความจริงอันแสบสันและเลวร้ายอย่างมากของวงการสงฆ์ในปัจจุบันที่เรามักเห็นผ่านข่าวสารต่างๆ  อุเทน พรมแดง ทำให้เราเห็นภาพความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธเลยได้ว่าพระสงฆ์หลายรูปด่างพร้อย ไม่มีความละอายแก่บาปและพระศาสนาแม้แต่เล็กน้อย พระสงฆ์เหล่านี้ตกอยู่ภายใต้อำนาจของกิเลส เห็นแก่ลาภ เงินทอง ความสมสุขทางเพศเป็นสำคัญ ไม่ต่างอะไรจากพวกอลัชชี ไม่สมควรเรียกว่าพระเสียด้วยซ้ำ

            นอกจากนี้ อุเทน พรมแดง ยังเล่นกับความจริงในความเชื่อที่ว่าการบวชเป็นเส้นทางสู่ความสงบร่มเย็นในชีวิต การบวชย่อมยกระดับจิตใจให้แน่วแน่ในไตรสิกขา เห็นแจ้งในธรรมะ และกลายเป็นคนดีได้ในที่สุด แต่แท้จริงแล้วการบวชหรือธรรมะมิอาจช่วยยกระดับและขัดเกลาจิตใจให้ดียิ่งขึ้นได้เลย เพราะการที่คนจะเป็นคนดีมีคุณธรรมได้ ต้องเกิดจากจิตใจของตนเอง พระธรรมเป็นเพียงแสงสว่างที่ชี้นำทางให้กับผู้คนให้พบกับความสุขที่แท้จริงเท่านั้น

            ไม่เพียงแต่ อุเทน พรมแดง จะเล่าเรื่องราวของพระสงฆ์ในขณะที่ครองผ้าเหลืองอยู่ แต่ในเรื่องสั้น    “หลังลาสิกขา” และ “ถึงคราผีเสื้อโบกโบยบิน” เป็น 2 เรื่องสั้นที่นำเสนอมุมหนึ่งของพระสงฆ์ที่สึกออกจากการเป็นพระแล้ว แต่ยังมีพฤติกรรมที่ยึดมั่นในกามคุณอยู่ อย่าง “สมประสงค์” ในเรื่อง “หลังลาสิกขา” ที่สึกออกจากการเป็นเจ้าอาวาส แล้วนำเงินที่ได้จากการบริจาคมาใช้เพื่อตอบสนองกามตัณหา ทั้งการดื่มสุราและการร่วมประเวณีกับหญิงอย่างเมามัน  หรือ “เคน” ใน “ถึงคราผีเสื้อโบกโบยบิน” ที่อุปสมบทเพื่อต้องการเก็บเงินจากการเป็นพระไปใช้แปลงเพศเป็นผู้หญิง

            ทั้ง 2 เรื่องสั้นนี้กำลังตั้งคำถามกับเราว่า แม้จะไม่มีพระบัญญัติข้อห้ามหลังสึกจากการเป็นพระสงฆ์ แต่สมควรแล้วหรือไม่ที่พระบางกลุ่มเห็นว่าการบวชคือหนทางหาเงินทองและหากินกับศรัทธาของชาวพุทธยังควรค่าแก่การเคารพนับถือบูชา เพราะเงินที่ถวายเพื่อบุญกุศลและบำรุงศาสนาถูกนำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง

 

สัตว์ขนเหลืองประเภทที่ 2 ผู้ยึดมั่นในสีลัพพตุปาทาน

          การยึดมั่นในสีลัพพตุปาทาน หรือการยึดติดในการประพฤติหรือความเชื่อนอกศาสนา เรื่องไร้เหตุผลหรือที่นิยมเรียกกันว่า ขลังและศักด์สิทธิ์ โดยไม่ยอมเปลี่ยนแปลง เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ปรากฏในเรื่องสั้นของ อุเทน พรมแดง พระสงฆ์ประเภทนี้ รวมไปถึงฆราวาสก็มักจะงมงายในเครื่องรางของขลังเคล็บลับวิชาแก้ผีสาง และเวทมนตร์ ไสยศาสตร์ต่างๆ จนเข้าใจพุทธศาสนาผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปจากหลักธรรมที่ถูกต้อง

            ในเรื่องสั้น “สังฆานุภาพ” เล่นประเด็นนี้ได้อย่างครบถ้วน โดยแบ่งเล่าเรื่องราวของตัวละครแต่ละตัวที่มีความเชื่อนอกศาสนามากมายได้แก่ อาคมขลังที่ช่วยชุบชีวิตคนได้ พระเครื่องที่ทำให้ชนะการเลือกตั้งเวทยนตร์ที่ทำให้สามีกลับมาหลงรัก หรือคาถาอาคมกำจัดผีและวิญญาณร้าย ซึ่งของทั้งหมดเหล่านี้ล้วนถูกนำไปขอกับพลวงพ่อเจ้าอาวาสทั้งสิ้นในตอนจบ

            “บางคนที่หล่อนเชื่อว่าช่วยคลี่คลายทุกข์วิตกของหล่อนได้ ใครบางคนที่อาจประกอบพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ดลจิตให้สามีกลับมารักหลงหล่อนเพียงคนเดียวเหมือนเดิม” (หน้า154)

            “เขาก็นึกไปถึงคนคนหนึ่งซึ่งพ่อของเขาให้ความเคารพเลื่อมใส คนนั้นน่าจะพอหยิบยื่นเครื่องรางของขลังชั้นดีให้เขาพกติดตัวไว้เพื่อผลทางแคล้วคลาดปลอดภัย ทั้งอาจมีพระเครื่องกรุเก่าขลังกล้าที่ช่วยบันดาลให้เอาชนะในสนามเลือกตั้งได้” (หน้า 157)

            “หล่อนจะไปพบคนคนนั้น คนที่จะช่วยฉุดหล่อนจากพันธนาการของผีร้าย คนที่รู้จักวิธีกำจัดวิญญาณชั่วให้ดับสูญ ปัดเป่าเงาดำมืดซึ่งปกคลุมชีวิตหล่อน” (หน้า 160)

            “สังฆานุภาพ” สะท้อนภาพสังคมไทยที่ถูกครอบงำด้วยกระแสบริโภคนิยมและวัตถุนิยมจากกระแสพุทธพาณิชย์ในลักษณะที่วัดและพระสงฆ์ทำพิธีกรรมต่างๆ เพื่อสะเดาเคราะห์ไล่ผี ปลุกเสกวัตถุนิยม ชาวพุทธจำนวนไม่น้อยลุ่มหลงในไสยศาสตร์ที่สามารถตอบสนองความต้องการได้รวดเร็วโดยไม่จำเป็นต้องทำความดีประกอบ หรือมีศีลกำกับความประพฤติแต่อย่างใด หลักการของศาสนาพุทธที่เน้นพึ่งพาตนเอง มองเหตุและปัจจัยเป็นที่ตั้งจึงถูกกลบทับไป ส่งผลให้เครื่องรางของขลังและไสยศาสตร์กลายเป็นที่พึ่งพิงอย่างใหม่ไปแทน  

            น่าสนใจอีกว่า แม้ว่าศาสนาพุทธจะสอนให้มองโลกตามความเป็นจริงด้วยเหตุและผล แต่ความเชื่อที่ไร้ซึ่งเหตุผล ไสยศาสตร์ กระแสพุทธพาณิชย์ยังคงมีพลังเหนือความมีเหตุผล เครื่องรางของขลัง เวทมนตร์คาถาอาคมเจริญรุ่งเรื่องอย่างขัดแย้งกับความหลักการของพระพุทธศาสนา อีกทั้งยังสวนทางกับความเจริญทางวิทยาศาสตร์ที่เจริญเติบโตถึงที่สุดแล้วในยุคปัจจุบัน ทำให้เกิดเป็นคำถามต่อชาวพุทธด้วยกันว่าศาสนาพุทธเสื่อมลงเพราะชาวพุทธด้วยกันเองหรือไม่ เพราะเราไม่ได้เน้นศึกษาธรรมมะ เพียงแต่ยึดถือเปลือกนอก จนให้คุณค่ากับวัตถุนิยมมากจนเกินไป

            อุเทน พรมแดน เล่าเรื่องทั้งหมดเสมือนเป็นกระจกสะท้อนความจริงหลายประการในวงการพระพุทธศาสนาในสังคมไทย ทั้งเรื่องพระสงฆ์หลายรูปบิดเบี้ยว ขาดจากการเป็นพระสงฆ์และกลายเป็นอลัชชีจำนวนมาก ไม่สนใจศึกษาพระธรรมคำสอน ผลาญเวลาชีวิตไปกับการกอบโกยเงินทอง ยึดติดในอุปาทาน 4 ฝักใฝ่ในเดรัชฉานวิชา บางรายต้องอาบัติปาราชิกสิ้นจากการเป็นพระไปแล้วเสียด้วยซ้ำ แต่ยังคงห่มผ้าเหลืองให้ผู้คนกราบไหว้ รวมไปถึงการบิดเบือนพระพุทธศาสนาด้วยกระแสของบริโภคนิยมและวัตถุนิยมในปัจจุบัน

            แต่อย่างไรก็ตาม อุเทน พรมแดง ไม่ได้เขียนเรื่องสั้นที่มองภิกษุสงฆ์ด้วยสายตาปรากปรำจับผิดแต่อย่างใด กลับมองพระสงฆ์ด้วยความเข้าอกใจเข้าใจในธรรมชาติของความเป็นปุถุชนที่ดำรงชีวิตไปตามแรงขับเคลื่อนของสัญชาตญาณเบื้องต่ำ แต่ถึงกระนั้นก็แฝงคำถามไว้ในระหว่างบรรทัดด้วยว่า พระสงฆ์ถือเป็นพระสาวกของพระพุทธเจ้าซึ่งถือปฏิบัติธรรมตามพระธรรมวินัยเพื่อให้ตนเจริญขึ้นควรจะละวางกิเลสในจิตใจให้มากกว่านี้ได้หรือไหม เพราะการห่มผ้าเหลืองถือเป็นเครื่องเตือนสติให้ระลึกถึงบทบาทของการเป็นพระสงฆ์ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบของพระธรรมวินัย มิใช่ปุถุชน

             ผมเชื่อว่าไม่ว่าผู้อ่านจะเป็นฆราวาสทั่วไปหรือพระภิกษุสงฆ์ หนังสือจะช่วยให้ฉุกคิดอะไรขึ้นมาได้บ้าง และอย่างน้อยก็หวังต่อไปอีกว่า “สัตว์ขนเหลือง” จะถูกกำจัดไปให้หมดในสังคมไทย หรืออย่างน้อยก็ควบคุมมันไม่ให้แพร่พันธุ์ต่อไปได้อีก

 

Visitors: 72,504