ความหวังแห่งประชาธิปไตยในรุ่งสาง

นิชานาถ แถมเงิน

 

 

 

“ฉันอยากเห็นประเทศที่ทุกคนมีชีวิตที่ดีกว่านี้ ดีอย่างที่มันควรจะเป็น

ไม่ใช่ดีแบบที่ทุกคนหลอกตัวเองว่ามันดีแล้ว"

 

            วลีดังจากหนังสือนวนิยาย “ตะวันในวันรุ่งขึ้น (The tomorrow sun)” –รทิมา โดยผู้แต่งเริ่มเขียนนวนิยายเล่มนี้จากการที่พรรคการเมืองฝ่ายค้านในประเทศไทยถูกยุบพรรคจากการตัดสินที่ไม่เป็นธรรมของศาลในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการสรรสร้างนวนิยายเสียดสีสังคมชั้นดี ผ่านเรื่องราวสมมติ ที่มีฉากหลังเป็นประเทศไทยในปี พ.ศ. 2954 ที่อยู่ภายใต้การปกครองของ ‘ราชวงศ์ธเรศ’ ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สาเหตุที่ดิฉันเลือกวิจารณ์นวนิยายเล่มนี้ มิใช่เพียงเพราะผู้แต่งมีการพูดถึงความเน่าเฟะของระบอบการปกครอง หรือจิกกัดความเหลื่อมล้ำในสังคม แต่เพราะนวนิยายเล่มนี้เป็นหนังสือแห่งความหวัง ความหวังที่ว่าสักวันประเทศไทยจะมีประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

            เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นเมื่อ ‘ตะวัน’ เด็กชายผู้ถูกช่วยออกมาจาก ‘ชั้นล่าง’ สถานที่ที่เหมือนนรกและเต็มไปด้วยความสิ้นหวัง สูญเสียความทรงจำบางส่วน จึงทำให้จำไม่ได้ว่าเหตุใดตนถึงถูกส่งไปยัง ‘ชั้นล่าง’ แต่เมื่อเรื่องดำเนินไปเรื่อย ๆ ความทรงจำของเขาก็เริ่มกลับมา พร้อมกับภาพจำอันเลวร้ายที่เกิดขึ้นในประเทศ ตั้งแต่ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นที่พบเจอ คุณภาพชีวิตที่ไม่คุ้มค่ากับราคาภาษีที่จ่ายไป หรือโฆษณาชวนเชื่อที่ผู้มีอำนาจหลอกลวงประชาชน เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้หลาย ๆ ท่านอาจสงสัยว่า ‘ชั้นล่าง’ คือสถานที่ใด และใครกันที่ต้องไปอยู่ในสถานที่ที่เปรียบดั่งนรกนั้นบ้าง ประเทศไทยในปี พ.ศ. 2954 ที่อยู่ภายใต้การปกครองของ ‘ราชวงศ์ธเรศ’ แบ่งโครงสร้างประเทศออกเป็น 3 ชั้น ดังนี้

            ‘ชั้นล่าง’ ทุกคนต้องสวมปลอกคอสีดำ ห้ามพูด และต้องทำงานหนักเพื่อแลกกับสิทธิในการมีชีวิตอยู่

            ‘ชั้นกลาง’ ทุกคนต้องสวมปลอกคอสีขาว ห้ามพูดคำบางคำ เช่น ถ้อยคำด่าทอชนชั้นผู้ปกครอง

            ‘ชั้นบน’ ไม่ต้องสวมปลอกคอ อยู่สุขสบาย ไม่มีกฎเกณฑ์ ไม่มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการพูด

            ดิฉันได้ตั้งข้อสังเกตหลายประการ ถึงความน่าสนใจและกินใจของนวนิยายเล่มนี้ ซึ่งผู้แต่งได้เขียนเนื้อเรื่องให้เข้าใจง่ายและเสียดสีถึงสภาพสังคมไทยอย่างแยบยล และคมคาย

            ประการแรก ระบบแบ่งชนชั้นภายใต้การปกครองของ ‘ราชวงศ์ธเรศ’ เปรียบได้กับความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่เกิดขึ้นในประเทศไทยบนโลกแห่งความเป็นจริง

            ‘ชั้นล่าง’ เปรียบได้กับชนชั้นแรงงาน ที่ต้องทำงานแลกกับค่าจ้างรายวัน เพื่อประคับประคองให้ชีวิตของตนดำเนินต่อไปได้ โดยที่ไม่สามารถเลือกได้ด้วยซ้ำ ว่าสิ่งที่เขาทำอยู่นั้นเป็นสิ่งที่เขาชื่นชอบ หรือต้องการทำมันหรือไม่ ดังวลีในหนังสือที่ว่า “เด็กหนุ่มมีหน้าที่ขนถ่านหินจากเหมืองเพื่อนำไปเป็นเชื้อเพลิงให้กับเครื่องจักรขนาดยักษ์ เขาไม่รู้ว่ามันมีไว้เพื่ออะไร แต่ไม่สำคัญหรอก ในเมื่อการขนถ่านหินในทุก ๆ วันตลอดหลายปีที่ผ่านมาทำให้เขายังมีชีวิตอยู่ได้ เท่านั้นก็เพียงพอแล้ว” (หน้า 19)

            ‘ชั้นกลาง’ เปรียบได้กับชนชั้นของมนุษย์เงินเดือน ที่มีสวรรค์คือวันที่ 16 และ 30 ของทุกเดือน แต่วันอื่น ๆ ก็เปรียบดังนรกบนดินไม่ต่างจากคน ‘ชั้นล่าง’ สักเท่าใด เพียงแค่มีอิสระและเสรีภาพอันจอมปลอมมากกว่าเท่านั้นเอง สิ่งที่เกิดขึ้นคล้ายคลึงกันระหว่างวิถีชีวิตของคน ‘ชั้นกลาง’ ในนวนิยายและในโลกแห่งความเป็นจริง นั้นคือ “ผู้คนที่สวมปลอกคอสีขาวซึ่งกำลังเดินขวักไขว่ให้ทั่วเมือง มีบ้านหลายหลังต่อกัน สูงขึ้นไปพอ ๆ กับตึก รกไปด้วยสายไฟระโยงระยางรุงรัง มีถนนยานพาหนะ ควันสีดำจากเครื่องยนต์ และการจราจรส่งเสียงดังจนปวดหู มีกิจกรรมมากมายเกิดขึ้นพร้อมกันจนไม่อาจจะสังเกตได้” (หน้า 32) แตกต่างกันเพียงแค่คน ‘ชั้นกลาง’ ในประเทศไทยในโลกแห่งความเป็นจริงมิได้มีปอกคอสีขาวที่สามารถมองเห็นได้ประดับคอเพียงเท่านั้นเอง

            ‘ชั้นบน’ เปรียบได้กับชนชั้นนายทุนและกลุ่มคนที่มีฐานะทางสังคมสูงกว่าคนอื่น ๆ ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นอยู่ทั่วไป หลาย ๆ ครั้งเพียงแค่คุณมีเงินคุณก็จะมีสิทธิ์ในการใช้ชีวิตโดยไม่ต้องมีกฎเกณฑ์ใด ๆ เห็นได้ชัดจากข้อกฎหมายหลายประการที่คนทำผิดบางคนสามารถใช้เงินกลบรอยความผิดนั้นให้หายไปได้โดยง่ายเสมือนมิเคยเกิดสิ่งใดขึ้น

            ประการที่ 2 ดิฉันคิดว่าจุดเปลี่ยนและจุดที่น่าสนใจของเนื้อเรื่องมีอยู่ 2 เหตุการณ์ด้วยกัน ดังนี้

            เหตุการณ์แรก เมื่อเด็กหนุ่มหมายเลข ๑ ๐๗ ๑๙๓๒ –ตัวเลขประจำตัวสำหรับคน ‘ชั้นล่าง’ ที่ตัวเลขแรกจะบอกเพศ หากเป็นชายจะคือหมายเลข 1 และหญิงคือหมายเลข 2 ตัวเลขตรงกลางบอกถึงเขตแดนการทำงาน และตัวเลขท้ายบอกถึงลำดับที่ถูกส่งลงมาอยู่ในขุมนรกแห่งนี้ หรือ ‘ตะวัน’ ได้ขึ้นมายัง ‘ชั้นกลาง’ จากความช่วยเหลือของ ‘ชิน’ เด็กหนุ่มผู้เป็นตัวละครหลักอีกตัวของเรื่อง หากเปรียบในชีวิตจริง น้อยคนนักที่จะได้รับการช่วยเหลือจากคนในชนชั้นทางสังคมที่สูงกว่า เพื่อให้เขาเหล่านั้นได้มีชีวิตที่ดีขึ้น หากไม่ถูกรางวัลที่ 1 ก็คงยากที่จะทำได้ เพราะทุกคนในสังคมปัจจุบันล้วนดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดของชีวิตตนเองกันทั้งนั้น

            เหตุการณ์ที่ 2 เมื่อ ‘ชิน’ โดน ‘ชั้นบน’ จับตัวไป เพราะแท้จริงแล้ว ‘ชิน’ เป็นพระราชโอรสของกษัตริย์แห่ง ‘ราชวงศ์ธเรศ’ และต้องไปครองราชย์เพื่อสืบทอดอำนาจของ‘ราชวงศ์ธเรศ’ ในระบอบ สมบูรณาญาสิทธิราชย์ต่อไป เนื่องจากเป็นนวนิยาย เหตุการณ์เหล่านี้จึงเกิดขึ้นได้โดยง่าย หากแต่มองในโลกแห่งความเป็นจริง ถ้า ‘ชิน’ ไม่ได้โดนลักพาตัวมาอยู่กับคน ‘ชั้นกลาง’ หรือไม่ได้เป็นพระราชโอรสของกษัตริย์แห่ง ‘ราชวงศ์ธเรศ’ สุดท้ายแล้วการเปลี่ยนแปลงด้านสังคมและด้านการเมืองการปกครองก็มิอาจเกิดขึ้นได้ในนวนิยาย “ตะวันในวันรุ่งขึ้น (The tomorrow sun)” หรือหาก ‘ชิน’ เป็นเพียงคนธรรมดาที่ลุกขึ้นมาเพื่อต่อสู้เพื่อสิทธิและเสรีภาพของตนเอง ไม่ก้มหน้าให้กับความ ‘อยุติธรรม’ ที่เกิดขึ้น สิ่งที่ ‘ชิน’ ได้รับอาจมิใช่ ‘การปฏิวัติ’ อย่างที่เขาถวิลหา แต่คงเป็นการถูกอุ้มหาย หรือฆ่าตาย ดังที่เกิดให้เห็นอยู่บ่อยครั้งในสังคมไทย

            และประการสุดท้าย หลังจากดิฉันได้อ่านเนื้อหาทั้งหมดในเรื่อง ก็มีคำถามเกิดขึ้นในหัวว่า “ระบอบการปกครองแบบใดกัน จึงจะเป็นระบอบการปกครองที่ดีที่สุด ?” ระบอบการปกครองในนวนิยายของประเทศไทยที่อยู่ภายใต้การปกครองของ ‘ราชวงศ์ธเรศ’ ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ระบอบการปกครองแบบประธานาธิบดีที่เกิดจากการปฏิวัติทวงคืนประเทศของประชาชนจาก ‘ราชวงศ์ธเรศ’ หรือจะเป็นระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ดั่งประเทศไทยในโลกแห่งความเป็นจริงที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และดิฉันก็ได้คำตอบของคำถามดังกล่าวแล้วว่า ไม่มีระบอบการปกครองใดที่เป็นระบอบการปกครองที่ดีที่สุด ทุกระบอบล้วนมีข้อดีข้อเสียของตัวมันเอง แต่สิ่งที่ทุกระบอบพึงมี คือการให้เกียรติและให้สิทธิในการใช้ชีวิตแก่ผู้คนทุกคนในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง

            ในท้ายที่สุดนี้ จากข้อสังเกตทั้ง 3 ประการที่ดิฉันได้เล็งเห็นถึงความน่าสนใจและกินใจของนวนิยายเล่มนี้ ก็ทำให้ดิฉันได้ตระหนักรู้ว่า ถึงแม้หนังสือจะมิได้มีชีวิต แต่สิ่งที่จะคงอยู่ไปตลอดกาล คือคุณค่าและเรื่องราวของตัวละคร ดิฉันหวังไว้เสมอว่า ขอให้ตัวละครทุกตัวและประชาชนทุกคนในประเทศไทยในนวนิยาย “ตะวันในวันรุ่งขึ้น (the tomorrow sun)” ได้อยู่ภายในระบอบการปกครองในรูปแบบประชาธิปไตย ที่เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ขอให้ดวงอาทิตย์ได้ส่องแสงมายังประเทศของพวกเขา ดังที่พวกเขาได้เฝ้าภาวนาที่จะเห็นมันอยู่เสมอ และขอขอบคุณนวนิยาย  “ตะวันในวันรุ่งขึ้น (the tomorrow sun)”  ที่เป็นหนังสือแห่งความหวังและการเติมเต็ม และดิฉันเฝ้าภาวนาให้ประเทศไทยที่เป็นอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง ได้พบเจอประชาธิปไตยที่แท้จริงเช่นกัน

“ไฟที่พวกเธอช่วยกันจุดมาตลอดมันลามจนทั่วแล้วล่ะ

ที่เหลือก็แค่พาไฟเหล่านี้ไปถึงชนวนระเบิดเท่านั้นเอง”

 

 

อ้างอิง

 

รทิมา.  ตะวันในวันรุ่งขึ้น (the tomorrow sun).  กรุงเทพมหานคร:  ม.ป.ท., 2563.

 

 

 

Visitors: 72,509