2023B001
‘ไวรัฐ’ ความเหลื่อมล้ำความทุกข์ และการโรแมนติไซซ์ความยากจน
จากหนังสือกวีนิพนธ์ ‘จนกว่าโลกจะโอบกอดเราเอาไว้’
วิลาวัลย์ ทองตระกูล
สภาวการณ์ของราชอาณาจักรไทยในปัจจุบันนั้น เต็มไปด้วยความยากลำบาก นอกจากประชาชนจะต้องต่อสู้กับโรคระบาดอย่างโควิด-19 ที่เป็นวิกฤตการณ์ของโลกแล้ว ยังต้องเผชิญความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ปัญหาเรื่องสวัสดิการและการเยียวยาประชาชนไม่ทั่วถึงของภาครัฐ ยิ่งตอกย้ำภาพความไม่เท่าเทียมกันของคนในสังคมให้เด่นชัดมากยิ่งขึ้นไป
กวีนิพนธ์เรื่อง จนกว่าโลกจะโอบกอดเราเอาไว้ ของ ปาลิตา ผลประดับเพ็ชร์ ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปีพุทธศักราช 2565 และได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (the S.E.A. Writers Award) ประเภทกวีนิพนธ์ ประจำปี 2565 ได้นำเสนอภาพของโรคระบาด ความเหลื่อมล้ำ การโรแมนติไซซ์ (Romanticize) วิกฤตความทุกข์ทางจิตใจและวิกฤตทางการเมืองในรูปแบบบทกวีด้วยกลวิธีการใช้ภาพแทนและการเปรียบเทียบสองมุมมองจากสองชนชั้น ซึ่งจะทำให้ผู้อ่านเข้าถึงและเข้าใจความเหลื่อมล้ำเหล่านี้มากขึ้น
ด้วยเหตุที่กวีนิพนธ์เล่มนี้นำเสนอเรื่องความเหลื่อมล้ำทางสังคมในยุคสมัยปัจจุบัน จึงจะขอยกกรอบแนวคิดเรื่อง ดิสโทเปีย (Dystopia) มาประยุกต์ในการวิจารณ์กวีนิพนธ์เรื่องนี้ แนวคิดนี้จะปฏิเสธความสมบูรณ์และไม่เชื่อว่ามนุษย์นั้นจะสามารถพัฒนาไปสู่ความสมบูรณ์แบบได้ เป็นภาพสังคมที่ตรงกันข้ามกับกรอบแนวคิดแบบยูโทเปีย (Utopia) อย่างชัดเจน คือ สังคมที่ไร้อนาคต ไม่มีความเท่าเทียมและไม่มีความสุข แต่ไม่ได้มีจุดประสงค์ให้ผู้อ่านเกิดความสลดหดหู่ใจ เพียงแต่ประสงค์ให้คนในสังคมตระหนักรู้และไม่เพิกเฉยต่อสิ่งที่จะทำให้สังคมที่ผู้อ่านอาศัยอยู่ดำเนินไปสู่ความสิ้นหวัง ดังที่จะพูดถึงกวีนิพนธ์เรื่อง จนกว่าโลกจะโอบกอดเราเอาไว้ ของ ปาลิตา ผลประดับเพ็ชร์ ดังนี้
1. สังคมแห่งโรค
ปาลิตา ได้เปรียบวิกฤตการณ์โควิด-19 เป็นสงครามของโรคระบาด ที่ดูเหมือนว่าจะไม่มีวันสิ้นสุดและส่งผลกระทบต่อผู้คนทั่วกันโดยไม่แบ่งแยกชนชั้น แต่ทว่าคนชนชั้นนำที่ค่อนข้างมีทรัพยากรมากพอ ก็จะ “ได้อยู่บ้าน อ่านนิยาย ได้ฟังเพลง”(น.25) อย่างสุขสบายและไม่มีเรื่องใดให้วิตกกังวล กลับกันคนชนชั้นล่างหรือกลุ่มคนเปราะบางนั้นกลับต้อง“อดทนจนสำลักความฉิบหาย”(น.28)
ปาลิตา ไม่ได้กล่าวถึงแต่เพียงปัญหาโควิด-19 เท่านั้น อีกโรคหนึ่งที่เป็นปัญหาในสังคมไม่ต่างกันก็คือปัญหาโรคซึมเศร้า ที่ทำให้ผู้คนไม่น้อยเลือกที่จะหลีกหนีจากความทุกข์ในโลกนี้ เช่นเดียวกันกับในกวีนิพนธ์เล่มนี้ที่กล่าวถึงชายคนหนึ่งที่ตัดสินใจให้แม่น้ำเจ้าพระยา “โอบรับวิญาณนี้นิรันดร์นาน”(น.118) ซึ่งบทกวีนี้ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ผู้คนที่ตัดสินใจเลือกความตายเป็นทางออก ไม่ใช่เพราะพวกเขาคิดสั้น แต่เป็นเพราะว่าทุกสิ่งรอบตัวบีบเส้นทางของเขาให้แคบจนแทบจะเดินไม่ได้ และพวกเขาไม่เห็นหนทางใดที่จะสามารถก้าวข้ามมันไปได้แล้ว การที่พวกเขาต้องทนอยู่กับสภาวะที่ความคิดด้านลบมีอิทธิพลต่อจิตใจของพวกเขาอย่างถึงที่สุดนั้น จึงเป็นความทุกข์ที่ทุกข์เสียยิ่งกว่าการตาย การตัดสินใจเช่นนี้จึงเป็นการตัดสินใจที่ไตร่ตรองมาอย่างยาวนาน พวกเขาจึงสามารถวางแผนทุกอย่างให้มั่นใจว่าหลังจากที่เขาตาย จะไม่สร้างความเดือดร้อนให้ใครอีก
นอกจากนี้ ปาลิตา ยังได้ใช้ “โรค” มาเปรียบกับความผิดปกติที่เกิดขึ้นในสังคมไทยทั้ง “โรคชักหน้าไม่ถึงหลัง”(น.41) หรือแม้กระทั่ง “โรคชอบเหยียบย่ำความเป็นมนุษย์”(น.42) แล้วยังเปรียบการทำงานที่ล้มเหลวของรัฐบาลปัจจุบันว่าเป็น “ไวรัฐ”(น.42) ที่ฆ่าไม่ตาย นับว่าเป็นการเปรียบเทียบที่ตรงไปตรงมา แสดงให้เห็นว่า ปาลิตา นั้นพยายามจะแสดงให้ผู้อ่านเห็นว่าปัญหาเหล่านี้ เป็นโรคร้ายแรงที่สมควรจะต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วนและถูกวิธี เพื่อไม่ให้สังคมไทยย่ำแย่ไปมากกว่านี้
2. ปัญหาความเหลื่อมล้ำ
ปลิตา กล่าวถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในสังคมไทยผ่านการเปรียบเทียบจากสองมุมมองในหัวข้อของวันพรุ่งนี้ ในขณะที่คนมากด้วยทรัพยากรนั้น สามารถสรรหาพาบุตรหลานของตัวเองไปเรียนพิเศษได้เพื่อ “เพิ่มโอกาสการแข่งขันอันเข้มข้น”(น.106) ในขณะที่คนเปราะบางนั้น “วันนี้ยังหน่วงหนักไม่อวสาน”(น.109) แสดงให้เห็นแล้วว่า “พรุ่งนี้ของเราไม่เท่ากัน”(น.109)
นอกจากนี้ ปาลิตา ยังพูดถึงความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ในที่นี้จะกล่าวถึงนักเรียน “แถวหลัง”(น.98) ที่ถูกละเลยและเมินเฉย เพราะเป็นคนที่ไม่ได้มีความสามารถโดดเด่นหรือสร้างชื่อเสียงให้กับโรงเรียน แสดงการตัดพ้อของนักเรียนที่ “ไม่เคยถูกค้นพบ”(น.98) จนทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ครูอาจารย์มักจะทุ่มเวลาและความใส่ใจไปที่นักเรียน “แถวหน้า”(น.99) จนละเลยนักเรียนแถวหลัง สุดท้ายก็ทำให้นักเรียนเหล่านั้นเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจและสูญเสียผลประโยชน์ทางการศึกษา
3. วิกฤตการณ์ทางการเมือง
ในกวีนิพนธ์เรื่อง จนกว่าโรคจะโอบกอดเราเอาไว้ ของ ปาลิตา ผลประดับเพ็ชร์ ยังวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลที่ล้มเหลว อันเนื่องมาจากวิกฤตการณ์โควิด-19 ความล่าช้าในการช่วยเหลือและเยียวยาประชาชน ทำให้หลายครอบครัวนั้นต้องพบเจอกับความสูญเสีย(น.36-40) แต่รัฐบาลก็ยังไม่ยอมรับความผิดพลาดของตัวเอง กลับเลือกที่บอกปัด กลบเกลื่อน และใช้วาทกรรมว่าเป็นการจัดฉากของฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง เป็น “นาฏกรรมเสมือนจริง”(น.31-32) เพื่อลดทอนความน่าเชื่อถือของผู้ประสบวิบากกรรมอันแสนสนสาหัส นับเป็นการกระทำที่ไร้ความรับผิดชอบและไร้มนุษยธรรมอย่างยิ่ง
นอกจากเรื่องการบริหารบ้านเมืองแล้ว ปาลิตา ยังกล่าวถึงสถานการณ์สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองด้วยว่า “สมาทานว่า ‘เงียบงัน’ คือ ‘สันติ’ ”(น.46) เนื่องจากสภาวะทางการเมืองในปัจจุบันที่ประชาชนถูกปิดปากและทำร้ายด้วยกฎหมาย ทำให้ประชาชนหลายคนเลือกที่จะเงียบเพื่อปกป้องตัวเอง ปาลิตา จึงพยายามที่จะกระตุ้นให้ผู้อ่าน “รู้ ‘ค่า’ ทุกสิทธิ์เสียง-ทั้งเสียงเรา”(น.46) เพราะการจำยอมต่ออำนาจที่ไม่ชอบธรรม อาจจะทำให้ใครอีกหลายคนพบความเจ็บปวด ส่วนปัญหาทั้งหลายเหล่านั้น ก็ไม่ได้ถูกแก้ไขเสียที
4. การโรแมนติไซซ์ความอปกติ
ปาลิตา ได้กล่าวถึงความพยายามสร้างความปกติให้กับสิ่งอปกติ หรือที่เรียกว่า การโมแมนติไซซ์(Romanticize) โดยใช้กลวิธีเช่นเดิม คือ การเปรียบเทียบจากสองมุมมอง ได้แก่ มุมมองของ “ผู้มอง” ที่เห็นว่ารอยยิ้มจากชีวิตเรียบง่ายภายใต้หลังคาผุพังนั้น “คือสามัญแห่งชีวิตน่าอิจฉา”(น.62) กลับกันในมุมมองของ “ผู้เผชิญชะตากรรม” นั้น มันคือชีวิตอันแสนแร้นแค้นและทุกข์ระทม รอยยิ้มที่เห็นนั้นไม่ใช่รอยยิ้มแห่งความสุข แต่ “คือยิ้มเยาะกับชีวิตแตกสลาย”(น.65)
นอกจากประเด็นดังกล่าวแล้ว ผู้เขียนยังได้กล่าวถึงการนำความยากจนมาใช้แสวงหาผลประโยชน์กับความขี้สงสารของคนไทยในรายการปลดหนี้ต่าง ๆ ที่พบเห็นกันได้ทั่วไปตามช่องโทรทัศน์ดังทั้งหลาย หากต้องการโอกาส ผู้เข้าร่วมรายการจะต้องใช้ความสามารถที่พิเศษเหนือคนอื่น หรือขายภูมิหลังที่แสนรันทด เพื่อให้ได้มาซึ่งหนทางในการลืมตาอ้าปาก(น.67-71) ส่วนผู้ผลิตนั้นก็ได้รับผลตอบแทนกลับไปมหาศาล
รายการเหล่านี้ไม่ได้ช่วยให้ผู้คนสามารถหลุดจากความยากลำบากได้จริง ๆ กลับกัน รายการเหล่านี้กลับเป็นสิ่งที่สะท้อนความล้มเหลวของภาครัฐ ที่ไม่สามารถกระจายทรัพยากรและลดช่องว่างระหว่างชนชั้นได้ อีกทั้งยังเป็นการผลักภาระให้ประชาชนช่วยเหลือและดูแลกันเอง ทั้ง ๆ ที่หน้าที่เหล่านี้เป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหารโดยตรง และถึงแม้ว่ามันจะช่วยเยียวยาได้บ้าง มันก็เป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่ถ้าแก้ปลายแล้วปล่อยให้ต้นเหตุของปัญหาถูกเมินเฉย ปัญหาเหล่านี้ก็จะวนเวียนกลับมาเป็นวัฏจักรที่ไม่มีวันจบสิ้น
5. การโอบกอดผู้คนที่สิ้นหวัง
หลังจากที่ ปาลิตา ได้สะท้อนภาพความดิสโทเปียในสังคมออกมาแล้ว จึงใช้คำกวีปลอบประโลมผู้คนในโลกที่โหดร้ายนี้ ให้สามารถก้าวข้ามผ่านวิกฤตตามที่ได้เล่าเอาไว้ตั้งแต่ต้นจนจบเหล่านั้นไปได้ ให้ผู้อ่านค่อย ๆ ทบทวนเหตุการณ์ที่ผ่านมาอย่างมีสติ และมีความหวังว่าสักวันหนึ่งชีวิตที่เจ็บปวดและเหี่ยวแห้ง “จะตื่นฟื้นชื่นหัวใจ…อีกไม่นาน” (น.147)
บทสรุป
ตลอดทั้งเล่มกวีนิพนธ์เรื่อง จนกว่าโลกจะโอบกอดเราเอาไว้ ของ ปาลิตา ผลประดับเพ็ชร์ มักจะเลือกใช้กลวิธีในการเปรียบเทียบสองมุมมองจากสองชนชั้นที่ต่างกันอย่างสุดขั้ว ทำให้ผู้อ่านได้เห็นถึงความแตกต่างอย่างชัดเจนและได้ตระหนักถึงความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น อีกทั้งยังมีความพยายามที่จะกระทบกระเทียบเปรียบเปรยชนชั้นนำและชนชั้นปกครอง ที่คอยกดขี่และเอารัดเอาเปรียบชนชั้นล่างที่เปราะบางอ่อนแอกว่าเพื่อผลประโยชน์ของตน พร้อมกับการกระตุ้นให้ผู้คนตระหนักรู้ถึงสิทธิเสรีภาพของตน ให้กล้าต่อต้านอำนาจมืดทั้งหลายเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตัวเอง แล้วยังไม่ลืมที่จะปลอบประโลมสังคมที่มืดมิดนี้ให้มีความหวังและไม่ยอมแพ้ เพื่อรอวันที่พวกเราจะได้พบกับแสงสว่างและจนกว่าโลกจะโอบกอดเราเอาไว้อย่างอ่อนโยนอีกครั้ง
อ้างอิง
ปราง ศรีอรุณ และทองแสง เชาว์ชุติ. (2561). มหานครดิสโทเปียในอาชญนิยายญี่ปุ่นเรื่อง “ราตรีสีเลือด”.
วารสารภาษาและวัฒนธรรม, 37(1), 139-157.
ปาลิตา ผลประดับเพ็ชร์. (2565). จนกว่าโลกจะโอบกอดเราเอาไว้. (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ: ผจญภัย.