2023B002

คุณเคนต์และข้าพเจ้า: หญิงเพี้ยน ข้าพเจ้าสู่ดิฉัน

           กานดาวดี ปกิรณะ

 

            เมื่อความรักไม่ได้เกิดขึ้นกับแค่ชายหญิง สังคมโลกที่กำลังก้าวหน้า ความหลากหลายทางเพศที่ค่อยๆได้รับการยอมรับและปฏิบัติอย่างเท่าเทียมในสังคมไทย เช่น การผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียม ซีรีส์วายที่ได้รับความนิยม สื่อบันเทิงที่มีตัวละครผู้มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้นและไม่จำเป็นต้องปิดบังวิถีทางเพศ เช่นเดียวกับวรรณกรรม วรรณกรรมที่ดำเนินเรื่องโดยตัวละครผู้มีความหลากหลายทางเพศ นักอ่านอาจรู้จักวรรณกรรมเหล่านั้นในชื่อเรียกว่า “นวนิยายวาย” ซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างมากในนวนิยายแนวชายรักชาย(Yaoi) แต่กระนั้น “วาย” ในความหมายนี้ มิได้หมายถึงนวนิยายแนวชายรักชายเพียงอย่างเดียวแต่ยังรวมไปถึงนวนิยายแนว ”ยูริ(Yuri)” ที่เป็นนวนิยายแนวหญิงรักหญิงอีกด้วย นอกจากนวนิยายหญิงรักหญิงที่เรียกว่า ยูริ แล้วนั้น ยังมีคำเรียกอื่นที่ครอบคลุมมากกว่า เช่น นวนิยาย “แซฟฟิก(Sapphic)”  เป็นนวนิยายแนวหญิงรักหญิง ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นความรักระหว่างผู้หญิงด้วยกันเพียงอย่างเดียว เช่นอาจเป็นความรักระหว่างเลสเบี้ย ไบเซ็กชวล เควียร์ ทรานส์เจนเดอร์ หรือ นอนไบนารี ดังนั้น แซฟฟิกจึงเป็นความรักระหว่างหญิงรักหญิงที่ไม่จำเป็นต้องระบุอัตลักษณ์ทางเพศหรือรสนิยมทางเพศของตน

          แต่ก็เป็นเรื่องน่าเศร้าที่นวนิยายแนวแซฟฟิก(หญิงรักหญิง)นั้น เป็นที่นิยมเฉพาะนักอ่านบางกลุ่ม นักอ่านในวงกว้างยังไม่รู้จักนวนิยายแซฟฟิกมากพอ ซึ่งสวนทางกับความนิยมนวนิยายวายแนวชายรักชายที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากดูได้จากจำนวนของนวนิยายวายแนวชายรักชายที่ออกมาตามท้องตลาด นวนิยายแซฟฟิกหญิงรักหญิงจึงอยู่ใต้ร่มเงานวนิยายวายแนวชายรักชายเสมอมาอย่างไรก็ดีนวนิยายแนวแซฟฟิกนั้นก็มีเนื้อหาที่น่าสนใจ มีหลากหลายแนวให้นักอ่านได้เลือกสรร หนึ่งในนั้นคือเรื่อง “คุณเคนต์และข้าพเจ้า”

           “คุณเคนต์และข้าพเจ้า” นวนิยายจากปลายปากกาของนักเขียนอิสระอย่างคุณ LADYS(ลาดิด) ถือว่าเป็นนวนิยายแนวแซฟฟิก ที่เนื้อหาน่าสนใจ เป็นการดำเนินเรื่องของสองตัวละคร “คุณเคนต์” หญิงเพี้ยน หน้าตาสะสวยและพิการ และ “ข้าพเจ้า” หญิงสาวทรานส์เจนเดอร์ผู้ไม่เคยเอ่ยนามและไม่ชอบทะเล โดยเนื้อเรื่องถูกนำเสนอและบอกเล่าผ่านความคิดและสายตาของ “ข้าพเจ้า” หญิงสาวที่ต้องเดินทางมายังบ้านบนหน้าผาใกล้ชายหาดของคุณย่า เพื่อจัดการทรัพย์สินของคุณย่าผู้วายชนม์ จนได้พบกับสมุดบันทึกของคุณย่า ที่ได้มีการบันทึกเรื่องราวของ คุณเคนต์“หญิงเพี้ยน หน้าตาสะสวย พิการ และเพี้ยน” คุณย่าบันทึกไว้เช่นนั้น นำไปสู่ความสงสัยของ ข้าพเจ้า ว่า คุณเคนต์ หญิงเพี้ยน นั้นคือใคร เรื่องราวระหว่าง คุณเคนต์และข้าพเจ้าจึงเริ่มขึ้นจากสมุดบันทึกของคุณย่า สู่สายสัมพันธ์ระหว่างเธอทั้งสอง

          กลวิธีที่คุณ LADYS นักเขียนถ่ายทอดเรื่องราวนั้น จะเป็นในรูปแบบการเล่าในส่วนของอดีตและปัจจุบันไปพร้อมกัน โดยส่วนของอดีตนั้นจะนำเสนอโดยใช้การเล่าเรื่องจากสมุดบันทึกของคุณย่า ควบคู่กับเหตุการณ์ปัจจุบันที่ข้าพเจ้ากำลังพบเจอ แต่การเล่าเรื่องอดีตคู่กับปัจจุบันเป็นกลวิธีที่นักเขียนใช้ถ่ายทอดเรื่องราวเพียงช่วงแรกเท่านั้น แต่เมื่อข้าพเจ้าได้พบคุณเคนต์ การถ่ายทอดเรื่องราวเปลี่ยนเป็นการเล่าเรื่องในเหตุการณ์ปัจจุบันผ่านสายตาและความรู้สึกของตัวละครข้าพเจ้าเพียงเท่านั้น

          ในส่วนเนื้อเรื่องมีการดำเนินเรื่องอย่างเรียบง่าย และโครงเรื่องที่มุ่งเน้นไปยังความสัมพันธ์ของตัวละครหลักทั้งสอง จากความสงสัย การพบเจอ แปรเปลี่ยนเป็นความรักและการลาจาก ถือว่าเป็นโครงเรื่องนวนิยายแนวรักใคร่ที่เห็นกันได้อย่างดาษดื่น แต่อย่างไรเสีย ความรัก ก็เป็นเรื่องสามัญและผู้คนพบเจอจนเป็นกิจวัตรประจำวัน จึงเป็นเนื้อเรื่องที่เข้าถึงนักอ่านได้ง่ายและกินใจอย่างไม่ยากเย็น นอกจากนี้นวนิยายเรื่องนี้ยังมีการเสนอเรื่องราวความรักของตัวละครที่มีความหลากหลายทางเพศอีกด้วย โดยตัวละครคุณเคนต์นั้นเธอมีเพศโดยกำเนิดเป็นหญิงอัตลักษณ์ที่เธอแสดงออกเป็นหญิง ส่วนข้าพเจ้านั้นเธอมีเพศโดยกำเนิดเป็นชายแต่เธอเลือกที่แสดงอัตลักษณ์อย่างหญิง ตัวละครข้าพเจ้าจึงเป็น “ผู้หญิง” ความรักที่ข้าพเจ้ามอบให้คุณเคนต์จึงเป็นความรักระหว่างหญิงรักหญิง โดยไม่ข้องเกี่ยวกับการที่ตัวละครข้าพเจ้านั้นเป็นทรานส์เจนเดอร์นวนิยายนี้จึงถ่ายเรื่องราวความรักแบบแซฟฟิกได้เป็นอย่างดีและเป็นการทำลายกรอบสังคมที่ชายต้องคู่กับหญิง หรือทราส์เจนเดอร์จะต้องมีความรักให้เฉพาะกับเพศชายเท่านั้น และการที่ให้ข้าพเจ้าตัวละครทราส์เจนเดอร์ เป็นตัวละครนำในการถ่ายทอดเรื่อราวจึงเป็นสิ่งที่แปลกใหม่และน้อยครั้งมากที่วรรณกรรมไทยจะมีตัวละครสำคัญเป็นทราส์เจนเดอร์

 

‘ข้าพเจ้า’ สู่ ‘ดิฉัน’ กับการยอมรับและโอบกอดตัวเอง

“กลัวเธอมองว่าฉันไม่ใช่ผู้หญิง”

“แล้วเธอเรียกตัวเองว่าอะไรล่ะ”

“ผู้หญิง”

“อย่างนั้น ฉันก็เรียกเธอว่าผู้หญิง” (2565, น.70)

          บทสนทนาข้างต้นนั้นเป็นบทสนทนาระหว่าง ข้าพเจ้า และ คุณเคนต์ แสดงให้เห็นทัศนคติของตัวละครข้าพเจ้าต่อตนเอง อนึ่งตัวละครข้าพเจ้านั้น เธอมีวิถีทางเพศที่แสดงออกและอัตวิสัยแบบผู้หญิง เธอนิยามตัวเองว่าเป็น “ผู้หญิง” แต่ในขณะเดียวกัน ตัวของข้าพเจ้าก็มีส่วนลึกในจิตที่มองว่าตัวเองไม่ใช่ผู้หญิง จากการที่ข้าพเจ้า ใช้คำแทนตัวว่า “ข้าพเจ้า” ซึ่งเป็นคำแทนตัวที่ไม่ระบุเพศที่สามารถใช้ได้ทั้งเพศชายและเพศหญิง แทนการใช้คำแทนตัวว่า “ดิฉัน” ซึ่งเป็นคำแทนตัวของเพศหญิงโดยเฉพาะ และการที่ข้าพเจ้ากล่าวถึงรูปร่างของตัวเองที่มีหน้าอกแบนราบ บ่าไหล่กว้างหนา และมีอวัยวะเพศเช่นชาย ทำให้ ข้าพเจ้ากลัวว่าคุณเคนต์จะมองตนเองว่าไม่เป็น “ผู้หญิง” แต่อย่างไรก็ดี ข้าพเจ้าก็พอใจและรักในร่างกายของตัวเอง แสดงให้เห็นว่าการที่ข้าพเจ้ากลัวว่าคุณเคนต์จะมองตนเองว่าไม่ใช่ผู้หญิงอาจไม่ได้เกิดจากจิตใจเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากสังคมและทัศนคติของคนในสังคมด้วย ที่ว่าหากมีร่างกายและเพศตามกำเนิดแบบเดียวกับตัวละครข้าพเจ้าจะต้องเป็นผู้ชายเพียงเท่านั้น ทำให้ตัวละครข้าพเจ้ากลัวว่าบุคคลภายนอกที่มองมายังตนจะมองว่าตนไม่ใช่ผู้หญิง แม้ตัวข้าพเจ้าจะมีวิถีทางเพศและนิยามตัวเองว่าเป็นผู้หญิงก็ตาม

“ข้าพเจ้าไม่ชอบทะเล ไม่คุ้นเคยกับผืนน้ำ แต่ข้าพเจ้าไม่เคยจมน้ำ ไม่มีประสบการณ์เฉียดตายน่าหวาดหวั่น
เกี่ยวกับผืนน้ำ ไม่เคยแม้กระทั่งฝันถึงการจมดิ่งลงในห้วงลึกสีครามเข้ม” (2565, น.15)

          จากข้อความดังกล่าวเป็นข้อความของตัวละครข้าพเจ้าที่แสดงความเห็นในเรื่องที่ตัวเองนั้นไม่ชอบทะเล “ทะเล”ในที่ก็เปรียบเสมือนสังคมโดยใช้อุปมาเปรียบเทียบสังคมเป็นทะเล ตัวละครข้าพเจ้านั้นมีเศษเสี้ยวในใจว่าตัวเองนั้นไม่ใช่ผู้หญิง แม้ว่าตัวละครข้าพเจ้าจะไม่เคยถูกตราหน้าจากสังคมว่าเธอนั้นไม่ใช่ผู้หญิง แต่ความกลัวในจิตใจเป็นเหมือนกรงขังไม่ให้เธอยืนหยัดอย่างภาคภูมิว่าตนเป็น “ผู้หญิง” เธอจึงไปไม่ก้าวข้ามสู่ทะเลที่เปรียบเสมือนสังคมเสียที

          ดังนั้นคุณเคนต์ จึงถือว่าเป็นตำละครสำคัญที่ช่วยให้ตัวละครข้าพเจ้า ได้รับการปลดปล่อยจากอคติในวิถีทางเพศของตนที่มองว่าตนเองไม่ใช่ผู้หญิง ด้วยคำพูดอย่างเรียบง่ายว่า “อย่างนั้น ฉันก็เรียกเธอว่าผู้หญิง” โดยคุณเคนต์ได้มองข้ามรูปลักษณ์ร่างกาย อวัยวะเพศแต่กำเนิดและทัศนคติทางสังคมไปจนหมดสิ้น โดยให้ความสำคัญกับจิตใจของตัวข้าพเจ้าเป็นหลัก หากเธอนิยามตนเองว่าเป็น “ผู้หญิง” เธอก็คือ “ผู้หญิง” การกระทำดังกล่าวของคุณเคนต์แสดงให้เห็นถึงการยอมรับของคนในสังคมต่อวิถีทางเพศของตัวละครข้าพเจ้า จึงเป็นการปลดแอกอคติทางใจของข้าพเจ้านำไปสู่การยอมรับและโอบกอดตัวเอง

                    “ข้าพเจ้าเป็นผู้หญิง และจากนี้ ข้าพเจ้าจะเรียกแทนตัวเองว่าดิฉัน”(2565, น.74)

 

อดีต ปรารถนาและความหวัง

          นวนิยายเรื่องนี้ได้มีการถ่ายทอดเรื่องราวการยึดติดกับอดีต ความปรารถนาและความหวัง ผ่านตัวละครหลักทั้งสองอย่างคุณเคนต์และข้าพเจ้า

          “...น้องสาวพูดอะไรสักอย่างเกี่ยวกับเงือก และแม่ก็บอกว่าอยากไปประภาคาร ฉันจำได้แค่นั้น และเหมือนว่าจะคิดถึงมันอยู่ตลอด” (2565, น.69)

          จากข้อความข้างต้นเป็นบทพูดของคุณเคนต์ที่แสดงให้ถึงการยึดติดกับอดีต โดยตัวละครคุณเคนต์นั้นนักเขียนไม่ได้ให้ข้อมูลอะไรมาก ว่าคุณเคนต์เธอมีประวัติความเป็นมาอย่างไร ผู้อ่านจะทราบเพียงว่าเธอเป็นหญิงสาวสะสวยผิวดำพิการขาจากอุบัติ เป็นเหตุต้องใช้ไม้พยุงตัวอยู่ตลอดเวลาเพียงเท่านั้น คุณเคนต์เธอมีกิจกรรมที่ชอบทำคือการนำเรือผายออกไปยังทะเลเพื่อไปยังประภาคารและตามหาเงือก ซึ่งการกระทำดังกล่าวก็เป็นผลพวงจากยึดติดกับอดีตในคำพูดก่อนตายของแม่และน้องสาว ที่ตัวคุณเคนต์นึกถึงและกระทำอยู่เป็นกิจวัตร แม้ว่าประภาคารนั้น ณ ตอนนี้ เหลือเพียงฐานและเงือกนั้นไม่มีจริง แต่อย่างไรก็ดีการการยึดติดดังกล่าวได้สิ้นสุดพร้อมการปรากฏตัวข้าพเจ้าและคุณเคนต์มุ่งสู่ความปรารถนาของตน

“ฉันอยากขึ้นไป คิดว่าช่วยฉันได้ไหม ช่วยฉันให้ขึ้นไปบนนั้นได้ไหม” (2565, น.50)

“เมื่อคืน ฉันนึกถึงหน้าผาแห่งอื่น...ต่างเมือง ไกลอยู่เหมือน ต้องเดินทางหลายวันแต่ก็อยากลองไปดูสักหน” (2565, น.78)

          คุณเคนต์เธอมีความปรารถนาที่อยากปีนขึ้นไปบนสุดของหน้าผา แต่เนื่องด้วยสภาพร่างกายของเธอที่พิการขาและต้องใช้ไม้พยุง เธอจึงทำความปรารถนาของตัวเองไม่ได้สักที การที่คุณเคนต์จะทำความปรารถนาของตนให้สำเร็จจึงต้องมีคนช่วยอีกแรง ซึ่งคนๆนั้นคือ ข้าพเจ้า บุคคลสำคัญที่ทำให้คุณเคนต์ทำตามความปรารถนาจนสำเร็จ และเป็นแรงขับเคลื่อนความปรารถอื่นของคุณเคนต์ เช่น การปีนหน้าผาในต่างเมือง และในขณะเดียวกัน ข้าพเจ้าก็มีความปรารถนาของตัวเองด้วยเช่น

“...ชายหาดที่อื่น...อยากลองไปอยู่ อยากรู้ว่าจะดีว่าที่นี่ไหม”(2565, น.81)

          ข้าพเจ้ามีความปรารถในการไปยังชายหาดแห่งอื่นอีกสามแห่งตามหนังสือสารคดีของคุณย่า ตัวข้าพเจ้าเองก็มีความสามารถที่จะทำตามความปรารถนาของตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพาใคร แต่กะนั้นเธอก็เลือกที่จะไม่ทำตามสิ่งที่เธอปรารถนาเพียงเพราะข้าพเจ้านั้นไม่ต้องการแยกจากคุณเคนต์ คุณเคนต์จึงช่วยข้าพเจ้าให้ทำตามความปรารถนาของตน โดยคุณเคนต์เลือกที่จะหายตัวไป และทำให้ข้าพเจ้าออกเดินทางไปยังชายหาดทั้งสามในที่สุด พร้อมความหวังเสมอว่าคุณเคนต์จะต้องกลับมาเพื่อเธอจะได้พบเจอคุณเคนต์อีกครั้ง

          ตัวละครข้าพเจ้าและคุณเคนต์จึงเป็นตัวละครที่มีความสำคัญระหว่างกันและกัน ในแง่ของการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เธอช่วยฉัน ฉันช่วยเธอในตลอดทั้งเรื่องราว

 

คุณย่ากับความเหงาในวัยชรา และปริศนาภายในเรื่อง

          ตัวละครคุณย่านั้นก็ถือว่าเป็นตัวละครที่สำคัญ เป็นผู้นำพาให้ตัวละครหลักทั้งสองนั้นมาพบกันและก่อเป็นเรื่องราวขึ้น อย่างไรก็ดีตัวละครคุณย่ามีบทบาทเพียงในช่วงแรกของเรื่องราวและผู้อ่านได้รู้จักเธอผ่านสมุดบันทึก และทราบเพียงว่าคุณย่าเธอเป็นหญิงชราที่อาศัยเพียงลำเพียงในบ้านบนหน้าผาใกล้ชายทะเลและเสียชีวิตจากการตกจากหน้าผา เรื่องราวของคุณย่าผ่านการจดบันทึกนั้นก็แสดงให้เห็นถึงความเหงาเปล่าเปลี่ยวของหญิงชราได้เป็นอย่างดี โดยคุณย่าเธอจะจดเรื่องที่ตนเองได้พบเจอ สภาพอากาศความฝันของตนเองอย่างสั้นๆ แต่ในสมุดของคุณย่าได้จดเรื่องราวของคุณเคนต์เยอะเป็นพิเศษ เสมือนว่าคุณเคนต์เป็นเพียงสิ่งบันเทิงเดียวของคุณย่าผู้เปลี่ยวเหงา

          และนอกจากนี้นวนิยายเรื่องนี้ยังทิ้งปริศนาต่างๆไว้โดยยังไม่ได้รับการแก้ปม เช่น สาเหตุการตายของคุณย่า เธอตกหน้าผาเพราะอุบัติเหตุหรือตั้งใจ ในสมุดบันทึกก่อนเสียชีวิตของคุณย่าเธอเขียนว่าเธอเห็นใครบ้างคนบนชายหาดซึ่งอาจเป็นคุณเคนต์ คุณย่าอาจตกหน้าผาเพราะเร่งรีบไปหาคุณเคนต์หรือไม่, เรื่องการหายตัวไปพ่อของตัวละครข้าพเจ้า เขาตายไปแล้วหรือยังมีชีวิตอยู่ยังคงเป็นปริศนาและตัวละครข้าพเจ้าเองก็ขบคิดอยู่เสมอ และปริศนาของการหายตัวไปของคุณเคนต์ในช่วงท้ายของเรื่องราวที่ได้หายตัวไปโดยไม่บอกกล่าวข้าพเจ้า คุณเคนต์ เธอหายไปไหน ทำอะไร หากเธอไปต่างเมืองเธอได้ไปปีนหน้าผาตามสิ่งที่ปรารถนาหรือไม่ การทิ้งปมต่างๆไว้ของนักเขียนก็ถือว่าเป็นเรื่องดีที่เปิดโอกาสให้ผู้อ่านได้ใช้จินตนาการในการคาดเดาสิ่งต่างๆในแบบของตัวเอง เกิดการขบคิดหลังจากอ่านจบ

          ราวเกิดจากจุดเล็กๆ เพียงสมุดบันทึกของคุณย่านำพาคนทั้งสองรู้จักและผูกพัน การก้าวข้ามอดีตสังคมสู่การโอบกอดและการยอมรับตัวเอง เพื่อมุ่งสู่ความปรารถนา ซึ่งเกิดจากการช่วยเหลือเพียงเล็กน้อยจากความรักที่เกิดขึ้นโดยไม่เลือกเพศและสถานที่ ณ ทะเล หาดทราย และหน้าผาแห่งนี้

 

Visitors: 72,505