2023B003

กวีนิพนธ์ว่าด้วยการบันทึกยุคสมัย

เพื่อโอบกอดผู้ที่ถูกผลักไสให้เป็นอื่น

ธารณา บุญเลิศ 

 

 

 

            คงไม่เป็นการกล่าวเกินจริงไปนัก หากจะพูดว่านับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 กวีนิพนธ์ที่ทำหน้าที่ ‘บันทึกยุคสมัยและโอบกอดผู้คนที่เป็นอื่นในสังคม’ ได้ดีที่สุด คือกวีนิพนธ์เล่ม “จนกว่าโลกจะโอบกอดเราเอาไว้” ของคุณปาลิตา ผลประดับเพ็ชร์ แต่ที่ว่าดีนั้น คงไม่ใช่เพราะกวีนิพนธ์เล่มนี้ได้รับรางวัลซีไรต์อย่างเดียวหรอก หากแต่รางวัลซีไรต์เป็นตัวแปรหนึ่งที่ทำให้ได้อ่านกวีนิพนธ์เล่มนี้ก็เพียงเท่านั้น

            หนังสือรวมบทกวีนิพนธ์ “จนกว่าโลกจะโอบกอดเราเอาไว้” ของคุณปาลิตา ผลประดับเพ็ชร์ ต้องบอกว่าเป็นหนังสือรวมบทกวีเล่มแรกของเธอ และกลายเป็นเล่มที่ได้รับรางวัลซีไรต์ประจำปี 2565 รวมถึงเธอยังเป็นกวีหญิงคนที่สองที่ได้รับรางวัลนี้ในรอบ 30 กว่าปีที่ผ่านมา รองจากกวีนิพนธ์เล่ม “ใบไม้ที่หายไป” ของคุณจิระนันท์ พิตรปรีชา ซึ่งได้รับรางวัลในปี 2532 ดูเหมือนว่าการได้รับรางวัลของเธอในครั้งนี้จะสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับวงการวรรณกรรมไทยบ้านเราพอสมควร เพราะหลังจากที่ประกาศผลรางวัลก็มีทั้งคำชื่นชมและเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนาหู (ซึ่งมีแทบทุกปีและเหมือนจะกลายเป็นเรื่องปกติ) หากแต่ปีนี้แต่จะค่อนไปทางชื่นชมเสียมากกว่า บางคนต้องจริตแต่บางคนถึงกับผิดสำแดง ก็คงเป็นปฏิกิริยาของอำนาจนิยมในระบบปิตาธิไตย (patriarchy) ที่ครอบงำวงการวรรณกรรมไทยบ้านเราอยู่นั่นแหละ แต่ก็แน่ล่ะ เพราะนาน ๆ ทีสตรีจะได้รับ ความนิยม (feminism)

            ภาพรวมกวีนิพนธ์เล่มนี้แบ่งเนื้อหาออกเป็นสี่ภาคคือ ภาคหนึ่ง Pandemic : ยุคสมัยแห่งการแพร่พันธุ์ ภาคสอง Romanticize : เราจะทำทุกอย่างให้โรแมนติก ภาคสาม : จนกว่าโลกจะโอบกอดเราเอาไว้ และภาคสี่ : ไปสู่อ้อมกอดอันเป็นนิรันดร์ ดูเหมือนว่าจุดเด่นประการแรกของกวีนิพนธ์เล่มนี้จะอยู่ที่การสร้างเอกภาพของเนื้อหา เห็นได้จากการกล่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้คนในสังคม จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19ในภาคที่หนึ่ง ต่อด้วยภาคที่สองกล่าวถึงความโรแมนติกที่ถูกสร้างขึ้น ซึ่งเป็นการ Romanticize และเป็นการมองข้ามปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม ส่วนในภาคที่สามกล่าวถึงการที่ผู้คนในสังคมถูกผลักไสให้กลายเป็นอื่น รวมถึงเด็กรุ่นใหม่ถูกคาดหวังจากครอบครัวว่าต้องประสบความสำเร็จในชีวิต และสุดท้ายจบด้วยภาคที่สี่กล่าวถึงการโอบกอดและทำความเข้าใจในทุกปัญหาที่เกิดขึ้น เอกภาพของเนื้อหาที่ถูกสร้างขึ้นนี้ทำให้เห็นว่ามีการเชื่อมโยงเนื้อหาอย่างเป็นระบบ ไล่เรียงเนื้อหาไปตามลำดับ ตั้งแต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในภาคที่หนึ่งไปสู่การโอบกอดและทำความเข้าใจในทุกปัญหาในภาคสุดท้าย ต้องถือว่ากวีและสำนักพิมพ์ทำงานในส่วนนี้อย่างพิถีพิถันและทำออกมาได้ดีอย่างน่าชื่นชม

          ข้อสังเกตประการต่อมาคือ กวีนิพนธ์ “จนกว่าโลกจะโอบกอดเราเอาไว้” เล่มนี้เป็นกวีนิพนธ์ที่ทำหน้าที่บันทึกยุคสมัยได้ชัดเจนที่สุดอีกหนึ่งเล่ม เพราะถ้าหากเรากลับไปอ่านกวีนิพนธ์เล่ม “ใบไม้ที่หายไป” ของคุณจิระนันท์ พิตรปรีชา หรือ “เพียงความเคลื่อนไหว” ของคุณเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ดูเหมือนว่ากวีนิพนธ์ทั้งสองเล่มนี้จะเป็นกวีนิพนธ์ที่บันทึกประวัติศาสตร์แห่งห้วงอารมณ์ความรู้สึก และความเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนเดือนตุลาคมในยุคสมัยนั้นได้ดีที่สุดจนเป็นที่ยอมรับมาจนถึงปัจจุบัน และเมื่อเราอ่านกวีนิพนธ์เล่ม “จนกว่าโลกจะโอบกอดเราเอาไว้” จบลง ก็จะพบว่ากวีนิพนธ์เล่มนี้ได้ทำหน้าที่บันทึกยุคสมัย ประวัติศาสตร์การแพร่พันธุ์ของโรคไวรัสโควิด-19 และความสิ้นหวังแห่งยุคสมัยที่เกิดขึ้นกับผู้คนในสังคมได้ดีไม่แพ้กัน

            ในกวีนิพนธ์ “จนกว่าโลกจะโอบกอดเราเอาไว้” กวีใช้กลวิธีการเล่าเรื่องเป็นส่วนมาก โดยบทกวีแต่ละเรื่องจะมีลักษณะของเรื่องเล่าขนาดสั้น และแต่ละเรื่องจะเล่าต่อกันไปในหลายบท (แม้ว่ากรอบของเรื่องเล่าจะไม่สมบูรณ์นักตามลักษณะของเรื่องเล่าทั่วไปซึ่งก็เป็นข้อจำกัดของงานเขียนประเภทกวีนิพนธ์) และด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องในกวีนิพนธ์นี่เอง ผู้วิจารณ์จึงขอนำแนวคิดเรื่อง ‘มุมมองและเสียงเล่า’ มาลองพิจารณากวีนิพนธ์เล่มนี้ดู และเมื่อนำแนวคิดดังกล่าวมาพิจารณาบทกวีหลายต่อหลายชิ้นในกวีนิพน์เล่มนี้ ผู้วิจารณ์พบว่ากวีได้ทำหน้าที่เป็นสัพพัญญู (omniscientnarrator) ผู้เล่าเรื่อง คือเล่าเรื่องถึงความตาย ฯลฯ ที่เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งจะขอยกตัวอย่างในบท “จบ(ไม่)บริบูรณ์” (น. 36) กวีใช้เสียงเล่า (narrative voice) เล่าผ่านมุมมอง (focalization) ของเด็กผู้ชายคนหนึ่งที่เห็น “ลุง” นอนหลับอยู่ตรงฟุตปาธโดยปฏิปุจฉาว่า “ทำไมลุงมานอนหลับอยู่ที่นี่” และบรรยายลักษณะการนอนของลุงว่า “ง่วงมาก หรืออย่างไรไม่ขยับ” หรือ “เห็นลุงนอนนิ่งนิ่งอยู่นมนาน” จนเด็กชายต้องรำพึงภายในใจว่า “ตื่นเถอะครับลุงครับขยับก่อน”ด้วยความเป็นห่วง ฯลฯ ในฉากที่สองและสามกวีก็ใช้กลวิธีการเล่าเรื่องในลักษณะนี้ด้วยเช่นกัน จะเห็นว่าตัวอย่างที่เกิดขึ้นในบท “จบ(ไม่)บริบูรณ์” ที่กล่าวไปข้างต้นนั้น เป็นการใช้เสียงเล่าของกวี (narrative voice) ที่ทำหน้าที่เป็นสัพพัญญู (Omniscientnarrator) ผู้เล่าเรื่อง โดยเล่าผ่านมุมมองของตัวละคร (focalization)  ลักษณะดังกล่าวเรียกว่ามุมมองภายในคือการมองจากภายในของเหตุการณ์และมองผ่านตัวละครที่อยู่ในเหตุการณ์ (ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์, 2558: 63) ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นภายในเรื่องไม่ใช่การสร้างสถานการณ์หรือ “ใครหนอจัดฉากนาฏกรรม(น. 40) แต่อย่างใด เพราะเมื่อเราพิจารณาลักษณะการ ‘หลับ’ ของตัวละครในเรื่องแล้ว ก็จะพบว่าลักษณะทั้งหมดนั้นล้วนเป็น “โศกนาฏกรรม” (tragedy)ความตายของผู้คนที่เกิดขึ้นในสังคมแทบทั้งสิ้น

            นอกจากนี้กวียังเล่าถึงความ ‘เหลื่อมล้ำ’ ในสังคมที่เกิดขึ้นหลังจากการแพร่พันธุ์ของไวรัสโควิด-19 ในบท “กว่าโลกจะโอบกอดเธอเอาไว้” ดังบทที่ว่า “รูปร่างอย่างไรหนอไวรัส/มองไม่ชัดมันชอบเร้นไม่เห็นหน้า/แต่ข้นแค้นแสนเข็ญเห็นเต็มตา/อาจบางทีหนักหนากว่าความตาย/หน้ากากผ้าผืนน้อยต้องคอยซัก/คราบคลักเปื้อนด่างยังไม่หาย/คราบน้ำตาเปื้อนซ้ำคราบน้ำลาย/พอจะป้องเชื้อร้ายได้กี่วัน” (น. 47-48) จะเห็นว่ากวี ‘เล่า’ ถึงการแพร่พันธุ์ของไวรัสโควิด-19 ที่เราต่างมองไม่เห็น ผู้คนในสังคมจึงต้องป้องกันตัวจาก “เชื้อร้าย” ด้วยการใส่ “หน้ากาก” แต่ดูเหมือนไวรัสโควิด-19 ที่แพร่พันธุ์อยู่นั้นจะยังร้ายกาจไม่พอเมื่อเทียบกับความ“ข้นแค้นแสนเข็ญ” ที่เกิดขึ้นกับผู้คนในสังคม ขนาดหน้ากากผ้ายัง “ต้องคอยซัก” ทั้งที่เปื้อนคราบน้ำตาและคราบน้ำลาย ฯลฯ ความเหลื่อมล้ำในบทกวีดังกล่าวไม่ควรเกิดขึ้นเลยหากมีการจัดการปัญหาที่ดีจากส่วนกลางมากกว่านี้ เพราะเราไม่รู้ “ว่า ‘ไวรัฐ’ ตนใดไล่ขยี้” (น. 27) จึงมี “แต่ข้นแค้นแสนเข็ญ” ถึงขั้นที่กวีตั้งคำถามต่อความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคมว่า “บางทีอาจหนักหนากว่าความตาย” ด้วยซ้ำ

            กวีนิพนธ์ “จนกว่าโลกจะโอบกอดเราเอาไว้” นอกจากจะทำหน้าที่บันทึกการแพร่พันธุ์ของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนในสังคมแล้ว กวีนิพนธ์เล่มนี้ยังบันทึกยุคสมัยอีกนัยหนึ่งไว้ด้วย นั้นคือคนรุ่นใหม่ในยุคสมัยนี้ต่างถูกเร่งให้ประสบความสำเร็จและถูกคาดหวังจากครอบครัว ว่าจะต้องเก่งในหลาย ๆ ด้าน ซึ่งความคาดหวังที่ปรากฏในกวีนิพนธ์เล่มนี้ เราจะพบในหลากหลายลักษณะ เช่นในบท “นิยามต่าง วันพรุ่งนี้” เราจะเห็นคุณพ่อผู้หวังดีซื้อคอร์สต่าง ๆ ให้ลูกเรียนเพื่อให้ลูกเท่าทันโลก ทันยุค ทันสมัย และเพื่อโลกจะได้โอบกอดลูกเอาไว้ “เพราะโลกเราจะโอบรับแค่ บางใคร” (น. 106) เพียงเท่านั้น ดังบทกวีที่ว่า “พ่อจะซื้อคอร์สให้-คอร์สเทรดหุ้น/เพื่อเรียนรู้การลงทุนแห่งยุคสมัย/สกุลเงินดิจิทัลลงทุนไว้/พ่อจะเปิดพอร์ตให้สองสามบัญชี/เทคนิคกราฟ-ศึกษาจังหวะซื้อ/อ่านหนังสือนักเทรด-มหาเศรษฐี/แนวโน้มราคาศึกษาดีดี/เตรียมพร้อมเพื่อ ‘พรุ่งนี้’ นะลูกรัก” (น. 105) หรือในบท “พรสวรรค์วาไรตี้” เมื่อพ่อและแม่นั่งชมรายการโทรทัศน์แล้วเห็นเด็กที่ไปออกรายการเพื่อโชว์ความสามารถก็ชื่นชมเด็กว่าเก่ง ดี มีพรสวรรค์ แต่เมื่อตัดฉากมาที่บ้าน พ่อและแม่กลับด่าลูกตัวเองในเชิงเปรียบเทียบว่าเป็น “ไอ้พรนรก” ดังบทที่ว่า “ทำไมมึงไม่เอาอย่างเด็กคนนั้น/พรแสวงพรสวรรค์ช่างสรรค์สร้าง/ให้มึงไปรายการนั้นไม่มีทาง/ก่อเวรไม่เว้นวางไอ้พรนรก!” (น. 72)

          ยุคสมัยที่ถูกบันทึกไว้ในกวีนิพนธ์เล่มนี้ไม่ว่าจะเป็นการแพร่พันธุ์ของไวรัสโควิด-19 หรือการที่เด็กยุคใหม่ถูกคาดหวังจากครอบครัวว่าจะต้องประสบความสำเร็จในชีวิต ล้วนมีความสัมพันธ์กับสภาพเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองทั้งสิ้น เพราะวรรณกรรมเป็นพฤติกรรมของสังคม และด้วยผู้อ่านที่ต่างก็เป็นคนร่วมสมัยหรือเป็น ‘ผู้มีประสบการณ์ร่วม’ กับเรื่องราวเหล่านี้ บทกวีหลายต่อหลายชิ้นในกวีนิพนธ์เล่มนี้จึงสามารถจับจูงอารมณ์ความรู้สึกของผู้อ่านได้โดยง่าย เสมือนตัวบทและผู้อ่านได้สนทนาซึ่งกันและกันกวีนิพนธ์ “จนกว่าโลกจะโอบกอดเราเอาไว้” ได้ทำหน้าที่บันทึกยุคสมัยการแพร่พันธุ์ของโรคไวรัสโควิด-19 และความสิ้นหวังแห่งยุคสมัยที่เกิดขึ้นกับผู้คนในสังคมทั้งสองนัยนี้ไว้ได้อย่างชัดเจน หากมองในแง่นี้ก็ไม่แปลกใจเลยที่กวีนิพนธ์เล่มนี้จะได้รับรางวัล และเราอาจสรุปปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ด้วยบทกวีที่ว่า“สงครามครั้งนี้ยังยืดเยื้อ/รีดเลือดเนื้อไม่เหลือใดให้ใฝ่ฝัน/ขโมยชีวิตจิตวิญญาณอีกนานวัน/แพร่พันธุ์ความสิ้นหวังอย่างวังเวง” (น. 28)

          ข้อสังเกตต่อมาที่ผู้วิจารณ์พอจะชี้ให้เห็นก็คือ กวีนิพนธ์เล่มนี้ได้ทำหน้าที่โอบกอดผู้คนที่ถูกผลักไสให้เป็นอื่นเอาไว้ด้วย แต่ก่อนที่เราจะไปดูว่ากวีโอบกอดผู้เป็นอื่นนั้นอย่างไร เราต้องไปดูก่อนว่าใครบ้างที่ถูกผลักไสให้เป็นอื่น และด้วยเนื้อที่อันจำกัดผู้วิจารณ์จะขออธิบายประกอบให้ชัดเจนเพียงตัวอย่างเดียว โดยผู้เป็นอื่นที่ปรากฏในกวีนิพนธ์เล่มนี้ก็คือ ‘คนชนบท’ คนชนบทถูกผลักไสให้เป็นอื่นด้วยสายตาของ ‘คนเมือง’ ในกวีนิพนธ์เล่มนี้ความเป็นชนบทที่ถูกมองผ่านสายตาของคนเมืองนั้น ไม่ใช้ดินแดนแห่งความอดอยาก ยากจน ล้าหลัง แต่อย่างใด หากแต่เป็นดินแดนที่ผู้คนมีความจริงใจต่อกันและกัน ใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ล้วนคือสวรรค์บ้านนา ซึ่งการสร้างความบริสุทธิ์ผุดผ่องให้กับชนบทเช่นนี้ ก็อาจเป็นเพราะมันตอบสนองต่อมายาคติของคนเมืองหรือของชนชั้นกลางที่อาจจะเบื่อหน่ายสิ่งแวดล้อมอันจำเจของตน เราจะเห็น “ทัศนคติ” ของคนเมืองในลักษณะนี้อยู่มาก ซึ่งเป็นการมองชนบทในเชิง ‘ดินแดนอุดมคติ’ ดังจะเห็นได้จากบทกวี “ดูความสามัญตรงนั้นสิ” ที่บอกว่า “ผืนนาในแสงเช้า.../แดดสวยสาดเงาข้าวหน้าฝน/ดูคล้ายฉากละครฉากภาพยนตร์/ชื่อทำนอง ‘ต้องมนตร์’,‘มนตร์บ้านนา’/ดูเหมือนภาพถ่ายในไอจี/ใครสักคนลงสตอรี่เอาไว้ว่า-/ ‘นี่แหละความงามธรรมดา/มีเสน่ห์น่าอิจฉาความสามัญ’ ” (น. 57) หรือเมื่อสายตาคนเมืองมองถึงความลำบากของคนชนบทก็จะมองว่าเป็นความโรแมนติกที่น่าอิจฉา ฯลฯ เช่นในบทกวี “ความแร้นแค้นแสนโรแมนติก” ดังบทที่ว่า “โรแมนติดอะไรได้ปานนั้น/ความสามัญแห่งชีวิตน่าอิจฉา/ความเหลื่อมล้ำที่พร่ำบ่นสนทนา/เป็นปัญหาตรงไหน-ไม่เห็นมี” (น. 62)

            เมื่อคนชนบทถูกผลักไสให้เป็นอื่นด้วยสายตาของคนเมือง กวีจึงได้ทำหน้าที่โอบกอดคนชนบทที่ถูกผลักไสให้เป็นอื่นด้วยวิธีการเสียดสีเพื่อตอบโต้ชุดความคิดของคนเมืองที่พยายามหยิบยื่น ยัดเยียดชีวิตอันเป็นดินแดนในอุดมคติของตนให้กับคนชนบท ซึ่งการตอบโต้ชุดความคิดดังกล่าวนั้นกวีใช้กลวิธีคู่ขนานหรือคู่เปรียบเทียบ ตอบโต้ผ่านมุมมองและสายตาของคนชนบทด้วยเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากบทกวี “ฉันถนอมเอาไว้ให้เธอแล้ว” ดังบทที่ว่า “ลองไหม/ลองมาใช้ชีวิตที่เธอว่า-/งดงามเรียบง่ายไร้กาลเวลา/เป็นชีวิตน่าอิจฉา เธอว่าไว้ /เอาสิ ลองดู/มานอนหลับในรังหนูนี่ดูไหม?/รูรั่ว หลังคาเห็นฟ้าไกล/โรแมนติกอะไรได้ปานนี้!” (น. 63) การตอบโต้ชุดความคิดดังกล่าวของคนชนบทแม้จะดูเหมือนว่าคนชนบท “เป็นตัวละครในเรื่องเล่า, เป็นตัวประกอบขับเน้นความมั่งคั่ง, เป็นฉากหลักของชนชั้นบรรดาศักดิ์” (น. 66) ให้กับคนเมือง แต่คนชนบทก็ได้เสียดสี เหน็บแนม ท้าทาย เพื่อตอบโต้ให้คนเมืองลองมาใช้ชีวิตอย่างที่ว่าไว้ดังวรรคที่ว่า “ลองไหม? ลองมาใช้ชีวิตที่เธอว่า, เอาสิลองดู มอนอนหลับในลังหนูนี่ดูไหม?, มาสิ มาซุกนอน ใต้หลังคาผุกร่อนสังกะสี, มาสิ มาอิมเอมให้เต็มคราบ, กินไหม? แกงเก่าข้าววันก่อน, อาบสิ น้ำคลองอาบน้ำโคลน” (น. 63-66) ซึ่งหากคนเมืองมองว่าดีและสวยงามอย่างที่ว่าก็ให้ลองมาใช้ชีวิตอย่างนี้ดู บางครั้งคนเมืองอาจพบว่าสิ่งที่มองกับสิ่งที่เป็นอยู่นั้นแตกต่างกัน และหากคนเมืองยังยืนยันกับมุมมองและสายตาที่ใช้มองชนบทอยู่เช่นนี้ คนชนบทจะได้ “ถนอมความจนฯ และสงวนความอัปลักษณ์ไว้ฯ” (น.66)
ให้คนเมือง และเพื่อที่ “เธอจะได้บริหารบารมี/ได้พื้นที่กิจกรรมเสริมวาสนา/เธอจะมีที่ให้เธอทอดสายตา/อันอิ่มเอมเต็มศรัทธาให้สาใจ/เพื่อให้เธอกระหยิ่มใจในโชคชะตา/ ยืนยันว่าเธออยู่อีกชั้นชน.” (น. 66) แม้เราจะพบว่ากวีได้ตอบโต้ชุดความคิดของคนเมือง ด้วยการเสียดสีผ่านมุมมองของคนชนบทแล้วก็ตาม แต่อีกนัยหนึ่งก็ทำให้ได้เห็นว่ากำแพงแห่งชนชั้น และช่องว่างของปัญหาระหว่างคนเมืองกับชนบทยังคงมีอยู่ ซึ่งเป็นปัญหาที่ยืดเยื้อ เรื้อรัง แก้ไม่ตก และอาจหนักขึ้นทุกวันแม้ว่าเราจะอยู่ในศตวรรษที่ 21 แล้วก็ตาม

             การผลักไสและโอบกอดผู้เป็นอื่นดังที่กล่าวไปข้างต้นนั้น เป็นการโอบกอดคนชนบทที่ถูกผลักไสให้เป็นอื่นผ่านวิธีการเสียดสีเพื่อตอบโต้ชุดความคิดของคนเมืองหรือของชนชั้นกลางที่มักมองคนชนบทว่าเป็นดินแดนในอุดมคติ ซึ่งกวีได้ทำหน้าที่โอบกอดผู้ที่ถูกผลักไสให้เป็นอื่นเอาไว้ได้อย่างงดงาม แต่หากเราลองพิจารณากวีนิพนธ์เล่มนี้ผ่านกรอบแนวคิดเรื่อง ‘มุมมองและเสียงเล่า’ โดยนำแนวคิดดังกล่าวไปใช้มองในมุมของ ‘คนชนบท’  ก็จะพบว่ามุมมองที่เกิดขึ้นนั้นแน่นอนว่าเป็นมุมมอง (focalization) ของตัวละครที่เป็น ‘คนชนบท’ ส่วนเสียงเล่าเป็นเสียงเล่าของกวี (narrative voice) ซึ่งทำหน้าที่เป็นสัพพัญญู(omniscientnarrator) ผู้เล่าเรื่อง เสมือน ‘กวี’ โอบกอดผู้เป็นอื่นด้วยการเสียดสีและตอบโต้ชุดความคิดของคนเมืองผ่านสายตาและมุมมองของตัวละครที่เป็น ‘คนชนบท’ นั้นเอง แต่ในทางกลับกันหากเรา นำกรอบแนวคิดที่ว่าไปใช้มองในมุมของ “คนเมือง” เราก็จะพบว่ากวีก็ได้ทำหน้าที่เป็นสัพพัญญู (omniscientnarrator) ผู้เล่าเรื่อง ใช้เสียงเล่าของกวี (narrative voice) เล่าผ่านมุมมอง (focalization) ของตัวละครที่เป็น ‘คนเมือง’ ด้วยเช่นกัน หากมองในมุมนี้ผู้วิจารณ์ก็อดคิดไม่ได้ว่า ตัว ‘กวี’ เองด้วยหรือไม่ที่มอง ‘คนชนบท’ ผ่านมุมมองของตัวละคนที่เป็น ‘คนเมือง’ เมื่อพิจารณาในแง่ที่ว่านี้เรื่องเล่าระหว่างคนเมืองกับคนชนบทในกวีนิพนธ์ “จนกว่าโลกจะโอบกอดเราเอาไว้” เล่มนี้ จึงมีความ irony ของผู้เล่าเรื่องอยู่บ้าง คงเป็นเพราะกวีเองที่ ‘เผลอ’ ผลักไสใครต่อใครไปจากอ้อมกอดจนอาจลืมโอบกอดตัวเองโดยไม่ (รู้) ตัว  

            ข้อสังเกตประการสุดท้ายก็คือ กวีนิพนธ์เล่มนี้ใช้ฉันทลักษณ์ประเภท ‘กลอน’ ตลอดทั้งเล่มอาจเพราะเป็นรูปแบบเดียวที่กวีถนัด และเป็นรูปแบบที่เอื้อต่อการเล่าเรื่องในงานกวีนิพนธ์ ซึ่งกวีก็ทำออกมาได้ดีและเป็นอัตลักษณ์เฉพาะของตัวกวีเอง ต้องถือว่าเป็น ‘ทางปาลิตา’ ดังที่สถาพร ศรีสัจจัง ว่าไว้ ประกอบกับเนื้อหาที่ร่วมสมัยและด้วยพลังอำนาจของภาษาที่กวีเลือกสรรคำมาใช้ผ่านกระบวนการเล่าเรื่อง ซึ่งสามารถนำเสนอเรื่องราวด้วยกวีทัศน์ (poetic vision) ที่จุดประกายปัญญา และด้วยจินตภาพเชิงกวี (poetic images) ที่สามารถสร้างความสะเทือนอารมณ์ให้กับผู้อ่าน ถึงขั้นที่ทำให้ผู้อ่านต้องหันมาเพ่งพินิจถึงชีวิตและสรรพสิ่งรอบตัวด้วยมุมมองที่ต่างไปจากเดิม และตั้งคำถามกับความเชื่อและมุมมองที่ผู้อ่านเคยยึดมั่นอยู่อาจเพราะเหตุนี้จึงทำให้ผู้อ่านบางกลุ่มต้องจริตกับ ‘ทางปาลิตา’ แต่ในขณะเดียวกันก็อาจทำให้ผู้อ่านหรือนักกลอนบางกลุ่มผิดสำแดงกับ ‘ทางปาลิตา’ ด้วยเช่นกัน โดยมองว่ากวีนิพนธ์ ‘จนกว่าโลกจะโอบกอดเราเอาไว้’ มีข้อบกพร่องเรื่องของการประพันธ์ เช่นการชิงสัมผัส หรือเป็นเพียงการเล่าเรื่องที่มีสัมผัส และขาดความประสานตามอย่างที่งานฉันทลักษณ์ควรจะเป็น (แง่นี้ ต้องทำความเข้าใจกวีนิพนธ์ร่วมสมัยเสียใหม่) ซึ่ง ‘ทางปาลิตา’ ที่ว่านี้อาจถูกมองว่า ‘ง่าย’ และไม่พริ้งพรายในเชิงวรรณศิลป์เหมือนกวียุคก่อน แต่ก็คงต้องตั้งคำถามต่อไปว่างานฉันทลักษณ์ในกวีนิพนธ์ร่วมสมัยยังจำเป็นอยู่หรือไม่ที่จะต้อง ‘เป๊ะ, เนี้ยบ’ เหมือนวรรณกรรมยุคเก่า เพราะไม่เช่นนั้นแล้วเราคงจะย่ำอยู่กับที่ และหากมองว่ากวีนิพนธ์ร่วมสมัยในแบบ ‘ทางปาลิตา’ นั้น ‘ง่าย’ ก็คงต้องตอบกลับด้วยถ้อยคำของกวีที่ว่า “งามง่ายแต่สัตย์จริงนะมิ่งมิตร” (น.150) เช่นนี้แล้วกวีนิพนธ์ร่วมสมัยในศตวรรษต่อไปก็คงพอจะมีที่ทางให้เดินอยู่บ้าง.

 

อ้างอิง

ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์. (2558). อ่าน (ไม่) เอาเรื่อง. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: อ่าน.

ปาลิตา ผลประดับเพ็ชร์. (2565). จนกว่าโลกจะโอบกอดเราเอาไว้. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: ผจญภัย.

Visitors: 81,111