2023B004
“บ้าน” ความหมายหลากมิติ
ในรวมเรื่องสั้น อาจไม่เหมาะหากเปราะบาง
ศุภวัฑฒ์ ใจเอื้อ
คำว่า “บ้าน” มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อชีวิตของมนุษย์ รูปธรรมของบ้านคือสถานที่อยู่อาศัยของมนุษย์ แต่ความหมายทางนามธรรมคำว่า “บ้าน” คือพื้นที่ป้องกันภัยทั้งร่างกายและจิตใจ บ้านอาจใช้แทนความอบอุ่นจากครอบครัว หรือคนรัก ซึ่งคำว่า “บ้าน” หรือเหตุการณ์ที่ทำให้นึกถึง “บ้าน” ปรากฏในรวมเรื่องสั้นชุด “อาจไม่เหมาะหากเปราะบาง” ผลงานของจิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท นักเขียนเรื่องสั้นที่ได้รับรางวัลซีไรต์เมื่อปี 2560 รวมเรื่องสั้นชุดนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกปีพุทธศักราช 2565 โดยสำนักพิมพ์ระหว่างบรรทัด เมื่อพิจารณาชื่อหนังสือจะเห็นถึงความอ่อนแอ ความโศกเศร้า และความเปราะบาง โดยรวมเรื่องสั้นชุดนี้เสนอเรื่องราวของตัวละครหลายประเภท ได้แก่ ตัวละครผู้เปราะบาง ตัวละครผู้เคยเปราะบาง ตัวละครผู้เข้มแข็ง ตัวละครผู้เคยเข้มแข็ง และตัวละครผู้ที่กำลังสับสนกับจิตใจตนเอง บางเรื่องเล่าให้เกิดพลังสู้กับความเปราะบาง แต่บางเรื่องเล่าเพื่อตอกย้ำจุดเปราะบางของผู้อ่านผ่านความรู้สึกและเหตุการณ์ของตัวละคร ชื่อหนังสือรวมเรื่องสั้นชุด “อาจไม่เหมาะหากเปราะบาง” อาจมีนัยเตือนผู้อ่านว่าหนังสือเล่มนี้ไม่เหมาะสำหรับผู้ที่กำลังเปราะบาง แต่เมื่ออ่านจบกลับรู้สึกว่าหนังสือเล่มนี้เขียนเพื่อผู้อ่านที่กำลังอยู่ในภาวะเปราะบางโดยเฉพาะ
รวมเรื่องสั้นชุด “อาจไม่เหมาะหากเปราะบาง” ประกอบไปด้วยเรื่องสั้นจำนวน 14 เรื่อง ได้แก่ สัตว์โดดเดี่ยวประเภทโดดเดี่ยวพิเศษ, ปฏิสสาร, Toxic Relationship Artists, จดหมายจากนกในรัง, จดหมายก่อนกลับมอสโก, หยดฝนในกรุงมอสโก, เวฬากับวาฬิกา, หกโมงเช้ากับหกโมงเย็น, รอยคว้านในเนื้อไม้ของชมพูพันธุ์ทิพย์, เมียโง่ของนักเขียนหนุ่ม, เราอาจพบกันเพื่อรักษาบาดแผลของอีกคน, มันจะยังเป็นบ้านเสมอ, สมิงสังวาส, และอารัณย์เห็นสิ่งที่ปรารถนา เรื่องสั้นแต่ละเรื่องมีจุดเด่นและประเด็นต่างกัน แต่เมื่อพิจารณาเรื่องสั้นเราอาจพบกันเพื่อรักษาบาดแผลของอีกคน ในประโยค “บ้านได้ตัดคุณออกจากโลกภายนอกเรียบร้อย” (จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท, 2565, น.179) และเรื่องสั้นมันจะยังเป็นบ้านเสมอ ในประโยค “สงกรานต์นี้มีแค่ฉันเท่านั้นที่จะกลับบ้าน แม่บอกว่าให้หาที่นอน ไว้บ้าง เผื่อพ่อจะไล่ฉันออกจากบ้านกลางดึกแบบคราวก่อนอีก” (จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท, 2565, น.196) ปรากฏสัญลักษณ์ของ “บ้าน” อย่างเด่นชัด และหากมองภาพรวมของเรื่องสั้นทั้ง 14 เรื่อง บ้านเป็นทั้งสถานที่ปลอดภัยและมีภัยของตัวละคร และในความหมายที่กว้างขึ้นบ้านอาจหมายถึง “ร่างกาย” ซึ่งมีผู้อยู่อาศัยคือจิตใจของมนุษย์ ดังนั้นตัวละครจากบางเรื่องจึงสามารถสร้างบ้านของตัวเองให้แข็งแรงได้จากประสบการณ์ในบ้านที่เคยเปราะบาง
บ้าน : พื้นที่ปลอดภัยและมีภัยของตัวละครผู้เปราะบางจาก “ความรัก”
“บ้าน” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน (2556) หมายถึง ถิ่นที่มีมนุษย์อยู่ แต่เมื่ออ่านเรื่องสั้นชุดนี้จบ คำว่า “บ้าน” จะสื่อได้หลายมิติตามบริบทของเนื้อเรื่อง บางเรื่องไม่มีคำว่าบ้านปรากฏแต่เมื่อสังเคราะห์ออกมาจะเห็นถึงความเป็น “บ้าน” ที่ตัวบทอาจจะต้องการสื่อถึง โดยจำแนกได้ 3 ประเด็น ดังนี้
ประเด็นที่ 1 บ้านคือพื้นที่ปลอดภัยของตัวละครที่เปราะบาง นอกจากบ้านที่เป็นสถานที่ตัวบทยังสื่อไปถึงครอบครัว เมืองที่ตัวละครเกิดในวลีของ “บ้านเกิดเมืองนอน” และขอบเขตปลอดภัยของตัวละครที่เรียกว่า “เซฟโซน” ประเด็นเหล่านี้ปรากฏในเรื่องสั้นสัตว์โดดเดี่ยวประเภทโดดเดี่ยวพิเศษ บ้านในเรื่องนี้เป็นของชายผู้โกหกว่าตนตาบอดชื่อเกวน เรื่องเกิดกับหนุ่มพเนจรคนหนึ่งตัดสินใจมาอาศัยบ้านเกวนอยู่ชั่วคราว ทั้งที่รู้ว่าเกวนเป็นคนแปลกหน้าแต่น่าประหลาดใจที่หนุ่มคนนี้พรั่งพรูเรื่องราวในใจที่ตนเองเก็บกดเอาไว้และปลดเปลื้องร่างกายภายในบ้านต่อหน้าเกวน เหมือนว่าบ้านของเกวนคือเซฟโซนของเขา เรื่องสั้นจดหมายก่อนกลับมอสโก จากประโยคหนึ่งตัวละครผู้เปราะบางพูดออกมาว่า “ผมจะกลับมอสโกแล้ว พร้อมเศษหัวใจพัง ๆ” (จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท, 2565, น.93) สื่อให้เห็นว่า ไม่ว่าจิตใจของตัวละครจะโดนทำร้ายเพียงใด มอสโกคือบ้านที่อบอุ่นและปลอดภัยเสมอข้อความจากเรื่องสั้นหยดฝนในกรุงมอสโก ที่ว่า “ทุกครั้งที่ฝนตก พาเวลจะแจ้นออกไปข้างนอกกางร่มให้ฝนหยุด”(จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท, 2565, น.99) พบว่าบ้านในบริบทนี้นอกจากจะเป็นสถานที่แล้วยังสื่อถึงแม่และซาซ่าเพื่อนที่แอบชอบพาเวล หากพาเวลอยู่ในบ้านจะไม่ถูกฝนแน่นอนเพราะแม่และซาซ่าจะคอยพูดให้เขาเห็นคุณค่าในตัวเอง ที่สำคัญเขาจะไม่มีทางทำเรื่องตอกย้ำให้ตัวเองเปราะบางอีก แต่ถ้าเขาออกไปนอกบ้านก็จะกางร่มวิเศษให้ตนเองเปียกฝนคนเดียวจนป่วย บ้านจึงเป็นพื้นที่ปลอดภัยทำให้เขาเปลี่ยนความคิดเพื่อตัวเองได้ และเรื่องสั้นเราอาจพบกันเพื่อรักษาบาดแผลของอีกคน เรื่องสั้นเรื่องนี้ค่อนข้างปรากฏคำว่าบ้านบ่อยครั้ง ตัวละครหญิงเข้าไปสำรวจบ้านร้าง พบกับผีที่สิงอยู่ในบ้าน ผีตนนี้ฆ่าตัวตาย ตัวละครหญิงเล่าเรื่องราวในชีวิตที่เปราะบางหลังสูญเสียน้องชายให้ผีฟัง สะท้อนให้เห็นถึงจิตใจของมนุษย์ เมื่อมีพื้นที่ส่วนตัวจะรู้สึกปลอดภัยและปลดปล่อยความเปราะบางออกมาทันที
ประเด็นที่ 2 บ้านคือพื้นที่มีภัยทางจิตใจของตัวละครผู้เปราะบาง ปรากฏในเรื่องสั้น รอยคว้านในเนื้อไม้ของชมพูพันธุ์ทิพย์ ภาพลวงของบ้านคือวิมานเพราะตัวละครได้เสพสมอารมณ์เซ็กส์ภายในบ้าน แท้จริงแล้วบ้านที่เธออยู่ทิ้งความทรงจำแห่งความสุขไว้อย่างละเอียดเพื่อตอกย้ำให้เธอเกิดความทุกข์ เพราะความสุขในความทรงจำของเธอได้สูญเสียไปแล้ว บ้านหลังนี้จึงเป็นภัยร้ายแรงทางจิตใจทำให้ตัวละครเปราะบาง และเรื่องสั้นเมียโง่ของนักเขียนหนุ่ม สะท้อนให้เห็นถึงอุดมการณ์ทางความคิดซึ่งขัดต่อทักษะชีวิต เรื่องราวเล่าถึงการระบายความในใจของภรรยาที่มีต่อสามีซึ่งเป็นนักวิชาการผู้มีอุดมการณ์ทางการเมือง แต่ไม่เคยคิดช่วยเธอทำมาหากิน บ้านจึงเป็นภัยแก่เธอผู้เดียว
ประเด็นที่ 3 บ้านเป็นทั้งพื้นที่ปลอดภัยและพื้นที่มีภัยของตัวละครผู้เปราะบาง ปรากฏในเรื่องสั้น Toxic Relationship Artists ตัวละครผู้ชายคือ มาวี่และโนอาห์ อดีตคู่รัก แม้ว่าในปัจจุบันทั้งคู่จะเกลียดกัน แต่พวกเขาต้องพยามยามรักกันต่อหน้าแฟนคลับ ในขณะเดียวกันพวกเขาก็ยังคงมีเซ็กส์ด้วยกันเสมอ สะท้อนให้เห็นว่าบ้านที่ทั้งคู่อยู่ด้วยกันยังคงเป็นพื้นที่ตอบสนองอารมณ์ตามสัญชาตญาณและในขณะเดียวกันก็ยังเป็นสถานที่อึดอัดใจของทั้งคู่ และเรื่องสั้นมันจะยังเป็นบ้านเสมอ ตัวละครหลักเป็นสาวประเภทสองชื่อเมษ เรื่องนี้สื่อถึงบ้านชัดเจนใน 2 ประเด็น ได้แก่ บ้านหลังแรกคือครอบครัวที่ไม่สนับสนุนเธอเพราะเบี่ยงเบนทางเพศ บ้านหลังนี้จึงมีภัย และบ้านหลังที่ 2 คือกลุ่มเพื่อนซึ่งเป็นเซฟโซนให้เธอในเรื่องเพศวิถี บ้านในบริบทของตัวละครเมษจึงมีทั้งหลังที่ปลอดภัยและมีภัย
ทั้ง 3 ประเด็นข้างต้นจะพบว่า “บ้าน” มีความหมายหลายมิติ ขึ้นอยู่กับบริบทที่ตัวละครพบ หากพิจารณาสาเหตุว่าทำไมบ้านเป็นทั้งพื้นที่ปลอดภัยและมีภัยต่อตัวละครซึ่งกำลังเปราะบาง จะพบว่า ส่วนใหญ่เรื่องสั้นชุดนี้ดำเนินเรื่องราวผ่าน “ปมความรัก” ของตัวละครทั้งชาย-ชาย, ชาย-หญิง, เพื่อน-เพื่อน, พี่-น้อง, ครอบครัว, และการรักตัวเอง เป็นไปได้หรือไม่ว่า ความรักเป็นตัวแปรสำคัญของความเปราะบางที่จะส่งผลต่อความปลอดภัยภายในบ้านของแต่ละคน
ความรักและความเปราะบางในมุมมองทางจิตวิทยา
โรเบิร์ต อี. ซิลเวอร์แมน (2545, น.46) อธิบายทฤษฎีจิตวิทยาในด้านพัฒนาการทางสังคมของอีริคสันถึงพัฒนาการ 8 ขั้นของมนุษย์ทางด้านจิตใจและอารมณ์ในแต่ละช่วงวัย ขั้นที่ 1-5 คือช่วงอายุ 0-18 ปี เมื่อพิจารณาเรื่องสั้นชุดนี้ด้วยบริบทเนื้อหา เหตุการณ์ และการแสดงอุปนิสัยของตัวละครจะพบว่าตัวละครอาจจะอยู่ในทฤษฎีขั้นที่ 6 วัยแห่งความใกล้ชิดสนิทสนมและความรู้สึกอ้างว้างเปล่าเปลี่ยว (Intimacy vs. isolation) ช่วงวัยรุ่นที่มีความรักเพื่อสร้างครอบครัว พบผู้คนมากมาย และจำเป็นที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับผู้อื่น ขั้นที่ 7 วัยแห่งความสนใจบำรุงผู้อื่นและการใฝ่ใจหมกมุ่นแต่เรื่องของตัวเอง (Generativity vs. self-absorbtion) อธิบายถึงความต้องการช่วยเหลือผู้อื่นและในทางกลับกันบางคนรู้สึกด้อยความสามารถจนต้องสันโดษ และขั้นที่ 8 คือช่วงบั้นปลายชีวิต
ทฤษฎีขั้นที่ 6 และ 7 สะท้อนในพฤติกรรมของตัวละครจากทั้ง 3 ประเด็นอย่างชัดเจน เพราะตัวละครที่เปราะบางมักต้องการไขว่คว้าความรักเพื่อสร้างบ้านที่ปลอดภัย เช่น ตัวละครชายจากเรื่องสั้นจดหมายก่อนกลับมอสโก ความผิดหวังจากความรักเพราะความใกล้ชิดทำให้เขาต้องกลับบ้านไปหาความรักบริสุทธิ์จากสิ่งแวดล้อมที่คุ้นเคยซึ่งอาจจะเป็นครอบครัวของเขา และความต้องการช่วยเหลือผู้อื่นเพื่อยกย่องคุณค่าในตัวเอง เช่น ตัวละครพาเวลจากเรื่องสั้นหยดฝนในกรุงมอสโก เขาต้องการช่วยเหลือผู้อื่นจากร่มวิเศษ แต่สุดท้ายเขาต้องเปราะบางเสียเอง ทำให้บ้านจำเป็นต้องกลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเขา
ทฤษฎีจิตวิทยาของอีริคสันอาจเป็นข้อสนับสนุนพฤติกรรมความเปราะบางของตัวละครว่าเป็นพฤติกรรมธรรมชาติที่เกิดขึ้นได้กับจิตใจของมนุษย์ มีสาเหตุมาจากสัญชาตญาณการแสวงหาความรักเพื่อเติมเต็มจิตใจและสร้างครอบครัวซึ่งเป็นภาพแทนของบ้าน
การประกอบสร้างบ้านให้มั่นคงของตัวละครที่เคยเปราะบาง
ความรักเป็นตัวแปรสำคัญของความเปราะบาง ส่งผลให้บ้านเป็นได้ทั้งพื้นที่ปลอดภัยและมีภัย ขณะเดียวกันเรื่องสั้นชุดนี้มีตัวละครที่เข้มแข็งปรากฏในหลายเรื่อง จึงเกิดคำถามขึ้นว่า หากเปรียบบ้านเป็นจิตใจของตัวละครผู้เข้มแข็ง ตัวละครเหล่านี้มีวิธีการประกอบสร้าง “บ้าน” ของตัวเองอย่างไร
พิจารณาเรื่องสั้นปฏิสสารจากคำพูดของตัวละครเรย์ที่ว่า “ผมจะดูแลคุณได้ยังไง ถ้าผมไม่เคยเศร้ากว่าคุณ” (จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท, 2565, น.64) เรื่องสั้นเวฬากับวาฬิกา ในตัวละครวาฬิกาที่เคยเศร้า แต่ไม่คิดจะกลับไปเศร้าอีกครั้งด้วยเหตุผลที่ว่า “เวลาผมเศร้า พี่สาวผม เขาเหนื่อยเกินไป แม่ก็เหนื่อย ผมดีใจที่ผมหลุดออกมาได้” (จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท, 2565, น.126) เรื่องสั้นจดหมายจากนกในรัง ในมุมมองของตัวละครน้องชายอดีตแฟนเก่ากล่าวว่า “...มันเริ่มสานรังของมัน ครั้งนี้ผมว่าน่าจะดีกว่าเดิม รังดูแน่น ๆ มันคงมีประสบการณ์แล้วมั้ง” (จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท, 2565, น.86) สัญญะของรังนกสื่อถึงบ้านที่เคยแตกสลายและประกอบสร้างขึ้นใหม่อย่างแข็งแรงกว่าเดิม และเรื่องสั้นเราอาจพบกันเพื่อรักษาบาดแผลของอีกคน คำพูดของตัวละครผีที่ฆ่าตัวตาย “เพราะคิดว่าตัวเองกระทำความผิด” (จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท, 2565, น.190) สื่อให้เห็นว่าไม่มีใครทำร้ายเราได้เจ็บปวดเท่ากับเราทำร้ายตัวเอง
พบว่าเรื่องสั้นที่กล่าวข้างต้นตัวละครผู้เข้มแข็งได้เปิดเผยภูมิหลังของตนเองที่เคยเปราะบางเป็นข้อสนับสนุนว่า ก่อนจะเข้มแข็งได้ตัวละครเคยจมดิ่งอยู่กับความเปราะบาง สามารถใช้ทฤษฎีบุคลิกภาพของซิกมันด์ ฟรอยด์ ที่ต้องรัก จิตบรรเทา (2560, น.277) อธิบายโครงสร้างบุคลิกภาพเกี่ยวกับ Ego ไว้ว่าเป็นการแสดงพฤติกรรมที่สอดคล้องกับความเป็นจริง เป็นที่ยอมรับของสังคม และอยู่ในจิตใต้สำนึก ตัวละครผู้เข้มแข็งเมื่อถูกความรักทำให้เปราะบาง อาจมีแรงกดดันจากหน้าที่และสังคมรอบข้างจนกระตุ้นให้ Ego ทำงานเพื่อทำให้ตนเองหลุดพ้นจากความเปราะบางที่ก่อผลเสียได้
ในขณะเดียวกันเรื่องสั้นบางเรื่องสะท้อนให้เห็นถึงตัวละครที่เข้มแข็งแต่ยินยอมเป็นผู้เปราะบาง ปรากฏในเรื่องสั้นหกโมงเช้ากับหกโมงเย็น สื่อให้เห็นว่าการสูญเสียความเป็นตนเองบางอย่างไป อาจจะทำให้จิตใจสมดุลและเข้มแข็งมากขึ้น เรื่องสั้นสมิงสังวาสและเรื่องสั้นอารัณย์เห็นสิ่งที่ปรารถนาสื่อในมุมองความเปราะบางของมนุษย์ที่เข้มแข็งอาจมาในรูปแบบของเซ็กส์ เป็นการยินยอมตามอารมณ์ เรื่องสั้นเหล่านี้ตัวละครต้องการความเปราะบางเป็นภูมิคุ้มกันเพื่อประกอบสร้างบ้านหลังเดิม ในบริบทนี้คือภาพแทนของจิตใจให้เข้มแข็งกว่าเดิม ทั้งที่ตัวละครมีความเข้มแข็งอยู่แล้ว แต่ต้องการความสมดุลเพื่อให้บ้านของตนยั่งยืนและเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในบริบทของชีวิตที่ตนดำรงอยู่
หากเปรียบมนุษย์เป็นบ้านหนึ่งหลัง จิตของมนุษย์ก็คือผู้อยู่อาศัย พายุร้ายที่ทำให้บ้านพังคือความผิดหวังจากความรัก การประกอบสร้างบ้านให้มั่นคงได้ก็ต้องนำประสบการณ์จากภัยครั้งก่อนมาเสริมสร้างบ้านให้แข็งแรง มนุษย์ส่วนใหญ่ที่จิตใจเข้มแข็งมักถูกประกอบสร้างมาจากความเปราะบาง ฉะนั้นควรคิดเสียว่าความผิดหวังและความผิดพลาดจะเป็นบทเรียนให้เราสร้างบ้านที่มั่นคงได้
รวมเรื่องสั้นชุด “อาจไม่เหมาะหากเปราะบาง” เป็นวรรณกรรมที่สะท้อนให้เห็นว่ามนุษย์ในยุคปัจจุบันมีความเปราะบางมากขึ้น ความเปราะบางเกิดขึ้นจากความผิดหวัง จากความรักจากการด้อยค่าตนเอง และจากแรงกดดันทางสังคม วรรณกรรมที่เล่าเรื่องราวผ่านความรู้สึกอาจเข้าถึงได้ยาก การเปรียบเทียบเชิงสัญลักษณ์และภาพแทนโดยใช้คำว่า “บ้าน” ที่ใกล้ตัวผู้อ่านและปรากฏในเรื่องสั้นชุดนี้ ถึงแม้บางเรื่องจะไม่มีคำว่า “บ้าน” แต่ก็มีข้อความอื่นที่สื่อถึงความเป็นบ้าน จึงทำให้เห็นความรู้สึกของตัวละครได้ชัดเจนขึ้น บ้านที่มีความหมายทั้งนามธรรมและรูปธรรม บ้านคือพื้นที่ปลอดภัยและมีภัยของตัวละครที่เปราะบาง และการประกอบสร้างบ้านของตัวละครที่เข้มแข็ง แสดงให้เห็นถึงการถูกปกป้องและการเอาตัวรอดทางความรู้สึกของตัวละครผ่านสิ่งแวดล้อมรอบข้างและประสบการณ์จากความเปราะบาง จนต้องย้อนกลับมายังตัวผู้อ่าน เมื่ออ่านเรื่องสั้นชุดนี้จบเราในฐานะผู้อ่านอาจจะต้องรับบทสถาปนิกออกแบบบ้านสำหรับจิตใจของตนเองเพื่อหลีกหนีความเปราะบางโดยใช้เรื่องราวและบทเรียนของตัวละครจากรวมเรื่องสั้นชุดนี้เป็นแบบอย่างและควรตระหนักเสมอว่า “มนุษย์จะเข้มแข็งขึ้นไม่ได้เลยหากไม่เคยเปราะบาง”
เอกสารอ้างอิง
จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท. (2565). อาจไม่เหมาะหากเปราะบาง. ระหว่างบรรทัด.
ต้องรัก จิตบรรเทา. (2560). บุคลิกภาพตามทฤษฎีจิตวิเคราะห์. วารสารสังคมศาสตร์วิชาการ, 10(2), 275-285.
ราชบัณฑิตยสถาน. (2556). พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน (พิมพ์ครั้งที่ 2). ราชบัณฑิตยสถาน.
โรเบิร์ต อี. ซิลเวอร์แมน. (2545). GENERAL PSYCHOLOGY [จิตวิทยาทั่วไป] (สุปาณี สนธิรัตน
และคณะ ภาคจิตวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ผู้แปล; พิมพ์ครั้งที่ 8).
จามจุรีโปรดักท์.