2023B005

กรุ่นกลิ่นชา การเดินทาง และการเติบโต

ใน ต้นไม้/ใบหญ้า/น้ำชา/แสงแดด

เทวบุตร เทพนรินทร์

 

 

         เรื่องสั้นชุด ต้นไม้/ใบหญ้า/น้ำชา/แสงแดด เป็นหนึ่งในรวมเรื่องสั้นของ พรประทาน วงศ์วุฒิวัฒน์ นิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับรางวัลดีเด่น โครงการรางวัลยุวศิลปินไทย ประจำปี 2565 สาขาวรรณกรรม ภายในชุดประกอบด้วยเรื่องสั้นทั้งหมด 8 เรื่อง ได้แก่ ต้นไม้/ใบหญ้า/น้ำชา/แสงแดด กาเฟอีนในแก้วดินเผา ชานมไข่มุกแห่งการบอกลา มิตรภาพบนถนนแห่งหนึ่งในกรุงนิวเดลี อบอวลในเอิร์ลเกรย์ กุ้ยฮวาหงฉา หลับให้สบาย และ มหาสมุทรกว้างเกินกว่าจะข้ามไปถึง ซึ่งต่างก็มีเนื้อหาบอกเล่าถึงการเดินทางผ่านสถานที่และกาลเวลาบนถนนแห่งชีวิตหลากเส้นทาง การเผชิญความสูญเสียและความสุขสมในแต่ละช่วงวัย การพานพบ ผูกพัน พลัดพราก ของแต่ละคน ที่ได้เชื่อมร้อยกันผ่านกรุ่นไอของชานานาชนิด ด้วยกลวิธีการดำเนินเรื่องที่เรียบง่าย สบาย ๆ นำพาให้ผู้อ่านเพลิดเพลินเรื่องราวชีวิตของทุกตัวละครจวบจนอักษรตัวสุดท้าย           

         แม้ว่าในเรื่องสั้นแต่ละเรื่องนั้นจะมีการดำเนินเรื่องที่เป็นเอกเทศต่อกัน แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกเรื่องมีร่วมกันนั่นคือ “การเดินทาง” หรือ “การเคลื่อนที่” ซึ่งมีบทบาทในฐานะสิ่งที่ทำให้ตัวละครเติบโตมากขึ้น อันเป็นปัจจัยสำคัญในการคลี่คลายปมขัดแย้งหลักของเรื่อง ธนาคาร จันทิมา ได้เคยแบ่งการเคลื่อนที่ในวรรณกรรมของเสกสรรค์ ประเสริฐกุลเอาไว้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ การเคลื่อนที่ของพื้นที่ และ การหมุนของเวลา ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวสามารถปรับใช้ในเรื่องสั้นชุดนี้ของพรประทานได้อย่างน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

         การเคลื่อนที่ของพื้นที่ ตามนิยามของธนาคาร หมายถึง การเคลื่อนที่ของบุคคลหนึ่งที่กำลังเดินทางจากสถานที่หนึ่งเปลี่ยนไปสู่สถานที่หนึ่ง โดยอาจเป็นการเคลื่อนที่ของพื้นที่ที่มีความหมายนัยตรง คือ พื้นที่เชิงกายภาพ หรืออาจเป็นพื้นที่ที่ผู้เขียนใช้ความหมายเชิงโวหารเพื่อนนำเสนอการเดินทางภายในความคิดก็ได้

         การเคลื่อนที่ของพื้นที่ที่พบภายในเรื่องสั้น เรื่องแรกคือ ชานมไข่มุกแห่งการบอกลา บอกเล่าถึงเหตุการณ์ของกลุ่มเพื่อนสนิทสาว 3 คน ได้แก่ แพรว พราว และ เพลิน ที่ต้องแยกย้ายกันไปศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา โดยเฉพาะพราวและเพลินที่ศึกษาต่อที่ต่างประเทศ จึงนัดเจอกันเพื่อร่ำลา เมื่อพิจารณาลักษณะของ แพรว เธอมีนิสัยกลัวการจากลาอย่างยิ่ง จากตัวบทเธอมักร้องไห้เมื่อตัวละครในละครหรือภาพยนตร์นั้นต้องลาจากกัน บ่อยครั้งที่เธอเขียนนิยายให้ตัวละครอยู่ด้วยกัน เช่นเดียวกับการจากลาครั้งนี้ เธอเสียใจมากจนกินไม่ได้นอนไม่หลับ และมีอาการจมจ่อมอยู่กับความเศร้า แต่แม้ว่าเธอจะรู้สึกเศร้าโศกเสียใจเพียงไร ท้ายที่สุดเธอก็เริ่มทำใจได้ว่ายังมีโอกาสได้เจอกันอยู่ และ “เธอและทุกคนเชื่อว่าเวลาจะเป็นเครื่องเยียวยาจิตใจให้เอง (16)” ฉะนั้นการเดินทางของเพื่อนนั้นเป็นสิ่งที่ทำให้แพรวได้เติบโตและทำใจยอมรับได้ว่าคนเรานั้นมีพบก็ต้องมีจาก แต่ในสักวันหนึ่งจะต้องได้เจอกันอีกครั้ง และ การหมุนของเวลา จะเยียวยาเธอได้

         ในตอนท้าย เรื่องราวกลับกลายเป็นเรื่องขบขันเมื่อชานมไข่มุกของทั้งสามนั้นทำให้พวกเธออาหารเป็นพิษจนพลาดเที่ยวบิน แต่สิ่งที่น่าตั้งข้อสังเกตคือ การหักมุมดังกล่าวอาจเป็นภาพสะท้อนว่าผู้เขียนเองนั้นก็กลัวการจากลาไม่ต่างไปจากแพรว ที่เขียนนิยายให้ตัวละครอยู่ด้วยกันในตอนจบก็เป็นได้ แต่อย่างไรก็เป็นเพียงการยื้อเวลาชั่วคราวเท่านั้น ในท้ายที่สุดพราวและเพลินก็ต้องจากแพรว กระนั้นพวกเธอก็ยังคงเป็นเพื่อนกันเสมอ

         เรื่องที่สอง คือ มิตรภาพบนถนนแห่งหนึ่งในกรุงนิวเดลี ที่ตัวเอกได้พบกับสหายร่วมเดินทางในดินแดนภารตะ ตัวละคร “ฉัน” เป็นผู้หญิงสมัยใหม่ที่เดินทางท่องเที่ยวตัวคนเดียว ชื่นชอบการท่องเที่ยวแบบเฉพาะกลุ่ม (Niche) มากกว่ากระแสนิยม มีอุปนิสัยที่หากมองจากภายนอกจะดูนิ่งเงียบ ไม่สนทนาปราศรัยกับใคร แต่เมื่อเข้าไปทักทายแล้วจะพบว่าเธอเป็นคนคุยสนุกและสนิทสนมกับคนแปลกหน้าได้อย่างรวดเร็ว และถึงแม้ว่าเธอจะเป็นผู้ที่ไม่ยี่หระกับการหาคู่ครองหรือคนรัก แต่เธอก็ศรัทธาในความรักอันมั่นคงของพระเจ้าชาห์ชะฮันที่มีต่อพระนางมุมตัชผู้ล่วงลับ อันเป็นภาพสะท้อนแทนความรักของป้าของเธอที่มีต่อคนรักที่เลิกรากันไป

         การเดินทางมาอินเดียของเธอนั้นประกอบขึ้นมาจาก 2 เหตุผล ประการแรกคือเธอต้องการเดินทางทั่วอินเดียเพื่อทำตามฝันแทนป้าผู้จากไปด้วยโรคมะเร็ง เป็นการรำลึกถึงบุพการีของหลานผู้กตัญญู การตั้งเป้าหมายในการเดินทางดังกล่าวช่วยบรรเทาความเศร้าให้เธอเข้มแข็งขึ้น และหล่อหลอมอุ้มชูให้เธอเติบโตเป็นผู้ใหญ่มากยิ่งขึ้น และอีกประการหนึ่งคือเธอนั้นหลงรักอินเดียตั้งแต่เด็ก เป็นปัจจัยสำคัญที่เธอสามารถแบกรับเอาความฝันของป้ามาเป็นความฝันของตัวเองได้อย่างไม่รู้สึกฝืนใจ การเดินทางท่องเที่ยวอินเดียจึงช่วยเติมเต็มฝันวัยเด็กให้เธอ ทั้งยังทำให้เธอเติบโตในฐานะความเป็นมนุษย์ เธอได้เรียนรู้ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม และอารยธรรมที่แตกต่างไปจากบ้านเกิดเมืองนอน เธอได้เปิดรับและทำความเข้าใจวิถีชีวิตของเพื่อนมนุษย์อย่างไม่ตั้งแง่อคติ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ายกย่องอย่างที่สุดในฐานะนักท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

         การเคลื่อนที่ของพื้นที่ที่พบอีกเรื่องหนึ่งคือ มหาสมุทรกว้างเกินกว่าจะข้ามไปถึง ตัวละคร “หญิงสาว” ได้ตัดสินใจข้ามห้วงมหรรณพเชี่ยวกรากเพื่อมุ่งไปสู่เคหสถานของชายคนรัก แต่กลับจมดิ่งลงไปในก้นสมุทร กระทั่งได้รู้ว่าทั้งหมดนั้นเป็นเรื่องเกิดขึ้นในความคิดของตัวเอง ดังที่ปรากฏในตอนท้ายเรื่องว่า “เธอเมากาเฟอีนแล้ว (46)” แต่ถึงแม้จะไม่ใช่การเดินทางจริง ๆ แต่ก็นับได้ว่าตัวละครได้ออกเดินทางด้วยเช่นกัน โดยจะสังเกตได้ว่าหญิงสาวนั้นถูกชายหนุ่มตามกลับ “บ้าน” แต่เธอกลับมองว่าที่ที่เธออยู่ต่างหากคือ “บ้าน” ของเธอ เป็นไปได้ว่าทั้งสองเป็นคู่รักกัน หากแต่เธอไม่ยินยอมพร้อมใจไปยังบ้านของชายคนรัก เพราะที่นี่ก็สุขสบายดีอยู่แล้ว

         กระนั้นในท้ายที่สุดแล้วเธอก็ตัดสินใจลองออกเดินทางไปพร้อมกับเขา วินาทีที่เธอยอมก้าวออกจากพื้นที่ปลอดภัยเพื่อคนที่เธอรักนั่นเองที่นับได้ว่าเป็นการเติบโตก้าวสำคัญของเธอ การทิ้งบ้านอันอบอุ่นและเงียบสงบไปเผชิญมหาสมุทรและพายุฝนอันปั่นป่วนเลวร้ายนั้นต้องใช้ความกล้าหาญอย่างยิ่ง ฉะนั้นแล้วแม้ว่าการเดินทางครั้งนี้จะเป็นเพียงภายในห้วงความคิด ไม่ว่าในท้ายที่สุดนั้นเธอจะตัดสินใจไปกับเขาจริง ๆ หรือไม่ แต่อย่างน้อยก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเธอมีความคิดที่อยากจะออกไปพบกับ “บ้าน” จริง ๆ ของเธออยู่เช่นกัน

         การเดินทางอีกรูปแบบหนึ่งคือ การหมุนของเวลา หมายถึง ผู้เขียนใช้การหมุนเวียนเปลี่ยนผ่านของเวลาในลักษณะต่าง ๆ เพื่อเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับความทุกข์และการเดินทาง เพื่อแสดงความรู้สึกหรือความคิดที่เปลี่ยนแปลงไปตามลำดับ โดยจะเห็นได้ว่า การหมุนของเวลาในรวมเรื่องสั้นนี้นั้นมีบทบาทอย่างมากต่อการดำเนินเรื่อง และเป็นที่น่าสังเกตว่าผู้เขียนจะมีการบอกเล่าถึงการรอคอย “เวลา” อยู่ภายในเรื่องเสมออีกด้วย

         สิ่งที่เห็นได้เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของเวลา บทบาทแรกคือ เวลากับการเยียวยาสภาวะเชิงลบของตัวละคร ในหลาย ๆ เรื่องจะพบได้ว่าเวลามีส่วนช่วยให้ตัวละครข้ามพ้นจากอารมณ์หรือสภาวะเชิงลบ ได้แก่

         1. เยียวยาความเศร้าที่เกิดจากการจากลา พบได้ในเรื่อง ชานมไข่มุกแห่งการบอกลา (แพรว-พราว/เพลิน) เป็นการจากลาเพื่อน ต้นไม้/ใบหญ้า/น้ำชา/แสงแดด (ขวัญมา-คนรักเก่า) เป็นการเลิกราคู่รัก มิตรภาพบนถนนแห่งหนึ่งในกรุงนิวเดลี (ป้า-สามี) เป็นการเลิกราคู่ชีวิต หลับให้สบาย (คุณยาย-คุณตา) เป็นการจากลาคู่ชีวิต และ อบอวลในเอิร์ลเกรย์ (แม่-เอิร์ลเกรย์) เป็นการจากลาสัตว์เลี้ยง โดยแต่ละเรื่องจะพบประโยคดังว่า “ถึงเวลาที่เธอจะต้องเดินหน้า และเก็บเอิร์ลเกรย์ตัวแรกไว้เป็นความทรงจำ(29)” ดังนั้นจะเห็นว่าการเติบโตของทุกตัวละครคือการก้าวข้ามความทุกข์จากการจากลาและใช้ชีวิตต่อไปได้ โดยมีเวลาเป็นเครื่องเยียวยาหัวใจ

         2. เยียวยาความเศร้าที่เกิดจากความไม่สมหวัง พบในเรื่อง กุ้ยฮวาหงฉา ในสองตัวละคร คือ ตัวละคร “ฉัน” ที่ผิดหวังกับคะแนนสอบกลางภาค และ ชายเจ้าของร้านคาเฟ่ชาจีนผู้ผิดหวังที่ชาแดงดอกหอมหมื่นลี้ร้านเจ๊ลี่หมด โดยทั้งสองคนมีสภาวะอารมณ์ที่ดีขึ้นผ่านการใช้เวลาอยู่กับความคิดของตัวเอง ดังที่เจ๊ลี่กล่าวว่า “เหมือนชีวิตแหละ ที่มีทั้งสดใส และมืดมน แต่พอพายุร้ายผ่านพ้น บรรยากาศก็จะกลับมาดีเหมือนเดิม (34)” ในท้ายที่สุดเมื่อความเศร้าหมดไป ชายเจ้าของร้านคาเฟ่ก็เกิดประกายความคิดที่จะสร้างสรรค์เมนูชาชนิดใหม่ และเวลาได้มอบ “โอกาส” ในการเตรียมตัวสอบปลายภาคให้แก่ฉันเพื่อแก้ตัวกับคะแนนกลางภาคอีกด้วย

         3. เยียวยาความสัมพันธ์ที่แตกร้าว พบในเรื่อง กาเฟอีนในแก้วดินเผา ตัวละครแหวนพลอย ซึ่งมีลักษณะของความเป็นลูกคนกลาง (Wednesday) กล่าวคือ เธอเป็นคนรักความสงบ แต่เธอมีความดื้อเงียบและหัวแข็ง ความฝันของเธอไม่ถูกสั่นคลอนด้วยปัจจัยภายนอกเลยแม้แต่น้อย เธอได้ตัดสินใจหนีออกจากบ้านเพื่อไปทำตามความฝัน จนในท้ายที่สุดเธอและแม่ก็ได้มาพบกันอีกครั้งด้วยความช่วยเหลือของหลานสาว โดยภายในเรื่องนี้ เวลาได้ทำหน้าที่เยียวยาความสัมพันธ์ที่แตกร้าวของเธอและแม่ ผ่านหลายบริบท ดังนี้

         ประการแรก เวลาได้ทำหน้าที่ลบเลือนอคติในใจของตัวละครจนหมดสิ้น ดังที่แหวนพลอยตอบไพลินที่มาขอโทษแทนคุณยายไปว่า “ไม่โกรธอีกแล้วล่ะ (10)” และจากที่ไพลินได้กล่าวว่า “เราต้องกล้าที่จะเผชิญหน้ากับอดีตสิคะ ถึงเวลานั้นก็คงวางอดีตได้เองแหละ (12)” เป็นเครื่องตอกย้ำว่า เมื่อความขัดแย้งผ่านกาลเวลาที่นานพอจนกลายเป็น “อดีต” มนุษย์ก็มีความกล้าที่จะเผชิญหน้ากับสิ่งนั้น เช่นเดียวกับมารดาและแหวนพลอยที่แตกหักกัน นานไปความโกรธอาจกลายเป็นความโหยหา ความเจ็บปวด และความรู้สึกผิด

         ประการที่สอง เวลาได้ทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงทัศนคติของมนุษย์ด้วยประสบการณ์จากการเดินทางของชีวิต แหวนพลอยได้เติบโตขึ้นจากการความโดดเดี่ยวที่ต้องใช้ชีวิตในต่างแดน ความยากลำบากในการดำรงชีวิต ความสุขของการมีครอบครัวหลังการแต่งงาน ความทุกข์ระทมจากการสูญเสียลูกและคนรัก กระทั่งเธอได้ไปชมน้ำตกนอกเมือง น้ำตกก็อาจเป็นภาพแทนของกาลเวลา น้ำที่ร่วงหล่นลงไปไม่อาจย้อนกลับคืนสู่ที่ที่จากมาได้ ชีวิตมีแต่จะต้องไหลตามกระแสกาลไปข้างหน้า เวลาได้นำพาประสบการณ์การเป็นแม่ที่สูญเสียลูกมาให้เธอ เหตุการณ์นี้เองที่อาจทำให้ความรู้สึกผิดปรากฏขึ้นในส่วนลึกของจิตใจจนเธอเลือกกลับประเทศไทย

         และประการสุดท้าย เวลาได้ทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงค่านิยมของสังคม จากแต่เดิมที่การเรียนบัญชีเป็นค่านิยมของยุคสมัย แต่เมื่อเวลาผ่านไปแหวนพลอยสามารถเติบโตในธุรกิจร้านน้ำชาของเธอ กลายเป็น “หลักฐานความสำเร็จ” ให้มารดายอมรับว่าเธอคิดถูก และเป็นปัจจัยที่ช่วยลดอคติในใจของมารดาลง เพราะหากว่ากิจการของเธอล้มเหลว หล่อนอาจมองเธอในฐานะเด็กดื้อที่ “ไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา” ก็เป็นได้

         บทบาทหน้าที่ของเวลาในรวมเรื่องสั้นชุดนี้ นอกจากจะเป็นการเยียวยาสภาวะเชิงลบแล้ว เวลายังช่วยสานความสัมพันธ์ของบุคคลขึ้นมาด้วย ดังที่จะเห็นในเรื่อง ต้นไม้/ใบหญ้า/น้ำชา/แสงแดด ที่เวลามีส่วนช่วงสร้างความสัมพันธ์ระหว่าง “ขวัญมา” และ “นาถะ” ทั้งช่วยให้เธอลืมความเศร้าและความอาลัยต่อคนรักเก่า และนาถะเองก็ต้องรอเวลาที่เหมาะสมเพื่อจะได้เป็นคนรักของขวัญมา ดังที่เขาเคยกล่าวไว้ว่า “...เพราะว่าความรักที่ดีนั้นก็ต้องใช้เวลาเหมือนกัน บ่มเพาะจนมันออกมาสวยงามยังไงล่ะ (5)” จึงอาจกล่าวได้ว่า เวลาได้ทำหน้าที่บ่มเพราะความรักของเขาและเธอให้สุกงอม และอุ้มชูให้ทั้งคู่เติบโต เรียนรู้ และผูกพันซึ่งกันและกัน

         แต่กระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าเวลาจะ “ใจดี” ให้ทุกสิ่ง เพราะในบางครั้งเวลาก็มาพร้อมกับคำว่า “สายไปแล้ว” ได้เช่นกัน เช่นเดียวกับแหวนพลอยและพ่อที่ไม่ได้มีโอกาสได้เจอกันอีกตลอดชีวิต ดังที่ไพลินได้กล่าวเอาไว้ว่า “หนูเห็นมีตั้งหลายคนที่อยากทำอะไรแต่ไม่กล้าทำ สุดท้ายก็สายไปแล้ว (หน้า 12)”  เช่นเดียวกันกับเรื่อง หลับให้สบาย ที่เวลาทำให้คุณตาและคุณยายจากกันไปตลอดกาลโดยไม่มีโอกาสได้ร่ำลากัน เพราะคุณตา “รอไม่ไหวแล้ว (36)” ดังนั้น แม้ว่าเราจะต้องใช้ระยะเวลาทำหน้าที่ส่วนของตนเพื่อเยียวยาบาดแผลในจิตใจหรือเชื่อมผสานความสัมพันธ์กับบุคลลอื่น แต่ในขณะเดียวกันหากเราปล่อยให้เวลาผ่านไปนานเกินไป มัวแต่ลังเลและไม่ลงมือทำอะไรบางอย่าง เวลาก็อาจจะพรากสิ่งสำคัญและสร้างรอยแผลให้กับเราได้ด้วยเช่นกัน

         นอกจากประเด็นเรื่องเวลาที่ผู้เขียนได้นำเสนอแล้ว น้ำชาเองก็เป็นส่วนสำคัญเช่นกัน ชามีบทบาทในฐานะสิ่งที่ช่วยขจัดอารมณ์เชิงลบของตัวละคร ดังที่เจ๊ลี่กล่าวว่า “สำหรับเจ๊นะ การดื่มชาก็เพื่อความผ่อนคลาย (33)” ทั้งยังเป็นเครื่องผูกมิตรให้กับคนที่ไม่ได้รู้จักกันอีกด้วย โดยจุดที่น่าชื่นชมคือพรประทานได้เลือกสรรชาแต่ละชนิดมาใช้เป็นวัตถุดิบของแต่ละเรื่องได้อย่างเหมาะสมและลงตัวเป็นอย่างยิ่ง ในเรื่อง ต้นไม้/ใบหญ้า/น้ำชา/แสงแดด ผู้เขียนได้ใช้ชาไทยและทิกวนอิมมาเป็นวัตถุดิบภายในเรื่อง โดยดึงเอาลักษณะเรื่องสีของชาไทยที่มีสี

         ส้มมาล้อไปกับสีขนของแมว จึงตั้งชื่อแมวว่า ชาไทย และใช้ลักษณะเรื่องกลิ่นของชาทิกวนอิมที่คล้ายกับกล้วยไม้ นำไปสู่สัญญะของกล้วยไม้ที่สะท้อนถึงความสง่างามและการใช้เวลาบ่มเพาะความรักให้เบ่งบาน

         ในเรือง กาเฟอีนในแก้วดินเผา ผู้เขียนใช้โฮจิชะมาเป็นตัวแทนของชาญี่ปุ่น โฮจิชะเป็นชาที่ผ่านการคั่วด้วยไฟแรง มีกลิ่นหอมจากการคั่วที่เป็นเอกลักษณ์ มีรสขมและฝาด มีกาเฟอีนและแทนนินค่อนข้างน้อย เหมาะกับเด็กอย่างไพลิน ผู้สูงอายุ และผู้ป่วย และสอดคล้องไปกับเนื้อเรื่องอันขมต้นหวานปลาย ดังที่ไพลินกล่าวว่า “กาเฟอีนในแก้วดินเผา ถึงจะขมไปนิด แต่ก็หอมสดชื่น กับภาพความสุขของทุกคนตรงหน้านี่มันดีจริง ๆ (12)”

         ในเรื่อง ชานมไข่มุกแห่งการบอกลา ใช้ชานมไข่มุก (เจินจูไหน่ฉา) มาเป็นวัตถุดิบ โดยผู้เขียนได้ดึงเอาภาพลักษณ์ของชานมไข่มุกในฐานะเครื่องดื่มยอดนิยมของชาวเจเนอเรชั่นแซดออกมาใช้ เนื่องจากได้รับความนิยมอย่างมากจนเกิดคำว่า คนรุ่นชานมไข่มุก (Boba Generation) ขึ้นมา โดยเฉพาะในประเทศไทยที่มีตลาดชานมไข่มุกใหญ่เป็นอันดับ 2 ของอาเซียน มีร้านชาอยู่มากมายทั่วกรุงเทพฯ ดังนั้นเมื่อผู้เขียนใช้เมืองกรุงและเด็กมัธยมเป็นองค์ประกอบภายในเรื่อง ชานมไข่มุกจึงเป็นชาที่เหมาะสมกับเนื้อเรื่องมากกว่าชาชนิดใด ๆ

         ในเรื่อง มิตรภาพบนถนนแห่งหนึ่งในกรุงนิวเดลี ใช้มาซาล่าจายเป็นวัตถุดิบ มาซาล่าจายเป็นการัมจาย (ชาร้อน) ที่ใส่เครื่องเทศและนม มีรสเผ็ดเล็กน้อย มีภาพลักษณ์ราวเครื่องดื่มประจำชาติอินเดีย และมักพบชัยวลาห์ (ร้านชาอินเดีย) อยู่ทุกหนแห่ง ดังนั้นหากเรื่องชานมไข่มุกแห่งการบอกลาเหมาะสมกับฉากประเทศไทย จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจที่ชานมเครื่องเทศจะได้รับเลือกมาอยู่ในเรื่องสั้นที่มีฉากหลังอยู่ในอินเดียเรื่องนี้

         ในเรื่อง อบอวลในเอิร์ลเกรย์ ปรากฏชาเอิร์ลเกรย์ ดาร์จีลิ่ง และ อิ๊งลิชเบรกฟาสต์  ผู้เขียนดึงเอาสถานะของชาทั้งสามมาใช้ เพราะแม้ว่าชาเหล่านี้จะมีต้นกำเนิดในแถปทวีปเอเชีย แต่ได้รับความนิยมในสหราชอาณาจักร และมักถูกมองว่าเป็นเครื่องดื่มที่แสดงชนชั้นและความหรูหรา สอดคล้องไปกับภาพบรรยากาศภายในเรื่องที่ดูดีมีระดับ ตั้งแต่สถานที่ตกแต่งแบบตะวันตกไปจนถึงชื่อตัวละครที่เลิศหรูกว่าสุนัขทั่วไป

         ในเรื่อง กุ้ยฮวาหงฉา ปรากฏชาภายในเรื่อง 3 ชนิด ได้แก่ กุ้ยฮวาหงฉา ต้าหงเผา และ โร่วกุ้ย ทั้งสามเป็นชาอู่หลงของจีน เหมาะสมกับบรรยากาศของความเป็นจีนภายในเรื่อง ผู้เขียนได้ดึงเอารสของชาทั้งสามออกมา นั่นคือรสหวานและกลิ่นหอมละมุนที่ตกค้างอย่างลุ่มลึก ติดอยู่ที่ปลายลิ้นได้นาน เหมือนกับตัวละครในเรื่องที่ใช้เวลาน้ำชาในการอยู่กับห้วงความคิดของตนเอง ปล่อยวางความขุ่นเคืองใจและจดจ่ออยู่กับชา

         ในเรื่อง หลับให้สบาย ผู้เขียนใช้ชาคาโมมายล์มาเป็นวัตถุดิบ โดยได้ดึงเอาคุณสมบัติความเป็นชาสมุนไพรมาใช้ มีสรรพคุณช่วยให้ผ่อนคลายและช่วยเรื่องนอนไม่หลับ มีรสหอมหวานอมเปรี้ยว ดื่มง่าย เหมาะกับผู้สูงอายุเป็นอย่างยิ่ง ทั้งยังสามารถใช้คุณสมบัติดังกล่าวเล่นล้อกับชื่อเรื่อง “หลับให้สบาย” ได้อีกด้วย

         ในเรื่อง มหาสมุทรกว้างเกินจะข้ามไปถึง ผู้เขียนได้ใช้ชาปี้หลัวชุน และ หลงจิ่ง มาเป็นวัตถุดิบภายในเรื่อง ทั้งสามเป็นชาเขียวแบบจีน ในเรื่องนี้ใช้เอกลักษณ์ด้านถิ่นกำเนิดชา เนื่องจากชาทั้งสองชนิดมีถิ่นกำเนิดใกล้กับทะเลสาบ คือไท้หู และซีหู ตามลำดับ ล้อไปกับเนื้อเรื่องและชื่อเรื่องที่ตัวเองพยายามข้ามมหาสมุทร

         ดังนั้น ชาจึงเป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้เลยในรวมเรื่องสั้นชุดนี้ เพราะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เรื่องกลมกล่อมสมบูรณ์มากขึ้น และสร้างความเป็นเอกภาพของรวมเรื่องสั้นได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญที่สุดคือ การใช้ชาได้อย่างเหมาะสมลงตัวนี้เองสะท้อนว่าผู้เขียนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับชาอย่างทะลุปรุโปร่ง

 

อ้างอิง

Elizabeth Lee. (2556). คนรุ่นชาไข่มุก (Boba Generation) กับการเปลี่ยนแปลงทางอัตลักษณ์ของคนเชื้อ
       สายเอเชียในอเมริกา.
สืบค้นจาก https://www.voathai.com/a/asia-american-identity-shift-

       ss/1676180.html

Plook Magazine. (2564). ลูกคนกลางหรือ 'Wednesday Child' เป็นเด็กมีปัญหาจริงเหรอ ?. สืบค้นจาก
       http://www.plookfriends.com/blog/content/detail/89980/---

Wattanapong Jaiwat. (2565). รายงานชี้ตลาดชานมไข่มุกของไทยใหญ่เป็นอันดับ 2 ในอาเซียน เจ้าใหญ่อยู่
       กับเจ้าเล็กได้
. สืบค้นจาก https://positioningmag.com/1396605

เรืองรอง รุ่งรัศมี. (2549). รวยรินกลิ่นชา. (พิมพ์ครั้งที่ 4). กรุงเทพฯ : แพรวสำนักพิมพ์,

ณัฏฐา อุ่ยมานะชัย. (2552). ลำดับการเกิดของเด็กและการยอมรับการสื่อสารเพื่อโน้มน้าวใจ. นิเทศศาสตรมหา
         
บัณฑิต มหาวิทยาลัยกรุงเทพ.

ธนเดช กมลฉันท์. (2553). ครบเครื่องเรื่องของชา สารานุกรมชา ฉบับสมบูรณ์. กรุงเทพฯ : บลู สกาย บุ๊คส์

ธนิษฐา แดนศิลป์. (2545). เสน่หาแห่งชา. กรุงเทพฯ : อีกหนึ่งสำนักพิมพ์.

 

 

 

 

 

 

Visitors: 72,515