โครงกระดูกแม่มด สุขฆาตกรรมแห่งความรัก:

การตอบโต้ของผู้หญิงต่อการถูกกดขี่และตัดสิน

ปวริศา เต็มดวง

 

 

 

“เมื่อวานนี้คุณฆ่าฉัน และวันนี้ฉันจะฆ่าคุณ
มันเป็นอย่างนี้ได้อย่างไรคะ” (เจน จิ, 2562, น. 160)

 

          ประโยคหนึ่งจากหนังสือเรื่อง โครงกระดูกแม่มด สุขฆาตกรรมแห่งความรัก(To Love, With Death)เป็นประโยคที่สรุปเรื่องราวทั้ง 166 หน้าได้เป็นอย่างดี  เพราะนี่คือหนังสือที่บอกเล่าการโต้ตอบที่เต็มไปด้วยความโกรธแค้นของผู้ที่เคยไร้อำนาจ

          โครงกระดูกแม่มด สุขฆาตกรรมแห่งความรัก โดย เจน จิ เป็นนวนิยายที่ร้อยเรียงเรื่องราวของผู้หญิงที่ถูกกดทับในโลกของชายเป็นใหญ่ เพราะพวกเธอต่างถูกกดขี่ในความสัมพันธ์ ถูกทำร้ายร่างกายและจิตใจจากคนรัก ทั้งยังถูกสังคมภายนอกก้มมองและตัดสิน แต่เมื่อได้เข้ามายังร้านหนังสือโครงกระดูกแม่มด หญิงชราเจ้าของร้านอย่างแม่มดจะช่วยเลือกหนังสือให้กับผู้หญิงแต่ละคนที่เข้ามา ซึ่งอาจดูเหมือนเป็นความบังเอิญที่ผู้ชายในเรื่องต้องมีจุดจบตามวรรณกรรมคัดสรรของแม่มด ดังที่เธอบอกใบ้ว่า “คนเราเกิดมาแบบเดียวคือถูกคลอดออกมา แต่ตายได้หลายแบบ อ่านเยอะก็มีทางเลือกเยอะ อย่างนี้ไม่น่าสนใจกว่าหรือ” (เจน จิ, 2562, น. 3) และเมื่อก้าวออกจากร้าน พวกเธอเดินกลับออกไปสู่โลกภายนอกพร้อมกับสิ่งเดียวกัน นั่นคือพลังที่จะพลิกอำนาจให้กลับมาอยู่ในมือของผู้ถูกกระทำ

          เจน จิรังสรรค์นวนิยายเรื่องนี้ด้วยเทคนิคตามที่สำนักพิมพ์เรียกว่าคอลลาจวรรณกรรม โดยมีเส้นเรื่องหลักอยู่ที่ตัวละครนันและร้านหนังสือ แต่ละบทจะตัดไปที่เนื้อเรื่องย่อยตามตัวละครหญิงแต่ละคนที่พบเจอกับปัญหาของพวกเธอ ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงในครอบครัว การนอกใจ และการไม่ให้เกียรติคนรัก ทั้งยังมีการหยิบเอาวรรณกรรมไทยและต่างประเทศมาเป็นเครื่องเคียงผ่านมุมมองของสตรีที่ในต้นฉบับเป็นเพียงแค่พื้นหลังของเรื่องราวที่มีตัวละครหลักเป็นชาย การเล่าเรื่องในลักษณะนี้ แม้จะทำให้เห็นว่าแต่ละตัวละครผ่านประสบการณ์ไม่ว่าจะทับซ้อน ใกล้เคียง หรือแตกต่างกันเป็นคนละบาดแผล  มันกลับทำให้เราได้เห็นถึงความเจ็บปวดที่เกี่ยวโยงเรื่องราวทั้งหมดไว้ด้วยกัน ซึ่งเป็นเรื่องราวที่มีเพียงผู้หญิงเป็นเหยื่ออย่างแท้จริง

 

แม่มด: หญิงร้ายที่ไม่ยอมจำนนต่อการกดขี่

          “แม่มดคือสตรีที่ได้ทุกอย่างตามปรารถนา แม้แต่ความตาย…” (เจน จิ, 2562, น. 143)

          เบื้องหลังของหญิงชราผมสีเงินที่ใคร ๆ ต่างก็มองว่าเธอเป็นแม่มดนั้น แท้จริงแล้วเป็นเพียงผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่งชื่อมัญชุศรี  สามีแม่มดแต่งงานกับเธอที่เป็นลูกสาวเจ้าพ่อใหญ่ในจังหวัด หน้าที่การงานของเขาที่เคยเป็นตำรวจชั้นผู้น้อยก็ไต่ขึ้นมาอย่างรวดเร็ว

          เจน จิยกเอาปกรณัมกรีกเรื่องของเจสันและมีเดียมาเทียบเคียง โดยที่มีเดียเองก็เป็นแม่มดที่ใช้มนตราช่วยเหลือเจสันให้รอดจากภารกิจและได้ชื่อว่าเป็นวีรบุรุษ ไม่ว่าแม่มดในนวนิยายเรื่องนี้จะมีเวทมนตร์เหมือนมีเดียหรือไม่ หากสิ่งหนึ่งที่เธอทั้งสองมีร่วมกันนอกจากความอาภัพในโชคชะตาที่สุดท้ายก็หักโดนหลังด้วยการนอกใจ คือพวกเธอไม่ยอมนิ่งเฉยให้ถูกเอาเปรียบ มีเดียเอาคืนเจสัน ส่วนแม่มดก็ตอบโต้ด้วยการใช้สื่อมาเป็นตัวช่วยให้สามีเธออับอาย และแน่นอนว่าผู้ชายจะไม่ปล่อยให้ผู้หญิงได้มีอำนาจเหนือกว่า เขาตามหา จนแม่มดต้องหลบหนีมาสร้างร้านหนังสือโครงกระดูกแม่มดที่ริเริ่มเป็นพื้นที่ปลอดภัยของตัวเธอเองและต่อมาเป็นพื้นที่ปลอดภัยของผู้หญิงอีกมาก แม้สามีจะตามตัวเธอจนเจอและฝากกระสุนฝังร่าง ในห้วงเวลาหลังความตายแม่มดได้เตรียมแผนการเอาไว้ก่อนแล้ว เธอทิ้งท้ายปริศนาให้สามีใช้ลมหายใจสุดท้ายขบคิดว่าเขากำลังจะตายได้อย่างไร และฝากสมมติฐานไว้ให้ว่ายาพิษในร่างกายของเขามาจากที่ไหนเพื่อให้สามีลิ้มรสการถูกหักหลังเช่นเดียวกัน หากเธอตายด้วยน้ำมือเขา เขาก็ต้องตายตามด้วยน้ำมือเธอ

          เหตุผลที่มัญชุศรีกลายมาเป็น ‘แม่มด’ ในร้านโครงกระดูกแม่มดอาจตีความได้ว่า เพราะแม่มดเป็นคำเรียกที่เต็มไปด้วยความเกลียดชัง สังคมป้ายความผิดให้ผู้หญิงที่แตกต่างและออกจากขนบบทบาททางเพศเป็นแม่มดไปเสียหมด ในตอนแรกที่สามีมีชู้ มัญชุศรีนิ่งเงียบ ความสงบเสงี่ยมตามกรอบที่บอกว่าผู้หญิงควรเป็นนี้ทำให้เธอเป็นภาพแทนของเหยื่อในสังคมชายเป็นใหญ่ที่ไม่อนุญาตให้ผู้หญิงลุกขึ้นมาขัดขืนอำนาจที่ผู้ชายมี แต่เมื่อเธอเริ่มถูกหักหน้ามากขึ้นเรื่อย ๆ เธอก็ไม่ยอมทนและเริ่ม ‘ทำตัวมีปัญหา’ มัญชุศรีพลิกกลับความหมายของแม่มด การต่อกรของเธอกลายเป็นสัญลักษณ์ของการไม่ยอมจำนนต่อความเป็นพิษนี้ แม่มดทวงคืนและแสดงอำนาจของผู้หญิง ถึงมัญชุศรีจะถูกสังคมบอกว่าเธอเป็นแม่มด แต่ผู้หญิงที่เข้ามาพึ่งพิงร้านหนังสือของเธอกลับมองมาที่แม่มดในแง่ของความน่าเคารพ และแม่มดจะปลุกให้กลุ่มไร้เสียงนี้ขึ้นมามีพื้นที่ที่เธอไม่เป็นผู้ถูกกดขี่อีกต่อไป

 

ร้านโครงกระดูกแม่มด: พื้นที่ปลอดภัยของผู้หญิงเมื่อโลกภายนอกคอยจับจ้องและตัดสิน

“ผู้หญิงร้องไห้ทุกหนทุกแห่ง กลางถนน ในห้องน้ำ บันได ห้องเก็บของ นอกบ้าน ในบ้าน ในใจ…” (เจน จิ, 2562, น. 5)

          นันพบเจอเข้ากับร้านโครงกระดูกแม่มดโดยบังเอิญในวันที่เธอไม่รู้จะเลือกเดินไปในเส้นทางไหนและไม่อาจหันหน้าไปหาใครได้ เธอนั่งลงบนบันไดหน้าร้านหนังสือและเริ่มร้องไห้ จากนั้นแม่มดก็เปิดประตูออกมา ซึ่งในครั้งแรกที่พบกัน แม่มดเอ่ยปากถามว่าเธอต้องการความช่วยเหลือไหม นันตอบกลับด้วยคำถามที่ผุดขึ้นมาว่า “ทำยังไงจะฆ่าคนได้” (เจน จิ, 2562, น. 3) คำตอบของแม่มดที่แนะให้เธออ่านหนังสือก็ได้กลายเป็นการเปิดประตูเพื่อโอบรับให้นันได้ก้าวเข้ามาเติมเต็มข้อสงสัยและที่สำคัญคือเธอได้มีที่พักพิงเสียที

          แม่มดไม่ได้แปลกใจที่เห็นนันร้องไห้เพราะเธอมองว่ามันเป็นเรื่องปกติ แม้จะมองได้ว่าน้ำตาเป็นสัญลักษณ์ของความอ่อนแอซึ่งผู้หญิงมักจะถูกให้ภาพยึดโยงเข้ากับคุณลักษณะนี้ แต่ความชินชาของแม่มดไม่ได้ตอกย้ำภาพจำดังกล่าว หากกำลังบ่งบอกถึงเหตุผลของการร้องไห้ว่าผู้หญิงต้องเผชิญกับการกดทับอยู่เสมอและเกิดขึ้นได้ในทุก ๆ ที่ โดยในตอนท้ายของเรื่องได้เฉลยปมของนันที่ต้องการรู้วิธีฆ่าคน เพราะว่าเธอเคยตกหลุมรัก เธอตั้งท้อง เธอต้องทำแท้ง แต่เธอกลับโดนหักหลัง โดยทั้งหมดนี้เกิดขึ้นหลังจากที่นันเลือกทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้ได้รัก การที่คนรักของเธอปฏิเสธความรับผิดชอบ และปล่อยให้นันเผชิญกับความรู้สึกผิดบาปต่อสิ่งที่ได้กระทำลงไปเพียงคนเดียวทำให้นวนิยายเล่มนี้เป็นเหมือนภาพสะท้อนของโลกภายนอกเพราะเป็นเรื่องที่ไม่ไกลตัวเลยที่จะได้เห็นหรือได้ยินเรื่องราวเหล่านี้บ่อยครั้งในสังคมจริง  มันจึงเป็นความย้อนแย้งที่ความเจ็บปวดของผู้หญิงกลายเป็นเรื่องธรรมดาที่พบเจอได้ทั่วไป ยิ่งไปกว่านั้น เจน จิบรรยายถึงมุมมองของนันต่อการทำแท้งว่าเธอรู้สึกผิดบาป เธอแบกรับศีลธรรมของสังคมชายเป็นใหญ่มาตัดสินตัวเองว่าการท้องลูกนอกสมรสเป็นเรื่องน่าอาย ยิ่งการทำแท้งที่ถูกกล่อมเกลามาโดยตลอดยิ่งตอกย้ำให้เธอมองตัวเองเป็นผู้หญิงชั่ว สิ่งนี้เผยให้เห็นถึงความเชื่อของสังคมที่พิจารณาและตัดสินเพียงด้านขาว-ดำโดยมองว่าการทำแท้งคือการฆาตกรรม ซึ่งด้านอื่น ๆ ที่ผู้หญิงต้องแบกรับกลับถูกลบออกไปจากสมการความดีความเลวนี้ ศีลธรรมด้านเดียวฝังรากลึกลงไปถึงแก่นจิตใจของตัวละครอย่างที่นันเห็นภาพของเด็กยังคงตามหลอกหลอนอยู่ในฝัน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนในสังคมของเราที่ยังคงเดินดุ่มเข้ามาทำหน้าที่ตัดสินและตีตราผู้หญิงที่เลือกทำแท้งว่าเธอเหล่านั้นไร้มนุษยธรรม พวกเขามักจะเลือกเมินเฉยข้อเท็จจริงที่ผู้ชายก็มีส่วนรับผิดชอบต่อเรื่องนี้ ดังนั้นการที่นันถามหาวิธีฆ่าคนจึงเหมือนเป็นการปลดปล่อยตัวเธอเองจากบาปที่สังคมทำให้เธอต้องถือเอาไว้ตลอด และเดินหน้าไปอย่างสุดโต่งโดยการลงมือฆาตกรรมที่ทั้งบาปทางศาสนาและผิดทางกฎหมายเพื่อท้าทายว่าคนเหล่านั้นที่ทำเธอเจ็บปวดก็ไม่สมควรถูกทำร้ายกลับคืนบ้างด้วยวิธีที่ร้ายแรงที่สุด

          จริงที่การถามอย่างตรงไปตรงมาของนันดูน่าหวาดกลัว กระนั้นแม่มดกลับเลือกแสดงความห่วงใยแทนการด่าทอ นวนิยายเรื่องนี้ทำให้เห็นว่าแม้จะเธอไม่ได้มีประสบการณ์แบบเดียวกันกับนันแต่ก็สามารถเข้าใจและเห็นอกเห็นใจได้ในฐานะที่เป็นผู้หญิงเหมือนกัน การยื่นมือเข้ามาช่วยสนับสนุนของแม่มดทำให้เห็นถึงพลังของผู้หญิงและเป็นการรับรองว่านันจะมีพื้นที่ปลอดภัยโดยปราศจากการตัดสินคุณค่าอย่างที่พื้นที่ภายนอกคอยสอดส่องมาที่นันตลอดเวลา การถูกจับจ้องโดยสังคมเผยให้เห็นผ่านการตีความลักษณะตัวละครของนันที่สวย รูปร่างดี ถืออะไรก็ดูมีราคาแพง และ ประโยคที่ว่า “ทุกที่ที่เธอเยื้องย่างไปต้องมีคนเหลียวหลังมอง” (เจน จิ, 2562, น. 4) ยิ่งเป็นเครื่องยืนยันว่านันในฐานะผู้หญิงนอกจากที่จะต้องโดนตัดสินจากการกระทำ ยังถูกพิจารณาคุณค่าผ่านรูปกาย ดังนั้น ทั้งภายนอกและภายในจึงโดนจับจ้องตลอดเวลาผ่านมุมมองเป็นพิษอย่างมาตรฐานความงามอีกด้วย ซึ่งส่วนหนึ่งของอีกเรื่องราวในหนังสือที่ผู้หญิงสี่คนทะเลาะเพื่อแย่งผู้ชายคนเดียวกัน โดยยักษ์ ผู้หญิงที่รูปร่างใหญ่โตเหมือนผีเสื้อสมุทรพูดขึ้นมาว่า “ยังสาวยังสวยกันทั้งนั้น ไปหาผัวคนอื่นสิ ฉันมีเขาคนเดียว คนเดียวเท่านั้น” (เจน จิ, 2562, น. 116) ยักษ์ด้อยคุณค่าตัวเองว่า เธอที่รูปร่างหน้าตาแบบนี้หากจะให้ไปมีรักใหม่ก็ยิ่งยาก จะเห็นได้ว่า โอกาสในการมีคนรักก็ยังติดอยู่ในกรอบมาตรฐานความงามที่สังคมเป็นคนสร้างขึ้นมา และเพื่อให้ทั้งหมดหยุดทะเลาะกัน แม่มดจึงเริ่มอ่านกลอนบทหนึ่งจากเรื่องพระอภัยมณีที่ทำให้ทั้งสี่คนคงฉุกคิดขึ้นมาได้ว่าพวกเธอต่างมีคุณค่าในตัวทั้งสิ้นโดยไม่จำเป็นต้องมาปล่อยให้ใครวิจารณ์

          กล่าวโดยสรุป ภายในร้านโครงกระดูกแม่มดจึงเป็นเหมือนพื้นที่ปลอดที่แม่มดจะไม่ตัดสินว่าผู้หญิงแต่ละคนที่เข้ามาหาเธอเป็นคนอย่างไร ทำไปเพื่ออะไร เธอเลือกรับฟังเรื่องราวความเจ็บปวดต่าง ๆ และยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือแทน อย่างที่ตัวละครหนึ่งบรรยายร้านหนังสือแห่งนี้ “ลำเภารู้สึกเหมือนเข้ามาอยู่อีกโลกหนึ่ง ขณะที่พายุแห่งกาลเวลากระหน่ำอย่างบ้าคลั่งภายนอก แต่ในร้านนี้เวลาหยุดนิ่งอยู่กับที่” (เจน จิ, 2562, น. 14) นวนิยายเรื่องนี้ชี้ให้เห็นถึงผู้ร้ายตัวจริงอย่างสังคมที่ยังคงคอยตัดสินผู้หญิงอยู่เรื่อยมา และยังตั้งคำถามข้อสำคัญถึงเหตุที่ชายแต่ละคนของพวกเธอเหล่านี้ต้องมีจุดจบคือความตายว่าเป็นเพราะหนังสือที่แม่มดแนะนำหรือเป็นเพราะพวกเขาที่ ‘ฆ่า’ เธอก่อน

 

หลังสุขฆาตกรรม: ความรุนแรงคงอยู่หรือจบลง

          โครงกระดูกแม่มด สุขฆาตกรรมแห่งความรัก ไม่ได้เล่าต่อว่าชีวิตของผู้หญิงหลังการตายของสามีเป็นอย่างไรบ้าง ช่องว่างนี้จึงเป็นสิ่งที่เราต้องมาเติมคำตอบกันเองว่าพวกเธอหลุดพ้นจากการกดทับของสังคมปิตาธิปไตยอย่าง ความรุนแรงในครอบครัว การถูกทำให้เป็นเพียงวัตถุของผู้ชาย หรือ การถูกเอาเปรียบในความสัมพันธ์แล้วจริงหรือไม่ ดังนั้น นวนิยายเรื่องนี้จึงไม่ได้ทำหน้าที่เป็นเพียงกระจกสะท้อนภาพสังคม แต่ยังเป็นเครื่องกระตุ้นความคิดที่ทำให้เรากลับไปตั้งคำถามว่าเราจะทำอย่างไรได้บ้างที่จะรับฟังเรื่องราวของผู้หญิงโดยไม่ตัดสิน และไม่นิ่งเฉยต่อความรุนแรงที่ผู้หญิงต้องเผชิญ เพราะในสถานการณ์ที่ผู้หญิงสู้กลับ มีทั้งที่เข้มแข็งลุกขึ้นมาได้ด้วยตัวเอง ทั้งได้รับการสนับสนุนจากคนอื่น แต่ก็ยังคงมีผู้หญิงที่อยู่ในมุมมืด พวกเธอจะสามารถรวบรวมแรงขึ้นมาได้หรือไม่ หากแท้จริงแล้วสิ่งที่ต้องเปลี่ยนแปลงคือความคิดความเชื่อที่ฝังรากลึกว่าผู้หญิงนั้นด้อยกว่าผู้ชาย ในวันนี้ผู้หญิงต่อสู้ด้วยตัวของพวกเธอเอง หวังว่าในวันหน้าพวกเธอจะไม่จำเป็นต้องสู้กับอำนาจชายเป็นใหญ่ที่ไม่เป็นธรรมอีกต่อไป

 

รายการอ้างอิง

เจน จิ. (2562). โครงกระดูกแม่มด สุขฆาตกรรมแห่งความรัก. กรุงเทพฯ: แพรวสำนักพิมพ์.

 

เป็นเนื้อหาของบทความหรือสินค้าโดยละเอียด

กรุณาใส่ข้อความ …

Visitors: 85,165