บทบาท เมีย-แม่-เทพเจ้า ของ “ตุ๊กตายางเจ้าแม่”
ในศาลตะเคียนใต้ร่มโพธิ์
อัศวุธ อุปติ
“นวนิยายคัลท์แบบไทย ไซ-ไฟสายมู” เป็นคำโปรยหน้าปกนวนิยายเล่มล่าสุดของนักเขียนดับเบิ้ลรางวัลซีไรต์นาม จเด็จ กำจรเดช สร้างความประหลาดใจให้กับนักอ่านอย่างมากด้วยการเอาแนวทางวิทยาศาสตร์และเรื่องเล่าความเชื่อท้องถิ่นแบบไทย ๆ มาสังเคราะห์เป็นงานเขียนที่น่าตื่นตา ตื่นใจผ่านการผจญภัยของตัวละครและการตัดสลับระหว่างโลกอดีต ปัจจุบันและอนาคต อีกทั้งสำนวนภาษาเฉพาะตัวของจเด็จกับวิธีเล่าเรื่องแบบภาพยนตร์ที่แทรกเรื่องราวต่าง ๆ ทำให้เรื่องน่าติดตามและเกิดคำถามมากมาย
ตุ๊กตายางเจ้าแม่ เล่าถึงโลกหลังเหลือมนุษย์สายพันธุ์แท้เพียงคนเดียว สามแสน ตุ๊กตายางนำสมัยกับ ล็อตเต้ อดีตผู้เคยลักพาตัวสามแสนไปจากเพื่อนสนิท พยายามตามหามนุษย์คนนั้นที่โพสต์ภาพวิถีชีวิตแบบมนุษย์ดั้งเดิม อย่างการตั้งเตาชงกาแฟลงเฟซฮับทุกวัน เรื่องย้อนกลับไปสามร้อยปีก่อน ล็อตเต้ลักพาตัวสามแสนมาจาก เมพ เพื่อนรักของเขา กลับบ้านเกิดและเกิดเรื่องโกลาหลขึ้น ล็อตเต้พบกับพระดิ่งซึ่งเป็นเพื่อนเก่าผู้พยายามต่อสู้กับทางการให้วัดที่ตั้งอยู่บนเขานมสาวได้รับการรับรองเขตวิสุงคามสีมาตามความต้องการของพ่อผู้เป็นอดีตเจ้าอาวาส ขณะที่สามแสนถูกลักพาตัวจากวัยรุ่นสี่คนและจับพลัดจับผลูกลายเป็นเจ้าแม่ตะเคียน รัฐบาลส่งคนมาถอดชิปออกจากสามแสนซึ่งเป็นหุ่นยนต์ต้นแบบเพราะเกรงจะก่อให้เกิดอันตรายและล้างความทรงจำของชาวบ้านช่วงที่สามแสนระเบิดเขานมสาว บริษัทไฟแนนซ์ส่งคนมายึดสินค้าของเมพ ซึ่งภายหลังเฉลยว่าคือ ล็อตเต้ หุ่นยนต์ที่เมพจ้างบริษัททำขึ้นหลังจากที่ล็อตเต้ตัวจริงประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต หรือเมพที่รู้สึกว่าตนมีเสือสิงสู่ในร่างหลังจากทำพิธีกับเทพผู้เป็นภรรยาของฤๅษีที่อาศัยอยู่ในวัดพระดิ่งจนเกิดคำถามกับตนเองว่าแท้จริงแล้วตนเป็นหุ่นยนต์ด้วยหรือไม่
ความโดดเด่นของนวนิยายเรื่องนี้คือการที่ตัวละครหลักเป็นตุ๊กตายางที่ไม่ได้ทำหน้าที่ตามวัตถุประสงค์ของการเป็นตุ๊กตายางทั่วไป การพัฒนาให้ตุ๊กตายางต้นแบบมีการตอบสนองและความรู้สึกใกล้เคียงมนุษย์มากที่สุดเป็นอาวุธยุทโธปกรณ์ร้ายแรงเกินกว่าที่ทางการในเรื่องหวาดกลัว ท้ายที่สุดหุ่นยนต์เหล่านี้ครอบครองโลกและแหกกฎของหุ่นยนต์ 3 ข้อที่ไอแซค อาซิมอฟ คิดค้นไว้ ข้อสำคัญสูงสุดคือหุ่นยนต์ห้ามทำอันตรายมนุษย์ การที่สามแสนฆ่ามนุษย์คนสุดท้ายคือการลบล้างกฎที่มนุษย์สร้างขึ้นอย่างสมบูรณ์ เมื่อถึงเวลานั้น หุ่นยนต์จะมีเจตจำนงเสรีเช่นเดียวกับที่มนุษย์เคยมี และมีคำถามเดียวกันกับที่มนุษย์เคยมีเช่นกัน คือมนุษย์เกิดมาเพื่อวัตถุประสงค์อะไร ดังบทสนทนาของล็อตเต้และจิ๋มซึ่งเป็นเพื่อนเก่ากัน
“ ถ้าไม่มีมนุษย์ ถ้าปลดโซ่ตรวนออกได้หมด หุ่นยนต์จะทำอะไรนะ นั่ง ๆ นอน ๆ ไปทั้งวัน วาดรูป แต่งเพลงเหรอ ...” (น.219)
ตัวละครสามแสนจึงมิได้เพียงสร้างความตระหนักรู้ถึงภัยเทคโนโลยีดังที่นวนิยายเกี่ยวกับหุ่นยนต์ทั่วไปนำเสนอ แต่ยังสร้างคำถามเกี่ยวกับวัตถุประสงค์การมีชีวิตอยู่ของมนุษย์ในปัจจุบัน หากนอกจากประเด็นเรื่องหุ่นยนต์กับมนุษย์ในโลกอนาคตแล้ว ประเด็นเรื่องความเชื่อท้องถิ่นและเรื่องบทบาทของตุ๊กตายางที่ไม่ได้เป็นเพียงอุปกรณ์แก้กำหนัดก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจไม่แพ้กัน
ศาลตะเคียนใต้ร่มโพธิ์ : ความกลมกลืนของวิทยาศาสตร์ และความเชื่อในนวนิยายไซ-ไฟสายมู
ผู้เขียนเลือกให้ตัวละครกลับสู่บ้านเกิดเพื่อฉายภาพความเชื่อท้องถิ่นให้ชัดเจนขึ้น ที่ชัดเจนคือเรื่องความเชื่อท้องถิ่นที่ได้รับความนิยมอย่างมากในสังคมช่วงหนึ่ง ๆ มักจะกลายเป็นความเชื่อระดับชาติ และความเชื่อระดับชาตินั้น ๆ จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงความเชื่อท้องถิ่น ระหว่างทางที่ล็อตเต้กลับบ้าน เขาผ่านวัดเจดีย์และเห็นไก่แก้บนวางเรียงรายตลอดฝั่งถนน การแก้บนไอ้ไข่วัดเจดีย์ด้วยรูปปั้นไก่และจุดประทัดเป็นกระแสนิยมช่วงหนึ่งที่ทำให้การแก้บนเฉพาะถิ่นเช่นนี้กลายเป็นวิถีแก้บนระดับชาติ เมื่อล็อตเต้ผ่านศาลทวดลายและเห็นความเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่เคยถวายรูปปั้นควายชนเพราะมีความเชื่อว่าทวดลายเมื่อมีชีวิตชอบควายชน ผู้มาแก้บนจึงต้องนำรูปปั้นควายของตนมาชนกับรูปปั้นควายของทวดลาย หากแต่ปัจจุบันรอบ ๆ ศาลกลับมีแต่รูปปั้นไก่บูชา และเมื่อสามแสนกลายเป็นเจ้าแม่ ผู้คนก็เลือกของเซ่นไหว้แบบเดียวกับที่ไหว้ไอ้ไข่
“ตอนนี้ไก่เริ่มมาแล้ว เจ้าแม่ชอบไก่ชนตัวเล็ก ๆ ตั้งแต่เมื่อไรไม่รู้ แต่เริ่มมีคนนำมาวางแม้ว่าจะถูกห้ามโดยเทศบาล...” (น.241)
นอกจากความเชื่อระดับชาติที่เข้ามาเปลี่ยนความเชื่อท้องถิ่นแล้ว ศาสนายังเป็นอีกสิ่งที่เข้ามากลืนกลายความเชื่อท้องถิ่นให้เข้าไปผนวกรวม ผู้เขียนแสดงแนวคิดนี้ผ่านการที่ต้นตะเคียนถูกต้นโพธิ์รัดจนใกล้จะมองไม่เห็นต้นตะเคียนข้างใน ต้นโพธิ์ในฐานะเป็นตัวแทนการตรัสรู้ของพระศาสดากำลังจะกลืนกินความเชื่อท้องถิ่นในยุคสมัยใหม่ หากแต่การที่สามแสนซึ่งเป็นนวัตกรรมสมัยใหม่กลายเป็นเจ้าแม่ในศาลใต้ต้นตะเคียนเป็นการทวงคืนศรัทธาของท้องถิ่นให้กลับมา หรืออาจแสดงภาพความกลมกลืนกันของแนวคิดกระแสหลักและกระแสรอง กล่าวคือ ในยุคสมัยใหม่ที่วิทยาศาสตร์เป็นแนวคิดกระแสหลักในสังคม ศาสนาซึ่งได้รับรองจากวิทยาศาสตร์ว่ามีหลักการเหตุผลตรงกันจึงกลายเป็นแนวคิดกระแสหลักด้วย หากแต่ในยุคหลังสมัยใหม่กลับมาทวงถามถึงเรื่องเล่าความเชื่อซึ่งเดิมเป็นเพียงแนวคิดกระแสรองที่ยังครอบครองศรัทธาของชาวบ้านท้องถิ่นอยู่อย่างแน่นเหนียว
เช่นเดียวกับที่พระดิ่งพบแอ่งรอยเท้าบนยอดเขาซึ่งเชื่อว่าเป็น รอยพระพุทธบาท พระดิ่งต้องการใช้รอยเท้านี้เรียกศรัทธาของชาวบ้านกลับมาเพื่อป้องกันการระเบิดเขานมสาวและเพื่อให้วัดได้รับวิสุงคามสีมาตามเจตนารมณ์ของพ่อ แม้นักโบราณคดีจะมาขุดค้นและบอกว่าเป็นรอยเท้าไดโนเสาร์ แต่ชาวบ้านมิได้สนใจว่ารอยเท้านั้นจะเป็นของใคร กลับเชื่อแน่ว่าความมหัศจรรย์จากธรรมชาตินี้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์
“จากนั้นผ้าหลากสีและธูปเทียนก็มัดเต็มกระดูกหน้าแข้งไดโนเสาร์ขนาดเสาโบสถ์อันนั้น รอยเท้าทั้งหลายก็ไม่เว้น พวกเขาตักน้ำจากแอ่งรอยเท้ากลับบ้าน
ไม่ถึงสามวัน คนก็มากันมืดฟ้ามัวดิน ข่าวเจ้าพ่อนอซอรัสแพร่ไปอย่างรวดเร็ว” (น.320)
การใช้ฉากเป็นบ้านเกิดของตัวละครจึงมีนัยต้องการเตือนให้มนุษย์ในยุคที่สะดวกสบายด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีจากฝีมือและภูมิปัญญาทางวิทยาศาสตร์ ไม่ลืมอัตลักษณ์ตัวตนที่แตกต่างหลากหลายผ่านความเชื่อท้องถิ่นรูปแบบต่าง ๆ ที่ผู้เขียนจับฉ่ายใส่ไว้ในเรื่องนี้ เพื่อไม่ให้มนุษย์ถูกกลืนให้เป็นหุ่นยนต์เข้าไปทุกที เหมือนที่ต้นโพธิ์กลืนต้นตะเคียนไว้จนเป็นหนึ่งเดียวกัน
ตุ๊กตายางเจ้าแม่ : บทบาท เมีย-แม่-เทพเจ้า ของเจ้าแม่ตุ๊กตายาง
เมื่อได้ยินคำว่าตุ๊กตายาง ในหัวของเราแทบจะนึกถึงบทบาทหน้าที่ ของมันคือเป็นอุปกรณ์ทางเพศทันที หากแต่ในนวนิยายเรื่องนี้ ตุ๊กตายางกลับมีบทบาทเมียชั่วคราวของมนุษย์น้อยมาก ล็อตเต้ หรือ เมพ ซึ่งเป็นผู้ครอบครองสามแสน ไม่ได้ล่วงละเมิดร่างกายเธอเลย บทบาทความเป็นเมียของเธอกลับมีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ เช่น ล็อตเต้ใช้เรือนร่างของสามแสนแทนค่าผ่านด่านตรวจ หรือการที่ตุ๊กตายางรุ่นหลังสามแสนปฏิบัติหน้าที่ปลอบขวัญทหารในสมรภูมิ หรือที่ปลดประจำการแล้วเกิดภาวะซึมเศร้า
นอกจากวัตถุประสงค์ที่กล่าวไปแล้ว บทบาทความเป็นเมียของ สามแสนยังปรากฏเด่นชัดอีกครั้งเมื่อเธอพลีกายให้วัยรุ่นสี่คนซึ่งเป็นพาหะนำเธอไปสู่สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และการพลีกายให้กับลุงมวนในสถานที่นั้นซึ่งเขาเป็นผู้จัดแจงแต่งองค์ให้สามแสนกลายเป็นเจ้าแม่ตะเคียน การมีเพศสัมพันธ์เพื่อนำไปสู่อำนาจหรือระดับชั้นทางสังคมที่สูงกว่านี้ แสดงความเป็น ‘ของเล่น’ ของเธอเช่นเดียวกับที่มนุษย์ของเล่นของเศรษฐีเป็น ผู้เขียนได้สรุปวัตถุประสงค์การมีเพศสัมพันธ์ของสามแสนไว้ให้แล้วว่าเป็น
“การสถาปนาอำนาจของคนไร้อำนาจ การสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจ การกดขี่ทางเพศผ่านภาพแทน การข่มขืนหรือการลุแก่อำนาจของนักเผด็จการอ่อนหัด” (น.212)
เธอเป็นเจ้าแม่ในตอนกลางวัน ทำตามวัตถุประสงค์ตั้งต้นของเธอในเวลากลางคืน โดยมีวัยรุ่นทั้งสี่คนเป็นพาหะนำผู้รับบริการของเธอมาให้ การมีเพศสัมพันธ์กับตุ๊กตายางที่พัฒนาเป็นเจ้าแม่แล้วเป็นความแปลกใหม่ของผู้คน และเป็นเสมือนการเพิ่มพูนมูลค่าความเป็นเมียของเธอด้วย จากการที่เธอไม่ค่อยได้รับใช้มนุษย์ทางเพศกลายเป็นต้องรับหน้าที่เมียเจ้าแม่อยู่เสมอ จนเมื่อชาวบ้านยึดครองกรรมสิทธิ์เจ้าแม่เต็มรูปแบบเธอจึงพ้นหน้าที่นั้นไป
ความเป็นแม่ของสามแสนแสดงผ่านบทบาทการให้กำเนิดเนื่องจากสามแสนเป็นหุ่นยนต์ต้นแบบในการทดลองพัฒนาตุ๊กตายางให้ใกล้เคียงกับมนุษย์มากที่สุด อีกทั้งการที่สามแสนระเบิดเขานมสาวและก่อให้เกิดสถานที่แห่งใหม่ หากสามแสนเป็นมนุษย์ สถานที่นั้นคงมีชื่อว่าเขาสามแสนเช่นเดียวกับเขานายายสายหรือเขายายห้า หากแต่สามแสนมิใช่มนุษย์ การให้กำเนิดสถานที่รูปแบบใหม่ของสามแสนจึงไม่ได้รับการยอมรับ ความสัมพันธ์ของสามแสนกับล็อตเต้ก็เป็นไปในรูปแบบของแม่กับลูกมากกว่าบทบาทความเป็นเมีย เนื่องจากล็อตเต้ไม่เคยล่วงละเมิดร่างกายของสามแสน เขาดูแลและรู้สึกผูกพันกับสามแสนและสามแสนก็รู้สึกเช่นกัน หากพิจารณาตลอดเรื่องจะพบว่าล็อตเต้พูดถึงแต่ความทรงจำที่มีกับพ่อ แต่ไม่ปรากฏความทรงจำเกี่ยวกับแม่เลย สามแสนจึงเสมือนเป็นส่วนเติมเต็มให้แก่เขาหากแต่เติมเต็มความอบอุ่น มิใช่ความกำหนัดทางเพศ
ความเป็นเทพเจ้าของสามแสนได้รับการทำให้ศักดิ์สิทธิ์แม้จะเป็นวัตถุทางเพศเช่นเดียวกับโยนีและศิวลึงค์ หากแต่ความเป็นเทพเจ้าของเธอถูกสวมด้วยความเชื่อระดับชาติ ทั้งชื่อเจ้าแม่ตะเคียน การแต่งกายชุดไทยแบบเจ้าแม่อื่น ๆ ผิดกับการทำให้เป็นเทพของมนุษย์ โดยเฉพาะบรรพบุรุษเช่น ตาหลวงสี่ ที่ได้รับยกย่องให้นำชื่อไปตั้งเป็นชื่อสถานที่ หรือมีตำนานเรื่องเล่าเฉพาะตัวอย่างการแปลงร่างเป็นงู แม้เทพเจ้าเหล่านั้นจะมิได้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ใด ๆ ถึงจะถูกระเบิดเขาจนราบเป็นแอ่งอย่างนายายสาย ในขณะที่สามแสนแสดงอภินิหาริย์ระเบิดเขานมสาวอันเกิดจากการประดิษฐ์คิดค้นของเทคโนโลยีจนทางการต้องเปลี่ยนแปลงความทรงจำแก่ผู้คนในเหตุการณ์ให้เข้าใจว่าเป็นฝีมืออุกกาบาต ความเป็นเทพเจ้าของตุ๊กตายางจึงเสมือนถูกปฏิเสธและถูกบีบบังคับให้สวมรอยเทพเจ้าแบบมนุษย์ หรือกล่าวได้ว่าหุ่นยนต์ไม่สามารถเป็นเทพเจ้าได้เมื่อแสดงความเป็นหุ่นยนต์ เมื่อพ้นสมัยของมนุษย์ สามแสนจึงแสดงความเป็นเทพเจ้าอย่างเต็มที่คือกำหนดชะตาชีวิตของมนุษย์คนสุดท้ายได้
การเดินทางกลับสู่บ้านเกิดของล็อตเต้พร้อมกับสามแสนนอกจากจะทำให้เห็นความกลมกลืนของวิทยาศาสตร์และความเชื่อท้องถิ่นแล้ว ยังทำให้ขอบเขตบทบาทของตุ๊กตายางกว้างขึ้นจากเมียสู่การเป็นแม่และเป็นเทพเจ้าในท้ายที่สุด ความหลากหลายในบทบาทของสามแสนนี้เองที่ทำให้เธอใกล้ความเป็นมนุษย์มากขึ้นแม้จะเป็นไม่ได้สมบูรณ์แบบ เพราะชนบทมิได้ถูกครอบด้วยกรอบบทบาทหน้าที่อย่างในสังคมเมืองที่มอบหมายหน้าที่ให้มนุษย์ราวเป็นหุ่นยนต์เครื่องจักร และหากจะมองภาพกว้างกว่านั้น โลกในสามร้อยปีข้างหน้าที่มนุษย์คนสุดท้ายกลับไปใช้วิถีชีวิตแบบโฮโมเซเปียนส์ก็เป็นภาพทับซ้อนหนึ่งของการกลับบ้านเช่นกัน มนุษย์อาจจะค้นพบว่าวิถีชีวิตแบบเดิมดีที่สุด หากแต่มารู้ตัวก็เมื่อเหลือมนุษย์เพียงคนเดียวในอุ้งมือของเจ้าแม่ตุ๊กตายาง
รายการอ้างอิง
จเด็จ กำจรเดช. (2566). ตุ๊กตายางเจ้าแม่. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์เวลา.