ฝังกลบประเทศไทยในสุสานสยาม

ปทิตตา อินทร์แก้ว 

 

 

           ยินดีต้อนรับสู่สยามอลังการดินแดนที่นิยามคุณค่าของคนน้อยกว่าขยะ นิยายดิสโทเปียเล่มแรกของ ปราปต์ ผู้เขียน กาหลมหรทึก เรื่องราวความโสมมของประเทศไทย ปัญหาแทบจะทุกปัญหาได้ถูกรวบรวมไว้ในนิยายสุสานสยาม ผ่านการนำเสนอเรื่องราวแบบนิยายดิสโทเปีย ดินแดนที่ตรรกะและความหวังทุกอย่างพังพินาศ ชาวเมืองส่วนใหญ่หยิบยึดได้เพียงความสุขเฉพาะหน้าตามแต่สถานภาพแห่งตน ดินแดนที่เปรียบเทียบคนกับขยะได้อย่างไม่เคอะเขิน การแบ่งชนชั้น ปัญหาความวิปริตที่เกิดขึ้นจริงในประเทศไทยที่ไม่ว่าผ่านไปกี่ยุคกี่สมัยก็ยังคงอยู่ ไม่ถูกชะล้างหรือยกระดับให้ดีขึ้นได้

           สุสานสยาม เล่าถึงอนาคตประเทศไทยหลังสงครามแห่งมนุษยชาติ ซึ่งทำให้แผ่นดินแถบสุวรรณภูมิกลายเป็นเถ้าถ่าน ชาวไทยอพยพมาอยู่ในดินแดนของประเทศมหาอำนาจและกลายเป็นโรงงานขยะที่รับหน้าที่กำจัดขยะทั่วภูมิภาคและได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ‘สยามอลังการ’ ภายในโรงงานมีการแบ่งเขตที่อยู่อาศัยแตกต่างกันไปตามชนชั้น มีทั้งชนชั้นในกำแพงและนอกกำแพง ชนชั้นในกำแพงคือกลุ่มชนชั้นสูง กลุ่มคนรวย พวกอภิสิทธิ์ชน ชนชั้นปกครอง พวกรัฐบาล หรือที่เรียกว่าพวก ‘ฝาถัง’ คนกลุ่มนี้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่สะอาดและดี ส่วนชนชั้นนอกเขตกำแพงคือการแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า สยามอลังการเห็นประชาชนเป็นขยะ โดยถูกสังคมแบ่งออกเป็นสามประเภทที่อยู่นอกเขตกำแพง ได้แก่ ประเภทที่หนึ่งถัดจากเขตกำแพง คือ ‘ขยะทั่วไป’ ซึ่งหมายถึงกลุ่มชนชั้นที่มีการศึกษา พอมีพอกิน แต่ไม่รวยและยังคงทำงานอยู่นอกกำแพง หรือเราอาจเข้าใจได้ว่าเป็นชนชั้นกลางนั่นเอง ถัดออกมาเป็นเขต ‘ขยะรีทรายโก้’ หรือ ‘ขยะรีไซเคิล’ เป็นเหมือนชนชั้นกลางระดับล่างแต่ก็ยังไม่ถึงกับชนชั้นล่างเสียทีเดียว เป็นชนชั้นที่พอมีประโยชน์อยู่บ้าง และชนชั้นที่ต่ำที่สุดในสยามอลังการก็คือ ‘ขยะเปียก’ เป็นพวกชนชั้นล่าง เป็นคนจนที่แทบจะไม่มีโอกาสทางสังคม ไร้ประโยชน์สำหรับพวกอภิสิทธิ์ชน

           โรงงานขยะสยามอลังการยังมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการดูแลรักษาความสงบภายใน นั่นก็คือ รปภ. ซึ่งหากเปรียบในสังคมปัจจุบันก็คง จะหนีไม่พ้นพวกทหารที่คอยควบคุมสังคมให้อยู่ในระเบียบที่รัฐได้วางไว้ คนพวกนี้จะกดขี่ข่มเหงบังคับประชาชนให้อยู่ในโอวาทของตน ไม่ให้แม้สิทธิ์ที่จะออกความคิดเห็นหรือยกมือพูดแม้แต่อย่างใด อีกทั้งคนพวกนี้จะทำหน้าที่สอดส่องความประพฤติของชาวขยะและสำหรับใครที่ไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบที่วางไว้ก็จะถูกเชิญไปเรียกสติจากเครื่องดึงความทรงจำที่เอาไว้ตรวจตราบุคคลต้องสงสัยว่าจะเป็นภัยต่อโรงงาน หรือที่เรียกว่า พวกต่อต้านสังคม สยามอลังการยังมีแผนแม่บทที่ชื่อว่า ‘สยามติงสติวรรษ’ ทำหน้าที่เหมือนกับรัฐธรรมนูญในสังคมไทยปัจจุบัน เป็นเหมือนแผนแม่บทที่คอยแนะนำให้ประชาชนปฏิบัติตามคำแนะนำในการใช้ชีวิตทุกมิติของชาวสยามอลังการ และหนึ่งในคำแนะนำที่ปรากฏชัดก็คือ ภาษา ที่บังคับให้สมาชิกในโรงงานใช้ภาษาพูดภาษาเขียนแบบสุภาพ เป็นภาษาที่มีถ้อยคำและจังหวะไพเราะ และการแบ่งชนชั้นยังถูกนำมาใช้แม้กระทั่งในการใช้ภาษา ในสยามอลังการจะแบ่งภาษาออกเป็นหลายระดับ คือ ภาษาที่ใช้พูดกันทั่วไปตามปกติ ภาษาที่ใช้สื่อสารกันในกระดานไฟฟ้า หรือสื่อสารกับคนที่ต่างชนชั้นกัน ส่วนของพวกฝาถังกับชนชั้นสูงจะใช้ ‘ภาษากลอน’ ในการสนทนากับคนอื่น ตลอดเวลา อาทิ แพทย์ที่ปรากฏในเรื่อง และถ้าหากอยากแสดงความ เหนือกว่าโดยเฉพาะเวลาโกรธหรือต้องการสั่งสอนก็จะใช้ ‘โคลง’ ภาษาจึงเป็นตัวชี้วัดว่าใครอยู่ชนชั้นใด ยิ่งไปกว่านั้นภาษายังเป็นสิ่งที่คอยกำกับความคิดของคน การแบ่งระดับของภาษาที่แตกต่างกันไปตามชนชั้นจึงตอกย้ำความแตกต่างระหว่างผู้คนในสยามอลังการได้เป็นอย่างดี

           สิ่งที่ทำให้ตัวเรื่องดำเนินมาได้อย่างยืดยาวได้ถึงสี่ร้อยยี่สิบหน้าก็คงจะเป็นเรื่องที่พยายามสืบสาวที่มาและสาเหตุของ ‘โรควันเนาว์’ ที่เป็นเหมือนจุดเริ่มต้นปมขัดแย้งภายในเรื่องทั้งหมด วันเนาว์ไม่ใช่ชื่อโรคแต่เป็นชื่อของเด็กหญิงที่มีอาการประหลาด คือ กลายร่างเป็นเหมือนซอมบี้ไล่ฆ่าไล่กัดกินสมองของผู้คน แล้วตัวละครอย่างเยียรยงและยรรยงที่พยายามสืบหาที่มาของโรคประหลาดนี้จนสุดท้ายก็ได้ความว่า เรื่องทั้งหมดมันเกิดจากโรคประสาทเท่านั้น ความเครียดคือตัวกระตุ้นอาการให้คนปกติหลุดข้ามไปในเขตไม่ปกติคล้าย ๆ กับโรคซึมเศร้าที่มีจริงในประเทศไทย และการติดเชื้อก็เหมือนกับการติดเชื้อโรคโควิด-19 ที่นักเขียนอาจจะนำมาเปรียบเทียบกับโรคนี้ที่ครั้งหนึ่งเกิดระบาดในประเทศไทย นอกจากนี้สิ่งที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการดังกล่าวคือน้ำ เนื่องจากคนที่อยู่นอกกำแพงต้องดื่มน้ำที่สกปรกปนเปื้อนเชื้อโรคซึ่งเป็นเหตุที่ทำให้เกิดการติดเชื้อขึ้นและนำไปสู่อาการโรคระบาดที่สร้างความวุ่นวายและแน่นอนว่าโรคดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้นกับคนในกำแพง โรควันเนาว์กลายเป็นโรคระบาดที่สร้างความหวาดกลัวให้กับผู้คน ทุกคนที่อยู่นอกกำแพงมีชีวิตอยู่บนความเสี่ยงทั้งหมด สิ่งที่ผู้เขียนเสนอได้น่าสนใจก็คือ โรคแห่งความโกรธแค้นพวกอภิสิทธิ์ชนและสังคมที่ข่มแหงคนชนชั้นล่างที่ไม่มีที่ระบายและความโกรธแค้นดังกล่าวนั้นมาจากความไม่เท่าเทียมกับในสังคมสยามอลังการ ความโกรธที่เกิดขึ้นจากการกดหัวคนตัวเล็กตัวน้อยไม่ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี อำนาจดิบเถื่อนที่กดขี่ประชาชนนอกกำแพง ไม่เว้นแต่ละวันและยาวนาน เปรียบเสมือนกับปัญหาสังคมไทยปัจจุบันที่มีคนรวย พวกอภิสิทธิ์ชน พวกรัฐบาล เอารัดเอาเปรียบประชาชนตาดำตาขาวที่ไม่มีทางสู้ แม้กระทั่งกฎหมายก็ยังใช้กับพวกนี้ไม่ได้เพียงแค่มีเงินและอำนาจ จากผิดก็กลายเป็นถูกได้เลย เสมือนกับโรควันเนาว์ที่ไม่สามารถรักษาให้หาย พวกคดโกงก็ไม่สามารถปราบปรามให้หายจากสังคมไทยไม่ได้เหมือนกัน

 

ปัญหาที่สั่งสมเป็นสุสานของประเทศไทย

           สุสานสยามยังตีแผ่ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในสังคมไทยปัจจุบันอีกก่ายกองไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสะท้อนปัญหาทางเศรษฐกิจ เรื่องการเหยียดเพศ การเหยียดอาชีพ ปัญหาเรื่องการเรียนการสอนที่ครูมองว่าการสั่งการบ้านเยอะ ๆ จะช่วยให้เด็ก ม.6 สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ เด็กหลายคนรู้สึกว่าการซิลหรือปฏิเสธสิทธิ์ในคณะเดิมเพื่อมาสอบเข้าคณะใหม่คือรอยด่างของชีวิต แต่อันที่จริงแล้วไม่ใช่เรื่องที่ผิดหรือไม่ใช่สิ่งที่ไม่ดีเลย เพียงแต่เป็นการเลือกสิ่งที่เหมาะสมให้กับตนเองได้เรียนรู้ เมื่อเรียนรู้แล้วไม่ใช่ทางที่ตนจะดำเนินจึงต้องเปลี่ยนเส้นทางเพื่อให้ได้สิ่งที่เหมาะสมกับตนเอง ข้อนี้นักศึกษาจะรู้ดี เพียงแต่ผู้ใหญ่ไม่เข้าใจ อีกประเด็นที่สุสานสยามได้สะท้อนออกมาได้ตรงกับชีวิตจริง นั่นก็คือเรื่องการศึกษา ระบบการศึกษารอบแอดมิชชั่น รอบที่หนึ่ง ระบบที่เอื้อให้เด็กที่มีฐานะดีได้เรียนคณะและมหาวิทยาลัยที่ตนใฝ่ฝัน กลับกลายเป็นระบบที่สร้างปัญหามือใครยาวสาวได้สาวเอา เด็กที่มีฐานะสามารถรังสรรค์แฟ้มสะสมผลงานได้ตระการตา ถัดมารอบที่สอง ระยะพื้นที่ใกล้มหาวิทยาลัยก็ไม่มีหน่วยวัดตายตัว บางมหาวิทยาลัยถือว่าเด็กทุกคนอยู่ในเขตโรงงานสยามอลังการล้วนมีสิทธิ์ ทำให้การสอบรอบนี้ไม่ต่างจากรอบที่สาม และก็ยังประสบปัญหาเดียวกัน คือเด็กที่สอบได้คะแนนสูงจะถูกนำชื่อเข้าในคณะต่าง ๆ ที่เลือกไว้แล้วพร้อมกันหลายแห่ง เมื่อเลือกแห่งหนึ่งแห่งอื่น ๆ ไม่นำชื่อออกกลายเป็นการกั๊กที่ เด็กในอันดับรอง ๆ ไม่สามารถเลื่อนขึ้นมาได้ หากจะหวังกับรอบแอดมิชชั่นก็ต้องพบกับความไม่เท่าเทียมกันระหว่างโรงเรียน บางแห่งแจกคะแนนเด็ก บางแห่งให้คะแนนยากยิ่งกว่า ส่วนรอบสุดท้ายนั้นยิ่งเป็นที่ครหา ถูกจับตามองว่าการกั๊กจากรอบต่าง ๆ มีขึ้นสำหรับเด็กที่ยังหาที่เรียนไม่ได้วิ่งเต้นด้วยค่าใช้จ่ายส่วนตัวเพื่อมีที่เรียนให้ได้ในรอบนี้ ส่วนเด็กที่มีต้นทุนต่ำกลับขาดโอกาสในการได้รับสิ่งดี ๆ เพียงเพราะว่าเขานั้นไม่มีเงิน หรือแม้กระทั่งปัญหาของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในห้องเรียนที่ผู้เขียนได้หยิบยกตัวละครอย่าง เลอไถง กับ เยียรยง มาเป็นประเด็นในเรื่อง อย่างที่เยียรยงเป็นนักเรียนที่เชื่อฟังคุณครู ปฏิบัติตามกฎของครูและยังเป็นเด็กเรียนดีลำดับต้น ๆ ของห้อง ซึ่งต่างจากเลอไถงที่เป็นเด็กท้ายห้อง ชอบมีปัญหาและเกิดข้อสงสัยกับคุณครูอยู่บ่อยครั้ง เลอไถงเป็นเด็กที่มีความคิดเป็นของตัวเอง มักตั้งคำถามในสิ่งที่ไม่ต้องถูกและสิ่งที่เขาสงสัยกับคุณครู ครูนั้นมักจะเข้าข้างเยียรยงอยู่บ่อยครั้งถึงแม้ว่าบางครั้งเยียรยงจะผิดแต่ครูก็ยังเข้าข้างเธอ ซึ่งนั่นก็เพราะเยียรยงนั้นเป็นลูกรักของครูซึ่งต่างจากเลอไถง เพียงประเด็นเท่านี้ก็เป็นกระจกสะท้อนการศึกษาในประเทศได้อย่างชัดเจน เด็กที่มีความคิดเป็นของตัวเองและมักมีข้อสงสัยจะกลายเป็นเด็กที่ครูไม่ชอบและถูกหางเลขทำให้เพื่อนไม่ชอบไปอีกด้วยเหมือนกับเลอไถง ในโลกของสยามติงสติวรรษสั่งสอนให้เด็กเติบโตโดยการไม่ได้สนับสนุนให้สงสัย ผู้ใหญ่มักเรียกร้องให้เด็ก ๆ เป็นอย่างที่พวกเขานั้นอยากให้เป็น ในขณะเดียวกัน ผู้ใหญ่ก็มักตั้งคำถามว่าทำไมเด็ก ๆ ไม่มีน้ำเสียงเป็นของตัวเอง ไม่เป็นตัวของตัวเอง แล้วในที่สุดเมื่อพวกเขาได้ยิน น้ำเสียงของเด็ก ๆ พวกผู้ใหญ่ก็ไม่เห็นด้วย ต่างก็ตัดสินว่าเด็กมีความคิดต่างเป็นเด็กไม่ดี ก้าวร้าวและมีแนวโน้มเป็นพวกชังถัง นั่นก็ทำให้เห็นได้ว่าเด็กไม่สามารถออกความคิดเห็นใด ๆ ต้องอยู่ตามกฎระเบียบของสังคมที่วางไว้

           ผู้เขียนวางโครงเรื่องเกี่ยวกับความล้มเหลวของประเทศที่ถูกทับถมลงเรื่อย ๆ จนกลายเป็นขยะเน่าเฟะ กลายเป็นซากความสกปรกโสมมของประเทศ สะสมจนกลายเป็นสุสานที่ไม่สามารถกำจัดได้ ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในสังคมไทยถูกผู้เขียนนำมาถ่ายทอดผ่านสุสานอลังการอีกทั้งยังสามารถนำขยะมาเป็นเปรียบเทียบกับคนได้อย่างน่าอัศจรรย์ เป็นการวางโครงเรื่องที่ทำให้ผู้อ่านอยากค้นหาความจริงและไขข้อสงสัยกับสยามอลังการว่าสุดท้ายแล้วอำนาจจะยังอยู่เหนือความจริงอยู่หรือเปล่า

           แก่นของเรื่องในสุสานสยามมีหลายประเด็นเพราะในสุสานสยามผู้เขียนได้หยิบยกปัญหามาเขียนไว้หลากหลายประเด็น ประเด็นที่หนึ่งเรื่องการแบ่งชนชั้นระหว่างคนชนชั้นสูงกับคนชนชั้นล่าง การกดขี่ประชาชนที่ไม่มีทางสู้ ผู้ที่ไม่มีการศึกษาและไม่มีฐานะ การไม่ให้สิทธิ์ออกความคิดเห็นและออกเสียงใด ๆ ประเด็นที่สองเรื่องแม่บทสยามติงสติวรรษที่เปรียบเหมือนรัฐธรรมนูญในประเทศไทย ที่เอาไว้คอยควบคุมประชาชนให้อยู่เบื้องล่างการปกครอง ผู้ใดขัดคำสั่งหรือทำตัวเป็นปฏิปักษ์ผู้นั้นถือเป็นภัยของโรงงานสยามอลังการ ประเด็นที่สามเรื่องของการศึกษาที่ผู้เขียนพยายามสะท้อนในหลาย ๆ ประเด็นที่มีอยู่จริงในสังคมไทย ความเหลื่อมล้ำของการศึกษา การเอารัดเอาเปรียบ การขาดโอกาส การนำความคิดของคุณครูมาเป็นที่ตั้ง ประเด็นที่สี่เรื่องของโรควันเนาว์ที่เป็นตัวดำเนินเรื่องให้ยืดยาว โรคที่เปรียบเสมือนโรคซึมเศร้าหรือโควิด-19 ที่เกิดขึ้นจริงในประเด็น แต่ประเด็นที่สำคัญที่สุดคงหนีไม่พ้นประเด็นว่าที่ด้วยเรื่องปมขัดแย้งระหว่างสังคมขยะกับพวกฝาถัง ชนชั้นปกครองอภิสิทธิ์ชนในกำแพงกับสังคมขยะที่อยู่นอกกำแพง ทุกปัญหาที่เกิดขึ้นล้วนเกิดจากตรรกะของกลุ่มอภิสิทธิ์ชนที่พยายามจะยึดอำนาจด้วยการกดขี่คนนอกเขตกำแพง

           กล่าวถึงภาพรวมของตัวละครในเรื่องซึ่งมีหลายตัวละครและหลายบทบาทตามที่ผู้เขียนได้กำหนดไว้ ตัวละครต่าง ๆ ในเรื่องเป็นภาพแทนสังคมของแต่ละบุคคล เช่น ตัวละครที่เป็นพวกบ้าอำนาจอย่างขุนระเบ็ง ตัวละครที่ยืนหยัดในความคิดของตัวเองอย่างเลอไถงและสุราลัย ตัวละครที่ค้นหาความจริงอย่างเยียรยงกับยรรยง และสังคมในกำแพงที่เปรียบเหมือนพวก ชนชั้นสูงกับคนนอกกำแพงที่เปรียบเหมือนคนชนชั้นล่าง ตัวละครที่กล่าวมา ข้างถูกต้นผู้เขียนวางบทบาทให้ดำเนินเรื่องอย่างสมมติแต่อยู่บนพื้นฐานแห่งความเป็นจริงที่ไม่สามารถโต้แย้งได้ว่าในเรื่องประเทศไทยไม่เหมือนสุสานสยาม และประเทศไทยเป็นขยะเน่าเฟะที่ถูกฝังกลบโดยสังคมลงเรื่อย ๆ เป็นสุสานอีกต่างหาก

 

สุสานสยามกับแนวคิดทฤษฎีเกี่ยวกับอํานาจอธิปไตยและสังคมไทยปัจจุบัน

           อำนาจอธิปไตย หมายถึง อำนาจสูงสุดในการปกครองรัฐ ดังนั้นสิ่งอื่นใดจะมีอำนาจยิ่งกว่าหรือขัดต่ออำนาจอธิปไตยหาได้ไม่ อำนาจอธิปไตยคือ อำนาจที่แสดงความเป็นใหญ่ และเป็นอำนาจสูงสุดที่รัฐจะอยู่เหนือประชาชนของตน ดังเราจะเห็นได้ว่า รัฐเปิดให้บุคคลมีเสรีภาพในการกระทำ การใด ๆ ตามความต้องการได้ แต่รัฐก็พร้อมที่จะแสดงอำนาจหรือเข้าไปแทรกแซงการกระทำของประชาชนได้เหมือนกัน ดังเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ สะท้อนภาพแห่งความโสมมของประเทศไทยผ่านสุสานสยาม การใช้อำนาจของพวกอภิสิทธิ์ชน การขีดเส้นแบ่งระหว่างพวกในกำแพงกับพวกนอกเขตกำแพง การแบ่งชนชั้น ความเหลื่อมล้ำต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ก็เหมือนกับการสร้างรัฐธรรมนูญขึ้นมาเพื่อเอื้อประโยชน์ส่วนตน หาได้สร้างเพื่อประชาชนและความยุติธรรมไม่ หากยกภาพในสุสานอลังการมาใส่ในภาพของสังคมไทยในปัจจุบัน เนื้อเรื่องคงจะไม่มีความต่างอะไรเกิดขึ้น อย่างกับว่ามันคือเรื่องจริงที่อยู่ต่างบริบทกันเพียงเท่านั้นเอง

           การปิดเรื่องดำเนินไปถึงช่วงที่ตัวละครอย่างยรรยงพยายามที่จะค้นหาคำตอบนั่นก็คือ สุดท้ายผู้คนต่างก็ต้องยอมจำนนต่ออำนาจและเพื่อความอยู่รอดของตนเอง สิ่งที่พยายามเปลี่ยนแปลงเพื่อความถูกต้องก็สูญเปล่าเพราะสุดท้ายน้ำน้อยย่อมแพ้ไฟอยู่ดี เรื่องราวทั้งหมดที่ผู้เขียนดำเนินเรื่องไปตามปมที่ผูกไว้ต่าง ๆ มากมาย แต่การปิดเรื่องนั้นกลับสรุปและคลี่คลายภายในช่วงเดียว ไม่ได้มีการค่อย ๆ คลี่คลาย ทำให้เนื้อเรื่องไม่ค่อยมีความสมเหตุสมผลเพราะการดำเนินเรื่องและปมปัญหาภายในเรื่องดำเนินไปอย่างยืดยาวแต่บทสรุปกลับสรุปในครั้งเดียว

           “พวกนี้ทำได้ทุกอย่างเพราะมันคิดว่าถึงอยู่ไป เสียภาษีไป เงินทั้งหมด ก็เอาไปปรนเปรอคนข้างบน บ้านที่อยู่ก็เหมือนคนเช่าเขาอยู่ บ่นก็ไม่ได้ แค่อ้าปากก็ถูกจับแล้ว ฉะนั้นถ้ามีการโกงกินก็รีบโกยไว้เยอะ ๆ ดีกว่า รอเวลาจะได้ย้ายไปอยู่บ้านตัวเองจริง ๆ ซะที”  (หน้า 412)

           ข้อความข้างต้นสะท้อนให้เห็นภาพแห่งความจริงของประเทศไทยอย่างชัดเจน คนพวกนั้นสามารถทำได้ทุกอย่างเพื่อชีวิตที่สุขสบาย คนที่ต่ำต้อยดำรงชีวิตอยู่ตอนนี้ก็เหมือนอาศัยบ้านของพวกมันอยู่ ห้ามพูด ห้ามออกเสียง ห้ามออกความคิดเห็น เพียงแค่จะปริปากก็ยังผิดแล้ว ฉะนั้นจึงมีคนกล่าวว่าหากมีโอกาสที่สามารถโกงได้จงรีบกอบโกยเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น เพื่ออิสรภาพของตนเอง กล่าวได้ง่าย ๆ ว่า เงินเท่านั้นจะเบิกทางชีวิตให้กับตนเองได้

           ฝังกลบประเทศไทยไว้ในสุสานสยาม สุดท้ายแล้วคนที่ไม่มีทางสู้ก็ต้องจำนนให้กับอำนาจ เพราะคนชนชั้นล่างย่อมมีชีวิตเหมือนอยู่ในกำมือคนชั้นสูง พวกเขาพร้อมจะขย้ำเราเมื่อไรก็ได้ตามที่เขาต้องการ หรือเมื่อเราหมดประโยชน์สำหรับพวกเขา สุดท้ายแล้วเราก็คงหนีไม่พ้นความเหลื่อมล้ำ หนีไม่พ้นการถูกแบ่งชนชั้น หนีไม่พ้นการถูกเหยียด จริง ๆ แล้วการเปรียบเทียบคนกับขยะก็ไม่ใช่สิ่งที่ผิด เพราะผู้เขียนรู้ดีว่า มนุษย์ก็ย่อมถูกสังคมคัดแยกเหมือนขยะ ดังขยะรีโซเคิลที่พอจะมีประโยชน์สำหรับพวกอภิสิทธิ์ชนอยู่บ้างก็ลืมตาอ้าปากได้ แต่ถ้าหากไร้ประโยชน์เหมือนพวกขยะเปียกก็ต้องดำรงชีวิตอย่างสมถะกินแมลงสาบ กินเศษอาหารจากคนในกำแพงต่อไป เงิน การศึกษา และอำนาจเท่านั้นจะเป็นตัวช่วยพยุงให้เรามีชีวิตที่ดีขึ้น เรื่องราวที่ปรากฏในสุสานสยามก็จะยังคงเป็นภาพสะท้อนของสังคมไทยตลอดไปที่ไม่ว่าจะหยิบขึ้นมาอ่านในช่วงเวลาใด ยุคสมัยใด จะสิบปีหรือยี่สิบปีต่อจากนี้ สิ่งที่เป็นสุสานของประเทศก็จะยังคงอยู่ กลิ่นเน่าของสังคมไทยก็ยังคงจะส่งกลิ่นเน่าโชยต่อไป

 

อ้างอิง

ปราปต์. (2563). สุสานสยาม. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : แพรวสำนักพิมพ์.

Visitors: 72,502