ด้วยพระนามของพระเจ้า
เรากำลัง “กัดกิน” สิ่งใดในนามของพระองค์?:
ว่าด้วย “ศาสนา” และ “ผู้คน”
ในรวมบทกวีนิพนธ์ “
กัดกินฉันอีกสักคำสิ” ของ สันติพล ยวงใย

 

วริศ ดาราฉาย 

 

 

            ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า “ศาสนา” ไม่ได้เป็นเพียงหลักธรรมคำสอนที่มีบทบาทต่อมนุษย์ในฐานะเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจเท่านั้น ทว่าศาสนายังมีบทบาทอย่างมากในฐานะแนวทาง กรอบ และสิ่งตัดสินการกระทำและการให้คุณค่าต่อสิ่งต่าง ๆ ของมนุษย์ผ่านการกำหนดโลกทัศน์ทางศาสนาขึ้น ทั้งนี้ ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ระดับจิตใจ ทว่าในระดับการกระทำ โลกทัศน์ทางศาสนาเป็นตัวกำหนดว่า มุมมองของมนุษย์ต่อตนเอง ต่อผู้ศรัทธาร่วมศาสนา และต่อผู้อื่นในสังคมควรเป็นอย่างไร ทั้งยังกำหนดมาตรฐานเชิงคุณค่าของความดี-เลว สวยงาม-น่าเกลียด ของสิ่งหรือปรากฎการณ์ต่าง ๆ รอบตัว และยังวางแนวทางการดำเนินชีวิตในโลกไปพร้อม ๆ กับการกำหนดเขตแดนต้องห้ามที่มนุษย์ผู้ศรัทธาไม่อาจฝ่าฝืนเข้าไปได้ เช่นนั้นแล้ว ในสังคมซึ่งประกอบไปด้วยผู้คนที่มีความเชื่อทางศาสนาหลากหลาย อันนำไปสู่การเกิดขึ้นและมีอยู่ของโลกทัศน์ทางศาสนาต่างกันนี้ มนุษย์จะมีตำแหน่งแห่งที่ และจะแสดงท่าทีของตนในมิติที่เกี่ยวข้องกับศาสนาอย่างไร และสิ่งเหล่านั้นบ่งบอกอะไรเราในโลกแห่งความแตกต่างหลากหลายใบนี้กัน

            รวมบทกวีนิพนธ์เรื่อง “กัดกินฉันอีกสักคำสิ” ของสันติพล ยวงใย แสดงภาพสังคมชายแดนใต้ที่ต่างไปจากภาพจำที่เราคุ้นเคย ท่ามกลางบริบทสังคมและยุคสมัยที่ความแตกต่างอาจนำไปสู่ความแตกแยกได้ จะเห็นได้ว่า ประเด็นเรื่องศาสนาเข้ามามีบทบาทอย่างมีนัยยะสำคัญ ทั้งในโลกความเป็นจริงที่เราจดจำ และในโลกผ่านตัวหนังสือเล่มนี้ ซึ่งกวียืนยันว่าจริงเช่นเดียวกัน เช่นนั้น ทั้งในโลกที่ทับซ้อนและเป็นอิสระ ระหว่างความเป็นจริงที่เรารับรู้และความเป็นจริงในบทกวี ในมิติทางศาสนาแล้ว โลกที่กวีเอื้อนเอ่ยถึงนั้นเป็นเช่นไร เป็นโลกที่ “หอมหวนชวนลิ้มลองและน่ากัดกิน” หรือเป็นโลกโหดร้ายที่ “กำลังกัดกินตัวตนของเราอย่างน่าสยดสยอง” กันแน่ และ “ศาสนา” กระทำการใด ณ โลกใบนั้นกัน

 

ชายขอบศาสนาที่ริมขอบชายแดน: ว่าด้วย “ศาสนา” และ “ความเป็นอื่น” ของ “มุอัลลัฟ”

          ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ความโดดเด่นของรวมบทกวีนิพนธ์ เรื่อง “กัดกินฉันอีกสักคำสิ” ของสันติพล ยวงใย ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ความสามารถในการเลือกสรรคำ หรือชั้นเชิงทางภาษาและวรรณศิลป์เพียงเท่านั้น ทว่าโดดเด่นด้วยเนื้อหาที่แปลกใหม่ ซึ่งลบล้างภาพจำของสังคมที่มีต่อชายแดนใต้ ผ่านการนำเสนอภาพความเป็นจริงที่กวีได้พบเจอ ณ ที่นั่น ในฐานะบุคคลผู้อยู่ริมสุดของชายขอบ

            สันติพล ยวงใย กวีผู้สร้างสรรค์ผลงาน กล่าวเกี่ยวกับตนเองไว้ใน เสมือนคำนำ ในฐานะคนธรรมดา ๆ ที่เปลี่ยนความเชื่อทางศาสนา (มุอัลลัฟ) กวีกล่าวว่า ตนสนใจศาสนาต่าง ๆ มาตั้งแต่เด็ก เคยลองเรียนรู้ และเข้าเป็นส่วนหนึ่งของศาสนาเหล่านั้น จนในท้ายที่สุด กวีเลือกเข้ารับนับถือศาสนาอิสลาม อย่างไรก็ตาม จากการตัดสินใจดังกล่าว กวีต้องเผชิญความยากลำบากและความทุกข์ใจ ทั้งจากครอบครัวของตนซึ่งยังนับถือศาสนาเดิม คือ ศาสนาพุทธ ดังที่กวีกล่าวว่า “เป็นครั้งแรกที่แม่ไม่ยอมพูดคุยด้วยนานเป็นเดือน” (หน้า 6) และจากผู้ศรัทธาร่วมศาสนาใหม่ ซึ่งกวีเชื่อว่า พวกเขาหลายคนไม่ยอมรับกวีเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ด้วยเหตุผลเรื่องชาติกำเนิดความเป็นชาว “สยาม” และมองกวีในฐานะคนที่ “เป็นอื่น” ดังที่กวีเปรียบเทียบฐานะของตนในสังคมผู้ร่วมศาสนาเดียวกันไว้ว่า “หากอยู่ในโลกเวทมนต์ของแฮร์รี่ พอตเตอร์ ฉันคงถูกเรียกว่าพวกเลือดสีโคลนโสโครก” (หน้า 6)

            ในฐานะมุสลิมในสังคมไทยเช่นเดียวกันกับกวี ผู้วิจารณ์ตั้งข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับภาวะเป็นอยู่และตำแหน่งแห่งที่ของกวีในสังคมที่กวีถูกจำกัดให้เป็นบุคคลชายขอบ และความแตกต่างระหว่างโลกที่ผู้วิจารณ์เคยพบเห็น และโลกที่กวีนำเสนอ ว่าทั้งสองนั้นแตกต่างกันอย่างไร และความแตกต่างเหล่านั้นบอกอะไรกับเรา...หรือว่าเราจะอยู่ใกล้ชายขอบไม่เท่ากัน?

            ในทางปรัชญาศาสนา เราอาจแบ่งศาสนาต่าง ๆ ได้เป็นสามประเภท โดยอาศัยการแบ่งจากท่าทีที่มีต่อศาสนาอื่น ๆ ว่าด้วยวิธีทางญาณวิทยาในการเข้าถึงความจริงในฐานะจุดหมายของชีวิต ดังนี้ 1) แนวคิดกีดกันออก (Exclusivism) ซึ่งเชื่อว่าเฉพาะแนวทางแบบตนเท่านั้นที่นำสู่จุดหมายได้ 2) แนวคิดรวมเข้า (Inclusivism) ซึ่งเชื่อว่าแนวทางของตนนำไปสู่จุดหมายได้ดีกว่า แต่ก็ไม่ปฏิเสธแนวทางอื่น 3) แนวคิดพหุนิยม (Pluralism) ซึ่งเชื่อว่าแม้แตกต่างไปจากตนก็สามารถนำไปสู่จุดหมายได้อย่างทัดเทียม

            แน่นอนว่า ศาสนาอิสลามซึ่งทั้งกวีและผู้วิจารณ์นับถือนั้นเป็นศาสนาแบบแรก คือแบบกีดกันออก อันเนื่องมาจากว่า อิสลามยืนยันคุณค่าของแนวทางและข้อเชื่อของตน ว่าเป็นหนทางที่นำสู่จุดหมายได้เพียงทางเดียวเท่านั้น และนั่นย่อมหมายถึงการปฏิเสธแนวทางข้อเชื่ออื่น ๆ นอกจากตนว่าผิด จึงไม่ได้รับการยอมรับจากมุสลิม ความสำคัญของท่าทีทางศาสนาผ่านแนวคิดที่ผู้วิจารณ์ยกมานี้ คือ การแสดงสาเหตุที่ทำให้สภาพสังคมของมุสลิมมีกรอบที่แยกขาดจากต่างศาสนา ประกอบกับการยกย่องชะอาอิร หรืออัตลักษณ์ทางศาสนาที่ใช้เพื่อแสดงตน (เช่น การแต่งกายที่แตกต่างจากศาสนาอื่น ๆ ) นำไปสู่แนวคิดของมุสลิมบางกลุ่ม ที่เห็นว่าการที่เป็นหรือประพฤติคล้ายคลึงกับต่างศาสนา ดูจะเป็นความผิดอย่างยิ่งยวด

            สิ่งนี้ดูจะไม่ชัดเจนนักในโลกที่ผู้วิจารณ์พบเห็น แม้เราอาจเห็นตรงกันว่า มุสลิม เป็นเพียงชนกลุ่มน้อยและ “เป็นอื่น” ในสังคมไทย ทว่าในโลกของกวี ไม่เพียงความเชื่อทางศาสนาที่ส่งผลต่อท่าทีระหว่างศาสนาเป็นทุนเดิม เมื่อประกอบกับเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นบริเวณนั้น ทำให้เชื่อได้ว่าเป็นการขับเน้นให้แนวคิดดังกล่าวเข้มข้นและรุนแรงขึ้น กวีจึงตกที่นั่งลำบากในสภาพที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก และเปรียบเทียบชีวิตทางความเชื่อที่ตนตัดสินใจเลือก เป็นเพียงการถูกจำกัดในครอบแก้วเท่านั้น ดังปรากฏว่า “นรกสวรรค์ของฉันอยู่ที่นี่แล้ว หลบหนีออกจากครอบแก้วหนึ่งสำเร็จ และขังตัวเองไว้ในอีกครอบแก้วหนึ่ง” (หน้า 76) กวีชี้ให้เราเห็นว่า ชีวิตของมุอัลลัฟ (ผู้เข้ารับศาสนาใหม่) ในสังคมชายแดนใต้ ที่แนวคิดทางศาสนามีอิทธิพลให้เกิดทัศนะทางลบต่อคนต่างศาสนา มุอัลลัฟซึ่งเคยเป็น “คนอื่น” ก็ยังคงได้รับการปฏิบัติไม่ได้ต่างไปจากเดิม แม้ว่าจะเปลี่ยนสถานะมาเป็น “ผู้ร่วมศรัทธา” แล้วก็ตาม

            จะเห็นได้ว่า เมื่อมองผ่านมุมมองปรัชญาศาสนา เราจะพบว่า แนวคิดทางศาสนาก็มีอิทธิพลอย่างมากต่อท่าทีของผู้คนทั้งต่อผู้ร่วมศรัทธาและระหว่างศาสนา โดยเฉพาะเมื่อถูกขับเน้นด้วยความแตกแยกในบริเวณนั้น กวีซึ่งเป็นมุอัลลัฟ จึงได้รับการปฏิบัติในฐานะคนชายขอบสุด ณ ที่ริมขอบชายแดนอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ คำถามของเราในชั้นนี้คือ ท้ายที่สุดแล้ว ศาสนาเป็นตัวการแห่งความทุกข์เช่นนั้นหรือ? และกวีมีทัศนะเช่นไรต่อคำถามข้อสำคัญนี้กัน?

 

“พระเจ้า” หรือ “สาวก” ใครกำลังขับเคลื่อนโลกที่ถูกกัดกินใบนี้?: ว่าด้วย “ศาสนา” ของพระเจ้า  และ “ปฏิสัมพันธ์” ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน

          “หลังการอดอาหารอันยาวนาน ฉันจะกลายเป็นความเศร้า นั่นคือความสุขอันยิ่งใหญ่จากคุณ กัดกินฉันอีกสักคำสิ” (หน้า 86) ภายใต้อิทธิพลทางศาสนา กวีชี้ให้เห็นสภาพสังคมที่ตนพบเจอในฐานะสิ่งเลวร้ายที่กัดกินตัวตนของกวีจนแหลกละเอียด เมื่อมองให้ลึกลงไป กวีมีทัศนะต่อพระเจ้า ในฐานะผู้กำหนดชะตากรรมของมนุษย์ “พระเจ้าปิดล็อกความฝันของเราไว้ ซุกซ่อนอยู่ที่ไหนสักแห่ง”(หน้า 53) พร้อม ๆ กับการกำหนดให้ต้องเผชิญหน้ากับอุปสรรคที่ขัดขวางระหว่างทาง “หนูบางตัวจ้องจะขโมยกุญแจ และกองทัพของมันรอจู่โจม” (หน้า 53) อย่างไรก็ตาม เราอาจเชื่อได้ว่ากวีมีศรัทธาต่อพระเจ้าและศาสนาจริง ทว่าความทุกข์ยากที่กวีเผชิญล้วนมาจาก “ผู้ศรัทธา” คนอื่น ๆ ผ่านการใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือต่างหาก

            อิสลามส่งเสริมให้ผู้ศรัทธามีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันเสมอ หน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งของการกระทำดังกล่าวคือ “เพื่อสั่งใช้ในสิ่งที่ดี และห้ามปรามในสิ่งที่ผิด” อันเป็นหนึ่งในแนวคิดแก่นหลักของศาสนา ทว่ากวีชี้ให้เราเห็นว่า ในสังคมที่กวีเผชิญหน้าอยู่นั้น แก่นหลักนี้ถูกนำมาใช้โดยผู้ศรัทธาบางกลุ่ม เพื่อด้อยค่าคนอื่น ๆ ไปพร้อม ๆ กับยอยกตัวเองขึ้น จะเห็นได้จากกรณีของการทบทวนบาป ซึ่งศาสนาสั่งใช้ให้เรา (ในระดับปัจเจก) ทบทวนการกระทำของเรา และสารภาพผิดต่อพระองค์ ทว่ากวีแสดงภาพของผู้ศรัทธาที่กำลังทบทวนบาปของตนโดยการเทียบวัดกับบาปของคนอื่น ๆ เพื่อ “ปกปิดบาปของเราเอาไว้ให้มิดชิด เปิดเปลือยของคนอื่นให้ล่อนจ้อน...เผื่อเราจะลืม เผื่อคนอื่นจะไม่จดจำ” (หน้า 17) เป็นการสร้างความชอบธรรมผ่านความเชื่อว่าตน “ดีกว่า” และยังมีคน “เลว” กว่าตน การใช้การทำผิดของคนอื่นเป็นเครื่องลดทอนความรู้สึกผิดบาปของตน และการปกปิดบาปของตนไว้ นับเป็นสิ่งที่กวีกล่าวถึงเกี่ยวกับผู้คนร่วมศรัทธามากที่สุด ในขณะที่ผู้ศรัทธากล่าวว่า “ทุกคนคือพี่น้องกัน” ทว่าสิ่งที่แฝงอยู่ในการกระทำไม่อาจทำให้กวีเชื่อเช่นนั้น และหันกลับมาตั้งคำถามกับวาทกรรมนี้ว่า ท้ายที่สุดแล้ว คำว่า “พี่น้องกัน” นั้น หมายรวมใครเอาไว้บ้าง และกวี ผู้ซึ่ง “ไม่มีบรรพบุรุษรอฉันอยู่กุโบร์ (หมายถึงหลุมศพ -ผู้วิจารณ์) พวกเขากลายเป็นเถ้าถ่านอยู่ในโกศเก็บอัฐิ” (หน้า 85) นั้น นับเป็นส่วนหนึ่งของวาทกรรมนี้จริง ๆ หรือไม่ และวาทกรรมดังกล่าวทำหน้าที่ของตน เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้ศรัทธา อยู่จริง ๆ หรือไม่ เพราะเมื่อใดที่สังคมพบ “สิ่งแปลกปลอม” พวกเขาก็จะ “ถือคัมภีร์กันมาคนละเล่ม คัมภีร์ที่ลับขอบจนแหลมคม เล็งให้ตรงหัวแล้ว
เขวี้ยงออกไปให้สุดแรง!” (หน้า 31)

            กวีไม่เพียงแสดงภาพการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ศรัทธากับผู้ศรัทธาชายขอบเท่านั้น ทว่ากวียังแสดงให้เราเห็นบทบาทของการปฏิสัมพันธ์ระหว่างสังคมผู้ศรัทธาเหล่านั้นกับโลกภายนอก ผ่านวิธีการเลี้ยงดูและปลูกฝังลูกหลาน “ใครสักคนป้อนคำสั่งลงไป จงเกลียดจงชัง คำสั่งถูกประมวลผล แปรเป็นความรุนแรง” (หน้า 55) “เคลื่อนขบวนเด็กๆของเราเข้าไป สู่ทิวทัศน์หัวใจอันหม่นพร่า ชงความชังให้ดื่มกินจนชินชา ด้วยหยาดเลือดและน้ำตาอย่างน่าละอาย”(หน้า 57)

            จะเห็นได้ว่า สังคมที่กวีแสดงให้เราเห็นผ่านบทกวี แม้ว่ามีศาสนาเป็นรากฐาน ทว่าผู้ศรัทธาต่างหาก ที่เป็นผู้ขับเคลื่อนสังคมผ่านการใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือในการดำรงตนอยู่ และมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน ตามที่กวีได้แสดงให้เห็นความทุกข์ยากและภยันตรายจากการศรัทธาที่ผิดไปจากแนวทางอันถูกควร จะพบว่า ผู้ศรัทธาหลายคนมองข้ามความทุกข์และความอธรรมของคนอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นจากตน ขณะกำลังเลือกใช้ความเชื่อทางศาสนามายืนยันความเป็น “คนดี” และสร้างความชอบธรรมแก่ตนเอง กวีแสดงให้เราเชื่อว่า พวกเขา “มิได้กำเนิดจากความคับแค้น จากสัญชาตญาณสัตว์ป่าก็มิใช่”(หน้า 55) ทว่าพวกเขาเป็น “ปิศาจเท่านั้นที่ทำได้ ชัยฏอน ซาตาน มารร้าย จะเรียกว่าอะไรก็ช่าง” (หน้า 55)

 

“เสือ” “แกะ” “แพะ” “ปลาทอง” นานาสรรพสัตว์: ว่าด้วยตัวตนที่แท้จริงของผู้คนในโลกของกวี

          ภายใต้อิทธิพลอย่างมีนัยยะสำคัญของความเชื่อต่อสังคมที่เราดำรงอยู่ กวีไม่เพียงชี้ให้เราเห็นว่าศาสนามีอิทธิพลต่อผู้คน และนำไปสู่การปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนอย่างไร สิ่งเหล่านี้ย่อมประจักษ์ชัดในบทกวี ทว่าเราจะเข้าถึงมุมมองของกวีในมิติเกี่ยวกับตัวตนของผู้คนเหล่านั้นได้อีกหรือไม่? ผู้วิจารณ์เห็นว่า การทำความเข้าใจสัญลักษณ์บางประการที่กวีเลือก จะช่วยให้เราเข้าใจตำแหน่งแห่งที่ของผู้คนต่าง ๆ ตามทัศนะของกวี และในขณะเดียวกัน ก็อาจทำให้เราเข้าใจตัวตนและตำแหน่งของกวีในโลกใบนั้นได้อีกด้วย

            กวีเสนอมุมมองใหม่เกี่ยวกับ “เหยื่อ” และ “ผู้ล่า” ในขณะที่ภาพจำของเรายืนยันการตกเป็นเหยื่อของชาวมลายูชายแดนใต้ ในฐานะของ “แกะ” และ “แพะ” เสมอมา ในขณะที่ทหารถูกมองเป็น “เสือ” ที่อำพรางตนและคอยฉกฉวยผลประโยชน์ท่ามกลางไฟที่ครุกรุ่น กวีเสนอว่าผู้ที่เราเชื่อว่าเป็นเหยื่อ ก็อาจกลับกลายเป็นผู้ล่าได้ กล่าวคือ “แพะ” และ “แกะ” อาจกลายเป็นเสือได้อย่างแนบเนียน ภายใต้ภาพลักษณ์ที่ยังคงแลดูน่าสงสารและไม่มีพิษภัย ในขณะที่ “เสือ” ตัวเดิม อาจสิ้นเล็บสิ้นลาย และอาจกลายเป็น “แกะ” ผู้ถูกกัดด้วยเขี้ยวคมอย่างไร้ทางสู้ หรืออาจเป็น “แพะ” ที่ถูกกัดกินและป้ายสีความผิดให้ กระทั่งในท้ายที่สุดแล้ว “ต่างตกเป็นเหยื่อกันถ้วนหน้า ทั้งผู้ล่าและลูกแกะ และคนอื่น ๆ ที่หลงเชื่อลูกแกะ!”

            กระนั้นแล้ว เราอาจตั้งขอสงสัยได้ว่า ตัวตนของกวีในโลกใบนี้คือสัตว์ตัวใดกัน? ผู้วิจารณ์พบว่า กวียกสัญลักษณ์ “ปลาทอง” ขึ้นแทนตนเอง คำถามสำคัญของเราต่อไปคือ “ปลาทอง” นี้สำคัญอย่างไร?

          ในบท “กอบเก็บร่างกายประกอบใหม่ในทุกเช้า” กวีแสดงให้เราเห็นท่าทีของเหล่าผู้ศรัทธาแต่กำเนิดปฏิบัติต่อมุอัลลัฟที่ปฏิบัติศาสนกิจได้ดีและครบถ้วนกว่าตน ดังในกรณีที่ยกมา คือการไปละหมาดยามรุ่งสางเมื่อได้ยินเสียงอาซาน (เสียงเรียกไปสู่การละหมาด) ดังขึ้น เมื่อชาวมุอัลลัฟอย่างกวีลุกขึ้นไปละหมาด ในขณะที่ผู้ศรัทธาเดิมกำลังนอนหลับ จึงเป็นการกระทำที่ท้าทายภาพลักษณ์ของผู้ศรัทธาเดิมอย่างมาก เช่นนั้นแล้ว จึงไม่แปลกเลย หากผู้ศรัทธาเดิมเหล่านั้นจะกลายเป็น “เสือ” และกวีจะตกเป็น “แกะ” ทว่ากวีซึ่งถูกกระทำในฐานะ “แกะ” และ “เหยื่อ” ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ในท้ายที่สุดเลือกที่จะ “ฉันข่มตาหลับใหล และพยายามกลายร่างเป็นปลาทอง”(หน้า 66) ความพยายามที่จะกลายเป็นปลาทอง คือความพยายามที่จะ “หลงลืม” หรือในอีกมิติหนึ่งคือ “การไม่รู้” ตามลักษณะที่เราเชื่อกันว่าปลาทองมีความทรงจำอันแสนสั้น เราอาจขบคิดกันกันต่อไปได้ว่า ในเมื่อการได้ยิน และรับรู้ คือหนทางสู่ความเจ็บปวด เช่นนั้นเราจะผิดหรือ? หากจะหลงลืม และไม่รู้ ในเมื่อ “ไม่มีความผิด สำหรับคนไม่รู้และหลงลืม”  เช่นเดียวกับที่กวีเปรียบกองทัพกับ “ฝูงปลาทอง” คือ หลงลืมหรือขาดการตระหนักรู้บางอย่าง ทว่าความแตกต่างระหว่างปลาทองอย่างกวี กับกองทัพปลาทองอยู่ที่ใดกัน? บางทีอาจด้วยวัตถุประสงค์ที่แตกต่าง ในเมื่อคนหนึ่ง “เป็น” เพื่อหนีจากการถูกทำร้าย ในขณะที่อีกฝ่าย “เป็น” เพื่อสร้างความชอบทำในการทำร้ายผู้คน หรือบางทีอาจเป็นผลของการกระทำที่สะท้อนกลับมา หรืออาจเป็นที่ว่า เราจะมองปลาทองเหล่านี้จากมุมใด ก็ในเมื่อ “แพะ” “แกะ” ยังกลายเป็นเสือได้ ทำไมปลาทองจะกลายเป็น “เสือ” บ้างไม่ได้เล่า?

            ในท้ายที่สุดนี้ เราได้ “อ่าน” “ตั้งคำถาม” และ “ค้นพบ” บางสิ่งในบทกวีเราเห็นโลกที่ศาสนาหลอมรวมผู้คนเป็นหนึ่ง ไปพร้อม ๆ กับแบ่งแยกผู้คนออกเป็นกลุ่ม ๆ ด้วยฝีมือของผู้คนเหล่านั้นที่มีศาสนาเป็นเครื่องไม้เครื่องมือสำคัญ ผ่านวรรณศิลป์จากปลายปากกาของกวีผู้ยืนยันความเป็นตัวตนในโลกที่กำลังกัดกินตัวของเขา เราในฐานะผู้อ่าน คงต้องหันกลับมาตั้งข้อสงสัยกันเสียแล้วว่า ระหว่างโลกที่ทับซ้อนของกวีและตัวเรา ในโลกที่เราอาศัยอยู่ ณ ขณะนี้ เรากำลังกัดกิน หรือกำลังถูกกัดกินกันแน่?

 

การอ้างอิง

เฉลิมวุฒิ วิจิตร. (ม.ป.ป.). บทวิเคราะห์เรื่องเล่าเกี่ยวกับศาสนาอื่นในพระไตรปิฎก: มโนทัศน์เรื่องพระเจ้ากับแนวคิด
         พุทธธรรมพหุนิยม.

สันติพล ยวงใย. (2565). กัดกินฉันอีกสักคำสิ. กรุงเทพฯ: ผจญภัยสำนักพิมพ์.

 

Visitors: 81,117