2023C001

เกิดในฤดูหนาวที่แดดส่องถึง

และความเป็นหญิงที่แดดไม่เคยส่องถึงในสังคมไทย

กิตติศักดิ์ คงคา 

 

 

 

           ผม (ผู้เขียนบทวิจารณ์ฉบับนี้) มีความสงสัยมาตลอดระยะเวลาการท่องเที่ยวในบรรณพิภพไทยว่า เหตุใดนักเขียนเพศหญิงจึงมักจะถูกเรียกว่า “นักเขียนหญิง” ในขณะที่ผมไม่ค่อยจะได้ยินคำว่า “นักเขียนชาย” ในแวดวงวรรณกรรมนัก ทำไมความเป็นเพศจึงถูกย้ำให้โดดเด่นขึ้นมา ทั้งที่การเขียนหนังสือดูไม่ใช่อาชีพที่จะต้องถูกแบ่งแยกด้วยลักษณะทางเพศแต่อย่างใด ผมเลือกหยิบหนังสือเล่มหนึ่งขึ้นมาอ่านเพื่อค้นหาคำตอบที่ไม่เคยมีใครตอบผมมาก่อนนี้ และผมเลือกหยิบ ...เกิดในฤดูหนาวที่แดดส่องถึง

            “เกิดในฤดูหนาวที่แดดส่องถึง” เป็นผลงานนวนิยายของ “นทธี ศศิวิมล” ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ๒๕๖๒ โดยสำนักพิมพ์ขึ้นหนึ่งค่ำ ก่อนจะได้รับการนำมาตีพิมพ์อีกครั้งโดยแพรวสำนักพิมพ์ นวนิยายเรื่องนี้ผ่านเข้ารอบสุดท้ายรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (S.E.A. WRITE) ในปี ๒๕๖๕ โดยได้รับความเห็นจากคณะกรรมการว่า... คุณค่าของนวนิยายเล่มนี้จึงอยู่ที่ภาษาในการนำเสนอที่ทำให้เราเห็นภาพ รับรู้ และมีอารมณ์ร่วมไปกับตัวละคร จนต้องย้อนกลับไปสู่ความทรงจำของตนเอง...

            หากจะให้นิยามหนังสือเล่มนี้ให้สั้นและกระชับที่สุด ผมคงต้องพูดว่าเกิดในฤดูหนาวที่แดดส่องถึงเป็นนวนิยายที่เล่าเรื่องประสบการณ์ชีวิตเรียบง่ายผ่านกลวิธีที่แสนแยบยลและงดงาม หนังสือแบ่งเรื่องเล่าออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกเล่าผ่านน้ำเสียงที่เรียกสรรพนามแทนตัวเองว่า “ฉัน” เรียงลำดับเวลาย้อนถอยหลังจากช่วงปี ๒๕๕๔ ไปจนถึงตั้งแต่ก่อนที่ผู้เล่าจะเกิด ส่วนอีกเส้นเรื่องเล่าผ่านมุมมองของผู้หญิงสามคน ได้แก่ ศิรา ปรารถนา และเหมือนวาด เรียงลำดับเวลาไล่จากอดีตไปถึงอนาคต

            แม้นักเขียนจะไม่ได้บอกนักอ่านอย่างตรงไปตรงมานักว่าฉันคือตัวนักเขียนเอง แต่จากเรื่องเล่าของฉันที่พูดถึงลูกจนเชื่อมต่อไปจนถึงงานเขียนของตนที่ว่า... ช่วงเวลานั้นเอง เรื่องสั้น “เต้นรำไปบนท่อนแขนอ่อนนุ่ม” ได้เริ่มกำเนิดขึ้น (เกิดในฤดูหนาวที่แดดส่องถึง หน้า ๔๔) นั่นก็แสดงว่าเรื่องราวของฉันเป็นงานเขียนเชิงบันทึกที่ถ่ายทอดเหตุการณ์มาจากชีวิตจริงของผู้เขียน ต่างจากเนื้อหาอีกส่วนของผู้หญิงสามคนที่แม้ว่าเรื่องเล่าบางส่วนจะละม้ายคล้ายกับเรื่องของฉัน แต่ก็เป็นเรื่องแต่งอย่างชัดเจน

            นักเขียนจงใจที่จะเล่าเรื่องสลับไปสลับมาระหว่างเรื่องจริงและเรื่องแต่งโดยไม่อธิบายเหตุผลหรือความเชื่อมโยงอื่นใด นั่นทำให้ช่วงแรกของการอ่านถือเป็นประสบการณ์ที่แสนแปลกประหลาด จับต้นชนปลายไม่ได้ แต่เมื่อผ่านไปได้ระยะหนึ่ง ผู้อ่านจะเริ่มจับความเชื่อมโยงบางอย่างได้ระหว่างเนื้อหาสองส่วนที่เหมือนจะไม่เกี่ยวข้องกันเลย แท้จริงแล้วฉันกับผู้หญิงอีกสามคนแทบจะแยกออกจากกันไม่ได้ เพราะต่างฝ่ายต่างเป็นภาพสะท้อนซึ่งกันและกัน

            ศิรา ปรารถนา และเหมือนวาด คือ “ตัวตนภายใน” ของฉันหรืออีกนัยหนึ่งก็คือนักเขียนเอง ถึงแม้ว่านวนิยายจะไม่บอกเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา แต่ความสัมพันธ์เชื่อมโยงในเรื่องก็ทำให้ตีความไปได้ในทิศทางเดียว โดยเฉพาะประสบการณ์ในอดีตของฉันที่ค่อย ๆ เปิดเปลือยออกมาตามเวลาที่ย้อนถอยหลังไปเรื่อย ๆ มีความสัมพันธ์กับตัวตนของผู้หญิงทั้งสามคนในเรื่อง โดยปมในอดีตของฉันกลายมาเป็นตัวตนของศิรา ปรารถนา และเหมือนวาด ในแต่ละแง่มุมของความเป็นสตรี

            “เหมือนวาด” คือตัวแทนของ “ความเป็นลูกสาว” ในความเป็นผู้หญิง เธอเป็นตัวแทนของหญิงไทยในอุดมคติ เรียบร้อยและใช้ชีวิตไปตามขนบธรรมเนียมประเพณี ตัวละครเหมือนวาดสะท้อนให้เห็นความเป็นหญิงในสังคมที่หล่อหลอมมาไม่ได้ผูกสัมพันธ์ไปกับการใช้ชีวิตจริงของผู้หญิงเลย เหมือนวาดเป็นผู้หญิงที่แม่จะรัก รักนวลสงวนตัว เป็นแม่บ้านแม่เรือน แต่เธอสอบตกในแง่อื่นของชีวิต สุดท้ายเธอก็สูญเสียสามีให้กับปรารถนาไป เพราะผ้าที่พับไว้อย่างเรียบร้อยอาจไม่ใช่คำตอบของชีวิตคู่

            “ปรารถนา” คือตัวแทนของ “ความเป็นเมีย” ในความเป็นผู้หญิง เธอเป็นตัวแทนของอารมณ์ทางเพศที่รุนแรงที่มักไม่ถูกพูดถึง ห้วงคำนึงของปรารถนาจึงเต็มไปด้วยความปราศจากความยับยั้งชั่งใจ เธอนอกใจและนอกกายสามีครั้งแล้วครั้งเล่า โหยหาความสัมพันธ์ทางเพศสภาพมากกว่าสิ่งอื่น ไม่เว้นแม้แต่การตัดสินใจที่เธอแย่งชิงสามีของเหมือนวาดมา นั่นก็เป็นสัญลักษณ์สำคัญว่าชีวิตคู่ของผู้หญิงไม่ได้มีเพียงแค่ขนบแต่ยังเต็มไปด้วยสัญชาตญาณทางเพศที่ดำรงไปอย่างเป็นธรรมชาติ

            “ศิรา” คือตัวแทนของ “ความเป็นแม่” ในความเป็นผู้หญิง เรื่องเล่าของศิราเต็มไปด้วยความมุ่งมั่นต่อการเลี้ยงดูลูก โดยยกเรื่องอื่น ๆ ไว้เป็นฉากหลัง ทั้งเรื่องเพศ เรื่องครอบครัว หรือแม้แต่เรื่องสามี ศิรากลายเป็นผู้หญิงที่หายใจเข้าหายใจออกเป็นลูกชาย และหลีกเลี่ยงชีวิตตัวเองออกจากเส้นความสัมพันธ์ของเหมือนวาด ปรารถนา และผู้ชายที่วนเวียนเข้ามาเกี่ยวข้อง นั่นสะท้อนให้เห็นความรู้สึกสะอาดบริสุทธิ์ของหน้าที่ความเป็นแม่ในความรู้สึกผู้เขียนได้เป็นอย่างดี

            เรื่องเล่าของ “ฉัน” เขียนโดยกลวิธีแบบความเรียงบันทึกประสบการณ์เป็นหลัก ดูเหมือนนักเขียนจงใจที่จะไม่ลงไปขยายเล่าภายในจิตสำนึกของฉันมากนัก หากแต่เลือกจะอธิบายต่อความรู้สึกเบื้องหน้าต่อเหตุการณ์แต่ละเหตุการณ์ไป การเล่าลำดับเวลาย้อนกลับหลังกลายเป็นกลวิธีที่เหมาะสมกับหนังสือเล่มนี้มาก เพราะเรื่องเล่าของฉันมักจะไม่มีความคำนึงถึงอดีตมากนัก แต่กลับนำปมหลังภายในจิตใจทั้งหมดออกมาเปิดเปลือยอย่างหมดเปลือกผ่านปากคำของตัวละครอีกสามคน

            การกระทำสำคัญของตัวละครทั้งสามล้วนแสดงถึงการเคลื่อนไหวของห้วงอารมณ์ของฉันได้เป็นอย่างดี เริ่มตั้งแต่เหมือนวาดที่แต่งงานกับสามีแต่ไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตคู่ สะท้อนให้เห็นว่าความเป็นหญิงตามขนบธรรมเนียม หรือการเป็นลูกสาวที่ดีมาสิ้นสุดอยู่ตรงประตูวิวาห์เท่านั้น แต่คุณลักษณะต่าง ๆ ไม่ได้เอื้ออำนวยต่อการใช้ชีวิตในฐานะอื่นเลย สุดท้ายเหมือนวาดจึงถูกปรารถนามาแย่งสามีไป ส่งผลให้บอบช้ำใจเป็นอย่างมาก

            การกระทำของปรารถนาแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของความรู้สึกทางเพศของผู้หญิงต่อชีวิต ความเป็นกุลสตรีไม่ได้ประกอบสร้างครอบครัวที่สมบูรณ์ได้อย่างที่ความเชื่อดั้งเดิมได้ปลูกฝังไว้ สุดท้ายเหมือนวาดจึงตัดสินใจฆ่าตัวตายและปล่อยสามีให้ไปสมรักกับปรารถนา ห้วงเหตุการณ์นี้แสดงถึงความเปลี่ยนผ่านในตัวตนของตัวผู้เขียนเองที่เลือกจะสละความเป็นลูกสาวทิ้งไป และโอบรับความเป็นเมียไว้แทนเพื่อทำให้ชีวิตคู่ได้ไปต่อ

            หากแต่ปรารถนาก็ไม่ใช่ผู้หญิงที่รักเดียวใจเดียว เธอนอกใจสามีของตนมามีความสัมพันธ์กับสามีของปรารถนา นั่นแสดงถึงความสำนึกทางเพศที่วูบไหวและไม่มีกรอบศีลธรรมใดจะจำกัดไว้ได้ ปรารถนาเปลี่ยนผู้ชายไปเรื่อย ๆ สะท้อนถึงความรู้สึกทางเพศที่ไม่ยึดติดอยู่กับผู้ใดแม้แต่สามีตัวเอง เธอนอกใจครั้งแล้วครั้งเล่า ปรารถนามีห้วงรักอยู่กับผู้ชายที่เพียบพร้อมแต่เขาไม่รักเธอ นั่นแสดงถึงความรู้สึกทางเพศผูกพันไปกับความปรารถนาเชิงอุดมคติที่ไม่อาจยึดโยงกับความเป็นจริง

            บทสรุปของปรารถนาจึงสิ้นสุดที่การหายตัวไปจากเรื่องเล่าของนวนิยาย สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนผ่านเชิงตัวตนของผู้เขียนที่เลือกจะโยนทิ้งความเป็นเมียไปจากสมการชีวิต แต่ประเด็นนี้ยังมีข้อแตกต่างสำคัญ เพราะเหมือนวาดหรือความเป็นลูกสาวได้ฆ่าตัวตายและตายจากสมบูรณ์ไปจากเรื่องเล่าแล้ว แตกต่างจากปรารถนาที่เพียงหนีหายไปจากเรื่อง แต่เธอยังไม่ตาย นั่นสะท้อนให้เห็นภาพลึกของความรู้สึกที่ยังมีความเป็นเมียอยู่บ้างแม้จะน้อยลงอย่างมากก็ตาม

            จุดเปลี่ยนที่ทำให้ปรารถนาต้องหายตัวไปจากตัวตนเกิดมาจากความบีบคั้นของชีวิตศิรา ผู้หญิงคนสุดท้ายในเรื่องเล่าที่ยืดหยัดมีพื้นที่ในนวนิยายตั้งแต่หน้าแรกจรดหน้าสุดท้าย ศิราจึงเป็นภาพสะท้อนของตัวผู้เขียนได้อย่างดีที่สุด ปรารถนา (ความเป็นเมีย) ได้ฆ่าเหมือนวาด (ความเป็นลูกสาว) ทิ้ง แล้วต่อมา ศิรา (ความเป็นแม่) ก็ได้ขับไล่ปรารถนา (ความเป็นเมีย) ออกไปอีกที เมื่อห้วงปัญหาความเจ็บป่วยของลูกชายรุมเร้า ฉันก็เลือกที่จะรักษาตัวตนของศิราไว้เพียงคนเดียว

            เรื่องเล่าของหนังสือในช่วงประมาณองก์สุดท้ายจึงแทบจะกลายเป็นภาพสะท้อนภายนอก (ฉัน) และภายใน (ศิรา) เพียงอย่างเดียว เพราะเรื่องเล่าเล่าลำดับเหตุการณ์เป็นขั้วตรงข้าม ตอนท้ายของหนังสือจึงเหมือนว่าหนังสือเล่มนี้ใช้กลวิธีในการเขียนแบบใหม่ นั่นคือนำตัวตนในอดีต (ฉัน) มาบอกเล่าถึงเหตุผลในความเป็นตัวตนในปัจจุบัน (ศิรา) ได้อย่างแนบเนียน ไม่ใช่ภายในภายนอก แต่กลับเป็นอดีตและปัจจุบัน

            บทสรุปของการเดินทางของตัวตนภายในของฉันจึงสิ้นสุดที่ศิรา หรือหากจะมองให้ง่าย ปัจจุบันผู้เขียนเหลือแต่ความเป็นแม่อยู่เป็นหลักเท่านั้น ความเป็นลูกสาวได้ตายจากไปทั้งหมด ส่วนความเป็นเมียก็หนีไปแทบจะไม่เหลืออยู่ บางบทบางตอนศิรายังแสดงอาการหึงหวงสามีจากปรารถนาอยู่บ้าง นั่นก็สะท้อนสภาวะภายในที่แสดงให้เห็นว่าแม้จะยึดถือบทบาทแม่เป็นหลัก แต่ภายในก็ยังรู้สึกกลัวจะบกพร่องต่อสามีในแง่ของความเป็นเมีย และน้อยเนื้อต่ำใจที่ไม่สามารถประพฤติทั้งสองหน้าที่ได้ดีในเวลาเดียว

            จนเมื่อตัวอักษรดำเนินไปจนถึงบทสรุปสุดท้าย ตัวตนของฉันกับศิราก็ประสานรวมเป็นเนื้อเดียว จนทำให้คนอ่านเข้าใจได้อย่างแท้จริงว่าผู้เขียนกำลังใช้ “เกิดในฤดูหนาวที่แดดส่องถึง” เปรียบเสมือนความเรียงบันทึกความทรงจำที่สะท้อนกลับไปมาระหว่างตัวตนภายในและตัวตนภายนอกจนมาบรรจบกันในบทสุดท้าย และคลี่คลายเหตุผลของการดำรงอยู่ของนวนิยายเรื่องนี้ผ่านปากคำของศิราโดยมีเรื่องราวในวัยเด็กของฉันร้อยรวมเรื่องราวเป็นหนึ่งเดียว

            ...ก่อนชีวิตเธอจะจบสิ้นลง เธอหมายใจว่าหลังความตายของเธอ นวนิยายเรื่องนี้จะเก็บชิ้นส่วนความทรงจำและเป็นหลักฐานว่าเธอเคยมีตัวตนอยู่บนโลกนี้จริง ๆ อย่างน้อยถ้าเธอหลุดออกไปอยู่ในที่ที่ไม่อาจระบุอะไรได้อีก ไม่ว่าจะตัวตน การรับรู้ หากเธอไม่อาจจำอะไรได้อีกแล้ว ความทรงจำของเธอจะยังถูกเก็บอยู่ที่นี่ ในหนังสือเล่มนี้... (เกิดในฤดูหนาวที่แดดส่องถึง หน้า ๓๖๑ – ๓๖๒)

            ฉันได้เล่าเหตุการณ์ย้อนไปถึงสมัยเด็กในช่วงเวลาที่แม่ของฉันป่วยเป็นโรคทางจิตประสาทที่ทำให้สูญเสียตัวตนและความทรงจำบางส่วนไป และตัวฉันเองในสมัยเด็กก็ยังมีอาการทางความคิดคล้ายกับแม่ของตน นั่นคือการรับรู้ถึงตัวตนที่ไม่มีอยู่จริงและแบ่งแยกชีวิตของตนออกเป็นหลายบุคลิก ประเด็นข้อนี้จึงน่าจะเป็นรากฐานสำคัญของกลวิธีการเขียนที่แบ่งแยกวิธีการเล่าเรื่องราวของฉันออกมาเป็นตัวละครภายในทั้งสามคนอย่างศิรา ปรารถนา และเหมือนวาด

            สุดท้ายของภาพรวมหนังสือเล่มนี้คงปรากฏสรุปสิ้นอยู่ในชื่อหนังสือหมดจดแล้ว ฉันคือผู้หญิงคนหนึ่งที่ผ่านปัญหาเรื่องราวชีวิตปวดร้าวหนักหน่วง เหมือนคนที่เกิดมาในฤดูหนาวที่แสนหนาวเหน็บ ทรมานทั้งร่างกายและจิตใจครั้งแล้วครั้งเล่า ก่อนจะมาพบแดดอุ่นในสุดท้าย อคิราห์หรือลูกสาวของศิรามีความหมายว่าแสงอาทิตย์ อันสอดรับไปกับแก่นเรื่องที่เกิดในฤดูหนาวที่แดดส่องถึงแสดงให้เห็นว่า... ไม่ว่าความเลวร้าย (ฤดูหนาว) จะหนักหนามากเพียงใด ชีวิตก็ยังมีความหวัง (แดด) สาดส่องมาถึงอยู่ดี

            ผมอ่านหนังสือเล่มนี้จบพร้อมมองเห็นไปถึงบางสิ่งบางอย่างในที่ซ่อนอยู่ในหนังสือเล่มนี้ ไม่ว่าจะด้วยความจงใจหรือไม่ แต่ผู้เขียนเลือกที่จะไม่วิพากย์ความเป็นหญิงในการดำรงชีวิตของตนออกมาตามตรง หากแต่ฉาบเคลือบไว้ด้วยตัวละครอย่างศิรา ปรารถนา และเหมือนวาด จนนั่นนำมาถึงคำถามเรื่องความเปิดกว้างด้านเพศในสังคมไทย และนั่นก็อาจจะเป็นประเด็นคำตอบเดียวกันกับที่มาของคำว่า “นักเขียนหญิง” ในโลกที่ทั้งผู้ชายและผู้หญิงมีมือเพียงพอที่จะจับปากกาเขียนหนังสือไม่ต่างกัน

            ความเป็นแม่ ความเป็นเมีย และความเป็นลูกสาว ที่ขยายความไว้อย่างแจ่มชัดไว้ในหนังสือเล่มนี้สะท้อนภาพสังคมไทยเป็นอย่างดีว่ามีกรอบของขนบธรรมเนียมบางอย่างที่จำกัดให้ผู้หญิงเป็นได้เท่านี้ แม่ เมีย และลูกสาว หากแต่ไม่ได้เปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงได้มีโอกาสไปไกลกว่านี้เพื่อไปเป็นอย่างอื่น กรอบที่ว่าเป็นทั้งกรงขังภายในและภายในที่สุดท้ายก็แสดงออกมาในแง่ของการจำกัดมุมมองความคิดบางอย่างให้ความเป็นหญิงที่ล้อมรั้วไว้ในอาณาเขตแคบ ๆ และจะกลายเป็นคนเลวเมื่อพยายามแหกออกมา

            ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคงจะหนีไม่พ้นห้วงคำนึงของผู้เขียนเองที่ถึงแม้จะแสดงภาพสะท้อนของตัวละครทั้งสามเป็นส่วนหนึ่งของตน แต่ก็กลับผลักไสปรารถนา (ความเป็นเมีย) ให้แทบจะกลายเป็นตัวละครร้าย มุมมองของเหมือนวาดกับศิราที่มองออกไปถึงปรารถนาแทบจะดูแคลนว่าเป็นคนที่ไม่สะอาด น้ำเสียงหรือวิธีการเล่าก็เต็มไปด้วยความรู้สึกผิดบาปและต่อต้านการกระทำของปรารถนาอยู่ในเวลาเดียว นั่นแสดงถึงกรอบภายใน (ความรู้สึกต่อความเป็นหญิงของผู้เขียน) และกรอบภายนอก (กลวิธีการเขียน)

            หากเป็นเรื่องของความเป็นชายที่มีความคึกคะนองทางเพศ นวนิยายอาจจะถ่ายทอดออกมาได้เหมือนกับวรรณคดีหรือนวนิยายจำนวนมากที่มีตัวละครชายเป็นตัวละครเอกที่มากเมีย แต่ในทางตรงกันข้าม หากตัวละครหญิงมีมากผัวเมื่อไหร่ หรือแค่มีความรู้สึกทางเพศหลุดไปจากกรอบที่ประเพณีกำหนดไว้ เท่านี้ตัวละครดังกล่าวก็พร้อมจะเป็นจำเลยและถูกผลักไสไล่ส่งไปอยู่ในมุมของตัวละครร้าย ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าจะหญิงหรือชายก็ล้วนมีแรงขับเคลื่อนจากร่างกายเหมือนกัน

            เกิดในฤดูหนาวที่แดดส่องถึงอาจจะไม่ได้เป็นนวนิยายที่มีกลวิธีการเล่าที่ซับซ้อนขนาดนี้ก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจริงเรื่องแต่ง เส้นเวลาไปข้างหน้าและถอยหลัง ทั้งหมดทั้งมวลก็เป็นเพียงกระบวนการที่สร้างขึ้นมาเพื่อจะเล่าห้วงลึกของความเป็นหญิงออกมาได้อย่างเต็มปากเต็มคำ และทำให้เรื่องเล่าที่เขียนยังถูกตีพิมพ์และตีความออกมาได้เป็นวรรณกรรมเล่มหนึ่ง ท่ามกลางกรอบและข้อจำกัดที่รัดรึงและบังคับให้ผู้หญิงพูดเรื่องความเป็นหญิงได้ยากเหลือทน

             ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าตัวละครอย่างฉันและบริวารแวดล้อมอย่างตัวละครทั้งสามนั้นดำเนินชีวิตไปตามเส้นทางความเป็นหญิงที่สังคมได้กำหนดไว้ ถึงแม้ว่าผู้เล่าจะพยายามเปิดเปลือยตัวตนออกมาประท้วงถึงเสรีภาพในเรื่องเล่าของตนอย่างเต็มที่ แต่เนื้อในลึกลงไป เหตุการณ์ชีวิตของฉันก็เต็มไปด้วยความเป็นแม่ ความเป็นเมีย และความเป็นลูกสาว อย่างที่สังคมไทยวาดหวังเอาไว้ หากแต่ความหลงใหลใฝ่ฝันด้านอื่นของตัวละครฉันในเรื่องก็ริบหรี่เต็มทน

            หากไล่เรียงเนื้อหาตั้งแต่เด็กจนโต จะพบว่าฉันในวัยเด็กมุ่งหวังในการเป็นลูกสาวที่ดีของแม่ ก่อนที่ตัวตนเหมือนวาด (ความเป็นลูกสาว) จะตายไป เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น ฉันก็เต็มไปด้วยความมุ่งหวังที่จะเป็นเมียที่ดี ก่อนที่ตัวตนปรารถนา (ความเป็นเมีย) จะเตลิดหายไป เหลือแต่ศิรา (ความเป็นแม่) หลังจากที่ฉันเติบโตเป็นผู้ใหญ่และมีลูกชายได้ไม่นาน แต่เมื่อถอยออกมาอีกก้าวเพื่อมองชีวิตของฉันอย่างชัดเจนที่สุด นั่นกลับแทบไม่เห็นตัวตนด้านอื่นของฉันหลงเหลืออยู่เลย

            ความตั้งใจของฉันในเรื่องคงจะหนีไม่พ้นการมีชีวิตอยู่ในรอด (นอกเหนือจากความเป็นหญิงที่กล่าวมาข้างต้น) แต่กลับมองไม่เห็นภาพฝันของฉันที่จะเติบโตไปเป็นสิ่งใด แม้แต่นวนิยายที่ฉันเขียนอันสะท้อนถึงหนังสือเล่มนี้ก็ไม่ได้ทำหน้าที่สิ่งใดมากไปกว่าการเก็บบันทึกตัวตนและย่อมวนกลับมาสู่ความเป็นหญิงในเรื่องในสุดท้าย นั่นก็อาจจะเป็นคำตอบโดยอ้อมว่าทำไมผู้หญิงถึงนิยมได้รับคำแปะป้ายว่านักเขียนหญิงเหลือเกินในเรื่องเล่าของพวกเธอ

            คำถามสำคัญที่สะท้อนออกมาในงานเขียนชิ้นนี้คือในสังคมไทยมีพื้นที่ให้ผู้หญิงมีความหลงใหลใฝ่ฝันสมกับที่มนุษย์ควรจะเป็นแล้วหรือเปล่า ความเป็นแม่ ความเป็นเมีย และความเป็นลูกสาวกำลังเป็นสิ่งที่ลดทอนอิสรภาพของเจตจำนงเสรีที่ซ่อนอยู่ภายในผู้หญิงทุกคนหรือไม่ สำหรับบางคน การประพฤติตนให้ดีพร้อมในฐานะผู้หญิงคนหนึ่งก็อาจจะหมายถึงการสูญเสียเวลาทั้งชีวิตไปแล้วก็ได้ และหากคำตอบของคำถามนี้คือ “ใช่” นั่นอาจจะนำมาซึ่งคำถามที่ว่าสังคมจะขับเคลื่อนกันต่อไปในทิศทางใด เพื่อให้สุดท้ายแล้วไม่มีการแบ่งแยกระหว่างนักเขียนหญิงกับนักเขียนชาย และเหลือแค่ “นักเขียน” อย่างเดียวสักที

           

รายการอ้างอิง

            นทธี ศศิวิมล, เกิดในฤดูหนาวที่แดดส่องถึง, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ขึ้นหนึ่งค่ำ, ๒๕๖๑) หน้า ๔๔, ๓๖๑ – ๓๖๒.

            คณะกรรมการคัดเลือกรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียนประจำปี ๒๕๖๔, ผลการพิจารณาคัดเลือกนวนิยายรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน ประจำปี ๒๕๖๔, เสนอที่โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๔. (เอกสารไม่ตีพิมพ์เผยแพร่), หน้า ๓.

\

Visitors: 72,508