เดฟั่น (เฟือน) : เรื่องเล่าชุมชน

ที่ถูกฟาดด้วยประวัติศาสตร์กระแสหลัก

ชัยมงคล  โฮฮิน

 

 

 

          “เดฟั่นจำไม่ได้” เป็นประโยคที่สร้างความสะดุดเด่นอย่างมากให้กับนวนิยายเรื่อง “เดฟั่น” ซึ่งเป็นนวนิยายรางวัลซีไรต์ประจำปี 2564 ของนักเขียนนาม ศิริวร แก้วกาญจน์

            ประโยค “เดฟั่นจำไม่ได้” ปรากฏแทบทุกบทของนวนิยาย บางบทปรากฏถี่ถึง 9 ครั้ง (บทที่ 63) ประโยคที่ปรากฏมีทั้ง เดฟั่นจำไม่ได้ เดฟั่นจำเรื่องเล่าเหล่านี้ไม่ได้ เดฟั่นจำอะไรไม่ได้เลย เดฟั่นจำไม่ได้ว่าเขาหัวเราะ เป็นต้น รวมกันเป็นจำนวน 153 ครั้ง (นับรวมประโยคที่ใช้สรรพนาม “เขา” แทนเดฟั่นด้วย)

            การใช้ประโยคดังกล่าวซ้ำกันเป็นจำนวนมากถือเป็น “ศิลปะการทำให้แปลก” (defamiliarization) ที่ผู้เขียนนำมาใช้เพื่อยั่วยุให้ผู้อ่านตั้งคำถาม เป็นต้นว่า เดฟั่นจำไม่ได้จริงหรือ และถ้าหากเดฟั่นจำไม่ได้จริง ๆ เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น คำตอบของคำถามเหล่านี้มิใช่สูตรสำเร็จที่ผู้อ่านทุกคนต้องตีความเหมือนกัน แต่ก็พอจะมีหลักฐานอ้างอิงอันจะนำไปสู่คำตอบได้บ้าง ดังจะแสดงให้เห็นในบทวิจารณ์ฉบับนี้

            หากอ่านนวนิยายเรื่องเดฟั่นอย่างละเอียดจะเห็นว่า ศิริวร แก้วกาญจน์ ได้แสดงภาพชุมชนหรือหมู่บ้านไว้ 2 ภาพใหญ่ ๆ ด้วยกัน ภาพแรกคือภาพตั้งแต่เริ่มก่อตั้งชุมชนไปจนถึงช่วงเวลาก่อนถูกอำนาจรัฐแทรกแซง ส่วนภาพที่สองเป็นภาพของชุมชนหลังจากถูกอำนาจรัฐแทรกแซงแล้ว ทั้ง 2 ภาพนี้ตรงข้ามกันในทุกมิติ และทั้ง 2 ภาพนี้เองที่ผู้เขียนได้แสดงให้เห็นการช่วงชิงอำนาจระหว่างชุมชนกับรัฐบาล ก่อนที่ฝ่ายหนึ่งจะเป็นผู้ครอบครองอำนาจนั้นได้ในที่สุด  

            ภาพแรกเป็นภาพความยิ่งใหญ่ของชุมชน ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากวีรบุรุษของหมู่บ้านเดินทางขี่เฆี่ยนเสือมาจากไทรบุรี มาตั้งรกรากอยู่ที่คาบสมุทรภาคใต้แถบจังหวัดพัทลุง การช่วงชิงอำนาจประการแรกของชาวบ้านคือการสถาปนา “ปู่ทวด” ให้เป็นวีรบุรุษผู้มีคุณลักษณะวิเศษเทียบเท่ากับเทพเจ้า นั่นก็คือพระพรหมผู้สร้างโลก ปู่ทวดได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้สร้างหมู่บ้านคนเฆี่ยนเสือที่ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นหมู่บ้านฝนแสนห่า ไม้เรียวคืออาวุธคู่กายของปู่ทวดเหมือนกับศาสตราวุธต่าง ๆ ในพระหัตถ์ของพระพรหม ส่วนเสือก็กลายเป็นสัตว์ประจำตัวของปู่ทวดไม่ต่างอะไรจากหงส์ซึ่งเป็นสัตว์ที่พระพรหมใช้เป็นพาหนะ การใช้เสือซึ่งมีนิสัยดุร้ายให้เป็นพาหนะของปู่ทวด ยิ่งเพิ่มความมหัศจรรย์ให้แก่ตัวละคร เพราะ “แม้แต่พวกกุรข่า นักรบใต้บังคับของอังกฤษที่ว่า ดุร้าย ครั้นเห็นปู่ทวดนั่งมาบนหลังเจ้าเสือโคร่ง นักรบเหล่านั้นก็กลายเป็นหินแข็งทื่อ” (น.31) สุดท้ายความมหัศจรรย์จะผันแปรเป็นความศักดิ์สิทธิ์  

            ปู่ทวดเป็นวีรบุรุษอันมีคุณลักษณะวิเศษตั้งแต่เปิดเรื่องไปจนถึงวันที่สิ้นอายุขัย ก่อนจะคืนลมหายใจให้กับผืนดินปู่ทวดได้ปลีกวิเวกออกไปอยู่ชายป่า “ปู่ทวดอยู่กับเจ้าสีไฟ เสือลายพาดกลอนที่เฆี่ยนขี่มาจากไทรบุรี” (น. 130) ลองพิจารณาข้อความที่บรรยายก่อนปู่ทวดจะสิ้นอายุขัย ดังนี้

            “ต่อมา ปู่สุกะผ่านไปทางกระท่อมของปู่ทวด กลับมาเล่าว่าได้ยินเสียงปู่ทวดคุยกับเจ้าเสือ ทั้งสองนั่งเคี้ยวยอดไม้ใบหญ้ากันอยู่ในกระท่อม วันต่อมา ปู่สุกะผ่านไปทางกระท่อมของปู่ทวดอีกครั้ง กลับมาบอกทุกคนว่าได้ยินเสือสองตัวคำรามอยู่ในนั้น อีกวัน ปู่สุกะกลับมาบอกว่าได้ยินเสือตัวหนึ่งคำรามอยู่ในกระท่อม แต่อีกตัวไม่รู้หายไปไหน เหล่าลูก ๆ หลาน ๆ ได้ยินดังนั้นก็ร้องห่มร้องไห้ คิดว่าเจ้าเสือโคร่งกินปู่ทวดของพวกเขาไปแล้ว ... ครั้นถึงฤดูมรสุม ปู่สุกะผ่านไปทางกระท่อมของปู่ทวดอีกครั้ง เขาแอบฟังอยู่นาน มีแต่ความเงียบ ... ปู่สุกะจึงย่องเข้าไปดู เขาถึงกับตะลึงต่อภาพที่เห็นตรงหน้า จากนั้นปู่สุกะจึงกลับลงมาบอกทุกคน ...

          เมื่อเห็นภาพตรงหน้า ทุกคนก้มลงกราบโดยแทบไม่รู้ตัว เสือโคร่งสีเพลิงขนาดวัวถึกตัวหนึ่งยืนนิ่งอยู่ในกระท่อม สง่างาม เปี่ยมชีวิตชีวา ตอนแรกทุกคนเข้าใจว่าเสือโคร่งตัวนั้นยังมีชีวิต

          “กลายเป็นหินไปแล้ว” ปู่บอก ถึงอย่างนั้น ไม่มีใครแน่ใจว่าเสือตัวนั้นคือปู่ทวดหรือเสือโคร่งตัวที่แกขี่เฆี่ยนมาจากไทรบุรี” (น. 131 - 132)

            ข้อความข้างต้นเป็นการสถาปนาปู่ทวดซึ่งเป็นคนธรรมดาให้กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เต็มรูปแบบ นับจากวินาทีนั้น “ทุกคนก้มลงกราบโดยแทบไม่รู้ตัว” ชาวชุมชนฝนแสนห่าต่างก็กราบไหว้รูปปั้นเสือเรื่อยมาด้วยความเชื่อที่ว่า นั่นคือปู่ทวดวีรบุรุษของตนที่รวมร่างเป็นหนึ่งเดียวกับเสือ

            นอกจากนี้หลังจากย่าทวดทราบข่าวของปู่ทวด “แกยึดวัดเฆี่ยนเสือเป็นที่หลบภัย นุ่งขาวห่มขาวนั่งขัดสมาธิพึมพำบทสวดภาษาขอมโบราณ” (น. 132) จนสุดท้ายย่าทวด “กลายเป็นรูปปั้นสีขาวนั่งก้มหน้าทำสมาธิอยู่ใต้ต้นไทรรกครึ้ม ... “ไม่มีน้ำหนักเลย!” เดฟั่นย้ำ  “ย่าทวดไม่มีน้ำหนักเลย!” นั่นเองที่ทุกคนต่างเข้าไปจับไปขยับดู รูปปั้นย่าทวดเบาหวิวเหมือนทำจากปุยนุ่น จากนั้นพวกเขาก็ช่วยกันแตะคนละนิ้วสองนิ้ว เคลื่อนย้ายย่าทวดผ่านบึงบ่อจำปาป่าขึ้นไปวางเรียงเคียงกับรูปปั้นปู่ทวดเสือในศาลา” (น. 144 - 145)

            หากปู่ทวดเป็นวีรบุรุษ ย่าทวดก็คงไม่ต่างจากวีรสตรีผู้เคียงบ่าเคียงไหล่ การกราบไหว้รูปปั้นของปู่ทวดและย่าทวดที่วางเรียงเคียงกัน อาจไม่ต่างกันนักกับการกราบไหว้รูปปั้นศักดิ์สิทธิ์ของพระพรหมและพระสุรัสวดีผู้เป็นพระชายา การสถาปนาปู่ทวดและย่าทวดซึ่งเป็นวีรบุรุษและวีรสตรีของหมู่บ้านให้กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์โดยมีรูปปั้นเป็นสิ่งแทนนั้น แท้จริงแล้วไม่ต่างกันเลยกับการสถาปนาวีรบุรุษหรือวีรสตรีระดับชาติที่ศูนย์กลางปฏิบัติกัน นี่คืออำนาจอย่างหนึ่งที่ชาวบ้านใช้ต่อกรกับศูนย์กลาง   

            มิเพียงเท่านั้นหากพิจารณาจุดเริ่มต้นของการสร้างหมู่บ้าน ศิริวร บรรยายไว้ว่า

            “ครั้นมาถึงที่ราบรกเรื้อกลางหุบเขาซึ่งโอบด้วยลำคลองสองสาย เสือโคร่งที่ปู่ทวดขี่เฆี่ยน ผ่านป่าเขามาร่วมครึ่งค่อนเดือนก็เอาแต่เดินวนเป็นวงกลมทวนเข็มนาฬิกา รอบแล้วรอบเล่า วนอยู่ระหว่างอ้อมโอบของลำคลองสองสาย รอบแล้วรอบเล่า” (น. 32) จนสุดท้ายปู่ทวดตัดสินใจว่า “ “เราจะอยู่ที่นี่” ปู่ทวดถอนไม้เรียวขึ้น และปักลงบนพื้นดินตรงหน้าอีกครั้ง กวาดตามองหน้าทุกคน “เจ้าสีไฟบอกว่ามันจะอยู่ในหุบเขาแห่งนี้” เช้าวันต่อมา ไม้เรียวที่ปู่ทวดปักไว้เริ่มแตกกิ่งก้าน หลายปีต่อมามันเติบโตเป็นไม้ยืนต้นสูงใหญ่แผ่กิ่งก้านสาขา ร่มครึ้ม และไม้ต้นนี้เองที่ต่อมากลายเป็นต้นไม้ประจำหมู่บ้าน” (น. 39 - 40)

            จุดกำเนิดของการสร้างหมู่บ้านข้างต้นแม้จะดูเป็นเรื่องมหัศจรรย์พันลึกที่เสือตัวหนึ่งเป็นผู้เลือกทำเลที่ตั้ง แต่แท้จริงแล้วนี่คือระบบคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์อันอุดมไปด้วยหลักการและเหตุผล ชาวบ้านเลือกสร้างหมู่บ้านในทำเลที่เหมาะสม เป็นจุดที่ลำคลองสองสายไหลมาบรรจบกัน ระบบคิดเช่นนี้ไม่ต่างจากการเลือกที่ตั้งเมืองหลวง ไม่ว่าจะเป็นกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี  กรุงรัตนโกสินทร์ หรือกระทั่งเมืองหลวงของประเทศอื่น ๆ  คือเลือกทำเลที่มีแม่น้ำไหลผ่านเพื่อประโยชน์แก่การเพาะปลูกในยุคสังคมเกษตรกรรม จะเห็นว่า แท้จริงแล้วชาวบ้านไม่ได้โง่เขลางมงายไร้หลักการอย่างที่ศูนย์กลางพยายามยัดเยียดให้ การเลือกที่ตั้งอย่างเหมาะสมด้วยตรรกะอันเป็นเลิศนี้ ช่วยเสริมสร้างความเป็นผู้นำที่ชาญฉลาดให้แก่ปู่ทวด  

            ภาพของชุมชนฝนแสนห่าในช่วงแรกเริ่มนี้อบอวลไปด้วยความสุข น้ำใจไหลหลั่งพรั่งพรูออกมาจากหัวใจไม่ขาดสายเหมือนกับน้ำที่ผุดจากบึงบ่อจำปาป่าในหมู่บ้าน ความอุดมสมบูรณ์ของทั้งน้ำธรรมชาติและน้ำใจแผ่ไพศาลไปทั่วสารทิศ

          “ลากดึงผู้คนจากหมู่บ้านทางแถบภูบรรทัด ตลอดถึงหมู่บ้านแถบที่ราบลุ่มทะเลสาบสงขลา เข้ามายังฝนแสนห่า มาเก็บพืชผักในหุบเขา มาอาบมาตักน้ำจากบึงและบ่อจำปา บ้างขนลงเรือ บ้างหาบคอนทูนเทินกลับไปบ้านของตัวเอง ใครที่ขี้เกียจมา ก็ลงอาบลงตักน้ำจากคลองจำปา คลองสายเดียวจากนับร้อยสายที่ไหลลงทะเลสาบ ไม่ขอด ไม่ขุ่น

          แต่การตักน้ำจากลำคลองไม่เหมือนกับการขึ้นมาตักเองจากบึงบ่อโดยตรง ซึ่งทุกคนเชื่อมั่นว่ามันคือน้ำศักดิ์สิทธิ์ ไม่ได้ไหลผ่านเรือนบ้านและชุมชนเหมือนน้ำในลำคลองจำปา แม้จะมีต้นกำเนิดจากแหล่งเดียวกันก็ตาม ทั้งวันทั้งคืน น้ำจากบึงบ่อของฝนแสนห่าถูกขนถูกตักออกไป ทั้งวันทั้งคืน ตักและขนออกไปเท่าไหร่ ระดับน้ำในบ่อก็ยังเท่าเดิม ไม่ขอด ไม่ขุ่น” (น. 136)

            เมื่อน้ำเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งสำหรับมนุษย์ เป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงทุกสรรพชีวิตให้อยู่รอดบนโลกใบนี้ได้ การสถาปนา “น้ำ” ที่มีจุดกำเนิดมาจากบึงบ่อในหมู่บ้านให้กลายเป็น “น้ำศักดิ์สิทธิ์” จึงถือเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่ชาวบ้านใช้ช่วงชิงอำนาจจากศูนย์กลาง “น้ำศักดิ์สิทธิ์” จากหมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งนี้ไม่ต่างจากแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งศูนย์กลางขนานนามว่าเป็น “เส้นเลือดใหญ่ของภาคกลาง” (ความเปรียบนี้มักเขียนไว้ในหนังสือเรียนวิชาสังคมศึกษาซึ่งผลิตโดยหน่วยงานที่รัฐบาลเป็นผู้ควบคุม) ชาวบ้านพยายามจะบอกเราว่าลำคลองที่ไหลผ่านหมู่บ้านต่าง ๆ อันมีต้นน้ำมาจากหมู่บ้านฝนแสนห่าก่อนจะไหลลงทะเลสาบสงขลา ก็เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ของคนแถบเทือกเขาบรรทัดเช่นกัน  

            นอกจากนี้ ศิริวร ยังบรรยายลักษณะของหมู่บ้านโดยใช้ความเปรียบว่า “หากมองลงมาจากหมู่เมฆ รูปพรรณสัณฐานของหมู่บ้านคนเฆี่ยนเสือไม่ต่างกับผลน้ำเต้าจีน ในผลน้ำเต้าคือชีวิต เป็นชีวิตซึ่งรอวันส่งต่อการกำเนิด กระเพื่อมแผ่กระแสชีวิต โอบอุ้มผืนป่าไว้เช่นที่มันเคยโอบอุ้มทุกชีวิต” (น. 42) ความเปรียบดังกล่าวได้อ้างถึง (Allusion) ตำนานการกำเนิดมนุษย์ของชนชาติต่าง ๆ ที่เชื่อว่ามนุษย์กำเนิดมาจากผลน้ำเต้า ในพงศาวดารล้านช้างก็ได้กล่าวถึงการกำเนิดมนุษย์ว่ามาจากผลน้ำเต้าไว้ด้วย การอ้างถึงในนวนิยายเรื่องนี้แม้ไม่ได้นำอนุภาคสำคัญในตำนานคือ มีคนเอาบางสิ่งไปเจาะผลน้ำเต้าทำให้มนุษย์ทะลักไหลออกมา แต่ผู้เขียนก็ค่อนข้างกล่าวเปรียบเทียบไว้อย่างชัดเจนว่า “รูปพรรณสัณฐานของหมู่บ้านคนเฆี่ยนเสือไม่ต่างกับผลน้ำเต้าจีน ในผลน้ำเต้าคือชีวิต” การอ้างถึงตำนานในที่นี้ นัยหนึ่งก็เพื่อแสดงให้เห็นว่าหมู่บ้านคนเฆี่ยนเสือคือมาตุภูมิศักดิ์สิทธิ์ที่ให้กำเนิดชีวิตของใครหลาย ๆ คน เป็นผืนดินถิ่นฐานที่โอบอุ้มหล่อเลี้ยงผู้คนตัวน้อยจ้อยกระจิริดไว้ในหมู่บ้านสัณฐานคล้ายน้ำเต้าจีนผลนี้ อีกนัยหนึ่งผู้เขียนใช้ความศักดิ์สิทธิ์ของหมู่บ้านเพื่อส่งเสริมความศักดิ์สิทธิ์ของปู่ทวดในเข้มขลังยิ่งขึ้น

            ทั้งหมดคือภาพของหมู่บ้านก่อนถูกอำนาจรัฐแทรกแซง หลังจากบรรทัดนี้เป็นต้นไปภาพหมู่บ้านอันศานติเหล่านั้นจะอันตรธานสูญสลายเหมือนกับหยาดน้ำค้างพราวใสที่ถูกกล้าแดดแผดเผาจนระเหยหาย

            ภาพที่สอง หมู่บ้านเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง รัฐบาลเริ่มปฏิบัติการช่วงชิงอำนาจกลับจากชาวบ้าน หมู่บ้านถูกรุกคืบจากเศรษฐกิจแบบทุนนิยม การแบ่งปันหรือแลกเปลี่ยนสิ่งของกันถูกแทนที่ด้วยการใช้เงินตราแลกซื้อสินค้า ชีวิตของประชาชนย่อมข้องเกี่ยวอยู่กับระบบเศรษฐกิจแบบใหม่อย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ หมู่บ้านคนเฆี่ยนเสือที่ตอนนั้นเปลี่ยนชื่อเป็นหมู่บ้านฝนแสนห่าแล้ว “เกิดปัญหาเกี่ยวกับยางพารา ลุงรามัญจึงทำหน้าที่ผู้นำการเคลื่อนไหวต่อต้านการขึ้นภาษีและเรียกร้องการแก้ปัญหาราคายางตกต่ำ ... ผลของการเคลื่อนไหวคราวนั้นส่งแรงกระเพื่อมไปทั่วทุกหมู่บ้านแถบภูบรรทัด ... ที่สำคัญ มันยังส่งแรงเหวี่ยงเขย่าตระกูลคนเฆี่ยนเสือจากไทรบุรีทุกคนในฝนแสนห่า” (น. 50) ก็ใครเล่าเป็นแรงกระตุ้นหนุนเนื่องให้ประชาชนต้องออกมาเคลื่อนไหวเช่นนั้น

            นอกจากกระแสทุนนิยมที่โหมกระพือจนโฉมหน้าของหมู่บ้านเปลี่ยนไปแล้ว ไอความร้อนจากสงครามเย็นก็ยังแผ่ซ่านไปทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่หมู่บ้านฝนแสนห่า หมู่บ้านถูกจับตามองจากรัฐบาลในฐานะที่เป็นฐานทัพพรรคคอมมิวนิสต์ รัฐบาลเริ่มเผยแพร่วาทกรรมเกลียดชังคอมมิวนิสต์ เชิดชูประชาธิปไตย โดยการแปะภาพเปรียบเทียบระหว่างวิถีชีวิตและระบบการศึกษาแบบคอมมิวนิสต์กับโลกเสรี แต่ละภาพจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง ภาพฝั่งที่เป็นคอมมิวนิสต์จะมีรูปชาวบ้าน “ร่างกายผ่ายผอม แบกคอนกระบุงเป็นทิวแถวคดโค้ง ... มีทหารป่าสองคนถือปืนควบคุมอยู่ด้านหน้า” (น. 75) ในขณะที่ฝั่งโลกเสรี “มีภาพกระท่อมเสาสูงกลางท้องทุ่ง หน้าจั่วแหลมคล้ายโบสถ์ เหนือกระท่อมคือเมฆขาวและท้องฟ้าสีฟ้าสดใส ใกล้ ๆ กระท่อมมีคนกำลังช่วยกันเลื่อยไม้ ถัดจากกระท่อมมี ลอมฟาง มีคนจูงควายสองตัว ภาพควายเขาโง้งจุดเด่นของภาพ ... ใกล้ ๆ กันมีเด็กชายสะพายข้อง กำลังย่างเท้าคุยกับคนจูงควายซึ่งเข้าใจว่าน่าจะเป็นพ่อ แม่บ้านสวมหมวกปีกกว้าง ... ใบหน้าระบายยิ้ม” (น. 75 - 76) แม้กระทั่งปฏิทินที่เคยมีรูป “นางสงกรานต์ขี่นกยูง” (น. 65) รัฐบาลก็ยังเปลี่ยนเป็น “ปฏิทินบอกเล่าเรื่องราวทารุณโหดร้ายต่าง ๆ นานาที่ทำให้พวกคอมมิวนิสต์กลายเป็นปีศาจร้ายกระหายเลือด” (น. 147)

            การช่วงชิงอำนาจของรัฐบาลคือการยุยงปลุกปั่นให้ชาวบ้านแตกคอกันเอง โดยใช้ความขัดแย้งระหว่างปัจเจกบุคคล คือระหว่างอันดาพ่อของเดฟั่นกับสมิงตาเดียว เพื่อสร้างความขัดแย้งในระดับที่กว้างขวางออกไป รัฐบาลไทยใช้วิธีการคล้ายกับที่อเมริกาและโซเวียตใช้คือ การทำให้หมู่บ้านฝนแสนห่าถูกแยกออกเป็นฝนแสนห่าเหนือและฝนแสนห่าใต้ เหมือนกับเวียดนามเหนือ เวียดนามใต้ เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ หมู่บ้านฝนแสนห่าจึงเสมือนเป็นสงครามตัวแทนระหว่างความคิด 2 กระแสหลักคือคอมมิวนิสต์และโลกเสรี

            ลำคลองที่เคยโอบอุ้มผู้คนทั้งสองฝั่งกลายเป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างฝนแสนห่าเหนือและใต้ “น้ำศักดิ์สิทธิ์” ที่ชาวบ้านเคยเลื่อมใสศรัทธากลายเป็นเรือนตายของคนในหมู่บ้านเอง “เมื่อเช้าวันหนึ่งมีคนพบศพลอยอืดเบียดแน่นเต็มลำคลอง” (น. 145) รัฐบาลได้ทำลายความศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้นจนสิ้นซาก

            การสังหารหมู่ครั้งนั้นรัฐบาลปล่อยข่าวว่าทั้งหมดเป็นฝีมือของเสือโคร่ง เป็น “เสือโคร่งที่แปลงกายเป็นคนด้วยเวทมนตร์ของหมอผีชาวชวา” (น. 146) รัฐบาลลดสถานะ “ปู่ทวดเสือ” ซึ่งชาวบ้านยกย่องว่าเป็นผู้สร้างหมู่บ้านคนเฆี่ยนเสือ และเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านให้กลายไปเป็นเสือสมิงที่กลับมาทำร้ายลูกหลานของตนเองอย่างบ้าคลั่ง นี่เป็นการช่วงชิงอำนาจโดยการสั่นคลอนศรัทธาดั้งเดิมของชาวบ้าน

            นอกจากนี้รัฐบาลยังปั้นน้ำเป็นตัวสร้าง “ลุงชวา” ให้กลายเป็นหมอผีชาวชวาผู้สามารถ “เสกเสือให้กลายเป็นคน และเป่ามนตร์ให้คนกลายเป็นเสือ” ได้ (น. 175) หลังจากวันนั้นลุงชวาก็ถูกฆ่า “ข้อหาเป็นหมอผีผู้เสกเสือให้กลายเป็นคน เป่ามนตร์ให้คนกลายเป็นเสือ” (น. 189) ส่วนรัฐบาลก็ปล่อยข่าวว่า “ร่างที่บวมอืดอยู่ในลำคลองนั้นไม่ใช่คน แต่คือเสือที่หมอผีชาวชวาผู้นี้เสกเป่าให้กลายเป็นคน” (น. 189) เพื่อที่จะฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์ เรื่องแต่งของรัฐบาลนับเป็นการหาเหตุผลเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่ตนเองได้อย่างไร้ซึ่งความเป็นมนุษย์ที่สุด รัฐบาลเห็นประชาชนเป็นเพียงสัตว์ป่าที่สามารถฆ่าได้โดยไม่ต้องรู้สึกผิด   

            “ศพลอยอืดเบียดแน่นเต็มลำคลอง” ที่พบในเช้าวันนั้นมี “กัญชญา” น้องสาวของเดฟั่นรวมอยู่ด้วย ระหว่างค้นหาศพ “เดฟั่นเห็นร่องสีขาวขุ่นแทรกตัวเป็นสายธารเล็ก ๆ อยู่ระหว่างกลุ่มศพ ....มันไหลออกมาจากศพศพหนึ่งซึ่งคว่ำหน้า เดฟั่นใช้พายเขี่ยจนร่างนั้นพลิกหงายขึ้นมา“แม่!” เดฟั่นตะโกน “กัญชญาอยู่นี่”คนทั้งสองพายเรือเข้าไปยังธารสีน้ำนม ดึงร่างกัญชญาขึ้นมาอย่างทุลักทุเล เรือยวบยุบปริ่มน้ำ แม้อยู่ในเรือ เลือดสีน้ำนมนั้นยังไม่หยุดไหล” (น. 211)

            “เลือดสีน้ำนม” ที่ไหลออกมาจากศพของกัญชญาเป็นการอ้างถึง (Allusion) ตำนานพระนางมัสสุหรีแห่งเกาะลังกาวีที่ถูกใส่ร้ายว่ามีชู้จนถูกประหารชีวิต ก่อนถูกประหารพระนางมัสสุหรีอธิษฐานว่าหากนางไม่มีความผิดใด ๆ ขอให้เลือดไหลออกมาเป็นสีขาว และแล้วเลือดของนางก็ไหลออกมาเป็นสีขาวอย่างน่าอัศจรรย์ ผู้เขียนอ้างถึงตำนานดังกล่าว นัยหนึ่งเพื่อแก้ต่างให้กับ “กัญชญา” ว่าเธอคือผู้บริสุทธิ์ที่ถูกร้อยเอกสำราญ (ในคราบช่างตัดผม) หลอกให้รัก เขาหลอกใช้เธอเป็นเครื่องมือทางการเมืองจนทำให้ “สุคนธา” คนรักตัวจริงของเขาเข้าใจผิด อีกนัยหนึ่งเพื่อเน้นย้ำความบริสุทธิ์ของประชาชนที่ถูกรัฐบาลฆ่า แม้ว่าสุดท้ายแล้วจะไม่สามารถเอาชนะข่าวเสือโคร่งลงมาทำร้ายผู้คนซึ่งเป็นข่าวลวงที่รัฐบาลเป็นผู้แต่งขึ้นได้ก็ตาม

            อีกตอนหนึ่งที่ผู้เขียนแสดงให้เห็นว่าประชาชนมิอาจเอาชนะอำนาจของรัฐบาลได้คือตอนที่กล่าวถึงมูสังย่องมาขโมยกินไก่ ผู้เขียนใช้ 2 เหตุการณ์ที่คู่ขนานกันเพื่อสร้างความสมดุลทางโครงสร้าง (Paralellistic Pattern) และเพื่อนำไปสู่การตีความ ดังนี้

            เหตุการณ์ที่ 1 “ครั้นไก่ฝูงนั้นกลายเป็นไก่รุ่น คืนหนึ่งมูสังย่องลงมาจากภูเขา ขโมยไก่ไปจากเล้า คืนละตัวสองตัว           กว่าเดฟั่นจะทันสังเกต ไก่กำลังโตก็หายไปแล้วนับสิบตัว” (น. 112)

            เหตุการณ์ที่ 2 “ตอนแรกแทบไม่มีใครทันสังเกต ทุกสิ้นเดือนที่พ่อค้าเร่คนนั้นนำข้าวของมาขาย วันรุ่งขึ้นต้องมีใครสักคนในหมู่บ้านแถบเชิงเขาบรรทัดหายตัวไปอย่างเงียบ ๆ จนวันหนึ่ง กลุ่มเด็กหนุ่มที่ชอบมาจับกลุ่มพูดคุยกันเรื่องไก่ชนที่กระท่อมของน้ายักษ์ค่อย ๆ หายไป จำนวนหนึ่งเดินหายขึ้นไปบนภูเขา แต่อีกหลายคนไม่มีใครรู้ว่าพวกเขาหายไปไหน เดฟั่นจำไม่ได้วันหนึ่ง น้ายักษ์กระซิบกับเดฟั่นถึงความไม่ชอบมาพากลต่าง ๆ “น้าหมายถึงอะไร” เดฟั่นพูด“จำที่เธอเคยเล่าให้ฉันฟังได้มั้ย เรื่องไก่ที่หายไปอย่างเงียบ ๆ ตอนเด็ก ๆ” (น. 116)

            การใช้เหตุการณ์ 2 เหตุการณ์ที่คู่ขนานกันนี้ช่วยให้ตีความได้ว่า “ไก่” หมายถึงประชาชนที่มีอำนาจน้อย อยู่ในสถานะผู้ถูกล่า ส่วน “มูสัง” คือรัฐบาล มีสถานะเป็นผู้ล่า การที่มูสังขโมยไก่ไปกิน เปรียบเสมือนรัฐบาลที่ฆ่าประชาชน เสียแต่ว่ามูสังฆ่าเพียงร่างกายของไก่เพื่อการดำรงชีพเท่านั้น แต่รัฐบาลฆ่าประชาชนทั้งร่างกาย ความทรงจำ และจิตวิญญาณ เพื่อความยิ่งใหญ่ของตนเอง แท้จริงแล้วประชาชนไม่ต่างจากลูกไก่ในกำมือของรัฐบาล

            ข้อความที่กล่าวมาทั้งหมดแสดงให้เห็นว่า การแทรกแซงของรัฐบาลทำให้หมู่บ้านเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก แม้แต่ภูมินามของหมู่บ้านก็ถูกเปลี่ยนถึงสี่คำรบ นับตั้งแต่ชื่อ “หมู่บ้านคนเฆี่ยนเสือ” ซึ่งมีนัยของการเชิดชูตระกูลที่เป็นผู้สร้างหมู่บ้าน ต่อมาเปลี่ยนเป็น “หมู่บ้านฝนแสนห่า” ตามสภาพภูมิอากาศที่มีฝนตกชุกเกือบตลอดทั้งปี ก่อนที่มรสุมความขัดแย้งจะเข้ามาเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านเป็น “หมู่บ้านฝนแสนห่าเหนือและฝนแสนห่าใต้” และลงเอยที่ชื่อสุดท้ายคือ “หมู่บ้านกระสุนแสนห่า” อันนับเป็นชื่อที่สี่ ซึ่งเป็นชื่อที่สะท้อนให้เห็นความขัดแย้งอย่างรุนแรง หมู่บ้านกลายเป็นสมรภูมิที่มีกระสุนซัดสาดใส่ผู้คนแทนฝนที่เคยถะถั่งไหลจากฟากฟ้า

            นอกจากชื่อแล้ว แม้กระทั่งกลิ่นของหมู่บ้านก็เปลี่ยนไปด้วย จาก “กลิ่นหอมเย็นของดอกจำปาป่าฟุ้งกระจายในสายแดด ตอนแรก ทุกคนเข้าใจว่ากลิ่นหอมนั้นโรยรามาจากกลีบดอกจำปาป่า ครั้นพวกเขาคนหนึ่งวักน้ำล้างหน้า น้ำมีกลิ่นหอมเข้มข้นกว่ากลิ่นที่ฟุ้งอยู่ในอากาศเสียอีก” (น. 37) กลายเป็น “กลิ่นแปลกประหลาดโชยมากับกลิ่นป่า กลิ่นดิน กลิ่นความเศร้าและความสูญเสีย” (น. 229) รัฐบาลทำให้หมู่บ้านเปลี่ยนไปในทุกมิติ

            “เดฟั่น” เป็นตัวละครสำคัญที่สะท้อนความเปลี่ยนแปลงได้ชัดเจนที่สุด จาก “เด็กชายช่างจดช่างจำ รู้จักใบไม้ใบหญ้าทุกชนิดในหุบเขา ชอบฟังและชอบร้องเลียนเสียงนกป่า” (น.41) จู่ ๆ ก็ “มีวัตถุหนัก ๆ บางอย่างฟาดลงตรงท้ายทอย เขาล้มลงอีกครั้ง พยายามพยุงร่างขึ้นจากพื้น วัตถุนั้นฟาดซ้ำลงตรงตำแหน่งเดิม” (น. 263) แล้วเดฟั่นก็ถูกเหวี่ยงออกจากหมู่บ้าน “เขาก็กระเซอะกระเซิงเปิงเปิดไปในเขาวงกตลี้ลับ เร่ร่อนไปในผืนป่าเหมือนอุรังอุตังเสียสติ” (น. 19) จนสุดท้าย “มีเพียงแสงจันทร์วาบวับและแตกกระจายพรายพร่าอยู่ในหัว” (น. 21)

            ข้อความตัดตอนที่ยกมาวางเรียงต่อกันข้างต้น นอกจากจะแสดงให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของตัวละครหรือประชาชนคนหนึ่งก่อนและหลังจากโดนกระทำแล้ว ข้อความที่ขีดเส้นใต้ยังยั่วยุให้คิดได้อีก

            ตามที่เคยตั้งคำถามไว้ต้นบทวิจารณ์ว่า “เดฟั่นจำไม่ได้จริงหรือ และถ้าหากเดฟั่นจำไม่ได้จริง ๆ เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น” เราอาจได้คำตอบว่า เดฟั่นจำไม่ได้จริง ๆ ส่วนสาเหตุที่จำไม่ได้ก็มาจากการกระทำของรัฐบาล

            การที่เดฟั่นจำประวัติศาสตร์ของตนเองและชุมชนไม่ได้เป็นสิ่งที่สะเทือนใจอย่างมาก รัฐบาลกระทำกับ “เด็กชายช่างจดช่างจำ รู้จักใบไม้ใบหญ้าทุกชนิดในหุบเขา” คนหนึ่งให้กลายเป็นเดฟั่นผู้ที่จำอะไรไม่ได้เลย เดฟั่นกลายเป็นเด็กชายที่มีความทรงจำอันพร่าเลือนเหมือนกับแสงจันทร์ที่ “วาบวับและแตกกระจายพรายพร่าอยู่ในหัว” เดฟั่นจาก “เด็กชายผู้ร่าเริง ชอบเล่านิทานที่เขาแต่งขึ้นมาเองให้เพื่อน ๆ ฟัง” (น. 52) กลายเป็น “อุรังอุตังเสียสติ” ทั้งหมดล้วนเกิดมาจากการกระทำของรัฐบาลที่ใช้ “วัตถุหนัก ๆ บางอย่างฟาดลงตรงท้ายทอย” ของเดฟั่น  

            วัตถุหนัก ๆ ที่ว่านี้มิใช่ก้อนหิน ไม้ หรือกระบอกปืน แต่เป็นการนำเรื่องเล่าชุดใหม่ที่รัฐบาลเรียกว่าประวัติศาสตร์มาฟาดเรื่องเล่าอันเป็นความทรงจำดั้งเดิมของชุมชนให้สูญสลายไป เหมือนกับที่รัฐบาลฟาดเรื่องเล่าเกี่ยวกับปู่ทวดเสือด้วยข่าวลวงเรื่องเสือสมิง ฟาดเรื่องเล่าน้ำศักดิ์สิทธิ์โดยการฆ่าศพแล้วโยนลงไปในน้ำนั้น ฟาดความสามัคคีของชาวบ้านด้วยวาทกรรมเกลียดชังคอมมิวนิสต์เพื่อทำให้ชาวบ้านแตกคอกันเอง รัฐบาลฟาดซ้ำแล้วซ้ำเล่าเหมือนกับ “วัตถุนั้นฟาดซ้ำลงตรงตำแหน่งเดิม” สุดท้ายแล้ว “เรื่องเล่าเก่าก่อน(จึง)ถูกซ้อนทับด้วยเรื่องเล่าชุดใหม่ เรื่องของคนขี่เสือปลิวหายกลายเป็นเรื่องเล่าไกลโพ้นของศตวรรษเก่าก่อน” (น. 43) เดฟั่นจึงจำอะไรไม่ได้เลย อำนาจที่พร่ำช่วงชิงกันเหมือนจะมีผู้ชนะมาตั้งแต่ต้น

 

อ้างอิง

ศิริวร แก้วกาญจน์. (2564). เดฟั่น เรื่องเล่าของตระกูลคนเฆี่ยนเสือจากไทรบุรี. กรุงเทพฯ : ผจญภัยสำนักพิมพ์.

 

Visitors: 72,510