2023C003
จนกว่าโลกจะโอบกอดเราเอาไว้ :
ทว่าอ้อมแขนของ “โลก” เป็นเงื้อมเงาของ “ทุน”
วรโชติ ต๊ะนา
ความนำ
“เราจักสนทนา-ค่ำฟ้าหนาว เล่านิยายยืดยาวอยู่ที่นี่
บันทึกชีวิตบางบทเป็นบทกวี พรุ่งนี้จักเล่าให้โลกฟัง”
คำโปรยจากปกหลังของหนังสือรวมเล่มกวีนิพนธ์ “จนกว่าโลกจะโอบกอดเราเอาไว้” (ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1) ของ “ปาลิตา ผลประดับเพ็ชร์” แสดงให้เห็นถึงสารัตถะของกวีนิพนธ์เล่มนี้ไว้อย่างชัดเจน กล่าวคือ บทกวีกว่า 41 เรื่องล้วนเป็นเรื่องราวของคนในสังคมไทยปัจจุบัน ทว่ามองเพียงผิวเผินอาจเป็นเรื่องธรรมดากับการสร้างสรรค์บทกวีโดยใช้เรื่องเล่าที่คาดว่าทุกคนน่าจะมีประสบการณ์ร่วมมาเป็นวัตถุดิบตั้งต้น และไม่ได้มีความซับซ้อนหรือความมหัศจรรย์ใด ๆ ที่แสดงผ่านตัวบทออกมา แต่ก็น่าสนใจว่าบทกวีเหล่านี้กลับสร้างความหมายให้กับผู้อ่านได้อย่างไม่รู้จบ
ปาลิตาเลือกนำเสนอภาพสังคมไทยช่วงปี พ.ศ.2563 - 2565 ผ่านการแบ่งบทกวีออกเป็น 4 ภาค คือ เริ่มจาก ‘Pandemic : ยุคสมัยแห่งการแพร่พันธุ์’ เรื่องราวของยุคสมัยที่เต็มไปด้วย “ไวรัฐ” (ตามที่ปาลิตาจงใจเล่นเสียงกับคำว่า ‘ไวรัส’) ตามมาด้วยภาคสอง ‘Romanticize : เราจะทำให้ทุกอย่างโรแมนติก’ บทกวีที่เสียดสี ประชดประชันความคิดของคนบางกลุ่ม ต่อด้วยภาคสาม ‘จนกว่าโลกจะโอบกอดเราเอาไว้’ ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องราวอันโหดร้ายในสังคมที่ยากจะถ่ายถอนออกมาได้และล้วนเป็นเรื่องใกล้ตัวทั้งสิ้น และจบด้วยภาคสี่ ‘ไปสู่อ้อมกอดอันเป็นนิรันดร์’ นำเสนอแง่คิดต่อการใช้ชีวิตประจำวันที่เชื่อมโยงกับตัวตนและมีความหวังต่อไป ถือได้ว่าศิลปะการจัดวางเรื่องเล่ามีเอกภาพและสัมพันธภาพอย่างลงตัว
เมื่อพิจารณาลักษณะของรวมเล่มบทกวีเบื้องต้นแล้ว จะเห็นว่าเป็นรวมเล่มบทกวีที่สามารถ “เข้าถึง” ง่ายพอสมควรและกลายเป็นจุดเด่นของรวมเล่มบทกวีเล่มนี้อีกเช่นกัน แต่ใช่ว่าปาลิตาจะไม่ทิ้งสิ่งใดไว้ให้ตีความเลย และหนึ่งในนั้นที่น่าชวนคิดคือชื่อเรื่อง “จนกว่าโลกจะโอบกอดเราเอาไว้” ว่าแฝงเร้นไว้ซึ่งความหมายใด
โลกที่กำลังโอบกอดเราเอาไว้กับอุดมการณ์ที่ซ่อนอยู่
ความหมายของคำว่า “โลก” ในที่นี้คงไม่ได้หมายถึงดาวเคราะห์ในระบบสุริยะจักรวาลดวงหนึ่ง แต่หมายถึง สภาพความเป็นอยู่ของคนในสังคมเสียมากกว่า จากชื่อ “จนกว่าโลกจะโอบกอดเราเอาไว้” นั้น สามารถตีความได้ว่า สภาพความเป็นอยู่ในปัจจุบันไม่ได้พร้อมรองรับเราได้ จะเห็นได้จากปาลิตาเลือกใช้คำเชื่อมคำว่า “จนกว่า” หมายถึง กระทั่งถึงเวลานั้น ๆ ซึ่งแปลว่าเวลาที่ปรารถนานั้นยังมาไม่ถึง และใช้คำกริยาคำว่า “โอบกอด” หมายถึง เอาแขนอ้อมเอาไว้หรือโอบไว้ในวงแขน ซึ่งมีนัยของการเป็นพื้นที่ที่รองรับได้ หรือเป็นที่ที่สามารถป้องกันกำบังได้ ดังนั้นจากชื่อเรื่องจึงบ่งชี้ว่าเรื่องราวภายในหนังสือเล่มนี้เป็นการนำเสนอภาพที่ไม่ได้สวยงามตามอุดมคติในปัจจุบันนั่นเอง
หากจะมองภาพนั้นให้ชัดเจนยิ่งขึ้น อยากจะชวนพิจารณาถึงอุดมการณ์ที่ยังไหลเวียนอยู่ในสังคม ซึ่งการมองเข้าไปถึงอุดมการณ์ที่ว่านี้ จะทำให้เรารู้ถึงสภาพบริบทสังคมที่เราเป็นอยู่ว่าเรากำลังดำรงอยู่ภายใต้ค่านิยม ชุดความคิด หรืออำนาจใด
ปาลิตาชี้ให้เห็นอย่างตรงไปตรงมาว่าปัจจุบันกำลังอยู่ในอุดมการณ์ของทุนนิยม จะเห็นได้จากบทกวี “ราคาของอ้อมแขน” ที่ว่า
มีแขนของโลกเสนอขาย เชิญประมูลทั้งแขนซ้ายและแขนขวา
เพื่อผูกขาดอ้อมแขน – แข่งราคา โอ้! มูลค่าอ้อมแขน แพงเหลือเกิน (น.104)
บทกวีข้างต้นเผยให้เห็นถึงทุกอย่างบนโลกถูกแปรค่าให้กลายเป็นสิ่งที่มีมูลค่าในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม แม้แต่พื้นที่ที่รองรับหรือเป็นที่ที่สามารถป้องกันกำบังจากภัยต่าง ๆ ซึ่งเป็นนัยของอ้อมแขนที่ยังจำเป็นต้องมีทุนไว้สำหรับแลกเปลี่ยนพื้นที่แห่งความปลอดภัยอันปรารถนานั้นไว้ด้วย ทั้งยังจะเห็นได้อีกว่าปาลิตาเลือกใช้คำอย่าง “เสนอขาย” “ประมูล” “ผูกขาด” “แข่งราคา” สะท้อนถึงการมีอำนาจที่จะควบคุมตลาดเพื่อแสวงหาผลกำไรได้มากกว่าปรกติที่จะเป็นไปตามกลไกของตลาดนั่นเอง
นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่น่าสนใจอีกว่า “ทุน” ที่ปรากฏในตัวบท มิได้จำกัดความเพียงแค่เป็นเงินทุนหรือสิ่งที่จะนำไปใช้ผลิตสินค้าหรือบริการเท่านั้น แต่เป็นการทำให้ทุกอย่างกลายเป็นทุนไปเสียหมด ไม่ว่าจะเป็นค่านิยม วัฒนธรรม การศึกษา รวมไปถึงตัวตนของมนุษย์ (จะกล่าวถึงในประเด็นต่อไป) วิธีการดังกล่าวเป็นการกำหนดสังคมทุกมิติให้ดำเนินอยู่ภายใต้ตรรกะเช่นเดียวกับกิจกรรมในทางเศรษฐกิจ ลักษณะเช่นนี้สะท้อนถึงอุดมการณ์ของทุนนิยมแบบเสรีนิยมใหม่อีกด้วย
ดังนั้น ตัวตนของโลกที่โอบกอดเราไว้อยู่ คือ “โลกของทุนนิยม” ที่มีพื้นที่ไว้เพียงสำหรับผู้ที่มีต้นทุนในการผลิต หรืออาจจะหมายรวมถึงผู้ที่มีต้นทุนในการใช้ชีวิตก็ได้เช่นกัน ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ดีเมื่อมีต้นทุนมาก สิทธิ เสรีภาพที่จะประกอบการหรือแสดงตัวตนในสังคมย่อมมีมากเช่นกัน ทว่ามองในทางกลับกันโลกของทุนนิยมนี้อาจกลายเป็นเงื้อมเงาของปีศาจที่คอยปกคลุมชีวิตของผู้ที่มีต้นทุนต่ำหรือไร้ทุนให้ตกอยู่ภายใต้ความมืดดำของยุคสมัยก็ว่าได้
ปาลิตานำเสนอตัวบทที่มีลักษณะโครงสร้างเป็นคู่ตรงข้ามไว้อย่างชัดเจน กล่าวคือ มีภาพกว้าง ๆ ของคน 2 กลุ่ม คือ คนที่มีต้นทุนการดำรงชีวิตอยู่ในสังคม และคนที่มีต้นทุนไม่เพียงพอที่จะดำรงชีวิตอยู่ในสังคม ซึ่งในบทความนี้จะกล่าวถึงภาพของคนทั้งสองกลุ่มในประเด็นต่อไป
อ้อมแขนที่โอบกอดกับผู้มีทุน : คนที่มีต้นทุนการดำรงชีวิตอยู่ในสังคม
ภาพของคนกลุ่มที่มีต้นทุนการดำรงชีวิตมักจะปรากฏถึงความสะดวกสบาย มีอภิสิทธิ์อยู่เหนือคนอีกกลุ่มหนึ่ง และมักจะมีมุมมองต่อโลกอย่างสวยงาม (Romanticize) รวมถึงยังมีนัยของการผลักไสกลุ่มคนที่ไม่มีฐานะเช่นเดียวกับตนเองให้กลายเป็นอื่น ซึ่งตัวบทที่นำเสนอก็ตรงไปตรงมาอีกเช่นเคย ยกตัวอย่างได้จากบทกวีเรื่อง “บทสนทนาอันแปลกต่างท่ามกลางยุคสมัยแห่งการแพร่พันธุ์ ตอน บางบทสนทนาในมหานคร” ซึ่งเป็นบทสนทนาระหว่างแม่กับลูกที่อยู่ในช่วงกักตัวของการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 สะท้อนให้เห็นถึงวิถีการดำรงชีวิตของคนกลุ่มนี้ที่มีความพร้อมในทุก ๆ ด้าน เช่น การซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์ การไปเที่ยวต่างประเทศ หรือการมองวิกฤติให้เป็นเรื่องสวยงาม ดังนี้
นอนเล่นโซฟาช่างน่าเบื่อ หนูซื้อเสื้อออนไลน์ไว้หลายสี
คงพอใส่ไปเที่ยวอีกทั้งปี อิตาลี ญี่ปุ่น ฯลฯ หนูอยากไป
...
วิกฤตินี้ก็เข้าท่า หนูว่าไหม แต่ละวันผ่านไปไม่รีบเร่ง
ได้อยู่บ้าน อ่านนิยาย ได้ฟังเพลง แม้ข้างนอกยังวังเวง ช่างปะไร ! (น.16-17)
นอกจากนี้ยังพบอีกว่ากลุ่มคนที่มีต้นทุนการดำรงชีวิตมักจะมีวันพรุ่งนี้ที่แน่นอน กล่าวคือพวกเขาสามารถวางแผนอนาคตของตนเองหรือว่าครอบครัวได้ ทว่ายิ่งมีทุนมากก็สามารถสร้างโอกาสได้มากเช่นกัน จะเห็นได้จากบทกวีเรื่อง นิยามต่าง “วันพรุ่งนี้” ตอน พ่อซื้อวันพรุ่งนี้ไว้ให้ลูกแล้ว เช่น
... พ่อจะเปิดพอร์ตให้สองสามบัญชี
เทคนิคกราฟ – ศึกษาจังหวะซื้อ อ่านหนังสือนักเทรด, มหาเศรษฐี
แนวโน้มราคา ศึกษาดีดี เตรียมพร้อม เพื่อ ‘พรุ่งนี้’ นะลูกรัก (น.99)
และจากที่ได้เกริ่นในประเด็นก่อนหน้า “ทุน” มิได้อาจหมายถึงแค่เงินเท่านั้น ยังหมายรวมถึงตัวตนของมนุษย์ ซึ่งในที่นี้จะขอเรียกว่า “ทุนมนุษย์” คนกลุ่มนี้สามารถสร้างต้นทุนให้ตัวตนของตนเองได้เช่นกัน ซึ่งมักจะเป็นการสร้างจุดขายให้กับตัวเองเพื่อซื้อพื้นที่ในสังคม หากคนใดมีต้นทุนหรือพรสวรรค์มากโอกาสที่จะมีพื้นที่ที่โอบกอดหรือรองรับก็มีมากด้วย โดยเฉพาะปัจจุบันมีพื้นที่สื่อออนไลน์ที่พร้อมจะโอบรับไว้เสมอ ทั้งยังมีการเปรียบเทียบกับผู้อื่นเพื่อพัฒนาตนเองอันเป็นกลไกที่สำคัญอย่างหนึ่งของระบบทุนนิยม ดังจะเห็นได้จากบทกวี “เพื่อจะป่าวประกาศให้โลกรู้...” ดังนี้
ดูนี่สิ เพื่อนพ่อตอนมอต้น ลูกฝึกร้องเพลงสากลจนแตกฉาน
สำเนียงฝรั่งอลังการ เพิ่งโพสต์คลิปเมื่อวาน – สามพันไลก์
…
ลูกรักของพ่อก็ทำได้ ถ้าวันไหนฝึกหนักจนนิ้วด้าน
ลูกพ่อจะเลิศล้ำจะชำนาญ จะโซโล่เชี่ยวชาญไม่แพ้ใคร (น.97-98)
จะเห็นได้ว่าคนที่มีต้นทุนในการใช้ชีวิตนี้มักจะมีพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งไว้รองรับเสมอ นั่นถือว่าเป็นเรื่องดี ถ้าหากว่าในความเป็นจริงทุกคนมีต้นทุนแรกเริ่มเหมือนกันคงจะเกิดภาพดังกล่าวกับทุกคน แต่คงเป็นได้เพียงอุดมคติเท่านั้น เพราะในความเป็นจริงกลุ่มคนที่จะมีโอกาสเช่นนั้นเป็นเพียงส่วนน้อยของประชากรทั้งหมด ดังนั้นจึงน่าชวนคิดต่อว่าประชากรส่วนใหญ่ต้องประสบกับสภาพสังคมแบบใด
เงื้อมเงาของปีศาจกับผู้ไร้ทุน : คนที่มีต้นทุนไม่เพียงพอที่จะดำรงอยู่ในสังคม
เมื่ออุดมการณ์ของทุนนิยมครอบคลุมมาถึงทุกมิติในสังคม ผู้ที่มีต้นทุนน้อยจึงยากที่จะลืมตาอ้าปากได้ซึ่งมักจะเป็นประชากรส่วนใหญ่เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมด ประกอบกับตลาดบางอย่างถูกผูกขาดไว้ด้วยกลุ่มนายทุนแล้ว การเข้าถึงสิทธิและผลประโยชน์ย่อมเป็นไปได้ยากเช่นกัน
ภาพที่ปรากฏในบทกวีต่างเป็นความแร้นแค้นที่เกิดขึ้นได้ในสังคมชนบทและสังคมเมือง ซึ่งความแร้นแค้นนี้เกิดจากสภาพที่ควรจะเป็นกับความเป็นจริงไม่ตรงกัน กล่าวคือ ปัจจัยขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการอุปโภคบริโภคไม่ได้รับการจัดสรรให้ดีเท่าที่ควร ผลกระทบที่เกิดขึ้นจึงไม่สามารถแก้ไขได้อย่างถาวรและทั่วถึง “โลก” จึงไม่อาจโอบรับแต่กลับผลักไสให้กลายเป็นคนชายขอบของสังคมแทน ดังจะเห็นจากบทสนทนาของยายกับหลานในช่วงวิกฤติโควิด-19 จากบทกวีเรื่อง “บทสนทนาอันแปลกต่างท่ามกลางยุคสมัยแห่งการแพร่พันธุ์ ตอน บางบทสนทนาใต้หลังคาผุพัง” ดังนี้
หน้ากากผ้าเท่าที่มี – สี่ห้าผืน ใส่กลางวัน ซักกลางคืนจนด่างด้าน
มีข้าวปลายาไส้ไม่เต็มจาน ความข้นแค้นคืบคลานเต็มบ้านเรา
หนูต้องเรียนออนไลน์ในเทอมนี้ หนูไม่มีอะไรเหมือนใครเขา
อินเทอร์เน็ต คอมพิวเตอร์ เถอะ...ฝันเอา แค่มือถือเครื่องเก่ายังไม่มี (น.18)
ความขาดแคลนการจัดสรรปัจจัยขั้นพื้นฐานเหล่านี้ ต่างเป็นบ่อเกิดแห่ง “โรคละบาท” ซึ่งปาลิตาได้เสนอโรคไว้หลายโรคพร้อมบอกวิธีการแพร่พันธุ์ เช่น ‘โรค เรา ไม่เท่ากัน’ แพร่พันธุ์ง่าย จุดส่งเสริมการขายกระจายทั่ว ‘โรคเหลื่อมล้ำระยะสุดท้าย’ ขายถูกชัวร์ ‘โรคเฉยชากับความชั่ว’ ขายทั่วไป ‘โรคชอบเหยียบย่ำความเป็นมนุษย์’ ใน ‘กล่องสุ่ม’ ถูกสุดเราเซลให้ ‘โรคอัมพาตกัดทั่วเนื้อหัวใจ’ ‘โรคเรื้อรัง-โรแมนติไซซ์’ ก็ขายดี (น.35) น่าสังเกตว่าราคาของโรคเมื่อเปรียบเทียบกับราคาของอ้อมแขนที่ปาลิตาเสนอไว้ช่างแตกต่างกันสิ้นเชิง
นั่นหมายความว่านัยของการเข้าถึงพื้นที่อันตรายง่ายกว่าพื้นที่ปลอดภัยหรือที่ที่พร้อมรองรับ ทุนนิยมจึงกลายเป็นเงื้อมเงาของปีศาจที่คอยปกคลุม กดทับ กลุ่มคนเหล่านี้อยู่ เพราะเราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าปัญหาของความเหลื่อมล้ำมาจากระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมนี่เอง
ทางออกของคนกลุ่มนี้จึงมีไม่มากนัก อยู่ระหว่างอดทนต่อไปกับจบชีวิตตนเอง บทกวีที่นำเสนอจุดจบส่วนมากมักจะเป็นการจบชีวิตตนเอง เห็นได้ชัดเจนจากบทกวีเรื่อง “อ้อมอกเจ้าพระยา” ที่ตัวละครประสบปัญหาทางเศรษฐกิจแล้วไม่สามารถหาทางแก้ไขได้ ความหมิ่นเหม่ของชีวิตจึงนำพาเขาไปสู่จุดจบที่ว่า
แม่ครับ...ฝันดีนะครับ ลูกจะกลับบ้านหลังใหม่ ไม่รู้หนาว
จะฝันถึงค่ำคืนหมื่นแสนดาว จะหลับใหลนานยาว เจ้าพระยา. (น.112)
บทกวีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงคนที่ไม่สามารถรับมือหรือหาทางออกได้ จึงมักเลือกจบชีวิตตนเองไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่งมักจะพบมากในประเทศที่มีการแข่งขันทางสังคมสูง สิ่งที่หลบซ่อนอยู่ภายใต้การแข่งขันคือสภาวะความกดดันที่อาจพัฒนากลายเป็นโรคละบาทที่ชื่อว่า ‘โรคซึมเศร้า’ ได้ด้วย นี่จึงเป็นอีกหนึ่งเงื้อมเงาของปีศาจที่หลายคนอาจไม่ได้ตระหนักเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม อุดมการณ์ของทุนนิยมแบบเสรีนิยมใหม่สามารถเปลี่ยนตัวตนของตนเองให้เป็นทุนได้อย่างที่เรียกกันว่า “ทุนมนุษย์” ลักษณะการเป็นทุนมนุษย์ของคนกลุ่มนี้ต่างไปจากคนกลุ่มแรก กล่าวคือ ความสามารถ อัตลักษณ์ของบุคคลนั้น ๆ จะถูกเปลี่ยนไปเป็น “สินค้า” ของกลุ่มนายทุนทันที จริงอยู่ที่ว่าคนกลุ่มนี้จะมีโอกาสที่โลกจะโอบรับมากขึ้น และดูเหมือนว่าจะถูกต้องตามครรลองศีลธรรมในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ แต่ทว่าสิ่งเหล่านี้กลับเป็นสิ่งที่สามารถรังสรรค์อำนาจของกลุ่มนายทุนให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเห็นได้อย่างชัดเจนจากบทกวี “พรสวรรค์วาไรตี้ : เสียงตอบรับจากผู้ชมทางบ้าน” ที่ว่า
เด็กคนนี้เข้าท่า มึงว่าไหม น่าจะเรียกยอดไลก์ได้หลายหลัก
มาต่อยอด คงยอดชมถล่มทะลัก ดึงดราม่าให้หนักกว่ารายการ
...
มึงรีบหาสปอนเซอร์มาให้ไว มารับบทผู้ให้ผู้ใจบุญ
วินวินทุกฝ่าย ว่าไหมมึง เด็กคนหนึ่งก็ได้รับการสนับสนุน
ช่องของเราซับสไครบ์ก็ได้ลุ้น พวกนายทุนก็ได้ทำ ‘ซี เอส อาร์’. (น.70-71)
ดังนั้นเมื่อย้อนกลับไปมองจุดเริ่มต้นที่ว่าต้นทุนจากคนกลุ่มนี้เป็นได้เพียงสินค้า และกลายเป็นเครื่องมือตอบสนองความใคร่ทางศีลธรรมของคนในสังคมเท่านั่นเอง อาจกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่าการระบุตัวตนให้คนหนึ่ง ๆ กลายเป็นสินค้าที่สามารถสร้างผลกำไรให้ผู้ประกอบการได้ ก็ไม่ต่างไปจากการลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ และเมื่อผนวกกับแนวคิดของเสรีนิยมใหม่ที่มองทุกอย่างให้มีตรรกะเช่นเดียวกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้วยแล้ว ผลลัพธ์สุดท้ายอาจกลายเป็นสูญสลายทางตัวตนให้กลืนกลายในระบบทุนนิยมอย่างชนิดที่ว่าเราเองก็ไม่ทันได้ตั้งตัว
อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจ คือการแทรกซึมวิธีการทางธุรกิจเข้าไปถึงตัวตนมนุษย์ นั่นคืออุดมการณ์ของเสรีนิยมใหม่ที่สามารถแผ่ซ่านถึงทุกมิติของสังคม เพราะอุดมการณ์นี้เกิดขึ้นในระบบคิด ทัศนคติต่อการมองสิ่งรอบตัวให้ทุกอย่างสามารถเป็นทุนและผลิตผลกำไรได้ วงการการศึกษาก็คงหนีไม่พ้น กวีนิพนธ์เล่มนี้ปรากฏอยู่ในเรื่อง “404 NOT FOUND – ไม่เคยถูกค้นพบ” เป็นเรื่องเล่าของเด็กหลังห้องเรียนที่ครูไม่สนใจเสมือนกับว่าไม่เคยมีตัวตนในห้องเรียน เผยให้เห็นถึงนัยของคนที่มีต้นทุนน้อย เมื่ออยู่ในสภาพสังคมที่ต้องมีการแข่งขันกันตลอดเวลาและโรงเรียนหรือครูต่างให้ค่ากับเด็กที่มีต้นทุนสูงที่ได้รับขนานนามว่าเป็นเด็ก ‘แถวหน้า’ ไม่ว่าจะเป็นทุนทางความรู้หรือทุนทางสังคมล้วนมีผลทั้งสิ้น ดังจะเห็นได้จาก
ชื่อของเพื่อน ‘แถวหน้า’ ช่างน่าฟัง ถูกเรียกขานหลายครั้งผมฟังอยู่
คงเห็นชัดกว่าใคร – ลายมือครู ทั้งความรัก ความรู้ อยู่ตรงนั้น (น.92)
เด็ก ‘แถวหลัง’ ย่อมถูกผลักไสให้ไปอยู่ชายขอบของโรงเรียนได้โดยไม่ได้รับการดูแลจากครูเท่าที่ควรจะเป็น จึงเกิดเป็นภาพทับซ้อนกัน ไม่ว่าจะเป็นสังคมเล็กหรือสังคมใหญ่ สำหรับผู้มีต้นทุนน้อยซึ่งไม่เพียงพอที่จะอยู่ในพื้นที่รองรับอันปลอดภัยของสังคมได้ ต้องตกอยู่ในชะตากรรมเช่นนี้ไปอย่างไม่จบสิ้น
จากที่กล่าวมาในประเด็นนี้ “โลก” จึงไม่ได้โอบกอดพวกเขาเอาไว้ ซ้ำร้ายยังถูกผลักไสออกไปไกลจากอ้อมแขนของโลกมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากปัญหาความเหลื่อมล้ำยังไม่มีนโยบายใดที่จะนำมาแก้ไขได้อย่างถาวร ภาพที่เกิดขึ้นผ่านบทกวี ตัวละครจึงยังต้องจำนนต่อชะตาชีวิตตนเองต่อไปอีกเรื่อย ๆ หรือไม่ก็ต้องเลือกจบชีวิตของตนเองอย่างน่าสลดใจ ดังนั้นจึงน่าจะสมควรแก่เหตุและผลแล้วว่าในโลกของผู้มีต้นทุนน้อย สภาพสังคมภายใต้ระบอบทุนนิยมเป็นเงื้อมเงาแห่งปีศาจที่คอยกดทับ แพร่ขยายปกคลุมพื้นที่ให้มีแต่ความมืดดำ
ความตาม
จากที่ได้นำเสนอไปในบทความนี้ เห็นได้ว่าปาลิตาไม่ได้ตัดสินว่าสิ่งใดผิด สิ่งใดถูกต้อง เพียงนำเสนอ “ภาพ” ในโลกของทุนนิยมทั้งด้านบวกและด้านลบ กล่าวคือ เป็นการนำเสนอข้อดีและข้อเสียของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมให้เห็นเป็นรูปธรรมเสียมากกว่า ซึ่งข้อดีแสดงผ่านกลุ่มผู้มีทุนไว้ว่าแต่ละบุคคลสามารถดำเนินกิจกรรมชีวิตประจำวันของตนได้อย่างเสรี และมีการแข่งขันเพื่อให้เกิดการพัฒนาอยู่เสมอ ส่วนข้อเสีย คือก่อให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำชัดเจน ผู้มีต้นทุนสูงจะได้เปรียบผู้ที่มีต้นทุนต่ำกว่า ทั้งยังแสดงให้เห็นถึงการผูกขาดสินค้าหรือบริการสาธารณะบางประการที่ยังจัดสรรดูแลไม่ทั่วถึง และไม่ก่อให้เกิดการพัฒนาด้วย
ปาลิตาจึงไม่ได้ปฏิเสธระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม บทกวีส่วนมากจึงกระตุ้นให้ผู้อ่านได้ฉุกคิดเสียมากกว่าว่าต้นตอของปัญหานั้นเกิดขึ้น ณ จุดใดและเป็นใคร เห็นได้ชัดจากบทกวี “ฉันถนอมเอาไวให้เธอแล้ว” ที่สามารถวิพากษ์วิจารณ์สังคมให้เห็นถึงเหตุผลของการรักษาความเหลื่อมล้ำเอาไว้อย่างแยบยล ดังนี้
เป็นตัวประกอบขับเน้นความมั่งคั่ง เป็นฉากหลังของชนชั้นบรรดาศักดิ์
ให้ถนอมความจนไว้ไหม ที่รัก จะสงวนความอัปลักษณ์ไว้นานา
เธอจะได้บริหารบารมี ได้พื้นที่กิจกรรมเสริมวาสนา
เธอจะมีที่ให้เธอทอดสายตา อันอิ่มเอมเต็มศรัทธาให้สาใจ (น.60)
เมื่อปัญหาสังคมมิอาจถอนรากถอนโคนได้เพราะเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่ต้องใช้องคาพยพของสังคมในการแก้ไขปัญหานี้ ปาลิตาจึงเลือกนำเสนอบทกวีที่เสริมแรงให้กำลังใจให้ผู้อ่านยืนหยัดและกล้าเผชิญกับสภาพความเป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งปรากฏในภาคสี่ : ไปสู่อ้อมอกอันเป็นนิรันดร์
และตราบใดที่อ้อมแขนของ “โลก” ยังเป็นเงื้อมเงาของ “ทุน” บทกวีของปาลิตาคงช่วยปลอบประโลมจิตใจที่อยู่ภายใต้ความมืดหม่นและตีบตัน ดังที่ว่า
“ชีวิตเย้าเจ้าเล่นอยู่เช่นนี้ โศกร่ำ-ปรีดี, มิอาจหยั่ง เปลชีวิตเห่ไกวในทุกครั้ง เจ้าจงเอาความหวังเป็นหลังพิง และเปลเก่ายังโยนไกวในเร็ว-ช้า กล่อมหัวใจเหว่ว้าและไหววิ่ง โอละเห่ทุกความหวัง, ทั้งความจริง กว่าชีวิตสนิทนิ่งในนิทรา... “ (น.154)
เอกสารอ้างอิง
ปาลิตา ผลประดับเพ็ชร์. (2565). จนกว่าโลกจะโอบกอดเราเอาไว้. บุรีรัมย์ : โรงพิมพ์วินัย.