แล้วความรักก็ถูกเผาเป็นเถ้าบุหรี่

กับความสัมพันธ์ในโลกยุคใหม่

สุชานาถ บูรณสันติกูล

 

 

            Ashtray แล้วความรักก็ถูกเผาเป็นเถ้าบุหรี่ เป็นวรรณกรรมขนาดสั้นของ ชลกร เจ ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์พีเอชพับลิชชิ่งซึ่งขึ้นชื่อเรื่องการตีพิมพ์เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์บุคคล ผลงานเล่มนี้ก็เป็นเช่นนั้น เป็นเรื่องราวของนักเขียนนามปากกา ‘จารึก’ ที่เขียนหนังสือถึง ‘พี่’ ชายที่ตนรักและมีความสัมพันธ์ที่คล้ายคนรักแต่กลับไม่ใช่คนรัก แล้วเขาก็ได้พบ ‘พี่’ ในงานเปิดตัวหนังสือของตน

            แล้วความรักก็ถูกเผาเป็นเถ้าบุหรี่ สะท้อนถึงความเป็นไปในสังคมสมัยใหม่ ทั้งตัวละครที่มีความลื่นไหลทางเพศ และรูปแบบความสัมพันธ์ในเรื่องที่อาจเป็นผลจากเศรษฐกิจและสังคม โดยจะกล่าวถึงในหัวข้อถัดๆ ไป

            นอกจากนี้หนังสือเล่มนี้ยังมีลักษณะของวรรณกรรมโพสต์โมเดิร์นหรือวรรณกรรมยุคหลังสมัยใหม่ โดยเป็น Metafiction หรือเรื่องแต่งที่พูดถึงเรื่องแต่ง ซึ่งสาระสำคัญในเรื่องนี้คือนิยายที่จารึกเป็นผู้เขียนขึ้นอีกที การเล่าเรื่องไม่เรียงตามลำดับเวลา ผู้อ่านไม่สามารถเชื่อถือตัวละครผู้รับหน้าที่เป็นผู้เล่าเรื่องได้ ดังที่ตัวละคร ‘ผม’ ในนิยายที่จารึกเขียนบรรรยายความคิดของตนว่า ‘ผมอยากเขียนเพื่อขังพี่ไว้ในตัวอักษร พี่จะไม่สามารถโต้แย้งหรือขัดขืนใดๆ กับสิ่งที่ผมเขียนถึงได้ พี่จะถูกประกอบสร้างให้เป็นเช่นนั้นตลอดกาล’ (หน้า 56-57)

           

ความลื่นไหลทางเพศของ ‘พี่’ และความสัมพันธ์แบบไร้กฎเกณฑ์

          ตัวละคร ‘พี่’ ตามคำบรรยายของ ‘ผม’ มีลักษณะเป็นเพศชายที่มีความผูกพันลึกซึ้งกับ ‘ผม’ ซึ่งเป็นเพศชายเช่นกันถึงขั้นจูบกัน แต่ขณะเดียวกัน ‘พี่’ ก็ออกเดทกับผู้หญิงด้วย ‘พี่’ จึงอาจเป็นได้ทั้ง Bisexual ที่มีความรักได้ทั้งกับเพศชายและหญิง, Pansexual ที่มีความรักได้โดยไม่จำกัดเพศ, Queer ที่มีความรักได้โดยไร้กฎเกณฑ์ทางเพศ ไม่จำกัดว่าตนเป็นเพศใดและต้องรักเพศใด หรือกระทั่งว่าอาจเป็น Female to Male Transgender ซึ่งเป็นผู้ชายที่ได้รับการแปลงเพศมาจากผู้หญิงเรียบร้อยแล้วก็เป็นได้

             นอกจากนี้ตัวละคร ‘พี่’ ยังมีความสัมพันธ์ต่อผู้อื่นในแบบที่เข้าข่ายความสัมพันธ์ที่เรียกว่า Relationship Anarchy หรือความสัมพันธ์ที่ไร้กฎเณฑ์ โดย ‘พี่’ กับ ‘ผม’ วางตัวเหมือนคนรักตามความเข้าใจของสังคม เรียกอีกฝ่ายว่า ‘เบบี้’ แบบที่คู่รักบางคู่ใช้เรียกกัน แต่ทั้งคู่ก็ไม่ได้ตกลงเป็นคนรัก ถึงอย่างนั้น ‘พี่’ ก็ให้ความสำคัญกับ ‘ผม’ เป็นอย่างมาก ไม่ได้ยึดถือว่าความสัมพันธ์แบบไหนมีความสำคัญมากกว่าความสัมพันธ์แบบไหนตามที่สังคมมักกำหนด เช่น ใครหลายคนยึดถือว่าคนรักสำคัญกว่าเพื่อนสนิท รวมทั้งไม่ได้แสดงออกว่าให้ความสำคัญกับ ‘ผม’ หรือผู้หญิงที่ตนออกเดทด้วยมากกว่ากัน

            ความสัมพันธ์แบบ Relationship Anarchy ยังรวมถึงความสัมพันธ์แบบ Polygamy หรือการมีคนรักหลายคนโดยได้รับความยินยอมจากทุกคนในความสัมพันธ์ ‘พี่’ ซึ่งมีความผูกพันใกล้ชิดกับทั้ง ‘ผม’ และผู้หญิงอีกคนพร้อมกันจึงมีแนวโน้มที่จะมีความสนใจในความสัมพันธ์แบบ Polygamy แม้จะยังไม่ได้ตกลงปลงใจให้สถานะกับใครว่าเป็นคนรักก็ตาม แต่การวางตัวของ ‘พี่’ กับ ‘ผม’ ก็แทบไม่ต่างจากคนรัก อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์แบบ Polygamy ต้องได้รับความยินยอมจากทุกคนในความสัมพันธ์ ทว่า ‘ผม’ ยังคงเจ็บปวดจาการที่ ‘พี่’ มีความสัมพันธ์กับผู้หญิงอีกคน ความสัมพันธ์นี้จึงไม่น่าจะพัฒนาไปเป็นความสัมพันธ์แบบ Polygamy ได้

            ความสัมพันธ์ระหว่าง ‘พี่’ และ ‘ผม’ ยังตรงกับความสัมพันธ์ที่เรียกว่า Situationship หรือการคบหาแบบไม่มีสถานะ ไม่ให้ความสำคัญกับอนาคต สิ่งสำคัญที่สุดคือการใช้เวลาด้วยกันในปัจจุบัน ไม่เคยพาคนที่คบหาไปแนะนำให้เพื่อนหรือครอบครัวรู้จัก ไม่ป่าวประกาศถึงความสัมพันธ์ ไม่มีความสัมพันธ์ทางเพศเพราะอาจเป็นการสร้างการผูกมัดทางความรู้สึก เหมือนดังปรากฏในหน้า 22 ว่าแม้ ‘ผม’ จะสัมผัสร่างกายส่วนต่างๆ ของ ‘พี่’ แต่เมื่อการสัมผัสเริ่มดูจะขยับไปไกลมากกว่านั้น ‘พี่’ ก็พลิกตัวนอนหงายเป็นการส่งสัญญาณให้หยุด แล้วทั้งคู่ก็นอนหลับโดยไม่มีความสัมพันธ์เกินเลยไปมากกว่าการจูบ

          ถึงอย่างนั้นการไม่มีสถานะก็ทำให้ทั้งสองฝ่ายรู้สึกไม่มั่นคง โรเบิร์ต สเติร์นเบิร์ก นักจิตวิทยา ได้เสนอเอาไว้ในทฤษฎีสามเหลี่ยมความรักว่าความรักโรแมนติกในอุดมคติมีองค์ประกอบสามอย่าง ได้แก่ ความสนิท (Intimacy), ความเสน่หา (Passion) และความผูกมัด (Commitment) หากมีเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งก็อาจเป็นความสัมพันธ์รูปแบบอื่นที่ไม่ใช่ความสัมพันธ์โรแมนติกแบบคู่ชีวิตที่จะอยู่ด้วยกันไปตลอด เช่น หากมีแค่ความเสน่หา ก็จะเป็นเพียงความสัมพันธ์ทางเพศเท่านั้นโดยไม่มีการพัฒนาต่อ

            การมีความผูกมัด (Commitment) นั้นเป็นการตกลงปลงใจว่าความสัมพันธ์จะคงอยู่ในระยะยาว เป็นการยืนยันว่าความสัมพันธ์จะพัฒนาต่อไปในอนาคต เมื่อ ‘พี่’ และ ‘ผม’ ไม่มีสถานะจึงต่างฝ่ายต่างกลัวการที่ต้องเสียอีกฝ่ายไป ตามที่ปรากฏในหน้า 42-44 ‘พี่’ บอกว่ากลัวจะเสีย ‘ผม’ ไป ถึงแม้ ‘พี่’ จะเป็นฝ่ายบอกเองว่า ‘อย่าผูกมัดตัวเอง’ ตอนที่ ‘ผม’ บอกว่าจะไม่ไปไหน ขณะที่ ‘ผม’ นึกในใจโดยไม่ได้พูดออกไปว่ากลัวจะเสียเขาไปเช่นกัน

            บุหรี่เป็นสัญลักษณ์สำคัญที่ปรากฏในชื่อเรื่องและหลายฉากหลายตอนในเรื่อง สื่อความหมายถึงความรักโรแมนติกระยะสั้นเหมือนชั่วขณะก่อนที่บุหรี่จะลุกไหม้จนหมด ทั้งยังให้โทษต่อผู้สูบ เช่นเดียวกับที่ ‘ผม’ เจ็บปวดกับความสัมพันธ์ที่ปราศจากสถานะ เห็นได้จากหน้า 68 ‘ผม’ บรรยายถึงบุหรี่ว่า ‘ผมสะดุ้งลืมตาโพลงเมื่อไฟจากบุหรี่ลามเลียจากปลายมวนมาลวกปลายนิ้ว ไฟรักลามขึ้นแขนมาลวกหัวใจของผมไม่ต่างกัน’ ให้ภาพของความสัมพันธ์ที่กำลังจะสิ้นสุดโดยไม่ทันรู้ตัวและความรักนั้นก็เผาไหม้หัวใจของเขา หรือในหน้า 62 ‘ผม’ ขอบุหรี่จาก ‘พี่’ ในการพบกันครั้งแรกที่ ‘ผม’ เริ่มตกหลุมรัก ‘ผม’ บอกว่า ‘ผมเลือกสูบของผมเอง’ ขณะที่พี่ตอบว่า ‘พี่ก็เลือกที่จะไม่ให้’ เหมือนกับความสัมพันธ์ของคนทั้งคู่ที่ ‘ผม’ ต้องการสถานะคนรักแต่ ‘พี่’ กลับไม่สามารถให้ได้ ทั้งยังเตือน ‘ผม’ ว่าหากตกหลุมรักเขาแล้วจะต้องเจ็บปวดอย่างหนัก แต่ ‘ผม’ ก็ยังเลือกจะอยู่ในความสัมพันธ์นี้ด้วยตัวเอง

 

ปัจจัยทางสังคมต่อทัศนคติด้านความรักและความสัมพันธ์แบบไม่ผูกมัดของคนสมัยใหม่

          ทัศนคติด้านความรักและการแต่งงานของคนแต่ละยุคสมัยล้วนต่างกันไปตามสภาพเศรษฐกิจและสังคม โดยในช่วงศตวรรษที่ 17 การแต่งงานในยุโรปเกิดจากปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความรู้สึกส่วนตัว เป็นการส่งต่อทรัพย์สมบัติและผลประโยชน์ทางการเมืองในชนชั้นสูง เป็นการจัดการแรงงานทางการเกษตรสำหรับชาวนา

            แนวคิดเรื่องความรักโรแมนติกก่อตัวขึ้นในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 โดยผูกโยงกับเสรีภาพในการเลือกคู่ครอง การนิยามตัวเอง และการแต่งงานเพื่อความรัก ซึ่งแนวคิดนี้ได้มาพร้อมกับความสำคัญของแนวคิดเรื่องปัจเจกนิยม หรือความสำคัญของตัวตนส่วนตัวของตนเอง ขณะที่ในสังคมก่อนยุคอุตสาหกรรม ความเป็นปัจเจกสำคัญน้อยกว่าสังคมส่วนรวมอย่างครอบครัว หมู่บ้าน หรือรัฐ บุคคลจึงขาดเสรีภาพในการตัดสินใจ

            การเติบโตของทุนนิยมทำให้เกิดการแข่งขันในการสะสมทุนของปัจเจกบุคคคลสูงขึ้น พร้อมๆ กับที่ความสำคัญของปัจเจกชนเพิ่มมากขึ้น ความรักโรแมนติกเป็นสิ่งที่ช่วยบรรเทาความตึงเครียด โดยหากคู่แต่งงานไม่มีความรักโรแมนติกแล้ว ปัจเจกชนสองคนที่ต้องใช้ชีวิตด้วยกันก็คงทนทุกข์ทรมานอย่างหนักจากการยึดถือความเป็นตัวของตัวเอง โดยในอดีตที่ผู้คนอาศัยอยู่ในสังคมแบบรวมหมู่ คู่ชีวิตล้วนมาจากสังคมเดียวกัน ความสัมพันธ์ของครอบครัวเป็นส่วนหนึ่งของความสัมพันธ์ในชุมชน ขณะที่ในสมัยใหม่ซึ่งเน้นความเป็นปัจเจก คู่ชีวิตเป็นคนแปลกหน้าที่ไม่มีความเกี่ยวข้องใกล้ชิดใดๆ มาก่อนจะพัฒนาความสัมพันธ์ การมีความรักโรแมนติกทำให้คนแปลกหน้าอีกคนสามารถเป็นคู่ชีวิตซึ่งเป็นตัวตนที่มีความสำคัญที่สุดคนหนึ่งในชีวิตปัจจุบัน ความรักโรแมนติกจึงกลายเป็นความรู้สึกสำคัญที่ต้องบรรลุให้ได้เพื่อที่จะใช้ชีวิตร่วมกับปัจเจกชนอีกคนอย่างใกล้ชิด โดยความรักโรแมนติกทำให้คนยอมลดความเป็นตัวเองลงเพื่อคนที่ตนรัก

            ‘ผม’ เปลี่ยนแปลงตัวตนของตัวเองเพราะ ‘พี่’ ตามบทสนทนาที่ปรากฏในหน้าที่ 15 ว่า ‘พี่เล่นงอแงกว่า ผมก็ต้องสงบสิ’ ‘เห็นไหม แค่ปีเดียว พี่เปลี่ยนเราไปขนาดนี้’ ‘ผม’ ยอมเสียสละความเป็นตัวเอง ทำร้ายตัวเองเพื่ออีกฝ่ายตามคำบรรยายในหน้า 71 ที่บอกว่า ‘ผมรักพี่มากจนยอมเผาตัวเองเพื่อให้พี่อบอุ่น’ คงจะมีแต่การโอบกอดความรักโรแมนติกในอุดมคติที่ทำให้ใครคนหนึ่งยอมเสียสละตัวเองถึงขนาดนั้นได้เพื่อประครองความสัมพันธ์กับใครอีกคนที่ไม่ใช่คนในครอบครัวในสังคมที่ให้ความสำคัญกับความเป็นตัวเอง

            การมีอิสรภาพทางการเงินเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดความรักโรแมนติก ทำให้คนมีอิสระที่จะมีความสัมพันธ์โดยขึ้นอยู่กับความรู้สึกของตนเอง ไม่ใช่เกิดจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 20 ความรักก็เชื่อมโยงอย่างยิ่งกับการบริโภค โดยมีวัฒนธรรมการออกเดทเพื่อศึกษาดูใจเข้ามาแทนที่วัฒนธรรมการไปเยี่ยมเยียนที่บ้าน ใช้เวลาว่างทำกิจกรรมที่สนใจร่วมกันที่ไหนสักแห่ง และซื้อของขวัญให้อีกฝ่าย สิ่งเหล่านี้ล้วนจำเป็นต่อการกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นอยู่เสมอ เมื่อความรักไม่สามารถแยกขาดจากการบริโภค สภาพเศรษฐกิจจึงส่งผลต่อทัศนคติด้านความรักโดยตรง

            การบริโภคเช่นนี้ปรากฏขึ้นในความสัมพันธ์ระหว่าง ‘ผม’ กับ ‘พี่’ ตลอดทั้งเรื่อง ตั้งแต่การพบกันครั้งแรกในร้านกาแฟ การไปต่างจังหวัดอย่างเชียงใหม่และปราณบุรี การไปร้านเหล้า การชวนไปคอนเสิร์ต การมีประสบการณ์ทางความรักโรแมนติกในรูปแบบนี้ พัฒนาความแน่นแฟ้นผ่านการใช้เวลาในที่ต่างๆ ร่วมกันล้วนจำเป็นต้องใช้เงิน เป็นการสะท้อนภาพความสัมพันธ์โรแมนติกของคนชนชั้นกลางที่มีเงินมากพอจะทำกิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจเหล่านี้ แต่ก็ไม่ได้มีอิสระทางการเงินโดยสิ้นเชิง สิ่งหนึ่งที่บ่งบอกความเป็นชนชั้นกลางของตัวละครทั้งสองคือการใช้ขนส่งสาธารณะอย่างรถไฟฟ้าที่มีคนแน่นขนัดแทนการมีรถส่วนตัวหรือการนั่งรถที่สบายกว่าอย่างรถแท็กซี่

            ความสัมพันธ์แบบ Situationship พบได้มากขึ้นในสังคมปัจจุบัน เป็นผลมาจากปัญหาทางด้านการเมืองและสังคม ปัญหาเศรษฐกิจและเงินเฟ้อซึ่งรุนแรงกว่ายุคก่อนหน้าที่ผ่านมา ทำให้ไม่สามารถวางแผนด้านการเงินและอนาคตในระยะยาวได้ ด้วยเหตุนี้ความรักในยุคปัจจุบันที่เชื่อมโยงกับการบริโภคจึงประสบความสำเร็จได้ยากขึ้น คนรุ่นใหม่ต่างมองหาความมั่นคงทางการเงินและการงานของตัวเองก่อน การผูกมัดอาจทำให้ต้องสูญเสียความมั่นคงไปจากการทุ่มเทเวลา ความรู้สึก และการเงินเพื่อบุคคลอื่น ดังนั้นการมีความสัมพันธ์แบบ Situationship จึงเหมาะสมที่สุดสำหรับการตามหาตัวตนทางเพศและนิยามตนเอง

            ในความสัมพันธ์ระหว่าง ‘พี่’ กับ ‘ผม’ มี ‘ผม’ เป็นผู้เล่าเรื่อง จึงไม่อาจทราบความจริงได้ว่าเหตุใด ‘พี่’ จึงไม่คิดจะผูกมัดในความสัมพันธ์กับใครสักคนกันแน่ ตามที่ ‘พี่’ เคยบอกว่า ‘พี่มีความสามารถพิเศษเรื่องทำให้คนตกหลุมรัก แค่นั้นไม่พอนะ คนที่ตกหลุมรักพี่จะรู้ได้เองว่าพี่จะอยู่กับเขาไม่นาน’ (หน้า 77) ครั้งที่ดูจะเปิดเผยเหตุผลมากที่สุดก็บอกเพียงแค่ว่า ‘พี่บอกว่าพี่ก็รักผม รักมากจนไม่อยากเสียผมไปจากการกระทำของตัวเอง เราต่างรู้ เรารักกันแต่เราคบกันไม่ได้’ (หน้า 72) อาจเป็นไปได้ว่า ‘พี่’ กลัวการผูกมัดจากประสบการณ์ในอดีตที่ไม่เปิดเผย หรืออาจเป็นได้เช่นกันว่าอาจเป็นเหตุผลจากปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจและสังคมยุคใหม่ตามที่ได้กล่าวไปจึงไม่อาจลงหลักปักฐาน สร้างความสัมพันธ์ระยะยาวกับใครได้

            และด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคมเช่นกันที่เป็นเหตุผลหนึ่งซึ่งทำให้สถานะของการมีคนรักเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งในสังคมที่ความเหงากัดกินปัจเจกชนและสื่อบันเทิงก็ต่างเน้นย้ำความงดงามของความรักโรแมนติก ‘ผม’ จึงไม่อาจมีความสุขโดยปราศจากความเจ็บปวดได้ทั้งที่มี ‘พี่’ อยู่ข้างๆ โดยวางตัวเหมือนคนรัก แต่กลับไม่ได้สถานะเป็นคนรัก

           

ในโลกของการกำหนดความหมาย

          วรรณกรรมแต่ละยุคสมัยไม่ว่าจะเป็นวรรณกรรมแนวไหนล้วนสะท้อนสภาพสังคม วิถีชีวิต และแนวคิดของคนในยุคสมัยนั้นๆ เช่นเดียวกับวรรณกรรมเรื่อง Ashtray แล้วความรักก็ถูกเผาเป็นเถ้าบุหรี่ เล่มนี้ซึ่งได้สะท้อนความสัมพันธ์ของคนชนชั้นกลางในสมัยใหม่ ทั้งเรื่องเพศและทัศนคติต่อความรักล้วนเป็นสิ่งประกอบสร้างของสังคมในแต่ละยุคสมัย ชวนให้ผู้อ่านได้คิดว่ารูปแบบความสัมพันธ์และการดำเนินชีวิตของคนในสังคมล้วนเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ การยึดติดกับกรอบความคิดเดิมๆ อาจทำให้ตัวเองหรือใครสักคนต้องเจ็บปวด การเปิดใจยอมรับความแตกต่างหลากหลายที่ไม่ทำร้ายผู้อื่นอาจเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้คนอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข

           

อ้างอิง

ตนุภัทร โลหะพงศธร. (22 พฤศจิกายน 2563). ระหว่างเราคืออะไร, ไม่รู้ว่าคบกันแบบไหน: situationship
          ความสัมพันธ์แบบใส่ใจ แต่ไร้สถานะ. https://becommon.co/life/situationship/

ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี. (2019). รักโรแมนติกในมุมมองสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา.
          วารสารสังคมศาสตร์, 23(1-2), https://so04.tci-thaijo.org/index.php/jss/article/view/169012/121605

พงศ์มนัส บุศยประทีป. (12 กุมภาพันธ์ 2564). สามเหลี่ยมความรัก : ตอนนี้เรารักกันแบบไหน.
          
https://thepotential.org/life/triangular-theory-of-love/#:~:text=องค์ประกอบสามเหลี่ยม
          ความรักของ,นี้ต่อไปนานๆ

มนูญ วงษ์มะเซาะห์. (27 เมษายน 2564). ทำความรู้จักกับ  LGBTQI ตัวย่อที่มีความหมาย และประเด็นที่น่าสนใจ
          ในความก้าวหน้าของกลุ่ม LGBTQI ในปี 2020
. https://www.amnesty.or.th/latest/blog/860/

รื่นฤทัย สัจจพันธุ์. (2002). เมตาฟิกชันในงานเรื่องสั้นสมัยใหม่ของไทย. วารสารราชบัณฑิตยสถาน, 27(3),
           http://legacy.orst.go.th/wp-content/uploads/royin-ebook/199/FileUpload/142_2590.PDF

THE MOMENTUM TEAM. (17 ตุลาคม 2565). Gen Z กำลังเป็นคนรุ่น ‘ทุกข์ระทม’ เงินเฟ้อ ค่าครองชีพ
          อสังหาฯ ทะยาน ทำโอกาสสร้างตัวริบหรี่กว่าวัยอื่น
.https://themomentum.co/worktips-gen-z-recession/

Visitors: 72,501