2023C005

ผมเป็นหอย ส่วนเขาเป็นหมึก:

มนุษย์ ตัวตน และการเติบโตของสัตว์ในโลกหลังความตาย

ปัณณฉัตร ประดับพงศ์

 

 

          ผมเป็นหอย ส่วนเขาเป็นหมึก เป็นนิยายที่ตีพิมพ์เมื่อปีพ.ศ 2565 โดยนักเขียนนามปากกา Larza โดยเล่าเรื่องราวของหอยชักตีนตัวหนึ่งที่มีความสามารถในการอ่านใจมนุษย์ได้ มันถูกหมึกสายตัวหนึ่งจับตัวมาอยู่ด้วยกันระยะหนึ่งก่อนจะที่มันจะหลบหนีออกมาได้ เมื่อมันตายลง มันกลับได้พบกับโลกยูโทเปียของสัตว์ ที่ที่สัตว์ทุกตัวจะสามารถเลือกได้ว่าต้องการเป็นสัตว์อะไรในโลกหลังความตาย เจ้าหอยชักตีนเลือกที่จะใช้ร่างมนุษย์ และตั้งชื่อตนเองว่า โนอา โลกยูโทเปียหลังความตายนี้จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวข้ามผ่านตัวตนและการเรียนรู้ที่จะเป็นมนุษย์ของหอยชักตีนตัวหนึ่ง

 

นิยามความเป็นมนุษย์ จากมุมมองของสัตว์ต่าง ๆ ในหนังสือ 

          อะไรคือสิ่งที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสัตว์ประเภทอื่น คำตอบที่เรามักจะได้ยินกันคือ ‘มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ’ นั่นหมายความว่า มนุษย์เองก็นับตนเองเป็นสัตว์เช่นกัน เพียงแต่มนุษย์นั้นมีความ “ประเสริฐ” กว่าสัตว์อื่นบนโลกก็เท่านั้น แต่มนุษย์ใช้กฎเกณฑ์อะไรมาวัดว่าตนนั้น “ประเสริฐ”กันล่ะ โนอา ตัวเอกของหนังสือผมเป็นหอย ส่วนเขาเป็นหมึก ได้ถามคำถามนี้ในตอนเริ่มเรื่องในครั้งที่เขายังเป็นหอยชักตีนตัวหนึ่งที่บังเอิญอ่านใจมนุษย์ได้เท่านั้น ในหนังสือ ทั้งโนอาและตัวละครสัตว์ต่าง ๆ ได้กล่าวถึงลักษณะที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากพวกเขาในสมัยที่ยังดำรงชีวิตเป็นสัตว์อยู่ไว้หลายประการ ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการคิด จินตนาการถึงสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง แนวคิดเรื่องเวลา การสร้างภาษาและระดับภาษา มารยาททางสังคม ศีลธรรม รวมถึงการตั้งชื่อให้สิ่งต่าง ๆ ลักษณะเหล่านี้เป็นสิ่งที่สัตว์ไม่สามารถทำได้ ทั้งสัตว์ทั้งหลายยังมองว่าเรื่องพวกนี้จุกจิกและไม่มีความจำเป็นอีกด้วย 

          นอกจากนี้ ลักษณะของมนุษย์อีกประการหนึ่งที่ถูกยกมาค่อนข้างบ่อยในเรื่องคือ มนุษย์ชอบแบ่งแยก ดังที่มนุษย์ได้แบ่งแยกตนเองออกจากสัตว์ทั่วไป และแบ่งแยกแม้กระทั่งในหมู่พวกเดียวกันเอง ซึ่งเราสามารถเห็นได้ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติว่าไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปี ประวัติศาสตร์ก็ล้วนมีการบันทึกถึงคนอีกกลุ่มที่ต่างจากตนในลักษณะที่แบ่งแยก โดยมักกล่าวอ้างว่า ‘ฝั่งเขา’ ป่าเถื่อน ไร้อารยะ ไม่อาจเข้าใจภาษาได้ ราวกับสัตว์ป่า ในขณะที่ ‘ฝั่งเรา’ นั้นถือเป็นมนุษย์ที่มีอารยะ ‘ต่าง’ จากฝั่งเขาอย่างสิ้นเชิง 

          ยิ่งไปกว่านั้น โลกยูโทเปียของสัตว์ที่ปรากฏในเรื่องนั้นมีลักษณะคล้ายเมืองของมนุษย์เป็นอย่างมาก มีย่านร้านค้า ตึกรามบ้านช่อง และที่ว่าการต่าง ๆ มีการผลิตเนื้อสัตว์จากพืชเต็มรูปแบบ รวมถึงมีระบบสังคมที่สัตว์ทุกตัวต้องทำงาน และจ่ายภาษีให้กับรัฐอีกด้วย สิ่งเหล่านี้เป็นข้อบ่งชี้ว่าเมืองยูโทเปียของสัตว์นี้มีความ “เจริญ” หรือความ “ศิวิไลซ์” แบบมนุษย์อยู่ไม่น้อยทีเดียว

          หากใช้สิ่งเหล่านี้เป็นเกณฑ์นิยามตามหนังสือเล่มนี้ ก็อาจกล่าวได้ว่าความเป็นมนุษย์คือ ความประเสริฐและความเป็นอารยะที่เรา ‘มี’ ต่างจากคนหรือสัตว์อื่นที่ ‘ไม่มี’ แต่หากวัดแบบนั้น ความเป็นมนุษย์ก็ย่อมไม่ถือเป็นสิ่งที่เราทุกคนมีมาแต่กำเนิด กล่าวคือ แม้เราจะเกิดมามีรูปร่างหน้าตาและพันธุกรรมของมนุษย์ทุกประการ แต่เราก็ยังไม่มีความประเสริฐและความเป็นอารยะอันเป็นลักษณะที่ใช้นิยามความเป็นมนุษย์ตั้งแต่แรกเกิด เพราะมนุษย์ทุกคนเกิดมาโดยไม่มีความเข้าใจถึงเรื่องเหล่านี้เลยแม้แต่น้อย เช่นเดียวกับสัตว์อื่น ๆ ไม่มีเด็กคนไหนเกิดมาเข้าใจแนวคิดเรื่องเวลา แนวคิดเรื่องอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคตได้ ไม่มีทารกคนไหนสามารถพูดคุยสื่อสารดี ๆ อย่างมีอารยะได้ กลับกัน เราทุกคนแผดเสียงร้องเมื่อหิวหรือไม่สบายตัวกันทั้งนั้น ไม่รู้จักกาลเทศะหรือมารยาทใด ๆ อาจกล่าวได้ว่า ในวัยเด็กของมนุษย์นั้น เราทุกคนก็ล้วนถูกขับเคลื่อนด้วยสัญชาตญาณการเอาตัวรอดไม่ต่างจากหอยชักตีนในเรื่องเลย ดังนั้น ความเป็นมนุษย์จึงไม่ใช่คุณสมบัติที่มนุษย์ทุกคนมีมาแต่กำเนิด แต่เป็นสิ่งที่คนเราเรียนรู้ ซึมซับผ่านสภาพแวดล้อมและสังคมเพื่อให้เรา “กลายเป็น” มนุษย์ผู้เป็นสัตว์ประเสริฐในสังคมต่างหาก ข้อสังเกตนี้จึงนำไปสู่คำถามที่ว่า หากสัตว์ทั้งหลายมีความ “ประเสริฐ” และ “ความเป็นอารยะ” เช่นเดียวกับมนุษย์แล้ว พวกมันจะถือเป็นมนุษย์หรือไม่ หรือเป็นได้เพียงสัตว์ที่สวมบทบาทเป็นมนุษย์ในโลกยูโทเปียดังที่ปรากฏในเรื่อง

 

การก้าวข้ามผ่านตัวตนและการเรียนรู้ที่จะเป็นมนุษย์ของหอยชักตีน

           หากกล่าวกันตามตรง หอยชักตีนซึ่งเป็นตัวเอกของเรื่องเป็นสิ่งมีชีวิตที่ค่อนข้างแตกต่างจากมนุษย์เป็นอย่างมาก ออกจะเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับมนุษย์ด้วยซ้ำไป เพราะมันไม่มีแขนขา ไม่มีตาหูจมูกปาก ไม่อาจสื่อสารหรือถูกฝึกสอนได้ และอาศัยอยู่ใต้น้ำ เป็นสิ่งที่มีชีวิตที่อยู่คนละโลกกับมนุษย์อย่างสิ้นเชิง แต่กระนั้น การเปลี่ยนผ่านจากการเป็นหอยชักตีนสู่การเป็นมนุษย์ของโนอาในหนังสือเล่มนี้ ก็สามารถมองได้ว่าเป็นการเปรียบเทียบเชิงสัญลักษณ์ (symbolism) ที่แสดงถึงการก้าวข้ามผ่านวัยหรือ Coming of age จากวัยเด็กสู่การเป็นผู้ใหญ่เต็มตัวของตัวละครเอกได้ เพราะโนอาเอง แต่เดิม ก็เป็นเพียงสิ่งมีชีวิตที่ขับเคลื่อนตามสัญชาตญาณพื้นฐานในการเอาตัวรอด หาอาหารเมื่อหิว หลบเมื่อรู้สึกถึงอันตราย ไม่อาจสื่อสาร ไม่อาจคิด จินตนาการอะไรได้ ไม่ต่างจากเด็กทารกมนุษย์คนหนึ่ง จนวันหนึ่งหอยชักตีนตัวนี้สามารถอ่านใจมนุษย์ได้ มันจึงเริ่มซึบซับความเป็นมนุษย์ผ่านการเรียนรู้และลักจำจากความคิดของมนุษย์ที่เข้าใกล้มัน

           ผู้อ่านสามารถเห็นได้ว่า แม้ในตอนที่ยังเป็นหอยชักตีน โนอาก็มีความเข้าใจเรื่องตัวตนของมันมากพอที่จะรับรู้ว่าตัวเองมีชีวิตและเป็นหอย มันรับรู้ว่าตนเองอาศัยอยู่ในมหาสมุทร และเรียกสรรพนามแทนตัวเองว่า “ผม” ได้ ทั้งยังมีวิธีคิดคล้ายมนุษย์อีกด้วย ดังที่เราเห็นได้จากช่วงต้นของเรื่อง ในตอนที่โนอาถูกหมึกสายตัวหนึ่งลักพาตัวไปอยู่ด้วยกัน เราจะเห็นได้ว่า โนอาพยายามใช้ความคิดมนุษย์ที่เขาเรียนรู้มาเป็นเกณฑ์ในการหาคำอธิบายพฤติกรรมอันผิดแผกจากธรรมชาติของหมึกตัวนี้ คล้ายกับเด็กที่เรียนรู้ความเป็นไปของโลกผ่านผู้ใหญ่รอบตัว  แต่โนอาไม่สามารถซึมซับความคิดทุกอย่างของมนุษย์ได้จากการอ่านความคิดเพียงอย่างเดียว ด้วยเหตุนี้ โนอาจึงไม่อาจหาคำอธิบายได้ว่าเหตุใดหมึกตัวนี้จึงจับตนมาและไม่กิน ทั้งยังคอยหาอาหารและพามันไปที่ต่าง ๆ อีกด้วย ทั้ง ๆ ที่หอยชักตีนเป็นอาหารตามธรรมชาติของหมึกสาย แต่เราสามารถเข้าใจได้ทันทีว่า หมึกตัวนี้คงเกิดความรู้สึกชอบพอหอยชักตีนตัวนี้อยู่ เราในฐานะผู้อ่านเข้าใจพฤติกรรมนี้เพราะเราเป็นมนุษย์ เราจึงเข้าใจพฤติกรรมที่คล้ายมนุษย์แต่ผิดธรรมชาติของหมึกตัวนั้น แต่โนอาไม่เข้าใจเพราะมันไม่รู้จักพฤติกรรมนี้ มันรู้เพียงว่าหมึกที่มันเคยพบเจอไม่มีพฤติกรรมแบบนี้ โนอาไม่รู้ว่าหมึกตนนั้นรู้สึกอย่างไร และไม่รู้ว่าตนเองรู้สึกอย่างไรกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รู้เพียงว่าตนไม่ระแวงนักล่าตามธรรมชาติตัวนี้เท่านั้น

          เมื่อเจ้าหอยชักตีนตายไป มันพบกับโลกหลังความตายของสัตว์

ซึ่งโลกหลังความตายนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนผ่านที่สำคัญอย่างมากสำหรับตัวละครของโนอา เพราะที่แห่งนั้นเป็นสถานที่ที่โนอามีเจตจำนงของตนเองเป็นครั้งแรกในเรื่อง โนอาสามารถเลือกได้ว่าเขาต้องการมี “ตัวตน” แบบไหน  เพราะสัตว์ที่เข้ามาในโลกหลังความตายนั้นสามารถเลือกเป็นสัตว์อะไรก็ได้ โดยโนอาเลือกที่จะเป็นมนุษย์ และตัดสินใจใช้ชื่อ “โนอา” เป็นครั้งแรกในเรื่องที่หอยชักตีนตัวนี้มีชื่อเรียก และในตอนนั้นเอง มันไม่ได้เป็นเพียงหอยชักตีนตัวหนึ่งอีกต่อไป แต่กลายเป็นมนุษย์ที่ชื่อโนอา ซึ่งการมีชื่อเองก็ถือเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญในการเติบโตเป็นมนุษย์ของโนอา เซีย ตัวละครสัตว์อีกตัวที่เลือกใช้ร่างมนุษย์ในเรื่องได้กล่าวไว้ว่า “ชื่อเป็นสิ่งที่มนุษย์ไว้ใช้สร้างความเป็นตัวตนของตนเอง” (หน้า 43) ก่อนหน้านี้เราเห็นได้ว่าหอยชักตีนตัวนี้รับรู้การมีอยู่ของตัวเอง และรับรู้ “เพศ” ของตน มันจึงใช้สรรพนามว่า “ผม” แต่มันไม่เคยคิดถึง ‘ชื่อ’ ของตัวเอง หรือกระทั่งชื่อของปลาหมึกที่มันอยู่ด้วยแม้แต่น้อย ประกอบกับบทสนทนาของเซียกับโนอาที่เกิดขึ้นเมื่อโนอามีท่าทีกังวลกับการตั้งชื่อให้ตนเองที่ว่า

          “ชื่อโนอาดีไหม”

          “นายเป็นคนใช้ชื่อ นายจะมาถามความเห็นฉันทำไม”

          “ก็ปกติเห็นมนุษย์ดูใช้เวลากับการตั้งชื่อนานมาก”

          “แต่เราไม่ใช่มนุษย์สักหน่อย มีชื่อเรียกก็พอแล้ว” เซียพูดแล้วเว้นจังหวะครู่หนึ่ง “นายนี่มีความเป็นมนุษย์สูงดีนะ” (หน้า 43)

ทำให้สรุปได้ว่าการมีชื่อแทนตัวตนเป็นสิ่งที่มีเพียงมนุษย์เท่านั้นที่กระทำและเห็นความสำคัญ สิ่งที่น่าสนใจคือ สัตว์ส่วนมากในยูโทเปียไม่เลือกเป็นมนุษย์ พวกมันมักเลือกร่างเดิมที่ตัวเองคุ้นชินมากกว่า และแม้จะมีสัตว์ที่ใช้ร่างมนุษย์แบบเซีย หรือมีสัตว์ที่ใช้ร่างกึ่งสัตว์กึ่งคน พวกมันก็ไม่ได้สมาทานค่านิยมต่าง ๆ ที่มนุษย์ให้ความสำคัญ แต่โนอา อดีตหอยชักตีนตัวหนึ่งถูกมองว่ามีความเป็นมนุษย์สูง เพราะพฤติกรรมของเขามีความใกล้เคียงกับมนุษย์มากกว่าสัตว์       

          นอกจากนี้ แม้โนอาจะไม่ได้ระบุว่าต้องการมีรูปร่างหน้าตาแบบไหน แต่มันได้รับ “ร่าง” ที่เป็นมนุษย์เพศชายอายุยี่สิบเอ็ดปี ซึ่งอายุร่างมนุษย์ของโนอานั้นค่อนข้างสัมพันธ์กับประเด็นการก้าวข้ามผ่านวัยเป็นผู้ใหญ่ในเรื่อง เพราะหากนับตามอายุของสังคมมนุษย์ วัยของโนอาเองก็เป็นวัยที่เริ่มเปลี่ยนจากการเป็นวัยรุ่นเข้าสู่การบรรลุนิติภาวะเป็น “ผู้ใหญ่เต็มวัย” แล้วเช่นกัน เราสามารถเห็นได้จากตอนที่เซียอธิบายกฎเกณฑ์ในโลกหลังความตายให้โนอาฟังว่า 

          “ปกติแล้วโลกยูโทเปียมีเงินด้วยหรือ”

          “ถ้าที่โลกมนุษย์ก็ไม่มี แต่โลกนี้มีไว้เพื่อจูงใจให้สัตว์ทำงาน” พอเซียพูดมาถึงตรงนี้ก็หยุดเดิน “ถึงแล้ว ไปเลือกงานและลงทะเบียนกัน” (หน้า 45)

จะเห็นได้ว่า สัตว์ทุกตัวที่เข้ามาต้องลงทะเบียนยืนยันตัวตน ต้องหางาน และต้องเสียภาษีเพื่อนำไปพัฒนาเมืองยูโทเปีย ด้วยเหตุนี้ อาจกล่าวได้ว่า“ตัวตน” ของสัตว์ในโลกนี้ไม่ได้มีเพื่อให้สัตว์นั้นสามารถใช้ชีวิตตามที่ต้องการได้ แต่เพื่อให้สัตว์เหล่านี้ “มีตัวตน” ในสังคมในฐานะ “พลเมือง” ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ในหนังสือยังมีการบอกเล่าถึงกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ในโลกยูโทเปียอีกด้วย เช่น มีกฎห้ามถามว่าเคยเป็นสัตว์อะไรมาก่อน เพื่อป้องกันการแบ่งแยกที่อาจนำไปสู่สงคราม รวมถึงมีต้นไม้ผลิตเนื้อสัตว์ได้ สัตว์ทั้งหลายจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องล่ากันเพื่อหาอาหาร   ดังนั้นการเข้าไปใช้ชีวิตในโลกหลังความตายของโนอานั้นไม่ได้เป็นเพียงการเปลี่ยนผ่านจากหอย สู่การเป็นมนุษย์ในด้านร่างกายและจิตใจเท่านั้น แต่เป็นการก้าวข้ามเป็นมนุษย์ในเชิงพฤติกรรมและนิติกรรมด้วย ดังนั้น การที่สัตว์ทุกตัวเข้ามาในโลกยูโทเปียพร้อมชื่อและตัวตนใหม่จึงถือเป็นการเปลี่ยนผ่านจากการใช้ชีวิตตามสัญชาติญาณของสัตว์ สู่การเป็นพลเมืองที่มีพันธะและหน้าที่ในสังคม กล่าวคือ หอยชักตีนตัวเอกของเรื่อง และสัตว์อื่น ๆ ที่เข้ามาในยูโทเปียถูกทำให้มีความ “ประเสริฐ” และความเป็น “อารยะ” ในฐานะพลเมือง

          นอกจากนี้เรายังเห็นพัฒนาการทางจิตใจและอารมณ์ของโนอาในเรื่องอีกด้วย  ผู้อ่านสามารถสังเกตได้ตั้งแต่ตอนเริ่มเรื่องว่า โนอา เป็นสัตว์ที่มีความเห็นอกเห็นใจต่อสิ่งมีชีวิตอื่น โดยเห็นได้จากตอนที่โนอาพยายามช่วยเต่าทะเลตัวหนึ่งที่ติดอยู่ในขวด แต่นอกเหนือจากนั้น โนอาก็ยังมีพฤติกรรมเหมือนสัตว์ทั่วไป แต่เมื่อเขาเข้าสู่โลกยูโทเปีย เราจะเห็นได้ว่าจิตใจและอารมณ์ของโนอาเริ่ม “เข้าใกล้” ความเป็นมนุษย์มากขึ้น เขาเริ่มมีการแสดงออกถึงความเกรงใจ รู้สึกผิด ความสุภาพต่อคนแปลกหน้า และสิ่งที่เห็นได้ชัดคือ โนอารู้สึกไม่สบายใจเมื่อพูดถึงการที่สัตว์ฆ่าและกินเนื้อกันเองเพื่อความอยู่รอด ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริง การฆ่าเพื่อกินเนื้อเป็นพฤติกรรมปกติของสัตว์ เขาเอง ในสมัยที่ยังเป็นหอยชักตีน ก็ไม่ได้มองว่าการที่หมึกสายตัวนั้นจับหอยอื่นมากินเป็นเรื่องที่น่ากลัวผิดธรรมชาติ เพียงแต่อาหารของหอยชักตีนไม่ใช่หอยเท่านั้น ตนจึงไม่กิน แต่เมื่อเขาเป็นมนุษย์อยู่ในสังคม เขามองว่าการฆ่าเพื่อเอาเนื้อเป็นสิ่งที่ “น่ากลัว” และ “ไม่ปกติ” ผิดกับตัวละครสัตว์ตัวอื่น ๆ ในบทสนทนาที่กล่าวว่า “ถ้าเกิดพวกเราตายได้ คงมีการฆ่ากันเพื่อเอาเนื้อนั่นแหละ ก็ไม่ต่างอะไรจากโลกที่เราเคยอยู่” (หน้า 174) แต่ในโลกยูโทเปียนี้ การฆ่าเพื่อกินเนื้อนั่นถือเป็น “คดีฆาตรกรรม” (หน้า 173) เช่นเดียวกับในสังคมมนุษย์ ด้วยเหตุนี้ เราอาจกล่าวได้ว่าจิตใจของโนอาถูก “ขัดเกลา” ให้มีความเป็นมนุษย์อันมีความ “ประเสริฐ” และเป็น “อารยะ” มากขึ้น เขาจึงรู้สึกไม่สบายใจกับธรรมชาติที่ดู “ป่าเถื่อน” นี้ทั้ง ๆ ที่ตนเองก็เคยเป็นสัตว์และเข้าใจพฤติกรรมนี้มาก่อน สิ่งที่น่าสนใจคือ แม้มนุษย์มองว่าการฆ่าเพื่อกินเนื้อเป็นเรื่องที่ป่าเถื่อน ไร้อารยะ แต่ในทางกลับกัน มนุษย์เองก็ฆ่าสัตว์เพื่อเป็นอาหารเช่นเดียวกัน เพียงแต่มนุษย์มีวิทยาการที่ล้ำหน้ามากพอให้พวกเขาสามารถทำได้โดยไม่รู้สึกว่าตนเป็นคนฆ่าเอง ศีลธรรมและความย้อนแย้งนี้ก็เป็นลักษณะเด่นของมนุษย์ที่โนอามีเช่นกัน   

          การก้าวข้ามจากสัตว์สู่การเป็นมนุษย์ของโนอานั้น แม้ไม่หวือหวา ไม่ลุ้นระทึกน่าหวาดเสียว ไม่มีการผจญภัยกอบกู้โลกที่ยิ่งใหญ่ แต่ก็แสดงถึงการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ของมนุษย์คนนึงได้อย่างสมบูรณ์ จากสิ่งมีชีวิตหนึ่งที่เป็นไปตามธรรมชาติกำหนด ทำได้เพียงหาอาหารและหลบหนี รอวันหมดอายุขัยหรือถูกกิน สู่การเลือก “ชื่อ” และ “ตัวตน” ที่ต้องการให้สังคมเห็นได้ เขาค่อย ๆ เรียนรู้ที่จะมีชีวิตที่พึงพาตัวเองได้ จนสามารถเปิดร้านขนมได้ เขาเรียนรู้กฎเกณฑ์ และระเบียบในสังคม เรียนรู้ความเป็นไปและสภาพสังคมของโลกยูโทเปียในฐานะผู้อยู่อาศัย  โนอาเรียนรู้ที่จะสร้างสายสัมพันธ์กับผู้คนรอบตัวที่มีลักษณะแตกต่างจากเขา ไม่ว่าจะกับสัตว์ที่เขากลัว กับสัตว์ที่เขาไม่เคยรู้จักในโลกเดิม หรือกระทั่งกับสัตว์ที่เปลี่ยนประเภทตัวเองไปเรื่อย ๆ โนอาเรียนรู้การอยู่ร่วมกับสัตว์อื่นในสังคมที่หลากหลายและแตกต่าง กล่าวได้ว่า เขาถูก “ขัดเกลา” ให้เป็นมนุษย์คนหนึ่งในสังคมได้อย่างสมบูรณ์ เช่นเดียวกับการที่ความคิดจิตใจของโนอาถูกหล่อหลอมให้มีแนวคิด ค่านิยม อารมณ์ ความรู้สึกแบบมนุษย์ เขารู้สึกเกรงใจ เสียใจ และรู้สึกผิดได้ เขารู้จักความคิดถึง ความเขินอาย และเรียนรู้ที่จะอ่านอารมณ์คนอื่นได้ เหนือสิ่งอื่นใด โนอาได้รู้จักความยึดติดและความรัก ที่จริง เรากล่าวอาจได้ว่าสัตว์บางประเภทก็รู้จักความรักและความยึดติดเช่นเดียวกับมนุษย์ ดังที่เราเห็นข่าวสัตว์เลี้ยงมีสภาวะซึมเศร้าหลังถูกเจ้าของทิ้ง แม่สัตว์ที่ร้องไห้และเศร้าซึมเมื่อเสียลูก หรือสัตว์ที่แก้แค้นให้สมาชิกในฝูงตัวเอง  บางที ความยึดติดและความรักอาจเป็นอารมณ์ความรู้สึกที่สิ่งมีชีวิตหลายประเภทรู้จักไม่ว่าคนหรือสัตว์ก็เป็นได้ บางทีความรู้สึกสองอย่างนี้อาจเป็นสัญชาตญาณตามธรรมชาติที่สังคมมนุษย์ยอมรับก็เป็นได้ ความรู้สึกเหล่านี้จึงยังปรากฎอยู่ทั้งในมนุษย์และสัตว์ โนอายึดติดกับการตามหาหมึกที่ตนรู้จักตั้งแต่ที่มาในโลกหลังความตาย แม้เขาไม่เข้าใจความรู้สึกของตัวเองว่าเหตุใดจึงต้องการเจอหมึกตัวนั้นอีกครั้ง ภายหลังเขาจึงรู้ว่าสิ่งที่เขารู้สึกนั้นเป็นความรัก และเพราะรักจึงยึดติด เหมือนที่เต่าที่เขาเคยช่วยไว้ยึดติดกับเขา และเหมือนที่แลนซ์ รูมเมทหอยชักตีนของเขารักและยึดติดกับเขาจนยอมเปลี่ยนร่างตัวเองถึงสามครั้งเพื่อให้เขาพอใจ และเพราะโนอาได้รัก เขาจึงสามารถก้าวข้ามความยึดติดในใจเขาเพื่อเดินหน้าต่อไปได้

          สุดท้ายแล้วสัตว์ที่ถูกขัดเกลาจนมีความประเสริฐและอารยะอย่างมนุษย์ทุกประการอย่างโนอานั้น ถือเป็นมนุษย์หรือไม่ แม้แต่โนอาเองก็หาคำตอบไม่ได้เช่นกัน เพราะเขามองว่าเขาเองก็ไม่มีวันเข้าใจมนุษย์ได้สมบูรณ์ แต่โนอาก็เคยพูดเช่นกันว่า แม้แต่มนุษย์ก็ไม่อาจเข้าใจกันเองได้ แต่โนอาไม่รู้ว่า ที่จริง มนุษย์เองก็ยังไม่เข้าใจตัวเองด้วยเช่นกัน บ่อยครั้งเราไม่เข้าใจความรู้สึกตัวเอง และหลายครั้งเรายึดติดจนไม่อาจก้าวข้ามต่อไปได้ เมื่อเราเติบโตขึ้น ไม่รู้ว่าเราถือเป็น “ผู้ใหญ่” โดยสมบูรณ์จริง ๆ หรือยัง เราทำได้เพียงเรียนรู้การเป็นมนุษย์ไปเรื่อย ๆ เท่านั้น สุดท้ายแล้ว โนอาได้เป็นมนุษย์จริง ๆ หรือไม่ หรือเป็นเพียงสัตว์ที่สวมเนื้อหนังมนุษย์ในโลกยูโทเปียของสัตว์ การเป็นมนุษย์ของโนอาอยู่ที่จิตใจและการรับรู้ของโนอาเองว่าตัวเขาเป็นมนุษย์ หรืออยู่ที่สัตว์อื่นในสังคมที่รู้ว่าโนอาเป็นสัตว์น้ำ ไม่ว่าโนอาจะเหมือนมนุษย์สักแค่ไหน ทั้งโนอา สัตว์อื่น ๆ ในเรื่อง และตัวเราในฐานะผู้อ่านอาจไม่สามารถหาคำตอบได้ แต่อย่างไรก็ตาม สัตว์อื่นในหนังสืออาจไม่ได้ใส่ใจและเสียเวลาคิดเรื่องนี้ ดังที่เซียและสัตว์อื่นชอบกล่าวให้โนอาฟังว่า 

“มีเพียงมนุษย์เท่านั้นที่คิดมากเรื่องแบบนี้”

 

\

Visitors: 72,497