2023C006

ม่อนเมิงมาง ปฐมบทของนวนิยายวายล้านนาร่วมสมัย

ศุภชัย นัคราจารย์

 

 

          “ม่อนเมิงมาง” เป็นนวนิยายวายที่เขียนโดย สุริยงวรวุฒิ สิริวิวัฒน์กุล เจ้าของนามปากกา กันต์พิชญ์ ได้รับการตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ DEEP ในเดือนตุลาคม พ.ศ.2564 ผู้แต่งได้สร้างสรรค์นวนิยายโดยใช้แนวเรื่องแบบย้อนยุคที่มีท้องถิ่นล้านนาเป็นฉากหลักของเรื่อง เพื่อส่งเข้าประกวดในโครงการ “ช่องวันอ่านเอา” จนได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 5 เรื่องที่จะนำไปผลิตเป็นละครโทรทัศน์เพื่อออกอากาศทางช่องวัน 31

          ความเป็นมาของ “ม่อนเมิงมาง” จากเนื้อความในคำนำของผู้แต่งที่เกิดจาก “ความกล้าบ้าบิ่นในการค้นงานวิจัยและเอกสารโบราณเกี่ยวกับล้านนาหลายสิบชิ้นในเวลาอันจำกัด และอยากเห็นนักอ่านชาวไทยสามารถอ่านนวนิยายได้หลากหลายแนว” (น.4) เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้นวนิยายวายเรื่องนี้ได้สอดแทรกข้อมูลวรรณกรรมล้านนาในอดีตผสมผสานไปเป็นส่วนหนึ่งของนวนิยายตลอดทั้งเรื่อง

          แม้ว่า “ม่อนเมิงมาง” จะเป็นงานเขียนแนวชายรักชาย ซึ่งมักถูกมองว่าเป็นวรรณกรรมสำหรับผู้อ่านเฉพาะกลุ่ม แต่นวนิยายเรื่องนี้กลับสามารถตรึงใจผู้อ่านหลายคนด้วยความแปลกใหม่ได้ไม่น้อย เป็นความใหม่ที่เกิดจากการถักร้อยความเป็นล้านนาโยงใยไว้ในการสร้างสรรค์วรรณกรรมรูปแบบปัจจุบัน ถือเป็นการ “นำของเก่าล้านนามาเล่าใหม่” ที่ไม่ใช่เพียงการใช้ท้องถิ่นล้านนาเป็นฉากเท่านั้น ทำให้งานเขียนเล่มนี้แตกต่างจากนวนิยายวายเรื่องอื่นที่ผู้อ่านคุ้นชิน จึงเหมาะสมยิ่งที่จะกล่าวว่า “ม่อนเมิงมาง” มีคุณค่าในฐานะนวนิยายวายล้านนาร่วมสมัยโดยแท้

            นวนิยายวายล้านนาที่ถ่ายทอดผ่านจินตนาการของสุริยงวรวุฒิยังคงไม่หลุดกรอบขนบนวนิยายวาย โดยผู้แต่งยังคงดำเนินเรื่องผ่านความสัมพันธ์ของพระเอกและนายเอก เรื่องราวเริ่มต้นจาก ธายุ พระเอกผู้ชำนาญการต่อสู้และมีร่างกำยำสมความเป็นชาย ได้เดินทางจากแค้วนใต้ (สยาม) มาสืบเรื่องกิจการค้าไม้และตกเป็นแพะรับบาปในเหตุการณ์สังหารข้าหลวงจากแคว้นมองปยูกลางเวียงอัศวา ธายุ ถูก มฆา ฆาตรกรตัวจริงไล่ล่าเพื่อฆ่าปิดปาก ระหว่างหนีการตามล่า ธายุ บังเอิญได้พบกับ กานฟ้า หลานชายของหมอยาเลื่องชื่อของเมืองมาง นายเอกร่างน้อยหน้าหวานผู้อ่อนโยนราวกับเป็นหญิง กานฟ้า ได้ช่วยชีวิต ธายุ ให้รอดตายจากพิษแมงมุมแม่ม่าย ทำให้ความรักเริ่มก่อตัวในใจของทั้งคู่และสัมพันธ์รักนั้นก็ดำเนินไปท่ามกลางการไขปริศนาผีพิณเพียะและการหายตัวไปบนม่อนเมิงมางของชาวบ้านวัยฉกรรจ์

            การผูกปมเรื่องไว้กับการสืบหาความจริงมีความน่าสนใจที่ควรกล่าวถึงเป็นอันดับแรก เหตุเพราะในช่วงต้นเรื่อง ผู้แต่งได้อ้างถึงชื่อ “โคลงปทุมสังกา” ไว้ในตัวบทความว่า “พ่อเจ้าทิพย์ฮ่ามนั่งอยู่หลังตั่ง กำลังตั้งใจอ่าน ปทุมสังกา ซึ่งเป็นโคลงสี่อย่างล้านนาจารด้วยอักษรฝักขามหรือบางครั้งเรียกกันว่าอักษรขอมเมือง” (น.66)  ทั้งนี้ หากผู้อ่านมีโอกาสได้อ่าน “โคลงปทุมสังกา” จะพบว่าเนื้อเรื่องมีอนุภาคสำคัญคือตัวละครท้าวกาสีต้องไขปริศนาเพื่อตอบชื่อของนางปทุมสังกาให้ถูกต้องจึงจะได้นางมาเป็นคู่ครอง แสดงให้เห็นว่าการอ้างถึงชื่อวรรณกรรมล้านนาเรื่องนี้เกิดจากความตั้งใจให้มีความเชื่อมโยงกับการสืบหาความจริงเกี่ยวกับการหายตัวไปของชาวบ้านที่เดินทางขึ้นไปยังม่อนเมิงมาง นอกจากนี้การเชื่อมโยงดังกล่าวยังทำให้เห็นด้วยว่าการอ้างถึงชื่อ “โคลงปทุมสังกา” ที่ปรากฏตั้งแต่ช่วงต้นเรื่อง มีส่วนสำคัญที่ช่วยเสริมให้ผู้อ่านเข้าใจได้ว่าเรื่องราวที่จะได้อ่านต่อไปเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการไขปริศนา โดยมี ธายุ เป็นตัวหลักในค้นความจริง เสมือนกับการคิดคำตอบเพื่อหาชื่อนางปทุมสังกาที่มีท้าวกาสีเป็นตัวละครหลักในการไขปริศนาเช่นกัน

            นอกจากเรื่อง “โคลงปทุมสังกา” วรรณกรรมล้านนาเรื่อง “นิทานพรหมจักร” เป็นอีกชื่อหนึ่งที่ได้รับการอ้างถึงใน “ม่อนเมิงมาง” ผู้แต่งได้เขียนไว้ในความตอนหนึ่งว่า “ไอ้อุ่มยิ้มแป้น รู้สึกภาคภูมิเสียเต็มประดา ‘เห็นแบบนี้ชอบฟังธรรมอยู่นา ยิ่งนิทานพรหมจักรนะ สนุกอย่าบอกใคร’ ” (น.118) ทั้งนี้ ตัวบทดังกล่าวเป็นการอ้างถึงชื่อ “นิทานพรหมจักร” ไว้ในเหตุการณ์ที่ธายุกับกานฟ้าร่วมเดินทางไปสืบหาความจริงในป่าบนม่อนเมิงมาง ทั้งสองคนต้องเผชิญอันตรายและต้องต่อสู้กับตัวร้ายอยู่หลายครั้งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ค่อย ๆ พัฒนาขึ้นและเกิดเป็นความรู้สึกรักซึ่งกันและกันในที่สุด คล้ายกับเหตุการณ์ใน “นิทานพรหมจักร” ที่เล่าว่าท้าวพรหมจักรต้องออกเดินทางตามหานางสีดาที่ถูกพญาวิโรหาลักพาตัวไปและได้ต่อสู้กับพญาวิโรหาจนได้รับชัยชนะ สามารถชิงนางสีดากลับคืนมาได้สำเร็จและได้ครองรักกันในที่สุด เมื่อพินิจพิเคราะห์เหตุการณ์ทั้งสองเรื่องเปรียบเทียบกันจะเห็นความเชื่อมโยงกันของการต่อสู้กับตัวร้ายแล้วลงเอยด้วยการสมรักของตัวละครเอก ความคล้ายคลึงกันเช่นนี้ทำให้เห็นชัดว่าชื่อ “นิทานพรหมจักร” ได้รับการอ้างถึงเพื่อใช้อนุภาคที่เหมือนกันของวรรณกรรมล้านนาโบราณมาร้อยเรียงประสานให้เข้ากับเหตุการณ์ใน “ม่อนเมิงมาง” ในแง่นี้สำหรับผู้อ่านที่รู้จัก “นิทานพรหมจักร” อาจอนุมานได้ว่าธายุจะเป็นผู้กำชัยเหนือตัวร้ายและสมปรารถนารักกับกานฟ้าในที่สุด ซึ่งการเข้าใจนัยเช่นนี้ได้อาจช่วยเพิ่มอรรถรสในการอ่านให้สนุกมากขึ้นก็เป็นได้

            ความสนุกอันเกิดจากการนำวรรณกรรมเก่าผสานเข้ากับงานเขียนแนวใหม่ใน ม่อนเมิงมาง มีความน่าสนใจอีกประการหนึ่งคือการนำตัวบทล้านนาโบราณมาดัดแปลงสร้างสรรค์ใหม่ สำหรับประเด็นนี้ผู้แต่งได้นำเนื้อความบางส่วนจากเรื่อง “กฎหมายมังรายศาสตร์”  วรรณกรรมในสมัยพระเจ้ามังราย กษัตริย์ของล้านนา ซึ่งทรงสร้างเมืองเชียงใหม่ขึ้นเมื่อ พ.ศ.1835 มาดัดแปลงสร้างสรรค์ใหม่ ดังเห็นได้จากตัวบทความว่า

                    “ยิ่งท้าวสาก่านยึดกฎมังรายเป็นที่ตั้ง บทบาทไพร่ของเด็กมฆายิ่งเย็นกายสบายใจ...
          
มฆาอ่อนโยนกว่าที่เคย เจ้าอ้ายคว้ามือมฆาไปเกาะกุม เลิกคิ้วถาม ‘คิดอะหยังอยู่’
          ‘จำได้ก่อหลักมังรายที่ท้าวสาก่านพร่ำบอกยึดถือ’ ‘คืออะหยัง’ ‘โบราณท่านเยียะเมืองเป็น
          เพื่อไพร่ดายหาไพร่หายากนัก บ่ ควรหื้อไพร่ฉิบหาย’ ‘คันไพร่ฉิบหาย เจ้าเมืองก้ฉิบหายดาย
          ท่านสร้างเมืองได้ แต่ไพร่นั้นหายาก บ่ ควรทำหื้อไพร่เดือดร้อน เจ้าเมืองย่อมเดือดร้อนไปด้วย’
          
เจ้าอ้ายเสริมความหมายหลัก” (น.61) เน้นโดยผู้วิจารณ์

จากตัวบทที่เน้นโดยผู้วิจารณ์ข้างต้นจะเห็นการใช้คำว่า “กฎมังมาย” ซึ่งมีนัยสื่อถึงวรรณกรรมเรื่อง “กฎหมายมังรายศาสตร์” อย่างชัดเจน โดยนัยนี้ หากเปรียบตัวบทจาก “ม่อนเมิงมาง” เทียบกับตัวบทที่มีความคล้ายคลึงกันที่พบในเรื่อง “กฎหมายมังรายศาสตร์” ความว่า “โบราณกล่าวว่า ท้าวพระยาครองเมืองได้ก็ด้วยไพร่และไพร่ก็หายากนัก ไม่ควรบังคับไพร่มาเป็นข้า ด้วยเหตุฉะนี้” (ประเสริฐ ณ นคร, 2514: น.8) จะเห็นได้ว่าตัวบทจากวรรณกรรมทั้งสองเรื่องนี้มีเนื้อความบรรยายถึงความสำคัญของไพร่เช่นเดียวกัน ซึ่งก็หมายความว่าตัวบทดังที่ยกมาได้รับการดัดแปลงสร้างสรรค์มาจากเรื่อง “กฎหมายมังรายศาสตร์” ไม่ผิดแน่

           ทั้งนี้ การดัดแปลงตัวบทโบราณใน “ม่อนเมิงมาง” ดังได้อธิบายมานี้ เป็นเนื้อความจากตอนที่ มฆา คำนึงถึงช่วงวัยเด็กที่ตนเคยมีชีวิตสุขสบายอันเนื่องมาจากผู้ปกครองเมืองตั้งอยู่ในกฎมังราย ต่างจากช่วงชีวิตในฉากดังที่ยกมา มฆากลับไม่มีความสุขเหมือนในอดีต อันเป็นเพราะผู้ปกครองคนปัจจุบันไม่ตั้งอยู่ในครรลองของหลักมังราย เหตุการณ์จากเรื่องในตอนนี้เป็นสิ่งที่ฉายชัดว่าการดัดแปลงความบางส่วนจาก “กฎหมายมังรายศาสตร์” เป็นการเชื่อมโยงตัวบทเก่าของล้านนามาสร้างสรรค์ให้เข้ากับเนื้อหาที่ผู้แต่งต้องการนำเสนอ โดยการดัดแปลงเนื้อความบางส่วนจากตัวบทเก่านี้ อาจเป็นไปเพื่อให้ถ้อยคำภาษามีความสอดรับกลมกลืนกัน ซึ่งผู้แต่งเลือกแล้วว่ามีความเหมาะสมกับเรื่องมากกว่าการยกตัวบทโบราณมาอ้างถึงโดยตรง

           หากการดัดแปลงสร้างสรรค์เป็นไปเพื่อความเหมาะสมของถ้อยคำ การนำตัวบทจริงจากวรรณกรรมล้านนามาเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องก็คงเป็นไปเพื่อขับเน้นภาพและอารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร ดังเห็นได้จากที่ผู้แต่งนำตัวบทจากเรื่อง “ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่” มาเชื่อมโยงเข้ากับการพรรณนาบรรยากาศตลาดใหญ่ของเมืองอัศวา เป็นภาพที่กานฟ้าได้เห็นระหว่างเดินทางไปทำพิธีส่งสการให้กับญาติที่เมืองดังกล่าว ตัวบทที่ผู้แต่งยกมามีความว่า “ไพร่กูนี้ยังสุขทุกข์เป็นสันใดใคร่รู้ จึงแต่งตัวปลอมจึงถือกุบตองตึง นุ่งผ้าผืนควรค่าร้อยคำพายใน นุ่งผ้าไทพายนอก ไปเข้ากาดกุมกาม นั่งอยู่ริมแม่พิงอว่ายหน้าเมืองวันออกเล็งดูคนทังหลายเข้ากาด” (น.79) เนื้อความจากตัวบทนี้เป็นส่วนหนึ่งของการพรรณนาภาพบ้านเมืองอัศวาที่มีความเจริญ ผู้แต่งได้เลือกสรรตัวบทจากวรรณกรรมล้านนาเรื่องนี้มาเป็นส่วนหนึ่งในการขับเน้นภาพความงดงามของล้านนาที่ต้องการนำเสนอ โดยสื่อนัยเชิดชูความรุ่งเรืองของล้านนาที่มีมาตั้งแต่อดีตและแฝงนัยว่าเป็นความเจริญที่ยังคงงอกงามมาจนถึงปัจจุบัน

           การเลือกสรรตัวบทดั้งเดิมมาเป็นส่วนหนึ่งของการเล่าเรื่องใน “ม่อนเมิงมาง” ยังพบตัวบทจาก “โคลงอุสาบารส” ซึ่งเป็นวรรณกรรมล้านนายุคจารีตอีกเรื่องหนึ่งผู้แต่งได้นำตัวบทจากวรรณกรรมเรื่องนี้มาผสมผสานไว้ในงานสร้างสรรค์ของตนเพื่อขับเน้นอารมณ์โศกสะเทือนใจของตัวละครให้เด่นชัด ตัวบทที่กล่าวถึงมีความว่า

                                 “คันอวยตายหื้อพี่แปงปราสาทแก้ว          เจ็ดชาย ใส่เนอ

                        ทังโกศน้อยยองปลียาย                                     ช่อฟ้า

                        ประตูโขงใส่แสนลาย                                         คำขีด งามเนอ

                        มาใส่ตนน้องแก้ว                                               เมื่อมรณ์

 

                                    ตาวคำทังโกศเกี้ยว                                 ภายในใส่เนอ

                        ดาแต่งแปลงหัสดีลิงค์ไกล                                  ลากน้อง

                        ไฟมล้าแต่งตามใจ                                              เจาะก่อม อวนเนอ

                        ดาแต่งเผาน้องแก้ว                                             เมื่อมรณ์” (น.172)

คำประพันธ์ที่ยกมาข้างต้นนี้ ผู้แต่งได้สอดแทรกเอาไว้ในตอนที่กานฟ้าเดินทางร่วมกับธายุไปสืบหาความจริงบนม่อนเมิงมางและได้พบศพของชายอ้ายซึ่งถูกนำไปฝังรวมไว้กับศพไร้ญาติ กานฟ้าเชื่อหมดใจว่าศพที่เห็นเป็นศพของชายอ้ายผู้เป็นญาติของตนจึงเกิดความโศกสะเทือนใจ เป็นความรู้สึกดุจเดียวกันกับอารมณ์โศกเสียใจของนางอุสสาที่ต้องพรากจากพระบารสดังปรากฏในโคลงที่ผู้แต่งอ้างถึง แสดงให้เห็นชัดว่าผู้แต่งตั้งใจเชื่อมโยงอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครใน “ม่อนเมิงมาง” ประสานเข้ากับอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครใน “โคลงอุสาบารส” อนึ่ง การเชื่อมโยงความรู้สึกดังกล่าว นอกจากจะทำให้ผู้อ่านได้รู้จักคำโคลงล้านนาแล้ว ผลอีกประการจากการนำอารมณ์ความรู้สึกของกานฟ้าโยงเข้ากับตัวบทล้านนาโบราณ คือเป็นการขับเน้นความรู้สึกของกานฟ้าให้เด่นชัดยิ่งขึ้น ซึ่งอาจมีผลให้ผู้อ่านหลายคนรู้สึกสะเทือนใจไปกับตัวละครกานฟ้าได้อีกด้วย

           การร้อยเรียงประสานตัวบทเก่าเพื่อขับเน้นอารมณ์ของตัวละคร ผู้แต่งได้หยิบตัวบทวรรณกรรมล้านนามาใช้อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่อง “ค่าวซอวรรณพราหม” ในเรื่องนี้ผู้แต่งได้เลือกคำประพันธ์บทหนึ่งมากล่าวไว้ในตอนที่ธายุและกานฟ้าต้องเดินทางไปสืบหาความจริงบนม่อนเมิงมางเกี่ยวกับผีพิณเพียะและนักฆ่าที่มีฉายาแมงมุมดำ การเดินทางกลางป่าที่เต็มไปด้วยอันตรายทำให้กานฟ้ารู้สึกหวาดกลัวหวั่นใจ ซึ่งเป็นความรู้สึกที่ถูกเชื่อมโยงเข้ากับตัวบทใน “ค่าวซอวรรณพราหม” ที่มีเนื้อความว่า

                                            “เตื้อปะเสือสาง                 ใจนางสั่นเสี้ยง

                                    ขนหัวคิงคำ                                เยือกลุก

                                    เตื้อหมูและหมี                           นอนขดบ่มซุก

                                    เตื้อกายผ่านหน้า                       นางไป

                                    แรดสู้หมู่จ้าง                              สั่นคิงเสียงไหว

                                    นางเว้นหลีกไป                          ตกใจ บ่ เหล้น” (น.183)

ตัวบทจาก “ค่าวซอวรรณพราหม” ที่ผู้แต่งได้นำมาเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องดังยกมานี้ เป็นเหตุการณ์ในตอนที่นางพิมพาเดินทางตามหาลูกกลางป่า ระหว่างเดินทางนางได้เผชิญหน้ากับสัตว์ร้ายหลายตัว ทำให้เกิดความรู้สึกใจหวั่นหวาดกลัวขึ้นมา เปรียบเสมือนความรู้สึกหวั่นกลัวของกานฟ้าที่ไม่ต่างไปจากนางพิมพา ทำให้เห็นได้ชัดว่าการเชื่อมร้อยตัวบททั้งสองเข้าด้วยกันมีจุดประสงค์เพื่อขับเน้นให้ผู้อ่านเข้าใจถึงความหวาดกลัวในใจของตัวละครได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

           นอกจากความหวาดกลัวแล้ว สิ่งที่เรื่องเล่าพาฝันขาดไปเสียไม่ได้ก็คงจะเป็นความรู้สึกรัก วรรณกรรมล้านนาเรื่อง “ค่าวฮ่ำนางจม” จึงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ผู้แต่งหยิบมาผสมผสานไว้ใน “ม่อนเมิงมาง” เป็นตัวบทที่สื่อถึงอารมณ์ปรารถนาแห่งรักที่มีเนื้อความว่า

                                            “พระจันทร์อยู่ฟ้า                ส่องแจ้งกลางหาว”        

                                    ฝูงหมู่เดือนดาว                          ย่อมแฝงแอบอ้อม

                                    บุปผาเผย                                   ที่เกยทัดส้อม

                                    หอมดวงบาน                              ซว่านรส

                                    ภุมรา                                          ย่อมบินมาซด

                                    กวนเกลือกกลิ้ง                          กันธัง”  (น.258)

จากตัวบท “ค่าวฮ่ำนางจม” ดังที่ปรากฎข้างต้นนี้ ผู้แต่งได้อ้างถึงเอาไว้ในตอนที่ ธายุกับกานฟ้า นั่งมองดาวที่ชานเรือนด้วยกัน เหตุการณ์ในฉากนี้ตัวละครทั้งสองได้พัฒนาความสัมพันธ์จนเกิดใจปฏิพัทธ์ต่อกันแล้ว แต่ยังไม่มีฝ่ายใดกล้าเอ่ยความรู้สึกออกมา แม้ในใจลึก ๆ ทั้งคู่จะอยากเผยความปรารถนาแห่งรักขอนตนให้อีกฝ่ายได้รับรู้มากเพียงใดก็ตาม สอดคล้องกับเนื้อความใน “ค่าวฮ่ำนางจม” ข้างต้นที่เต็มไปด้วยสัญญะของสิ่งที่ถูกนิยามว่าเกิดมาเป็นคู่กัน แสดงให้เห็นว่าตัวบท “ค่าวฮ่ำนางจม” ที่อ้างถึงนี้ถูกนำมาเชื่อมโยงกับอารมณ์ความรู้สึกรักของตัวละครพระเอกกับนายเอก อนึ่ง เมื่อตัวบทดังกล่าวเป็นตัวบทที่บรรจุไว้ด้วยสัญญะของความรัก จึงอาจกล่าวได้ว่าการเชื่อมความรู้สึกรักของตัวละครโยงเข้ากับสัญญะที่พบในตัวบทล้านนาโบราณมีแนวโน้มที่จะทำให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกร่วมไปกับตัวละครและอาจทำให้ผู้อ่านอมยิ้มไปกับภาพความรักโมแมนติกระหว่างชายหนุ่มที่เป็นขนบสำคัญของงานสร้างสรรค์ที่เรียกว่านวนิยายวาย

            กล่าวโดยสรุปแล้วนวนิยายโรมานซ์แนวชายรักชายที่เรียกกันว่านวนิยายวายนี้ เป็นงานเขียนที่อาจไม่เคยถูกคาดหวังให้ผู้แต่งต้องผสมผสานความเป็นล้านนาเข้าไว้ในเรื่อง ด้วยความเชื่อเช่นนี้เมื่อสุริยงวรวุฒิได้หยิบตัวบทแห่งวรรณศิลป์ของล้านนามาเป็นส่วนสำคัญของเรื่อง ม่อนเมิงมาง จึงทำให้นวนิยายเรื่องนี้มีคุณค่ามากกว่าการเป็นเรื่องเล่าพาฝันธรรมดา หากแต่เป็นงานประพันธ์ที่สามารถเปิดโลกทัศน์ใหม่ให้กับกลุ่มผู้อ่านวรรณกรรมแนววาย ทั้งผู้อ่านที่เป็นคนในวัฒนธรรมล้านนาและผู้อ่านที่เป็นคนนอกวัฒนธรรม สำหรับผู้อ่านที่เป็นคนในวัฒนธรรม เมื่ออ่านแล้วอาจเกิดประสบการณ์ร่วมไปกับตัวบทและอาจเกิดความภาคภูมิใจในความเป็นล้านนาของตน ขณะที่ผู้อ่านที่เป็นคนนอกวัฒนธรรม เมื่ออ่านแล้วอาจตื่นตาตื่นใจไปกับความแปลกใหม่จากวรรณกรรมล้านนาโบราณที่ถักร้อยโยงใยอยู่ในงานเขียนร้อยแก้วแนวใหม่ อันเป็นความโดดเด่นที่ทำให้ ม่อนเมิงมาง ควรค่าแก่สมญา “ปฐมบทของนวนิยายวายล้านนาร่วมสมัย”  ในฐานะที่สามารถสืบทอดสืบสานความเป็นล้านนาให้ขยายไปสู่วงวรรณกรรมวาย ซึ่งเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมประชานิยมใหม่ของผู้อ่านไทยในยุคปัจจุบัน

 

เอกอสารอ้างอิง

           กันต์พิชญ์ (นามปากกา). ม่อนเมิงมาง. กรุงเทพฯ: DEEP, 2564.

           ประเสริฐ ณ นคร. มังรายศาสตร์. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยศรีนคครินทรวิโรฒ, 2521.

 

 

 

 

Visitors: 82,074