สลายสิ้นซึ่งความหวังรังรอง แหลกสลายเพื่อกลายเป็นอื่น

พชร เพียงพล

 

 

 

“สลายสิ้นซึ่งความหวังรังรอง” เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นของ ตินกานต์ โด่งดังและเป็นที่รู้จักจากผลงานรวมเรื่องสั้นเล่มก่อนหน้าในชื่อ “ดอกรัก” หลากเรื่องราวความรัก ความสัมพันธ์ของหญิงสาวที่ถูกเปรียบเปรยเป็นดอกไม้ (แม้แต่ พ.ศ. นี้ก็ยังเป็นดอกไม้!) ทว่าในเล่มนี้ ตินกานต์ก็ยังเลือกว่ายวนอยู่ในความสัมพันธ์ดังเดิม แต่ต่างออกไปเมื่อเธอพยายามพาผู้อ่านหวนคืนสู่ต้นตอแห่งการล่มสลายของทุกชีวิต

            รวมเรื่องสั้นสีปกอุ่นอร่ามเล่มนี้ประกอบไปด้วย 8 เรื่องสั้น ทั้งหมดว่าด้วยสภาวะของตัวละครที่จมปลักอยู่กับคำว่า “บ้านและครอบครัว” อันเป็นทั้งที่พักพิงและเขี่ยทิ้งในห้วงเดียวกัน เหมือนดังความคิดรวบยอดของตัวละครหญิงในเรื่อง “บ้านของคุณยายซันเดย์” ตอนหนึ่งที่ว่า “ใช่ ไม่มีที่ไหนเหมือนบ้าน มันเป็นที่แห่งเดียวที่ยามรัก เราก็รักกันได้อย่างลึกซึ้งหมดใจ แต่ยามกระทำต่อกัน เราก็กระทำกันได้อย่างเจ็บปวดถึงแก่นที่สุด” (หน้า 246) ถ้อยคำเพียงเท่านี้ เพียงพอแล้วสำหรับการนิยามบ้านของเหล่าตัวละครภายในเล่ม กอปรกับแนวเรื่องแบบสัจนิยม ทำให้ตินกานต์สามารถถ่ายทอดชีวิตอันแสนสามัญธรรมดาออกมาได้อย่างน่าเบื่อหน่าย “ซ้ำซาก” สมจริง

            อาจกล่าวได้ว่า “ความซ้ำซาก” ที่ปรากฏในหลายเรื่องสั้นมิใช่ความบังเอิญหรืออาการ “ตีบตัน” ของผู้เขียน แต่เป็นการจงใจให้ผู้อ่าน “สะดุดหยุดมอง” ทบทวนการเปลี่ยนแปลงและการเคลื่อนย้ายของสิ่งต่างๆรอบตัวหรือภายในตัว ตั้งแต่กรวดทราย อิฐหิน ไปจนถึงฤดูกาล สายลม แสงแดด ก่อนทุกสิ่งจะก่อเกิดเป็นโครงสร้าง จนกลายเป็นบ้านหนึ่งหลัง กระทั่งร่วงหล่นพังทลายกลับไปเป็นก้อนกรวดอีกครา

 

มอดไหม้นัย “แสง”

            ในบทบรรยายฉากหลายเรื่องสั้นของตินกานต์มักมี “แสง” เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องด้วยเสมอและเมื่อพิจารณา “การปรากฏ” อย่างถี่ถ้วน จึงเห็นลักษณะร่วมบางอย่างที่น่าสนใจ ทำให้สามารถตีความ แสง ได้หลายนัยและยังถูกใช้เป็นเป็นภาพแทนแสดงความรู้สึกในอีกหลายสถานการณ์

            อย่าง “แสง” ในฐานะความหวังใหม่ “เขาคือผู้ไขกุญแจดอกแรกของประตูครัว ผลักเข้าสู่แสงเรื่อเรืองของฟ้ารุ่ง ไอเย็นชื่นพรูเข้ามาทันทีที่เปิดหน้าต่างบานกระทุ้งกรุกระจกใส เขาไม่เคยตื่นทำงานแต่เช้าเช่นนี้มาก่อน ไม่เคยนึกออกว่ายามเช้าจะงดงามและเปี่ยมพลังเพียงนี้ (เสียงจากชั้นสอง : หน้า 152)

            “แสง” แทนการรื้อค้นทรงจำที่เจ็บปวด “แสงสว่างลับไปจากนอกหน้าต่างแล้ว อากาศก้ำกึ่งระหว่างอบอุ่นและเย็บสบาย คุณยายซันเดย์หยุดอดีตไว้ชั่วคราวตรงห้วงเวลาของการสูญเสียพ่อแม่บุญธรรมและกำลังจะได้เป็นแม่คน” (บ้านของคุณยายซันเดย์ : หน้า 230-231) หรือ “พอแม่เดินกลับเข้าห้องไปแล้ว ก็มักเป็นเธอเองที่หมดอาลัยตายอยากอยู่ตรงนั้น มองผิวน้ำสะท้อนไฟไหววาบ เพ่งลงไปถึงก้นสระที่ลูกอาจกำลังอ้างว้าง เหมือนที่ครั้งหนึ่งเธอเคยรู้สึก...แต่เธอไม่สามารถช่วยลูกได้เหมือนกับที่พ่อเอาชีวิตของเธอคืนจากสายน้ำ” (เน้นความและตัดทอนโดยผู้เขียนบทความ จากเรื่อง ในใต้น้ำ : หน้า 202)

            หรือ “แสง” แทนความรู้สึกและสภาวะภายในที่อิ่มเอิบ “เธอและเขาโผกอดกันกลมอย่างไม่รู้ใครอ้าแขนโอบใครก่อน หากมองโดยถอยห่างออกมาจากครัวแห่งนั้น มองผ่านหน้าต่างที่เห็นโต๊ะหินอ่อนสง่างามกลางครัว มองผ่านแสงสีส้มนวลที่อบอวลในอากาศ” (ลิ้นที่ไม่รู้รส : หน้า 108) หรือความรู้สึกหยามหยัน “ไม่คิดว่าแกจะกลับมาอยู่บ้าน แม่เรียกคอนโดฯ อาบแสงหม่นหมองอย่างเต็มปากเต็มคำว่าบ้าน” (ในใต้น้ำ : หน้า 192)

            นอกจากนี้ “เงา” ก็ถูกนำมาใช้ในการสื่อความด้วยเช่นกัน “ทว่าในมุมมืดลึกสุดของห้องนั้น เขาเห็นเส้นเงาเลืองรางเป็นลำตัว นั่นหัว นั่นแขน นั่นขา ไม่ใช่ร่างเดียว แต่เป็นสองร่าง เงาหัวของสองร่างซบแอบแนบชิด เงาแขนขาของสองร่างก่ายเกี่ยว ลำตัวของสองร่างทับทาบเขยื้อนแช่มช้า” (เสียงจากชั้นสอง : หน้า 169-170) หรือ “ฉันก้าวกรูดถอย ซอยขาพัลวันจนไม่ได้นับก้าว กระทั่งเหยียบลงกลางอากาศ หงายหลังสู่ความว่างเปล่า เงานั้นวาดมือหมายคว้า แต่ฉันแตะได้เพียงปลายนิ้วของอีกฝ่ายเป็นสัมผัสสุดท้าย ก่อนหล่นร่วงสู่เบื้องล่างอาบสีดำ” (แววตาโศกและแววตาใส : หน้า 41)

            จะเห็นว่าบทบรรยายที่มี “เงา” ปรากฏในฉากมักถูกใช้เป็นสัญญะในแง่ลบ เช่นใช้แทน “ความใคร่ ความตาย” ซึ่งตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับฉากที่มี “แสง” และที่สำคัญ “แสง” เป็นส่วนหนึ่งของตัวละครที่เป็น “ผู้เล่า” ตัวละครที่มี “เสียง” ในทุกเรื่องซึ่งตกอยู่ในสถานะ “ผู้ถูกกระทำ” ไม่ว่าจะเป็นเสียงจากศพไปจนถึงเสียงจากความนึกคิดของเด็กทารก ขณะตัวละครที่ถูกกล่าวถึงในเรื่องเล่า (เร้นอยู่ในเงา) กลายเป็น “ผู้ร้าย” หรือ “ผู้กระทำ” อยู่ร่ำไป นั่นอาจเพราะ “คนอื่น” ย่อมถูกจัดวางให้เป็นตัวร้ายในเรื่องเล่าของใครสักคนเสมอ

            แต่ในทางกลับกัน หากนำเอาประโยคอันโด่งดังจากบทละครของ ฌอง ปอล ซาร์ตร์ นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส สายอัตถิภาวนิยมที่ว่า “นรกคือคนอื่น” มาเทียบเคียงกับตัวละครของตินกานต์ อาจกล่าวได้ว่าแสงจากนรกที่กำลังมอดไหม้ตัวละครผู้เล่า อาจไม่ใช่ “คนอื่น” อันหมายถึงบุคคลภายนอก แต่แท้จริงแล้วคือตัวละคร “ผู้เล่า” เองนั่นแหละ ที่กำลังพยายามมองตัวเอง กำหนดความเป็นไปของตัวเอง ตามความนึกคิด ตามความหมายที่คนอื่นหยิบยื่นให้ ฉะนั้น นรกที่ตัวละครของตินกานต์กำลังมอดไหม้ทั้งเป็น ไม่ใช่ขุมนรกอื่นใดนอกจากนรกในจิตใจตัวเอง และนรกที่กำลังแผดเผาหมกไหม้ในจิตใจของตัวละครก็แผ่ซ่านแบ่งปันสู่ผู้อ่านด้วยประโยคจาก เรื่อง “ชายผู้เกิดในวันที่มนุษย์เหยียบดวงจันทร์” ซึ่งตัวละครพ่ายพังเพราะใช้ชีวิตอยู่บนความคาดหวังของแม่ตลอดเวลา ด้วยถ้อยคำในนึกคิดที่ว่า “บางชีวิตเกิดมาเพื่อกระทำสิ่งล้ำค่า ขณะที่บางชีวิตเกิดมาเพียงเพื่อหายใจไปจนกว่าจะตาย” (หน้า 76)

 

งุ่นง่านในเขาวงกต

            หากเชื่อว่าทุกชีวิต “เกิดหนเดียวตายหนเดียว” นั่นทำให้หนึ่งช่วงชีวิตมีคุณค่า มีความหมายและไม่มีเวลามากพอให้สำหรับความผิดพลาดใดๆที่อาจเกิดขึ้นหรือเกิดซ้ำ เพราะไม่มีโอกาสกลับไปแก้ไขหรือลองใหม่ (หลายชีวิตอยู่บนเงื่อนไขที่ไม่มีสิทธิได้ลองผิดลองถูก) อย่างมากก็แค่เรียนรู้เริ่มใหม่ให้ดีกว่า แต่สิ่งที่ไม่อาจลบเลือนออกไปได้ ก็ยังคงเป็นรอยด่างดวงอยู่เช่นนั้นนานเท่านาน ทว่าสำหรับตัวละครของตินกานต์ในเล่มนี้ ชีวิตเดียวเหมือนจะน้อยเกินไป

            เมื่อต้องเผชิญกับชะตากรรมที่วกวนซ้ำซากในเหตุการณ์ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง จึงทำได้เพียงก้มหน้ายอมจำนนต่อ “ความเจ็บปวด” และ “ความซ้ำแล้วซ้ำเล่า” อย่างมิอาจขัดขืน ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ เช่นชายที่มีปมกับวันเกิดของตัวเองในเรื่อง “ชายผู้เกิดในวันที่มนุษย์เหยียบดวงจันทร์” ยิ่งเขาจดจำยิ่งทำร้าย “ไม่มีใครมองดวงตาของเขาอย่างสังเกตสังกาว่ากำลังระทมลึก ไม่มีใครเข้ามาไถ่ถามวันเกิดของเขา ซึ่งแน่นอนว่าเขาจะไม่เอ่ยถึงเรื่องราวของวันนั้นอีกต่อไป...เด็กชายที่ทำเขาผิดหวังเท่าที่รับรู้ว่าแม่ผิดหวัง เด็กชายที่กำลังจะมีอายุครบห้าสิบปีบริบูรณ์ ในเวลาเก้านาฬิกาห้าสิบหกนาทีของวันพรุ่งนี้” (เน้นความและตัดทอนโดยผู้เขียนบทความ จาก หน้า 76-77) หรือเหมือนลิ้นของหญิงสาวในเรื่อง “ลิ้นที่ไม่รู้รส” ที่วันดีคืนดีลิ้นก็เกิดไร้ประโยชน์ขึ้นมาเช่นเดียวกับแม่ของเธอ “แต่แว่บหนึ่งก็ผวาขึ้นมาจับจิต แม่ของฉันเคยมีอาการเช่นเดียวกันนี้ อยู่ดีๆก็กินอะไรไม่รู้รสชาติ” (หน้า 97)

            หรือแม้แต่ประสบการณ์เฉียดตายของแม่กับความสูญเสียในเรื่อง “ในใต้น้ำ” ที่ว่า “ความเศร้าเกินบรรเทาถาโถมใส่ชีวิตของเธอไม่รามือ แม้ไม่แสดงออก แม้ไม่เอ่ยออกมา คืนวันผันไปด้วยการพร่ำเตือนใจตนเองเช่นกัน อุบัติเหตุ มันเป็นอุบัติเหตุ ทั้งที่ส่วนลึกอยากกล่าวโทษใครสักคน ไม่แม่ที่เผอเรอและเฉื่อยช้าอย่างน่าสมเพช ก็เป็นเธอเองที่ยอมจำนน กลับสู่อดีตหมักหมมที่ครั้งหนึ่งเกือบจะหนีมันพ้น” (หน้า 202)

            และถึงแม้จะพยายามหนี ก็ใช่ว่าจะหนีพ้น อย่างชะตากรรมของเชฟหนุ่มใน “เสียงจากชั้นสอง” ที่สุดท้ายแล้วความทรงจำเลวร้ายที่คอยหลอกหลอนจากอดีต ก็กลับมาโบยตีเขาอีกครั้งอย่างสาสม “เขาเพิ่งหนีจากมันมาได้ แต่เขาโกรธตัวเองยิ่งกว่าที่หนีจากอดีตไม่เคยพ้น ภาพอดีตยังตามหลอกหลอน หลอนเสียยิ่งกว่าเสียงพิศวงตอนที่ยังไม่รู้ที่มา บ้านหลังนี้ ทะเลผืนนี้ไม่เคยมอบชีวิตใหม่แก่เขา เขายังตรึงตนเองไว้กับชีวิตคู่อันพังพินาศ เป็นวิญญาณที่สิงสถิตอยู่ในครัวเก่าที่คับแคบและอึดอัด ตอนนี้เขารู้แล้ว ว่าต่อให้ตัวตาย ก็ไม่มีวันไปผุดไปเกิด ณ ที่ใหม่ที่ใด ใจยังผูกเจ็บ ไม่มีความหวัง ไม่มีการให้อภัย” (หน้า 173)

            จากบทบรรยายหลายเรื่องสั้นที่ยกมาข้างต้นจะเห็นว่า ชะตากรรมของตัวละครถูกผูกติดกับความระทมทุกข์ที่กลับมาเกิดซ้ำอย่างสิ้นไร้ทางหนี แต่หากสังเกต “เคราะห์ซ้ำ” ที่ปรากฏในแต่ละเรื่อง จะพบความเชื่อมโยงของบางสิ่งบางอย่างระหว่างทั้งสองเหตุการณ์ในลักษณะของ “ความคล้ายคลึง” อันนำไปสู่ “ประสบการณ์ซ้ำซาก” ภายในเรื่องเดียวกัน

 

เรื่องสั้น

สิ่งที่เชื่อมโยง

ความสัมพันธ์

ความหมาย

ชายผู้เกิดในวันที่มนุษย์เหยียบดวงจันทร์

วันคลอด/วันเกิด

แม่,ลูกชาย

ความคาดหวัง,ชีวิตใหม่

ลิ้นที่ไม่รู้รส

ลิ้น

แม่,ลูกสาว

ความบกพร่องในหน้าที่เมียและแม่

ในใต้น้ำ

นก (นกที่บินได้ไม่ไกล)

แม่,ลูกชาย

ความโหยหาอิสรภาพ, ชีวิตใหม่

เสียงจากชั้นสอง

ห้องครัว

สามี,ภรรยา

ความขัดแย้ง,การแย่งชิง,การล่มสลาย

 

          ตารางทำให้เห็นความเชื่อมโยงและนัยยะของ “การเกิดซ้ำ” ที่ชัดเจนมากขึ้น ความน่าสนใจในเรื่องสั้น “ในใต้น้ำ” คือการใช้นกสองชนิดสื่อความที่ต่างกันอย่างแยบคาย สีเขียวของ “นกยูง” ทำให้เด็กหญิงโน้มเข้าหาผักตบชวา อีกทั้งลายบนหางมีสีคล้ายคลึงกันกับดอกผักตบชวามาก เป็นเหตุให้เธอพลัดตกน้ำและเกือบตาย ขณะที่การจมน้ำของลูกชายเธอสืบเนืองมาจากการวิ่งไล่ “นกพิราบ”ซึ่งนกทั้งสองต่างกันเรื่อง “ความสามารถในการบิน” นกพิราบ บินได้นานและบินไปได้ในระยะไกล เป็นสัญลักษณ์แทนชีวิตใหม่ อิสรภาพ ส่วน นกยูง แม้จะบินได้ แต่ก็เป็นการบินในระยะสั้นและผูกติดกับถิ่นที่ จึงเป็นภาพแทนชีวิตของหญิงสาวในเรื่องที่พยายามหนีไปให้ไกล แต่สุดท้ายก็ไปไม่พ้นต้องหลงวนกลับมาที่เดิมส่งผลให้เธอสยบยอมและตัดพ้อต่อโชคชะตาว่า “และพบอีกว่าเธอหมดแล้วซึ่งแรงทะเยอทะยานไปสู่การมีชีวิตนอกกรอบสี่เหลี่ยม เหมือนกับว่า เมื่อสิ้นไร้คนที่มีความหมายต่อชีวิตเสียแล้ว ชีวิตที่เหลือก็พลอยหมดความหมาย (หน้า203-204)

          ไม่เพียงเท่านั้น ตินกานต์ยังจัดวางให้ตัวละครในฉากที่ไม่สลักสำคัญกับเนื้อเรื่องหลักถ่ายทอดฉากชีวิตอันน่าเบื่อหน่ายออกมาอีกด้วย “ยามผู้ยืนประจำทางเข้าคอนโดฯ ก็ยังเป็นคนเดิม เธอแปลกใจ เขายืนตรงนั้นมาตั้งแต่ยังหนุ่มกระทั่งสู่วัยโรยราเช่นนี้ได้อย่างไร เขาเป็นยามที่แทบไม่เคยหยุดงาน ชีวิตหมุนเวียนอยู่รอบป้อม หายใจเข้าออกกับไม้กั้นยกขึ้นลง มียามคนอื่นมายืนแทนก็เพียง กะค่ำ พอเช้า เขาก็กลับเข้าประจำการ” (หน้า 194)ราวกับว่าการยอมจำนนอยู่กับความซ้ำซาก คือหนทางเดียวเพื่อให้ชีวิตดำรงอยู่ได้

            แต่ใช่ว่าจะมีแต่ชีวิตที่จมปลัก เพราะในเรื่องสั้น “วันแดดสะพรั่ง หางนกยูงระบัดสีแดงเต็มต้น” ตัวละครพ่อซึ่งแบกรับความหวังและทำหน้าที่สานต่อเจตนารมณ์ของครอบครัวในฐานะ “ลูกที่ดี” มาตลอดทั้งเรื่อง กลับละวางจากทุกสิ่งในตอนท้าย เพื่อให้ตนเองหลุดพ้นจากวงจรนี้และเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่คนรุ่นถัดไป ทั้งกลวิธีในการเล่าเรื่องนี้ยังเล่าคู่ขนานไปกับเหตุการณ์สำคัญทางการเมือง ฉะนั้น “ความซ้ำซาก” นี้ ในแง่หนึ่งก็เป็นการสื่อถึง “การเมืองไทยที่วนกลับมาสู่เขาวงกตไม่จบไม่สิ้น”

เถ้าแก่ๆ เขารัฐประหารแล้ว เย็นวันนั้น ภายในบ้านจึงไม่มีเรื่องบ้านหลังใหม่ พ่อเดินผ่านแม่ ส่ายหน้าพูด อีกแล้ว แม่ถามกลับ อีกแล้วอะไร บ้านเหรอ บ้านเป็นอะไรอีก พ่อก็ยังส่ายหน้า ตอบแค่ว่า ไม่ใช่ แล้วเงียบไปทั้งคืน” (หน้า 133)

            ชีวิตยุ่งยากน่าเบื่อหน่ายและเต็มไปด้วยความซ้ำซาก ไม่ต่างจากประวัติศาสตร์การเมืองไทย “บ้าน” ในเรื่องสั้นของตินกานต์ก็ผ่านอุปสรรคนานากว่าจะสร้างเสร็จ แต่บ้านเมืองนอกหน้ากระดาษนั้นยากกว่ามาก ทว่าอย่างน้อยความซ้ำๆซากๆ ก็ทำให้ได้เรียนรู้ รู้จักวิธีรับมือและเติบโตขึ้นมิใช่หรือ แต่ถึงอย่างนั้น ผลสุดท้ายก็อาจจบลงอย่างในเรื่องสั้น “เรามองเห็นอนาคต จนกระทั่ง...” ที่เปรียบเปรบอย่างแหลมคมไว้ว่า “อุ้มได้ประเดี๋ยว ยายก็ขออุ้ม แล้วส่งให้ตาอุ้ม ป้าก็อยากอุ้ม รับหลานมาจากตา แล้วอีกสองคนก็อยากอุ้มบ้าง รับส่งเหมือนโยนลูกบอล โยนกันไปรับกันมา จับร่างน้อยชูขึ้นสูง กอดตัวเขย่า หอมซ้ำหลายฟอด ส่งต่อจนครบทุกวงแขนจึงวนกลับมาที่ผู้เป็นยายอีกที” (หน้า 275) และหากเป็นเช่นนี้ ต่อให้ชีวิตแหวกว่ายไปได้ไกลเพียงใด ก็ไม่พ้นมือผู้ชราอย่างยายในเรื่องอยู่ดี

 

รังรองอย่างรำไร

           แม้จะเป็นเขาวงกตอันซ้ำๆซากๆ ที่พยายามกักขังเราไว้ชั่วนาตาปี แต่รวมเรื่องสั้น “สลายสิ้นซึ่งความหวังรังรอง” เป็นหนังสืออีกหนึ่งเล่มที่เคียงข้างและยืนยันให้เราเห็นว่า ไม่มีสิ่งใดคงอยู่ได้ตลอดกาล ไม่ว่าจะสิ่งก่อสร้าง ความมืดมิดหรือความสัมพันธ์ ทุกสิ่งก่อเกิด เติบโตเพียงเพื่อเฝ้ารอวันล่มสลาย ขึ้นอยู่ว่าจะช้าหรือเร็วเท่านั้น และท้ายที่สุดถึงแม้แสงแห่งความหวังที่ฉายฉานในเรื่องเล่าของตินกานต์จะส่องแสงรังรองอย่างรำไรเพียงใด แต่หากเพ่งมองอย่างไม่วางตาแล้ว อย่างน้อยมันก็ทำให้ดวงตาเราไม่บอดสนิทไปเสียทั้งหมดและสักวันหนึ่งสองมือจะป่ายคลำไปจนเจอปลายทางแห่งความหวังของเราได้อย่างไม่ยากเย็นแน่นอน

 

Visitors: 72,513