ขออภัยในความไม่สะดวก:
วาทกรรมความล้มเหลว คำเตือนหรือคำขอโทษในความผิดพลาด
มิ่งมนัสชน จังหาร
รวมเรื่องสั้น “ขออภัยในความไม่สะดวก” ของ “ หรือ รองศาสตราจารย์ ดร.สุทัศน์ วงศ์กระบากถาวร ประกอบด้วยเรื่องสั้น 10 เรื่องที่ตีพิมพ์ต่างกรรมต่างวาระ รวมทั้งเขียนขึ้นใหม่ การสวมหมวกสองใบทำให้ทัศนาวดีมีผลงานทั้งวิชาการและวรรณกรรม แต่หากจะนับเฉพาะเรื่องสั้นก็ต้องบอกว่า “ขออภัยในความไม่สะดวก” คือรวมเรื่องสั้นเล่มที่ 11 ของผู้เขียน ซึ่งผู้เขียนยังรักษาท่วงทำนองในการเล่าเรื่องในแบบฉบับที่คุ้นเคย กล่าวคือเมื่ออ่านเรื่องสั้นของทัศนาวดี ไม่ว่าจะอดีตหรือเล่มนี้ ก็สามารถพบจุดร่วมหนึ่งได้คือ ทัศนาวดีเขียนถึงประเด็นต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม เรื่องของความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นรอบกายและใกล้ตัว อีกทั้งมักจะมีท่าทีของการวิพากษ์วิจารณ์ผสมอยู่ด้วย สำคัญที่สุดคือผู้อ่านหรือผู้ศึกษาวรรณกรรมสามารถมองเห็นโครงเรื่องในเรื่องเล่าของทัศนาวดีได้อย่างกระจ่างแจ้ง จับต้องตัวละครได้ มองเห็นฉากและบรรยากาศอย่างชัดเจน ไม่ได้นำเสนอชนิดคลุมเครือ พร่าเลือน ปวดเศียรเวียนเกล้าหรือเข้าใจยากอย่างเช่นเรื่องสั้นยุคหลัง ๆ ที่นำเสนอ
ผู้วิจารณ์อ่านรวมเรื่องสั้นของทัศนาดีแล้วทำให้เห็นถึงประเด็นที่ถูกนำเสนอหลายด้าน และคิดไปถึงชื่อรวมเรื่องสั้นเล่มหนึ่งของเขาที่ชื่อ “โลกใบเก่ายังเศร้าเหมือนเดิม” เรื่องสั้นทั้ง 10 เรื่อง บอกเล่าปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวละคร ตามขนบของการเขียนบันเทิงคดีที่ต้องเกิดจุดขัดแย้ง (Conflict) ก่อนที่จะคลี่คลายไปสู่ตอนจบเรื่อง หากเจาะลึกไปในรายละเอียดของแต่ละเรื่องแล้ว เรื่องสั้นแต่ละเรื่องล้วนบรรจุความเศร้าเอาไว้ในปริมาณมากน้อยแตกต่างกันไป ความเศร้าเหล่านี้เกิดมาจากการที่ตัวละครถูกกระทำ ความเศร้าเหล่านี้เกิดมาจากการที่ระบบสังคมล้มเหลว ส่งผลให้ตัวละครพบชะตากรรมที่ตัวเองไม่ปรารถนา ดังเช่นที่ทัศนาวดีเขียนไว้ในคำนำ “เมื่อเขียนเรื่องสั้นก็หมกมุ่นครุ่นคิดสรรหาเรื่องราวมาทำร้ายตัวละครให้สาสม สร้างภาพสะเทือนใจ ขณะที่บางความรู้สึกก็เอ่ยปากขอโทษขอโพย รำพึงรำพันว่า...นั่นแหละ...ทุกชีวิตเกิดขึ้นมาแล้ว ทุกช่วงวารวัยล้วนต้องเผชิญอุปสรรคนานัปการตามรายทางวิถีด้วยกันทั้งนั้น” และเมื่อจำแนกแยกแยะความเศร้าของตัวละคร ผู้วิจารณ์เห็นถึงมิติด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องระบบการศึกษา ความสัมพันธ์ในครอบครัว ไปจนถึงสังคมและการเมือง ดังที่จะได้นำเสนอต่อไป
ขออภัยโลกการศึกษา: ความเศร้าและความล้มเหลวของระบบ
การศึกษาคือระบบที่ยึดโยงอยู่กับชีวิตของผู้คน เป็นระบบพื้นฐานที่ทุกคนต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม ทว่าในเรื่องสั้นของทัศนาวดี ผู้เขียนได้นำเสนอเรื่องของการศึกษาทั้งทางตรงและอ้อม เช่นการขาดโอกาสทางการศึกษาในเรื่องสั้น “โฉมแม่หยาดฟ้าเยิ้ม อยู่ร้อนฤๅเห็นฯ” ที่เพ็ญ ตัวละครในเรื่องไม่ได้รับการศึกษา ทำให้ต้องระหกระเกินออกจากบ้านเพื่อทำงานหาเลี้ยงชีพ “เพ็ญบอกว่า จบ ม.6 มาแล้วสองปี ด้วยความไม่พร้อมหลายอย่างจึงไม่ได้เรียนต่อในระบบ หล่อนเรียนรามฯและเรียนเสริมสวยไปด้วย ส่วนพี่สาวพี่เขยไปทำงานที่กรุงเทพฯ ทิ้งลูกไว้ให้ตายายและน้าดูแล” (น.146) การขาดการศึกษาเป็นเรื่องทำให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา กรุงเทพฯ ยังเป็นศูนย์กลาง และนำพาผู้คนชนบทให้เข้าไปแสวงโชคเช่นเคย การทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิดและลูก ๆ ไว้กับคนเฒ่าคนแก่ที่ยากไร้และต้องเลี้ยงดูลูกหลานตามมีตามเกิด ย่อมทำให้เด็กไม่ได้รับคุณภาพชีวิตที่ดี และเติบโตขึ้นในบริบทที่ไม่พร้อม อาจนำไปสู่ปัญหาอาชญากรรมดังที่ถูกนำเสนอในข่าว นอกจากการไม่ได้รับการศึกษาแล้ว ในเรื่องสั้น “ตอนกลางของเรื่อง” ยังวิพากษ์ระบบการศึกษาในเชิงเปรียบเทียบ โดยยกตัวอย่างการเรียนการสอนในอดีตกับปัจจุบันขึ้นมาฉายให้เห็นภาพของการศึกษาในสมัยก่อนและการศึกษาในยุคปัจจุบัน
กูคิดว่า ความเปลี่ยนแปลงของหมู่บ้าน อันส่งผลต่อวิถีชีวิตของผู้คน มันส่อเค้าลางตั้งแต่เริ่มมีถนนลูกรัง ตามด้วยไฟฟ้า และความเจริญทางวัตถุใหม่ ๆ ที่ลำเลียงเข้ามาไม่ขาดสายนั้น อาจมีส่วนดีและไม่ดีเป็นธรรมดาล่ะ แต่ก็คิดว่ามันไม่ดีเสียมากกว่า อย่างแต่ก่อนนักเรียนห้องละสามสิบสี่สิบ ครูโคตรดุ เงินเดือนไม่กี่บาท แต่เด็กอ่านออกเขียนได้กันทุกคน วันนี้เป็นไงล่ะ มึงก็รู้ดีนี่ ดูอย่างโรงเรียนสมัยนี้ มีเครื่องไม้เครื่องมืออำนวยความสะดวกทุกอย่าง ครูเงินเดือนสี่ห้าหมื่น สอนเด็กห้องละสี่ห้าคนให้อ่านหนังสือออกทำไม่ได้.. (น.129)
เป็นที่เข้าใจได้ว่า เรื่องของยุคสมัยก็เป็นส่วนสำคัญในการอ่านออกเขียนได้ของนักเรียน เป็นเรื่องที่น่าตั้งคำถามเช่นกันว่า เทคโนโลยีพัฒนาก้าวกระโดด เครื่องไม้เครื่องมือมากมายที่สามารถเข้ามาช่วยส่งเสริมพัฒนาระบบการเรียน แต่การศึกษาดูเหมือนจะย่ำอยู่กับที่และยังพบเด็กที่ยังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้จำนวนมาก น่าค้นหาคำตอบว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมีสิ่งใด “ไม่สะดวก” หรือขัดข้องติดขัดตรงไหน หรือระบบพ่อพิมพ์แม่พิมพ์ของชาติมีจุดสีเทาและรอวันลบให้สะอาดสวยงาม
ทัศนาวดีได้รางวัลนายอินทร์อะวอร์ดจากเรื่องสั้น “สมภารระดับแปด” ที่วิพากษ์ระบบการศึกษา คุณธรรม จริยธรรม จรรณาบรรณของครูที่ขาดหายลดน้อยถอยลง ในเรื่องสั้น “ขออภัยในความไม่สะดวก” ซึ่งเป็นชื่อหนังสือ ก็ให้รสชาติเหมือนกัน เพราะได้นำเสนอเรื่องของการสอบรับราชการครูที่ฉายให้เห็นภาพของเส้นสายใต้โต๊ะผ่านความรู้สึกที่ปลอบประโลมตัวเองว่าใคร ๆ เขาก็ทำกัน “แม้ไม่ถูกต้องในการใช้อำนาจหน้าที่ก็เถอะ มันไม่ได้เสียหายอะไรมากมาย ใคร ๆ ก็ทำกัน” (น.18) โดยเป็นเรื่องของ “ปัญญา” ผู้บริหารคณะฯ ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ที่รับปากกับว่าจะรับลูกหลานของเพื่อนเข้ามาเรียนโดยใช้เส้นสายของตัวเอง โดยรับปากทั้ง “ถาวร” เพื่อนที่เป็นชาวบ้าน “เรื่องแค่นี้ขี้ผงน่า ลูกมึงก็เหมือนลูกกู” เขาย้ำน้ำเสียงหนักแน่นให้เพื่อนรักสบายใจ ในชาตินี้ชีวิตมันคงหมายพึ่งพาสวัสดิการรัฐจากลูกชายเป็นความหวังสุดท้าย (น.18) และเพื่อนที่เป็นผู้อำนวยการเขต “หลานรองผู้อำนวยการเขต อยากเรียนสาขาที่เพื่อนสอน ยังไงก็รบกวนด้วย รอบสุดท้ายแล้วไม่อยากให้พลาด เรื่องของลูกน้องหรอก แต่ต้องช่วย เดี๋ยวหาว่าเจ้านายไม่มีบารมี เสียทีมีเพื่อนเป็นถึงรองคณบดี” (น.21) ทัศนาวดีถนัดเรื่องการขยี้ชะตากรรมของตัวละคร เพราะเมื่อปัญญาต้องเลือกนักเรียนเข้าศึกษาต่อ เขาก็เลือกหลานของรองผู้อำนวยการเขต โดยมีผลประโยชน์ต่างตอบแทนเรื่องลูกสาวตัวเองที่ผู้อำนวยการเขตบอกว่า “ได้ ๆ เรื่องแค่นี้เดี๋ยวเราจัดการให้ ว่าแต่อย่าลืมเรื่องลูกสาวเราล่ะ ครู กทม.ก็เรียกยังไม่ถึง” (น.21)
ขออภัยโลกในบ้าน: ความเศร้าและการล่มสลายของสถาบันครอบครัว
ครอบครัว เป็นสถาบันพื้นฐานที่หล่อหลอมลักษณะนิสัยในตัวบุคคล แต่ละครอบครัวมีปัจจัยที่ไม่เหมือนกัน ครอบครัวที่มีฐานะย่อมมีความพร้อมในหลายด้าน ทั้งเรื่องการศึกษา เศรษฐกิจ โอกาสต่าง ๆ ตรงข้ามกับครอบครัวที่ยากจน ขาดแคลนทุนทรัพย์ ก็ต้องดิ้นรนทำอาชีพ ปากกัดตีนถีบ หาเช้ากินค่ำ สังคมยังมีความไม่เท่าเทียม โดยเฉพาะชนบทในภาคอีสานซึ่งเป็นภูมิลำเนาของทัศนาวดี เขาได้นำเสนอภาพความแตกร้าว ความไม่เข้าใจกันของสมาชิกในครอบครัว เรื่องสั้น เสร็จหมา ในเล่มเป็นเรื่องสั้นที่หยิบยกประเด็นเรื่องคุณค่าของผู้สูงอายุขึ้นมานำเสนอ โดยมีการเปรียบเทียบระหว่างยาย หมาพุดเดิ้ล และแพนด้า โดยในครอบครัวมีหลานสองคนที่ให้ความสนใจแพนด้าที่มาจากต่างประเทศ และสุนัขที่ซื้อมาเลี้ยง โดยหลงลืมไปว่าในบ้านยังมีหญิงชราคนหนึ่งอาศัยอยู่ และครอบครัวก็ตัดสินใจให้ยายไปอยู่ที่บ้านพักคนชรา “นางถูกลูกสาวนำมาปล่อยที่บ้านพักคนชราแห่งนี้เมื่อปลายปีที่แล้ว โดยอ้างว่าไม่มีเวลาดูแล ด้วยหน้าที่การงานรัดตัว” (น.88)
อีกไม่นานสังคมไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และกลุ่มคนเหล่านี้อาจถูกปล่อยปละละเลย เพียงเพราะไม่ได้เป็นกลุ่มแรงงานที่ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ ถูกลดคุณค่า เป็นเพียงหญิงชราที่เหงาหงอยอยู่กับบ้าน เป็นเรื่องน่าเศร้าหากสังคมของเราเดินไปในทิศทางเช่นนั้น โดยไม่ทำความเข้าใจและร่วมกันหาวิธีแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เรื่องสั้นเรื่องนี้จึงเป็นโลกแสนเศร้าของผู้สูงอายุ เพราะถูกลดบทบาทและไม่มีความสำคัญกับลูกหลาน “ตลอดระยะทางซึ่งลูกสาวขับรถมาส่งที่บ้านพักคนชรา หลานสองคนยื้อแย่งกันอุ้มพุดเดิ้ลน้อยโดยไม่สนใจอาลัยอาวรณ์ยายแม้แต่นิด ต่างผลัดกันดอมดมด้วยความเสน่หา นางได้แต่เก็บความน้อยเนื้อต่ำใจไว้ภายใน” (น.88)
นอกจากปัญหาผู้สูงอายุในครอบครัวแล้ว เรื่องสั้น จ๊ะเอ๋ ยังได้นำเสนอความล่มสลายของสถาบันครอบครัว ผ่านประเด็นเรื่องการ “นอกใจ” และ “นอกกรอบ” ของสมาชิกในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็น พ่อที่มีคนใหม่ แม่ที่ชอบพอกับรุ่นน้อง หรือ “จ๊ะเอ๋” ชื่อลูกสาวที่หนีโรงเรียนไปกับชายหนุ่ม ทัศนาวดีเล่นกับคำว่า “จ๊ะเอ๋” นอกจากเป็นชื่อตัวละครแล้ว ยังหมายถึงการพบหรือเจอกันโดยบังเอิญ หรือการเล่นที่ฝ่ายหนึ่งโผล่หน้ามา หรือปิดหน้าไว้แล้วเปิดออกพร้อมทักทายว่า "จ๊ะเอ๋" ทว่าการจ๊ะเอ๋ครั้งนี้มีฉากเป็นโรงแรมม่านรูดที่ทั้งสามคนมาเจอกัน
ก่อนที่เหตุการณ์หน้าม่านรูดจะลุกลามต่อไป สามวินาทีต่อมา ภาพที่ปรากฏเบื้องหน้าทั้งสอง หลังรถอีกคันจอดสนิทพร้อมกับการก้าวลงมาของชายหญิงคู่หนึ่ง
"พ่อ...แม่...นั่นพ่อนี่” สาวน้อยตะโกน แล้วอาศัยจังหวะที่แม่อ้าปากค้างนั้น แกะมือแม่ออกจากปอยผม
“ไอ้เหี้ยเอ๊ย....ถึงจบกันแน่วันนี้” หล่อนตะโกนก้อง ชี้หน้าผู้มาใหม่ หันมากระชากเสียงใส่ลูกสาว
“จ๊ะเอ๋...เรื่องของมึงเอาไว้ก่อน ไปตบอีนั่นช่วยกูเดี๋ยวนี้ อย่าให้มันหนีมือพ้น กูจะจัดการกับพ่อมึงเอง เป็นไงเป็นกันวันนี้" (น.111)
แม้ปัญหาครอบครัวจะเป็นประเด็นที่ถูกนำเสนอมาแล้วในเรื่องสั้นทุกยุคทุกสมัย แต่ก็ยังเป็นเรื่องราวที่ยากจะแก้ไข เพราะต้นเหตุของปัญหาครอบครัวนั้นอยู่ลึกลงไปในจิตใจ เป็นเรื่องของศีลธรรม จริยธรรม และจิตสำนึกรู้ผิดชอบชั่วดี
ขออภัยโลกส่วนตัว: ความเศร้าการเมืองเรื่องอัตตา
ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา เราพบปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองเกิดขึ้นแทบทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นมิติของการเมืองจากภาพการบริหาร ค่อย ๆ ซึมแทรกเข้าไปสู่การเมืองเรื่องความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันของสมาชิกในครอบครัว เกิดการถกเถียง ทะเลาะ และไม่ยอมรับความคิดฝ่ายตรงข้ามที่แตกต่าง คนที่คิดไม่เหมือนตัวเองคือคนผิดและคนไม่ดี ทั้งที่โลกปัจจุบัน การนิยามคำว่าดีและถูกต้องนั้นคลุมเครือยากจะนิยามได้เหมือนเดิม
ในเรื่องสั้น น้ำ (ท่วม) ใจ นำเสนอภาพความขัดแย้งทางความคิดการเมืองของเพื่อนบ้าน จากที่เคยให้ความช่วยเหลือกันเกื้อกูลกันมา การเมืองทำให้ทั้งสองครอบครัวต่างเกลียดชังกัน “มันเกิดจากความขัดแย้งทางความคิดของพ่อกับลุงทิมที่อยู่บ้านฟากฝั่งตรงกันข้าม รุนแรงถึงขั้นปรี่เข้าวางมวยกันมาแล้ว ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านั้น สองครอบครัวที่เคยพึ่งพาอาศัยไปมาหาสู่และแบ่งปันน้ำใจกันเสมอ” (น.48-49) เหตุการณ์ในเรื่องคือ น้ำกำลังจะไหลทะลักเข้าท่วมบ้าน ลูกสาวที่อยู่ในบ้านก็ถูกพ่อสั่งห้าม ไม่ให้ขอความช่วยเหลือจากเพื่อนบ้านที่คิดต่าง
ลูกสาวผู้หวาดกลัวอารมณ์ร้ายของพ่อคงไม่มีทางข้ามไปขอความเมตตาจากบ้านฝั่งตรงกันข้าม ที่สัญญาสาบานกันว่า ตายก็ไม่มีวันเผาผีกันเป็นอันขาด (น.55)
ในขณะที่อีกฝ่ายก็ไร้เยื่อใยไม่อยากช่วยเหลือ เลวร้ายไปกว่านั้นกลับรอซ้ำเติม กลายเป็นเรื่องความคิดทางการเมืองขยายวงกว้างเข้าไปในจิตใจ ทำมนุษยธรรมความผิดชอบชั่วดี หรือจิตสำนึกพื้นฐานที่มนุษย์ต้องช่วยเหลือกันให้พังทลาย “พ่อยอมเป็นศัตรูกับลุงทิมที่ควรเป็นเพื่อนบ้านที่ฝากผีฝากไข้กันได้เพราะอะไร...ก็เพราะความคิดอันอุบาทว์นั่นไงล่ะ...คนเช่นนั้นอย่าไปมีมิตรไมตรีต่อกันเลย ลูกว่าไหม” (น.56) การเมืองเป็นเรื่องเลวร้ายเมื่อยึดติดและไม่สนใจเหตุผลหรือเปิดใจรับฟังอีกฝ่าย น้ำท่วมในเรื่องสั้นจึงไม่ใช่น้ำที่ท่วมเพียงสถานที่หรือบ้านเท่านั้น แต่มันทะลักเข้าไปท่วมพื้นที่หัวใจ และยากที่จะมีใครเข้ามาช่วยได้ นอกจากเจ้าของพื้นที่ต้องขยายขนาดหัวใจและวิดน้ำออกจากบ้านด้วยตัวเอง
ความคิดทางการเมืองที่แตกต่างกันยังนำไปสู่ปัญหาในลักษณะเดียวกันอีก เช่นในเรื่องสั้น สถานการณ์ยังเหมือนเดิม ซึ่งนำเสนอปัญหาที่เกิดขึ้นกับภรรยา ซึ่งเป็น “คนกลาง” ที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ และต้องมารองรับอารมณ์ของพ่อตัวเองและสามีที่มีความคิดเห็นไม่ตรงกัน “นั่นก็พ่อ...นี่ก็ผัว ด้วยความที่ไม่ค่อยสนใจเรื่องการเมือง หญิงสาวไม่เข้าข้างฝ่ายใด ไม่อยากเข้าไปยุ่ง รู้สึกอึดอัดเมื่อต้องมาอยู่ระหว่างความขัดแย้ง เหมือนเมื่อครั้งหนึ่งที่เพื่อนสองคนทะเลาะกัน และพยายามลากหล่อนไปเข้าพวก ต่างคนก็ชักชวนให้จงเกลียดจงชังอีกฝ่าย โดยที่หล่อนไม่ทราบรายละเอียดอะไรเลย” (น.70) และเมื่อคิดไม่เหมือนกันก็มักจะถูกผลักไปอยู่ฝั่งตรงข้าม “หล่อนได้แต่ส่ายหน้าถอนใจเอือมระอา หากต่อปากต่อคำา เขามักอารมณ์เสียเสียงดังลั่นบ้าน บางที่ลามไปถึงเรื่องการเมือง หาว่าหล่อนเข้าข้างพ่อไปโน่น” (น.72)
เรื่องการเมืองยังเป็นเรื่องที่ยากจะข้ามพ้น เพราะไม่มีใครยอมเปิดใจรับฟัง คิดอยู่กับความคิดความเชื่อของตัวเอง แต่งเติมเสริมสร้างอัตตาอยู่ในหลุมพรางกับดักความดีงามที่ตัวเองนิยาม โดยหลงลืมไปว่าความคิดความเชื่อต่าง ๆ นั้นได้ทำร้านคนรอบข้างโดยไม่รู้ตัว เช่นตัวละครในเรื่องสั้นที่ทัศนาวดีได้นำเสนอ
ขออภัยไม่สะดวกจะสรุป: ความล้มเหลว คำเตือน หรือคำขอโทษในความผิดพลาด
เรื่องสั้นของทัศนาวดีนำเสนอประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม เป็นปัญหาที่อยู่ในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่ระดับโครงสร้างจนถึงระดับครัวเรือน เรื่องการเมือง ปัญหาการศึกษา ปัญหาครอบครัว และยังผสมการวิพากษ์เสียดสีสังคมในแต่เรื่อง ซึ่งถือเป็นลักษณะเฉพาะของผู้เขียน โดยเฉพาะเรื่องของการศึกษาซึ่งเขาเคยเป็นครู ก่อนจะมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ทำให้เรื่องที่พูดถึงประเด็นนี้โดดเด่นขึ้นมา
เรื่องสั้นในเล่มคือความแหว่งวิ่นของชีวิตมนุษย์ ตัวละครมีความขาดพร่อง และพบเจอเหตุการณ์ต่าง ๆ และทำให้ตัวละครต้องเผชิญชะตากรรมแสนเศร้า เป็นโลกของความปวดร้าว ติดขัดลำบากในการตัดสินใจในการดำเนินชีวิต เรียกได้ว่าตัวละครในแต่ละเรื่องสั้นไม่ได้สะดวกสบาย หรือชีวิตโรยไปด้วยกลีบกุหลาบ ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า ประโยคอย่าง “ขออภัยในความไม่สะดวก” นั้น เป็นวาทกรรมที่ตัวละครเอาไว้ปลอบใจตัวเอง หรือภาครัฐเอาไว้เยียวยาความล้มเหลวในระบบโครงสร้างสังคมไทย หรือเป็นการปลอบประโลมและขอโทษที่ผิดพลาดหรือข้อขัดข้องที่เกิดขึ้น ดังที่เรื่องสั้นได้บอกเอาไว้
“นึกถึงภาพถนนลาดยางเข้าหมู่บ้านที่มีอายุสั้นไม่ทันข้ามฝน ข้างทางมีป้าย “ขออภัยในความไม่สะดวก” ปักไว้ก่อนถึงแนวถนนหักทรุด สื่อความหมายทั้งให้เพิ่มความระมัดระวัง และประจานความเหลวแหลกของหน่วยงานที่รับผิดชอบ” (น.25)
คราวนี้เวลาที่เราเห็นป้าย “ขออภัยในความไม่สะดวก “ที่ใด ๆ ก็ตาม เราอาจจะให้ความหมายของมันไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป.