เดฟั่น กับ ประวัติศาสตร์และความทรงจำที่ถูกเล่าผ่านสัญญะ
สุไฮมี สะมะแอ
เมื่อครั้งยังเด็ก, ผมคลับคล้ายคลับคลาว่าเคยเห็นเดฟั่นควบขี่เสือผ่านหน้าหมู่บ้านไปทางทิศเหนือ แต่ผมเองก็จำไม่ได้
เดฟั่น เรื่องเล่าของตระกูลคนเฆี่ยนเสือจากไทรบุรี ผลงานการเขียนของ ศิริวร แก้วกาญจน์ คว้ารางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียนปี 2564 เป็นการเล่าเรื่องการก่อตั้งชุมชนท้องถิ่นในอดีตเชื่อมโยงกับการตั้งถิ่นฐานของคนภาคใต้ในบริเวณเทือกเขาบรรทัดและลุ่มทะเลสาบ แสดงให้เห็นความหลากหลายทางวัฒนธรรมของผู้คน ส่งสารสำคัญว่าด้วยความทรงจำบาดแผลที่ถูกลบเลือน เป็นเสมือนประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่เขียนตอบโต้ประวัติศาสตร์กระแสหลัก นั่นเป็นคำประกาศจากคณะกรรมการตัดสินรางวัล ซีไรต์ ประจำปีพุทธศักราช 2564
เดฟั่น เป็นนวนิยายที่มีรสชาติแปลกประหลาด มีส่วนผสมหรือวัตถุดิบที่นำมาจากหลากหลายที่มา ศิริวรสามารถนำวัตถุดิบและส่วนผสมเหล่านั้นมาย่อย บดรวม ปรุงเสริมเพิ่มเติมจนเกิดเป็นผลงานร้อยแก้วที่มีความกลมกล่อม ทว่าร้อนแรงในรสชาติของความรู้สึก เหมือนการนำเอาสูตรอาหารโบราณมาดัดแปลงให้เข้ากับความเป็นสมัยใหม่ จนเกิดเป็นความสุนทรียะแห่งความหวาดหวั่นพรั่นพรึงในชะตากรรมของตัวละครที่ส่งต่อมาถึงผู้อ่าน
ดำเนินเรื่องเร็ว ใช้ภาษากระชับ ไม่เยิ่นเย้อ บอกเล่าตั้งแต่ปู่ทวดของเดฟั่นที่ควบขี่เสือมาจากชุมชนเก่าแก่แถบหุบเขาบูจัง ไทรบุรี (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของรัฐเกดะฮ์ มาเลเซีย) เพียงเพราะไม่อยากตกอยู่ใต้การปกครองของอังกฤษ และเริ่มก่อตั้งหมู่บ้านบริเวณเทือกเขาบรรทัด ปู่ทวดของเขามีลูกชื่อสุกะ ต่อมาปู่สุกะแต่งงานกับย่า (สาวอาเจ๊ะห์) และมีลูกด้วยกัน คนแรกชื่อรามัญ เกิดในปี 2473 อีก 2 ปี ถัดมา ก็มีอันดา พ่อของเดฟั่น ส่วนเดฟั่นนั้นเกิดในปี 2495 ระหว่างนั้นก็มีเหตุการณ์ ความเป็นไปของหมู่บ้านและตัวละคร ที่ทาบเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของประเทศและโลกอยู่ตลอดเส้นเวลาในเรื่อง รวมถึงการเติบโตและเผชิญชะตากรรมของตัวละครเองด้วย ทั้งสิ่งที่เดฟั่นหลงใหล คือการผสมพันธุ์ไก่ชน ต่อมา การพบรักกับสุคนธา คือต้นเหตุที่ทำให้เดฟั่นเปลี่ยนไป และการเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงจากอำนาจรัฐที่ไม่เป็นธรรม หรือที่เรียกว่าเหตุการณ์เผาลงถังแดง หากกล่าวโดยรวบรัดที่สุด นวนิยายเรื่องนี้บอกเล่าเรื่องราวของตระกูลคนเฆี่ยนเสือ 3 รุ่น โดยเริ่มตั้งแต่การอพยพมาจากไทรบุรีและเริ่มก่อตั้งหมู่บ้านของปู่ทวด ในปีพุทธศักราช 2452 ไปจนถึงการล่มสลายของหมู่บ้าน หรืออย่างน้อยก็การล่มสลายทางจิตวิญญาณในระดับปัจเจกของคนในชุมชน ช่วงปีพุทธศักราช 2516
เดฟั่น กับเรื่องเล่าเกี่ยวกับความทรงจำของตระกูลคนเฆี่ยนเสือจากไทรบุรี เป็นการเล่าเรื่องด้วยแนวทางสัจนิยมมหัศจรรย์ (Magical Realism) ผสมกับความเชื่อในท้องถิ่นของภาคใต้ ที่น่าแปลกคือ ความเหนือจริงในเรื่องกลับไม่ได้ทำให้เรารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องประหลาด กลับกัน มันให้ความรู้สึกเป็นธรรมชาติและสมจริงยิ่งขึ้นไปอีก อย่างไรก็ตาม การเล่าเรื่องแบบสัจนิยมมหัศจรรย์ในนวนิยายเรื่องนี้ ทำให้เกิดการตีความที่ซ่อนแอบอยู่ระหว่างบรรทัด ศิริวรพยายามใช้สัญญะ (Sign) เข้ามาแทรกซึมไว้ในแต่ละบท เพื่อซ่อนความหมายของเรื่องเล่าให้ลึกลงไปในอีกระดับหนึ่ง
ว่าด้วยเรื่องสัญญะ เฟอร์ดิน็อง เดอร์ โซซูร์ (Ferdinand de Saussure, 1857-1913) นักภาษาศาสตร์ชาวสวิส ได้วางรากฐานวิชาที่เรียกว่า สัญวิทยา (Semiology) ไว้ตั้งแต่ต้นคริสตวรรษที่ 20 โซซูร์ นิยาม สัญญะ (Sign) ว่าเป็นความสัมพันธ์ระหว่างสองปัจจัย ได้แก่ รูปสัญญะ (The Signifier) คือสิ่งที่มีความหมายหรือก่อให้เกิดความหมายเช่น ตัวอักษร ภาพ หรือท่าทาง กับ ความหมายสัญญะ (The Signified) คือ ตัวความหมาย , สิ่งที่รูปสัญญะอ้างอิงถึง เช่น เมื่อกล่าวถึง “แมว” พยัญชนะและสระที่ประกอบขึ้นเป็นคำว่า “แมว” คือรูปสัญญะ ส่วน “สัตว์ 4 ขาขนปุยที่ร้องเหมียว” ที่ปรากฏขึ้นในจินตนาการคือความหมายสัญญะ อีกแนวคิดหนึ่งของโซซูร์ที่ได้รับการพัฒนาต่อมาคือ แกนของสัญญะ โซซูร์เห็นว่า ในการศึกษาสัญญะนั้น ควรพิจารณา 2 แกนสำคัญคือ แกนการรวม (Syntagm) และ แกนการเลือก (Paradigm) โดยนำเสนอว่า การทำงานของสัญญะต้องพึ่งพาแกนทั้งสองตลอดเวลา
จากประเด็นของ 2 แกนนี้เองที่ทำให้โรมัน ยาคอบสัน นักวิชาการที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาโครงสร้างนิยม ได้พัฒนาแนวคิดเรื่องแกนการรวมและแกนการเลือกของโซซูร์ และนำเสนอว่าแกนการรวมนั้นสัมพันธ์กับภาพพจน์ นามนัย (Metonymy) ซึ่งหมายถึง การที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นตัวแทนของอีกสิ่งหนึ่งที่ใกล้เคียงกัน เช่น “มงกุฎเพชร” อาจหมายถึง “นางงาม” แกนการรวมกับนามนัยคล้ายคลึงกันในแง่ที่ว่า ความหมายเกิดจากการเทียบเคียงหรือการวางในตำแหน่งที่ชิดกัน ดังจะเห็นได้จากการที่นางงามมักจะสวมมงกุฎเพชรตลอด ส่วนแกนการเลือกนั้นเชื่อมโยงได้กับภาพพจน์ อุปลักษณ์ (Metaphor) ซึ่งหมายถึง การที่ของ 2 สิ่งที่ไม่ได้เหมือนกัน ไม่ได้วางใกล้กัน แต่ถูกนำมาเชื่อมโยงกัน เช่น “กาแฟดำ” อาจเป็นอุปลักษณ์แทน “ความขึงขังเอาจริงเอาจัง” หรือ “กุหลาบ” แทน “ความรัก” แกนการเลือกกับอุปลักษณ์นั้นคล้ายคลึงกันในแง่ที่ว่า ความหมายเกิดจากการแทนที่กันนั่นเอง (ทฤษฎีวรรณคดีวิจารณ์ตะวันตกในคริสต์ศตวรรษที่ 20 / สุรเดช โชติอุดมพันธ์ หน้า 78 - 80)
ด้วยกลวิธีของศิริวรที่ใช้แนวทางสัจนิยมมหัศจรรย์ในการเล่าเรื่อง จึงทำให้นวนิยาย เดฟั่น เต็มไปด้วยสัญญะที่ต้องตีความ ศิริวรท้าทายความคิดของผู้อ่าน โดยเริ่มโยนสัญญะมาตั้งแต่บทที่ 1
“...เดฟั่นมาถึงเมืองเราในเช้าวันอาทิตย์
กล่าวได้ว่า ณ ห้วงเวลานั้น ทุกเมืองบนคาบสมุทรของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ราวกับจมอยู่ใต้สายน้ำสีขาวไร้น้ำหนัก แต่เรื่องหมอกควันที่ว่านั้นแทบไม่เกี่ยวกับเรื่องที่ผมกำลังจะเล่าเกี่ยวกับเดฟั่น
เรื่องหมอกควันนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
เดฟั่นมาถึงเมืองเราในเช้าวันอาทิตย์ ไม่มีใครเห็นคนขี่เสืออย่างที่พวกเด็ก ๆ ว่า นอกจากชายพเนจรคนหนึ่งปรากฏกายขึ้นในม่านหมอก ตรงวงเวียนหอนาฬิกาประจำจังหวัด ฝั่งอาคารตรวจคนเข้าเมือง บนถนนบุรีวานิช
ผมเห็นเขาย่ำเท้าช้า ๆ ไปทางหอสมุดประชาชนเหมือนล่องลอยอยู่ในม่านหมอก
เดฟั่นล่องลอยอยู่ในม่านหมอก...”
(เดฟั่น พิมพ์ครั้งที่ 3 : บทที่ 1 หน้า 15 - 16)
ศิริวรตั้งใจเกริ่นกล่าวก่อนว่าเรื่องหมอกควันนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องที่กำลังจะเล่า แต่ถ้าเราหยิบปกหนังสือมาดู ชื่อพ่วงท้ายมันเขียนชัดเจนว่า “เรื่องเล่าตระกูลคนเฆี่ยนเสือจากไทรบุรี” เมื่อพูดถึงเรื่องเล่า มันก็คือเรื่องจากความทรงจำ ตัวเดฟั่นเองคือตัวแทนของเรื่องเล่าความทรงจำรูปแบบหนึ่ง เมื่อเดฟั่นปรากฏกายขึ้นในม่านหมอก หากตีความโดยใช้หลักสัญวิทยา มันก็เหมือนความทรงจำที่เลื่อนลอยอยู่ในความคลุมเครือ ซึ่งม่านหมอกก็คือสัญญะของการมองเห็นทัศนวิสัยที่ไม่ชัดเจน (ทั้งนี้ความหมายของสัญญะสามารถถูกเปลี่ยนแปลงไปตามตัวบทของเรื่องเล่าได้) ดังนั้น ในตอนต้นหรือบทนำของเรื่อง ศิริวรพยายาบอกกับผู้อ่านว่า มันเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความทรงจำอันพร่าเลือน เป็นเรื่องความทรงจำที่ถูกทำให้ไม่กระจ่างชัด อาจถูกบดบังทั้งจากบริบทสังคม การเมือง และปัจเจก
จากย่อหน้าในหนังสือที่ยกมา ยังมีเรื่องที่เดฟั่นวนเวียนอยู่ตรงหอนาฬิกาประจำจังหวัดและย่ำเท้าช้า ๆ ไปทางหอสมุดประชาชน นาฬิกา (เป็นรูปธรรม และ รูปสัญญะ) คือ วันเวลา (เป็นนามธรรม และ ความหมายสัญญะ) หอสมุดก็คือที่เก็บเอกสาร เรื่องเล่า บันทึก ความทรงจำต่าง ๆ เมื่อเดฟั่นคือความทรงจำรูปแบบหนึ่ง มันก็สมเหตุสมผลแล้วที่เขาจะต้องวนเวียนอยู่กับวันเวลา เรื่องเล่า เอกสาร และบันทึกความทรงจำ แม้ในตอนท้ายศิริวรจะเฉลยว่าหอนาฬิกาในเมืองนั้นตายไปตั้งนานแล้วก็ตาม
ต่อมา เมื่อปู่ทวดของเดฟั่นขี่เสือมาถึงบึงน้ำหอม ปู่ทวดนิ่งฟังเสียงคำรามเบา ๆ ในลำคอของเจ้าเสือโคร่ง แล้วตัดสินใจบอกทุกคนว่า “เราจะอยู่ที่นี่” แล้วปู่ทวดของเดฟั่นก็ปักไม้เรียวลงบนพื้นดิน ไม่นาน ไม้เรียวที่ปู่ทวดปักลงไปก็แตกกิ่งก้านสาขา หลายปีต่อมามันขยายใหญ่สร้างความร่มรื่นปกคลุมไปทั่วทั้งหมู่บ้านจนกลายเป็นต้นไม้ประจำชุมชน ตรงนี้ทำให้เข้าใจได้ว่า การเลือกทำเลที่ตั้งของหมู่บ้านเกี่ยวเนื่องกับลักษณะทางภูมิศาสตร์ ทรัพยากรและประสบการณ์ ส่วนไม้เรียวของปู่ทวดที่แตกกิ่งขยายใหญ่จนปกคลุมไปทั่วหมู่บ้านก็คือ ร่มเงาและความร่มรื่นที่บรรพบุรุษเป็นผู้สร้าง ในส่วนนี้หมายรวมไปถึงบารมีของปู่ทวดและศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชนด้วย
สัญญะอีกอย่างที่ซ่อนอยู่ในลักษณะภูมิประเทศของหมู่บ้านคือ เมื่อมองลงมาจากหมู่เมฆ จะมองเห็นหมู่บ้านคนเฆี่ยนเสือหรือฝนแสนห่าเป็นรูปน้ำเต้าจีน น้ำเต้าจีนเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ตามคติความเชื่อของชาวจีน โดยลักษณะของน้ำเต้าคล้ายกับเลข 8 ที่ตรงกับสัญลักษณ์ Infinity คือ ไม่มีที่สิ้นสุด ทั้งนี้ยังเชื่อกันว่าเป็นเลขมงคล ทำให้เงินทองไหลมาเทมา นำพาสิ่งดี ๆ ให้เข้ามา สัญญะตรงนี้ลงตัวกับเรื่องที่หมู่บ้านดึงดูดผู้คนจากหลากหลายที่ให้เข้ามาติดต่อค้าขายและแลกเปลี่ยนในช่วงหน้าร้อน จนเกิดเป็นงานเทศกาลประจำหมู่บ้านที่จัดขึ้นในทุกช่วงฤดูร้อน
ต่อมา คือ ศาลทวดเสือ มันเริ่มจากปู่ทวดและเสือเริ่มปลีกตัวออกจากหมู่บ้าน ปลูกกระท่อมอยู่บนเนินเหนือบ่อน้ำ วันหนึ่งปู่สุกะผ่านไปทางกระท่อมของปู่ทวด ได้ยินเสียงของปู่ทวดพูดคุยกับเจ้าเสือ วันต่อมาปู่สุกะผ่านไปทางกระท่อมอีกครั้ง ได้ยินเสือสองตัวคำรวมอยู่ในนั้น อีกวัน ปู่สุกะได้ยินเสียงเสือตัวหนึ่งคำรามอยู่ในกระท่อม ส่วนอีกตัวหายไป เมื่อเข้าสู่ฤดูมรสุม ปู่สุกะผ่านไปทางกระท่อมของปู่ทวดอีกครั้ง ครั้งนี้ปู่สุกะแอบฟังอยู่นาน ไม่มีการเคลื่อนไหวใด ๆ ในกระท่อม มีแต่ความเงียบ ปู่สุกะจึงย่องเข้าไปดู จากนั้นก็ลงมาบอกกับทุกคน เหล่าลูกหลานตระกูลคนเฆี่ยนเสือและชาวฝนแสนห่ากลุ่มหนึ่งจึงมุ่งหน้าไปยังกระท่อมของปู่ทวด เสือโคร่งสีเพลิงขนาดเท่าวัวถึกตัวหนึ่งยืนนิ่งอยู่ในกระท่อมและกลายเป็นหินไปแล้ว ภาพตรงหน้าทำให้ทุกคนก้มกราบแทบไม่รู้ตัว
ในส่วนนี้สามารถตีความได้ว่า เสือและปู่ทวดเป็นสิ่งเดียวกัน เสือเป็นสัญลักษณ์ของพลังอำนาจและความน่าเกรงขาม สัญญะของเสือในเรื่องนี้จึงเป็นจิตวิญญาณของปู่ทวด เมื่อปู่ทวดเสียชีวิตแล้วถูกยกสถานะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้น ก็เกิดจากลูกหลานที่ต้องการให้ปู่ทวดอยู่เพื่อปกปักษ์รักษาหมู่บ้าน ศาลทวดเสือจึงเป็นการแสดงให้เห็นถึงความต้องการให้ปู่ทวดอยู่เพื่อปกป้อง โดยปรากฎผ่านทางวัตถุ อีกนัยหนึ่งยังเป็นอนุสรณ์ให้ลูกหลานตระกูลคนเฆี่ยนเสือได้ระลึกถึง ในแง่นี้คล้ายกับการกราบไหว้บูชาบรรพบุรุษต้นตระกูล กระท่อมเล็ก ๆ ที่ปู่ทวดเคยใช้อยู่อาศัยถูกคร่อมด้วยศาล ภายในศาลมีเสือที่กลายเป็นหินขนาดเท่าวัวถึก ซึ่งเสือหินก็คือสัญลักษณ์หรือตัวแทนของวัตถุที่เหนี่ยวนำไปถึงปู่ทวด จิตวิญญาณของปู่ทวดที่เป็นเสือ (นามธรรม) เสือที่เป็นหิน (รูปธรรม) เสือหินอยู่ในศาล ศาลที่เป็นศูนย์รวมศรัทธาของผู้คนในฝนแสนห่า โดยเฉพาะกลุ่มลูกหลานว่านเครือของปู่ทวดคนเฆี่ยนเสือจากไทรบุรี
สัญญะในตอนที่มีศพนับร้อยลอยอัดกันอยู่บริเวณลำคลองสองสายที่ร่วมกลืนกลายเป็นสายเดียวกัน เดฟั่นเห็นร่องสีขาวขุ่นแทรกตัวเป็นสายธารเล็ก ๆ อยู่ระหว่างกลุ่มศพ มันไหลออกมาจากศพของกัญชญา เดฟั่นกับน้ายักษ์จึงดึงศพกัญชญาขึ้นเรือ เลือดสีน้ำนมนั้นยังไม่หยุดไหล ในส่วนที่พูดถึงคลองสองสายที่รวมเป็นสายเดียวกัน แสดงให้เห็นถึงความแตกแยกของฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ในหมู่บ้านฝนแสนห่า ที่กลับมามีจุดร่วมเดียวกันอีกครั้งเพราะเห็นความตายตรงหน้า ความเวทนาในชะตากรรมของเพื่อนมนุษย์ส่งผลให้ความขัดแย้งหยุดไปชั่วขณะ เพื่อร่วมอาลัยให้กับผู้เสียชีวิต
ส่วนประเด็นของเลือดสีน้ำนม มันพ้องกับเรื่องเล่าตำนานท้องถิ่นในภาคใต้แถบ พัทลุง สงขลา นครศรีธรรมราช ภูเก็ต แต่จะขอยกตัวอย่างพระนางเลือดขาวมะสุหรีจากเกาะลังกาวีมาเทียบเคียง เพราะดูจะสอดคล้องที่สุด เลือดสีขาวตามเรื่องเล่าตำนานพระนางมะสุรีคือ นางถูกตัดสินโทษประหารในสิ่งที่นางไม่ได้ทำผิด นางจึงอธิษฐานขอให้เลือดของนางเป็นสีขาวเพื่อยืนยันถึงความบริสุทธิ์ เลือดสีขาวของกัญชญาก็มีนัยยะเดียวกัน กัญชญาคือผู้บริสุทธิ์ที่ต้องตายด้วยกับความไม่เป็นธรรมของอำนาจ เลือดของกัญชญาจึงไหลหลั่งเป็นสีขาว สีขาวที่สื่อถึงความบริสุทธิ์
เดฟั่นปลีกตัวเองออกจากกลุ่มซาไก ใช้ชีวิตอยู่ในป่า ขุดดินเป็นโพรง จากนั้นก็ใช้ชีวิตหลับนอนอยู่ในโพรงนั้น ไม่สนใจโลกภายนอก มีบางช่วงที่ศิริวรบรรยายว่า โลกของเขาคือโพรงใต้ดิน เดฟั่นบอกตัวเองว่าทุกชีวิตกำเนิดมาจากโพรง เติบโตอาศัยอยู่ในโพรง วันหนึ่งมนุษย์กลุ่มหนึ่งอพยพเคลื่อนย้ายจากโพรงเก่าไปสู่โพรงใหม่ กักขังและปลดปล่อยตัวเองในโพรงส่วนตัว วันหนึ่งมนุษย์บางกลุ่มก็เริ่มรุกรานโพรงของคนอื่น กักขัง หน่วงเหนี่ยว บังคับให้คนอื่นขุดโพรงให้ตัวเอง ปลดปล่อยตัวเองจากโพรงแบบหนึ่งเพื่อกักขังตัวเองในโพรงอีกแบบ โพรงให้กำเนิดชีวิตทั้งยังให้กำเนิดความตาย
โพรงในที่นี้สามารถตีความได้หลายความหมาย แต่นัยยะหลักที่สื่อถึงก็คือ โพรงเป็นจักรวาลทางความคิดของมนุษย์แต่ละคน ทุกคนต่างมีโพรงหรือโลกตามความเข้าใจและทัศนะของตัวเอง กล่าวคือ โพรงเป็นพื้นที่ภายในของปัจเจก ซึ่งมนุษย์ทุกคนมีไม่เหมือนกัน มีลักษณะกว้างหรือแคบไม่เท่ากัน ความหมายของโพรงในส่วนนี้มีความคล้ายคลึงกับประโยคหนึ่ง “ไม่มีใครที่จะรู้จักคนอื่น เราล้วนอาศัยอยู่เพียงลำพังบนโลกนี้ ในฟองแก้วของเราเอง” (อแลสแตร์ รีด นักเขียนนิวยอร์ก หนึ่งในผู้ศึกษางานเขียนและความหมายในหนังสือ หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว ของ กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ) นอกจากนี้ โพรง ในนวนิยายเดฟั่นยังมีนัยยะอื่นอีกที่สามารถสื่อความถึงได้ เช่น อุดมการณ์ ชุดความเชื่อ ความคิด ดินแดน บ้าน ร่างกาย หรือแม้แต่มดลูกของผู้หญิง
ในตอนท้ายของเรื่อง (บทที่ 65) สองย่อหน้าสุดท้ายบรรยายไว้ว่า ทุกครั้งก่อนกลับเข้าเมือง เดฟั่นจะไล่สายตาไปตามโค้งเว้าของผืนป่าโกงกาง บัวยาปูเต๊ะ หมู่บ้านสุดท้ายชายแดนซ่อนตัวอยู่ที่นั่น ถัดไปคือกัวลาเปอร์ลิส สุดระยะสายตาไกลออกไป หุบเขาบูจังแห่งไทรบุรี ละลายกลืนกลายอยู่ในอากาศ การตีความในส่วนนี้จำเป็นต้องอิงเรื่องราวความเป็นมาของนวนิยายทั้งเล่ม อาจกล่าวได้ว่าศิริวรเฉลยปมปัญหาบางอย่างไว้ในบทท้ายของเรื่อง กล่าวโดยสรุปคือ ปู่ทวดอันเป็นต้นตระกูลของเดฟั่นอพยพมาจากไทรบุรี จากชุมชนเก่าแก่ในหุบเขาบูจัง ข้ามป่า ข้ามเขา ลำเนาไพรมาตั้งรกรากถิ่นฐานอยู่บริเวณเทือกเขาบรรทัด ปัจจุบันพื้นที่ทั้งสองอยู่คนละประเทศ แต่ในแง่ความรู้สึกของตระกูลคนเฆี่ยนเสือจากไทรบุรี พรมแดนไทย - มาเลไม่มีอยู่จริง
อย่างไรก็ตาม ต่อให้สายสัมพันธ์ทางความรู้สึกของลูกหลานตระกูลคนเฆี่ยนเสือบริเวณเขาบรรทัดกับหุบเขาบูจังจะเหนียวแน่นและโหยหากันมากแค่ไหน ก็ไม่อาจก้าวข้ามเส้นแบ่งระหว่างประเทศได้ ดังนั้น ภาพสุดท้ายที่เดฟั่นเห็นคือ สุดระยะสายตาไกลออกไป หุบเขาบูจังแห่งไทรบุรี ละลายกลืนกลายอยู่ในอากาศ แสดงถึงความโหยหาจุดเริ่มต้นและที่มา เหมือนกับคนแถบหุบเขาบูจังมองมายังเทือกเขาบรรทัด เพราะโหยหาบางส่วนในตัวเอง และเหมือนกับผู้คนบริเวณเทือกเขาบรรทัดมองไปยังหุบเขาบูจัง เพราะโหยหาต้นกำเนิดของตัวตน แต่ความเป็นจริงมันแสนไกล เลือนราง และดูเหมือนจะไกลเกินเอื้อมสำหรับคนจากสองฟากฝั่ง
ภูมิศาสตร์ระดับประเทศคือพรมแดนที่ขวางกั้นผู้คนจากสองฟากฝั่งให้ขาดออกจากกัน และนั่นคือความเลือนรางของหุบเขาบูจังแห่งไทรบุรีที่เดฟั่นมองเห็น
ท้ายที่สุด เดฟั่น คือนวนิยายที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ ความทรงจำ ความสัมพันธ์ การพลัดถิ่น และความเจ็บปวดของผู้คนบริเวณเทือกเขาบรรทัด โดยเริ่มตั้งแต่การอพยพ การก่อตั้งหมู่บ้าน ช่วงที่รุ่งโรจน์ และตกต่ำหลงทางในเขาวงกตแห่งอำนาจ การที่นวนิยายเรื่องนี้พยายามสอดแทรกเรื่องราวประวัติศาสตร์ของประเทศและของโลกเอาไว้ก็เพื่อเป็นการยั่วล้อและยืนยันถึงประวัติศาสตร์นอกกระแสหลักที่ไม่เคยได้รับการบันทึก
การมีประวัติศาสตร์มาเพิ่มเสริมในแต่ละบทตอน และจบด้วยประโยคที่ว่า เดฟั่นจำไม่ได้ หากพิจารณาผ่านโครงหลักของสัญญะตลอดทั้งเล่ม เราสามารถตีความได้ว่า เรื่องราวของเดฟั่นดำเนินไปพร้อมกับประวัติศาสตร์กระแสหลัก แต่ไม่มีใครรับรู้ เพราะมันไม่ได้รับการจดบันทึกนั่นเอง อย่างที่รู้กันว่า ผู้ชนะคือผู้จดบันทึกประวัติศาสตร์ มีตอนหนึ่งที่ลุงรามัญเคยพูดไว้ (บทที่ 19 หน้า 86) ว่า ประวัติศาสตร์ไม่เคยบอกเล่าความจริง โดยเฉพาะความจริงของคนตัวเล็ก ๆ แบบเรา เดฟั่นคือผู้ถูกกระทำ เป็นผู้พ่ายแพ้ ฉะนั้นเรื่องราวของเดฟั่นจึงมีสถานะเป็นเพียงเรื่องเล่า แต่พลังและอำนาจของเรื่องเล่าก็พยายามดิ้นรน นำพาตัวเองไปยังดินแดนที่ประวัติศาสตร์นิพนธ์อับจนหนทาง ดูเหมือนประโยคนี้ของศิริวรจะเป็นการเน้นย้ำถึงพลังของเรื่องเล่า อีกทั้งยังตอกหน้าประวัติศาสตร์กระแสหลักได้อย่างเจ็บแสบ
หากกล่าวโดยสรุป และมองในภาพรวมจากสัญญะใหญ่ที่ครอบคลุมตลอดทั้งเรื่อง นวนิยายเดฟั่นบอกเล่าชะตากรรมของผู้คนและประวัติศาสตร์ความทรงจำของชุมชน ประเทศ และโลกเอาไว้ โดยการจับมันแยกออกเป็นหน่วยเล็ก ๆ เพื่อบอกเล่าเศษเสี้ยวความทรงจำที่แตกกระจาย เหมือนกระจกที่ตกพื้นจนแตกเป็นเสี่ยง ๆ ศิริวรพยายามนำเศษกระจกเหล่านั้นมาประกอบขึ้นใหม่อย่างระมัดระวัง ท้ายที่สุด ไม่ใช่เพื่อนำกระจกกลับมาใช้งาน แต่เพื่อเน้นย้ำถึงการมีอยู่และร่องรอยการแตกสลายของมัน
เดฟั่นกระตุกสำนึกในตัวเราว่า เรื่องเล่าและรากเหง้าเป็นสิ่งที่กำหนดตัวตนและอัตลักษณ์ หากลืมเลือนส่วนนี้ไป เราก็ไม่ต่างอะไรจากเดฟั่นที่ล่องลอยอยู่ในอากาศธาตุ เดฟั่นเวียนวนอยู่ในทุกหนแห่ง ในเมืองบางเมือง ในชนบทบางแห่งที่ยังตกสำรวจ ไหลไปตามทุ่งราบ กระเพื่อมไปมาระหว่างทะเลอ่าวไทยและอันดามัน อยู่ที่เราจะมองเห็นร่างโปร่งแสงของเขาหรือไม่ก็เท่านั้น
เพราะสุดท้ายแล้ว เดฟั่นเองก็เป็นสัญญะของอะไรบางอย่าง อะไรบางอย่างที่มีอยู่ในทุกชุมชน และทุกพื้นที่ในสังคมมนุษย์.
อ้างอิง
สุรเดช โชติอุดมพันธ์. (2559). ทฤษฎีวรรณคดีวิจารณ์ในคริสต์ศตวรรษที่ 20. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์แห่ง
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Dr.Brain Anthony Curtin. (ม.ป.ป.). สัญศาสตร์ กับ ภาพแทนความ [Semiotics and Visual
Representation] (ผศ.ดร.เถกิง พัฒโนภาษ, แปล). [PDF file]. สืบค้นจาก
https://www.arch.chula.ac.th/journal/files/article/qyYaZ1mab3Sun103124.pdf