Little Women การดัดแปลงอันงดงาม

และการตั้งคำถามถึงคุณค่าสตรี โดยเกรต้า เกอร์วิก

สิรวิชญ์ บุญประสิทธิการ 

 

 

           เนื้อหาและแง่คิดอาจส่งเสริมให้วรรณกรรมมากมายกลายเป็นที่ยอมรับในระดับสากลและเป็นที่นิยมผ่านกาลเวลา แต่สิ่งที่วรรณกรรมอมตะทั้งหลายมิอาจหลบเลี่ยง คือความล้าสมัยของกลวิธีในการถ่ายทอดเรื่องราว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในวันที่รูปแบบการนำเสนอข้อมูลมีความหลากหลายและเปลี่ยนแปลงในทุกการเคลื่อนไหวของเข็มวินาที เนื้อเรื่องที่มีเสน่ห์อาจไม่ถูกเหลียวแลหากมาพร้อมกับวิธีการเล่าที่เก่าเกินไป ส่งผลให้การนำวรรณกรรมในอดีตมาตีความบนสื่อใหม่ยังเป็นสิ่งที่ท้าทายอยู่เสมอ และต่อให้เป็นผลงานที่มีชื่อเสียงเพียงใดก็ไม่สามารถการันตีได้เลยว่า เมื่อนำเสนอในรูปแบบภาพยนตร์แล้วจะได้รับความนิยมตามไปด้วย

           อย่างไรก็ดี สุดท้ายผู้กำกับอย่าง เกรต้า เกอร์วิก (Greta Gerwig) ก็สามารถเนรมิต Little Women วรรณกรรมยอดนิยมจากวันเก่าให้กลับมาโลดแล่นในโลกยุคใหม่อีกครั้งได้อย่างสง่างาม แม้ทีแรกนักวิจารณ์หลายคนจะค่อนขอดว่า เนื้อหาล้าสมัยที่ถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์มาแล้วถึง 6 ครั้งน่าจะทำให้ผู้ชมเหนื่อยหน่าย กระนั้น ด้วยการตีความตัวละครที่ลุ่มลึก วิธีการเล่าเรื่องที่ซับซ้อนและมีชั้นเชิงกว่าเก่า ตลอดจนการขัดเกลาประเด็นสตรีนิยมที่สอดแทรกอยู่ในงานต้นฉบับให้แหลมคมสมยุค ก็ช่วยให้คุณค่าที่วรรณกรรมเรื่องนี้เคยบอกเล่ากับผู้อ่านครั้งวันวานได้ทำงานของมันอีกครั้ง และดูเหมือนว่าจะทำได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่องเสียด้วย

           นวนิยาย Little Women หรือชื่อไทย สี่ดรุณี ที่ถูกตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1868 เป็นวรรณกรรมเรื่องแรก ๆ ของโลกที่ทลายเส้นแบ่งระหว่างวรรณกรรมเยาวชนและนิยายประโลมโลกได้สำเร็จ ลุยซา เมย์ อัลคอตต์ (Louisa May Alcott) เขียนนิยายเรื่องนี้ โดยมีแรงบันดาลใจจากชีวิตในวัยเยาว์ของตัวเองที่เติบโตร่วมกับพี่น้องหญิงล้วนสี่คนที่ทั้งรักใคร่สนิทสนม ทะเลาะเบาะแว้ง จนกระทั่งออกเดินทางตามความต้องการที่แตกต่าง เรื่องราวของสี่สาวตระกูลมาร์ช (March) ในนิยายอาจไม่ได้คล้ายเหมือนกับสี่สาวตระกูลเมย์ อัลคอตต์แบบถอดรูป แต่สาระสำคัญที่ลุยซาถ่ายทอดก็ทั้งอบอุ่นหัวใจและสามารถสะท้อนแว่นตาที่สังคมยุคนั้นมองสตรีเพศได้อย่างแยบยล จน Little Women กลายเป็นหนังสือในดวงใจของใครหลายคนตลอดระยะเวลากว่า 150 ปี และเกรต้า เกอร์วิกก็คือหนึ่งในนั้น

           ชีวิตของเกรต้าบังเอิญคล้ายกับลุยซาตรงที่ตอนกำกับภาพยนตร์เรื่องแรกอย่าง Lady Bird (2017) เธอก็เลือกนำชีวิตช่วงแรกรุ่นของตัวเองมาบอกเล่าเช่นเดียวกับลุยซาที่ใส่เรื่องราวของครอบครัวลงในนิยาย จึงอาจบอกได้กลาย ๆ ว่า เกรต้าเป็นคนที่เหมาะสมที่สุดที่จะดัดแปลงบทประพันธ์คลาสสิกเรื่องนี้ให้กลับมามีชีวิตชีวาในสายตาคนในยุคปัจจุบัน

           Little Women ว่าด้วยเรื่องของความสัมพันธ์ฉันพี่น้องของสี่สาวตระกูลมาร์ช อันได้แก่ เม็ก (Emma Watson) พี่สาวคนโตผู้ใฝ่ฝันอยากเป็นนักแสดงละครเวทีและมีแนวคิดตามแบบผู้หญิงทั่วไป โจ (Saoirse Ronan) น้องคนรอง ตัวเดินเรื่องหลักที่มาพร้อมบุคลิกห้าวหาญและหวังทะยานสู่การเป็นนักเขียนเพื่อเลี้ยงชีพ เบ็ธ (Eliza Scanlen) น้องคนที่สามที่ร่างกายไม่แข็งแรงตั้งแต่เด็ก และเอมี (Florence Pugh) น้องคนเล็กที่หลงใหลในความรุ่มรวยของสังคมและเฝ้าฝันอยากเป็นจิตรกร การเติบโตของสี่พี่น้องดำเนินผ่านการเล่าเรื่องที่ไม่เรียงลำดับเวลา โดยมีพื้นหลังเป็นรัฐแมสซาชูเซตส์ยุคสงครามกลางเมือง

           คงต้องกล่าวว่าการดัดแปลงนิยายเป็นบทภาพยนตร์ในครั้งนี้เป็นการดัดแปลงที่ทั้งเคารพและท้าทายบทประพันธ์มากที่สุดครั้งหนึ่ง เพราะ Little Women ของเกรต้าไม่ได้เล่าเรื่องตามลำดับเวลาเหมือนอย่างในนิยายต้นฉบับรวมถึงภาพยนตร์ 6 เวอร์ชันก่อนหน้า แต่เธอเลือกที่จะเริ่มเล่าจากช่วงกลางของนิยาย และนั่นทำให้ ‘พล็อต (Plot)’ ของหนังไม่ใช่เรื่องของสี่พี่น้องผู้ค่อย ๆ เติบโตจากเด็กหญิงสู่เด็กสาว ทว่าเป็นเรื่องของเด็กสาวที่มีชีวิต หัวจิตหัวใจ และเป้าหมายที่ต้องการ ก่อนที่หนังจะตัดสลับกลับไปหาเรื่องราวเมื่อครั้งหญิงสาวทั้งสี่ยังเป็นเด็ก เพื่อให้ผู้ชมรับรู้ถึงต้นสายปลายเหตุของเหตุการณ์ ตลอดจนอุปนิสัยใจคอของตัวละคร เป็นการเลือกจับเอาเหตุ (อดีต) และผล (ปัจจุบัน) มาเทียบชนกัน

           วิธีการตัดสลับอดีตปัจจุบันไม่ได้เป็นสิ่งที่เหนือชั้นหรือแปลกใหม่ แต่เมื่อถูกใช้ใน Little Women ก็นับว่าเป็นการจัดวางที่เหมาะสม เพราะวิธีการนี้เหมือนเป็นการนำนิสัยเสียของเหล่าหนอนหนังสือที่ชอบแอบเปิดข้ามไปอ่านหน้าท้าย ๆ มาเล่นสนุก หลายครั้งที่หนังเลือกฉายภาพบทสรุปของปม โดยที่ผู้ชมยังไม่รู้ที่มาของการผูกปมดีนัก ก่อนจะค่อย ๆ ไล่เรียงการผูกปมทีละเล็กละน้อย เกิดเป็นท่าทีการเล่าที่แปลกตา ทั้งยังสร้างความหมายใหม่ให้กับเนื้อหาเดิม ผู้ชมจะรู้จักตัวละครอย่างโจมากขึ้นผ่านรายละเอียดต่าง ๆ ในอดีต ได้เข้าใจว่าทำไมเธอในปัจจุบันจึงมีบุคลิกนิสัยที่มุ่งมั่นเด็ดเดี่ยว แต่ก็เปราะบาง ขณะเดียวกันตัวละครสามพี่น้องของโจก็ค่อย ๆ เผยตื้นลึกหนาบางทีละนิด จนคนดูได้เห็นวิถีชีวิตและมุมมองอันหลากหลายที่เราแต่ละคนคงมีประสบการณ์ร่วมได้ ไม่ตัวละครใดก็ตัวละครหนึ่ง

           ฉากหนึ่งที่ตราตรึงอยู่ในใจของผู้เขียน คือฉากตัดสลับเหตุการณ์วันคริสต์มาสเมื่อครั้งที่โจและพี่น้องยังเป็นเด็ก โจตื่นนอนและต้องตกใจกับการที่เบ็ธ น้องสาวผู้นอนซมหายไปจากเตียง เธอเร่งรุดลงไปยังห้องครัวก่อนจะพบข่าวดีว่าน้องของเธอหายป่วยเรียบร้อย และมวลความสุขก็เพิ่มพูนล้นปรี่เมื่อผู้เป็นพ่อของสี่ดรุณีเดินทางกลับจากสงครามมาพบหน้าพวกเธออีกครั้ง รอยยิ้มและเสียงหัวเราะบนโต๊ะอาหารคงทำให้ผู้ชมอบอุ่นหัวใจไปตาม ๆ กัน แต่ความสุขก็เกิดขึ้นได้ไม่นาน เมื่อหนังตัดภาพมายังเหตุการณ์ปัจจุบัน พี่คนรองตื่นนอนเช่นเดิม แต่คราวนี้เป็นโจในวัยผู้ใหญ่ เธอตกใจกับการหายไปของเบ็ธ ก่อนจะรีบเร่งลงไปที่ห้องครัวเพื่อไปตามหาน้องสาวเช่นเดียวกับเหตุการณ์เมื่อหลายปีก่อนราวกับเป็นภาพแฟลชแบ็ค แต่ครั้งนี้ตรงหน้าของโจไม่มีร่างของเบ็ธที่หายป่วย มีเพียงใบหน้าของแม่ที่หันมาร้องไห้เพราะการจากไปของลูกสาวคนที่ 3 แห่งตระกูลมาร์ช

           การตัดต่อเพื่อเล่าเรื่องทำให้สองฉากนี้เป็นการเปรียบเทียบเหตุการณ์ที่น่ายินดีที่สุดกับเหตุการณ์ที่เศร้าสลดที่สุด เหมือนต้องการเตือนสติตัวละคร (และผู้ชมบางส่วน) ว่า วัยเด็กได้ผ่านพ้นไปแล้ว และคงไม่มีความสุขหรือความทุกข์ใดที่จีรังยั่งยืน

           แม้กลวิธีในการรื้อสร้างการเล่าเรื่องจะทำให้ผู้ชมต้องใช้สมาธิมากกว่าปกติ หลายครั้งอาจเกิดความสับสนว่าตรงหน้าคือสถานการณ์จากช่วงเวลาไหนกันแน่ แต่เกรต้าก็ช่วยให้คนดูเข้าใจและติดตามเรื่องราวได้อย่างต่อเนื่องผ่านการตัดภาพด้วยเทคนิคแมตช์คัต (Match Cut) ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ ฉากหนึ่งที่กล้องจับภาพโจในวัยเด็กเขียนหนังสืออยู่ในบ้าน โดยถ่ายผ่านบานหน้าต่างจากภายนอก ภาพก็ตัดไปที่โจในวัยผู้ใหญ่ เขียนหนังสืออยู่ในห้องเช่า ซึ่งถูกมองผ่านบานหน้าต่างเช่นเดียวกัน หรือการที่ช่วงหนึ่งของหนัง โจในอดีตจะไว้ผมสั้น ตัดสลับกับโจในปัจจุบันที่ไว้ผมยาว รายละเอียดอันละเมียดละไมเหล่านี้ช่วยให้คนดูสามารถแยกแยะช่วงเวลาและเข้าใจเรื่องราวได้อย่างไม่ถูกจัดจังหวะ

           “ผู้หญิงมีความคิด มีวิญญาณ และหัวใจ พวกเธอมีความทะเยอทะยาน พรสวรรค์ เช่นเดียวกับความสวยงาม และหนูทนไม่ไหวที่คนเอาแต่พูดว่า โลกของผู้หญิงมีแค่ความรักเพียงอย่างเดียว...”

           คือถ้อยคำที่โจใช้อธิบายเชิงตัดพ้อถึงตัวตนของเพศหญิงที่ถูกค่านิยมของสังคมตีกรอบ ตัวละครนี้สะท้อนวิธีคิดนอกกรอบของผู้หญิงที่ไม่ต้องการผูกติดชีวิตไว้กับการมีคู่ครอง ความคิดความอ่านของโจมาก่อนกาลเวลา และนั่นทำให้เจ้าตัวต้องประสบปัญหาในโลกที่ผู้หญิงยังไม่มีหนทางให้เลือกมากนัก โจต้องปิดบังอัตลักษณ์ของตัวเองเพียงเพื่อให้บรรณาธิการยอมพิจารณาเรื่องสั้นของเธอ เนื่องจากนักเขียนในศตวรรษที่ 19 เป็นอาชีพที่แทบจะถูกสงวนไว้เฉพาะเพศชาย

           อย่างไรก็ดี ตัวละครโจผู้เด็ดเดี่ยวและพึ่งพาตัวเองอยู่เสมอก็มีมุมที่อ่อนแอเช่นเดียวกัน ท้ายที่สุด เธอเลือกจบประโยคข้างต้นว่า “แต่ในขณะเดียวกัน หนูก็รู้สึกเหงาเหลือเกิน” แต่วิธีกำจัดความเหงาก็ไม่จำเป็นต้องลงเอยที่การแต่งงานเสมอไป ในทีแรก โจ ได้ปฏิเสธลอร์รี่ (Timothée Chalamet) เพื่อนบ้านมากเสน่ห์ที่แอบรักโจข้างเดียว เพราะโจมองลอร์รี่แบบเพื่อนไม่ใช่คู่รัก ก่อนที่ความแออัดวุ่นวายของนิวยอร์กจะบีบให้โจรู้สึกเปล่าเปลี่ยวและตัดสินใจบอกกับตัวเองว่า “ถ้าลอร์รี่ขอเธอแต่งงานอีกครั้ง เธอจะตอบตกลง”

           ตอนนั้นเอง แม่ของโจที่รับบทโดย Laura Dernได้ถามเพื่อเตือนสติลูกสาวว่า “แต่ลูกรักเขารึเปล่า” โจนิ่งไปชั่วขณะ ก่อนจะตอบกลับว่า “หนูชอบเป็นฝ่ายถูกรักมากกว่า หนูอยากให้มีใครรัก”

           คำตอบของโจย้ำเตือนว่า แท้จริงแล้ว เธอก็คงไม่อยากแต่งงาน เพียงแต่ต้องการมีเพื่อนคู่คิดสักคนอยู่เคียงข้าง ความสัมพันธ์ที่โจมองหาอาจไม่สอดคล้องกับค่านิยมของสังคมจนทำให้เธอรู้สึกแปลกแยกและคิดว่าตัวเองต้องเลือกระหว่างอยู่คนเดียวหรือยอมแพ้ให้กับการมีคู่ครอง แม้ท้ายที่สุด หนังจะบอกว่าเธอเลือกเส้นทางหลัง อย่างน้อยที่สุด การตั้งคำถามของโจก็ช่วยกระตุกใจผู้ชมว่า เราทุกคนล้วนมีสิทธิเลือกทางเดินชีวิตของตนเอง และแม้ว่าสิ่งที่เราต้องการจะแปลกแยกแตกต่าง มันก็ไม่ได้หมายความว่าเส้นทางนั้นไม่ถูกต้อง

            เม็ก พี่สาวคนโตมีความต้องการที่ไม่ต่างจากค่านิยมของสังคมในเวลานั้น แม้เธอจะใฝ่ฝันอยากเป็นนักแสดงละครเวที แต่อีกความต้องการเบื้องลึก เธอก็ต้องการสามีเป็นที่พึ่ง อยากมีลูกที่น่ารักเฉกเช่นสตรีทั่วไป ก่อนถึงงานแต่งงานของเธอ โจพยายามชักชวนให้เธอหนีไปด้วยกัน เพราะโจไม่ต้องการเสียพี่สาวคนนี้ให้กับชายหน้าไหน ทั้งยังไม่เห็นด้วยที่ผู้เป็นพี่เลือกละทิ้งความฝันที่จะเป็นนักแสดง แต่เม็กกลับบอกน้องสาวอย่างอ่อนโยนว่า “แค่เพราะความฝันของพี่แตกต่างจากเธอ ไม่ได้หมายความว่ามันไม่สำคัญ”

            คำพูดนี้สะท้อนความต้องการที่แท้จริงของเม็กว่า หากต้องเลือกระหว่างการมีครอบครัวกับอาชีพในฝัน เธอขอเลือกอย่างแรก เม็กไม่เหมือนโจที่พร้อมกระโจนสู่เส้นทางการเป็นนักเขียน ทำสิ่งที่ตัวเองรักโดยไม่ต้องการความรักจากชายใด ผู้ชมอาจเสียดายที่ตัวละครนี้ต้องตกเป็นจำเลยของกรอบสังคมในสมัยนั้นและอาจสงสัยว่า ทำไมเธอจึงไม่ลองต่อสู้อย่างที่น้องสาวของเธอทำบ้าง แต่ประโยคที่เม็กพูดก็ตอบพวกเราได้ทั้งหมด เราได้เข้าใจว่ามนุษย์ทุกคนล้วนมีความต้องการเป็นของตัวเอง ไม่ว่าความต้องการนั้นจะสอดคล้องหรือสวนทางกับขนบของคนส่วนมากก็ตาม จริงอยู่ที่สิ่งซึ่งเราในวันนี้กำลังต่อสู้ อาจเป็นไปเพื่อให้เพศหญิงและเพศใด ๆ ไม่ตกอยู่ใต้ร่มเงาของเพศชาย ซึ่งก็เป็นสิ่งที่สมควรกระทำเพื่อความเท่าเทียมของมนุษย์ แต่หากใครสักคนยังคงมีความสุขกับการแต่งงานครองคู่กับภรรยาสามีตามวิถีปฏิบัติเดิม ความต้องการนี้อาจไม่ได้ตรงกับวิธีคิดของโจหรือไม่ได้สนับสนุนการเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมเท่าใดนัก แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าความต้องการนี้ไม่ใช่เรื่องจริง ไม่สำคัญ หรือจะทำให้เม็กมีความสุขไม่ได้

            เบ็ธ น้องคนที่สามน่าจะเป็นคนที่มีเรื่องราวราบเรียบและน่าสงสารที่สุดในLittle Women เธอเป็นคนพูดน้อย ไม่ค่อยแสดงออก แต่กลับเป็นคนที่คอยปลอบประโลมและประสานพี่ทั้งสองและน้องคนเล็กเข้าไว้ด้วยกัน การเป็นคนเงียบ ๆ ทำให้เบ็ธไม่ค่อยเป็นที่จดจำของคนดู สะท้อนได้อย่างดีถึงบทบาทสตรีในอดีตที่ไม่ค่อยมีสิทธิมีเสียงเท่าที่ควร ทั้งที่เมื่อลองมองลึกลงไป เบ็ธกลับเป็นคนสำคัญที่คอยสนับสนุนพี่น้องทุกคนได้เป็นอย่างครบถ้วน ทั้งยังสามารถทำหน้าที่แทนแม่ตอนที่แม่ไปต่างเมืองได้เป็นอย่างน่าชื่นชม ตัวละครเบ็ธทำให้เราย้อนมองไปยังบุคคลผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จที่ผ่านมาว่า จริง ๆ แล้ว เพศหญิงเอง แม้จะเคยถูกปิดกั้นสิทธิและการแสดงความคิดเห็น พวกเธอเหล่านั้นก็มีส่วนสำคัญต่อพัฒนาการต่าง ๆ มากมายที่เกิดขึ้นบนโลก และวันนี้ก็เป็นเรื่องน่ายินดีที่เพศหญิงมีเสียงที่ดังขึ้น เพื่อให้คนที่มีบุคลิกแบบเบ็ธได้ใช้ศักยภาพที่ตนมีโดยที่ไม่มีสิ่งใดตีกรอบ และก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเสียงของทุกเพศจะดังเท่ากันในสักวัน

           “โลกนี้อยู่ยากสำหรับผู้หญิงที่ทะเยอทะยาน” เป็นคำที่เอมี่ น้องคนเล็กของตระกูลมาร์ชกล่าวไว้ เธอเป็นเหมือนส่วนผสมของพี่คนโตทั้งสอง เธอมีความทะเยอทะยานไม่ต่างจากโจ และมักจะอิจฉาความสามารถของโจอยู่เสมอ แต่ในขณะเดียวกัน การหลงใหลในความสำเร็จและเงินทองก็ทำให้เธอยอมจำนนต่อโลกที่วัดคุณค่าของผู้หญิงจากการแต่งงาน

           “ฉันอยากยิ่งใหญ่ ถ้ายิ่งใหญ่ไม่ได้ก็ไม่อยากเป็นอะไรเลย ในฐานะของผู้หญิงคนหนึ่ง ฉันไม่มีทางสร้างรายได้ที่เพียงพอต่อการใช้จ่ายของตัวเองและครอบครัว ถึงฉันจะมีเงินของตัวเอง สุดท้ายมันก็จะกลายเป็นของสามีของฉันทันทีที่เราแต่งงานกัน ถ้าเรามีลูก พวกเขาก็จะกลายเป็นสมบัติของเขา ไม่ใช่ของฉัน เพราะฉะนั้นอย่าพูดว่าการแต่งงานไม่ใช่ข้อเสนอสู่ฐานะที่ดีกว่า เพราะมันเป็นอย่างนั้น”

           เอมี่ตะวาดอย่างแข็งกร้าวเผยให้เห็นถึงความเชื่อและความรู้สึกเบื้องลึกของเธอ และอันที่จริง คำพูดดังกล่าวก็คงเผยสิ่งที่ผู้หญิงมากมายรู้สึกมาตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา…

           ความชาญฉลาดของเกรต้าสรรสร้างบทสรุปของภาพยนตร์ได้อย่างน่าจดจำ เธอตัดต่อเพื่อให้ความอยากรู้อยากเห็นของผู้ชมสูบฉีด ถึงขั้นที่นักวิจารณ์ภาพยนตร์ที่หลายคนให้การยอมรับอย่างอาจารย์ประวิทย์ แต่งอักษร ให้คำจำกัดความไว้ว่า “หนังใช้ประโยชน์จากความกำกวมระหว่างเรื่องเล่ากับ ‘เรื่องเล่าซ้อนเรื่องเล่า’ ได้ฉลาด และทำให้หนังของเกอร์วิกหลุดพ้นจาก ‘ขนบของเรื่องประโลมโลกย์’ ที่สุดท้ายแล้ว นางเอกต้องสมรักสมรสกับชายหนุ่มแสนดี-อย่างเจ้าเล่ห์แสนกล”

           เรื่องเล่าซ้อนเรื่องเล่าที่ว่า คือการที่ตัวละครเอกในเรื่องอย่างโจ เขียนนิยายในชื่อ Little Women และถูกบรรณาธิการสั่งเด็ดขาดว่า ตัวละครหญิง ‘ต้อง’ ได้แต่งงานในตอนจบ ทีแรกโจก็ไม่เห็นด้วย ก่อนที่สุดท้ายก็ใจอ่อนยอมทำตามบรรณาธิการด้วยเข้าใจว่า นิยายที่ผู้หญิงไม่ได้แต่งงานในตอนท้ายจะขายไม่ออก จึงไม่น่าแปลกใจหากผู้ชมอย่างเราจะสงสัยใคร่รู้ว่า สุดท้ายแล้ว ตัวละครโจได้แต่งงานจริงหรือไม่ หรือเรื่องราวที่เราได้เห็นในหนังก็เป็นการ ‘จงใจ’ จบให้สวยงามเพื่อให้ผลงาน ‘ขายออก’

           อีกด้านหนึ่ง ชีวิตจริงของลุยซาก็ไม่ได้แต่งงานเลยตลอดชีวิต ผู้ชมหลายคนจึงทึกทักเอาว่า บางทีลุยซาก็คงไม่ได้ต้องการให้ตอนจบของนิยายลงเอยแบบที่มันเป็น แต่ก็เขียนไปเพียงเพื่อให้มีรายได้ประทังชีวิต ด้านเกรต้าที่อาสาตีความบทประพันธ์นี้ใหม่ก็คงเข้าใจเช่นนั้น จึงสอดแทรกมุกเสียดสีเล็ก ๆ เอาไว้ในคำพูดของโจที่ว่า “การแต่งงานเป็นคาถาพารวย กระทั่งในนิยาย”

           การเข้าชิงรางวัลออสการ์มากถึงหกสาขาในปี 2020 เป็นเครื่องการันตีถึงความสำเร็จของ Little Women ที่ถูกสร้างในวันที่ผู้หญิงมีสิทธิมีเสียงมากกว่าในอดีต แง่คิดหลายอย่างที่สอดแทรกอยู่ในนิยายของลุยซาถูกดัดแปลงและถ่ายทอดอย่างทันสมัยอีกครั้งโดยเกรต้า เป็นการช่วยให้แก่นแท้เดิมยังดำรงต่อไปด้วยการแต่งเติมน้ำเสียงและวิธีการใหม่ที่แหลมคม

           ฉากหนึ่งในภาพยนตร์ แม่ของสี่ดรุณีได้กล่าวไว้ว่า “ธาตุแท้บางอย่าง...ดีงามเกินจะยับยั้ง สูงส่งเกินกว่าจะบิดให้หักงอ” และทั้งสองดรุณีอย่างลุยซา เมย์ อัลคอตต์ กับเกรต้า เกอร์วิกได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ธาตุแท้ของ Little Women เป็นเช่นนั้นจริง ๆ

 

Visitors: 72,507