เบื้องหลังอุตสาหกรรม “วาย” ในซีรีส์เรื่อง นับสิบจะจูบ

ณัฐวุฒิ จันทะลุน

          หากกล่าวถึงอุตสาหกรรมความบันเทิงของประเทศไทยในปัจจุบัน คำว่า “วาย” คงเป็นหนึ่งคำที่หลายคนจะนึกถึง เพราะในช่วงไม่กี่ปีมานี้วัฒนธรรม “วาย” หรือเรื่องราวความสัมพันธ์รักโรแมนติกระหว่างผู้ชายสองคนนั้นได้แพร่หลายและเติบโตอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเป็นจำนวนมาก จนเกิดคำที่กล่าวว่าวัฒนธรรมวายอาจเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของไทยได้ โดยวัฒนธรรมวายนี้ปรากฏทั้งในรูปแบบนวนิยายบนชั้นวางหนังสือที่เป็นหมวดหมู่เฉพาะในร้านหนังสือต่าง ๆ หรือปรากฏผ่านจอในรูปแบบซีรีส์  ซึ่งซีรีส์วายส่วนใหญ่จะเป็นการดัดแปลงมาจากนวนิยายวายเรื่องที่ได้รับความนิยม

          นับสิบจะจูบ เป็นซีรีส์วายอีกหนึ่งเรื่องที่ดัดแปลงจากนวนิยาย ซีรีส์นี้เดิมเป็นผลงานจากนักเขียนนามปากกาว่า วาฬกลิ้ง ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2562  โดยสำนักพิมพ์ดีพ ต่อมา นวนิยายดังกล่าวได้รับการดัดแปลงเป็นซีรีส์ในปี พ.ศ. 2564 โดยใช้ชื่อภาษาไทยเดียวกัน พร้อมทั้งยังมีชื่อภาษาอังกฤษว่า Lovely Writer ซีรีส์เรื่องนี้มีทั้งหมด 12 ตอน ออกอากาศทางโทรทัศน์ช่องสาม ทุกวันพุธ เวลา 22.53 น.นอกจากนี้ ซีรีส์เรื่องนับสิบจะจูบนี้ยังเผยแพร่ใน We TV ซึ่งเป็นช่องทางในการรับชมซีรีส์ออนไลน์สำหรับ ผู้ชมทั้งในและต่างประเทศอีกด้วย 

          ซีรีส์ นับสิบจะจูบ เป็นผลงานการกำกับของ บัณฑิต สินธนภารดี ซึ่งเคยฝากฝีมือการกำกับซีรีส์วายซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมากอย่างเรื่อง TharnType The Series เกลียดนักมาเป็นที่รักกันซะดี ๆ ซึ่งแจ้งเกิดนักแสดงหน้าใหม่ที่กลายเป็นแถวหน้าของวงการในปัจจุบันอย่างมิว ศุภศิษฏ์ และกลัฟ  คณาวุฒิ มาแล้ว โดยซีรีส์เรื่องนี้ได้ เก้า นพเก้า เดชาพัฒนคุณ และ อัพ ภูมิพัฒน์ เอี่ยมสำอาง มารับบทพระเอกนายเอกของเรื่อง เนื้อหาของนับสิบจะจูบนั้นนับว่าน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากนำเรื่องราวที่มิใช่ความรักของชายสองคนที่เป็นนักเรียนหรือนักศึกษาดังที่ซีรีส์วายส่วนใหญ่นิยมผลิตกันมานำเสนอ หากแต่เป็นการบอกเล่าเรื่องราวเบื้องหลังอุตสาหกรรมวาย ตั้งแต่กระบวนการผลิตนวนิยายวาย การคัดเลือกนักแสดง การถ่ายทำ และกระแสตอบรับจากผู้ชม ซึ่งเนื้อหาเช่นนี้นับว่ามีความแปลกใหม่ในวรรณกรรมวายของไทย

          เรื่องราวดังกล่าวนำเสนอผ่านความสัมพันธ์ความรักระหว่างตัวละครชายสองคน  ได้แก่  “จีน” นายเอกของเรื่องซึ่งเป็นนักเขียนนวนิยายแนวแฟนตาซีสยองขวัญที่ได้พลิกผันเปลี่ยนมาเขียนนวนิยายวายและ “นับสิบ” พระเอกของเรื่องซึ่งเป็นหนุ่มนักศึกษาที่มาสมัครรับการคัดเลือกนักแสดงจนได้เป็นพระเอกซีรีส์  ด้วยเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมบันเทิง ซีรีส์เรื่องนี้จึงไม่เพียงแต่นำเสนอความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครชายในเชิงโรแมนติกเท่านั้น แต่ยังสะท้อนเบื้องลึกเบื้องหลัง เสียดสีและกระตุ้นให้ผู้ชมได้ขบคิดเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในแวดวงดังกล่าวอีกด้วย โดยนับสิบจะจูบในฉบับซีรีส์ได้มีการปรับเปลี่ยนและเพิ่มเติมองค์ประกอบบางประการที่แตกต่างไปจากฉบับนวนิยาย เพื่อนำเสนอสารสำคัญและวิพากษ์ประเด็นทางสังคมให้เข้มข้นมากขึ้นอีกด้วย

 

ก่อนจะเป็นซีรีส์วาย: บทบาทนักเขียนและบรรณาธิการนวนิยายวาย

            ซีรีส์เรื่องนี้พยายามนำเสนออาชีพที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมความบันเทิงอย่างหลากหลายโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมวาย นายเอกของเรื่องอย่าง จีน นั้นก็มีอาชีพเป็นนักเขียนอิสระ ซึ่งผู้ชมสามารถรับรู้ได้ตั้งแต่ฉากแรกสุดของซีรีส์ ซึ่งเป็นภาพตัวละครจีนกำลังพิมพ์บทนวนิยายเรื่องใหม่ของเขาอยู่ ทั้งนี้นับสิบจะจูบในฉบับซีรีส์นั้นจะให้ตัวละครจีนเป็นผู้ดำเนินเรื่องหลักเช่นเดียวกับฉบับนิยายที่เล่าเรื่องผ่านมุมมองของจีน และเป็นที่น่าสังเกตว่าหลายฉากที่ตัวละครจีนพูดถึงอาชีพของเขานั้นจะเผยให้เห็นปมขัดแย้งภายในของตัวละครจีนที่เกี่ยวกับอาชีพที่เขาทำอยู่ด้วย

            เดิมที จีน เป็นนักเขียนแนวแฟนตาซีสยองขวัญ ซึ่งเป็นแนวเขียนที่เขาหลงใหลและชื่นชอบ แต่ด้วยปรากฏการณ์ความนิยมวรรณกรรมวาย ทำให้สำนักพิมพ์และบรรณาธิการบอกให้เขาลองเปลี่ยนมาเขียนแนววายดูบ้าง ในตอนแรกเขาพยายามบ่ายเบี่ยง แต่สุดท้ายก็ต้องจำยอมเขียน เพราะกลัวสำนักพิม์ปฏิเสธต้นฉบับเรื่องอื่น ๆ ของเขา หลังจากนั้น ผลปรากฏว่า “วิศวะผัวโหด” ซึ่งเป็นนวนิยายวายเรื่องแรกของเขาดังถล่มทลายจนได้รับการนำไปผลิตเป็นซีรีส์  อย่างไรก็ตาม จีนกลับรู้สึกว่าเขาทำแนวนี้ได้ไม่ค่อยดีมากนัก เนื่องจากยังขาดประสบการณ์และมองว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่นั้นเป็นการ “ฝืน”  นอกจากนี้ เขายังรู้สึกอายที่จะบอกแก่ผู้อื่นว่าตนเองทำอาชีพเขียนนวนิยายวายอีกด้วย

          การแสดงออกเช่นนี้ของตัวละครจีนแสดงให้เห็นปมขัดแย้งภายในจิตใจของตัวละครจีนที่มีต่ออาชีพ เขายอมรับว่าการเขียนนวนิยายวายนั้นทำได้เขามีรายได้ดีขึ้น แต่นั่นก็ไม่ใช่แนวเขียนที่เขาชื่นชอบ นอกจากนี้ อาจมองได้ว่าความรู้สึก “ฝืน” ของจีนนั้นอาจสอดคล้องกับประเด็นเรื่องเพศของตัวละคร กล่าวคือ นักเขียนนวนิยายวายส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้หญิง ตัวละครจีนซึ่งเป็นตัวละครผู้ชาย (ตามขนบนิยายวายที่ไม่เคยรักกับผู้ชายมาก่อน) จึงอาจคิดว่าสิ่งที่เขาทำไม่ใช่สิ่งที่นักเขียนผู้ชายควรทำ เพราะผู้ชายปกติไม่ได้มีความคิดที่จะจินตนาการความสัมพันธ์ระหว่างผู้ชายสองคน  

          อย่างไรก็ตาม ปมขัดแย้งข้างต้นจะถูกคลี่คลายในการดำเนินเรื่องในช่วงหลังของซีรีส์ เมื่อตัวละครนับสิบซึ่งเป็นนายเอกเริ่มเข้ามามีความสัมพันธ์กับจีน จีนซึ่งได้เรียนรู้ประสบการณ์ความรักระหว่างชายกับชายมากขึ้นแล้ว จึงยอมรับและเขียนนิยายวายเรื่องใหม่ของเขาได้ดีขึ้น 

          นอกจากตัวละครจีนแล้ว นับสิบจะจูบฉบับซีรีส์ยังเพิ่มรายละเอียดเกี่ยวบรรณาธิการ หรือ บก. เข้ามาในเรื่องอีกด้วย ฉบับนวนิยายนั้นมิได้กล่าวถึง  บก. อย่างละเอียด แต่ในฉบับซีรีส์จะมีตัวละคร บัว ซึ่งเป็นบก. ที่ให้คำปรึกษาแก่จีน โดยในซีรีส์ปรากฏฉากสนทนาระหว่างเธอกับจีนอยู่หลายฉาก  ฉากพบกันระหว่างสองตัวละครนี้จะแสดงให้เห็นขนบสำคัญประการหนึ่งของวรรณกรรมวาย คือ ฉาก NC หรือฉากร่วมรักระหว่างตัวละคร บัวกล่าวกับจีนอยู่เสมอว่า นวนิยายเรื่องใหม่ที่เขากำลังเขียนนั้นควรมีฉาก NC ให้มาก เพราะคนอ่านชื่นชอบ ดังคำพูดของตัวละครที่ว่า “แล้วก็อย่าลืมฉาก NC ที่บอก เจ้ขอแบบแซ่บ ๆ เลยนะ เอาแบบให้เจ้ต้องร้องกรี๊ด” นอกจากนี้ บัวยังให้ความสำคัญกับคุณภาพของฉาก NC อีกด้วย หากครั้งใดที่จีนส่งต้นฉบับที่มีฉาก NC ยังไม่สมจริง บัวก็จะให้ปรับแก้พร้อมทั้งยื่นหนังผู้ใหญ่แนวชายชายเพื่อให้จีนนำไปศึกษาเพื่อนำมาประกอบการเขียนอีกด้วย

          การนำเสนอภาพตัวละครบรรณาธิการบัวในซีรีส์ข้างต้นจึงเป็นการสะท้อนว่าสำนักพิมพ์ในปัจจุบันให้ความสนใจกับวรรณกรรมแนววายค่อนข้างมาก เนื่องจากเป็นแนวเขียนที่ทำยอดขายได้ดี ขณะเดียวกัน ซีรีส์ก็ได้เสียดสีประเด็นการเน้นฉาก NC ซึ่งเป็นขนบสำคัญของนวนิยายแนวนี้เพื่อนำมาเป็นจุดขายในนวนิยายของสำนักพิมพ์ว่าอาจจะเป็นปัญหาได้ ดังคำพูดของตัวละครจีนที่พยายามอิดออดว่าไม่ต้องการเขียนฉาก NC ว่า “วายก็ขายแต่ฉากอย่างนี้”  การสร้างให้ตัวละครจีนมีความคิดที่ไม่ตรงกันกับบรรณธิการข้างต้นนี้จึงแสดงถึงความพยายามของซีรีส์ที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับขนบดังกล่าวว่า ในบางครั้งการใส่ NC มากเกินไปก็อาจเป็นการละเลยความสำคัญของการดำเนินเรื่องและองค์ประกอบอื่น ๆ ในนวนิยายหรือไม่
โดยซีรีส์ได้นำเสนอประเด็นนี้ผ่านมุมมองของตัวละครจีนซึ่งเป็นนักเขียน

          ด้วยเหตุนี้ จีนจึงพยายามเขียนนวนิยายเรื่องใหม่โดยคำนึงถึงความพึงพอใจให้บรรณาธิการและขณะเดียวกันก็ยังคงยึดถือความคิดของตนเองด้วย กล่าวคือ นวนิยายวายเรื่องใหม่ของจีนจะมีฉาก NC อยู่ แต่ก็จะลดการใส่ฉาก NC ที่ไม่จำเป็นลง แล้วเน้นเหตุการณ์เพื่อแสดงความสัมพันธ์ตัวละครแทน ดังที่เขากล่าวว่า “กลัวว่าใส่ไปแล้ว มันจะดูยัด แล้วมันจะทอนเนื้อหาลง”  จึงอาจกล่าวได้ว่า นวนิยายที่เขากำลังเขียนอยู่นั้นเป็นการประนีประนอมระหว่างสองแนวคิดเกี่ยวกับขนบดังกล่าว ดังจะเห็นได้จากการปรับปริมาณฉาก NC ให้เหมาะสม โดยสิ่งนี้อาจเป็นคำตอบหรือทางออกของปัญหาความขัดแย้งระหว่างนักเขียนและบรรณาธิการข้างต้น

          จะเห็นได้ว่า ซีรีส์เรื่องนับสิบจะจูบแสดงให้เห็นบทบาทของนักเขียนและบรรณาธิการที่ส่งผลต่อวรรณกรรมวาย  ตัวละครจีนอาจเป็นภาพแทนของนักเขียนบางคนที่แม้มิเคยเขียนงานประเภทวาย แต่ก็สามารถเปลี่ยนมาทดลองเขียนได้ เพราะอาจจะทำให้มีรายได้ที่มากขึ้นตามการเติบโตทางการตลาด นอกจากนี้ ซีรีส์ยังแสดงอีกว่านักเขียนเองก็มีบทบาทในการกำหนดเนื้อหาของวรรณกรรมวายไม่ให้เวียนวนกับเนื้อหาเดิม ดังที่นวนิยายเรื่องใหม่ของจีนที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับนักเขียนมิใช่นักศึกษาเหมือนเรื่องก่อน นอกจากนี้ บรรณาธิการนั้นก็มีบทบาทในการกำหนดคุณภาพของวรรณกรรมวาย โดยซีรีส์นี้พยายามจะวิพากษ์ว่า การตัดสินใจของบรรณาธิการอาจทำให้วรรณกรรมวายมิได้พัฒนา เพราะบรรณาธิการ
จะกำหนดให้ผู้เขียนผลิตผลงานในลักษณะที่สอดคล้องกับยอดขายและความนิยมของผู้เสพเท่านั้น

 

เพราะคนดู “อิน” จึง “จิ้น” พระเอกกับนายเอก

            นอกจากการนำเสนอเรื่องราวในแวดวงวรรณกรรมแล้ว ซีรีส์ยังนำเสนออุตสาหกรรมการผลิตซีรีส์วายผ่านเหตุการณ์ต่าง ๆ ในเรื่องอีกด้วย ตัวอย่างเช่น ฉากคัดเลือกหรือ Casting นักแสดงที่มีผู้มาสมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็นจำนวนมาก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าซีรีส์วายอาจเป็นประตูเปิดทางเข้าสู่วงการบันเทิงสำหรับนักแสดงชายได้  

          นอกจากนี้ ผู้ชมซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในอุตสาหกรรมวายก็เข้ามามีบทบาทและได้รับการนำเสนอไว้ในซีรีส์เรื่องนี้ด้วย ผู้ชมซีรีส์วายในปัจจุบันไม่เพียงแต่รับชมผ่านจอเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีส่วนร่วมกับซีรีส์ผ่านช่องทางออนไลน์ ผู้ชม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสาววายนั้นจะพูดถึงหรือแสดงความคิดเห็นต่อซีรีส์วายที่ได้รับชมผ่านการทวีตข้อความในทวิตเตอร์ พร้อมติกแฮชแท็ก (#) ตามชื่อเรื่องนั้น หากซีรีส์เรื่องใดมียอดการพูดถึงมากก็จะถือว่าเป็นที่นิยม โดยปรากฏการณ์นี้จะสอดคล้องไปกับวัฒนธรรม “จิ้น” คือ การจินตนาการว่านักแสดงสองคนที่แสดงนั้นรักกันหรือมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันในชีวิตจริง

          ซีรีส์เรื่องนับสิบจะจูบก็ได้นำเสนอปรากฏการณ์นี้ไว้เช่นเดียวกัน หลายฉากในซีรีส์ปรากฏภาพทวิตเตอร์และข้อความในแฮชแท็ก ทว่าสิ่งนี้จะได้กลับกลายมาเป็นปมปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อความสัมพันธ์ของตัวละครพระเอกนายเอกของเรื่อง  จากที่กล่าวไปแล้วว่านวนิยาย “วิศวะผัวโหด” ของจีนโด่งดังจนได้รับการผลิตเป็นซีรีส์ ซึ่งมี “นับสิบ” มาแสดงเป็นพระเอก ด้วยการผูกเรื่องที่ทำให้นักเขียนและนักแสดงใกล้ชิดกัน จีนและนับสิบจึงพัฒนาความสัมพันธ์กันด้วยดีอย่างเป็นต่อเนื่องจนถึงจุดที่เป็นคู่รักกัน ทว่าในโลกออนไลน์ของซีรีส์ก็มีกลุ่มผู้ชมที่จิ้น #นับสิบเอ๋ย อยู่เป็นส่วนใหญ่ เนื่องจาก “เอ๋ย” เป็นนายเอกของซีรีส์เรื่องวิศวะผัวโหดที่แสดงคู่กับนับสิบ  ขณะเดียวกันก็มีผู้คนที่ล่วงรู้ความสัมพันธ์ระหว่าง #นับสิบจีน ผู้ชมบางส่วนจึงได้ออกมาเปิดเผยความสัมพันธ์ของพวกเขาในโลกออนไลน์เช่นเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ ผู้ชมที่ติดตามซีรีส์เรื่องวิศวะผัวโหดจึงเกิดความขัดแย้งและแบ่งออกเป็นสองฝั่ง ฝั่งหนึ่งสนับสนุนจีนกับนับสิบซึ่งเป็นคู่จริง และอีกฝั่งหนึ่งที่สนับสนุนนับสิบกับเอ๋ย ซึ่งเป็นคู่จิ้น

          เหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างผู้ชมข้างต้นทำให้จีน นับสิบ นักแสดงอื่น ๆ  ผู้จัดการนักแสดง และผู้กำกับซีรีส์ต้องมาร่วมประชุมกัน แล้วจึงมีมติให้แถลงข่าวว่า จีนและนับสิบมิได้มีความสัมพันธ์ลึกซึ้งแต่อย่างใด เป็นเพียงพี่น้องกัน รวมถึงให้จีนและนับสิบห่างกันสักพัก เพื่อรักษาความนิยมของซีรีส์วิศวะผัวโหดของนับสิบและเอ๋ยที่กำลังออกอากาศอยู่ การตัดสินใจเช่นนี้ส่งผลต่อความรู้สึกของนับสิบและจีนอยู่ไม่น้อย ในทีแรก นับสิบพยายามที่จะโต้แย้งมติดังกล่าว โดยจะขอยกเลิกสัญญาการเป็นนักแสดงแต่สุดท้ายก็ต้องจำยอมด้วยผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อซีรีส์ ต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลายภาคส่วน และโดยเฉพาะต่อผู้ชมที่ติดตามซึ่งนับว่าเป็นผู้บริโภคในอุตสาหกรรมนี้ ดังคำพูดของหัวหน้าผู้จัดการนักแสดงที่ว่า “เธอก็รู้ดาราวัยรุ่นนายแบบ โดยเฉพาะที่เล่นซีรีส์วาย ถ้าต้องการที่จะรักษาฐานแฟนคลับเอาไว้รักษาความนิยมเอาไว้ ต้องพักเรื่องพวกนี้เอาไว้ก่อน”

          ซีรีส์นับสิบจะจูบนำเสนอสถานการณ์ปัญหาข้างต้นนี้ก็เพื่อแสดงปัญหาและวิพากษ์สิ่งที่เกิดขึ้นจริงในแวดวงซีรีส์วายที่ผู้ชมมักจะมีอารมณ์ร่วมกับเรื่องราวจนจินตนาการว่านักแสดงทั้งสองมีความสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้ง จนทำให้ยึดติดและลืมตระหนักว่าบางครั้งนักแสดงอาจมีความสัมพันธ์ที่จริงจังกับบุคคลอื่นในอีกโลกหนึ่งที่มิได้นำมาแสดงผ่านหน้าจอให้เห็นก็เป็นได้ ซีรีส์เรื่องนี้จึงแสดงให้เห็นชีวิตของนักแสดงที่ปรากฏทั้งในโลกบันเทิงและโลกชีวิต ซึ่งในบางครั้งผู้ชมก็อาจล้ำเส้นโลกชีวิตจริงจนส่งผลต่อนักแสดงได้  

 

“ตอนจบ” ใน “ตอนจบ”: เรื่องเล่าหลายระดับในฉบับซีรีส์

            เมื่อพิจารณาภาพรวมของซีรีส์เรื่องนับสิบจะจูบแล้ว พบว่าซีรีส์เรื่องนี้เป็นเรื่องเล่าที่ประกอบด้วยเรื่องรางในหลายระดับ ระดับแรก คือ ผู้ชมกำลังรับชมซีรีส์เรื่องนับสิบจะจูบ ซึ่งเป็นซีรีส์เรื่องที่ดัดแปลงมาจากนวนิยาย โดยมีนับสิบและจีนเป็นพระเอกนายเอก ระดับที่สอง ซีรีส์นับสิบจะจูบปรากฏนวนิยายเรื่องใหม่ที่จีนกำลังเขียน ซึ่งมีการพูดถึงในฉบับนวนิยายเช่นเดียวกัน ทว่าในซีรีส์จะพูดถึงอย่างละเอียดมากกว่า คือ ระบุชื่อเรื่องว่า “Lovely Writer” และในฉบับซีรีส์จะแสดงให้เห็นว่าจีนได้แรงบันดาลใจในการเรื่องนี้มาจากเรื่องราวระหว่างเขาและนับสิบ โดยตอนจบของซีรีส์ปรากฏนวนิยายเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจ ซึ่งเป็นส่วนที่เพิ่มเข้ามาใหม่ มิได้ปรากฏในฉบับนวนิยาย 

            หลังจากที่จีนและนับสิบฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ มาได้ เรื่องราวก็ดำเนินมาถึงตอนจบ ซึ่งเป็นฉากที่จีนกำลังคิดบทตอนจบของนวนิยายเรื่อง “Love Writer” ของเขา จากนั้น นับสิบก็ช่วยออกความคิดเห็น ต่อมาภาพในซีรีส์ก็สลับไปเป็นฉากจบของเรื่องซินเดอเรลลา สโนไวท์ และโรมิโอ จูเลียต ตามลำดับ โดยมีจีนและนับสิบสวมบทบาทในเรื่องนั้น ก่อนที่จีนจะแสดงความเห็นว่าการจบแบบเรื่องดังกล่าวไม่เข้าท่า หลังจากนั้น ภาพก็สลับมาสู่ฉากของจีนและนับสิบในความเป็นจริง แล้วนับสิบก็เสนอว่า “แต่ว่ายังมีตอนจบอีกแบบนะ” และแล้วตัวละครทั้งสองก็จูบกัน จากนั้น ซีรีส์จึงพาผู้ชมไปพบตอนจบที่แท้จริง คือ ฉากที่ผู้เขียนนวนิยายเรื่องนับสิบจะจูบที่มีนามปากกาว่า วาฬกลิ้ง นั่งพิมพ์อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์แล้วก็มีผู้โทรศัพท์เข้ามาติดต่อเธอว่าจะนำนวนิยายเรื่องนับสิบจะจูบไปผลิตเป็นซีรีส์

          จะเห็นได้ว่า ตอนจบของซีรีส์เรื่องนี้ค่อนข้างซับซ้อน ผู้ชมอาจเกิดคำถามว่าเพราะเหตุใดซีรีส์จึงอ้างถึงเรื่องเล่าคลาสสิคทั้งสามเรื่อง โดยคำตอบอาจเป็นได้ว่า ผู้ผลิตซีรีส์อาจต้องการให้ผู้ชมหวนนึกถึงความรักของจีนและนับสิบที่มีความคล้ายคลึงกับเรื่องเล่าคลาสสิคทั้งสาม กล่าวคือ จีนและนับสิบจะต้องฝ่าฝันต่อสู้ปัญหาอุปสรรคที่กีดขวางความรักเหมือนพระเอกนางเอกในแต่ละเรื่อง ได้แก่ นาฬกาตีบอกเวลาตอนเที่ยงคืนในเรื่องซินเดอเรลลาแสดงถึงจังหวะเวลาของความสัมพันธ์ที่ยังไม่เหมาะสมในช่วงที่นับสิบยังคงต้องเป็นคู่จิ้นกับคนอื่น แม่มดในสโนไวท์แสดงถึงบุคคลที่ไม่สนับสนุนความรักระหว่างจีนและนับสิบ ความขัดแย้งระหว่างสองตระกูลในโรมิโอแอนด์จูเลียตแสดงถึงครอบครัวที่ไม่เข้าใจในความสัมพันธ์ของทั้งสองคนในช่วงแรก     

          นอกจากนี้ อาจมีคำตอบได้ในอีกแง่หนึ่งว่า ผู้ผลิตซีรีส์อาจต้องการเน้นย้ำความเป็นเรื่องแต่งของซีรีส์เรื่องนี้ผ่านการนำเสนอเรื่องเล่าในหลายระดับ ได้แก่ ระดับของนวนิยายเรื่อง “Lovely Writer” กล่าวคือ จีนแต่งขึ้นเรื่องนี้มาจากประสบการณ์ของจีนกับนับสิบ โดยจีนซึ่งเป็นผู้เแต่งสามารถที่จะกำหนดตอนจบเช่นไรก็ได้ จะจบแบบสมหวังหรือโศกเศร้าเหมือนเรื่องราวความรักคลาสสิกหรือเทพนิยายที่อ้างถึงหรือไม่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของตัวละครจีน  ซึ่งจะสอดคล้องกับความเป็นเรื่องแต่งในระดับซีรีส์เรื่อง “นับสิบจะจูบ” กล่าวคือ ผู้ชมจะเห็นความเป็นเรื่องแต่งได้จากตอนจบที่แท้จริงของซีรีส์เรื่องนี้ ซึ่งเผยให้เห็นว่าเรื่องที่เรารับชมมาทั้งสิบสองตอนนั้นเป็นเรื่องราวที่แต่งขึ้นจากนักเขียนคนหนึ่งเท่านั้น จีนและนับสิบไม่มีตัวตนในโลกแห่งความเป็นจริง มีเพียงอัพและเก้าซึ่งเป็นนักแสดงที่มาสวมบทบาทตามเรื่องราวที่แต่งเท่านั้น 

          อนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตอีกว่าชื่อซีรีส์ภาษาอังกฤษและชื่อนวนิยายที่จีนแต่งขึ้นนั้นเป็นชื่อเดียวกัน คือ Lovely Writer รวมถึงฉากแรกของซีรีส์ที่เป็นภาพตัวละครจีนนั่งเขียนบทนวนิยายและฉากจบท้ายสุดที่เป็นนักเขียนวาฬกลิ้งนั่งทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ก็มีความคล้ายคลึงกันอีกด้วย คือ แสดงถึงอาชีพนักเขียนที่ทำงานแต่งเรื่องจากจินตนาการ ความเหมือนกันเช่นนี้อาจเป็นการเน้นย้ำถึงความเป็นเรื่องแต่งของซีรีส์ สิ่งนี้เป็นการบอกเป็นนัยให้ผู้อ่านทราบว่าซีรีส์ที่กำลังรับชมอยู่นี้ก็เป็นเรื่องแต่งเรื่องหนึ่งที่ไม่ได้ต่างไปจากนวนิยายที่ตัวละครจีนแต่งขึ้นในเรื่อง โดยสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของผู้ผลิตซีรีส์ที่ต้องการนำเสนอสารสำคัญดังที่กล่าวในหัวข้อก่อนหน้านี้แล้วว่า ความสัมพันธ์ของตัวละครพระเอกนายเอกในนวนิยายหรือซีรีส์นั้นเป็นเรื่องแต่งและไม่ใช่สิ่งเดียวกันกับความสัมพันธ์ในโลกความจริงของนักแสดงที่มารับบทพระเอกนายเอก

          อาจกล่าวได้ว่า “ตอนจบ” ใน “ตอนจบ” ของซีรีส์เรื่องนี้เป็นความตั้งใจของผู้ผลิตที่ต้องการเน้นย้ำถึงความเป็นเรื่องแต่งและความเป็นการแสดงในซีรีส์วาย เพื่อให้ผู้ชมตระหนักถึงพื้นที่ส่วนตัวของนักแสดงที่อยู่ในวงการวายและให้ผู้ชม “จิ้น” อย่างมีขอบเขต โดยระลึกอยู่เสมอว่าซีรีส์ที่รับชมนั้นเป็นเพียงเรื่องแต่งและนักแสดงก็เป็นเพียงผู้แสดงเท่านั้น  เหมือนดังซีรีส์เรื่องนับสิบจะจูบที่หากผู้ชมกำลังจิ้นเก้ากับอัพในโลกความเป็นจริงก็ไม่ต่างจากการ “จิ้น” นับสิบกับเอ๋ยในโลกซีรีส์ ซึ่งอาจมีบุคคลที่เป็นเหมือนตัวละครจีนที่ต้องเสียใจก็เป็นได้

          แม้ซีรีส์วายส่วนใหญ่จะดำเนินตามขนบและเน้นเล่าเรื่องรักโรแมนติกเพื่อความบันเทิงเป็นหลัก แต่ซีรีส์วายในช่วงหลังมานี้ก็พยายามสอดแทรกประเด็นขับเคลื่อนสังคมมากขึ้น ซีรีส์เรื่อง นับสิบจะจูบ นับว่าเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ต้องการขับเคลื่อนสังคมไปพร้อมกับนำเสนอความบันเทิง โดยไม่เพียงแต่นำเสนอเรื่องรักระหว่างชายกับชายให้ผู้ชมได้ “ฟิน” เท่านั้น หากแต่ยังสอดแทรกประเด็นทางสังคม วิพากษ์ปัญหาที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมวาย ทั้งในมุมของขนบแนววายกับจุดยืนของผู้เขียนในแวดวงวรรณกรรม และปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ชมกับนักแสดงในแวดวงสื่อบันเทิง ซีรีส์เรื่องนี้จึงเป็นมิติใหม่ของซีรีส์วายไทย
ที่ควรค่าแก่การรับชม และเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าผู้ชมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมวายที่ได้รับชมเรื่องนี้ ทั้งที่อาศัยอยู่ในไทยและต่างประเทศจะได้ทบทวนตนเองและร่วมเป็นส่วนหนึ่งในขับเคลื่อนวงการวายนี้ให้ก้าวหน้าต่อไป 

 

รายการอ้างอิง

กรุงเทพธุรกิจ.(2565). เปิดปม “ความหลากหลายทางเพศ” ที่ไม่มีจริง!? ใน “ซีรีส์วาย” ผ่านมุมมอง
       “ตี๋ - บัณฑิต” ผู้กำกับ “นับสิบจะจูบ”
. https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/1012896

วาฬกลิ้ง. (2562). นับสิบจะจูบ เล่ม 1-2. กรุงเทพฯ: ดีพ

WeTV. (2564). นับสิบจะจูบ. https://wetv.vip/th/album/k442p2sw7k7oanp

 

Visitors: 72,506