2023D005
ลองฟังเสียงอื่นที่สิงในตัวเรา
ผ่านภาพยนตร์ “คิมจียอง เกิดปี 1982”
กิติ ยิ่งยงใจสุข
ภาพยนตร์เรื่อง คิมจียอง เกิดปี 1982 สร้างจากนวนิยายเกาหลีชื่อเดียวกัน เขียนโดยโชนัมจู ออกฉายในปี 2562
ภาพยนตร์บอกเล่าเรื่องราวของ คิมจียอง หญิงสาววัยสามสิบเศษ ที่ใช้ชีวิตครอบครัวกับสามีคือ จองแดฮยอน และลูกสาววัยขวบเศษชื่อ อายอง
ภาพยนตร์เปิดภาพแรกด้วยฉากภาพเคลื่อนไหวที่คิมจียองกำลังทำงานบ้าน ถูพื้น เก็บของเล่นเด็กที่รกเกลื่อนห้อง แล้วตัดมาภาพที่เธอออกไปยืนนิ่งที่ระเบียง หันหลังให้กับห้องที่ลูกน้อยกำลังเล่นสีหน้าเลื่อนลอย เหม่อมองไปที่ท้องฟ้าเบื้องหน้าแล้วหลับตาลง
แล้วเสียงหนึ่งก็ดังขึ้น “แม่จ๋า” ลูกน้อยร้องเรียกแม่ คิมจียอง ลืมตาขึ้น สีหน้านิ่งงันชั่วขณะ แล้วหันกลับมาช้า ๆ ค่อย ๆ ยิ้ม แล้วภาพทั้งหมดก็ค่อย ๆ สลัวลงจนมืดมิด
ดูเหมือนเสียงเรียก “แม่จ๋า” ที่ดังมาเข้าหูของผู้เป็นแม่ ที่คิมจียองได้ยินจะมิได้เป็นเพียงแค่เสียงลูกน้อยร้องเรียกแม่ ทว่าเสียง “แม่จ๋า” ที่คิมจียองได้ยินนั้น กลับอัดแน่นไว้ด้วย “เสียงอื่น” ที่พุ่งตรงเข้าไปดังอื้ออึงและอัดอั้นอยู่ในหัวใจอันเหนื่อยล้าของเธอ
ชีวิตของคิมจียอง หลังจบการศึกษาสาขาวรรณกรรมเกาหลี หญิงสาวได้งานที่ฝ่ายการตลาดของบริษัทแห่งหนึ่ง แต่หลังจากแต่งงานและมีลูก ความเป็นแม่ของคิมจียอง แลกมาด้วยการต้องลาออกจากงานมาดูแลบ้านและเลี้ยงลูก แม้ดูเหมือนจะมีครอบครัวที่สมบูรณ์ครบ พ่อ แม่ ลูก สามีก็มีการงานดี นิสัยดี ทั้งยังคอยช่วยเหลือดูแลลูกน้อย ทว่าชีวิตของหญิงสาวกลับค่อย ๆ เหือดแห้งเหี่ยวเฉาลงทุกที
หญิงสาวเริ่มมีอาการประหลาดโดยไม่รู้ตัว จนสามีของคิมจียอง คือ จองแดฮยอน ต้องขอคำ ปรึกษากับจิตแพทย์ เรื่องที่ภรรยามีอาการเหมือนมีคนอื่นมา “สิง” แล้วพูดด้วย “เสียงอื่น” อยู่ในร่างของเธอ
ภาพยนตร์เล่าเรื่องราวต่อมาด้วยช่วงเวลาเทศกาลปีใหม่ ที่ลูกหลานจะกลับไปเยี่ยมเยียนบ้านพ่อแม่ แม้จองแดฮยอนจะเอ่ยเป็นเชิงว่าปีนี้ไม่ต้องไป (บ้านพ่อแม่สามี) ก็ได้ แต่คิมจียองก็บอกปัดว่า “ถ้าเราไม่ไป เขาจะโทษใคร? ไม่ใช่ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของเขาแน่ ฉันนี่ไง!”
เหตุการณ์ที่บ้านแม่สามีดำเนินไปตามครรลองทว่าน่ากระอักกระอ่วน ด้วยธรรมเนียมปฏิบัติที่จะต้องทำอาหารสำหรับงานรวมญาติ และคนที่ต้องรับผิดชอบทุกอย่างก็คือผู้เป็นแม่สามีกับลูกสะใภ้อย่างคิมจียอง แม้แดฮยอนจะเข้าไปช่วยล้างจาน แต่จียอนกลับห้ามไว้ แล้วรีบเอ่ยออกตัวกับแม่สามีว่า “อยู่บ้านหนูทำทุกอย่างเลยค่ะแม่” ในขณะที่แม่สามีเพียงแค่เหลือบมอง และพูดลอย ๆ ว่า “ลูกชายฉันมันหัวสมัยใหม่..”
วันรุ่งขึ้นคือวันรวมญาติ แม่สามีให้ของขวัญลูกสะใภ้ เป็นชุดผ้ากันเปื้อนสำหรับทำงานครัว (ที่เป็นของแจกฟรีจากธนาคาร) เหมือนบอกอยู่ในทีว่าหน้าที่อันพึงกระทำของลูกสะใภ้อย่างเธอคืออะไร และที่ทางของเธออยู่ตรงไหน
เหตุการณ์ “ถูกสิง” เกิดขึ้นเมื่องานครัวยืดเยื้อมาจนถึงเวลาที่พี่สาวของสามีและครอบครัวเดินทางมาสมทบ จียอนต้องคอยดูแลอาหารการกินให้ทุกคน และได้แต่มองครอบครัวของสามีอยู่กันพร้อมหน้า ขณะที่เธอกลับไม่ได้ไปพบครอบครัวบ้านพ่อแม่ตัวเอง จียอน “ปลด” ผ้ากันเปื้อน “ของขวัญ” ออก แล้วพรั่งพรูคำพูดที่ไม่ใช่เธอว่า
“คุณนายจอง (แม่สามี) คะ” (ทุกคนตะลึง)
“ถ้าอยากให้จียองพักผ่อน ก็ให้เธอกลับบ้านสิคะ ลองนึกดู คุณดีใจที่ได้เจอลูกสาว ฉันเองก็คิดถึงลูกสาวฉันเหมือนกัน ลูกสาวฉันควรกลับก่อนลูกสาวคุณจะมา ทำไมต้องให้จียองอยู่ต่อเพื่อรับใช้ลูกสาวคุณด้วย”
ลงเอยด้วยแดฮยอนต้องบอกว่าจียอนไม่ค่อยสบาย วันหลังค่อยอธิบาย แล้วรีบพาจียอนและลูกกลับ
ภาพยนตร์เล่าเรื่องราวของการที่จียอน “ถูกสิง” หลังจากนั้นอีกสองครั้ง ทุกครั้งล้วนแต่เป็นการปะทุพรั่งพรู ของ “เสียงอื่น” ที่เป็นเพศหญิง
อาการของจียอน ที่ “ถูกสิง” จาก “เสียงอื่น” ถูกมองว่าเป็นความป่วยไข้ เพี้ยน เป็นบ้า ถูกสิง และต้องรับการบำบัดรักษา และเป็นเพียงอาการของปัจเจกบุคคลคนหนึ่ง ที่คนอื่น ๆ ในสังคมไม่เกี่ยวข้อง ภาพยนตร์ค่อย ๆ ดำเนินเรื่องโดยบอกเล่าเรื่องราวของจียอน ที่ถูกกระทำทั้งจากคนที่รู้จักและไม่รู้จักกัน ทั้งจากเสียงของผู้คนทั้งในอดีตและในปัจจุบัน
แต่ใช่หรือไม่ว่า เราทุกคนต่างล้วนเคยมีประสบการณ์ การ “ถูกสิง” ด้วย “เสียงอื่น” โดยไม่รู้ตัวด้วยเช่นกัน เพียงแต่เราไม่รู้สึกว่ามัน “ผิดปกติ” เพราะมันคือเสียงหลักที่ครอบทับเราอยู่ ขณะที่ “เสียงอื่น” ในกรณีของจียอน คือ “เสียงอื่น” ที่ถูกปิดกั้นกดทับไว้ จึงกลายเป็นกรณีของความผิดปกติ และถือเป็นความป่วยไข้
ภาพยนตร์เล่าเรื่องราวของ “เสียงอื่น” ที่ไม่ใช่แบบกรณีของจียอน ไว้หลายฉากตอนด้วยกันดังนี้
- เสียงอื่นที่สิงในตัวเรา
เราอาจจะคิดว่า เราเป็นเจ้าของคำพูดของตัวเราเอง เราคิดอย่างนั้นเองจึงพูดอย่างนั้นออกมา แต่เป็นไปได้หรือไม่ว่า ไม่ใช่แค่กรณีของคิมจียอง ที่ “ถูกสิง” ด้วย “เสียงอื่น” แต่เราหรือคนอื่น ๆ ในสังคม ก็อาจ “ถูกสิง” โดยไม่รู้ตัวเช่นกัน แต่เพียงแค่เพราะมันดู “เป็นปกติ” จึงไม่ถูกชี้ว่าเป็นอาการป่วยหรือถูกสิง
ภาพยนตร์ฉายภาพอดีตย้อนเหตุการณ์ที่ป้ายรถเมล์ จียอนในวัยนักเรียนมัธยมเพิ่งรอดพ้นจากเหตุการณ์คุกคามทางเพศโดยวัยรุ่นชายที่ตามเธอลงจากรถเมล์ ทว่าเมื่อพบกับพ่อซึ่งเดินออกมารับ เสียงที่ดังขึ้นคือ “เสียงของพ่อ” ที่ว่า
“ทำไมไปเรียนพิเศษไกล ไม่ต้องไปเรียนแล้ว”
“แต่งตัวให้มันดีหน่อย กระโปรงสั้นเกินไป แล้วก็อย่ายิ้มให้ใครส่งเดช”
“ถ้ามีหินกลิ้งใส่ ถ้าไม่หลบก็เป็นความผิดของลูกเอง เข้าใจไหม”
ดูเหมือน “เสียงของพ่อ” จะไม่ได้เป็นเพียงเสียงจากผู้เป็นพ่อเท่านั้น โดยไม่รู้ตัว เสียงอื่น ๆ ที่ดังอื้ออึงออกมาภายในเสียงของผู้เป็นพ่อ คือเสียงจากค่านิยมของผู้คนทั้งที่รู้จักและไม่รู้จักหลายหมื่นแสนล้านเสียงที่ทับถมสั่งสมกันมาจากอดีตและยังดังก้องมาจนถึงปัจจุบัน สะท้อนกลับไปมาอยู่ในเสียงของผู้เป็นพ่อ ที่ชี้ว่าเรื่องทำนองนี้เป็นความผิดของผู้หญิงและผู้หญิงต้องเป็นฝ่ายจัดการตัวเองไม่ให้เกิดปัญหา
นอกจากเหตุการณ์นี้ ภาพยนตร์ยังฉายภาพเหตุการณ์อื่น ๆ ที่เสียงของเรา ดูจะมีเสียงอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เราเพียงลำพังดังอื้ออึงอยู่ในนั้น สิ่งที่เราพูดเหมือนเราจะคิดเองรู้สึกเอง แต่หลายครั้งโดยไม่รู้ตัว ปากของเรากลับกลายเป็นแค่ปากกระบอกเสียงของค่านิยมบางอย่าง
เช่นเหตุการณ์ในห้องประชุมของบริษัทที่จียอนเคยทำงานอยู่ หญิงแกร่งอย่างหัวหน้าคิมเข้าประชุมร่วมกับผู้อำนวยการบริษัทพร้อมผู้บริหารชายคนอื่น ๆ แต่กว่าจะเริ่มประชุมได้ เรื่องราวในครอบครัวของหัวหน้าคิมก็ถูกผู้อำนวยการนำมาถกกันต่อหน้าต่อตาในที่ประชุมอย่างเฮฮาออกรสชาติ
“ลูกที่แม่ไม่ได้เลี้ยงมักจะรั้นกว่า...ลูกต้องมีแม่คอยเลี้ยง ไม่งั้นจะมีปัญหาทีหลัง”
“ใครจะสนใจเรื่องความสำเร็จถ้าเลี้ยงลูกไม่ได้เรื่อง”
“ผมพูดอะไรผิดรึ ฮ่าฮ่าฮ่า นั่นแหละหัวหน้าคิมถึงรอดมาจนป่านนี้ แย่หน่อยนะ ผมว่าคุณน่าจะเกิดเป็นผู้ชายนะ ว่าไหม”
"ผ.อ.คะ เริ่มประชุมเลยดีไหมคะ?”
เช่นกันกับกรณีพ่อของจียอน ดูเหมือน “เสียงของ ผ.อ.” ก็ไม่ได้เป็นเพียงเสียงจากผู้พูดคือ ผ.อ.เท่านั้น โดยไม่รู้ตัว “เสียงอื่น” ได้สำแดงพลังดังอื้ออึงออกมาด้วย คือเสียงจากค่านิยมของผู้คนทั้งที่รู้จักและไม่รู้จักที่สั่งสมกันมาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ที่มองว่าแม่ที่ดีเป็นอย่างไร ผู้หญิงควรเป็นอย่างไร ถ้าผิดไปจากนี้อย่ามาเป็นผู้หญิงเลย ควรจะไปเกิดเป็นผู้ชายดีกว่าไหม ผู้หญิงแกร่งอย่างหัวหน้าคิมคือความผิดปกติ และความผิดปกตินั้นย่อมมีต้นทุนที่หัวหน้าคิมต้องอดทนที่จะจ่าย
คิมจียอง ต่างจากหัวหน้าคิม เธออาจไม่แกร่งเท่าและนั่นนำไปสู่ความแห้งเฉาของชีวิต ภาพยนตร์พาเราเดินทางร่วมกับคิมจียองและครอบครัว ฝ่าฟันไปถึงจุดที่จียอนกล้าลุกขึ้นมาตอบโต้กับเสียงอื่นด้วยเสียงของตนเอง โดยที่ไม่กดทับมันไว้อีกต่อไป อย่างเช่นเหตุการณ์ตอนท้ายเรื่อง ขณะที่จียอนกับลูกสาวต่อคิวซื้อกาแฟในร้าน แล้วลูกสาวงอแงปัดแก้วกาแฟตกเลอะพื้น จียอนพยายามเก็บทำความสะอาด แต่เสียงของกลุ่มสองหนุ่มหนึ่งสาวที่ยืนอยู่ไม่ไกลพูดถึงจียอนกับลูกว่า
“เละเทะเป็นบ้า น่ารำคาญจริง ทำไมไม่กินกาแฟอยู่กับบ้านนะ จะเก็บสะอาดได้ยังไง เป็นแม่ที่เหมือนหนอนน่าสมเพชจริง ๆ”
จียอนเดินไปหาหนุ่มสาวกลุ่มนั้นแล้วกล่าวว่า
“พวกคุณรู้จักฉันด้วยรึ ทำไมว่าฉันเป็นแม่ที่น่าสมเพช”
“อย่าทำเหมือนฉันเป็นแมลง ... คุณรู้อะไรเกี่ยวกันฉันบ้างถึงได้มาว่ากันแบบนี้... คุณจะรู้สึกยังไงถ้าฉันมองคุณแวบเดียวแล้วตัดสิน...ทำไมต้องพยายามทำร้ายคนอื่นขนาดนี้”
- ผู้หญิง การงาน และต้นทุนที่ต้องจ่าย
งานคือความภาคภูมิใจในตัวเองของจียอน ภาพยนตร์บอกเล่าเรื่องราวของความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศชายกับหญิงในที่ทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการวางเฉยไม่แยแสหรือกระทั่งเป็นเรื่องขบขันในเรื่องการคุกคามทางเพศต่อผู้หญิงในที่ทำงาน และในส่วนของการงานผู้หญิงก็จะได้รับการเลื่อนขั้นช้ากว่าผู้ชาย ผู้หญิงถูกมองว่าแม้จะมีฝีมือแต่ก็ไม่สามารถทำงานระยะยาวได้ (เช่นกรณีของจียอนที่ไม่ถูกคัดเลือกเข้าทีม) เพราะพอแต่งงานแล้วมีลูก ประสิทธิภาพการทำงาน ถ้ายังทำได้ก็แย่กว่าเดิมมาก และที่แย่ยิ่งกว่านั้นก็คือ ผู้ชายคนไหนที่กล้าแหกคอก เช่นลาพักไปช่วยภรรยาเลี้ยงลูก สุดท้ายก็จะโดนเล่นงานเช่นกัน
ผู้หญิงที่ก้าวข้ามข้อจำกัดนี้มาได้ อย่างหัวหน้าคิมที่ได้ชื่อว่าหญิงแกร่ง ก็ถูกมองเป็นตัวประหลาดที่เป็นกรณีผิดปกติ ชนิดที่น่าจะไปเกิดเป็นผู้ชายเสียดีกว่า
แต่การประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานของผู้หญิงอย่างหัวหน้าคิมก็มีต้นทุนที่ต้องจ่าย เธอพูดกับจียอนว่า “ฉันดูมีความสุขหรือ? ฉันเป็นแม่ที่ไม่ได้เรื่อง ฉันเลิกเป็นภรรยาที่ดีกับลูกสาวที่ดีมานานแล้ว”
- ปากกา สัญลักษณ์แห่งอำนาจของการ “เขียน” ความหมาย
คิมจียองเติบโตมาพร้อมพี่สาวและน้องชาย ในครอบครัวที่ให้ความสำคัญกับลูกชายมากกว่าลูกสาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เป็นพ่อ พ่อผู้ปฏิบัติต่อลูกชายและลูกสาวไม่เท่ากัน โดยไม่รู้สึกว่าเป็นปัญหาแต่อย่างใด หากเป็นเรื่อง “ปกติ” พ่อผู้จำได้แต่ว่าลูกชายชอบกินขนมปังไส้ถั่วแดง แล้วก็เหมาว่าลูกสาวก็เช่นกันซึ่งไม่ใช่ พ่อผู้ไม่รู้สึกว่าตัวเองลำเอียง แต่ก็ซื้อยาบำรุงให้เฉพาะลูกชาย
ภาพยนตร์ฉายอดีตย้อนกลับไปเรื่องราวตอนผู้เป็นพ่อไปประเทศอังกฤษแล้วซื้อของฝากลูกสาวและลูกชาย
ปากกาด้ามที่พ่อซื้อตอนไปอังกฤษมาฝากน้องชายของจียอน ดูจะเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญอย่างหนึ่ง ลูกชายได้รับปากกา ขณะที่ลูกสาวสองคนได้รับสมุดวาดเขียนเป็นของฝาก หากจะมองในเชิงสัญลักษณ์ ปากกาคือเครื่องมือของผู้กระทำ คือเครื่องมือของการ “เขียน”
เราสามารถขยายการตีความขอบเขตของการ “เขียน” นี้ออกไปได้มากกว่าแค่การเขียนตัวหนังสือทั่วไป แต่การ “เขียน” คือสัญลักษณ์ของการ “กำหนด” “นิยาม” ความหมายเชิงคุณค่าให้แก่สิ่งต่าง ๆ ให้แก่วิถีชีวิตของผู้คน หรือสังคม
ภาษา มิได้เป็นเพียงการสื่อสารในชีวิตประจำวัน แต่คือเครื่องมือในการใช้ระบุว่าค่านิยมอะไรที่ควรยึดถือ ความดีหมายความว่าอะไร แม่ที่ดีต้องเป็นอย่างไร ลูกที่ดี ผู้หญิงที่ดี พลเมืองที่ดี ต้องเป็นอย่างไร
สังคมเกาหลีนั้นได้รับอิทธิพลจากลัทธิขงจื่อ ที่ให้ความสำคัญกับการจัดระเบียบสังคมผ่านการจัดระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ลัทธิขงจื่อเชื่อว่าถ้ามนุษย์สัมพันธ์กันด้วยดี สังคมก็จะสงบสุข มนุษย์สัมพันธ์กันตามสถานภาพ ซึ่งคน ๆ หนึ่งย่อมมีได้หลายสถานภาพซ้อนทับกันในคนเดียว เช่น คิมจียองเป็นทั้งภรรยาของสามี เป็นแม่ของอายอง เป็นลูกสะใภ้ของแม่สามี เป็นลูกสาวของพ่อแม่ เป็นพี่ของน้องชาย เป็นน้องของพี่สาว เป็นเพื่อนของเพื่อน เป็นลูกน้องของหัวหน้า และอื่น ๆ
ลัทธิขงจื่อเชื่อว่าเราจะจัดระเบียบความสัมพันธ์ให้ดีได้ เราต้องกำหนดให้ชัดเจนก่อนว่าแต่ละสถานภาพควรสัมพันธ์ต่อกันอย่างไร มีหน้าที่อะไรและต้องทำอย่างไร ผ่านสิ่งที่เรียกว่า “หลักการแก้ไขนามให้ถูกต้อง” นามคือชื่อ แต่ชื่อไม่ใช่แค่การระบุว่าเราคือใคร แต่คือการระบุหน้าที่และระเบียบปฏิบัติไว้ด้วย เช่นคนที่ได้นาม(ชื่อเรียกสถานภาพ)ว่าลูก ต้องมีหน้าที่อะไรต่อพ่อแม่ ต้องปฏิบัติอะไร เมื่อไหร่ และอย่างไรบ้าง จึงจะเรียกได้ว่าเหมาะสมคู่ควรกับนาม “ลูก” ก็คือเป็นลูกที่ดีนั่นเอง เป็นต้น คิมจียองมิใช่เป็นแค่ลำพังตัวคิมจียอง แต่เป็นผลรวมของคิมจียองในฐานะลูก ในฐานะแม่ ในฐานะเมีย ในฐานะลูกสะใภ้ ฯลฯ
ย้อนกลับที่เสียงเรียก “แม่จ๋า” ในฉากต้น ๆ ของภาพยนตร์ เสียง “แม่จ๋า” ที่ดังเข้าหูของคิมจียอง จึงไม่ได้เป็นเพียงเสียงลูกร้องเรียกแม่ แต่กลับบรรจุไว้ด้วยเสียงอื่นที่พุ่งตรงเข้าไปดังอัดอั้นตื้อตันอยู่ในอกในใจ เสียงที่อื้ออึงว่าแม่ที่ดีคืออะไรตามแบบที่กำหนด “เขียน” ไว้ของสังคม
ดังนั้น ปากกา ในเชิงสัญลักษณ์ จึงกินความไปถึงอำนาจในการกำหนด/ขีดเขียน นิยามความหมายเชิงคุณค่าของสังคม ที่น่าสนใจคือ ในเรื่อง ผู้เป็นพ่อมอบปากกานี้แก่บุตรชาย นัยคือการที่ผู้ชายเป็นผู้กำหนดและส่งต่อระบบคุณค่าเหล่านี้ในฐานะผู้กระทำ จากผู้ชายสู่ผู้ชาย หรือจะเรียกว่า เป็นภาพสะท้อนของระบบชายเป็นใหญ่ก็ได้
ขณะที่ลูกสาวสองคนได้รับสมุดวาดเขียน ซึ่งถ้าจะตีความให้คู่ขนานกันไป ชายได้รับเครื่องมือในการกระทำ/กำหนด (ปากกา) ขณะที่หญิงได้รับเครื่องมือสำหรับการถูกกระทำ (สมุด-ถูกขีดเขียน)
จึงไม่แปลกที่จียอนปรารถนาจะครอบครองปากกาด้ามนี้ ถึงขนาดร้องขอกับน้องชายมาเป็นสิบปี เพราะนัยในเชิงสัญลักษณ์ของมันคือ อำนาจในการกำหนดคุณค่าและความหมายของตนเอง ซึ่งคือสิ่งที่จียอนโหยหา
และในฉากช่วงท้ายเรื่อง น้องชายที่มาเยี่ยมจียอน นำปากกาด้ามนั้นมามอบให้พี่สาว คราวนี้ปากกาถูกสลักชื่อ “คิมจียอง” ไว้ ในเชิงสัญลักษณ์ คิมจียอง จึงมิได้เป็นเพียง คิมจียองที่ถูกกระทำอยู่ถ่ายเดียวอีกต่อไป แต่ คิมจียอง ได้กลายเป็น “คิมจียอง” ที่สามารถกำหนดคุณค่าความหมายให้แก่ตนเอง ดังจะเห็นได้จากฉากการเยียวยาตนเอง ด้วยการเขียนลงในสมุดบันทึก ซึ่งคำแรกที่ถูกเขียนลงไปก็คือ คำว่า “คิมจียอง” และในฉากที่พิมพ์ต้นฉบับในฐานะนักเขียน เธอก็มีปากกาด้ามนั้นอยู่ในโถเครื่องเขียนใกล้ตัว
“เธอลืมตาดูโลกวันที่ 1 เมษายน 1982 ณ กรุงโซล”
คิมจียอง ผู้ที่เกิดในปี 1982 จึงได้เกิดใหม่อีกครั้งอย่างเข้มแข็งและพร้อมเผชิญโลกในนาม “คิมจียอง เกิดปี 1982” นั่นเอง