Ready Player One เกมล้ำยุคที่เหมือนฝัน

ประกอบ ประกายดาว

 

            เหมือนความฝันที่เป็นจริงของนักเล่นวิดีโอเกมหลาย ๆ คน หากจะมีการได้เข้าอาศัยอยู่ในโลกของวิดีโอเกมที่เราชื่นชอบ เพื่อเป็นตัวละครที่ชอบ และได้ทำกิจกรรมสุดหฤหรรษ์แทบทุกอย่างที่ในโลกความเป็นจริงนั้นไม่อาจจะเป็นไปได้ และภาพยนตร์เรื่องนี้Ready Player One สงครามเกมคนอัจฉริยะก็ตอบคำถามนั้นว่า ‘มันจะดีสักแค่ไหน หากมีสถานที่ ๆ ทำให้คุณทำได้แทบทุกอย่างที่อยากจะทำ เป็นได้แทบทุกอย่างที่อยากจะเป็น’

 

ภาพ : ใบปิดภาพยนตร์ Ready Player Oneและคะแนนวิจารณ์จากเว็บไซด์ Rotten Tomatoes (มะเขือฯเน่า)

 

           Ready Player Oneได้เข้าฉายครั้งแรกที่งานประชุมสัมมนาและโชว์ผลงานในด้านสื่อ (SXSW) เมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2561 และเข้าฉายในประเทศไทยเมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2561พร้อมกับอีกหลายประเทศทั่วโลกโดยภาพยนตร์เรื่องนี้มีทุนสร้างอยู่ที่ 175 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และทำเงินไปทั้งสิ้น 582 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จในด้านรายได้และด้านคำวิจารณ์ทั้งจากคนดูและนักวิจารณ์ที่ไปในทางเดียวกันอีกด้วย

           มันไม่ง่ายเลยที่จะบอกว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ดี เพราะทุกส่วนที่ถูกหยิบมาใช้และที่ทำให้เราได้เห็นนั้นถือว่าดีมาก ๆ ปีนั้นจนถึงขั้นได้รับรางวัลลออสการ์ ครั้งที่ 91 ในฐานะภาพยนตร์บันเทิงคดีวิทยาศาสตร์แนวแอ็กชัน สาขาเทคนิคพิเศษยอดเยี่ยม Best Visual Effects (Best VFX) และยังได้รับรางวัล Bandung Film Festival for Imported Film ซึ่งก่อนที่จะมาเป็นภาพยนตร์นั้น นวนิยายต้นฉบับของเอิร์นเนส ไคลน์ (Ernest Cline) เองก็ได้รับรางวัลเช่นกัน คือ รางวัล Prometheus Award พ.ศ. 2554 และรางวัล Alex Award พ.ศ. 2555 จากแผนก Young Adult Library Services Association ของ American Library Association อีกทั้งยังติดอันดับหนังสือที่ขายดีของนิวยอร์กไทม์อีกด้วย

           ทั้งผู้กำกับผู้ได้ฉายา‘พ่อมดแห่งฮอลลีวูด’ (The Wizard of Hollywood) อย่าง‘สตีเวน สปีลเบิร์ก’ (Steven Spielberg) และเอิร์นเนส ไคลน์ เจ้าของนวนิยายที่เป็นผู้ดัดแปลงนวนิยายให้เป็นบทภาพยนตร์ร่วมกับแซค เพนน์(Zak Penn)ซึ่งสามารถเนรมิตให้เกิดเป็นภาพยนตร์เรื่อง Ready Player One ภาพยนตร์ที่รวบรวมเอาวัฒนธรรมป็อปคัลจ์ยุค 80 - 90 มาไว้อย่างล้นหลาม และทำให้เกิดแรงดึงดูดมหาศาลระหว่างผู้ชมและตัวของภาพยนตร์ได้ตลอดช่วงเวลาที่ภาพยนตร์เข้าฉาย จนเกิดเป็นกิจกรรมพิเศษที่ทำให้เหล่าคอนเทนท์ครีเอเตอร์เกี่ยวกับภาพยนตร์ และคนดูผู้ชื่นชอบวัฒนธรรมป็อปคัลจ์ดังกล่าวนั้นต้องเข้าไปดูเพื่อจับผิดสิ่งต่าง ๆ ในภาพยนตร์ ซึ่งบางคนดูแล้วก็ดูซ้ำอีกหลาย ๆ รอบ และนั่นก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ประสบความสำเร็จได้อย่างงดงาม จนกลายเป็นความประทับที่ถูกบันทึกในความทรงจำของผู้ชมว่านี่คือภาพยนตร์น้ำดีอีกเรื่องในปีนั้น แม้จะดูด้อยกว่าในเรื่องของรายได้เมื่อเทียบกับเรื่องใหญ่อื่น ๆ ที่เขาฉายในปีเดียวกันก็ตาม

 

ภาพ : สหรัฐอเมริกา รัฐโอไฮโอ สลัมรถยนต์ ปี ค.ศ. 2045 ในภาพยนตร์เรื่อง Ready Player One

 

           เรื่องของเรื่องคือ...ในโลกของ Ready Player One นั้น เป็นเรื่องราวในยุคสมัยที่ผู้คนสนใจอยู่กับโลกเสมือนจริงอย่างโอเอซิส(OASIS)มากกว่าโลกความเป็นจริงด้วยหลาย ๆ ปัจจัย ๆม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ที่สถานที่แห่งนั้นสามารถทำให้ผู้คนเป็นได้ทุกอย่างที่พวกเขาอยากเป็นและทำอะไรได้หลาย ๆ อย่างที่พวกเขาอย่างทำ  และเมื่อทุกอย่างกลายเป็นความเสมือน ที่แม้จะไม่จริง แต่ก็สมจริงจนรู้สึกได้ด้วยเทคโนโลยีกิจกรรมความบันเทิงแทบทุกอย่างก็ล้วนเป็นไปได้ ยกเว้นแค่การกิน เข้าห้องน้ำและการนอนหลับ ราวกับโลกในความฝันที่เราบังคับได้ดังใจนึกและพวกเขาบางคนก็เลือกที่จะอยู่ในนั้นกับตัวตนเสมือนจริงของพวกเขา มันกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต “เป็นตัวตนจริงอีกตัวตนของพวกเขาอยากใช้” ซึ่งนั่นยังรวมถึงเรื่องของการหลบหนีจากโลกความจริงที่แสนโหดร้าย โดยเฉพาะในเนื้อเรื่องที่โลกความจริงนั้นเป็นโลกอนาคตที่ไม่ใช่โลกในอุดมคติ (Dystopia) เกิดสภาวะความล้มเหลวทางเศรษฐกิจที่ร้ายแรงขนาดทำให้บางเมืองในประเทศกลายเป็นสลัม เช่น รัฐโอไฮโอ (Ohio) ที่เป็นฉากดำเนินเรื่อง

           แต่อีกเหตุผลที่ทำให้ผู้คนคลั่งไคล้โลกเสมือนจริงอีกหนึ่งประการ คือผู้สร้างโอเอซิสอย่างเจมส์ ฮาลิเดย์(James Halliday) และอ๊อกเดน มอร์โรว์ (Ogden Morrow) โดยฮาลิเดย์คนนี้เป็นผู้สร้างแรงกระเพื่อมของยุคสมัยใหม่ ที่นอกจากจะสร้างสถานที่หลบภัยหรือพักผ่อนให้กับผู้คนแล้ว ยังให้ความหวังกับผู้คนโดยการให้ผู้เล่นที่สนใจได้ร่วมเล่นเกมปริศนาคำใบ้กับเขาในโอเอซิสแห่งนี้ เพี่อหาสิ่งที่เรียกว่า “ไข่อีสเตอร์”โดยผู้ที่หามันเจอครบตามเงื่อนไข่เป็นคนแรกจะได้มรดกของเขาในมูลค่าครึ่งล้านล้านดอลลาร์  ซึ่งทั้งหมดถูกถ่ายทอดสนและถือเอาคำสัญญาของเขาเป็นพินัยกรรมเพราะนี่คือคำสั่งเสียของเขาในฐานะเจมส์ ฮาลิเดย์ และเขาได้มอบหน้าที่ต่อให้กับอวตารหรือร่างอวาทาร์ของเขาในโอเอซิส อะนอแรค ผู้รู้ทุกสิ่ง  (Anorak)

           หลังจากนั้นก็ผ่านไป 5 ปี จนกระทั่งในปี 2045 ผู้คนบางกลุ่มหมกมุ่นกับการตามหาไข่อีสเอตร์ และนี่เองก็คือตอนที่เรื่องราวได้เริ่มเล่าผ่านตัวละครเอกอย่างเวด วัตต์ส(Wade Watts) หรือผู้ใช้อวตารชื่อ พาซิวอล (Parzival) เด็กหนุ่มผู้เป็น คลั่งไคล้ในตัวของฮาลิเดย์และมักคิดว่าเขาคือพระเจ้าผู้สร้างโลกเสมือนที่ผู้คนสามารถใช้ชีวิตอยู่ในนั้นได้เขาและเพื่อนร่วมอุดมการณ์ตามหาไข่อีสเตอร์ ได้แก่ ผู้ใช้อวตารชื่อเอช(Aech),ไดโตะ(Daito) และ Sho (โช) รวมถึงนักฆ่าซิกเซอร์ผู้ใช้อวตารชื่อ อาเธมิส (Art3mis)ที่มีความแค้นส่วนตัวกับองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อทำภารกิจตามหาไข่โดยเฉพาะอย่างไอโอไอ (IOI)ที่นำโดยโนแลนด์ ซอร์เร็นโต้ (Nolan Sorrento)พร้อมกับลูกสมุนซิกเซอร์ ซึ่งพวกเขาจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้ไข่อีสเตอร์ทั้งหมดเป็นคนแรก

          จุดที่น่าสนใจจริง ๆ นั้นอยู่ตรงที่การดัดแปลงเนื้อหา ที่ถ้าหากมองแค่เนื้อเรื่องในภาพยนตร์ถือว่าทำออกมาได้ดี แต่นี่คือ “ภาพยนตร์ที่ดัดแปลงมาจากนวนิยาย” ย่อมต้องมีการเปรียบเทียบเนื้อหาและเส้นเรื่องเป็นธรรมดา ซึ่งจะมีจุดต่างกันหลายจุด ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในที่นี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยข้อดีนั้นคือเหตุการณต่าง ๆ ถูกกระชับให้มีเวลาเหมาะสม และสามารถรับชมได้ทุกเพศทุกวัย และจ้อเสียคือความดิบเถื่อนเข้มข้นในการแข่งขันตามล่าไข่นั้นถูกลดลงเป็นอย่างมากจากต้นฉบับ โดยสิ่งที่เปลี่ยนไปมากจนเห็นได้อย่างชัดเจนนั้น ตัวอย่างคือ เกมแก้ปริศนาที่มีความซับซ้อนและจำนวนในการเล่นที่น้อยกว่าต้นฉบับ โดยในต้นฉบับนั้นจะมีเกมหยิบย่อยที่เหล่าตัวเอก โดยเฉพาะพระเอกของเรื่องที่จะต้องข้ามฝ่าอุปสรรคและเก็บไอเทมไปใช้ในช่วงท้ายเรื่อง เช่น Free Lifeที่ไม่ได้มาฟรี ๆ อย่างในภาพยนตร์ซึ่งก็มีส่วนดีที่ได้ปรับภารกิจเกม เพราะจะทำให้นั้นที่ควรยืดยาวตามคำบรรยายนั้นสั้นและกะทัดรัดในเวลาที่จำกัด  และอีกเรื่องที่ไม่พูดไม่ได้คือ ความโหดร้ายขององค์กรไอโอไอที่ถูกลดลงหรือปิดไม่ให้เห็น ซึ่งคำนิยามความโหดร้ายขององค์กรที่ทำได้ทุกวิถีทางเพื่อให้ได้ครอบครองไข่อีสเตอร์นั้น บรรยายเอาไว้ได้ไม่ต่างจากองค์กรชั่วร้ายจริง ๆ หรือเรียกได้ว่าเป็นมาเฟียโลกใต้ดินเลยก็ว่าได้ แต่อาจเป็นเพราะอยากให้ได้เข้าถึงเป้าหมายที่อายุน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้จึงต้องเปลี่ยนแปลงในจุดนี้ และยังมีรายละเอียดอีกมากที่เปลี่ยนไปจนเหมือนอยู่ในจักรวาลคู่ขนาน  แต่ด้วยความที่ภาพยนตร์นั้นทำออกมาดีมากในเรื่องของ VFX และบทที่ทำให้ดูได้เพลิน ๆ รวมถึงการใส่อะไรต่อมิอะไรเข้ามาในฉากให้ได้จับผิดกันเยอะมาก  ผู้ที่อ่านต้นฉบับมาก็สามารถยอมรับความเปลี่ยนแปลงทั้งหมดได้

          ข้ามส่วนของเนื้อเรื่องแล้วมาดูตรงความเป็นไซไฟโลกอนาคต อันเป็น “ฝันที่อยากให้เป็นจริงของนักเล่นเกม” กันก่อนดีกว่าเพราะนี่เป็นส่วนที่ไม่พูดไม่ได้

          ก่อนอื่นต้องสืบความกันก่อนว่าทำไมถึงต้องเรียกว่านี้คือความฝันที่นักเล่นเกมอยากให้เป็นจริง แต่อันที่จริง ๆ ก็ไม่ใช่แค่นักเล่นเกมเท่านั้นหรอกที่อยากให้เป็นจริง ความก้าวหน้าเป็นสิ่งที่ทำคนใฝ่ฝันถึงมาตั้งนานแล้ว ด้วยความหวังไว้ว่าในโลกอนาคตอันใกล้หรือห่างใกล้นี้ จะต้องมีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นแน่ ๆ โดยหากย้อนว่ามันเกิดขึ้นครั้งแรกยุคไหนสมัยนั้น อาจจะย้อนกลับไปที่ยุคสมัยของเครื่องจักรไอน้ำ โดยมีภาษาที่เรียกเฉพาะเจาะจงเอาไว้ว่า “สตีมพังค์” โดยเป็นช่วงที่คนฝันเฟื่องถึงอนาคตที่จะผสานเทคโนโลยีเข้ากับความล้ำหน้าล้ำสมัยอยู่เป็นไม่มากก็น้อย เช่น รถไฟที่บินได้ จดหมายที่ไปส่งตัวเองได้จนถึงที่โดยไม่ผ่านไปรษณีย์ หรือเครื่องมือทำความสะอาดที่เก็บกวาดบ้านให้เองโดยเจ้าของไม่ต้องเหนื่อย ซึ่งความคาดหวังเหล่านี้ไม่เคยจบลง แม้ว่ามันจะเป็นจริงแล้วก็ตาม

 

 

             ยุคสมัยและเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นแล้วก็มีแนวโน้มจะพัฒนาต่อไปตามความฝันเฟื่องของผู้คนที่อยากได้สิ่งที่ล้ำสมัยกว่าในปัจจุบัน โดยมีหลายครั้งที่พวกเขาเองก็เอาความฝันเฟื่องนั้นไปลงที่ความบันเทิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับอุสาหกรรมที่ทำรายได้สูงที่สุดในโลกอย่างวิดีโอเกม

            วิดีโอเกมเครื่องแรกของโลกสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2501 ณ สถาบันวิจัย Donner โดยมีนักฟิสิกส์ชาวอเมริกันชื่อ William Higinbotham เป็นคนออกแบบเกมให้มันแสดงผลบนสโคป (หน้าจอแสดงค่าวัดแรงลม)และเล่นกับตัวควบคุมอะลูมิเนียมที่ใช้หมุนปรับค่าหน้าจอมาดัดแปลงเป็นจอยเกมและตั้งชื่อให้เกมนี้ว่า Tennis for Two และด้วยความสนุกของเกมนี้ จึงมีผู้พัฒนานำไปสร้างเป็นเรื่องเล่นเกมผ่านหน้าจอที่มีคุณภาพมากขึ้น  และได้สร้างเกมที่ออกมาสู่สายตาผู้คนจริง ๆ ที่เล่นผ่านตู้เกมเมื่อปี พ.ศ. 2503 โดยบริษัทอาตาริ (Atari) กับเกมที่ชื่อว่าปอง (Pong) ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ. 2518 ได้มีการพัฒนาเป็นเครื่องเล่นวิดีโอเกมที่สามารถเล่นกับโทรทัศน์ที่บ้านได้ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2520 เครื่องเล่นวิดีโอเกมเครื่องแรกที่ขายได้มากกว่าล้านตลับก็ถูกผลิตขึ้นในชื่อ อาตาริ 2600ซึ่งมีเกมให้เล่น 9 เกม ได้แก่ Air-Sea Battle, Basic Math, Blackjack, Combat, Indy 500, Star Ship, Street Racer, Surround และ Video Olympics  จากนั้นก็มีเกมถูกพัฒนาให้เล่นเพิ่มมากขึ้นในทุก ๆ ปี และมากถึง 519 เกม โดยความนิยมยาวนานต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่ผลิตจนถึงปี 2535     ยิ่งความนิยมในอุสาหกรรมเกมมีมากขึ้นเท่าไหร่ การพัฒนาเกมก็ยิ่งพัฒนาขึ้นเท่านั้น จึงเกิดเป็นความคิดที่ว่าจะดีแค่ไหนหากผู้คนเข้าไปเล่นและใช้ชีวิตอยู่ในเกมเป็นครั้งคราวได้  ซึ่งความคิดนี้เริ่มมีต้นทางมาจากที่ไหนไม่อาจทราบได้ แต่หลักฐานแรกสุดปรากฏอยู่ในนวนิยายเรื่องThe Lawnmower Man หนึ่งในสิบสี่เรื่องสั้นของ Stephen King ที่ได้ตีพิมพ์ใน Cavalier ฉบับเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2518 ซึ่งต่อมาได้ถูกคัดเลือกมารวมไว้ในหนังสือรวมเรื่องสั้นชุด Night Shift ในปี พ.ศ. 2521 และยังได้ถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ถึง 2 ครั้ง คือ The Lawnmower Man (2535) และ The Lawnmower Man 2 (2539)โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับการทดลองทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการพัฒนาศักยภาพทางด้านจิตใจของมนุษย์ด้วยตัวยาที่ทำให้คนผสานเข้ากับความเป็นจริงเสมือนที่สามารถทำให้คนเข้าไปในอยู่โลกเสมือนได้

            ชุดความคิดที่คนสามารถเข้าไปอยู่ในโลกดิจิตอลหรือความจริงเสมือนได้นั้น แพร่กระจายออกไปจนกลายเป็นเรื่องสนุกที่ใคร ๆ ก็อยากให้เป็น จึงเกิดเป็นภาพยนตร์แนว ๆ นี้ตามอีกหลายเรื่อง เช่น eXistenZ (2542), The thirteeth floor (2542), Spy Kid 3D (2546) ฯลฯ และยังรวมไปความคิดคล้าย ๆ กันที่ไม่ใช่วิดีโอเกมที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปอยู่ในหนังสือ ภาพยนตร์ การ์ตูน หรือคอมพิวเตอร์ก็ปรากฏให้เห็นเช่นกัน เช่น Tron (2525), The Last Action Hero (2536), Space Jam (2539) ฯลฯ และในทางกลับกันกับชุดความคิดที่ว่าการที่โลกความจริงเสมือนก็สามารถมาปรากฏในโลกความจริงได้เช่นกัน เช่น Jumanji (2538), Zathura (2548), Stay Alive (2549) เป็นต้น โดยความคิดนี้ไม่ได้หยุดแค่ฝั่งอเมริกา แต่แพร่กระจายไปทั่วโลกจนมีวรรณกรรมมากมายในทำนองเดียวกันนี้เกิดขึ้น โดยมี 2 ตัวอย่างที่สามารถยกได้ คือ 1) Sword Arts Online หรือที่รู้จักในชื่อย่อ SAO โดยแรกเริ่มถูกเขียนเป็นไลท์โนเวล โดย“เรกิ คาวาฮาระ”  เมื่อปี พ.ศ. 2552 ก่อนจะดัดแปลงเป็นสื่ออื่น ๆ และทำเป็นภาคต่อ ๆ  มาอีกหลายภาค ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมากหลายประเทศทั่วโลก  ส่วนในประเทศไทยของเราก็มีเช่นกันหลายเรื่อง แต่จะยกตัวอย่างเฉพาะจากเรื่องที่เคยอ่านมา และนับเป็นตัวอย่างที่สอง คือ 2) ยุทธภพออนไลน์ ซึ่งเขียนโดยนักเขียนนามปากกาว่า “ปากกาแดงดำ” สามารถหาอ่านฟรีได้ที่เว็บเด็กดีโดยทั้งสองเรื่องนี้จะเกี่ยวข้องกับเกมสวมบทบาทออนไลน์เสมือนจริงที่เล่นได้หลายคน (VRMMORPG) ไม่ใช่แค่วิดีโอเกมเนื้อเรื่อง โดย SAO ใช่ช่วงแรกจะมาในธีมของโลกของ Magic & Sword ยุคกลางที่ต้องผ่านด้านหอคอย 100 ชั้นเพื่อจบเกมที่กักขังผู้เล่นเอาไว้ ซึ่งเป็นเกมที่ถ้าตายในเกมก็เท่าตายในโลกความจริง แล้วค่อยมาเป็นเกมปกติที่ไม่มีการตายจริงในช่วงหลัง ๆ โดยแนวเกมก็จะต่างออกไปเรื่อย ๆ ซึ่งมีทั้งโลกของนักแม่นปืน โลกของเอลฟ์ และอื่น ๆ อีกมาก ส่วนยุทธภพออนไลน์ก็ตามตัว โลกของชาวยุทธที่ต่อสู้กันด้วยกำลังภายใน อาวุธ และมีของแถมเป็นพลังเวทย์มนต์ รวมไปถึงมอนสเตอร์หรือสัตว์อสูรที่ไว้เพิ่มระดับหรือเลเวลเหมือนเกมอื่น ๆ   

            มาจนถึงจุดนี้คิดว่าคงจะพอเข้าใจแล้วว่าแนวคิดที่ทำให้คนสามารถเข้าไปอยู่ในเกมได้ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร เพราะมันมีมาตั้งแต่ 2518 หรือก็คือมากกว่า 35 ปีมาแล้ว  โดยเรายังคงอยู่ในช่วงที่ผู้คนฝันถึงอนาคตที่เจริญล้ำอยู่เสริม เพราะยังมีเรื่องอื่น ๆ นอกจากเกม ซึ่งสามารถพบเห็นได้ในวรรณกรรมแนวไซเบอร์พังก์ และไซไฟโลกอนาคตอื่น ๆ อีกมาก เพียงแต่นี้คือการตอกย้ำและทำซ้ำชุดความคิดที่ว่านี้เท่านั้น โดยทำให้ภาพนั้นค่อย ๆ ชัดเจนขึ้นว่าโลกภายในความจริงเสมือนนั้นสามารถเป็นเช่นนี้ได้เช่นกัน  โดยเฉพาะอุปกรณ์สำหรับใช้เชื่อมต่อโลกกับโลกเสมือนที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงขึ้นทุกขณะ

 

 

ภาพ : เปรียบเทียบอุปกรณ์ภายนอกของผู้เล่น OASIS ขณะใส่อุปกรณ์ กับ Apple Vision Pro

 

           ความจริงสิ่งที่ผู้ชมสนใจนั้นแทบไม่เกี่ยวกับเนื้อเรื่องเลย พวกเขามองหาความล้ำสมัยและรวมไปถึง “การตามหาไข่อีสเตอร์ที่ผู้กำกับใส่มาไว้ให้จับผิด” กัน  และการตามเนื้อเรื่องแทบจะเป็นประเด็นรองเพราะผู้ชมกำลังตามล่าไข่อีสเตอร์ด้วยตัวเองคนจะสนุกกว่าอยู่มากโข  ซึ่งมันกลายเป็นผลดีต่อหนังที่อยู่ในเรทสำกรับทุกเพศทุกวัย เพราะเป็นการยากที่เนื้อหาธรรมดา กับแนวเรื่องที่คาดเดาง่ายจะดึงดูดผู้ใหญ่ที่มีกำลังทรัพย์หรือวัยรุนที่มุ่งหาแต่ภาพยนตร์ในกระแสหลัก  และการใส่สิ่งเหล่านี้ลงไปนับว่าเป็นความฉลาดในการประชาสัมพันธ์ภาพยนตร์เรื่องนี้ในทุกทาง ไม่ว่าจะเป็นโฆษณาทางตรงผ่าน Trailer Official หรือทางอ้อมผ่านสื่อของนักวิเคราะห์ภาพยนตร์หลาย ๆ เจ้าในทุก ๆ แพลตฟอร์ม โดยเฉพาะคอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่ตั้งหัวข้อเอาไว้ว่า ‘จำนวนไข่อีสเตอร์’ นั้นมีเท่าไหร่บ้างและเกี่ยวกับเรื่องอะไรบ้าง ซึ่งบางคนก็ตัดเอาฉากมาวงกลมเอาไว้แล้วขยายให้เห็นกันแบบชัด ๆ เลยก็สิ่งนี้สิ่งนั้นคืออะไร  ไม่ว่าจะเป็นชาวไทยและชาวต่างชาติต่างก็ทำตาม ๆ กันโดยมิได้นัดหมาย  หรืออาจจะหยุดให้ดูกันเฟรมต่อเฟรมทั้งใน Trailer และภาพยนตร์จริงที่เอามาฉายสตรีมหลังจากออกจากโรงมาแล้ว  จนสุดท้ายมีคนเจอเรื่องไข่อีสเตอร์ที่ใส่มาไว้มากกว่า 300 จุด และเป็นที่ฮือฮาอยู่พักใหญ่  กลายเป็นเรื่องสนุกสนานและเป็นการเรียกผู้ชมให้มีความสนใจอยากเข้าไปจับผิดกันเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายหลักอย่างวัยรุ่นยุค 90’s ที่เป็นคอเกมและคอภาพยนตร์ทั้งหลาย

 

Visitors: 72,515