All Quiet on the Western Front :

แนวรบด้านตะวันตก เหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง

พุทธรัก กลิ่นจำปา

 

 

 

            “All Quiet on the Western Front” เป็นภาพยนตร์ต่อต้านสงครามที่ดัดแปลงมาจากนวนิยายคลาสสิกชื่อเดียวกันซึ่งถูกตีพิมพ์ในปี 1929 ผลงานปลายปากกาของ “เอริช มาเรีย เรอมาร์ค” อดีตทหารผ่านศึกชาวเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่ 1 ผ่านฝีไม้ฝีเลนส์ของผู้กำกับมากฝีมือชาวเยอรมัน-ออสเตรียอย่าง “เอ็ดเวิร์ด เบอร์เกอร์” ผู้เคยกวาดรางวัลในงานประกวดภาพยนตร์มาแล้วหลายรายการ รวมถึงภาพยนตร์เรื่อง All quiet on the western front ที่กวาดรางวัลบนเวทีออสการ์ครั้งที่ 95 ไปมากถึง 4 สาขา หนึ่งในนั้นคือรางวัลสาขาใหญ่อย่างรางวัลภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม อีกทั้งยังเป็นภาพยนตร์ที่คว้ารางวัลบนเวที BAFT (British Academy of Film and Television Arts) ครั้งที่ 76 มามากที่สุดถึง 7 สาขาด้วยกัน นับว่าเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของวงการภาพยนตร์เยอรมันเลยก็ว่าได้ ด้วยลีลากำกับเรื่อง ดนตรีประกอบ เทคนิคการนำเสนอภาพเคลื่อนไหว รวมถึงผลงานการสร้างที่ทุ่มทุนจนทำให้ภาพที่ออกมานั้นมีความสมจริงจนแทบทำให้ผู้ชมเสมือนหลุดไปอยู่ในสงครามโลกครั้งที่1 เสียเอง จึงทำให้ผู้คนต่างพากันพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ไม่พลิกโผ” เลยทีเดียวกับรางวัลรับประกันคุณภาพที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับมา

            ภาพยนตร์เรื่อง “All Quiet on the Western Front” เล่าถึงเรื่องราวของ “พอล บาวเมอร์” (รับบทโดยฟีลิกซ์ แคมเมอเรอร์) หนุ่มน้อยไร้เดียงสาวัย 17 ปี ผู้หลงกลลวงของโฆษณาชวนเชื่อจากผู้มีอำนาจและคนรุ่นก่อน ด้วยการย้อมสีสันแห่งความฮึกเหิม ชัยชนะ และศักดิ์ศรีของลูกผู้ชายที่ต้องรับไว้สักครั้งหนึ่งในชีวิต เพื่อพร้อมยืนหยัดอย่างสมเกียรติบนผืนแผ่นดินแห่งปิตุภูมิ ก่อนที่เขาจะได้รู้ความจริงว่าชีวิตในสมรภูมิสงครามครั้งนี้ไม่ได้สวยงามอย่างที่ผู้ใหญ่วาดไว้ แต่กลับโหดเหี้ยมสุดเกินจะบรรยาย ทำให้เขาและผองเพื่อนต้องดิ้นรนทุกวิถีทางเพื่อที่จะมีชีวิตรอดกลับออกมาจากนรกบนดินแห่งนี้

            เรื่องเปิดอารัมภบทมาด้วยฉากธรรมชาติที่น่าตื่นตะลึงและสงบนิ่งก่อนภาพจะตัดไปที่ฉากร่างอันไร้วิญญาณของเหล่าทหารที่ก็นอนแน่นิ่งไม่ต่างกัน ซึ่งแม้ว่าภาพจะนำเสนอถึงความเงียบงันในแบบเดียวกัน แต่กลับให้ความรู้สึกที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิงคล้ายว่าจะมีอะไรมิดีมิร้ายเกิดหลังจากนี้ แล้วหนังก็จะตลบหลังผู้ชมด้วยการป้อนฉากความสะเทือนขวัญในสนามรบโดยทันที ซึ่งในช่วง 3 นาทีแรกหนังจะมอบบทบาทหลักให้กับ “ไฮน์ริช” ที่กำลังต่อสู้กับทหารฝรั่งเศสท่ามกลางการปะทุของอาวุธสงคราม เห็นความตายมาเยือนพวกพ้องของตนเองทีละคนๆ ก่อนที่ชีวิตของเขาก็จบลงอย่างน่าสังเวชในแบบเดียวกัน จากนั้นหนังก็จะมอบบทบาทที่เหลือทั้งเรื่องให้กับตัวละครหลักอย่าง “พอล บาวเมอร์” โดยผู้กำกับจะจับผู้ชมให้มาอยู่ในฐานะผู้สังเกตการณ์ผ่านการดำเนินเรื่องของตัวละครหลักให้เราต้องคอยเอาใจช่วยลุ้นไปตามๆ กันว่าชายหนุ่มผู้นี้จะต้องเผชิญหน้ากับสิ่งใดบ้าง และจะเอาตัวรอดจากเงื้อมมือของสงครามนี้ไปได้อย่างไร โดยในช่วงแรกของหนังจะเต็มไปด้วยความสดใสและความคึกคะนองของเหล่าหนุ่มวัยรุ่นรวมถึง พอล ที่ต่างตื่นเต้นกับสงคราม พร้อมที่จะออกไปต่อสู้ที่แนวรบตะวันตกด้วยพลังเต็มเปี่ยมและจะกลับมาพร้อมชัยชนะและเกียรติภูมิ ซึ่งหนังจะไม่เสียเวลาพูดพร่ำทำเพลงกับความรื่นรมย์เหล่านี้นานนัก เพราะหลังจากนี้เราจะได้เห็น พอล และผองเพื่อนถูกผลักไสให้ค่อยๆ ดำดิ่งลงสู่ขุมนรก มองเห็นความคาดหวังของพวกเขาพังทลายไม่เหลือชิ้นดี และจำต้องเผชิญหน้ากับความเหี้ยมเกรียมสารพัดสารพันจากฝีมือของมนุษย์ด้วยกันเอง ซึ่งตัวหนังได้เล่าเรื่องราวผ่านเทคนิคการถ่ายภาพชั้นปรมาจารย์ที่ถ่ายทอดบรรยากาศออกมาได้เหมือนฉบับนวนิยายแบบไม่ผิดเพี้ยน รวมถึงการใช้ดนตรีประกอบที่มีโน้ตเพียงไม่กี่ตัวและใช้เพียงแค่การเพิ่มระดับความดังของดนตรีเพื่อไล่ระดับความพีคของหนัง แต่มันกลับสามารถสร้างความไม่ชอบมาพากลและความไม่มั่นคงในจิตใจของผู้ชมได้เป็นอย่างดี

            อย่างไรก็ดี หนังเรื่องนี้ยังพอมีมุมสนุกสนานให้ผู้ชมได้พักหายใจอยู่บ้าง เช่นฉากการสังสรรค์เฮฮาของพอลกับสหายของเขา ฉากจีบสาวที่เดินผ่านค่ายพักทหารตามประสาผู้ชายที่ไม่พบสิ่งนี้มานาน หรือฉากดื่มด่ำกับมิตรภาพของผู้ร่วมชะตากรรมเดียวกัน ซึ่งถือว่าหนังทำในส่วนนี้ออกมาได้ดี และดูเหมือนจะเป็นความขาวโพลนเดียวที่มีท่ามกลางความทึบเทาแทบตลอดทั้งเรื่อง แต่น่าเสียดายที่ฉากเหล่านี้จะผ่านไปอย่างรวดเร็วพร้อมให้ห้วงแห่งสงครามปีศาจเข้ามาแทนที่โดยฉับพลันทันตา

 

ภาพยนตร์ต่อต้านสงคราม กับนัยยะเชิงเสียดสีของทหารรบในแนวหน้า

            ภาพยนตร์เรื่องนี้คือผลงานการสร้างที่ต้องยอมรับว่าเหนือเมฆ ถึงแม้ว่าพล็อตเรื่องคือการนำเสนอเหตุการณ์ของสงครามที่เราทุกคนต่างทราบกันดีว่าจะเกิดอะไรขึ้นและจะได้เห็นสิ่งใดบ้างซึ่งก็คงไม่มีอะไรไปมากกว่าความวุ่นวายของเหล่าชายหนุ่มในชุดเกราะหรือชุดลายพรางท่ามกลางระเบิด รถถัง ปืนใหญ่ และการปะทุของสรรพยุทโธปกรณ์ ภาพจำที่เราเคยเห็นตัวเอกของเรื่องเป็น “วีรบุรุษ” ผู้รบราฆ่าฟันเหล่าอริราชอย่างทนเท่กลางสมรภูมิรบ ตีไม่ตายฟันไม่เข้า ปราดเปรียวผ่านศัตรูนับร้อยพัน ซึ่งถึงแม้ว่าเรายังคงเห็นภาพความรุนแรงและฉากผู้คนล้มตายอยู่บ้าง แต่ท้ายที่สุดแล้วความรู้สึกโดยรวมที่ได้รับคือความบ้าระห่ำและตื่นเต้น แต่ไม่ใช่กับภาพยนตร์เรื่องนี้ซึ่งฉายชีวิตที่แขวนอยู่บนเส้นด้ายพร้อมตายได้ทุกวินาที ชีวิตที่เหมือนลูกไก่ในกำมือ ไม่สู้เขาเราก็ตาย สถานการณ์ที่ดูไม่น่าไว้วางใจ ไม่รู้ว่ากระสุนจะพุ่งไปทางใด ระเบิดปืนใหญ่จะลงตรงไหน จะมีใครเข้ามาฆ่าตัวละครหรือไม่ รวมถึงหลากหลายภาพการสังเวยชีวิตให้แก่สงครามที่ดูสมจริงจนน่าสยดสยอง สิ่งเหล่านี้จะมอบความรู้สึกกระอักกระอ่วนและผะอืดผะอมให้แก่ผู้ชมอยู่ตลอดเวลา  อีกสิ่งสำคัญที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้แตกต่างออกไปคือโลกทัศน์แบบใหม่ซึ่งแฝงไว้ในตัวหนังเองไม่ว่าจะเป็นการถ่ายทอดความรู้สึก ทรรศนะ และความเป็นอยู่ที่แท้จริงผ่านเลนส์ของทหารชั้นผู้น้อยที่ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น และได้สัมผัสกับความขื่นคาวอย่างแท้จริง

            “ตอนนี้เป็นหน้าหนาว ไม่มีรถไฟและเสบียง พวกบอลเชวิกเล่นงานเราพินาศแน่ ทหารของเราจะหิวโหยตอนเดินกลับบ้านแทนที่จะตายอย่างมีเกียรติในสนามรบ

             “เกียรติหรอ! ลูกชายของผมตายในสงคราม เกียรติของเขาอยู่ไหนหรอ”

            จุดน่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งคือการที่หนังแทบไม่เท้าความถึงสาเหตุและชนวนของสงครามเลย อีกทั้งยังไม่ค่อยให้ความสำคัญแก่ชนชั้นนำสักเท่าไร ไม่ว่าจะเป็นบุคคลตัวการของความขัดแย้ง ผู้นำที่อยู่เบื้องหลัง หรือแม้แต่วีรบุรุษแห่งสนามรบ เอาเป็นว่าบุคคลชั้นบนๆ ทั้งหลายแทบจะไม่มีบทบาทเลยก็ว่าได้ การปลุกเร้าให้เห็นถึงชัยสมรภูมิ ความน่าฮึกเหิมของเหล่าวีรชน และการสู้รบกันอย่างมีเกียรติที่ชวนให้หลงระงมไปกับความเป็นชาตินิยมอย่างสุดโต่งที่เราเห็นกันอย่างชินชาตามภาพยนตร์ประวัติศาสตร์สงครามทั่วๆ ไป คงเป็นสิ่งที่เราจะไม่ได้เห็นในภาพยนตร์เรื่องนี้ มิหนำซ้ำมันกลับสร้างความรู้สึกเคลือบแคลงให้กับผู้ชมว่า “รบกันไปเพื่ออะไร” จากความที่ไม่ได้ปูปูมหลังของเรื่องราว ทำให้เราเข้าใจว่าตัวละครในเรื่องก็คงมีความคิดไม่ต่างกัน ผ่านบทสนทนาที่เสียดสีนายพลยศใหญ่ใฝ่สูงของทหารชั้นรากหญ้าในบางฉาก เช่น

“โยนกระดูกให้หมา หมามันจะรีบงับเสมอ ให้อำนาจใครคนหนึ่ง คนนั้นก็จะกลายเป็นสัตว์ร้าย”

 “เคาะประตูโบสถ์ดู แล้วจะเจอแต่โจรกับพวกคนชั่วช้าสามานย์ มันจบแล้ว นายพลอ้วนๆ พวกนั้นตาสว่างแล้ว ในที่สุดพวกเขาก็ยอมเจรจา เราจะได้กลับบ้านกันแล้ว ทหาร!”

            นับว่าภาพยนตร์เรื่องนี้บอกเล่ากึ่งประชดประชันให้เห็นถึง “ความสิ้นคิด” และ “ความไม่มีสาระ” ของการที่ต้องลุกขึ้นมาห้ำหั่นกันได้อย่างแยบคายสมกับอุดมการณ์ของการเป็นภาพยนตร์ต่อต้านสงครามที่ไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อ “ยกยอ” แต่เพื่อ “เย้ยหยัน” สงครามโดยขนานแท้

 

วาทกรรมซ้ำซาก : ไม่รักชาติกันหรือไร

            “อนาคตของเรา อนาคตของเยอรมันอยู่ในกำมือของชนรุ่นที่ยิ่งใหญ่ที่สุด นั่นคือพวกคุณ สหายทั้งหลาย นั่นคือพวกคุณ เพราะฉะนั้นได้เวลาออกศึก เพื่อท่านจักรพรรดิ เพื่อพระเจ้า และเพื่อบ้านเกิดเมืองนอน”

 “…เราอาจจะเริ่มมีความเคลือบแคลงใจ แต่นี่ไม่ใช่เวลาสำหรับคนจิตใจอ่อนแอ ความไม่มั่นใจ ความลังเลใจ คือการทรยศต่อบ้านเกิดเมืองนอน…”

            วาทกรรมสูตรสำเร็จที่เรามักจะเห็นได้บ่อยในภาพยนตร์ที่มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับสงคราม หรือแม้แต่ในชีวิตจริงคือ การสละชีพเพื่อชาติคือการตอบแทนคุณแผ่นดิน รวมถึงคำพูดผลักไสคนที่ไม่ร่วมรบว่าคือพวกทรยศต่อบ้านเกิดเมืองนอน ในเรื่องนี้เราก็จะเห็นการใช้กลอุบายล่อลวงเด็กหนุ่มผู้ไม่รู้เดียงสาทั้งหลายแหล่ให้ตกหลุมพรางโฆษณาชวนเชื่อที่ถูกแต่งแต้มสีสันด้วยวาทกรรมรักชาติแนวๆเดียวกัน การปลุกระดมความฮึกเหิมด้วยวาทศิลป์ร้อยแปดพันเก้าอันแหลมคมจากมุมมองของผู้มีอำนาจและคนรุ่นก่อนที่แม้แต่มือก็ยังไม่เคยเปื้อนเลือดเสียด้วยซ้ำ แต่ดูเหมือนว่าภาพลวงที่ผู้ใหญ่มอบให้กลับตบตาเหล่าเด็กหนุ่มได้อย่างสนิทใจ โดยที่พวกเขาไม่รู้ตัวเลยว่าสิ่งที่กำลังจะได้เผชิญมันโหดร้ายทารุณเพียงใด

 

การสะท้อนถึงเนื้อแท้ของมนุษย์

            หากจะให้พูดถึงฉากที่ตราตรึงใจที่สุด ก็คงหนีไม่พ้นฉากที่พอลต้องประจันหน้ากับทหารฝรั่งเศสในหลุมระเบิดปืนใหญ่ ทั้งสองต้องสู้กันตาต่อตา ฟันต่อฟัน เพราะหากใครคนใดคนหนึ่งเพลี้ยงพล้ำนั่นหมายถึงชีวิตที่ต้องจบลง ความน่าสนใจของฉากนี้คือการที่เราจะได้เห็นอารมณ์และความคิดของพอลที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาผ่านความเงียบที่แทบจะไร้บทสนทนา ในช่วงแรกพอลต้องสู้ยิบตาเพื่อเอาตัวรอดอย่างไร้ความเมตตาปรานีใดๆ แต่หลังจากที่เขาเห็นความทุรนทุรายปางตายของคู่ศัตรู ก็พลันเรียกความเป็นคนกลับมาได้อย่างทันท่วงที พร้อมฉุกคิดขึ้นมาว่าท้ายที่สุดเราก็คือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เขาพยายามแก้ไขสิ่งที่ตนเองทำลงไปต่างๆ นานา แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถยื้อชีวิตของทหารฝรั่งเศสคนนั้นได้ ประโยคสั้นๆ อันได้แก่ “สหาย.. สหาย” และ “ขอโทษ ขอโทษนะ” รวมทั้งการพยายามใช้ดินลบมือที่เปื้อนเลือดของพอล คงจะเป็นการบอกกลายๆ ว่า พอลเองก็คือมนุษย์คนหนึ่งที่ไม่ได้อยากเข่นฆ่าใคร มีอารมณ์มีความรู้สึกผิดบาป แต่ต้องทำเพื่อเอาตัวรอด ซึ่งนับว่านี่เป็นหนึ่งในฉากที่สะท้อนเนื้อแท้ของมนุษย์ออกมาได้เป็นอย่างดี

            อีกสองฉากที่ผู้กำกับเลือกใส่เข้ามาในภาพยนตร์คือฉากที่หนึ่งในเพื่อนทหารของพอล ฉีกรูปวาดของมาดามซึ่งเป็นตัวละครหญิงบนโปสเตอร์ภาพยนตร์สมัยนั้นนำมาเก็บไว้พร้อมทั้งสวมบทบาทให้เธอเป็นเสมือนดั่งคู่ครองสมของตน และฉากที่พอลกับเพื่อนทหารของเขาผลัดกันสูดดมผ้าที่ได้รับจากหญิงสาวที่พวกเขาจีบเมื่อกลางวัน แม้ผู้ชมบางท่านอาจจะรู้สึกแปลกๆ กับความทะเล้นทะลึ่งนี้อยู่บ้าง แต่หนังก็ไม่ได้ทำฉากเหล่านี้ให้ออกมาดูน่าเกลียดจนเกินไป เพราะจุดประสงค์หลักที่ผู้กำกับต้องการจะสื่อคือการสะท้อนให้เห็นถึงธรรมชาติของมนุษย์ที่เมื่ออยู่ท่ามกลางสนามรบที่ไร้ซึ่งสิ่งจรรโลงใจใดๆ การแสวงหากามคุณเพื่อตอบสนองความต้องการของตนเองนั้นแทบจะเป็นสิ่งเดียวที่พอพยุงให้เหล่าทหารมีกำลังในการใช้ชีวิตต่อไปท่ามกลางความหมองหม่นของสงคราม  และเหล่าทหารราบตามแนวรบก็คือมนุษย์คนหนึ่งที่มีอารมณ์ มีความต้องการ มิได้ไร้ความรู้สึกเช่นเครื่องจักรหรือสิ่งของ

 

วันที่ 11 เดือน 11 เวลา 11 นาฬิกา : การถูกย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นคนของทหารชั้นผู้น้อย

 “สงครามสมัยใหม่ก็เหมือนการเล่นหมากรุก มันไม่ได้เป็นเรื่องส่วนตัวแต่เป็นเรื่องของทุกคน”

            หนึ่งในประโยคปลุกใจของนายพลชั้นผู้ใหญ่ที่ปรากฏให้ได้ยินอยู่ต้นเรื่องสะท้อนถึงมุมมองของเขาที่มีต่อทหารชั้นผู้น้อยว่าเห็นพวกเขาเหล่านั้นเป็นเพียงแค่หมากเบี้ยที่อยู่บนกระดานหมากรุก รอให้ผู้มีอำนาจเพียงไม่กี่คนเดินเกมเพื่อตอบสนองความใคร่อยากของตนเอง ซึ่งเราจะได้เห็นสิ่งเหล่านี้ผ่านฉากการเจรจาต่อรองของผู้นำทั้งสองฝ่ายที่ออกมาให้เห็นบ้างพอประปราย หนึ่งสิ่งที่เราจะได้เห็นอยู่ตลอดเวลาตามฉากการเจรจาคือบทสนทนาของหนึ่งในผู้นำอย่าง “แมทเธียส เอสบาร์การ์”ที่คอยพูดย้ำเตือนให้นายพลที่เป็นผู้นำกองทัพเยอรมันรีบตัดสินใจเซ็นสัญญายุติครามอยู่เสมอๆ เพราะในทุกๆ หนึ่งกระดิกของเข็มนาฬิกาหมายถึงชีวิตทหารเยอรมันที่ต้องเสียไป

เรามีเวลา 72 ชั่วโมงนะสุภาพบุรุษ ทุกนาทีที่เรามัวคุยกัน ทหารต้องตายไปอีกหนึ่งคน เราต้องภาวนาขอความเมตตาแล้ว แต่เพื่อเห็นแก่พระเจ้า เราต้องยุติสงครามนี้”

            สงครามจบลงด้วยบทสรุปสุดท้ายให้ยุติการรบที่เวลา “11 นาฬิกา ของวันที่ 11 เดือน 11” เพื่อความสวยงามบนหน้าประวัติศาสตร์ แม้ว่าจริงๆ แล้วพวกเขาสามารถยุติสงครามได้เร็วกว่านั้น สิ่งนี้ยิ่งเป็นตัวตอกย้ำว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทหารแนวหน้าถูกทำลายลงโดยสิ้นเชิงผ่านการที่ผู้มีอำนาจเล่นตลกกับความตายของพวกเขาอย่างเลือดเย็นในครั้งนี้

 

แนวรบด้านตะวันตก เหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง

            “แนวรบด้านตะวันตก เหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง” คือคำแปลภาษาไทยของเรื่อง “All Quiet on the Western Front” พระราชนิพนธ์แปลโดย หม่อมเจ้าขจรจบกิตติคุณ กิติยากร  ซึ่งในครั้งแรกที่ได้อ่านจั่วหัวของภาพยนตร์ก็อาจจะชวนให้เราสงสัยว่า “เหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง” ที่ผู้แปลได้เพิ่มเติมเข้ามาในชื่อเรื่อง (ซึ่งไม่มีเนื้อความนี้ในชื่อเรื่องต้นฉบับ) กำลังสื่อถึงอะไร จนกว่าเราจะกดเข้าไปดูภาพยนตร์เรื่องนี้ แล้วเราก็จะพบความหมายของคำว่า เหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง ได้ทันทีหลังจากที่ดูจนจบ 

            การที่นำทหารชุดใหม่เข้ามาเผชิญกับความขมขื่นแทนทหารชุดเก่าที่ตายไป การที่ตัวละครต้องพบกับวงจรอุบาทว์แบบเดิมซ้ำไปซ้ำมาในทุกๆวัน ซึ่งตั้งแต่องก์แรกจนถึงองก์สุดท้ายของหนังคือการเวียนวัฏจักรรอบแล้วรอบเล่าโดยที่ไม่รู้ว่ามันจะไปหยุดที่ตรงไหน ฉากประกาศสงบสงครามในช่วงสุดท้ายของหนังที่เกือบทำให้เราโล่งอกโล่งคอและยินดีกับ พอล ที่จะได้หลุดพ้นจากสิ่งนี้เสียที หากแต่ทว่าการประกาศสงบสงครามกลับมาพร้อมกับคำสั่งที่บังคับให้ตัวละครต้องกลับไป “รบเป็นครั้งสุดท้าย” ก่อนที่บทสรุปชีวิตของ พอลก็จบลงไม่ต่างกับไฮน์ริช  คำโปรยสุดท้ายที่ถูกทิ้งไว้ในช่วงเอนด์เครดิตของหนังที่ทำให้เรารู้สึกสะเทือนใจอยู่ไม่น้อย ว่าหลังจากการรบ สภาพการณ์ทุกอย่างแทบจะไม่เปลี่ยนแปลง การนำชีวิตคนหลักล้านชีวิตไปแลกกับการรุกคืบแค่ไม่ถึงหลักกิโลเมตรจึงไม่ได้อะไรกลับมาเลยนอกจากความสูญเสีย 

            สิ่งเหล่านี้คือสารที่ภาพยนตร์เรื่องนี้พร่ำบอกเราอยู่เสมอว่า “เหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง” เลย เพราะแม้แต่หลังจากที่มีการสร้างภาพยนตร์ที่ดัดแปลงมาจากฉบับนวนิยายออกฉายในปี 1930    ซึ่งก็ได้ตีแผ่ความหฤโหดและความน่าสะพรึงกลัวของสงครามโลกครั้งที่ 1 ออกมาเป็นบทเรียนชั้นดีให้แก่ผู้คนทั้งหลายในเวลานั้น แต่อีกไม่ถึงสิบปีให้หลังต่อมา เหล่ามนุษย์ก็ลุกขึ้นมาทำให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีกครั้งในสงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามต่างๆ มากมายที่ตามมา

            ทั้งหมดทั้งมวลนี้คงจะพอทำให้เราคาดเดาได้ว่าเหตุใดหม่อมเจ้าขจรจบกิตติคุณถึงนิพนธ์คำแปลชื่อเรื่องออกมาเช่นนี้ เพราะตราบใดที่มนุษย์ยังไม่วางกิเลส ละทิ้งอัตตาตน เหตุการณ์ก็จะไม่มีวันเปลี่ยนแปลง รวมถึงความโง่เขลาเบาปัญญาของมนุษย์ด้วยเช่นกัน ที่น่าคิดอีกอย่างหนึ่งเลยก็คือ หรือนี่อาจจะเป็นการบอกใบ้เป็นนัยๆ ของผู้แปลว่า โลกของเราตั้งแต่ไหนแต่ไรมาจนถึงทุกวันนี้ “เหตุการณ์มันไม่เคยเปลี่ยนแปลง” 

 

Visitors: 72,502